ห้าถิ่นแผ่นดินงาม 10

Cover photo by Andrea Piacquadio from Pexels

ตอน : ย่ำผ่านเมืองอิเหนา – อินดรามายู

แม่ต้อยตีวิดจ๊ะ

ฉันทราบจากปานจิว่าเขาลุกมากินข้าวประมาณตีสอง เพราะจะทานอาหารได้ไม่เกินตีสามหรือไงเนี่ย แต่ตอนนั้น ฉันนอนอุตุ ตอนเช้าจึงโทรไปสั่งอาหารเช้า เป็นข้าวผัด ผลไม้กับชา เพราะไม่แน่ใจว่า ขนมปังเขาสดหรือเปล่า คนอยู่เมืองขนมปังอย่างฉัน (แต่ไม่ได้เกิดเมืองหนมปัง) รวมทั้งได้อิทธิพลจากเจ้ากรมฯที่บ้านด้วย ทำให้จู้จี้เรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะเคยชินกับการกินขนมปังดี ๆ สด ๆ หอม ๆ เหมือนเราคนไทยต้องกินข้าวสวยหอมมะลิร้อน ๆ ถึงจะอร่อย

อย่างไรก็ดี ฉันทานข้าวเช้าคนเดียว พอสาย ๆ ปานจิก็ออกมาเรียก เราเดินทางเข้าหมู่บ้าน คุณคนขับรถก็น่ารัก รถเช่านี้เป็นรถตู้ขนาดเล็ก ใหม่เอี่ยม นั่งสบาย

เราไปที่ศูนย์แวะพักสันไต หรือ Drop-In Centre ของ YKAI ซึ่งมีอยู่สองแห่งด้วยกันในแถบที่ฉันมาดูงานนี้ แห่งแรกอยู่ที่หมู่บ้านชื่ออามิส เป็นทั้งศูนย์แวะพัก ที่สอนหนังสือ กับจัดรายการวิทยุด้วย หลังจากนั่งรถปุเลง ๆ สักครึ่งชั่วโมง วิวทิวทัศน์ทุ่งนาอันแห้งแล้ง เห็นท่อน้ำมันดิบทอดตัวไปตามถนนเป็นระยะ ๆ เราก็ไปเจอกับเจ้าหน้าที่ที่นั่งมอเตอร์ไซค์มารอรับ แล้วนำทางเราเข้าไปในหมู่บ้าน

แม่ต้อยตีวิดจ๊ะ ฉันอดนึกถึงสมัยอยู่ขอนแก่นไม่ได้นิ ที่เจ้าหน้าที่ใช้แมงกะไซเข้าหมู่บ้านเหมือนกัน ต่างแต่ว่าตอนนี้ฉันมาเป็นคอนซัลแตนท์ ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่

เราไปถึงศูนย์สันไตตอนเด็ก ๆ กำลังออกรายการวิทยุกันพอดี ฉันก็ถ่ายรูปตามเคย สักพัก เด็ก ๆ ก็มานั่งล้อมวงกับเจ้าหน้าที่ ฉันก็แจมด้วย ฉันมีหน้าที่ซักถาม ก็ต้องคิดคำถามอย่างรวดเร็วและทำให้บรรยากาศสนุกด้วย ฉันเขียนชื่อตัวเองใส่กระดาษ แล้วเวียนให้เด็ก ๆ เขียนชื่อตัวเองด้วย ไม่งั้นฉันจำชื่อไม่หมดแน่

จากนั้นก็ถามอายุ การเรียน กิจกรรมที่ทำ บทบาทหน้าที่ในการจัดรายการ การอบรมเรื่องรายการวิทยุ รายการที่จัด เทคนิคการสัมภาษณ์ เด็ก ๆ ส่วนหนึ่งเคยได้รับการอบรมจากสถานีวิทยุมาแล้ว จะค่อนข้างเก่งและมั่นใจ แต่มีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่มาเรียนเอาจากรุ่นพี่อีกที ซึ่งก็จะได้ความรู้ไม่เต็มที่ ทำให้ค่อนข้างไม่มั่นใจ แต่ทุกอาทิตย์จะมีการอบรมเพิ่มเติมโดยเจ้าหน้าที่โครงการ เืพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ตามทันรุ่นพี่ เราคุยกับเด็ก ๆ อย่างสนุกสนาน เด็ก ๆ ถามอายุฉันด้วย พอรู้ว่าฉันอายุเท่าไรก็ทำตาโตเท่าไข่ห่าน มีเด็กชายคนหนึ่งฝันอยากเป็นนักบิน ฉันก็เลยบอกว่า ฉันก็บินเครื่องบินเล็กเหมือนกัน

คุยกับเด็ก ๆ เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่พาฉันเดินดูสถานที่ ซึ่งมีสองชั้น ชั้นบนเป็นห้องเรียนกว้างขวาง ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ มีแผนผังหมู่บ้านที่ชี้จุดว่าตรงไหนมีนายหน้าค้ามนุษย์อยู่บ้าง เรียกว่ามีการทำวิเคราะห์ชุมชนไว้ดีพอสมควร แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ได้มีการทำอะไรกับกลุ่มนักค้ามนุษย์ ซึ่งก็คือสมาชิกชุมชนนี่เอง เนื่องจากต่างกลัวอิทธิพลและความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ตรงนี้เป็นปัญหาน่าหนักอก เพราะคนดีมักจะกลัวคนชั่ว

จากนั้นเราก็ไปดูงานอีกศูนย์หนึ่งชื่อว่า ราดิก้า อยู่ห่างไปสักครึ่งชั่วโมงเหมือนกัน ขับผ่านนาเกลือ ทุ่งนาแล้ง ๆ ถนนดีมั่งไม่ดีมั่ง แผงขายผลไม้และมะม่วงลูกสุกสีแดงส้มเข้มสวย ที่ศูนย์นี้เราเจอกับเด็ก ๆ นักจัดรายการเหมือนกัน แต่เด็ก ๆ จะขี้อายมาก ไม่กล้ามาคุยกับฉันเหมือนกับอีกศูนย์หนึ่ง ฉันก็เลยได้แต่สังเกตกับถ่ายภาพเอา ที่เหลือก็ต้องมาคุยกับเจ้าหน้าที่ การที่เราไม่รู้ภาษานี่ก็เป็นอุปสรรคเหมือนกัน แต่ปกติปานจิก็แปลให้

หลัก ๆ ฉันคุยกับเจ้าหน้าที่สองคน ซึ่งก็อธิบายให้ฟังอย่างดี เอาข่าวหนังสือพิมพ์ที่ลงเรื่องโครงการมาให้ พูดถึงความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรค ที่ชุมชนนี้ (เหมือนกับชุมชนก่อน) จะมีการคัดเด็กโต ๆ ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงเ้พื่อไปรับการอบรมเย็บผ้าแบบอุตสาหกรรม เพื่อไปทำงานในโรงงานต่อไป ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง แทนที่จะไปขายบริการ แต่ในตอนแรกของโครงการ เขาใช้ประกาศรับสมัครผ่านวิทยุ

ปรากฎว่ามีีเด็กผู้ชายมาสมัครมากกว่าผู้หญิง พอจัดทดสอบความสามารถเบื้องต้น เด็กผู้ชายก็ผ่านมากกว่า พอทดสอบรอบสุดท้ายก็ได้แต่เด็กชายไปอบรมเกือบทั้งหมด ทางโครงการก็เกาหัวยิก ๆ เพราะที่จริงอยากให้เด็กผู้หญิงไปมากกว่า แต่สรุปแล้ว คงเป็นเพราะต้องไปอบรมในเมืองหลวง ไปอยู่กินในหอพักถึงหกเดือน พ่อแม่คงเป็นห่วงลูกสาว ไม่อยากให้ไปนาน ๆ (แต่ทีไปทำงานไม่เห็นเป็นห่วงนิ) จะว่าไปก็คือการศึกษาสำหรับเด็กหญิงอาจจะยังไม่ได้รับความสำคัญ

อย่างไรก็ดี ในรอบแรกเด็กชายเด็กหญิงที่ได้ไปเรียน ก็เรียนกันอย่างตั้งใจ จบออกมามีงานทำเกือบทั้งหมด แต่พอทำงานไประยะหนึ่ง ก็ถูกลอยแพ เพราะงานตัดเย็บอุตสาหกรรมนั้นมันไม่แน่นอน บางทีไม่มีออร์เด้อร์ใหญ่ ๆ ก็ไม่มีงานให้ทำ เหตุนี้ ฉันจึงได้เจอเด็กผู้ชายสองคนที่มา และให้สัมภาษณ์สองคน อายุยี่สิบต้น ๆ ทั้งคู่ (นี่เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่โครงการไม่สามารถหาเด็กอายุน้อยกว่า ๑๘ ปีมาสมัครได้ คงเพราะอายุน้อยกว่านั้นก็ยังไม่สนใจทำงานหรือไงก็ยังไม่มีการสรุปชัด ๆ) เด็กชายทั้งสอง เอ๊ย ชายหนุ่มทั้งสองตอนนี้ไม่มีงานทำ กำลังมองหางาน และคงต้องไปทำงานไกลบ้าน ตอนนี้ก็อยู่ว่าง ๆ ไม่ได้ทำอะไร เห็นแล้วก็น่าเสียดาย ทั้งคู่มีกล้าเปิดร้านเย็นผ้า เพราะการอบรมที่โรงงานนั้นใช้จักรใช้ทักษะคนละแบบ อันนี้ก็เป็นบทเรียนหนึ่ง

ส่วนในการอบรมรุ่นที่สอง ทางโครงการสามารถรับสมัครได้เฉพาะเด็กผู้หญิงจริง ๆ มีการรณรงค์ทำความเข้าใจกับพ่อแม่ เด็ก ๆ และชุมชน ทำให้ได้เด็กหญิงมาสมัครมากสมใจ แต่เกณฑ์อายุก็ยังสูงอยู่ ประมาณยี่สิบปี ต่ำกว่า ๑๘ ปีมีไม่กี่คน ปัญหาหนึ่งคือช่วงการรับสมัคร สอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์จะห่างกันมากหลายเดือน ทำให้เด็กหลายคนที่ตรงเกณฑ์ตกหล่นไป เพราะมีญาติกลับมาจากเมืองหลวงหรือเมืองนอก ชักชวนกันไปทำงานในเมือง น่าเสียดาย

ปานจิบอกฉันว่า กลับเข้าจาการ์ต้าแล้วจะพาไปดูศูนย์ที่อบรมที่อยู่เมืองโบกอร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจาการ์ต้า

เราคุยกันเสร็จก็ปรากฏว่า รถห้องสมุดเคลื่อนที่วิ่งกลับมาถึงที่ศูนย์ฯ ฉันก็เลยเดินไปดูที่รถ และถ่ายรูปด้วย รถคันนี้ได้เงินสนับสนุนจากธนาคารแห่งหนึ่ง เพื่อช่วยงานสังคม หนังสือก็มีปกแข็ง ปกอ่อน สีสันสดใส เป็นนิทานเด็กเสียส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่บอกว่า ตอนแรกก็ไปจอดรถที่โรงเรียน มีแต่เด็กนักเรียนมาอ่าน ก็เลยเปลี่ยนกลยุทธ์ไปจอดในหมู่บ้านแทน เพราะอยากให้เด็กอื่น ๆ ได้อ่านด้วย แต่กลายเป็นว่า เด็กนักเรียนก็ตามมาอ่านอีก แสดงให้เห็นว่า เมื่อเด็กได้รับการศึกษาก็จะสนใจการอ่าน ส่วนเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน หรือไปแล้วออกกลางคันนั้น จะสนใจน้อยกว่า อาจเป็นเพราะประสบการณ์ไม่ดีกับการเรียน เรียนตกซ้ำชั้น ครูสอนไม่ดี ทำให้เบื่อหน่ายหนังสือ

นี่เป็นปัญหาหนึ่งของที่นี่ ทำให้ศูนย์สันไตและศูนย์ราดิกาต้องจัดชั้นเรียนติวเข้มให้กับเด็กนักเรียนที่เรียนอ่อน โดยเน้นวิชาเลขคณิต ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กเรียนทันและคะแนนสอบดีขึ้น ก็แปลกที่เราต้องมาทำงานการศึกษาเพราะโรงเรียนสอนไม่ดี นอกจากนั้น มีโครงการที่ดีอันหนึ่งเรียกว่า ชั้นเรียนมัธยมแบบเปิด คือ การเปิดชั้นมัธยมในโรงเรียนประถมในหมู่บ้านขึ้นมา หาครูเก่ง ๆ มาสอน เป็นเพราะว่าโรงเรียนมัธยมจริง ๆ มักจะอยู่ไกล ในตัวเมือง ตัวอำเภอ เหมือนบ้านเรานี่แหละ ฉันว่าเป็นไอเดียที่ดี ที่เอาชั้นเรียนไปถึงเด็ก ๆ ทำให้ไม่ต้องลำบากเดินทางไกล หรือตัดสินใจเลิกเรียนเพราะไม่มีค่ารถ ฉันไม่ได้ไปดูชั้นเรียนนี้เพราะอยู่ระหว่างปิดเทอม

เราดูงานเสร็จบ่ายต้น ๆ ก็เดินทางกลับโรงแรมเพื่อให้ปานจิกับคนขับรถได้พักผ่อน เพราะไม่ได้ทานข้าวกันทั้งคู่ ฉันก็พักด้วย เย็น ๆ ก็ออกไปทานอาหารด้วยกัน ฉันเริ่มรู้สึกเจ็บคอ กลืนน้ำลายลำบาก ปานจิสงสัยว่าเป็นแอร์ในห้องพัก ส่วนฉันสงสัยอาหารที่น่าจะมีผงชูรสเยอะ ก็เลยต้องทานอย่างระวัง แล้วก็จิบเฉพาะน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น

พรุ่งนี้เราจะเดินทางกลับจาร์กาต้า

แม่นกน้อยเจนีวาในแดนอิเหนา

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 1

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 2

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 3

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 4

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 5

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 6

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 7

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 8

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 9

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 10

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 11

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 12

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 13

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 14

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 15