ห้าถิ่นแผ่นดินงาม 14

Photo credit: Publicsource.org

ตอน : สู่เหย้าศรีลังกา – นูวาราเอลิยา

แม่ต้อยตีวิดที่รักและคิดถึง

คิดว่าเย็นนั้นจะได้ไปถึงนูวาราเสียหน่อย แต่ปรากฏว่า มันมืดเสียก่อน ฝนตกนิด ๆ คนขับรถก็เลยบอกว่า พักที่เมืองแคนดี้ก่อนดีกว่า เพราะจากนั้นต้องวิ่งขึ้นเขา ถนนลื่น ดินถล่มและมีก่อสร้าง ทีแรกฉันก็คิดว่าเขาโม้ แต่เอาเข้าจริงก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ

เราเลยไปพักโรงแรมชื่อ Hotel Suisse อยู่ตรงข้ามกับวัดพระเขี้ยวแก้ว (แต่อดเข้าไปนมัสการ) ที่นี่ฉันก็ต้องจ่ายค่าโรงแรมแพงอีก แล้วก็ต้องเลือกห้องพักสามครั้ง (เพราะเข็ดจากโรงแรมที่แล้ว) ห้องแรกแอร์เสียงดัง ห้องสองมีน้ำรั่วในห้องน้ำ ห้องสามนึกว่าดีแล้ว แต่กลายเป็นว่าไม่มีกลอนกับโทรศัพท์เสีย เออ ให้มันได้อย่างนี้สิ จ่ายแพงแล้วยังมีปัญหาอีก

อาหารการกินโอเค เย็นนี้เราทานกันที่โรงแรม ฉันสั่งปลาปิ้งกับผัก น้ำผลไม้รวมปั่น แต่ฉันเริ่มรู้สึกท้องไม่ค่อยดีขึ้นมาเสียแล้ว เดินทางมาเกือบเดือนไม่เป็นอะไร มาเป็นเอาประเทศสุดท้าย

เราออกจากโรงแรมแต่เช้า เดินทางไปนูวาราเอลิย่าเมืองปลูกชาในหุบเขาอันขึ้นชื่อ และเป็นจุดที่สูงสุดของประเทศด้วย มีอุทยานแห่งชาติที่งดงามหลายแห่ง (อด อด อด และอดดูทั้งหมด ยกเว้นวิวบนเส้นทาง) เส้นทางจากแคนดี้ลำบากจริง ๆ รถวิ่งเร็วไม่ได้ ถนนลื่นเป็นโคลน เลียบขอบเหว ฉันนึกดีใจที่เราไม่ได้ใช้เส้นทางนี้ตอนกลางคืน แหะ แหะ

ไปถึงนูวาราตรงเวลานัด สักพักโรสกับเืพื่้อนร่วมงานก็มาสมทบ ที่ทำงานสาขาเขาอยู่ที่นี่ โรสนี่เป็นผู้ประสานงานที่ไปเจอฉันที่โรงแรมวันที่ฉันไม่สบายนั่นแหละ งานของที่นี่คือทำงานกับคนงานในไร่ชาและให้การศึกษาด้านต่าง ๆ กับลูกหลานเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอกไปขายแรงงาน หรือกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือขาดการศึกษา ทางโครงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนคนเก็บชา และเจ้าของบริษัทชา เขาเรียกชุมชนเหล่านี้ว่าเป็น ทีเอสเตท (Tea estate)

โรสบอกว่า จะไปดูศูนย์เด็กในไร่ชา “ไม่ไกลหรอก” แต่ปรากฏว่า เราขับรถขึ้นเขากันเกือบชั่วโมงกว่าจะไปถึง ทำเอาฉันและชญาม่านั่งก้นไม่ติดที่ เพราะเราอยากเข้าโคลัมโบก่อนค่ำ แต่ก็ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ก็ตามเขาไป ปรากฏว่า เราไปช้า เด็ก ๆ กับแม่ ๆ หนีกลับบ้านไปแล้ว แม่ก็ต้องไปเก็บใบชาทำงานในไร่ชา เจอแต่ครู กศน ที่พาเราไปหาครูใหญ่โรงเรียนเล็ก ๆ อีกทีนึง (นั่งรถอีกสิบนาที) เป็นโรงเรียนที่รับเด็กจากไร่ชามาเรียนภาคปกติ แต่ปัญหาคือ เด็กมาเรียนมั่งขาดมั่ง บางทีขาดมาก ๆ ก็สอบไม่ผ่าน เรียนซ้ำชั้น ก็เลยเลิกเรียนไป

จากโรงเรียนน้อย เรากลับเข้านูวาราอีกครั้ง เจอกับสตรีสองคนที่ได้รับการอบรมประกอบอาชีพ ตอนนี้มาทำเครื่องสำอางสมุนไพรพื้นบ้านขาย เป็นพวกบำรุงผิวกาย รักษารอยแตกที่เท้า แชมพูสระผมประมาณนี้ เขาก็เอาของมาอวด เอาภาพมาให้ดู คนหนึ่งทำขนมเค้กเป็นด้วย เอารูปขนมเค้กมาอวดด้วยความภูมิใจ ปัญหาของทั้งสองคือ ต้องใช้ครกหินในการบดสมุนไพรซึ่งเป็นงานหนัก และได้ผงหยาบ ไม่ละเอียดrพอ หากได้เครื่องบดไฟฟ้าก็จะดีมาก ซึ่งเครื่องหนึ่งก็หลายบาทอยู่ ชญาม่าก็บอกว่าจะดูว่าพอมีงบช่วยได้ไหม

เราเหลือที่ไปเยี่ยมชมแห่งสุดท้าย ซึ่งอยู่บนเส้นทางกลับโคลัมโบ แต่ก่อนอื่นเราไปหาข้าวกินกันก่อน ทีแรกจะไปที่โรงแรม ปรากฏว่าทางโรงแรมบอกว่า ต้องรอ เพราะยังไม่ได้เตรียมอาหารเลย เราก็เลยไปหาร้านในเมืองกิน คนแน่นตรึม เป็นร้านขายอาหารใส่ถาดและมีพวกขนมหวานแบบเบเกอรี่ด้วย ฉันสั่งข้าวหมกไก่บิริยานี ข้าวเหลืองสวย หอมหอมเจียว ไก่ขาใหญ่หมกมาในข้าว (ตอนนี้ต้องกลับมากินไก่แล้ว มันหิว เลยไม่อยากเลือก) แต่จานใหญ่มาก ก็แบ่งกันกับชญาม่ากับโรสซึ่งกินข้าวกับไก่ผัดพริกจานใหญ่เหมือนกัน (เป็นอาหารแบบจีน)

ตอนนี้แหละที่ฉันรู้สึกว่าอาการท้องเสียชักไม่น่าไว้ใจ ซึ่งฉันคิดว่าคงเกิดจากอะไรที่ทานเมื่อวันก่อน นึกออกอย่างเดียวคือ นมกล่อง ที่ซื้อจากร้าน แต่ก็ไม่แน่ใจ

กินข้าวแล้วก็ออกไปเข้าหมู่บ้าน โรสนั่งรถไปกับพวกเราด้วย คุยกันมั่ง นั่งดูวิวกันมั่ง ทิวทัศน์ขุนเขาที่มีไร่ชากระจายตัวเขียวสวยงาม น่าทึ่ง เนินเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับกันไป ฉันถ่ายรูปไม่ค่อยจะทันเท่าไร เลยพยายามดูวิวเก็บภาพไว้ในใจ สักไม่ถึงชั่วโมงก็ถึงหมู่บ้านน้อย ๆ มีศูนย์ใจชุมชน (Community heart) ที่เป็นศูนย์เรียนรู้ของเด็กและทำกิจกรรมในหมู่บ้านที่ทาง CWC มาจัดตั้งไว้ มีหลายสิบศูนย์ที่เขตแคว้นนี้ ที่นี่ฉันได้เจอนักเรียนรุ่นเล็กรุ่นใหญ่หน้าตาน่ารักขี้อาย

มีนักรณรงค์สังคมคนหนึ่ง (Social Mobilizer) เป็นผู้หญิง ชื่อ ฟลอริน่า พูดภาษาอังกฤษเก่ง ช่วยฉันแปลสิ่งที่เด็ก ๆ พูดและสิ่งที่ฉันพูดกับเด็ก ๆ เนื่องจากมีเด็กเต็มห้องเรียนไปหมด อย่างน้อย ๆ ห้าสิบคน ฉันก็เลยเลือกถามกว้าง ๆ บ้าง ถามเจาะบางคนบ้าง ให้เด็กเล็ก ๆ ออกมาเขียนอะไรหน้าชั้นบ้าง สรุปว่าเด็ก ๆ มาเรียน กศน ส่วนหนึ่ง มาติวเข้มเพื่อให้เรียนทันเืพื่อนอีกส่วนหนึ่ง คือ ภาษาอังกฤษ เลขคณิต และภาษาทมิฬ คล้าย ๆ กับที่ศูนย์ดอนบอสโก้

ที่น่าประทับใจคือมีเด็กโตมาเรียนติวเข้มภาษาอังกฤษ จากเรียนได้แค่ ๒๖ % ก็กลายเป็น ๘๖ % ฟังแล้วก็ชื่นใจ นอกจากนั้นศูนย์ใจชุมชนยังเป็นที่ประชุมรวมชาวบ้าน เืพื่ออบรมให้ความรู้เรื่องการค้าเด็ก สิทธิเด็ก ความสำคัญของการศึกษา สิทธิสตรี สิทธิแรงงาน กฎหมายเพื่อประชาชน กฎหมายแรงงานต่าง ๆ เรียกว่าให้ความรู้อย่างทั่วถึง สตรีบางส่วนก็ได้รับอบรมประกอบอาชีพ และเงินยืมประกอบอาชีพ (เหมือนที่เพิ่งเห็นมา)

คุยกันพอหอมปากหอมคอแล้ว ฉันกับชญาม่าก็ต้องรีบขอบคุณทุกคนและลาขึ้นรถโดยเร็ว เพราะห้าโมงกว่าแล้ว เดินทางมืด ๆ ไม่ค่อยจะดี ต้องขับรถข้ามเขาด้วย แล้วพรุ่งนี้ฉันต้องไปขึ้้นเครื่องบินตั้งแต่ตีห้า

เส้นทางกลับสวยมากเลยเธอจ๋า ขุนเขาทั้งนั้น ถนนลาดยางอย่างดีเกือบตลอด ไม่เหมือนกับเส้นทางจากแคนดี้ ซึ่งลงมาจากทางเหนือ ส่วนตอนนี้เราวิ่งไปทิศตะวันตก ฉันเข้าใจว่า เจ้าของไร่ชาชื่อฝรั่งเหล่านี้คงมีอิทธิพลมาก ทำให้มีถนนปูพรมช่วยให้ขนส่งชาสะดวก แต่ก็มีหลายส่วนเหมือนกันที่สภาพแย่มาก ๆ สงสารทั้งคนและรถ เราผ่านร้านขายชาแต่ฉันตัดสินใจไม่แวะซื้อเพราะไม่อยากถึงโคลัมโบมืดเกินไป

กว่าฉันจะถึงโคลัมโบก็สองทุ่มกว่า บังเอิญฉันต้องไปเจอ ทิลัก ด้วย เธอจำเจ้าหนุ่มทิลักได้ไหมที่เราเคยล้อชื่อเขาว่า “ที่รัก” น่ะ เพื่อนเก่าแก่จากสมัยองค์การอนุเคราะห์เด็กของเราสองคน ฉันติดต่อเขาได้ตั้งแต่เมื่อวาน เขาอยากมาเจอก่อนฉันกลับ ซึ่งก็เหลือวันนี้วันเดียว ฉันจึงนัดเจอเพื่อนที่โรงแรมแม้ว่าจะเหนื่อยแสนเหนื่อยกับการเดินทาง คืนนี้ฉันทานอาหารอินเดีย มีแป้งนัน (ไม่ค่อยอร่อย) กับไก่ย่างทันดูรี (ก็ไม่อร่อยอีกนั่นแหละ ตามประสาอาหารโรงแรม)

แต่การได้เจอทิลักก็เป็นเรื่องดี หลังจากเราแยกย้ายทางใครทางมันเป็นสิบกว่าปีมาแล้ว โลกก็หมุนมาให้เราเจอกันอีกจนได้ ทิลักฝากความคิดถึงมาให้เธอมากมาย เราคุยกันราวสี่ทุ่มก็ต้องล่ำลา เพราะฉันต้องจัดกระเป๋าและเดินทางไปสนามบินแต่เช้า ฉันนัดคนรถของฉัน (ที่ัขับพาไปทั่วเขตแคว้นแดนลังกา) ให้มารับตอนตีสี่กว่า ๆ

โรงแรมไม่มีบริการรถรับส่งสนามบินจ้า ก็แปลกดี แต่เขาสามารถเรียกแท้กซี่ข้างนอกให้ได้จากบริษัท ซึ่งค่ารถแพงกว่ากันมาก สู้ใช้คนขับรถของฉันไม่ได้ ราคาถูกว่ากันหลายร้อยบาท

ฉันได้นอนนิดเดียวไม่คุ้มค่าโรงแรม ตื่นก่อนไก่โห่ กินก่อนไก่คุ้ัย ดีที่โรงแรมเขาบริการอาหารเช้า ทำขนมปังปิ้ง กับผลไม้มาให้อย่างน่ากิน แต่ก็กินได้นิดเดียว คนรถมาถึงก็ต้องไปสนามบิน

ขาไปสนามบินใช้เวลาไม่นาน ปรากฏว่ามีคนเยอะแล้ว แต่ก็สักสิบกว่านาทีก็เรียบร้อย เช็คกระเป๋าได้บัตรขึ้นเครื่อง เนื่องจากไม่มีใครบอกฉันได้ว่า ต้องเสียภาษีสนามบินหรือเปล่า คนหนึ่งบอก ๑๐๐๐ รูปี อีกคนบอก ๕๐๐ โรงแรมบอก ๑๕๐๐ ฉันเลยเก็บเงินไว้ ๑๕๐๐ รูปี สุดท้ายไม่ได้ใช้เงิน พอจะเอาไปซื้อชอคโกแลตให้เงินหมด ๆ ไป คนขายบอกว่าไม่รับเงินรูปี ตอนนี้ก็ไม่มีธนาคารให้แลกแล้ว ฉันก็เลยเอาเงินใส่กล่องบริจาคที่สนามบินไป ๕๐๐ รูปี ประมาณ ๒๐๐ บาท อีก ๑๐๐๐ รูปีเก็บไว้เล่น ๆ เกิดเจอคนศรีลังกาก็จะยกให้

โอย แกร่วสนามบินเช้านี้อย่างนี้ ง่วงก็นอนไม่ได้ แต่ก็ได้ขึ้นเครื่องในที่สุด นั่ง ๆ นอน ๆ อ่านหนังสือถึงเมืองไทยโดยสวัสดิภาพ แต่ท้องไม่ดี

สุดท้ายฉันก็ได้เจ็บป่วยครบตามที่ควรเป็นของนักเดินทาง เป็นหวัด ปวดหัว และท้องเสีย…นับว่าไม่เสียเที่ยว ได้ครบทุกรสชาติ

แม่นกเจนีวาปีกหักของเธอเอง

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 1

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 2

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 3

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 4

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 5

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 6

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 7

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 8

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 9

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 10

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 11

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 12

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 13

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 14

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 15