รายงานประชุมปี พ.ศ. ๒๕๖๐

เครือข่ายหญิงไทยในยุโรป รายงานการประชุมสามัญประจำปี 2560 ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

จำนวนผู้เข้าร่วม
มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 13 ประเทศ จำนวน 78 คน ได้แก่ ออสเตรีย 2 คน เบลเยี่ยม 7 คนฟินแลนด์ 3 คน ฝรั่งเศส 2 คน อิตาลี 9 คน ฮังการี 2 คน เยอรมนี 26 คน เนเธอร์แลนด์ 1 คน นอร์เวย์ 13 คน สวีเดน 6 คน สวิตเซอร์แลนด์ 2 คน สหราชอาณาจักร 3 คน และประเทศไทย 2 คน (รวมวิทยากรจากกรมสุขภาพจิต)
มีข้าราชการร่วมสังเกตการประชุม 10 คนมาจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ 6 คน และจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงบูดาเปสต์ 4 คน

เริ่มประชุมเวลา 09.30 น. ตามวาระดังนี้

1. คุณนงลักษณ์ ใจสงฆ์ เทร็พพ์ ประธานฯ กล่าวต้อนรับ และดำเนินการประชุม
• นับจำนวนสมาชิกผู้มีสิทธิใช้คะแนนเสียง มีจำนวนรวม 49 คน (เริ่มแรก 42 คนและเดินทางมาสมทบภายหลังอีก 7 คน)
• เลือกผู้นับคะแนน 2 คน คือคุณมะลิวรรณ เพชแสน และ คุณวิภารัตน์ อิทเทอแลนด์

2. รับรองรายงานการประชุมสามัญประจำปี พ.ศ. 2559
คุณโสพิศ ทับทิม เลขานุการเครือข่าย ฯ อ่านรายงานการประชุมสามัญประจำปี พ.ศ. 2559 ณ กรุงออสโล
ประธานขอให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุม
นับคะแนนเสียงรับรองได้ทั้งหมด 37 เสียง

3. การสนับสนุนเครือข่าย ฯ
ประธานแจ้งว่า เครือข่าย ฯ ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกและจากภาครัฐ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และมีสองกระทรวงที่สนับสนุนอย่างแข็งขันทุก ๆ ปี คือ กระทรวงการต่างประเทศ และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) เพราะเกี่ยวกับการทำงานของเครือข่าย ฯ โดยตรง
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ได้ มอบเงินสนับสนุน 1,325 ยูโร เพื่อสนับสนุนการประชุมของเครือข่าย ฯ ครั้งนี้

4. คุณสหะพ้นตำแหน่งเหรัญญิก
ประธานขอบคุณคุณสหะ สารพันธ์ ที่ช่วยงานเครือข่าย ฯ ในตำแหน่งเหรัญญิกมาตั้งแต่เริ่มแรก และที่มาร่วมประชุมวันนี้ และมอบของที่ระลึก
คุณสหะกล่าวอำลา แม้ไม่ได้ช่วยงานตำแหน่งเหรัญญิกอีก แต่ยินดีร่วมงานและช่วยเหลือคนไทยที่มีโอกาสน้อยกว่า หัวใจอยู่กับคนไทยตลอด

5. รายงานการเงิน
คุณอนุรักษ์ วีระเดชะ รายงานการเงินของเครือข่ายดังนี้
5.1 บัญชีธนาคาร
ยอดยกมาจากปี พ.ศ. 2558 2,335.33 ยูโร
รายรับระหว่างปี พ.ศ. 2559 2,140.00 ยูโร
รายรับค่าสมาชิก 1,140.00 ยูโร
รายรับอื่นๆ (เงินบริจาคจากคุณกาญจนา 1,000.00 ยูโร
รายจ่ายระหว่างปี พ.ศ. 2559 1,841.50 ยูโร
ค่าจัดพิมพ์สารสตรี 800.00 ยูโร
ค่าจัดกิจกรรม (Sorrento and Budapest preparation) 1,000.00 ยูโร
อื่นๆ (ค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี) 41.50 ยูโร
ยอดคงเหลือในบัญชีธนาคารปลายปี พ.ศ. 2559 เป็นเงิน 2,663.83 ยูโร

5.2 เติมยอดยกปลายปี 2558
บัญชีเงินสด ณ สิ้นปี พ.ศ. 2559 คงเหลือ 260.22 ยูโร

คุณอนุรักษ์ชี้แจงว่า
• เพื่อความคล่องตัวของคณะทำงาน ประธานถือเงินสดอยู่จำนวนหนึ่ง เหรัญญิกและผู้ตรวจบัญชีสามารถตรวจได้ ทุกอย่างมีหลักฐานพร้อม
• ประธานถือหลักฐานบัญชีเงินสดอยู่ มีใบเสร็จรับ-จ่ายเงินสำหรับทุกรายการ
• เครือข่าย ฯ ได้เปิดบัญชีใหม่ที่ธนาคารสวิส เพราะการเบิกเงินจากบัญชีเก่าที่ฝรั่งเศสซึ่งคุณปณิธานถือบัญชีอยู่ไม่สะดวก และไม่ตรงตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยบัญชีภาษาอังกฤษ และว่าด้วยการต้องมีลายมือชื่อผู้รับผิดชอบสองคน ทำให้ไม่คล่องตัวต่อการจ่ายเงินสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆบางครั้ง จึงเห็นว่าควรต้องเปิดบัญชีใหม่เพื่อให้การทำงานสะดวกขึ้น
ประธานชี้แจงว่า ตามระเบียบข้อบังคับเราต้องทำบัญชีเป็นภาษาอังกฤษ เพราะบางครั้งองค์กรท้องถิ่นของประเทศที่เราอยู่เขาขอดูด้วย จึงต้องให้เขาอ่านได้ด้วย บัญชีที่ฝรั่งเศสเป็นภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น บัญชีที่สวิต ฯ เป็นบัญชีเงินยูโร การติดต่อกับธนาคารเป็นภาษาอังกฤษ ธนาคารส่งเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ บัญชีเก่าจะปิดหลังจากวันนี้ และจะโอนเงินทั้งหมดเข้าบัญชีใหม่ที่ทำ “อี-แบ้งกิ้ง” ได้ด้วย
คุณพยุงศรี ผู้ตรวจบัญชีกล่าวว่าตนเป็นผู้ตรวจบัญชีตั้งแต่สมัยคุณสหะด้วย
• รับทราบเรื่องเปิดบัญชีใหม่ จึงไม่สงสัยอีกต่อไปว่าทำไมเงินไม่เข้าบัญชีที่ฝรั่งเศส
• ข้อเสนอแนะในแง่การตรวจบัญชี เนื่องจากการประชุมแต่ละปีเป็นคนละประเทศ ซึ่งอาจมีสกุลเงินแตกต่างกัน ควรมีโน้ตอัตราแลกเปลี่ยนของวันนั้นไว้ด้วย
• เรื่องค่าใช้จ่าย ประธานทำละเอียด แต่เวลามาตรวจเห็นว่ามีชื่อบุคคลที่ไม่ได้อยู่ใน คณะกรรมการ (ในรายงานการเงิน) อาจจะต้องอธิบายให้เข้าใจว่าทำไมชื่ออยู่ตรงนั้น ไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติอะไรหรือเปล่า
• ขอรับรองรายงานการเงินปี พ.ศ. 2559 ในฐานะเป็นผู้ตรวจบัญชีคนหนึ่ง ส่วนคุณพจนีย์ซึ่งเป็นผู้ตรวจบัญชีอีกคนหนึ่ง ยังติดต่อไม่ได้ แต่ได้ส่งหลักฐานทุกอย่างไปให้แล้ว
• ขอบคุณเหรัญญิก และประธานที่ส่งรายละเอียดไปให้

ที่ประชุมรับรองรายงานการเงิน ด้วยคะแนนเสียง 42 เสียง

6. ผลการดำเนินงานประจำปี
ประธานเสนอว่า ผลงานประจำปีมีนำเสนอในสารสตรี ซึ่งจะนำมาแจกเมื่อเอกสารมาถึง
ประธานแจ้งถึงกิจกรรมที่จะจัดขึ้น
• การประชุมกับ พม ต้นเดือนมิถุนายน จะเป็นการคุยกับหัวหน้าสมาคมต่าง ๆ ในยุโรป
• การจัดอบรมอาสาสมัครปีที่ 6 ร่วมกับกรมสุขภาพจิตและกรมพัฒนาสังคมฯ ที่กรุงเทพฯ ปีนี้จัดวันที่ 17-21 กรกฎาคม ใครสนใจให้ลงชื่อได้ที่คุณโสพิศ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าอบรม เชื่อว่าครั้งนี้จะมีอาสาสมัครใหม่ ๆ เข้ามาร่วมด้วยหลายคน จะมีการแยกอาสาสมัครใหม่และเก่า ทางกรมสุขภาพจิตจัดหลักสูตรไว้ทั้งคนใหม่และคนเก่า และมีกิจกรรมมาร่วมกัน วันพุธมีการออกไปดูงานข้างนอก เราจัดร่วมกับเครือข่ายคนไทยในญี่ปุ่นมาทุกปีและประสบความสำเร็จทุกปี
• กิจกรรมอื่น ๆ ระหว่างปี ส่วนมากจะถามไปตามภาคีประเทศต่าง ๆ ให้เสนอหัวข้อกิจกรรมหรือโครงการที่สนใจ แล้วจะพิจารณาว่าตรงกับวัตถุประสงค์ของ
เครือข่าย ฯ หรือไม่ ซึ่งจะเน้นการทำงานพัฒนาสังคมชุมชนไทยในภาคพื้นยุโรป และร่วมประสานงานกับประเทศไทย เรื่องศิลปวัฒนธรรมเช่นสอนรำหรือแกะสลักเรามีกิจกรรมน้อยลง ยกเว้นเรื่องภาษาไทยเรายังทำอยู่

7. แนะนำภาคีใหม่
รองประธานเครือข่ายฯ คุณเสริมศรี บุญสุตม์ แนะนำภาคีใหม่
• มูลนิธิหมู่บ้านไทย ประเทศฮังการี (Thai Town Foundation)
• เครือข่ายภาคีหญิงไทยในสหราชอาณาจักร (TWN4UK)
• ชมรมรักษ์ไทย จากเยอรมนี

8. แนะนำกรรมการและผู้ประสานงานประเทศ
รองประธาน คุณประไพรัตน์ มิกซ์ แนะนำรายชื่อกรรมการและผู้ประสานประเทศ ตามรายชื่อที่ปรากฎในสารสตรี
• คุณสหะจากเนเธอร์แลนด์ถามว่าทำไมมีชื่อกรรมการประเทศจากเนเธอร์แลนด์เพียงคนเดียว ประธานชี้แจงว่า ธรรมนูญกำหนดว่า ถ้ากรรมการคนใดคนหนึ่งไม่ติดต่อเกินหนึ่งปี ถือว่าพ้นจากตำแหน่งไปโดยปริยาย ในกรณีเนเธอร์แลนด์มีคุณสหะคนเดียวที่ติดต่อเครือข่าย ฯ หากเป็นการติดต่อในนามของสองคนก็ขอให้แจ้งให้เครือข่าย ฯ ทราบด้วยว่า กรรมการคนเดียวติดต่อในนามสองคน
คุณกัลยาจากสวีเดน ถามว่ากรรมการประเทศมีได้กี่คน
เลขาเครือข่าย ฯ คุณโสพิศ ชี้แจงว่า
• ถ้าประเทศมีสมาชิกมากกว่าสองคน ต้องเลือกกรรมการประเทศมาสองคน โดยเลือกจากสมาชิกในประเทศนั้น
• ถ้าประเทศใดมีสมาชิกไม่เกินสองคน ทางเครือข่าย ฯ จะแจ้งให้เป็นผู้ประสานงาน
• ประเทศสวีเดนมีสมาชิกมากกว่าสองคน ขอให้เลือกผู้แทนเป็นกรรมการประเทศ 2 คนและแจ้งให้เครือข่าย ฯ ทราบ จะเป็นเมื่อไรก็ได้ ถือเป็นกิจภายในของสวีเดน

9. การทำ “เฟซบุ้คเพจ” และ “เว็บไซต์”
คุณจงเจริญ ศรแก้ว กริมสมันน์ ประชาสัมพันธ์เครือข่าย ฯ นำเสนอผลการทำงานเผยแพร่ข้อมูลของเครือข่าย ฯ ให้เป็นที่รู้จักผ่านสองช่องทางหลัก คือ เฟซบุ้คเพจ ชื่อว่า เครือข่ายหญิงไทยในยุโรป (Thai Women Network in Europe) หรือ @twne.localrope และเว็บไซต์ในชื่อเดียวกัน ที่ลิงก์ http://twne.local เว็บไซต์เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งตรงกับวันสตรีสากล
ณ วันประชุมมีผู้สนใจเข้ามา “ไล้ค์” (“ดีต่อใจ”) เฟซบุ้คเพจจำนวนกว่า 3,100 คน การเข้าถึงในรอบอาทิตย์ก่อนการประชุมมี 4,180 คน
สถิติการเข้าชมเว็บไซต์
มีผู้เข้าชม (users)768 คน โดยเข้าชม (views)1,940 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 2.39 หน้า
หน้าละ 58 วินาที โดยมีอัตราละเลย (bounce rate) 1.48% ซึ่งถือว่าน้อย (และเป็นสิ่งดี) สำหรับเว็บไซต์
ส่วนการทำเว็บไซต์นั้น วัตถุประสงค์เพื่อเป็นฐานข้อมูล เวทีสื่อสาร เป็นตัวแทนเครือข่าย ฯ ที่เราสามารถกำหนดรูปร่างหน้าตาได้เอง มีความเป็นทางการ น่าเชื่อถือ ข้อความเนื้อหาอยู่ในตำแหน่งเดิมเสมอ หาง่าย ทำหน้าที่เป็นสำนักงาน ห้องสมุด เรากำหนดอัตลักษณ์ (identity) ได้เอง เราควบคุมคุณภาพของข้อมูลได้ แต่เว็บไซต์ต้องมี “แอดมิน” ดูแล ป้องกันสิ่งสอดแทรกอันไม่พึงประสงค์ “สแปม”และปรับปรุงข้อมูล “อัพเดท” อยู่เสมอ แผนการต่อไปของเว็บไซต์ คือ หาแอดมินด้านคอนเท้นท์ (Content admin) คือผู้ดูแลรับผิดชอบข้อมูลและเนื้อหามาช่วยงานเพื่อเพิ่มจำนวนข้อมูล ขยายหน้าภาษาอังกฤษ ต่อสัญญาเช่าพื้นที่ “โดเมน”รายปี ประมาณปีละ 500 บาท ต่อสัญญากับ “เว็บมาสเตอร์” หลังจากครบ 2 ปี
สิ่งที่เราต้องการแสดงออกในเฟซบุ้คและเว็บไซต์ของเครือข่าย ฯ คือ รักษาภาพลักษณ์สตรีที่เป็น “สากล” แต่ไม่ทิ้งความเป็น “ไทย” หรือ ทันสมัยแต่ไทยเสมอ

10. นิตยสาร “สารสตรี”
รองประธานเครือข่าย ฯ คุณประไพรัตน์ มิกซ์ แจ้งว่าตนเป็นบรรณาธิการสารสตรีมาเป็นเวลานานมากแล้ว วางแผนจะลาออกในอนาคตอันใกล้ อยากสร้างทีมงานใหม่มาแทน ใครสนใจเข้ามาเป็นทีม บก. ใหม่ให้สมัครมาที่ตนได้เลย
บรรณาธิการสารสตรีขอขอบคุณสมาชิกจากแฮมเบิร์กที่ช่วยขนสารสตรีมาให้ในที่ประชุมทุกปีที่จัดพิมพ์ที่แฮมเบิร์ก บรรณาธิการพยายามติดต่อเจ้าภาพให้หาโรงพิมพ์ในประเทศเพราะทุ่นแรงมากและทุ่นค่าใช้จ่ายในบางครั้ง
ขอขอบคุณสปอนเซอร์ในการจัดพิมพ์สารสตรีปีนี้ คือ คุณกาญจนา และ คุณหน่อยร้านศาลาไทย ซึ่งคุณหน่อยได้เป็นสปอนเซอร์มาทุกปี

11. กิจกรรมเครือข่าย ฯ
ประธานกล่าวว่าคิดว่าเครือข่าย ฯ ควรจะจัดสัมนาภาษาไทยอีกสักครั้ง
เลขาฯกล่าวว่าเรามีกิจกรรมย่อยปีละสามสี่ครั้ง ปีนี้อาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาไทย หรือการจัดการเรียนการสอนแบบ กศน. น่าจะดีถ้าเราได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนกันเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด ขอให้สมาชิกช่วยคิดว่าจะจัดที่ไหนดี
ผู้เข้าร่วมนำเสนอว่า การเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป พัฒนาไปเยอะ อยากได้ความคิดและข้อคิดเห็นเรื่องการศึกษามากขึ้น
ผู้เข้าร่วมถามว่า กศน. คืออะไร ต้องลงทะเบียนเป็น กศน. หรือเน้นการเรียนแบบ กศน.
เลขาฯตอบ การจัดโรงเรียนไทยมี 2 แบบคือ จัดเป็นรูปแบบ กศน. (การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) ซึ่งได้รับการรับรองกระทรวงศึกษาธิการไทย และการตั้งโรงเรียนสอนวัฒนธรรมไทยแต่ไม่ได้รับการอนุมัติให้เป็น กศน. จากกระทรวงศึกษาธิการไทย เช่น สอนรำ แกะสลัก ทำอาหาร ภาษาไทย ฯลฯ กรณีที่เป็น กศน.ต้องทำตามหลักสูตรและระเบียบของทางราชการ และเมื่อนักเรียนเรียนจบ โดยเฉพาะหลักสูตรสายสามัญ ประถม ม.ต้น ม.ปลาย ก็จะมีศักดิ์และศรีเท่ากับจบในประเทศไทยทุกประการ
ผู้เข้าร่วมจากอิตาลี กล่าวว่าตัวเองเว้นว่างจากการช่วยงาน กศน.เวนิสมานาน อยากจะให้ กศน. เวนิสยังคงอยู่และจัดกิจกรรมต่อเนื่องไป จึงขอฝากให้ช่วยติดต่อกับหัวหน้าศูนย์ กศน. เวนิส ด้วย ถ้าต้องล้มเลิกไปจะน่าเสียดายมากเพราะ ”คอมมูน” ให้สถานที่มาแล้ว ทางเมืองไทยก็รับรองแล้ว ขอเสนอว่าปีหน้าไปเที่ยวเวนิสดีกว่า ท่านกงสุลกิตติมศักดิ์อยู่เวนิส ทุกอย่างพร้อม
เลขาฯตอบ โรงเรียนที่เป็นกศน. ต้องทำเอกสารเยอะตามระเบียบราชการ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เครือข่าย ฯ ขอขอบคุณต่อข้อเสนอ และขอรับไว้พิจารณา
รองประธาน คุณเสริมศรี กล่าวว่า ตัวเองเป็นครูสอนภาษาไทยสำหรับผู้ใหญ่ให้คนต่างชาติที่หัวหิน มองอีกภาพหนึ่งว่าตอนนี้มีการย้ายถิ่นกลับบ้าน สามีต้องพูดไทยได้ไหม ถ้ามีเรื่องการสอนภาษาไทย ก็อยากให้มีอะไรสำหรับผู้ใหญ่ด้วย
ประธาน ขอขอบคุณ และเพิ่มเติมว่าถ้าภาคีอื่นมีความคิดจะจัดกิจกรรมอะไรก็นำเสนอมาได้

12. เลือกประเทศเจ้าภาพการประชุม ปี พ.ศ. 2561
ประธานแจ้งวาระท้ายของการประชุม คือ การเลือกประเทศเจ้าภาพในการจัดการประชุมสามัญครั้งต่อไป ซึ่งมี 3 ประเทศเสนอตัวแล้ว หากมีภาคีอื่นจะเสนอตัวด้วยก็เสนอได้
ประเทศแรก คือ เยอรมนี จัดที่เมืองฮัมบูร์ก (แฮมเบิร์ก)
ประเทศที่สอง คือ สหราชอาณาจักร จัดที่กรุงลอนดอน
ประเทศที่สาม คือ ออสเตรีย จัดที่กรุงเวียนนา โดยสมาคมเพื่อนไทย
ผู้แทนแต่ละประเทศเสนอแผนงานสั้น ๆ ดังนี้

ประเทศออสเตรีย
• โดยสมาคมเพื่อนไทยที่ทำงานร่วมกับเครือข่าย ฯ มานาน
• ประธานสมาคมคือ โสภิดา เคราซ์ ทำงานช่วยเหลือหญิงไทยในเวียนนา ให้คำแนะนำเรื่องที่พัก และที่ประชุมได้
• สมาคมมีความสัมพันธ์อันดีกับ รมต. กับ กระทรวง และรัฐสภาของออสเตรีย สามารถพาเข้าชมรัฐสภาและสถานที่สำคัญของออสเตรียได้
• ทูตคนใหม่ใจดีมาก คาดว่าจะเปิดทำเนียบเลี้ยงอาหาร
• เวียนนามีคุณภาพชีวิตอันดับหนึ่งของโลก ระบบสาธารณูปโภค สถานที่ที่สวยงาม สำคัญที่สุด คือ เมืองโรแมนติก ดนตรี สถาปัตยกรรม อาคารสถานที่

ประเทศอังกฤษ
• ลอนดอนมีประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่าสองพันปี มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งแม่น้ำเทมส์ มีอาหารอร่อย มีทิวทัศน์สวย ๆ สองข้างทาง มีหอนาฬิกาบิ๊กเบน ฯลฯ
• แม้เพิ่งเป็นสมาชิก แต่มีผลงานระดับเคสจำนวนหนึ่ง ชำนาญในการแก้ปัญหาด้านครอบครัวมากที่สุด
• ปีนี้อังกฤษโหวตออกจากอียู ถ้าปีหน้าไม่ได้เป็นเจ้าภาพ ปีต่อไปอาจจะเข้าประเทศลำบาก
ประเทศเยอรมนี
• ถ้าอยากมาเที่ยว มาเฉิดโฉมต้องมาแฮมเบิร์ก
• จะจัดสัมนาเรื่องชีวิตสองแผ่นดิน ประกันรักประกันสุข เป็นการเตรียมพร้อมระหว่างประเทศที่อยู่ และการกลับไปอยู่เมืองไทย มีเรื่องที่อยากทราบหลายอย่าง เช่น การประกันสุขภาพ สิทธิประโยชน์ของคนที่เกินหกสิบปี การปรับตัวก่อนกลับ อยู่ที่นี่หกเดือนที่โน่นหกเดือน ฯลฯ
• สถานที่ประชุมใจกลางเมือง
• ไม่พาเข้ารัฐสภา ไม่พาลงเรือ แต่จะพาเข้าบาร์ทัศนศึกษา ไปตลาดปลา มีดนตรีให้ดูสองฝั่ง นั่งจิบไวน์ริมทะเลสาบ

ที่ประชุมลงคะแนนเสียงดังนี้
• ประเทศออสเตรียได้ 13 เสียง
• ประเทศอังกฤษได้ 10 เสียง
• ประเทศเยอรมนีได้ 26 เสียง

คุณประไพรัตน์ กล่าวขอบคุณทุกแรงใจและขอเชิญสมาชิกจากเยอรมนีกล่าวยินดีต้อนรับสู่ฮัมบูร์ก
ประธาน กล่าวขอบคุณสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน และขอให้ผู้แทนแต่ละประเทศนำสารสตรีกลับไปให้สมาชิกในประเทศตัวเองด้วย

ปิดประชุมเวลา 12.30 น.

จงเจริญ ศรแก้ว กริมสมันน์ ผู้บันทึกการประชุม
โสพิศ ทับทิม /นงลักษณ์ ใจสงฆ์ เทร็พพ์ ผู้ตรวจทาน

Message us