The best of both worlds. Le meilleur des deux mondes. Das beste aus zwei Welten.
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเพื่อน ๆ ที่มีคู่ครองเป็นชาวต่างชาติ ที่กำลังเริ่มคิดว่าอยากจะกลับไปใช้ชีวิตที่เมืองไทย
มาดามจำนวนหนึ่งมีความสุขกับชีวิตในต่างประเทศ และคิดว่าจะอาศัยเป็นเรือนตาย แต่มาดามอีกจำนวนหนึ่งก็มีความปรารถนาจะกลับไปปักหลักที่เมืองไทยในบั้นปลายของชีวิต เพราะรู้สึกว่าไม่มีที่ไหนเหมือนบ้านเกิด มาดามอีกจำนวนหนึ่งอยากได้ทั้ง 2 อย่าง
ฉันเป็นหนึ่งในมาดามกลุ่มที่ 3 นี้ ที่ได้ร่วมตัดสินใจกับสามีชาวเยอรมันว่าเราจะลองใช้ชีวิตที่เมืองไทยครึ่งปีและที่เยอรมนีครึ่งปีหลังจากเราสิ้นสุดชีวิตการทำงานเร็วกว่ากำหนด
ปัจจัยสำคัญประกอบการตัดสินใจของเราก็คือ (1) เรามีบ้านและที่ดินของเราเองในทั้ง 2 ประเทศซึ่งเราซื้อไว้นานแล้ว (2) เราไม่มีลูก ไม่มีใครต้องห่วงใยในทั้งสองประเทศมากมาย (3) เราชอบอากาศทางภาคเหนือของประเทศไทยในฤดูหนาว และชอบอากาศหน้าร้อนในยุโรป และ (4) เรายังอยู่ในวัยที่พอจะเดินทางไปกลับได้ทุก ๆ 6 เดือน โดยไม่เหนื่อยล้ามากจนเกินไป
พอเราบอกเพื่อน ๆ พี่น้องว่าเรามีแผนการเช่นนั้น ทุกคนก็ยินดีด้วย แล้วยังแซวว่า เราจะได้แต่สิ่งดี ๆ ในสองประเทศ หรือ The best of both worlds เรียกว่าทิ้งหนาวไปเจออุ่น และทิ้งร้อนมาเจอเย็น สนุกในประเทศไทย เที่ยวซัมเม่อร์ในยุโรป อะไรจะฟังดูดีเช่นนั้น
แต่แน่นอนว่าการตั้งหลักแหล่งใน 2 ประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้ใช่ว่าจะเป็นไปตามความใฝ่ฝันเสมอไป
อยู่ที่ไหนในเมืองไทยดี
การเลือกที่อยู่ในเมืองไทยสำคัญมาก แรกสุดคือ อากาศต้องไม่ร้อนจนเกินไป ต้องอยู่ใกล้ธรรมชาติ ฉันมาจากกรุงเทพฯแต่ว่าสามีไม่ชอบกรุงเทพฯเพราะวุ่นวายเกินไป ว่าไงว่าตามกัน จะอยู่ที่ไหนเราก็ต้องการความเจริญ ทั้งด้านการคมนาคม การค้าขาย เทคโนโลยีการสื่อสาร บริการด้านต่าง ๆ การแพทย์ การธนาคาร การกีฬาและนันทนาการ แหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรมพื้นบ้านที่งดงาม ขณะเดียวกันค่าครองชีพก็ต้องสมเหตุสมผล และมีบริการทางกฎหมายสำหรับชาวต่างชาติที่เข้าถึงง่าย
ด้วยเหตุนี้ เชียงใหม่จึงเป็นตัวเลือกที่ดี ไม่ว่าจะเดินทางโดยเครื่องบิน รถไฟ หรือรถยนต์ แล้วยังเป็นเมืองที่มีชุมชนคนต่างชาติ(ภรรยาไทย)อยู่จำนวนมาก ทำให้สามีสามารถหาเพื่อนได้ง่าย ไม่ต้องคอยพึ่งพาเราตลอดเวลา พร้อมทั้งยังมีสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีสถานกงสุลของเยอรมนี มีบริการทำหนังสือเดินทาง ไม่ต้องเข้ากทม บ่อย ๆ
สำคัญที่สุด คือ ที่ลำพูน (ซึ่งอยู่ติดเชียงใหม่นิดเดียว) มีหมู่บ้านนักบินสร้างรอบสนามบินเล็กแห่งหนึ่ง ซึ่งจัดสรรที่ดินขายให้นักบินด้วยกัน และเป็นความใฝ่ฝันของสามีที่จะสร้างบ้านพร้อมโรงเก็บเครื่องบินอยู่ในบริเวณที่ดิน ชนิดที่ว่าไปบินเล่นกลับมา ก็สามารถแทกซี่เครื่องบินเก็บข้างบ้านได้เลย
โครงการแบบนี้เราต้องวางแผนล่วงหน้า เราซื้อที่ดินผืนนี้ไว้ตั้งแต่ง 4-5 ปีก่อนที่จะเริ่มคิดว่าจะมาอยู่เมืองไทยจริง ๆ จัง ๆ ดังนั้นในแง่ของการลงทุน เราก็ไม่ได้เอาเงินมาลงโครมเดียว เป็นการค่อย ๆ จ่ายไปตั้งแต่สมัยเรายังทำงาน และการซื้อที่ดินตอนนั้นก็ราคายังไม่แพงมาก
อยู่ที่ไหนในยุโรปดี
ตัวเลือกในยุโรปมี 2-3 แห่ง เช่น เราจะเลือกอยู่สวิตเซอร์แลนด์ก็ได้เพราะเราเคยทำงานที่นั่น 10 กว่าปี มีเพื่อนมากมาย แต่ค่าครองชีพสวิตฯสูงเกินไป หรือไปอยู่ฝรั่งเศสก็ไม่เลว เป็นประเทศที่มีเสน่ห์น่าอยู่มาก ๆ ค่าครองชีพไม่แพงนัก และเราพูดฝรั่งเศสได้
แต่สุดท้าย เราเลือกเมืองชายทะเลทางเหนือของเยอรมนี เพราะสามีเป็นชาวเยอรมันประการหนึ่ง เพราะเป็นเมืองที่แม่และน้องสามีอาศัยอยู่อีกประการหนึ่ง แล้วเราก็ชอบเมืองนี้ตอนหน้าร้อน ชอบความสงบเรียบง่าย คล้าย ๆ หัวหินเมืองไทย และชอบที่ค่าครองชีพของเยอรมนียังต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เหตุผลอย่างสุดท้าย คือ น้องสาวและแม่สามีสามารถช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับบ้านเราได้ด้วยเวลาเราไปเมืองไทย แต่ว่าเราก็จ้างแม่บ้านคนหนึ่งที่บ้านอยู่ใกล้ ๆ ให้มาดูแลบ้านเราเป็นระยะ ๆ ค่าแรงก็ไม่แพงเลย
เตรียมตัวทางกฎหมายอย่างไร
ด้วยเหตุผลทางภาษี สามีฉันเลือกเมืองไทยเป็นภูมิลำเนาหลัก และเยอรมนีเป็นภูมิลำเนารอง ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องอยู่เมืองไทยนานกว่า 6 เดือน และอยู่เยอรมนีน้อยกว่า 6 เดือน นั่นไม่มีปัญหาสำหรับเรา
ในส่วนของวีซ่า ฉันไม่เคยคิดทำพาสปอร์ตเยอรมัน เพราะเราอาศัยและทำงานในสวิตเซอร์แลนด์มาตั้งแต่แต่งงานกัน ดังนั้นเมื่อออกจากงาน ฉันจึงเลือกใช้วีซ่าเชงเกน ไม่ได้ใช้วีซ่าภรรยาหรือวีซ่าครอบครัว ซึ่งทางสถานทูตให้วีซ่าเชงเกนนานเท่าอายุพาสปอร์ตลบ 6 เดือน และเข้าประเทศเขตเชงเกนในแต่ละครั้งได้ไม่เกิน 90 วัน หรือแค่ 3 เดือน แล้วต้องออกนอกเชงเกน 90 วัน
ที่นี้ ฉันอยู่เยอรมนีจริงตั้ง 5 เดือนกว่า ๆ ต้องทำอย่างไร จะออกนอกเชงเกนก็ไกลเกินไป สิ้นเปลืองเกินไป เราจึงไปติดต่อหน่วยงานดูแลคนต่างชาติที่เมืองของเรา นำทะเบียนสมรสไปแสดง พร้อมเอกสารประกันสุขภาพ ทางอำเภอก็ขยายอายุวีซ่าให้ฉันจนถึงกำหนดที่ฉันจะเดินทางไปเมืองไทยอีกครั้ง พอ 2-3 วันก่อนกลับเมืองไทย เราเอาสำเนาตั๋วเครื่องบินไปแสดงให้ทางอำเภอรับทราบว่าเราจะออกจากประเทศแล้วนะ ก็เรียบร้อย
ในส่วนวีซ่าเข้าประเทศไทยของสามี เราเลือกใช้วีซ่า Non-Immigrant แบบเข้าเมืองได้หลายครั้งหรือ multiple entries เราอยู่ใกล้ฮัมบูร์ก จึงไปขอที่สถานกงสุลที่นั่น นำทะเบียนสมรสไปแสดงก็ได้วีซ่ามาเดี๋ยวนั้นเลย เสียเงินประมาณ 100 ยูโร วีซ่าชนิดนี้เข้าเมืองไทยได้ทีละ 90 วัน แล้วต้องออกนอกประเทศเพื่อไปต่ออายุใหม่ เนื่องจากเราอยู่เชียงใหม่ สามารถขับรถไปเชียงราย แม่สายได้สะดวก สามีแค่เดินข้ามด่านเข้าไปฝั่งพม่าหรือเมียนม่าร์ เสียค่าธรรมเนียมฝั่งพม่านิดหน่อย เดินกลับเข้ามา ทางด่านไทยก็จะต่ออายุวีซ่าให้อีก 90 วันไม่ต้องเสียเงินอีก ที่จริงเราเลือกจะทำวีซ่า Retirement ก็ได้ แต่เนื่องจากยังเป็นปีแรก ๆ อยู่ เราจึงคิดว่าจะใช้วีซ่า Non-O ไปก่อน
เพราะฉันมีบ้านที่เมืองไทยซึ่งมีชื่อฉันเป็นเจ้าบ้าน ก็เลยสามารถนำชื่อสามีเข้าทะเบียนบ้านได้ ไม่ยุ่งยาก ได้ทะเบียนบ้านเล่มเหลือง สามารถใช้เป็นหลักฐานเปิดบัญชีธนาคาร หรือทำธุรกรรมอื่น ๆ ตามสมควร
ชีวิตทางสังคม
มีเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งพูดว่า การใช้ชีวิตใน 2 ประเทศ ทำให้เราไม่มีกลุ่มเพื่อนที่สนิทจริง ๆ เพราะเราอยู่ไม่กี่เดือนก็หายไป เหมือนไม่มีรากในที่ใดที่หนึ่ง เป็นช่องว่างเล็ก ๆ ทางสังคม พวกเราเห็นจริงด้วยในกรณีของเยอรมนี แต่ยังเห็นไม่ชัดในเมืองไทย
คือพอเรากลับเยอรมนีหลังจากเสียเวลาสร้างบ้านอยู่เมืองไทย 8 เดือน ญาติฝั่งสามีเขาชินกับการที่ไม่มีเราอยู่แถวนั้น เวลาเขาทำอะไร ไปเที่ยวไหน ก็เลยไม่ค่อยจะชวนเราเท่าไร เรียกว่าขาดความสนิทสนมไป เพื่อนฝูงต่าง ๆ ก็ไม่ติดต่อเรา พวกเราก็นึกน้อยใจนิด ๆ พอมาคิดดูว่าเราไม่ค่อยได้อยู่ให้เขาเห็นหน้า ก็ต้องยอมรับความจริง แต่เราก็แก้ไขด้วยการเชิญครอบครัวมากินอาหารไทยที่บ้านบ่อยครั้ง และติดต่อทุกคนตอนกลับมาถึงเยอรมนีแต่ละครั้ง ชวนพวกเขามาเยี่ยมเรา หรือเราแวะไปเยี่ยมเขา ฟังดูก็เป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อยพอสมควรที่ต้องตะเวณเยี่ยมเพื่อนและญาติแต่ละครั้งที่กลับมา แต่ก็สนุกพอกัน เหมือนได้ไปเที่ยวในตัว
แต่สิ่งดี ๆ ที่ฉันได้จากการกลับไปยุโรปก็คือ เพื่อนเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป (Thai Women Network in Europe) ซึ่งนำไปสู่การร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจ มีประโยชน์ ช่วยเปิดโลกทัศน์เป็นอย่างมาก ได้เพื่อนและพี่ผู้รู้ใจเพิ่มหลายคน ทำให้ชีวิตมีความหมาย แล้วยังได้รับเชิญให้มาช่วยทำเพจนี้อีก นอกจากนั้น ฉันยังลงเรียนภาษาเยอรมัน และได้เพื่อนจากการเรียนภาษาอีกด้วย
ส่วนเมืองไทย สามีได้เพื่อนด้วยตัวเองหลายคน ผ่านทางกิจกรรมสังสรรค์รถคลาสสิกบ้าง แก้งค์มอเตอร์ไซค์บ้าง กลุ่มฝรั่งนักบินเครื่องบินเล็กบ้าง จากเพื่อนเก่า ๆ สมัยทำงานที่เมืองไทยบ้าง จากการแนะนำปากต่อปากบ้าง กลายเป็นว่าเขามีเพื่อนมากกว่าฉันเสียอีก เพราะเขาเข้าสังคมเก่ง เราออกไปกินข้าวด้วยกัน ออกไปขับรถเล่น ปรึกษาหารือเรื่องสร้างบ้าน ซ่อมรถ การเดินทาง สารพัดเรื่อง สามีได้เพื่อนฝรั่ง ฉันก็ได้เพื่อนภรรยาไทย มีที่ชอบพอถูกคอกันหลายคน เวลากลับเมืองนอก เราก็ไลน์ส่งข่าวสม่ำเสมอไม่ขาดสาย ภรรยาไทยเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งหลักอยู่เมืองไทย แต่บางคนก็ไป ๆ มา ๆ เมืองนอกเป็นระยะ ๆ พวกเราเลยเข้าใจกันดี
เรากลับมาเมืองไทยรอบสองรู้สึกว่าไม่มีช่องว่างเหมือนตอนไปเยอรมนี อาจจะเพราะฝรั่งและภรรยาไทยในเมืองไทยใช้ชีวิตแบบวัยเกษียณ พักผ่อน ทำงานอดิเรก มองชีวิตแบบชิว ๆ สนุก ๆ เป็นฮอลิเดย์ ไม่ซีเรียส คนไทยเจอกันเมื่อไรก็ทักทายอย่างอบอุ่น แทบไม่มีช่องว่าง เหล่าสามีฝรั่งเองก็มีความผูกพันในความเป็นคนไกลบ้านเหมือนกัน
กิจกรรมใน 2 ปีแรกของพวกเราหมดไปกับการแต่งและซ่อมบำรุงบ้านที่เยอรมัน และการสร้างบ้านใหม่ที่เมืองไทย เราได้เที่ยวน้อยมาก แต่เราก็สนุกสนาน ได้เรียนรู้ไม่จบสิ้นเรื่องการสร้างบ้าน ดูเหมือนจะเข็ดแต่ก็ไม่เคยเข็ด
นอกจากนั้น ความที่สามีเป็นคนรักรถ ฉันจึงพลอยรู้จักอู่ซ่อมรถยนต์ทั้งที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่ และรู้จักทั้งคนไทยและฝรั่งที่คอเดียวกันไปปริยาย กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของฉัน
เรื่องยากของเมืองไทย
การอยู่เมืองไทยความกดดันจะตกอยู่กับภรรยาค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ไหนจะต้องคอยแปล คอยโทรประสานงาน คอยหาข้อมูล คอยไปไหนมาไหนเป็นเพื่อน คอยดูแลเรื่องโน้นเรื่องนี้ เอกสารทางกฎหมาย การต่อวีซ่า การเปิดบัญชีธนาคาร การไปตัดผม การไปซื้อเสื้อผ้า การไปโรงพยาบาล การไปซื้ออะไหล่รถยนต์ การทำธุระแทบจะทุกอย่าง แม้แต่ไปกินอาหาร ถ้าไม่ใช่ร้านเยอรมัน เราก็ต้องช่วยเลือกช่วยสั่ง เรียกว่ามาดามจะมีอิสระน้อยลงมากในด้านของเวลา สวัสดิภาพของสามีจะมาก่อนอื่นใด โดยเฉพาะที่เรื่องที่เขาพูดสื่อสารหรืออ่านเองไม่ได้ ยังดีว่าสามีฉันพอรู้ภาษาไทยนิด ๆ หน่อย ๆ และดีที่เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว บริการจำนวนมากเป็นภาษาอังกฤษ แถมยังมีฝรั่งเปิดกิจการเองหลายอย่าง (เช่น ทำเครื่องครัว ขนย้ายบ้าน สร้างบ้าน สถาปนิก งานไอที งานท่องเที่ยว ร้านอาหาร) ทำให้ฝรั่งด้วยกันติดต่อกันเองได้สะดวก แบบนี้เหล่ามาดามก็โล่งใจไป
ฝรั่งจำนวนมากมักจะบ่นเกี่ยวกับคุณภาพงานช่างในเมืองไทย โดยเฉพาะเมื่อต้องสร้างบ้าน ซ่อมรถ ทำงานกับเครื่องยนต์กลไก และงานเทคนิค-บริการด้านต่าง ๆ ฝรั่งไม่ค่อยเข้าใจคำแก้ตัวแบบไทย ๆ ฝรั่งแสดงออกซึ่งความไม่พอใจอย่างออกนอกหน้า ภรรยาไทยบ่อยครั้งก็ต้องเป็นหนังหน้าไฟ คอยแปล คอยโอ้โลมปฏิโลมทั้งสองฝ่าย ไม่ให้คนไทยเสียหน้า ไม่ให้ฝรั่งเข้าใจผิดและถูกเอาเปรียบ มีแต่เรื่องจุกจิกตลอดเวลา จนปวดหัวเครียดบ่อยครั้ง ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ศัพท์ทางช่างมากมาย ดังนั้น เมื่อเรามาสร้างบ้านกันที่เมืองไทย จึงเป็นความโกลาหลครั้งใหญ่ของชีวิตแต่งงาน เพื่อนภรรยาฝรั่งด้วยกันบอกว่า ระหว่างสร้างบ้าน อยากจะหย่ากับสามีวันละหลาย ๆ รอบ ซึ่งฉันเองก็รู้สึกเช่นนั้น กว่าจะผ่านมาได้ก็เลือดตากระเด็นนั่นแหละ
อย่างสุดท้ายที่ถูกถามเสมอคือ เวลาไม่อยู่เมืองไทย ใครดูแลบ้าน ต้องบอกว่าฉันโชคดี ที่ได้คนรู้จักแนะนำน้องชายที่สุขภาพไม่ค่อยดี แต่เป็นคนฉลาดรอบรู้เรื่องช่าง ระบบน้ำ ระบบไฟ ปั๊มน้ำ ไอที ภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย ทำสวนเป็น ทำความสะอาดบ้านเป็น เรียกว่าเป็นคนคล่องงาน ได้เขามาเฝ้าบ้านให้ระหว่างที่เราไม่อยู่ ทำให้โล่งใจไปได้มาก ส่วนที่เยอรมนี เวลาเราไม่อยู่ เราจ้างแม่บ้านที่ไว้ใจได้ให้มาดูบ้านทำความสะอาด ไม่ให้บ้านโทรม แล้วจ่ายให้เขาเป็นรายชั่วโมงตามแต่ที่เขาแวะมาดูบ้านให้ เชื่อใจได้ว่าเขาไม่โกงค่าชั่วโมง แต่การหาคนไว้ใจได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณภาพแม่บ้านที่เมืองไทยต่างจากแม่บ้านที่เยอรมนีหรือสวิตฯมากมาย
ค่าใช้จ่ายที่บานปลาย
แน่นอนว่าการมีบ้านอยู่ 2 ประเทศ ก็เท่ากับว่ามีรายจ่ายประจำ 2 ชุดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าบำรุงรักษารถยนต์ ค่าน้ำมันรถ ค่าคนทำความสะอาด ค่าทำสวน ค่าซ่อมบ้าน ค่าช่างทุกสาขา ค่าสมาชิกฟิตเนส หรือค่าเสื้อผ้าอาภรณ์ แล้วรายได้ของคนเกษียณก็ย่อมน้อยกว่าสมัยทำงาน การใช้จ่ายก็ต้องระมัดระวังมากกว่าแต่ก่อน
ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงดีใจที่เราเลือกเยอรมนีเป็นประเทศหลักในยุโรป เพราะเมื่อเทียบเรื่องอาหารการกินและค่าแรงแล้ว พอฟัดพอเหวี่ยงกับอยู่เมืองไทยอย่างไม่น่าเชื่อ เมืองไทยเริ่มแพงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นฝรั่ง ราคาสินค้าและบริการบางอย่างก็สูงกว่าที่คนไทยโดยทั่วไปจ่ายกัน หากเรารู้ทันก็ดีไป แต่บ่อยครั้งเราก็เป็นหมูในอวยให้เขาหาม จุดนี้ทำให้การอยู่เมืองนอกเป็นความสบายใจมากกว่า เพราะมาตรฐานราคาต่าง ๆ ว่าไม่ได้แปรไปตามสีผิวหรือสีตาหรือสัญชาติ
ฉันได้ยินบ่อยครั้งจากเพื่อนมาดามว่า การพาสามีฝรั่งไปซื้อของในเมืองไทยทำให้โดนโก่งราคาบ่อย ๆ ฉันก็ไม่แน่ใจว่าได้เจอกับตัวเองหรือไม่ เพราะถ้าไปซื้อของตามห้างร้านมาตรฐานก็ไม่มีปัญหา สามีเองรู้จักเมืองไทยดีและรู้จักราคาอะไหล่เกี่ยวกับรถยนต์ค่อนข้างดี เราไปอู่ที่มีคนแนะนำ เรารู้จักต่อรอง ก็หวังแต่ว่าคงไม่โดนโก่งราคามากจนเกินไป ส่วนที่จะรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบซึ่ง ๆ หน้ายังไม่เคยเจอเท่าไร
กิจกรรมในบั้นปลายชีวิต
ชีวิตทำงานต้องเจอความเครียดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทุกวัน ส่วนชีวิตหลังเกษียณจะเจอความเครียดเช่นกัน แต่เราปล่อยวางได้ง่ายขึ้น เช่น เราเลือกสนุกกับสร้างบ้าน ซึ่งมีปัญหาร้อยแปดพันเก้าให้เจอไม่เว้นวัน แต่พอผ่านไปเราก็ได้ชื่นใจกับผลงาน สามีขยันซื้อซากรถเก่า ๆ เอามาซ่อมบำรุงเป็นรถใหม่ เราเข้าร่วมกลุ่มรถคลาสสิก มีการไปเที่ยวต่างอำเภอกัน 2-3 เดือนครั้ง และหมุนเวียนกันไปจัดกิจกรรมที่นู่นที่นี่ให้เพลิดเพลิน บางทีก็ชวนกันนั่งเครื่องบินเล็กไปเที่ยวอีสานบ้าง ในส่วนของการศึกษาหาความรู้เพื่อลับสมอง ฉันเลือกเรียนภาษาเยอรมันเพิ่มเติม แล้วยังรับจ๊อบจากที่ทำงานเดิม พอให้มีรายได้เข้ามาบ้าง และได้เดินทางไปทำงานเปิดหูเปิดตาบ้าง
เอาเข้าจริง พวกเราแทบไม่มีเวลาว่างเลย วัน ๆ หมดไปกับกิจกรรมต่าง ๆ การอยู่เมืองไทย 6 เดือนเหมือนกันแป๊บเดียว อากาศก็ร้อนอีกแล้ว ต้องหนีไปยุโรป สนุกกับซัมเม่อร์ ขับรถเที่ยวบ้าง ไม่กี่เดือนก็เริ่มหนาวไม่น่าอยู่อีกแล้ว ก็หอบกันกลับเมืองไทย ฉันพบว่ามันสำคัญมากที่เราจะมีอะไรทำที่เราทั้งสองคนสนใจร่วมกัน และที่เราสองคนแยกกันทำได้ เพื่อความเพลิดเพลินส่วนตัว มันทำให้การอยู่เมืองไทยหรืออยู่เมืองนอกเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับเราทั้งคู่
อนาคตที่ไม่แน่นอน
ณ วันนี้ เรารู้ว่าชีวิตเราอยู่ใน 2 ประเทศ บินไปบินมาดังนกอพยพ แต่เมื่อสังขารโรยรา การเดินทางกลายเป็นเรื่องยากลำบาก เราคงต้องหยุดเดินทาง และตัดสินใจว่าจะอยู่ประเทศไหนดี คำตอบยังไม่ชัดเจนในวันนี้ เมืองไทยดูจะเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นเพราะเราไม่ต้องเจอกับหน้าหนาวอันหดหู่ในยุโรป แต่เมืองไทยก็ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ เราก็ไม่รู้ว่าเจอหน้าร้อนในเมืองไทยตอนเราแก่ ๆ เราจะอยู่ไหวไหม แต่เราเชื่อมั่นว่าอย่างน้อยเราน่าจะหาบริการสำหรับดูแลคนสูงอายุในประเทศไทยได้ไม่ยาก ในราคาไม่แพงเกินไป และได้รับการดูแลที่ดีอบอุ่นแบบไทย ๆ
แน่นอนว่า มาดามท่านใดที่มีลูกหลานก็คงไม่ต้องกังวลกับชีวิตในบั้นปลายมากนัก เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เมืองไทยหรือเมืองนอก ก็คงสนุกกับการเลี้ยงหลานและอยู่ในแวดล้อมของครอบครัวที่พร้อมพรั่ง
ข้อควรคำนึงในการใช้ชีวิตในสองประเทศ
- ความพร้อมของคู่ชีวิตทั้งสอง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ควรต้องเสียสละมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะอยู่กันไม่ยืด เรียกว่าว่ายังไงต้องว่าตามกัน
- อย่าลืมปัจจัยด้านครอบครัวของสามี หากเขาสนิทสนมพ่อแม่มาก อย่าให้เขาคิดว่าเราไปพรากลูกชายของเขาไปอยู่เมืองไทย ต้องพูดให้เขาเข้าใจหรือต้องให้สามีเป็นคนตัดสินใจเอง
- ต้องวางแผนล่วงหน้าหลาย ๆ ปี ค่อย ๆ ลงทุนทีละน้อย จะได้ไม่ต้องเอาเงินเก็บมาลงโครมเดียวกับการโยกย้าย
- ต้องศึกษาข้อกำหนดทางกฎหมายของแต่ละประเทศให้ดี ให้รู้อย่างถ่องแท้ จะได้มีปัญหาเรื่องการปรับตัวกับชีวิตใหม่น้อยที่สุด
- เมื่อมี 2 บ้าน ใครจะดูแลบ้านให้ในแต่ละประเทศ เมื่อเราไม่อยู่ มีใครที่เราไว้ใจได้บ้าง
- ค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละประเทศมีอะไรบ้าง เราแบกรับไหวไหม ส่วนใหญ่การตัดจ่ายอัตโนมัติทางธนาคารจะช่วยได้ แต่บางอย่าง ก็ต้องมีคนช่วยวิ่งธุระให้เป็นครั้งคราวเหมือนกัน
- เราอาจได้สิ่งที่ดีที่สุดของ 2 ประเทศในด้านของสภาพอากาศ การท่องเที่ยว การพักผ่อน แต่เราต้องเสียอะไรไปบ้าง ความสนิทสนมกลุ่มเพื่อน ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น เวลากับการปรับตัวในแต่ละครั้งที่เดินทาง ความเสื่อมโทรมของบ้านเวลาที่เราไม่อยู่ โดยเฉพาะสวน
- ท้ายที่สุด เมื่อวัยชรามาถึง เดินทางไม่ไหวแล้ว เราจะเลือกอยู่ที่ประเทศไหนดี ที่เราจะมีความสุข มีคนดูแล และใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีคุณภาพที่สุด