โดย สเตฟาน อเลมานโน ที่ปรึกษาทางการเงิน – DipPFS
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ https://www.theprivateoffice.com/insights/what-widows-pension-uk
ผู้แปลและเรียบเรียง จงเจริญ ศรแก้ว
การเสียชีวิตของคู่สมรสเป็นเรื่องเศร้า สะเทือนใจ และสร้างความกังวลให้ผู้ที่อยู่ข้างหลังได้มากมาย ผู้ที่ตกเป็นหม้ายต้องวิตกว่าจะรับมือกับเรื่องต่าง ๆ อย่างไร นอกเหนือจากความทุกข์อารมณ์และจิตใจ ยังมีคำถามมากมาย เช่น จะอยู่คนเดียวอย่างไร จะเลี้ยงลูกเล็ก ๆ อย่างไร จะมีรายได้จากที่ไหน จะจัดการงานเอกสารอย่างไร เงินสำหรับจัดงานศพ การขอต่อสิทธิพำนักอาศัย ฯลฯ
ในสหราชอาณาจักร มีเงินช่วยเหลือที่เรียกว่า เงินบำนาญสำหรับแม่หม้าย ซึ่งท่านต้องทราบว่า “ใครบ้างที่มีสิทธิ์รับเงินบำนาญหม้าย” และ “เงินบำนาญแม่หม้ายมีจำนวนเท่าไร”
บทความนี้เราจะตอบคำถามบางข้อ เพื่อให้ท่านทราบว่าท่านมีสิทธิ์หรือไม่ จำนวนเท่าใด และนานเท่าใด
เงินบำนาญแม่หม้าย (Widow’s Pension) คืออะไร?
คำว่า “เงินบำนาญของหญิงหม้าย” หรือ Widow’s Pension เป็นคำที่เลิกใช้ไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2544 และเปลี่ยนมาเป็น “เงินช่วยเหลือผู้สูญเสีย” หรือ Bereavement Support Payments (BSP)
แต่ในชีวิตประจำวัน เรายังใช้คำว่า “เงินบำนาญแม่หม้าย” ในความหมายเดียวกับ “เงินช่วยเหลือผู้สูญเสีย”
กล่าวสั้น ๆ BSP คือ เงินช่วยเหลือที่หม้ายได้รับหลังจากการเสียชีวิตของคู่สมรสหรือคู่ชีวิต
แต่เดิม เงินบำนาญแม่หม้ายจะจ่ายให้หญิงหม้ายจนอายุ 65 ปี หรือจนแต่งงานใหม่ หรือจนเกษียณอายุ
ส่วน BSP มีความแตกต่าง คือ
- BSP จะจ่ายให้หลังจากคู่สมรสหรือคู่ครองถึงแก่กรรมเพียง 21 เดือนเท่านั้น หรือจนกว่าท่านจะถึงวัยเกษียณ ขึ้นอยู่กับว่าเกณฑ์อายุไหนมาถึงก่อน
- BSP จ่ายให้คู่ชีวิตที่เป็นหม้ายทุกคนทุกเพศ (ไม่ว่าด้วยการจดทะเบียนสมรส หรือเป็นคู่ชีวิตที่เรียกว่า Civil Partnership)
- BSP ขยายความคุ้มครองให้กับผู้ที่อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนแต่งงานหรือเป็นคู่ชีวิต ซึ่งเป็นมติที่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภายูเคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา
เงินบำนาญหญิงหม้ายจ่ายเท่าไร
BSP จ่ายเป็นรายเดือน แนวนเงินที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับว่าท่านมีบุตรหรือไม่ ผู้ที่ไม่มีบุตรจะได้รับสูงสุด 100 ปอนด์ต่อเดือน และหากมีบุตร ก็จะได้รับสูงขึ้นไปจนถึง 350 ปอนด์ โดยได้รับเป็นระยะเวลา 18 เดือน
นอกจากเงินบำนาญแม่หม้ายแล้ว หม้ายยังอาจมีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมทดแทนแบบจ่ายครั้งเดียวอีกด้วย (one-off bereavement payment) ซึ่งเป็นเงินก้อนปลอดภาษีจำนวน 2,500 ปอนด์ หรือเพิ่มเป็น 3,500 ปอนด์ ในกรณีที่มีบุตร โดยเงื่อนไข คือ คู่ครองที่เสียชีวิตต้องเคยจ่ายเงินสมทบการประกันแห่งชาติ (National Insurance) หรือ เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
หม้ายต้องเสียภาษีหรือไม่
ข้อบังคับของสหราชอาณาจักรระบุว่า BSP เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ต้องเสียภาษี และการได้รับเงินจำนวนนี้ จะไม่มีผลกระทบกับการรับผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ท่านมีสิทธิได้รับ ซึ่งหมายความว่าท่านไม่จำเป็นต้องกังวลเมื่อท่านสมัครรับสวัสดิการอื่น ๆ ที่ต้องตรวจสอบ (means-tested benefits) ภายในหนึ่งปีหลังจากได้รับเงิน BSP
แต่ถ้าท่านมีการเคลมขอสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องหรือขอสวัสดิการตัวใหม่หลังจากหนึ่งปีที่ท่านได้รับเงิน BSP ครั้งแรก จำนวนเงินที่จะได้จาก BSP จะถูกนำมาพิจารณาในการคำนาญสิทธิประโยชน์อื่นด้วย
และท่านต้องแจ้งสำนักงานสวัสดิการ (เช่น Jobcentre Plus ในพื้นที่) เมื่อท่านเริ่มรับ BSP
ใครมีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญแม่หม้าย
ยูเคไม่มีข้อกำหนดว่าต้องมีอายุเท่าไรจึงจะได้รับเงิน BPS อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านอายุเกินอายุเงินบำนาญของรัฐ ท่านจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ BPS อีกต่อไป
คุณสมบัติ:
- หม้ายมีอายุต่ำกว่าเกณฑ์อายุรับบำนาญของรัฐในขณะที่คู่ชีวิตถึงแก่กรรม และท่านอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรหรือในประเทศอื่นที่จ่ายเงินช่วยเหลือกรณีสูญเสีย
- คู่ชีวิตที่จากไปเคยจ่ายเงินสมทบการประกันภัยแห่งชาติเป็นเวลาอย่างน้อย 25 สัปดาห์ภายในหนึ่งปีภาษีตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1975 หรือ เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
- คู่ชีวิตถึงแก่กรรมภายใน 21 เดือนที่ผ่านมา หากคุณไม่เรียกร้องภายใน 3 เดือนแรกหลังจากที่พวกเขาเสียชีวิต คุณจะไม่มีสิทธิ์รับเงินเต็มจำนวน
- จำนวนเงิน BSP ไม่ติดเงื่อนไขว่าท่านมีทรัพย์สินอยู่แล้วเท่าไร ส่วนจะได้รับจะน้อยหรือมากจะขึ้นอยู่กับว่าท่านมีบุตรด้วยกันหรือไม่เท่านั้น หากมีบุตรก็จะได้รับในอัตราที่สูงกว่า
จะได้รับเงินบำนาญแม่หม้ายนานแค่ไหน
หากคู่ชีวิตของท่านถึงแก่กรรมหลังเดือนเมษายน ค.ศ. 2017 ท่านจะได้รับเงิน BSP เป็นเวลาสูงสุด 18 เดือน โดยท่านต้องเรียกร้องขอเงินช่วยเหลือโดยเร็วที่สุดภายใน 3 เดือนหลังจากการเสียชีวิต เพื่อจะได้รับเงินเต็มจำนวน 18 งวด
หม้ายขอสินเชื่อเงินบำนาญ (Pension Credit) ได้ไหม
สินเชื่อเงินบำนาญเป็นโครงการที่รัฐบาลยูเคตั้งขึ้นมาเพื่อให้ผู้สูงวัยที่มีรายได้น้อยมีเงินเพิ่มสำหรับค่าครองชีพ การขอรับสินเชื่อฯ หม้ายจะต้องผ่านการตรวจสอบ และมีอายุเกินเกณฑ์อายุรับเงินบำนาญของรัฐ นอกจากนี้ หม้ายสามารถขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าที่พัก เช่น ค่าเช่าที่ดินและค่าบริการ เป็นสิ่งที่หม้ายควรคำนึงเมื่อวางแผนชีวิตสำหรับช่วงสูงวัย โดยเฉพาะหม้ายวัยเกษียณที่มีรายได้น้อย
หม้ายมีสิทธิร้องขอสินเชื่อเงินบำนาญ โดยพิจารณาจากอายุและรายได้ของคุณ รวมทั้งปัจจัยอื่น เช่น หม้ายมีภาระต้องทำหน้าที่ผู้ดูแล หม้ายมีภาวะทุพพลภาพ หรือหม้ายต้องเลี้ยงดูผู้เยาว์ การได้รับสินเชื่อนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการได้รับเงิน BSP ภายในหนึ่งปีแรก
สรุปแล้ว เงินบำนาญแม่หม้ายไม่ได้ใช้แล้วในยูเค แต่แทนที่ด้วย “เงินช่วยเหลือกรณีสูญเสีย (BPS) แต่ในชีวิตประจำวัน ผู้คนยังเรียกเงินช่วยเหลือนี้ว่า ‘เงินบำนาญแม่หม้าย’ ซึ่งมีการจ่ายเป็นรายเดือน
ขอควรจำคือ ผู้มีอายุบำนษยเท่านั้นที่สามารถขอสินเชื่อเงินบำนาญได้ และผู้ที่มีอายุน้อยกว่าอายุเกษียณเท่านั้นที่จะมาของเงินช่วยเหลือกรณีสูญเสีย (BPS) ได้
แหล่งข้อมูล กองทุนบำนาญยูเค ข้อมูลอัพเดทล่าสุดวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566
การเคลมเงินช่วยเหลือ
ท่านสามารถเคลมเงินช่วยเหลือได้ทางออนไลน์ โทรศัพท์ หรือ ไปรษณีย์ โดยต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
- หมายเลขประกันสังคมของตัวท่านเอง
- ข้อมูลบัญชีธนาคารของท่าน
- วันที่คู่สมรสของท่านเสียชีวิต
- หมายเลขประกันสังคมของคู่สมรสที่เสียชีวิต
- ทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
ช่องทางติดต่อออนไลน์
แบบฟอร์มคำร้อง
การติดต่อทางโทรศัพท์
Bereavement Service helpline
Telephone: 0800 151 2012
Welsh language: 0800 731 0453
Textphone: 0800 731 0464
Welsh language: 0800 731 0456
การติดต่อทางไปรษณีย์
ให้กรอก “แบบฟอร์มคำร้องแบบพีดีเอฟ” (ต้องดาวน์โหลดและกรอกผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์) และส่งไปตามที่อยู่ดังนี้
Bereavement Support Payment,
Mail Handling Site A,
Wolverhampton WV98 2BS