ช่วยอย่างมีสติ

การช่วยเหลือ โดย หย่งศรี (นักเขียนรับเชิญ)

ช่วงนี้อากาศที่เยอรมนีเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเต็มตัว แดดส่องเปรี้ยง ฟ้าใสไร้เงาเมฆ เราจึงไปซื้อสระว่ายน้ำแบบเป่าลมมาวางไว้ที่ระเบียงบ้านให้เด็กๆ ได้เล่นกัน

เราเปิดน้ำไว้ทิ้งไว้ในสระตั้งแต่เช้า ทิ้งไว้กลางแดดทั้งวัน น้ำจะได้อุ่น ตอนบ่ายๆ เย็นๆ สองสาวก็จะเล่นได้ (ถึงจะเป็นหน้าร้อน แต่น้ำประปาที่นี่ยังเย็นมากค่ะ)

ระหว่างที่ฉันเก็บกวาดครัวหลังจากทานข้าวกลางวันกันเสร็จ ปาป๊ามองไปที่ระเบียง ก็ร้องขึ้น โอ้ ดูสิ มีตัวต่อตกอยู่ในน้ำ เราไปช่วยเอาเขาออกกันเร็ว ก่อนที่เขาจะจมน้ำตาย

ตัวฉันได้ยินดังนั้น หันไปดู โอ้โห ตัวต่อดิ้นอยู่ในน้ำจ้าละหวั่น ความสงสารอยากช่วยชีวิตตัวต่อพุ่งขึ้นถึงขีดสุด รีบพุ่งออกไปที่ระเบียง แล้วใช้มือเปล่าหยิบตัวต่อออกจากสระ ช่วงเวลาที่โดนตัวต่อ ไม่น่าจะเกิน ๒ วินาที

หัวใจพองฟูที่ช่วยชีวิตตัวต่อได้สำเร็จ แต่พอหลังจากที่ความภูมิใจลดลง ก็รู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่นิ้ว ก้มลงไปดู อุ๊ย… แดง และบวม

โอ้ว… สงสัยโดนตัวต่อต่อยเข้าแล้ว

สามีถามว่าเป็นอะไรมากหรือเปล่า ฉันมองไปทางสามี ซึ่งกำลังถือกระดาษแข็งอยู่ในมือ จะเอาไปช้อนตัวต่อออก แต่เร็วสู้เมียไม่ได้

โดยที่ไม่ต้องพูดอะไร สีหน้าสามีที่มองมา แปลเป็นคำพูดได้ว่า ฉันบอกเธอไม่ทันว่า จะช่วยตัวต่อ อย่าไปโดนตัวมัน ให้เอากระดาษช้อนมันออกมา มันกำลังเครียด จวนตัว ใครไปโดนตัวมันตอนนั้น มันก็ต่อยเอาแหละ

เสียงในหัวดังชัดเจนมาก หย่งศรีเอ๊ย… อยากช่วยจนขาดสติ แล้วก็เจ็บตัวเองนะ นิ้วฉันบวมต่อมาอีก ๕ วัน ฉันคิดว่าคงจำเหตุการณ์นี้ไม่มีวันลืมแน่ๆ

……….

เรื่องสงสาร อยากช่วย จนขาดสตินี้ ทำให้ฉันนึกถึงการทำงานอาสาสมัคร/จิตอาสา ในเยอรมนี (รวมไปถึงยุโรปตะวันตกที่ฉันเคยไปทำข่าวมาด้วยก็ได้)

นึกถึงบทสนทนาที่ฉันมีกับพี่เล็ก สุชาดา ไบเยอร์ ประธานสมาคมธารา ซึ่งทำงานอาสาด้านการให้ข้อมูล ให้คำปรึกษาแก่คนไทยในเยอรมนี

พี่เล็กจะพูดเสมอว่า การทำงานจิตอาสา ต้องมีความกล้าหาญควบคู่ไปกับการรู้ขอบเขต

กลไกการขอ/รับความช่วยเหลือ คือ เราต้องรู้จักตนเองว่าเราคือใคร มีบทบาทแค่ไหน ในการช่วยเหลือ

ผู้ขอรับความช่วยเหลือคือใคร มีปัญหาชนิดไหน เราควรช่วยเหลืออย่างไร โดยไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน

ถ้าเราไปรับฟังเรื่องของใครแล้ว เอาเรื่องเขามาใส่ตัว ใส่ใจเราจนเกินไป จนเราก็ทุกข์ไปด้วย จิตตกไปกับเขาด้วย อย่างนี้เรียกว่า sympathy – เห็นอกเห็นใจและคล้อยตามไปกับความรู้สึกของผู้อื่น จนเครียด โกรธ ร้องไห้ไปด้วย โอ… อย่างนี้ ไม่รู้ว่าตกลงคนพูดหรือคนฟัง ใครมีปัญหากันแน่…

พี่เล็กบอกว่า ที่ควรทำ ที่ควรเป็น คือ มี emphathy หรือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยที่ไม่มีอารมณ์คล้อยตามไปด้วย

“เห็นใจ” กับสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ แต่ “ไม่ต้อง” มีอารมณ์ร่วมไปกับเขา เรามีเส้นแบ่งที่ชัดเจน จะทำให้ช่วยเหลือได้อย่างมีขอบเขตและประสิทธิภาพ

ซึ่งเป็นเรื่องที่ทีมงานต้องฝึก และสมาคมธาราเอง โดยการนำของพี่เล็ก ก็จัดอบรมเรื่องนี้ให้กับสมาชิกด้วยอยู่ทุกปี

เมื่อพิจารณาแล้ว ฉันคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่การทำงานอาสา แต่เอาไปใช้ได้ในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นกับเพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง

หากเราหัดฟังคนอื่นอย่างเห็นอกเห็นใจ แต่ก็รู้ขอบเขต ไม่จิตตกไปด้วย ย่อมจะช่วยเหลือเขาได้มากกว่า การที่เราลงไปร่วมโกรธ ร่วมเสียใจด้วย อาจจะทำให้คนเล่าเป็นกังวลกับตัวเราแทน (ฮา)

และอันที่จริง การจะทำเช่นนี้ได้ ก็คือ ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

หากเรารู้สึก รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ว่าเราเป็นใคร กำลังทำอะไร มีหน้าที่อะไร ไม่ไหลไปตามอารมณ์ ตามสิ่งที่ได้ฟัง สิ่งที่มากระทบโสตประสาทเราทั้งหลาย เราก็จะวางมันได้เร็ว ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ ก็ต้องฝึกทำสมาธิในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ

………

ความคิดในหัวฉัน ยังไหลไปนึกถึงเรื่องราวการทำงานอาสาสมัคร/จิตอาสาของคนไทยในเยอรมนีที่ฉันได้รับรู้ สมัยที่ฉันมาเยอรมนีใหม่ๆ ด้วย

ช่วงสองสามปีแรกที่มานั้น ฉันสัมภาษณ์พี่คนไทยอาสาสมัครหลายท่าน สัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากพอสมควร

เรื่องราวที่ได้ยินจากพี่อาสาสมัครบางท่านที่ยังติดหูมาจนถึงทุกวันนี้ คือ หน่วยงานเยอรมัน ใจดำ ไม่เห็นช่วยเลย เห็นชัดๆ เลยว่ามีคนเดือดร้อน แต่ไม่ยื่นมือมาช่วยเลย

เมื่อได้โอกาสสัมภาษณ์หน่วยงานนั้น ฉันก็เลยถามเขาไปว่า ทำไมไม่ช่วย

คำตอบที่ได้รับคือ เราจะช่วยคนที่ “ต้องการ” ความช่วยเหลือ เขาต้อง “ติดต่อ” เรามาว่า เขาต้องการความช่วยเหลือ แล้วเราคุยกันว่า เราสามารถช่วยอะไรเขาได้บ้าง

หากคนๆ นั้นไม่ติดต่อมาเอง เราจะไม่ยื่นมือเข้าไปช่วย นี่เป็นนโยบายของเรา

วันนั้นฉันฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ แต่วันนี้ หลังจากที่โดนตัวต่อต่อย ฉันเข้าใจแล้ว

ถ้าเป็นสัตว์ มันพูด มันบอกเราไม่ได้ เราคงต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แต่การช่วย ก็ต้องมีสติ ระมัดระวังตัวเอง

ส่วนคนนั้น แม้เราจะอยากช่วยเหลือเพียงใด เราก็ต้องมีสติ รู้จักประเมินตนเช่นกัน ว่าเราเป็นใคร ทำได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนั้น (และอาจจะสำคัญยิ่งกว่า) เราต้องดูด้วยว่า คนที่เราอยากช่วยนั้น เขา “ต้องการ” ความช่วยเหลือของเราหรือเปล่า?

สำหรับหน่วยงานเยอรมันข้างต้น เขาจึงขีดเส้นไว้ชัดเจนว่า เรายินดีช่วยเหลือ แต่คุณต้องติดต่อมา เพราะเราคงไม่สามารถออกไปช่วยทุกคนที่เดือดร้อนได้

คนที่ติดต่อมา ก็แสดงว่าได้คิดพิจารณา ตัดสินใจแล้ว มีความรับผิดชอบต่อตัวเองว่า เอาล่ะ ไม่ไหวแล้ว ฉันต้องการความช่วยเหลือแล้ว และจะตอบได้ด้วยว่าต้องการความช่วยเหลือ “อะไร”

ช่วยคนที่รู้แจ้ง รู้ชัดแบบนี้ ก็จะทำงานสะดวก เป็นระบบ เข้าใจตรงกัน ความคาดหวังตรงกันมากขึ้น

เพราะพี่อาสาสมัครท่านที่ฉันกล่าวถึงข้างต้น ก็บ่นให้ฉันฟังเรื่อยๆ ว่า ช่วยคนแล้วก็โดนทำร้ายแทงข้างหลังก็ไม่ใช่น้อย ช่วยแล้วก็เข้าเนื้อออกเงินตัวเองไปมากมายก็หลายครั้ง

และที่สำคัญ พอจะหยุดช่วย (ตัวเองก็ไม่ไหวแล้ว) ก็โดนทั้งทวง ทั้งต่อว่าอีก หาว่าทำไมก่อนหน้านี้ช่วยได้ แล้วทำไมตอนนี้จะหยุด ใจร้ายใจดำ ไปถึงโน่นอีก

ซึ่งกับหน่วยงานเยอรมัน/คนเยอรมัน ซึ่งขีดเส้นไว้ชัดเจน เรื่องเหล่านี้ไม่เกิด เพราะพูดกันชัดตั้งแต่ต้นว่า เราเป็นใคร เราช่วยอะไรได้บ้าง

……….

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ทำให้ฉันรู้สึกว่า โชคดีที่ได้มีโอกาสมาพำนักอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนี ได้เรียนรู้ เห็น ซึมซับ การขีดเส้นแบ่งความรับผิดชอบที่ชัดเจน ได้แวดล้อมไปด้วยคนที่มีความรับผิดชอบต่อตัวเองสูง

(ความชัดเจนว่าใครทำหน้าที่อะไรนี้ สะท้อนออกมาในภาษาด้วยนะคะ เพราะภาษาเยอรมันชัดเจนมากในเรื่องของตำแหน่ง ใครคือกรรมตรง กรรมรอง ผันต่างกันนะ)

แน่นอนว่าทุกสังคม ทุกวัฒนธรรมทีข้อเด่นและข้อด้อย แต่เรื่องความชัดเจนในการแบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบ นี่คนเยอรมันเขาชนะเลิศจริงๆ ค่ะ

ก่อนจาก ขอแซวตัวเองนิดเดียวว่า… โดนตัวต่อต่อยทีเดียว เขียนมาได้ยาว ได้ไกลขนาดนี้เลยเหรอหย่งศรี ๕๕๕

[seed_social]