คนไทย ใครมาถึงเรือนชานก็ต้อนรับ ส่วนฝรั่ง…?
แน่นอนว่ามาดามน้องใหม่ไปอยู่เมืองนอก ก็คงมีเพื่อนฝูงเมืองไทยอยากไปเที่ยวเยี่ยมเยือน
แต่ช้าก่อน…
คนอยู่เมืองไทยที่มีเพื่อนเป็นเมียฝรั่งหลายคน อาจจะคิดว่าชีวิตเมียฝรั่งร่ำรวย สะดวกสบาย มีความรู้เรื่องประเทศที่ตัวเองอยู่ มีเวลาว่างมาก เวลาเมียฝรั่งมาเที่ยวไทย ก็เห็นแต่งตัวดี ๆ มีของใช้ราคาแพง ๆ พักโรงแรมแพง ๆ หรือมีบ้านหลังใหญ่ในเมืองไทย ชวนไปกินข้าวก็ควักเงินจ่ายให้ (แต่เธออาจถูกมัดมือชกให้จ่าย) ก็เลยชักอยากไปรู้อยากไปเห็น อยากไปเที่ยวบ้านเขา อยากไปให้เขาต้อนรับที่นั่นบ้าง แต่เนื่องจากค่าเงินไทยมันสู้ไม่ได้กับค่าเงินยูโร หรือเงินดอลล่าร์ หรือเงินตราต่างประเทศ ก็เลยอยากไปเที่ยวแบบประหยัด ไปขอพักบ้านเมียฝรั่ง เพราะเห็นว่ามีบ้าน มีห้องพักแขก มีรถใช้ มีสามีรวย ไปเยี่ยมแค่นี้ขนหน้าแข้งไม่ร่วงหรอก เอ๊ะ ไปคนเดียวไม่พอ ก็ต้องพาสามี พาลูก พาญาติหรือพาเพื่อนไปเที่ยวด้วยสิ ไม่เป็นไรหรอก โอ๊ย เมียฝรั่งรวย
- ขอให้มาดามเมียฝรั่งพิจารณาก่อนว่าเพื่อนที่จะมีเยี่ยมมีนิสัยประมาณนี้หรือไม่ ถ้ามี ก็ควรเบรคไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้เขามาเยี่ยมเมื่อคุณและสามียังไม่พร้อม เพราะนอกจากจะไม่สนุก เหนื่อยฟรี เสียตังค์แล้ว ยังได้ความรู้สึกแย่ ๆ ติดไปอีกนาน แถมเขาอาจจะเอาคุณไปเม้าท์มอยในทางเสีย ๆ หาย ๆ ด้วยก็ได้
- ขอพักบ้านเมียฝรั่งที่ไม่ใช่เพื่อนสนิทของคน แต่เป็นแค่คนรู้จักหรือเพื่อนของเพื่อน
- หอบลูกสามีหรือเพื่อนไปเป็นโขยง แล้วไปพักบ้านเขาทีละนานๆ เกินสามวัน
- มือไม้อ่อน ช่วยตัวเองไม่เป็น รอให้เจ้าของบ้านป้อนให้อย่างเดียว
- ให้เจ้าบ้านเดินเรื่องวีซ่าให้ ออกจดหมายรับรองให้คนที่ไม่รู้จัก
- อยากไปเที่ยวไหนก็ไม่มีข้อมูล รอให้เจ้าของบ้านพาไปอย่างเดียว
- ทำให้เจ้าของบ้านต้องลางานมาพาเทียว
- ขับรถไม่เป็น นั่งรถเมล์ไม่เป็น หรือไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ได้
- อ้างว่าตัวเองมีเงินน้อยมีเงินเที่ยวจำกัด เลยขอมาอยู่มากิน
ไม่ยอมควักเงินออกสักสตางค์ ไม่ว่าจะไปกินข้าวนอกบ้าน ไปซื้อกับข้าวเข้าบ้าน เติมน้ำมันรถที่เจ้าของพาเที่ยว ค่าตั๋วเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ ของกินเล่น จิปาถะ กะว่าให้เจ้าของบ้านออกให้หมด เงินที่เอามา ฉันมาซื้อของแบรนด์เนมของฝากเมืองไทยดีกว่า
- เรียกร้องให้เจ้าของบ้านทำอาหารให้วันละหลายๆมื้อ แล้วจะกินแต่อาหารไทย
- ไม่ร่ำลาเจ้าของบ้านทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิงเวลาเดินทางกลับ
- ไม่เคยคิดจะเชิญเจ้าของบ้านไปเลี้ยงอาหารเพื่อขอบคุณ หรือซื้อดอกไม้ให้เจ้าของบ้านฝ่ายหญิงเพื่อขอบคุณ
- กลับไปแล้วไม่รู้จักเขียนมาขอบคุณ
- ไม่ชวนเจ้าของบ้านมาพักบ้านตัวเองที่เมืองไทย อ้างว่า คับแคบหรืออะไรก็แล้วแต่
- เห็นเจ้าของบ้านเป็นแจ๋ว อยู่บ้านเขาแล้วนิ่งดูดาย กินข้าวไม่ช่วยหุง จานชามไม่ช่วยเก็บ ทำอะไรสกปรกทิ้งไว้ตามหลัง
- ปากหนัก พูดคำว่าขอบคุณไม่เป็น อายที่จะแสดงออกในทางที่ดี
- ไม่รู้จักวัฒนธรรมการแชร์ต่าง ๆ ทำเป็นเฉย ๆ เมื่อเวลาต้องจ่ายตัง หรือแอบไปเข้าห้องน้ำ
- ขอยืมเงินเจ้าของบ้านไปเที่ยว
หากรู้ว่าเพื่อนมีนิสัยประมาณแบบนี้ คิดว่าปล่อยเขาไปเที่ยวคนเดียวดีกว่าแล้วก็หาโรงแรมพัก หรือไปพักบ้านญาติพี่น้องของเขาเอง คุณอย่าได้คิดต้อนรับพวกเขาเลย ถ้าเลือกได้ ขอย้ำว่า การมีเงินน้อยไม่ใช่ประเด็นว่าไปเที่ยวเยี่ยมใครที่เมืองนอกไม่ได้ แต่มีเงินน้อยแล้วยังใจคับแคบ จะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวไม่ยอมเสีย ก็ไม่อยากมีใครต้อนรับ และการมีเงินมากก็ไม่ได้หมายว่า ข้ารวย คนอื่นต้องมาปฏิบัติข้า
เลยอยากเปิดกระทู้ต่อเนื่อง…. ว่าพวกเรา “เมียฝรั่ง” ต้อนรับขับสู้แขกที่มาพักบ้านอย่างไร หรือทำตัวอย่างไรเวลาไปบ้านคนอื่น วิเคราะห์กันว่า เพื่อนเมืองไทยคิดว่าเมียฝรั่งรวย มาเที่ยวล้มทับได้ หรือถ้าเมียฝรั่งไปเมืองไทยก็เรียกมาให้เลี้ยงข้าวแพงๆ อยากสรุปว่าคนเหล่านั้นหาใช่เพื่อนแท้ไม่ แต่เป็นประเภท “เพื่อนกินสิ้นทรัพย์แล้วแหนงหนี” มากกว่า เป็นมนุษย์ที่ไม่รู้จักคำว่าเกรงใจหรือไม่มีสมบัติของผู้เจริญ หาสมควรคบต่อไปไม่ แต่เราก็ไม่มีทางรู้นิสัยใครลึก ๆ ก่อนได้เลยจนกว่าเราจะได้ต้อนรับเขาที่บ้าน หรือไปเป็นแขกที่บ้านเขา
ส่วนตัวเองกับสามีมักยินดีให้คนมาพักด้วยเป็นการสร้างสังคม ส่วนใหญ่ก็เพื่อนสนิทหรือญาติ นานๆมีคนไทยหลงมาบ้าง แต่เรามีข้อปฏิบัติบางประการในการรับคนมาพักที่บ้านค่ะ
- ต้องเป็นคนที่เรารู้จักนิสัยใจคอดีมาก่อนว่าจะไม่เป็นแขกที่สร้างปัญหา และเป็นคนที่เราเคยเอ่ยปากชวนไว้ก่อนหน้านั้นว่าผ่านมาเมื่อไรมาพักได้
- หากเป็นคนที่เราเคยไปพักบ้านเขามาก่อน เราจะยินดีต้อนรับเขาเป็นการตอบแทนด้วย ไม่มีข้ออ้างว่าจะไม่รับ
- เราต้องมีเวลาว่างในช่วงที่เขาอยากมาเยี่ยม ถ้าเราไม่ว่าง ไม่อยู่ เราก็ไม่รับ หรือถ้าแขกสำคัญมากและเลื่อนไม่ได้ เราก็จัดเวลาให้ อาจผลัดกันหยุดงาน (แต่ไม่ค่อยได้ทำบ่อย)
ให้เขามาพักด้วยไม่นาน แค่ 2-3 วัน ถ้าสนิทไม่มาก แต่ถ้าเป็นญาติก็พักนานกว่านั้นได้ ภาษิตเยอรมันกล่าวไว้ว่า “แขกก็เหมือนกับปลา ถ้าอยู่เกินสามวันก็ส่งกลิ่นเหม็น” ที่จริงก็คือเป็นเวลาที่ไม่น้อยไม่มากที่จะดูแลแขกอย่างเต็มที่ ถ้ากิ
- อยู่เลี้ยงดูก็พอจะกัดฟันไหว ถ้านานไป เจ้าของบ้านก็เหนื่อย เสียงานเสียการ สิ้นเปลือง ต้องคำนึงว่าเมืองนอกไม่มีแจ๋วประจำบ้าน และถ้าเกิดเป็นแขกนิสัยไม่ดีก็จะได้ไม่ต้องทนกันนาน ๆ
- เมื่อเขามาถึงแล้ว เรามีห้องพักห้องน้ำให้เป็นส่วนตัว หมอนผ้าห่มผ้าเช็ดตัวสะอาด บอกว่าอะไรอยู่ตรงไหน อนุญาตให้ใช้ตู้เย็น ห้องครัว คอยสังเกตว่ามีอะไรขาดเหลือหรือเปล่า
- ถามว่าเขาชอบกินอะไร จะได้เตรียมอาหารถูก หาอาหารการกินให้ทุกมื้อในบ้าน ตามที่เราทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารไทยทุกมื้อไป ถ้าเขาช่วยในครัวบ้าง ช่วยจัดโต๊ะกินข้าวบ้าง เราก็ขอบคุณ แต่ถ้าเขาไม่หยิบไม่จับอะไร เราก็ไม่คิดอะไรมาก คิดแต่ว่ามาอยู่สองสามวัน ไม่เป็นไร คราวหน้าไม่ต้องมาใหม่นะ
- หากเป็นแขกคนไทย เราจะเตรียมว่าต้องจ่ายมากหน่อย เพราะคนไทยอาจจะไม่ค่อยมีเงินเที่ยว แต่เราก็ไม่สปอยล์เขาเสียทุกอย่าง ถ้าเห็นใครมีนิสัยเอาเปรียบเราก็จะปรับการต้อนรับไม่ให้เข้าเนื้อเรามากเกินไป และไม่พยายามเล่นตามเกมเขา และจะพยายามบอกเขาถึงวัฒนธรรมการมาพักบ้านคนอื่นที่เมืองนอกว่าต่างกับเมืองไทยอย่างไร
- ถ้าไปกินนอกบ้าน เราก็เลี้ยงไม่แพงหรือแบ่งกันออก แต่แขกที่ดี เขาจะเลี้ยงเราคืนอย่างน้อยมื้อหนึ่ง
- หากไปมิวเซียมหรือที่ต้องเสียเงิน ถ้าไม่แพง เราช่วยออก ถ้าแพงมาก ต่างคนต่างออก หรือเราถามเขาว่าอยากดูไหม ราคานี้จ่ายได้ไหม ถ้าเขาจ่ายไม่ไหว เราก็เลือกทำอย่างอื่นแทน
- เราขับรถพาเที่ยว ไม่กังวลเรื่องน้ำมัน เราออกเอง ไม่ช่วยออกเราไม่ว่า แต่เราไม่พาไปไกล
- เราพาเที่ยวดูสถานที่ต่าง ๆ ได้ แต่เราไม่เน้นพาชอปปิ้งเท่าไรส่วนใหญ่ให้ไปเอง
- ถ้าเป็นแขกของสามี เขาจะถามเราก่อนว่าเต็มใจต้อนรับไหม ถ้าเป็นแขกเราๆก็ถามสามีเช่นกัน จะได้ไม่มีฝ่ายไหนอึดอัด
- ถ้าเป็นเรื่องเงินทอง พยายามพูดให้เคลียร์ที่สุด ไม่อมพะนำให้ผิดใจกัน เช่น มื้อนี้เราเลี้ยงมื้อนี้เราแชร์ ถึงเวลาแชร์ก็บอกไปเลยว่า ส่วนของยูเป็นเงินเท่าไร แต่โดยทั่วไปเจอแต่แขกแย่งออกให้
- ส่วนเราเองไม่อยากไปพักบ้านใคร อึดอัดกับการวางตัว กลัวทำอะไรผิด แต่บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้เพราะเขาเชิญหรือสามีอยากไปเยี่ยมเพื่อน เมื่อเป็นดังนั้นเราจะปฏิบัติดังนี้
- ถามเขาล่วงหน้านาน ๆ ถ้าเขาเคยเอ่ยปากชวน เราจึงคิดจะไป และวางแผนอยู่ไม่เกินสามวัน ให้ตรงเวลาที่เขาสะดวก ถ้าเราไปกระทันหันเพราะธุระ เราต้องยอมรับว่าเจ้าของบ้านอาจปฏิเสธได้ เราต้องไม่โกรธ หรือ เราให้เขาช่วยแนะนำโรงแรมให้
- หาของติดมือไปฝาก หรือถามว่าเขาอยากได้อะไรจากทางเรา หากมีเวลาทัน ก็ซื้อดอกไม้สวย ๆ ช่อใหญ่ไปฝากเจ้าบ้านฝ่ายหญิง หรือซื้อให้วันกลับหลังจากเราดูแล้วว่าที่บ้านเขาชอบดอกไม้อะไร
- ไปถึงแล้วไม่ทำตัวเป็นภาระให้เจ้าบ้านพาเที่ยวทั้งหมด หาโปรแกรมเที่ยวเองบ้าง ให้เจ้าภาพได้พัก เมื่อไปเที่ยวด้วยกัน เราจะเป็นฝ่ายช่วยออกค่าตั๋วเข้าชมสถานที่ แลกกับการที่เขาให้ที่พัก โดยทั่วไปเราขับรถของเราไปเอง เลยไม่ทำให้เจ้าบ้านเดือดร้อน
- เชิญเจ้าภาพกินข้าวนอกบ้านหนึ่งมื้อเพื่อขอบคุณ และบอกเชิญอย่างเป็นทางการ
- ไม่เรียกร้องเรื่องอาหารการกิน เขาทำให้กินอย่างไรก็กินตามนั้น ช่วยเขาซื้อกับข้าวถ้าออกไปด้วยกัน
- สังเกตว่าช่วงไหนเจ้าของบ้านอยากเป็นส่วนตัวก็หลบไปบ้าง ไม่คอยไปนั่งเฝ้าเขาตลอด หรือชวนคุยไม่หยุด
หากกินข้าวที่บ้าน ก็ควรช่วยเก็บโต๊ะหรือช่วยทำกับข้าวตามสมควร กินเสร็จก็ต้องชมและขอบคุณทุกมื้อ
- ถ้าตื่นก่อนเจ้าของบ้าน หรือเข้านอนทีหลัง อย่าทำเสียงดังรบกวนเขา
- เวลาไปซื้อของด้วยกัน ไม่เอ่ยปากว่าอยากได้โน่นได้นี่ เพราะเขาอาจคิดว่าเราอยากให้เขาซื้อให้
- ไม่วิจารณ์อะไรในบ้านเขา เช่น ไม่มีไอ้นี่หรือ ไม่มีไอ้นู่นหรือ นั่นไม่สวย นี่ล้าสมัย นี่ชำรุด จะเปิดดูอะไรก็ขออนุญาตเขาก่อน
- เวลากลับก็เก็บที่หลับที่นอนเขาให้เรียบร้อย หรือรื้อผ้าปูเตียง ผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัวพับกองไว้ให้เขาเอาไปซักง่าย ๆ เป็นการช่วยเจ้าของบ้าน ห้องน้ำก็ดูไม่ให้สกปรกตามหลังเรา
- พยายามไม่ลืมของอะไรไว้บ้านเขาให้เป็นภาระเขาต้องส่งมาให้ตามหลัง
- ขอบคุณ ขอบคุณ และ ขอบคุณให้ติดปาก กลับถึงบ้านเมืองไทยแล้วโทรหรือไลน์ไปบอกเขาว่าเรากลับถึงแล้วด้วยความปลอดภัย และขอบคุณเขา พร้อมเชิญเขามาเยี่ยมเราตอบแทน หรือส่งการ์ดสวย ๆ ไปให้
- และเมื่อกล่าวขอบคุณก็ต้องขอบคุณทั้งสามีและภรรยา ไม่ใช่บอกกับภรรยาคนไทยฝ่ายเดียวเป็นภาษาไทย
- อีกอย่าง เวลาเจอใครใหม่ ๆ คุยถูกคอ เขาชวนไปเที่ยวบ้าน เราต้องหารไว้บ้างว่า เขาอาจพูดเพราะกลอนพาไป อย่าคิดไปจริง ๆ จนกว่าเขาจะเอ่ยปากซ้ำ แล้วก็ไม่ไปขอใครก่อนว่า อยากไปเที่ยวบ้านยูจัง ถือว่าไม่สุภาพ ทำให้เขาอึดอัด ถ้าเขาชอบเราจริง เขาจะชวนเราเอง
เราจะรู้ว่าเราเป็นแขกที่ดีหรือไม่ ก็เมื่อเจ้าภาพเอ่ยชวนให้กลับมาเที่ยวใหม่นั่นแล
ธรรมเนียมที่กล่าวมานี้หนักไปทางเยอรมัน แต่ก็คิดว่ามีระเบียบหลายอย่างที่เป็นสากล จากที่เคยไปมาหลายแบบก็พบว่า เจ้าของบ้านก็มีทั้งแบบที่สง่างามทำอะไรไม่มีที่ติ เราได้เรียนรู้จากเขา แบบที่ดูแลเราตลอดให้สะดวกสบายที่สุดไม่ให้คลาดสายตา แบบที่ชี้ห้องนอนให้เราแล้วปล่อยเราตามสบาย หาอะไรกินเอง และมีแบบที่ไม่เป็นงาน ต้อนรับคนไม่เป็น ที่นอนหมอนมุ้งก็ไม่ได้เตรียมไว้ ให้เราทำเอง เราก็ไม่ได้นึกตำหนิอะไร เพราะรู้ว่าการรับแขกเป็นงานหนัก แล้วพื้นฐานคนเราไม่เหมือนกัน
เรื่องสุดท้าย แต่ไม่ท้ายที่สุดที่อยากบอก คือ เวลาเจ้าของบ้านพาไปเที่ยว ก็ควรแสดงความสนใจ ไม่ใช่พอขึ้นรถก็หลับ ตื่นขึ้นก็บ่นหิว อยู่ในรถถ้าไม่หลับก็กิน ๆ ๆ พอถึงที่เที่ยว ควรไต่ถามแสดงความสนใจ ไม่ใช่ถ่ายรูปเสร็จก็ขอไปนั่งคอยในรถ เวลาเข้านอนก็หลบไปเลย ตามมารยาทต้องราตรีสวัสดิ์เจ้าของบ้าน ขอตัวว่าเหนื่อยมาก จะขออนุญาตไปนอนหรือไปพักผ่อนแล้ว กล่าวร่ำลา ขอบคุณสำหรับที่พาเที่ยวทั้งหวัด ขอให้เจ้าของบ้านหลับฝันดี แล้วพบกันใหม่ตอนเช้า และจังหวะที่ขอลานี้ก็สำคัญมาก ไม่ใช่ว่ากินข้าวเย็นเสร็จแล้วก็ลุกเลย
อีกเรื่องที่นึกออก คือ คนไทยใช้สมาร์ทโฟนทุกโอกาส กินข้าวก็ใช้ นั่งคุยกับคนอื่นก็ใช้ แต่การไปเยี่ยมบ้านฝรั่งแล้วนั่งดูแต่มือถือ ถือเป็นการเสียมารยาทอย่างที่สุด เมื่อเป็นแขกต้องพยายามอย่าหยิบขึ้นมาใช้เลย และเจ้าของบ้านเองก็ไม่ควรทำเช่นกัน
เอาเข้าจริง ๆ กฎทั้งหลายที่เขียนไว้ข้างบนนั้น ไม่ได้เอามาใช้ทั้งหมดหรอก มันแล้วแต่สถานการณ์ บางคนรับแขกแย่มากเพราะไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก หรือต้องเลี้ยงลูก หรือต้องทำงาน หรือทำอาหารไม่เก่ง แต่จิตใจยอดเยี่ยม เจ้าของบ้านแบบนี้เรานี้รักมาก และไม่สนใจว่าจะขาดตกบกพร่องเรื่องอื่นหรือเปล่า
ก็เลยอยากหยิบยกเรื่องนี้มาคุยกันว่า พวกเรามีประสบการณ์อย่างไรในการรับแขกที่บ้าน โดยเฉพาะแขกคนไทย เพื่อเป็นการจูนเครื่องปรับความคาดหวังของคนที่คิดจะมาเที่ยวเยี่ยมเรา เรียกว่า เป็นแขกควรทำตัวอย่างไรให้ตอนอยู่บ้านคนอื่น ให้เจ้าของเขาดีใจที่เรามาเยี่ยม แล้วพอเราจากไป เขาก็คิดถึงและอยากให้เราไปอีก