เมียฝรั่งงามมารยาท

บทสรุปจากการประชุมเครือข่ายหญิงไทย ณ กรุงปารีส ปี ๒๐๑๕

ในกลุ่มพูดคุยกันเรื่องมารยาทแบบไทย มารยาทแบบฝรั่ง ในเรื่องของการทักทาย การเยี่ยมเยือน การรับประทานอาหาร การวางแผนชีวิต

มารยาทโดยทั่วไปของคนไทยคือ
• การทักทายแบบไทยจะใช้วิธีเดียว คือ การไหว้ ซึ่งใช้ได้ทั้งในการพบกันและการจากลา
• การไหว้จะมีลักษณะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าเราไหว้ใคร เช่น ไหว้ผู้ใหญ่ ไหว้พระ ไหว้ครูอาจารย์ และการรับไหว้จากผู้ที่อายุอ่อนกว่า
• คนไทยไม่นิยมหอมแก้ม
• เด็กต้องแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เชื่อฟังผู้ใหญ่ ไหว้ผู้ใหญ่ก่อน ไม่พูดสอดผู้ใหญ่
• เวลาเดินผ่านผู้ใหญ่กว่า คนไทยจะก้มตัว ไม่ยืนค้ำหัวผู้ใหญ่
• คนไทยจะไม่ใช้เท้าชี้สิ่งของ ไม่ยกเท้าไปทางผู้อื่น ไม่แตะศีรษะกัน
• ไปมาหาสู่ใครก็จะมีของติดมาด้วย โดยเฉพาะของกิน
• คนไทยจะระวังไม่ทำให้ใครเสียหน้า
• ที่สำคัญซึ่งชนะใจคนมาทั่วโลก คือ คนไทยใช้รอยยิ้มในการทักทาย ในการแก้ปัญหา ในการทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
• นิสัยของคนไทยที่ควรปรับปรุง คือ ไม่ค่อยเข้าคิว ไม่ค่อยตรงต่อเวลา ชอบพูดแทรกกันทีละหลายๆคน ไม่ค่อยมองสบตาเวลาทักทาย บางครั้งไปมาหาสู่คนอื่นโดยไม่เตือนล่วงหน้า ชอบพูดโทรศัพท์เวลาอยู่กับคนอื่น บางครั้งโทรศัพท์ไปหาเพื่อนหรือคนรู้จักโดยไม่ดูเวลา (ค่ำ)

มารยาทแบบฝรั่งที่ควรรู้
• การทักทายแบบฝรั่งจะมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับธรรมเนียม ประเทศ และความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น มีการจับมือและสบตาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อแสดงความเปิดเผยจริงใจ ลักษณะการจับมือก็บอกได้ถึงความจริงใจ เช่น จับมือแค่แตะๆ จับมือเบาๆ จับมือแล้วบีบเขย่า จับมือบีบแรงๆ ซึ่งอาจจะต่างกันตามบุคคล วาระ โอกาส และเชื้อชาติของผู้ที่เราจับมือด้วย
• การทักทายอีกแบบหนึ่งคือการหอมแก้มซ้าย-ขวา หลายประเทศในยุโรปนิยมการหอมแก้ม ตั้งแต่สองครั้ง สามครั้ง ถึงสี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่หอมแก้มกัน ในการหอมนั้นส่วนใหญ่ใช้แค่แก้มแนบกันแล้วทำเสียงจุ๊บที่ปาก ไม่ใช้ปากจูบแก้ม
• ส่วนบางประเทศก็ใช้วิธีกอดเป็นการทักทายกันด้วย
• มารยาทอื่นๆ ได้แก่ การนัดหมายล่วงหน้าถ้าไปจะไปเยี่ยมเยือนใคร ไม่ไปหาใครโดยพลการ มีของฝากเจ้าของบ้านเมื่อได้รับเชิญไปทานอาหาร (ในยุโรปนิยมถือไวน์ ดอกไม้ หรือชอคโกแลต) ไม่คุยเสียงดัง รอให้ผู้อื่นพูดจบก่อนจึงพูด ไม่นิยมพูดโทรศัพท์ต่อหน้าคนอื่น ไม่โทรหาใครหลังสามทุ่ม (หรือแล้วแต่ประเทศ) เคารพโลกส่วนตัวของเขา ไม่สอบถามเรื่องส่วนตัวใคร เช่น สถานภาพการสมรส รายได้ อายุ และไม่คุยเรื่องส่วนตัวกับคนอื่นก่อน
• ฝรั่งสนิทกับคนยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับประเทศ บางครั้งในการเข้าสังคม ฝรั่งจะคุยกับเราอย่างสนิทสนม แต่พอผ่านพ้นงานนั้นไปแล้วก็เหมือนไม่รู้จักกัน ฝรั่งมักจะมีการวางแผนการใช้เงินที่ดีกว่าอาจจะด้วยระเบียบทางสังคมและกลไก ภาษีของรัฐ ฝรั่งบางชาติจะมีการประหยัดมัธยัสถ์จนกลายเป็นขี้เหนียวในสายตาคนไทย จึงมีคำกล่าวว่า American Share หรือ Go Dutch

โดยสรุป ฝรั่งเน้นความมีระเบียบแบบแผนในการแสดงออก มีกฎ กติกา มารยาททางสังคมที่ชัดเจน และรักษาความเป็นส่วนตัวสูงกว่า

มารยาทบนโต๊ะอาหารแบบฝรั่งที่ควรรู้
• นิยมใช้ส้อมและมีดในการทานอาหาร มากกว่าใช้ช้อน-ส้อม ส่วนใช่ช้อนจะใช้ในการทานซุป
• ส่วนใหญ่จะทานอาหารให้หมดจาน ไม่มีเหลือ
• ไม่เอาศอกวางบนโต๊ะระหว่างทานอาหาร
• ไม่พูดระหว่างที่ยังเคี้ยวอาหารหรือมีอาหารอยู่ในปาก
• จะรอดื่มหรือทานพร้อมกัน แขกจะไม่เริ่มดื่มหรือทานก่อน จนกว่าเจ้าภาพจะเอ่ยปาก
• หากมีอาหารเหลือชิ้นสุดท้ายในจาน อย่าหยิบ ยกเว้นเจ้าภาพจะถามหรือแบ่งให้
• การเรอ การแคะฟัน การแคะขี้มูก ถือเป็นสิ่งไม่งาม หากรู้ตัวว่าจะเรอบนโต๊ะอาหาร ให้รีบหันหน้าออกจากโต๊ะ เอามือหรือผ้าเช็ดมือปิดปาก และกล่าวขอโทษเบาๆ

คนไทยมีความอ่อนหวาน เคารพผู้ใหญ่ นอบน้อมต่อผู้ที่อาวุโสกว่าหรือผู้มีฐานะทางสังคมสูงกว่า มีความซื่อสัตย์ มีความกตัญญูรู้คุณคน มีการไหว้ทักทายที่งดงาม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความใจกว้าง มีรอยยิ้มสยาม มีความงามจากข้างในเป็นหลัก สมกับคำที่ว่า “งามจิต งามใจ งามไฉน ใครชม”

ซึ่งหากได้เพิ่มเรื่องมารยาทตามมาตรฐานของประเทศที่เราไปอาศัยอยู่ ก็จะได้ชื่อว่า “งามกิริยา งามมารยาท งามผุดผาด ใครชม” ด้วย

ปารีส 20/06/2015

หมายเหตุ: ร้อยกรอง “งามจิต งามใจ งามไฉน ใครชม งามกิริยา งามมารยาท งามผุดผาด ใครชม” นี้ได้มาจากพี่ประไพรัตน์ มิกซ์ รองประธานเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป (ในยุคนั้น)