ซีรี่ย์กรุ่นไอสงครามกลางเมือง
เรื่องและภาพ โดย Pokhansa


ที่ทำงานกับเก้าอี้ดนตรี

ผ่านพ้นไปอีกวันหนึ่ง นับถอยหลังเพื่อจะเดินทางไปพักผ่อนที่เยอรมนีวันที่ 26 เป็นต้นไป รู้สึกตั้งตารอคอยจริง ๆ

บันทึกเรื่องกิจประจำวันอย่างละเอียดมาสองสามวันติดกันแล้ว ชักเบื่อ พูดถึงเรื่องอื่นบ้างดีกว่า

ฉันเคยเขียนเรื่องมนุษย์เงินเดือนไว้ในศาลานกน้อย แต่ก็ไม่ได้ไปเขียนต่อเลยเป็นปีมาแล้ว นึกอยากจะเขียนก็ไม่ได้เขียน จนเวลาผ่านไป ย้ายจากเจนีวามาอยู่เบรุต มีเรื่องน่าเขียนถึงหลายอย่าง

สิ่งสำคัญในชีวิตทำงานก็คงได้แก่บรรยากาศ เพื่อนร่วมงาน และตัวงานที่ทำ

ความแตกต่างของเพื่อนร่วมงานที่เบรุตกับที่เจนีวามีแค่ไหน อย่างไร ฉันก็เปรียบได้ยาก บางคนบอกว่า ที่นี่คนแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่ากันมาก แต่ฉันไม่ได้สัมผัสเพราะไม่มีอะไรต้องประสานงานกันโดยตรง สังเกตอยู่เหมือนกันว่า สาว ๆ ชอบจับกลุ่มคุยกันทีละนาน ๆ บางทีก็ไม่เห็นอยู่ที่ห้องทำงาน บางคนก็มากระซิบกับฉันว่า กลุ่มเจ๊าะแจ๊ะเขาจะย้ายไปเรื่อย ๆ จากห้องนั้นไปห้องนี้ คนอื่นจะได้ไม่รู้สึกนัก

จริงหรือเท็จ ทิ้งไว้ที่คนเล่าแล้วกัน

เจ้านายที่เจนีวาส่งฉันมานั่งปุ๊ที่นี่เพื่อให้ได้อยู่ร่วมกับสามีสุดที่รัก  ส่วนตัวงานยังเหมือนเดิมที่เคยทำที่เจนีวา ดังนั้น เนื้อหางานจึงไม่ได้ข้องเกี่ยวกับสำนักงานเบรุตนัก นอกจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงได้สัมผัสเพื่อนร่วมงานน้อย นอกเหนือจากกู๊ดมอร์นิ่งกันทุกวัน สิ่งยิ้ม หาเรื่องแซวนิดหน่อยพอไม่ให้แข็งกระด้างเกินไปนัก

ต้องนับว่าเป็นโชคดีมหาศาลของฉันที่เจ้านายให้ความไว้วางใจ มานั่งไกลหูไกลตา โดยไม่กลัวว่าฉันจะเบี้ยวงาน ขี้เกียจหรือเปล่า จะว่าไปงานของฉันมันก็มีสิ่งที่ต้องทำไม่หยุดหย่อน อยู่แล้ว เรียกว่าขี้เกียจไม่ได้เลย ถ้าไม่ทำ จะเห็นงานกองทันที ดังนั้น ตัวงานที่ส่งออกมา จึงเป็นตัวแทนประสิทธิภาพของฉัน โดยเจ้านายไม่ต้องเห็นหน้าทุกวันก็ได้

สำหรับชีวิตในสำนักงานเบรุต ฉันคิดว่ามีพระเอกอยู่สองคน คนแรกชื่อมุซซา เป็นชายหนุ่มร่างเตี้ยกำยำและหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มุซซามีสัญญาจ้างงานชั่วคราว ได้ต่อทีละสองสามเดือน ทำตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ช่วยเรื่องย้ายห้อง ช่วยเรื่องติดตั้งคอมฯ ต่อสายโทรศัพท์ ลงซอฟแวร์ ย้ายรถให้ จัดประชุม ตามเรื่องบัตรต่าง ๆ ถ่ายเอกสาร เดินหนังสือ สารพัดจะเรียกหา เรียกใช้ในสิ่งที่เกี่ยวกับการทำงาน บังเอิญตอนนี้ฉันได้นั่งทำงานห้องติดกับเขา ก็ทักทายกันทุกวัน ฉันเรียกเขาว่า สหาย (มายเฟรนด์) และถือว่า เขาเป็นคนน่ารักที่สุดในสำนักงาน รอยยิ้มของเขาแข่งขันกับยิ้มสยามได้สบายมาก น่าสงสารว่า เขามีความรู้มาก (ด้านบัญชี) แต่ยังไม่ได้งานประจำทำ มาทำที่นี่ก็แล้วแต่ว่าจะได้ต่อสัญญาอีกกี่เดือน ต้องอยู่ไปแบบไม่แน่นอนกับอนาคต ฉันก็ได้แต่เอาใจช่วยเขา คิดว่าคนขยันย่อมได้งานที่เหมาะสมในที่สุด

คนที่สองคือ อาบิด มาจากบังคลาเทศ ผิวดำสนิท ไม่สูงไม่เตี้ยไม่อ้วน ถือว่าหน้าตาดีทีเดียว อาบิดเป็นพ่อบ้าน คนชงกาแฟ คนเสิร์ฟน้ำ คนเสิร์ฟข้าว คนทำความสะอาด ฉันคิดว่าเขาทำหน้าที่พ่อบ้านได้ดีเยี่ยม ห้องแพนทรีเล็ก ๆ ชั้น 11 และชั้น 12 อยู่ในสภาพเรียบร้อย น้ำดื่มมีเพียงพอ ตู้เย็นสะอาด ไมโครเวฟสะอาด จานชามล้างเก็บเป็นระเบียบ ห้องน้ำมีทิชชู่ไม่ขาด (พวกเราเคยหงุดหงิดไหมที่เข้าห้องน้ำแล้วไม่มีทิชชู่?) ทำให้ชีวิตในที่ทำงานสะดวกสบาย อาบิดจะเดินสายไปตามห้องต่าง ๆ ในแต่ละวัน วันละสองสามครั้ง ถามว่าจะเอาชา-กาแฟหรือน้ำไหม บ่อยครั้งฉันก็ขอ กาแฟบ้าง ชาบ้าง น้ำเย็นบ้าง แต่บางครั้งฉันขี้เกียจรอ และอยากจะขยับจากที่นั่งเสียบ้าง ก็ตัดหน้าไปชงมาก่อน เพราะรู้ว่าเขามีคนต้องรับใช้หลายคน พออาบิดมาถึงห้องฉัน ฉันก็บอกยิ้ม ๆ ว่า ทูเล้ท อาบิดก็จะค้อนนิด ๆ แล้วก็ผละไป อาบิดจะได้เงินเดือนหรือเปล่าฉันไม่รู้ (น่าจะได้) แต่แกมีชื่อขึ้นอยู่ในผังวิทยุติดตามตัว

คุณสามีบอกให้ให้ทิปอาบิดทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละสิบดอลล่าร์ เขาคงอยู่ได้ด้วยเงินทิป (อาจจะได้ส่งให้ทางบ้านด้วยมั้ง) แต่ฉันให้แค่หมื่นปอนด์เลบานีส เท่ากับประมาณ 7 ดอลล์เนื่องจากฉันรับใช้ตัวเองมากกว่า ชากาแฟก็เอาของตัวเองมาเป็นหลัก ตอนเย็น ๆ เขาจะมาเก็บถ้วยแก้วส่วนตัวของฉันไปล้างให้ และนำมาวางที่เดิม พอวันศุกร์ก็จะเกร่มาบ่อยเป็นพิเศษ เพื่อรอรับเงินเดือนนั่นเอง ฉันถือว่า เขาเป็นคนเล็ก ๆ หน้าที่เล็ก ๆ แต่เป็นคนสำคัญในชีวิตประจำวันของพวกเรา

เมื่อวานฉันขับรถกลับที่ทำงานหลังอาหารกลางวัน เห็นเขาเดินแบกน้ำดื่มหอบใหญ่ แม้ว่าจะใกล้ถึงที่มากแล้ว ฉันก็เลยบีบแตร ชวนเข้ามานั่งในรถ แล้วก็พาไปส่งลงหน้า สนง นอกจากคำขอบคุณของฉันแล้ว ฉันรู้สึกสุขใจจริง ๆ ที่ได้ทำความดีแม้จะเล็กน้อยแค่ไหนให้กับคนเล็ก ๆ คนหนึ่งในที่ทำงาน

เรื่องห้องทำงาน – เป็นเรื่องตลกมาก ตอนได้งานทำที่เจนีวาใหม่ ๆ แบบมือปืนรับจ้าง ก็ต้องย้ายห้องทำงานทุกอาทิตย์-สองอาทิตย์ เวียนไปตามห้องที่ว่าง เจ้าของไปมิชชั่น หลายคนเห็นใจฉันว่า ต้องลำบากเปลี่ยนห้อง ไม่มีห้องของตัวเอง น่าหัวเสียมากนะ แต่ฉันไม่รู้สึกอะไรเลย แค่รู้สึกว่า มีห้องให้นั่งทำงานก็ดีแล้ว จะไปคิดอะไรมาก เรียกว่าเจียมเนื้อเจียมตัวเต็มที่ พอได้ตำแหน่งงานประจำ นั่นแหละจึงมีห้องทำงานของตนเอง มีเบอร์โทร มีชื่อติดหน้าห้อง ฯลฯ ฉันเห็นคนรุ่นน้องฝึกงานต้องย้ายห้องเป็นว่าเล่น หรือนั่งรวมกันหลาย ๆ คน แล้วก็นึกเห็นใจ

พอมาอยู่เบรุตก็เลยมีภูมิคุ้มกัน เจ้านายใหญ่ที่เจนีวาสั่งให้เจียมเนื้อเจียมตัว เพราะเป็นเด็กฝากจริง ๆ คือ ฝากให้มานั่งจุมปุ๊กอยู่ที่นี่ แต่รายงานตรงเจนีวา และกินเงินเดือนเจนีวา (ในอัตราเบรุต คือลดไปสัก 20 เปอร์เซ็นต์) นายสั่งไม่ให้ฉันสร้างความเดือดร้อนให้เจ้าของบ้าน

วันแรกมารายงานตัวที่ทำงาน หัวหน้าสนง เขาก็บอกว่า สำนักงานมีปัญหาเรื่องสถานที่ มีห้องทำงานไม่พอคน (แหม แต่ละคนมีห้องใหญ่เหลือเกินนี่ จะพอได้อย่างไร ถ้าจัดสัดส่วนให้เล็กกว่านี้สักหน่อย ก็คงแบ่งห้องได้มากขึ้น) ดังนั้น ทางสำนักงานจึงมีสองตัวเลือกให้ฉันระหว่างรอที่ที่เหมาะสมในระยะยาว ที่แรกคือห้องทำงานรวมใหญ่ของเด็กฝึกงานและที่ปรึกษารับจ้าง โต๊ะคอมฯสี่มุมหันหน้าเข้าหากัน มองด้วยสายตา น่าจะมีสัก 12 มุม ฉันก็สั่นหัว มองแล้วไม่มีความเป็นส่วนตัว และเสียงน่าจะดัง พอให้ดูที่ที่สองฉันก็เลือกเลย ไม่ใช่ว่ามันดีหรอก เป็นที่มุมทางเดิน หน้าห้องทำงานสองห้อง และห้องกินข้าว แต่มันเป็นมุมของตัวเอง ถึงจะเปิดกว้าง แต่ไม่ต้องนั่งแชร์กับใคร (จองหอง)

แต่เพื่อนร่วมงานเดินผ่านแล้วทำหน้าตากลืนไม่เข้าคายไม่ออก เหมือนกับว่า ฉันมานั่งขอทานขวางทางอยู่กระนั้น ฉันนั่งทำงานตรงนี้ได้หลายวัน ไม่ทุกข์ร้อนใจเลย แล้วก็ไม่รู้สึกถูกรบกวนเวลามีใครเดินผ่านไปมาด้วย คนที่ทนไม่ได้คือสามีของฉัน ซึ่งบอกว่า ยูไปนั่งตรงนั้นได้อย่างไร เป็นคนอื่นเขาไม่ยอมหรอกนะ (ประมาณว่าเสียศักดิ์ศรี) ยูเป็นถึงเจ้าหน้าที่ระดับพี (โปรเพซชั่นแนล – หัวโขนหัวหนังจะไปแบกไว้ทำไม) ว่าแล้วคุณท่านก็เลยไปเจรจากับหัวหน้าสนง ขอให้ย้ายฉันไปนั่งที่อื่นชั่วคราว เพราะมาดามเจรจาไม่เป็น

กลายเป็นว่า ฉันถูกย้ายไปนั่งห้องทำงานใหญ่โตข้างคุณสามีนั่นเอง เขาบอกว่า ให้ใช้ชั่วคราวนะ ไม่ใช่ให้อยู่เลย โนพร็อบเล่ม ฉันไม่ชอบสร้างปัญหาอยู่แล้ว ส่งโน้ตไปบอกเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ขอบคุณนะ และจะให้ย้ายเมื่อไรก็บอก

ห้องนี้ ฉันเสียเวลาต้องไปจัดห้องจัดโต๊ะอีกหลายชั่วโมงกว่าจะลงตัว ทำงานได้ 2-3 อาทิตย์ ฉันก็เดินทางไปมิชชั่นที่เจนีวา

กลับจากมิชชั่น คุณสามีไปรับที่สนามบินแล้วบอกว่า นี่ เขาย้ายห้องทำงานยูระหว่างยูไม่อยู่นะ เขาติดต่อยูไม่ได้ (หรือไม่ได้ติดต่อ?) เขาเลยมาบอกฉันว่าจะย้ายห้องยู (ประมาณว่าคุณสามีเป็นทนายประจำตัว) ก็ได้มุซซานี่แหละ ที่ช่วยย้ายของให้อย่างดิบดี ขนของส่วนตัวมาเก็บไว้ให้ฉันในห้องใหม่อย่างเรียบร้อย และเก็บรักษาสิ่งอื่น ๆ ไว้ให้ กลายเป็นว่าฉันได้อยู่ห้องติดกับมุซซา ฉันก็ไปแจ้งหัวหน้าสำนักงานว่า มารับห้องใหม่แล้วนะคะ เขาก็ขอโทษที่ต้องย้ายห้องทำงานระหว่างฉันไม่อยู่ (ประมาณว่าดูไม่ดี) ฉันก็เลยบอกว่า ไม่ต้องกังวล ฉันสัญญากับยูแล้วว่า จะให้ย้ายเมื่อไรก็เมื่อนั้น ฉันไม่อยากเอามาคิดมาก

ห้องใหม่ใช้ได้ อยู่ตรงหัวมุม มีกระจกสองด้าน เห็นวิวสวย แม้จะเล็กกว่าห้องเดิม แต่ก็ใหญ่สะดวกสบายสำหรับฉัน ฉันใช้ห้องนี้มาได้เกือบสองเดือนแล้ว ด้วยความผาสุขดี

วันหนึ่งไม่รู้นึกอย่างไรว่า เอ เราก็อยู่สบายดี ห้องหับก็จัดพอสมตัวแล้ว คล่องแคล่วดี เขาจะย้ายห้องเราอีกไหมเนี่ย

ถ้าเป็นหวยก็คงถูกรางวันเลขท้ายสามตัว ตอนสาย ๆ หัวหน้าสำนักงานเดินเข้ามาหาในห้อง ฉันก็นึกรู้แล้วว่า ถูกไล่ที่แน่นอน เขาก็บอกตรงเป้าแบบท่าทางเกรงใจว่า ป๊อก ไอมีข่าวร้ายให้ยูนะ ฉันก็เลยดักคอว่า ต้องย้ายห้องทำงานอีกใช่ไหม เขาก็บอกใช่แล้ว ต้องขอโทษด้วย แต่ว่ามีสองตัวเลือก คือ ห้องแรกจะอยู่ชั้น 8 นั่งคู่กับผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่ง (แต่มีกระจกกั้น) แต่ห้องมันจะไม่เป็นส่วนตัวนัก นึกถึงภาพเปิดประตูห้องทำงานใหญ่ แล้วมีโต๊ะเลขาฯรับแขก ก่อนจะเป็นห้องเจ้านายในกระจกถัดไป มีเก้าอี้รับแขกสองสามตัว มีเครื่องซีรอกซ์ มีกองกระดาษ หน้าห้องน้ำซึ่งมีอยู่ห้องเดียว มีห้องแพนทรีเท่าแมวดิ้นตาย นั่นแหละคืออนาคตของฉัน และชั้น 8 ห้องค่อนข้างมืด หากอยากเอาอาหารไปอุ่น ต้องไปชั้น 11 หรือ 12

ถัดจากห้องโถงส่วนนี้ไป เป็นห้องใหญ่ กว้าง แสงสว่างมาก เป็นที่รวมของอินเทิร์น นั่งแออัดกันสามสี่คน มีโต๊ะคอมฯหันหน้าเข้าหากันมาสี่โต๊ะ ทั้งหมด 4 มุม 

เอายังไงก็เอากัน ไม่ต้องทำตัวยุ่งยาก ฉันก็บอก ไปก็ไป จะให้ไปเมื่อไร หัวหน้าสนง. บอกว่า เจ้าของห้องที่ยูนั่งอยู่ เขาจะย้ายกลับมากลางเดือนสิงหาคม ถ้ายูย้ายตอนนั้นก็ได้ ฉันบอกว่า สบายมาก ฉันจะไปเจนีวาตอนปลายเดือนกรกฎาคม งั้นก็จะย้ายห้องก่อนไปแล้วกัน (ดีนะที่สมบัติไม่มาก) หัวหน้าเลยบอกว่า ยูต้องการอะไรเพิ่มเติมก็บอกแล้วกันนะ จะได้อำนวยความสะดวกให้ แล้วก็เสริมว่า อีกไม่นานจะมีห้องในชั้น 12 ที่ฉันนั่งอยู่ตอนนี้ แต่อยู่อีกมุมตึก จะว่างลง เพราะเจ้าของตำแหน่งจะย้ายกลับประเทศ ฉันสัญญาว่าจะให้ยูไปอยู่ห้องนั้น (ย้ายครั้งที่ห้าหรือนี่เรา !!!!!!) สัญญาว่า คราวนี้ไม่มีการย้ายอีก

การแก่ตัวลงก็มีข้อดี ทำให้เราปลงใจได้ ฉันไม่ถือสา และไม่ติดใจว่า เขาจะรักษาสัญญาได้หรือไม่ในท้ายที่สุด เพราะรู้ว่าเรามีตัวเลือก หากอึดอัดนักก็ขอทำงานที่บ้านส่วนหนึ่ง เนื่องจากจะนั่งทำตรงไหนก็ไม่สำคัญกับด้วยงานของฉันรายงานตรงไปที่เจนีวาและ วอชิงตัน

ส่วนด้านบรรยากาศในที่ทำงาน ถือว่าสะดวกสบาย แต่ระบบความปลอดภัยเข้มแข็งกว่าเจนีวา จะเข้าออกตึกต้องมีบัตรรูดที่ลิฟต์ พอถึงชั้นที่เราทำงาน จะใช้รูดบัตรเปิดประตูสำนักงานก็ได้ หรือใช้รอยพิมพ์นิ้วมือแบบไบโอเมตริกก็ได้ เรามีที่จอดรถชั้นใต้ดิน ที่น้อย จึงต้องจอดซ้อนคันกันบ่อย ๆ ฉันชอบบันไดเดินระหว่างชั้น 11 -12 ชอบห้องแพนทรี่ที่พร้อมด้วยน้ำดื่มสะอาดจากเครื่องกด กดได้ทั้งน้ำร้อน น้ำเย็น น้ำร้อนพอที่จะชงชากาแฟได้ โดยไม่ต้องรอต้ม มีตู้เย็น มีเครื่องทำกาแฟเนสเพรซโซ่ (เอาแคปซูลมาเอง) มีชา กาแฟสำเร็จรูป ครีมเทียม น้ำตาลของกลาง (แต่ไม่มากนัก ฉันจึงตุนของตัวเองเป็นหลัก) ห้องน้ำมีทิชชูไม่เคยขาด กระดาษเช็ดมือพรั่งพร้อม แม้จะไม่หรูหรา ถังขยะใหญ่มีฝาปิดมิดชิด มีอ่างล้างจานซึ่งคงเป็นอาณาจักรของอาบิด มีเตาฉนวนไฟฟ้าไว้ชงกาแฟแบบเลบานีสซึ่งเข้มข้นและมีตะกอน เห็นมีร่องรอยการชง และถ้วยกาแฟทิ้งไว้ทีละหลายถ้วย คนส่วนใหญ่คงชอบกาแฟแบบนั้น

ส่วนฉันรสนิยมตกต่ำ เพราะกลายเป็นชอบดื่มเนสกาแฟกับคอฟฟี่เมทเป็นประจำ เชื่อหรือไม่ ขนาดมาจากเมืองแห่งกาแฟฝรั่งเศส/อิตาเลียนแสนอร่อย (คนมันไม่รักดี จะทำยังไงได้)

สรุปเรื่องที่นั่งทำงาน ฉันถือภาษิตว่า จะนั่งที่ไหนก็ได้ ถ้าใจนิ่ง โต๊ะเก้าอี้มุมห้องมันไม่สำคัญเท่าเนื้อหาที่เราสร้างสรรค์ในงานสักหน่อย

ฉันเอง

ณ ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน