อย่าตัดสินใครเพราะ…

การตัดสินใครโดยมีข้อมูลไม่เพียงพอเป็นเรื่องควรระวังสำหรับอาสาสมัครหรือจิตอาสา ที่เจอผู้คนหลายรูปแบบ หลายการมณ์ความรู้สึก หลายอุปนิสัย บางคนอาจก้าวร้าว เรียกร้อง งอแง งอมืองอเท้า หรือไม่ฟังเสียงใคร หากคุณรักษาทัศนคติให้เป็นกลาง มองปรากฏการณ์เบื้องหน้าอย่างมีสติ คุณก็จะทำหน้าที่จิตอาสาได้อย่างไม่หวั่นไหวและไม่ด่วนตัดสินผู้มาขอคำปรึกษาก่อนที่จะได้เข้าใจความเป็นจริงทั้งหมด

ต่อไปนี้เป็นเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ ดร บาร์บาร่า มาร์เวย์ สรุปไว้ให้เข้าใจง่าย ๆ

เราทุกคนต่างตัดสินคนอื่นด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งแม้ว่าเราจะพยายามไม่ทำเช่นนั้น เราอาจจะตัดสินคนข้างตัวในเรื่องเล็ก ๆ เช่น เพื่อนร่วมงานใช้เวลากินข้าวกลางวันนานเกินไป หรือพักทานกาแฟบ่อย ๆ หรืออาจจะเป็นเรื่องใหญ่ เช่น มีใครมาทำร้ายจิตใจเรา

นักจิตวิทยาและครูสอนนั่งสมาธิที่มีชื่อเสียง ธาร่า บรัค เล่าได้อย่างน่าฟังว่า ลองสมมติว่าเราเดินอยู่ในป่า เห็นสุนัขน้อยน่ารักโผล่หัวออกมาจากพุ่มไม้ พอเราเอื้อมมือจะไปจับ สุนัขตัวนั้นก็แยกเขี้ยว ขู่คำราม ทำท่าจะกัดเรา เราอาจจะนึกโกรธสุนัขและไม่เห็นว่ามันน่ารักอีกต่อไป ครั้นพอเราเห็นสุนัขตัวนั้นพยายามขยับตัว เราจึงเห็นขาข้างหนึ่งของมันติดอยู่ในกับดัก เราก็เข้าใจทันทีว่าทำไมมันจึงมีปฏิกิริยาที่ดุร้าย และตอนนั้นเองที่เราจะเกิดความเห็นอกเห็นใจในความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของสัตว์น้อยร่วมโลกตัวนั้น

เรื่องสุนัขน้อยนี้สอนอะไรให้เราได้บ้าง และเราจะลดละการชอบตัดสินคนอื่นได้อย่างไร

อย่าโทษตัวเอง คุณไม่ใช่สัตว์โลกที่ไม่รู้จักหวั่นไหว ถ้าคุณเจอใครที่พร้อมโจมตี (เหมือนสุนัขตัวนั้น) ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจ คุณย่อมต้องรู้สึกถูกคุกคาม อาจอยากโต้กลับ อยากหลบหนี หรืออาจจะเหวอ ไปต่อไม่เป็น คุณอาจรู้สึกเครียดและอยากปกป้องตัวเอง เหล่านี้เป็นปฏิกิริยาที่ปกติ กุญแจสำคัญคือ คุณต้องหยุดคิด (และหายใจลึก ๆ) ก่อนที่จะแสดงอะไรออกไป

มีสติ สติ และสติ แม้ว่าการตัดสินคนอื่นจะเป็นสัญชาตญาณที่เป็นธรรมชาติสำหรับมนุษย์ อย่างน้อยก็พยายามตั้งหลักให้ได้ก่อนที่คุณจะพูดตอบโต้ หรือก่อนจะส่งอีเมล์เผ็ดร้อนฉุนเฉียวซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงขึ้น เพราะสิ่งที่พูดหรือเขียนออกไปนั้นคุณเอาคืนไม่ได้ ขอให้หยุด ตั้งสติ ดูว่าคุณพอจะเข้าใจจุดยืนของอีกฝ่ายได้ไหม พยายามจัดประโยควิพากษ์วิจารณ์ในใจของคุณ หรือทำให้มีโทนที่เป็นกลางมากขึ้น ขอให้คิดถึงสุนัขที่ติดกับดัก เราไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีเหตุผลอะไรที่คุกคามใส่เรา

อย่าทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว เมื่อมีใครไม่เห็นด้วยกับคุณ หรือทำให้คุณรู้สึกยากลำบากใจ จำไว้ว่าโดยทั่วไปคุณไม่ใช่เป้าเฉพาะของปมปัญหานั้น มันอาจเป็นความเจ็บปวดหรือการดิ้นรนต่อสู้ของอีกฝ่าย ทำไมไม่ปล่อยมันให้มันผ่านไป “อย่าประมาทว่าความเจ็บปวดของคนอื่นเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย” เป็นคำกล่าวของวิลล์ สมิธ “เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราทุกต่างก็ต่อสู้ดิ้นรนด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่บางคนสามารถซ่อนมันได้แนบเนียนกว่า”

มองหาจุดดีที่มีอยู่ ทัศนะเช่นนี้ต้องใช้เวลาฝึกฝน เพราะจิตใจของมนุษย์เรามักจะสแกนหาสิ่งที่เป็นลบในคนอื่นก่อน แต่ถ้าคุณพยายาม คุณจะได้พบสิ่งดี ๆ ในตัวคนอื่นเสมอ เชื่อหัวไอ้เรืองเถิด

ท่องมนต์ “ฉันก็เหมือนกัน” จำไว้ว่ามนุษย์เรามีความคล้ายคลึงกันมากกว่าความแตกต่าง เวลาที่คุณฉุนขาดใครสักคน คุณอาจจะนึกว่า อีกฝ่ายก็เป็นคนรักครอบครัวเหมือนคุณนี่แหละ และอีกฝ่ายก็ต้องการมีความสุข ปลอดจากความทุกข์เช่นตัวคุณนี่แหละ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อีกฝ่ายก็ทำผิดพลาดได้เช่นเดียวกับคุณเหมือนกัน

เปลี่ยนวิธีคิด เมื่อมีใครทำสิ่งที่คุณไม่ชอบ ให้ลองคิดดูว่า อีกฝ่ายแค่พยายามจะแก้ปัญหาแต่ว่าใช้วีการไม่เหมือนกับคุณ หรือมีเงื่อนเวลาไม่ตรงกับคุณ สิ่งนี้อาจทำให้ใจคุณเปิดกว้างและยอมรับพฤติกรรมของอีกฝ่ายได้มากขึ้น ดาไลลามะทรงกล่าวไว้ว่า “ผู้คนต่างเดินบนเส้นทางของตัวเองเพื่อแสวงหาความเติมเต็มและความสุข หากคนอื่นไม่ได้เดินบนเส้นทางเดียวกันกับคุณ ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขากำลังหลงทาง”

ย้อนมองดูตัวเอง บางครั้งคุณอาจชอบตัดสินคนอื่นในสิ่งที่ตัวคุณเองทำบ่อย ๆ หรือเคยทำ เช่น เวลาที่คุณร้องด่าคนที่ขับรถตัดหน้าคุณ คุณอาจต้องถามตัวเองว่า “นี่เราเคยขับรถห่วย ๆ แบบนั้นด้วยหรือเปล่า” แน่นอนว่า เราทุกคนก็เคยเป็นแบบนั้นกันมาก่อน

เปิดหูเปิดตา เมื่อมีใครทำให้คุณรำคาญ พวกเขาบางคนอาจมีความไม่สมประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งที่คุณไม่รู้ เช่น คนที่เข้าสังคมไม่เป็น อาจจะเป็นโรค “แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม” ทำให้ทำตัวแปลก ไม่สบตาไม่พูดด้วย มีพฤติกรรมหมกมุ่น หรือมีความสนใจซ้ำซาก ดังนั้น หากใครสักคนเขามาวุ่นวายกับพื้นที่ส่วนตัวของคุณ ขอให้คิดว่า ไม่ใช่เป็นเพราะคุณ อัลเบิร์ต ไอนชไตน์เคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นอัจฉริยะ แต่หากคุตัดสินปลาด้วยความสามารถในการไต่ต้นไม้ คุณอาจจะทำให้มันต้องใช้ชีวิตที่เหลือทั้งหมดด้วยการคิดว่าตัวเองโง่”

ยกประโยชน์ให้จำเลย มีใครบางคนเคยพูดไว้ว่า ไม่มีใครที่ตื่นนอนตอนเช้าแล้วพูดกับตัวเองว่า “วันนี้ ฉันจะเป็นนายห่วยแตก(หรือนางสาวซื่อบื้อ)” ทุกคนต่างทำอย่างดีที่สุดเท่าที่กำลังความสามารถมีให้ในช่วงเวลานั้น ๆ

รู้สึกดีกับตัวเอง เบรน บราวน์กล่าวว่า “ฉันรู้สึกดีเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกของตัวเอง ฉันไม่สนใจที่จะตัดสินคนอื่นว่าพวกเขาเลือกทำอะไร ฉันรู้สึกดีเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง ฉันไม่หัวเราะเยาะใครที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวหรือรูปร่างหน้าตา เราต่างกดดันกันและกันเพราะว่าเราใช้คนอื่นเป็นกระจกสะท้อนความบกพร่องของเราเอง”

สุดท้าย ให้ระลึกไว้เสมอว่า การตัดสินคนอื่นเป็นการสร้างอคติในใจ และทำให้อาสาสมัครไม่สามารถวางตัวเป็นกลางกับผู้ที่มารับความช่วยเหลือได้

ที่มา psychologytoday.com