ฝันยังไม่หายในสวีเดน

เรื่องเล่าจากมาดามบ้านนาชีวิตธรรมดาคนนึงค่ะ อยากเล่าประสบการณ์การเป็นมาดามในยุโรป มันไม่ได้สุขสบายมากนัก หลังจากที่ได้สัมผัสกับตัวเองมาแล้ว สาว ๆ หลายคนคงฝันและดูแต่ตัวอย่างที่สวยหรู เลิศหรู จากตัวอย่างดี ๆ ที่เราเลือกที่จะดู

แต่ในชีวิตจริงแล้ว มันไม่เป็นแบบในฝันเสมอไปคะ เรื่องอาจจะยาว ขอเขียนเป็นตอน ๆ ไปนะคะ

ตอนที่ 1 จากการพูดคุยสู่การแต่งงาน
ฉันชื่อวันค่ะ ฉันแต่งงานมาอยู่กับสามีชาวสวีเดน ตอนอายุ 34 ปี ตอนนี้อายุ 42 ปีแล้วโดยการรู้จักกันผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่เว็บหาคู่นะคะ เป็นเว็บไซต์อุปกรณ์การแพทย์และปัญหาสุขภาพ ซึ่งในขณะนั้น วันทำหน้าที่เป็นฝ่ายการตลาดขายสินค้าต่างประเทศ ที่มีหน้าที่โพสต์ประชาสัมพันธ์และขายสินค้าในเน็ต ส่วนสามีเป็นฝรั่งที่อยากมาทำฟันที่เมืองไทย โดยไม่คิดจะมีเมียคนไทยมาก่อน ส่วนวันก็ไม่เคยคิดจะมีสามีฝรั่งเช่นเดียวกัน เราจึงได้รู้จักกันผ่านการทำงานของวัน โดยเรื่องที่คุยกันกลับไม่ใช่ความสนใจในสินค้าที่เราขาย แต่เป็นสารทุกข์สุขดิบ และความห่วงใยเราจากการเห็นเราออนไลน์ในกลุ่มเพื่อรอตอบคำถามลูกค้าทั้งวัน ทั้งที่ในขณะนั้น วันก็รับจ๊อบหลายอย่างเกี่ยวกับการตลาดและโฆษณาของสถานเสริมความงามและสปา และทำรายการทางเคเบิลทีวีในบ้างครั้ง

หลังจากคุยกับสามีผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นเวลา 3 เดือนเริ่มจากช่วงต้นเดือนมกราคม มาถึงเดือนเมษายน เขาบอกว่าจะเดินทางมาหาเราในเดือนพฤษภาคม จึงพูดเล่น ๆ ไปว่าเราไม่ไปไหนมาไหนกับเขาสองต่อสอง ถ้าเรายังไม่ได้แต่งงานกัน จึงเป็นการพูดคุยถึงเรื่องแต่งงานในขณะที่เรายังไม่เคยเจอหน้าและพบปะกันเลย และวันเองก็ไม่เคยสอบถามเรื่องส่วนตัว การงาน ครอบครัว การเงิน ฐานะ บ้านช่อง รถรา หรือรายได้ที่เราควรจะรับรู้ก่อนถ้าเราคิดจะแต่งงานกัน

เรารู้เพียงแต่ว่าผู้ชายคนนี้ที่เราได้รู้จักกันผ่านแน็ตจะแทบจะคุยกันทุกวันเป็นเวลาสามเดือน ได้เห็นเราเศร้า สนุก ทุกข์ สุข เหงาตลอดเวลา เขาอยู่เคียงข้าง แม้มันจะเป็นระยะทางที่ไกลกันมาก และเราก็อายุมากในตอนนั้น คิดว่าก็ควรจะแต่งงานสักทีกับใครก็ได้ที่รักเราจริง แต่ตัวเรานั้นคิดอย่างเดียวว่า หลังแต่งงานเราจะมาใช้ชีวิตในยุโรป และทำงานหาเงิน ซึ่งได้ยินมาว่ารายได้มันดีมาก *(ก็ฟังต่อๆกันมา) เราจึงตกลงแต่งงานกันตามประเพณีง่าย ๆ ประหยัดงบ แต่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมแบบที่ครอบครัวเรายึดถือ โดยที่สามีเดินทางมาไทยครั้งแรกในชีวิตของเขาเพื่อมาแต่งงานและกลับไปทำงานต่อ และให้เราทำวีซ่าเพื่อเดินทางมาอยู่อาศัยกับเขา ซึ่งในขณะนั้นสามีเป็นชาวสวีเดนที่ทำงานในประเทศนอร์เวย์

ตอนที่ 2 ทำวีซ่ามายุโรป
หลังจากสามีเดินทางกลับมาทำงานต่อ เราใช้เวลาในการเดินเรื่องวีซ่าเอง เพราะหาข้อมูลค่าใช้จ่ายในการจ้างบริษัทเอกชนเดินเรื่องให้ต้องเสียเงินมาเกินไป ตอนนั้นในใจก็เริ่มกังวลกับการมาใช้ชีวิตในต่างแดน ประกอบกับช่วงนั้น มีข่าวเรื่องการค้ามนุษย์เยอะมาก เรื่องหลอกแต่งงานกับผู้หญิงไทยและเอามาค้าประเวณีที่ต่างประเทศ เรื่องหลอกโอนเงิน เรื่องต่าง ๆ มากมาย

มันเลยทำให้เราเริ่มอ่านเรื่องในในเพจหลาย ๆ เพจ ข่าวหลายข่าวเกี่ยวกับด้านไม่ดีในแบบที่เราไม่เคยเปิดใจ เพราะใจนึงเราก็ฝันที่จะแต่งงานมาอยู่สุขสบายกับฝรั่งคนนี้เหมือนใคร ๆ ฝันเช่นกัน ใจเริ่มกลัวและสับสนมาก

แต่วีซ่าก็ผ่านอย่างง่ายดาย ในเวลาเพียง 1 เดือนเราก็ได้รับอีเมลล์จากสถานฑูตว่า วีซ่าผ่าน เป็นวีซ่าเยี่ยมแฟนที่มีเวลาอยู่ในยุโรปได้ 3 เดือน เราก็วาดฝันว่าในเวลา 3 เดือนนี้ เราจะเตรียมตัวเรื่องเรียนภาษาเพราะรู้อยู่แล้วว่านอร์เวย์และสวีเดนมีภาษาของตัวเอง และไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษมากนัก แต่ทุกอย่างมันก็ไม่เป็นเหมือนอย่างที่เราฝัน เมื่อสามีมารับที่สนามบินและพาเราไปที่พักซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์ที่สามีเช่าอยู่ในออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ อพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ที่เราช็อคมาก เพราะตามที่บอกว่า เราไม่เคยสอบถามความเป็นอยู่ของสามีเลย รู้เพียงว่าเขาใจดี ช่วงเวลาที่เริ่มคุยกัน เขาส่งเงินให้ใช้เดือนละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นยอดเงินที่เราบอกเองว่ามันเพียงพอที่เราจะจ่ายค่าใช้จ่ายในกรุงเทพได้ เพราะเราไม่ได้เป็นคนฟุ่มเฟือยและไฮไซมากมาย เราเป็นคนบ้านนา ที่มาเรียนและมาทำงานในกรุงเทพเท่านั้น พื้นฐานและความเป็นอยู่เราแบบสมถะและไม่ฟุ้งเฟ้อเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เราจึงไม่คิดว่าสามีเราจะเป็นเพียงคนทำงานหาเช้ากินค่ำ คนธรรมดาที่มีงานประจำ มีเงินเดือนใช้ แต่ไม่ได้ร่ำรวย ออกจะจนด้วยซ้ำไป

น้ำตาเราร่วงเลยทีเดียว ร้องไห้แบบไม่มีเหตุผล เพราะเราทิ้งงานทุกอย่างที่เราทำที่กรุงเทพหมดแล้ว สินสอดที่ได้มา เราก็ใช้จ่ายไปหมดแล้ว เพราะคิดว่าสามีเราต้องมีเงิน ต้องดูแลเราได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยก็ให้เราได้เปิดร้านอะไรสักอย่างได้ นั่นแค่ฝันไป เมื่อได้รู้ว่าสามีเราไม่ได้ร่ำรวย และไม่ได้มีเงินมากมาย อย่างที่เราฝัน ทุกอย่างมันเหมือนพังทลาย เมื่ออะไรหลาย ๆ อย่างที่เราอยากทำ อยากเรียนภาษา อยากปรับพื้นฐานการศึกษาและหางานทำในออฟฟิศหรือเปิดร้านอะไรสักอย่าง มันเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่ชีวิตเมื่อมันเดินหน้าแล้วมันก็หยุดไม่ได้แล้ว และเราก็ตัดสินใจที่จะมาแล้ว จะอะไรก็ต้องสู้และลองดูก่อน ทั้งที่ใจหนึ่งก็เสียดายงานที่ทำที่เมืองไทยมากมาย

ตอนที่ 3 ปรับตัวเรื่องงาน
เริ่มงานแรกหลังจากเรียนจบปริญญาตรี คือ วันทำงานฝ่ายการตลาดร้านหนังสือดอกหญ้า จำได้เลย ไปขายหนังสือตามโรงเรียน และทำงานฝ่ายส่งเสริมการตลาดร้านเฟอร์นิเจอร์แบรนด์แห่งหนึ่ง ทำได้พักเดียว ลองงานหลังเรียนจบเท่านั้นเอง หลังจากนั้นก็มาเป็นครูสอนการตลาดในโรงเรียนบริหารธุรกิจชื่อดังเป็นสิบปีเลยค่ะ เปลี่ยนที่สอนไปสามที่ด้วยกัน

หลังจาก 10 ปีในอาชีพครูอาชีพที่เรารัก สนุกกับการสอน เงินเดือนก็หมดไปกับสื่อการสอนในบางส่วน มันไม่มีอะไรจับต้องได้ อายุก็มากขึ้นเลยออกมาทำการตลาดแบบฟรีแลนซ์ค่ะ คือรับจ้างการตลาด โฆษณาประชาสัมพันธ์ การตลาด การขาย การออกสื่อไปเรื่อย จนแต่งงานมาอยู่กับสามี หวังว่าจะได้ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองหางานทำที่ยุโรปค่ะ แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น

เริ่มด้วยเรามีวีซ่าของประเทศสวีเดนแต่ไปอยู่อาศัยในนอร์เวย์ จึงไม่ได้รับสวัสดิการอะไรตามวีซ่า เพราะอยู่นอกราชอาณาจักรสวีเดน จะเรียนก็ต้องเสียเงินเรียน และต้องไปปรับพื้นฐานเทียบวุฒิที่ได้มาจากเมืองไทยในมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะหางานทำให้ตรงกับสายที่เราเรียนมา มันไม่ง่าย และต้องใช้เวลานานหลายปีทีเดียว แล้วจะหางานได้ไหม ก็ไม่มีใครรับรองเราได้ จึงตัดใจเรื่องการเรียนไปเลย เพราะอายุมากแล้ว

วันจึงมองหางานที่พอจะทำได้ในยุโรป โดยที่ไม่ต้องเรียนด้านภาษาด้วย งานที่ทำได้มีเพียงงานแม่บ้านเท่านั้น ตอนนี้ที่รู้ ก็ดราม่าร้องไห้หนักมากคะ ถึงเราจะเป็นลูกชาวนามาก็ตาม แต่เราก็ไม่ได้เคยต้องไปทำงานอะไรแบบนี้ มันเหมือนไปเป็นขี้ข้าเขา ใจคิดแบบนั้นในตอนแรก สามีจึงฝากให้ทำงานในบริษัททัวร์ที่เขาทำงาน โดยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ขายตั๋วทัวร์ให้นักท่องเที่ยวที่มากับเรือลำใหญ่ ทำงานกับตั๋วทัวร์เป็นเล่ม ๆ และเครื่องกดบัตรเครดิต ทำงานผิด ๆ ถูก ๆ เพราะภาษาเราไม่เก่งมากนัก แค่เอาตัวรอดได้เท่านั้น จึงถูกตำหนิเพราะทำงานผิดพลาด คิดตังค์ผิด ดราม่าร้องไห้ไปอีกรอบ

จนทำใจได้ว่าถ้าภาษาเราไม่พร้อม เราควรทำงานที่ความรับผิดชอบจำกัดในวงแคบ ๆ พอ จึงพร้อมและยอมรับงานแม่บ้านโรงแรมในนอร์เวย์ แต่ใจพร้อม ก็ใช่ว่างานจะพร้อม แรงงานว่างงานเยอะมาก งานหายาก ใช้เวลาหางานเองประมาณสองอาทิตย์ ไม่มีที่ไหนติดต่อกลับมาเลย เหมือนตัวเองไร้ค่า ไร้ประโยชน์ เบื่อ เหงา คิดถึงบ้านมาก แต่ก็ยังโชคดีที่เพื่อนของสามีฝากให้ทำงานในโรงแรมที่เขารู้จัก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในยุโรปอย่างจริงจัง

ตอนที่ 4 งานแม่บ้านโรงแรม
พอรู้ว่างานที่เราพอจะทำได้มีเพียงเท่านี้เหรอ เราเดินทางมาไกลขนาดนี้เพื่องานแบบนี้เหรอ น้ำตามันไหลค่ะ ไม่ได้ดูถูกว่างานมันต่ำต้อย เพียงแต่น้อยใจในโชคชะตาตัวเอง ที่แต่งงานมา สามีก็ไม่ได้ร่ำรวยอย่างที่เราหวังจะเกาะเขากินสบาย ๆ แต่เราต้องมาทำงานต่างหาก ต้องช่วยกันทำงาน ช่วยกันหาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งมันก็คือความเป็นจริง ชีวิตจริงไม่ใช่เทพนิยายป่ะละ เราน่าจะตื่นจากความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ได้แล้ว

ณ วันนี้ การมีงานทำต่างหากที่เราต้องการ เพราะการรองานสองอาทิตย์ที่ผ่านมา มันทรมานมาก มันฟุ้งซ่าน คิดนู่นนี่สารพัด การได้งานทำต่างหากที่สร้างความภูมิใจให้กับเราในขณะนี้ ก็ทำใจสักพัก และคิดทบทวนถึงช่วงที่เราเดินหางานเองมาก ว่ามันเหนื่อยและท้อ งานใช่ว่าจะหาง่าย เราจึงตั้งใจที่จะเริ่มต้นและทำมันให้ดีที่สุด

อาชีพแม่บ้านโรงแรม มันไม่ได้เลวร้าย ต่ำต้อย มันเป็นงานที่ท้าทายด้วยซ้ำไป เรามองให้มันสนุก มันก็จะสนุกมาก งานแม่บ้านเป็นงานที่ถูกควบคุมด้วยเวลาที่จำกัดว่า 1 ห้องใช้เวลาเท่าไร จำกัดเรื่องความสะอาดว่าเราทำสะอาดไหม ทันเวลาไหม จากผู้ประเมินงาน มันจึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถอยู่พอควร เพราะเราเป็นคนที่เวลาทำงานตั้งใจมาก และต้องทำให้ดีด้วย

หลังจากผ่านการอบรมเรื่องงาน เราจึงต้องการทำงานให้ได้ตามเวลา และงานที่เราทำต้องสะอาดและสวยงามไม่ให้ใครมาตำหนิได้ ความรู้ความสามารถที่เราเรียนมา ประสบการณ์การทำงานจากเมืองไทย มันเอามาใช้ไม่ได้เลย แต่มันก็พอจะประยุกต์ใช้ได้บ้าง จากการตั้งสมมติฐาน และทดลองหาวิธี กระบวนการในการทำงานให้เสร็จตามเวลาและงานออกมาสวยงาม สะอาดตามมาตรฐาน

นอกจากนั้นเราก็ยังหาทักษะเพิ่มเติมเรื่องการใช้เครื่องมือเครื่องทุ่นแรงในการทำความสะอาด หาทักษะในการทำผ้าเช็ดตัวเป็นแบบต่าง ๆ หากเรามีโอกาสจะใช้มัน เราพยายามทำงานอย่างสุดความสามารถ ทำเต็มที่ และทำด้วยหัวใจ ความรู้จากประสบการณ์ที่เรามีเราพร้อมจะสอนและให้คำแนะนำนะคะ หากพอจะมีประโยชน์ต่อใครต่อไป เรายินดีมากคะ แอดด์มาเป็นเพื่อนกันได้คะ

ตอนที่ 5 ได้สัญชาติสวีเดน
หลังจากแต่งงานเสร็จ สามีก็เดินทางกลับมาทำงานที่นอร์เวย์ต่อ โดยที่เรายังไม่ได้จดทะเบียนสมรส เพราะเขาลางานมาได้เพียง 7 วันเท่านั้น ในขณะนั้น เราก็ดำเนินการขอวีซ่าเยี่ยมแฟน ซึ่งสามีได้เตรียมจดหมายเชิญไปเยี่ยมแฟนและเอกสารรับรองต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ซึ่งมีเอกสารอะไรนั้น เราเองกลับมองข้ามไปเลย ดูผ่าน ๆ จำไม่ได้ด้วยว่ามีอะไร แต่ทุกอย่างล้วนเป็นเอกสารจากทางสามีทั้งหมดเพื่อการันตีการเดินทางไปของเรา

รอวีซ่าอนุมัติ 1 เดือน เราก็ได้เดินทางครั้งแรก ด้วยวีซ่าเยี่ยมแฟนในระยะเวลาการอยู่อาศัย 3 เดือน ซึ่งเราขอวีซ่าสวีเดนแต่เข้านอร์เวย์ มีการตรวจเยอะแยะ สอบถามมากมาย จนเจ้าหน้าที่ต้องโทรหาสามีเพื่อสอบถามเพิ่มเติมเกือบชั่วโมง แต่เราก็ได้รับอนุญาให้เข้านอร์เวย์ได้ และใช้เวลาสามเดือนนั้นเพื่อใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันครั้งแรกจริงๆ จังๆ และศึกษาความเป็นอยู่ แนวทาง ความเป็นไปได้ด้านการงานของเราในอนาคต

เราถึงทำใจยอมรับได้ว่าเรามีทางเลือกเรื่องงานไม่มากนัก และเราก็พร้อมแล้วกับงานแม่บ้านโรงแรม แต่วีซ่าเยี่ยมแฟน เราจะไม่ได้รับอนุญาให้ทำงานนะคะ คือมาเที่ยวได้อย่างเดียวเท่านั้น พอวีซ่าหมด เราก็กลับบ้าน สิ้นปีสามีก็บินตามมาที่เมืองไทย เพื่อจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฏหมายไทย และเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้เราทำเรื่องวีซ่าอยู่อาศัยในสวีเดนต่อ

พอเขาบินกลับ เราก็ยื่นเรื่องขอวีซ่าต่อ วีซ่าอยู่อาศัยในสวีเดนนี้ จะได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยได้ 2 ปี ได้รับสวัสดิการ และสามารถทำงานได้เหมือนคนสวีเดน เราใช้เวลายื่นเรื่อง เตรียมเอกสาร 5 เดือน ที่จริงมันไม่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้น หากเราเองยังไม่พร้อมต่างหาก เพราะเรารู้ว่าการเดินทางมาครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนชีวิตเราไปอีกมุมนึงก็ว่าได้ เราใช้เวลาเตรียมใจ 2-3 เดือน กว่าจะรวบรวมเอกสารยื่นขอวีซ่า

ทางสถานฑูตใช้เวลาอนุมัติวีซ่าเพียง 1 เดือน เราก็เดินทางมาอีกครั้ง และยังคงกลับไปที่นอร์เวย์ที่สามีทำงานอยู่ ในขณะนั้น เขาทำงานทางตอนเหนือของนอร์เวย์ และเราก็ได้มาอยู่กับเขาที่นี่ แต่การจะทำงานในนอร์เวย์ของเรานั้น จำเป็นต้องขอวีซ่าทำงานในนอร์เวย์ด้วย เราจึงใช้เวลาเดือนแรกไปกับการรอวีซ่าทำงานและหางานทำไปด้วยนั่นเอง มันจึงเป็นการเริ่มทำงานครั้งแรกในนอร์เวย์ด้วยงานแม่บ้านโรงแรม ที่เราเตรียมใจและยอมรับมันด้วยดีมาแล้ว

ตอนมาฝึกงานครั้งแรกยอมรับว่ามันหนักมาก เหนื่อยมาก แต่การที่เราหางานเองมา 2 อาทิตย์ ยังไม่มีที่ไหนต้องการเราเลย คนว่างงานเยอะ คนตกงานก็เยอะ ที่เราได้งานนี้ ด้วยว่าเพื่อนของสามีฝากให้ เพราะถ้าไม่ได้รับการฝากงาน เราเองก็ยังไม่แน่ไปใจว่าจะได้งานไหม นี่ถือว่าเราโชคดีมาก และโชคดีไปกว่านั้น เราได้รับบรรจุเป็นพนักงานประจำทำงาน 100% ซึ่งมันหาไม่ได้ง่าย ๆ ในตอนนั้นหรือตอนนี้ก็ตาม

เราจึงเปลี่ยนความน้อยเนื้อต่ำใจเป็นความภาคภูมิใจที่เราได้งานประจำก่อนใคร ถือว่าโชคดีมาก และเราก็ภูมิใจมากว่า เราทำงานได้ จนหัวหน้ายอมรับให้งานประจำกับเรามา เราจึงตั้งใจเรียนรู้ และหาเทคนิคต่าง ๆ ที่จะทำให้เราทำงานแม่บ้านให้สนุกและรับมือได้ในทุกสถานการณ์

แต่ทุกอย่างก็มีอุปสรรคอีกครั้ง เมื่อวีซ่าของเราใกล้จะหมด และถึงเวลาต้องยื่นขอสัญชาติสวีเดน เพื่อให้การอนุมัติวีซ่าเป็นไปอย่างราบรื่น เราจำเป็นต้องย้ายกลับมาอยู่สวีเดนเพื่อให้มีที่อยู่ถาวร ในขณะที่สามีก็จำเป็นต้องย้ายกลับมาทำงานในออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์เช่นกัน เราจึงลาออกจากงานและมาเริ่มต้นชีวิตในสวีเดนแบบที่มันควรจะเป็นตั้งแต่แรก เลยได้เริ่มเรียนปรับภาษา ซึ่งตามสวัสดิการคือเรียนฟรี และหางานทำใกล้บ้าน

งานในสวีเดนขาดแคลนมากกว่านอร์เวย์ด้วยซ้ำ เราจึงได้แค่งานเอ็กซตร้า เป็นผู้ช่วยงานแม่บ้าน ซึ่งจะได้งานเมื่อเขาต้องการเท่านั้น เรารอจนได้สัญชาติสวีเดน และถือพาสปอร์ตสวีเดน เราจึงกลับเข้ามาหางานทำที่นอร์เวย์อีกครั้ง และโชคดีที่เราได้งานประจำอีกครั้งเช่นกัน เราจึงเป็นคนสวีเดนที่เดินทางมาทำงานในนอร์เวย์แบบมาเช้า-เย็นกลับ ด้วยระยะทาง 130 กิโลเมตรทุกวัน ไปกลับก็ 260 กิโลเมตร

ตอนที่ 6 แผนเพื่ออนาคต
เมื่อทุกอย่างมันไม่เป็นไปตามที่เราฝันไว้ และเราก็ยอมรับมันได้ ก็สลัดความเสียใจ ความน้อยใจในโชคชะตาหมดสิ้นไปแล้ว เมื่อเริ่มมาใช้ชีวิตอยู่กับสามีอย่างจริงจัง จึงสลัดทิฐิและความฝันอย่างม ๆ แล้ง ๆ หมดสิ้น มองแต่ความเป็นจริง มองว่าเราโชคดีมากแล้วที่ได้งานประจำ ในขณะที่อีกหลายคนไม่มีงานทำด้วยซ้ำไป หรืออีกหลายคนที่เขาเดือดร้อน และจำเป็นต้องใช้เงินมากมายกว่าเรานัก เขายังไม่ได้ในตำแหน่งที่เราทำด้วยซ้ำไป

เราจึงมองไปข้างหน้ามากกว่าที่จะมองย้อนหลังแล้วทำให้เราเศร้าใจ สามีคือผู้สอนและชี้นำทุกอย่าง เอาจริง ๆ บางอย่างเราก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่ถ้ามองด้วยหลักการของเหตุผลและความเป็นไปได้ มันก็ต้องยอมเขาก่อน เราจึงมีการวางแผนในชีวิตด้วยกัน กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ยุโรปกับเมืองไทย ยังคงมีความแตกต่างกันมากมายนัก

หลายอย่างในเมืองไทย เราใช้หลักสบาย ๆ แบบไทยแท้ ที่ยุโรปมันไม่ได้เลย และสามีเป็นคนที่รักษากฎและความถูกต้องเป็นหลัก แต่นิสัยเราชอบทำอะไรตามใจตัวเองและเชื่อมั่นในตัวเองมาก่อน แรก ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ไม่ลงรอดกันบ่อยมาก แต่หลัง ๆ เราก็ปรับอะไรยอมได้ก็ยอม และทำอะไรตามแผนที่เขาวางไว้ เพื่ออนาคตของเราทั้งสองคน ทุกอย่างในชีวิตเราเลยดูเป็นระเบียบมีกฎเกณฑ์มากขึ้น

เริ่มโดยสามีพยายามอธิบายถึงชีวิตความเป็นจริงในยุโรป ใครก็ตามที่ไม่ได้มีทรัพย์สินมาจากพ่อแม่และใช้ชีวิตโดยการทำงานอย่างเขา ก็ไม่ได้ร่ำรวยหรอก เพราะมีค่าใช้จ่ายมากมาย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่หาคนเดียว จ่ายคนเดียวเช่นเดียวกับเขา มีเพียงเงินเก็บเล็กน้อยหลังจากใช้จ่ายไปวัน ๆ

สามีเป็นคนไม่ดื่ม ไม่เที่ยว ไม่มีสังคมที่ต้องไปสูญเสียเงินเพื่อหน้าตานัก เขามีโลกส่วนตัวสูง ชอบอยู่คนเดียว ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับข่าวสาร เทคโนโลยีของเขาไป พอเราเริ่มเปิดใจเรียนรู้ความเป็นจริงตามแบบแผนที่เขาวางไว้ เราเริ่มมีการจัดสรรค่าใช้จ่ายและเงินเก็บอย่างเป็นระบบ และมีเป้าหมาย ถ้าเราทำงานครบ 10 ปี ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน เราจะมีเงินหลังเกษียณอายุและมีเงินก้อนสำหรับตัวแลตัวเองได้โดยไม่ต้องทำงานยันเกษียณ ซึ่งนอร์เวย์เกษียณอายุ 67 ปี แต่เราก็สามารถเกษียณอายุก่อนเวลาในอายุ 62 ปีได้

แต่เราจะทำงานเต็มที่แค่ 10 ปีเท่านั้น หลังจากนั้น เราจะลดงานลงและใช้เวลาในการเรียนรู้งานอื่น ๆ เพิ่มเติม และสามารถหางานอื่นได้ในอนาคต ถ้าเราพูดภาษาได้คล่องและชำนาญมากกว่านี้ นั่นหมายถึงอายุ 45 ปี ชีวิตเราจะเป็นไปตามแผน มันไม่มีอะไรต้องกังวลในอนาคต ซึ่งเรายอมรับในกฎเกณฑ์ของเขาได้ และมันก็ไม่เกินความสามารถของเราจนเกินไป หลังจากอายุ 45 ปี ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน เราอาจได้กลับไปใช้ชีวิตในเมืองไทยได้มากถึงปีละ 3 เดือน ซึ่งเราว่ามันเพียงพอแล้วสำหรับเรา หลังจากนั้นเราคงพอจะได้ทำอะไรในแบบที่เราชอบและถนัดต่อไป ซึ่งก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรนะคะ

ขอบคุณที่ติดตามนะคะ เราคิดว่ามันยาวเกินไปแล้ว อยากให้เรื่องนี้เป็นกำลังใจสำหรับคนที่คาดหวังไว้สูงอย่างเรา ไม่มีอะไรภูมิใจเท่าได้ทำงานหางานใช้เองหรอกคะ

ณ ตอนนี้เรามีสามีที่ดี รักเรามาก เรามีงานทำและมีแผนในอนาคตที่ดี ถึงแม้เราจะไม่ร่ำรวย แต่เราก็มีความสุขและพอใจแล้ว เราจะทำวันนี้ให้ดีที่สุด

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนด้วยคะ สวัสดีคะ