Cover photo credit: https://www.picpedia.org/chalkboard/images/death-benefits.jpg

ต้นฉบับจาก https://europa.eu/youreurope/citizens/work/unemployment-and-benefits/death-grants/index_en.htm

แปลเรียบเรียง โดย จงเจริญ ศรแก้ว

สิ่งที่คนไทยย้ายถิ่นควรรู้

เกริ่นนำ

หากท่านอาศัยอยู่ในสหภาพยุโรป (EU) และมีคู่สมรสชาวจากประเทศในสหภาพฯ ท่านควรทราบสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ท่านต้องตกเป็นแม่หม้าย/พ่อหม้าย โดยขาดความพร้อม

หลักการ

กรณีคู่สมรสชาวยุโรป (EU) เสียชีวิต ญาติใกล้ชิดที่สุดหรือหม้ายของผู้วายชนม์มีสิทธิได้รับสวัสดิการตามกฎหมายหรือกฎระเบียบในแต่ละประเทศ

โดยทั่วไป สวัสดิการดังกล่าวมีสองชนิด คือ เงินบำนาญตกทอด  (ให้ต่อเนื่อง) และ เงินช่วยการเสียชีวิต (ให้ครั้งเดียว)

เงินบำนาญตกทอด (Survivors’ pensions)

คือ เงินบำนาญรายเดือนที่ผู้ตายเคยได้รับหรือกำลังจะได้รับ (แต่มาเสียชีวิตก่อน)

ผู้ที่จะได้รับ ผู้อยู่ข้างหลังที่ใกล้ชิดผู้ตายมากที่สุด (The closest surviving relatives ซึ่งปกติ คือ คู่สมรส และ/หรือ บุตร)

ผู้จ่าย คือ หน่วยงานที่เคยจ่ายเงินบำนาญให้ผู้เสียชีวิตนั้น

จำนวนที่จ่าย คิดเป็นสัดส่วนเช่นเดียวกับการคำนวณเงินบำนาญผู้สูงอายุ (old-age pension)

วิธีการ ท่านต้องยื่นขอเงินบำนาญตกทอดกับหน่วยงานบำนาญในประเทศที่ผู้เสียชีวิตทำงานครั้งสุดท้ายหรืออาศัยอยู่เมื่อเสียชีวิต หน่วยงานในประเทศนั้นจะตรวจสอบคำร้อง และส่งต่อไปยังประเทศในสหภาพยุโรปที่ดูแลเงินบำนาญนั้น

ข้อยกเว้น หากท่านไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินบำนาญตกทอด ท่านอาจได้รับเงินช่วยเหลือการเสียชีวิต (เงินแม่หม้าย) แทน

คำเตือน

ไม่ใช่ประเทศในสหภาพยุโรปทุกประเทศที่จ่ายเงินบำนาญตกทอด

เงินช่วยเหลือการเสียชีวิต หรือ เงินแม่หม้าย (Death Grants)

คือ เงินช่วยเหลือให้กับผู้อยู่ข้างหลัง กรณีคู่สมรสเสียชีวิต เป็นการจ่ายเงินครั้งเดียว

คำเตือน

ไม่ใช่ประเทศในสหภาพยุโรปทุกประเทศที่จ่ายเงินช่วยเหลือการเสียชีวิต

ก่อนท่านจะทำเรื่องขอเงินช่วยเหลือการเสียชีวิต ท่านต้องตรวจสอบก่อนว่า:

  • คู่สมรสที่เสียชีวิตเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (Social Insurance System) ในประเทศนั้นหรือไม่
  • ประเทศนั้นมีระบบให้เงินช่วยเหลือการเสียชีวิต (Death Grants) หรือไม่
  • ถ้ามีเงินช่วยเหลือการเสียชีวิต เงื่อนไขการขอเงินดังกล่าวประกอบด้วยอะไรบ้าง
  • สถานะของท่านเข้าข่ายที่จะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวไหม

ท่านจะส่งคำร้องได้ที่ไหน

ท่านควรยื่นคำร้อง (หรือใบสมัคร) ไปที่หน่วยงานประกันสังคมในประเทศที่ผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ล่าสุด หน่วยงานระดับชาติจะตรวจสอบ และส่งเรื่องของท่านไปยังประเทศต้นสังกัดของเงินประกันสังคม

ประเทศไหนจะจ่าย

หากผู้เสียชีวิตได้รับเงินบำนาญจากหลายประเทศในสหภาพยุโรปพร้อมกัน ประเทศที่ควรจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต และ/หรือ เงินบำนาญตกทอด คือ:

  • ประเทศที่ผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ล่าสุด และได้รับเงินบำนาญจากประเทศนั้น
  • หรือ ประเทศที่จ่ายเงินช่วยเหลือทางสังคมให้กับผู้เสียชีวิตเป็นระยะเวลานานที่สุด

ไม่ว่าในกรณีใด

  • ท่านควรยื่นคำร้องต่อหน่วยงานประกันสังคมที่ผู้ตายลงทะเบียนไว้ ในประเทศที่เขา/เธออาศัยอยู่ครั้งล่าสุด

กรณีตัวอย่าง / น้อย กับ จิม (สามีชาวดัตช์) ย้ายจากเนเธอร์แลนด์ย้ายไปอิตาลีเมื่อเกษียณอายุ เมื่อจิมเสียชีวิตในอิตาลี น้อยได้รับแจ้งว่าเธอมีสิทธิขอเงินช่วยเหลือกรณีคู่สมรสชาวดัตช์เสียชีวิต แต่ไม่รู้ว่าจะยื่นเรื่องที่ไหน น้อยติดต่อผู้รู้ และทราบว่าต้องยื่นคำร้องกับหน่วยงานประกันสุขภาพในอิตาลีที่สามีประกันตนไว้ก่อนเสียชีวิต หน่วยงานดังกล่าวจึงส่งต่อใบสมัครของเธอไปยังทางการเนเธอร์แลนด์

สหภาพยุโรปใช้กฎเดียวกันนี้ ไม่ว่าผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้รับเงินบำนาญหรือไม่ ตราบใดที่เขา/เธอจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ (หม้าย) ก็มีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์นี้

ข้อควรจำ

เงื่อนไขการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตหรือกรณีเงินบำนาญตกทอดในแต่ละประเทศในสหภาพยุโรป มี “รายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน” ท่านควรเตรียมพร้อม โดยเช็คกฎระเบียบในประเทศที่ท่านอาศัยอยู่ร่วมกับคู่สมรสก่อน หรือสอบถามคู่สมรสให้เข้าใจ

คำถาม ประกันสุขภาพของฉันในประเทศนี้ให้ความคุ้มครองกับครอบครัวสูงมาก หากฉันเสียชีวิตในต่างประเทศ เป็นอะไรไป ครอบครัวจะยังได้รับเงินช่วยเหลือนี้หรือไม่

คำตอบ ครอบครัวของคุณมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ แม้ว่าคุณจะเสียชีวิตในประเทศอื่นในสหภาพยุโรป ครอบครัวต้องยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือการเสียชีวิตจากสถาบันประกันสุขภาพที่คุณทำประกันไว้ในประเทศที่คุณพำนักอยู่ครั้งสุดท้าย สำนักงานนี้จะส่งต่อคำขอของครอบครัวไปยังหน่วยงานที่เหมาะสม

คำถาม ผมอาศัยอยู่ในอิตาลีและรับเงินบำนาญจากอิตาลีและเดนมาร์ก ทางเดนมาร์กให้เงินช่วยเหลือการเสียชีวิตที่สูงพอสมควร หากผมเป็นอะไรไป ภรรยาของผมจะได้รับเงินช่วยจากเดนมาร์กด้วยหรือไม่

ตอบ ไม่ได้ เพราะคุณอาศัยอยู่ในอิตาลีและได้รับเงินบำนาญของอิตาลี ตามหลักการ ภรรยาของคุณจะมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือการเสียชีวิตจากประเทศที่สามีอาศัยอยู่เท่านั้น แต่เนื่องจากอิตาลีไม่มีเงินช่วยเหลือการเสียชีวิต ภรรยาของคุณจึงจะไม่มีสิทธิ์ใด ๆ ในกรณีนี้

คำถาม ประเทศใดควรจ่ายเงินช่วยเหลือการเสียชีวิต?

คำตอบ การจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตจะจ่ายโดยสถาบันประกันสังคมของประเทศที่ผู้เสียชีวิตได้ทำประกันไว้ ไม่ว่าบุคคลผู้ได้รับสิทธิเงินตกทอดจะอาศัยอยู่ประเทศใดในสหภาพยุโรป

คำถาม สามีฉันเพิ่งเสียชีวิต ฉันมีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญตกทอดหรือไม่ แต่ฉันอาศัยอยู่คนละประเทศกับสามี

คำตอบ โดยทั่วไป กฎเกณฑ์ที่ใช้กับเงินบำนาญตกทอดสำหรับคู่สมรสหรือบุตร จะเหมือนกับกฎเกณฑ์ที่ใช้กับเงินบำนาญผู้พิการและเงินบำนาญผู้ชรา (invalidity and old-age pensions) หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องจ่ายเงินตกทอดให้ผู้มีสิทธิได้รับ ไม่ว่าผู้นั้นจะพำนักอยู่ที่ใดในสหภาพยุโรป