เตรียมพร้อมกับการจากลา แบบคนเยอรมัน
สมัยฉันย้ายมาอยู่เยอรมนีใหม่ๆ ช่วงสุดสัปดาห์หลายครั้ง สามีและฉันจะนั่งรถไฟไปเยี่ยมคุณแม่สามี หลังจากทานข้าวกลางวันเสร็จแล้ว เรามักจะออกไปเดินเล่นกัน
หนึ่งในที่ๆ คุณแม่สามีนิยมเดินไปคือ สุสาน ซึ่งร่มรื่นเขียวขจี เต็มไปด้วยต้นไม้
คุณแม่สามีมักชี้ให้ดูป้ายหลุมศพต่างๆ ที่ทำจากหินอ่อนสารพัดขนาด พร้อมบอกความตั้งใจว่า เมื่อถึงคราวของเธอ ให้ใช้เป็นแบบเสาเหล็กตั้ง มีป้ายชื่อทำด้วยเหล็กแผ่นเล็กๆ ก็พอ เพราะราคาย่อมเยากว่าหินอ่อนมากนัก
ฉันฟังแล้วรู้สึกตกใจไม่น้อย ที่คุณแม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้ราวกับเป็นเรื่องธรรมดา ในขณะที่ฉัน ซึ่งโตมาในวัฒนธรรมไทย รู้สึกไม่สะดวกใจเอาเสียเลย
คุณแม่บอกว่า เรื่องการเตรียมตัวสำหรับวาระสุดท้ายนี้ เธอจำฝังใจมาตั้งแต่เด็ก
เพราะตอนเรียนมัธยมมีเพื่อนถึง ๒ คนที่เสียคุณพ่อคุณแม่ไปกระทันหัน และการจัดการเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ไม่มีการเตรียมการไว้ก่อนนั้น ไม่ง่ายเลย
โศกเศร้าเสียใจกับการจากไปก็แย่พอแล้ว ยังต้องมาวุ่นวายตัดสินใจสารพัดอย่างอีก
………
เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ฉันได้ไปประชุมงานสามัญประจำปีของสมาคมธารา ซึ่งจัดในหัวข้อ “ความรู้คู่บ้าน อุ่นใจ สบายชีวิต”
โดยมีวิทยากรคือ คุณเดียร์ก วาลเตอร์ มีอาชีพเป็นผู้บริหารจัดการพิธีศพ เป็นกิจการของครอบครัวที่สืบทอดกันมาถึง ๔ รุ่นแล้ว โดยเริ่มมาจากคุณปู่ทวด
คุณเดียร์กบอกว่า การเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ง่าย สะดวก และไม่เป็นภาระแก่คนที่อยู่เบื้องหลัง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราสามารถเตรียมไว้ให้พร้อมได้
แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน
๑ เนื้อหาของงาน – เราสามารถลองนึกได้ว่าอยากให้งานของเรานั้นออกมาเป็นอย่างไร (สีดอกไม้ เพลงที่ใช้ ฯลฯ) และตรวจสอบล่วงหน้าได้ว่า มีอะไรที่ขัดกฎหมายหรือไม่
๒ การเงิน – ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของงานนี้ หลายคนเปิดบัญชีสะสมเงินไว้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งดี แต่ต้องแน่ใจว่ามีคนทราบเรื่องนี้ และสามารถนำเงินออกมาใช้ได้เมื่อถึงวันจริง บางคนอาจเลือกทำ “ประกัน” เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาจริง ผู้ที่อยู่เบื้องหลังจะได้มีเงินมาจัดการ
ประกันงานศพก็มีนะ เยอรมนีอ่ะ
๓ ด้านสิทธิ – ใครมีสิทธิดูแลและตัดสินใจที่เกี่ยวกับพิธี ซึ่งแต่ละรัฐก็จะไม่เหมือนกัน แต่โดยมากแล้ว จะจัดเรียงลำดับดังนี้
๑) คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย (สามี/ภรรยา)
๒) ลูก (ซึ่งน้ำหนักเท่ากันระหว่างลูกแท้ๆ กับลูกติด และในบรรดาพี่น้องจะเท่ากันทุกคน)
๓) พ่อแม่
๔) พี่น้อง
หากไม่ประสงค์ให้เรียงลำดับดังกล่าว หรือประสงค์ให้ “เพื่อน” เป็นผู้จัดการ สามารถแจ้งความจำนงด้วยการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สำคัญคือ ต้องเขียนด้วยลายมือตัวเอง เซ็นชื่อ ลงวันที่ และเมือง เป็นอันใช้ได้ ไม่ต้องได้รับการรับรองด้วยทนายก็ได้
……….
เอกสารที่ต้องใช้เพื่อขอมรณบัตร (Sterburkunde)
๑ ใบยืนยันว่าเสียชีวิต (Todesbescheiningung) หากเสียชีวิตที่บ้านจะออกโดยแพทย์ หากเสียที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะเป็นคนออกให้
๒ เอกสารประจำตัว (บัตรประชาชน)
๓ สูติบัตร ต้องเป็นตัวจริงเท่านั้น หากเกิดที่ต่างประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมัน ต้องเอาไปแปลและรับรองให้ถูกต้อง หากสูญหาย ให้กลับไปขอใหม่ที่เขตที่เกิด (ควรเตรียมไว้ล่วงหน้า เพราะบางครั้งการขอเอกสารนี้ ใช้เวลานานหลายเดือน)
๔ ใบทะเบียนสมรส / ใบหย่า
เมื่อได้มรณบัตรมาแล้ว ก็จะสามารถไปทำเรื่องที่เกี่ยวกับบัญชีธนาคาร, ประกันสุขภาพ, เงินเกษียณอายุ ฯลฯ ได้ต่อไป
……….
จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ต้องตัดสินใจและเอกสารที่ต้องใช้มีไม่ใช่น้อย และหลายอย่างสามารถเตรียมล่วงหน้าได้ ความรู้เรื่องดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ เพื่อให้เมื่อถึงเวลาที่การเปลี่ยนแปลงมาถึง ทุกสิ่งจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
คุณเดียร์กเล่าว่า มีลูกค้าหลายท่าน ที่มารับคำปรึกษาและจัดแจงไว้เสร็จแล้วว่า พิธีของตนเองต้องการให้มีอะไรบ้าง จะต้องเชิญใครบ้าง และบางท่านก็จะแวะมาอัพเดตลิสต์นั้นทุกปี มาฆ่ารายชื่อแขกบางท่านทิ้ง เพราะได้จากไปก่อนแล้ว
เป็นเรื่องเศร้า แต่มองอีกมุม ก็ขำเหมือนกันเนาะคะ
………..
หลังจากนั้นมีคำถามหลายอย่างจากผู้ฟัง ที่ฉันพบว่าน่าสนใจมาก เลยเอามาเล่าสู่กันฟัง
*** งานศพที่เยอรมนี ได้ข่าวว่าแพงมาก ต้องมีเงินเตรียมไว้สักเท่าไรดี
คุณเดียร์กบอกว่า แน่นอนว่า งบนั้นไม่มีขีดจำกัด จะจัดใหญ่โตอลังการเท่าไรก็ย่อมได้ แต่ปกติแล้ว งานศพจะอยู่ในราว ๒ – ๔ พันยูโร โดยเฉลี่ยก็อยู่ในราว ๓๐๐๐ ยูโร (ประมาณแสนกว่าบาท)
ฉันถามเพิ่มว่า ที่มันแพง เป็นเพราะการฝังศพใช้ที่มากใช่ไหม
คุณเดียร์กบอกว่า ไม่ใช่ เรื่องพื้นที่และพิธีการนั้น ราคาไม่ต่างกันมาก ไม่ว่าจะฝังหรือเผา
แต่ประเด็นที่ทำให้ราคาต่างกันคือ ค่าแรง
เพราะโกศอัฐิอันเล็กๆ ใช้คนเดียวขุด ชั่วโมงเดียวก็เสร็จ แต่หากฝังทั้งร่าง เป็นโลงศพ ต้องขุดหลุมฝังศพ ต้องมีอย่างน้อยสองคนขุด ต้องมีรถตักดิน
นี่คือตัวการที่ทำให้ราคาสูง เพราะต้องใช้คนมากขึ้น อีกทั้งจำนวนชั่วโมงขุด ก็ต้องมากกว่า
*** เราเอาโกศอัฐิที่มีเถ้าผู้เสียชีวิตกลับเมืองไทยได้ไหม ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ทำได้ค่ะ โดยต้องแจ้งสายการบินให้ทราบเท่านั้น คุณเดียร์กแนะนำว่า ควรจะถือโกศขึ้นเครื่องด้วย เพื่อความปลอดภัย เพราะคงไม่มีใครอยากให้สูญหาย หรือบุบสลายด้วย ปัจจุบันโกศอัฐิขนาดไม่ใหญ่มาก ถือขึ้นเครื่องได้สบายๆ
*** มีสถิติไหมว่า คนเยอรมันนิยมพิธีแบบไหนมากกว่ากัน
จากประสบการณ์ที่ทำต่อเนื่องยาวนาน คุณเดียร์กเล่าว่า คนทางเหนือซึ่งอยู่ใกล้ทะเล จะนิยมทำพิธีที่โปรยอังคารที่ทะเล ยิ่งลงใต้มาเรื่อยๆ คนก็จะนิยมทำพิธีฝังมากขึ้นเท่านั้น
อนึ่ง คุณเดียร์กเล่าด้วยว่า สภาพอากาศดูจะมีผลต่อเรื่องนี้มากพอควร เพราะจากประสบการณ์ ฤดูร้อนจะมีพิธีศพน้อย เหมือนอากาศดี สดชื่น สดใส ผู้คนมีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ ส่วนฤดูหนาวจะมีงานชุกมาก ราวกับว่าอากาศมืด ทะมึน เทา น่าห่อเหี่ยวใจ อยู่ไปก็แค่นั้น จากไปเสียเลยดีกว่า
ฟังเหมือนเรื่องตลก แต่จากแนวโน้มก็เป็นเช่นนี้จริงๆ สภาพอากาศส่งผลต่อจิตใจมากขนาดนั้น
*** มีเทรนด์อะไรที่กำลังมาแรงไหมคะ?
เทรนด์แรกที่กำลังมาแรง คือ การนำโกศอัฐิไปฝังในป่า โดยต้องเป็นป่าที่ได้รับสถานะเป็นสุสานเท่านั้น ไม่ใช่ป่าที่ไหนก็ได้
ตัวเลือกการฝังมีมากมาย เช่น ฝังร่วมกับคนอื่นๆ ใต้ต้นไม้ต้นเดียว หรือจะจองต้นไม้ไว้ แล้วฝังโกศไว้ข้างๆ กับคนที่รักก็ได้ และสมัยนี้มีโกศอัฐิที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ
เรียกว่าคืนสู่สามัญได้แบบหมดจดจริงๆ
อ้อ… ที่เยอรมนีไม่อนุญาตให้นำโกศอัฐิมาฝังเองที่บ้านนะคะ จะฝังในสวนที่บ้านไม่ได้ โกศอัฐิต้องไปอยู่ในสุสานเท่านั้น
ส่วนเรื่องการแบ่งเถ้าบางส่วนเล็กน้อย เพื่อนำมาทำเป็นของที่ระลึกนั้น ตามกฎหมายนั้นยังไม่ได้รับอนุญาต แต่หากจะทำ โดยมากแล้วก็ไม่มีใครห้าม หากนำมาเล็กน้อยค่ะ
………
*** ส่วนอีกเทรนด์ที่กำลังมา คือการนำเถ้าไปอัดเป็นเพชร ซึ่งในเยอรมนีก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ แต่ทำได้ที่สวิสเซอร์แลนด์ค่ะ
คุณเดียร์กบอกว่า โดยปกติแล้ว เถ้าของแต่ละท่านจะอยู่ที่ประมาณ ๓๐๐๐ กรัม การทำเพชรจะต้องใช้เถ้า ๑๐๐ กรัมต่อเพชร ๐.๑ กะรัต และมีค่าทำประมาณ ๑๐๐๐ ยูโร ต้องทำขั้นต่ำ ๐.๔ กะรัต ก็คือเงิน ๔๐๐๐ ยูโร ใช้เวลาประมาณ ๖ สัปดาห์ก็จะได้เพชร
ดังนั้น หากจะใช้เถ้าทั้งหมดทำก็จะได้เพชร ๓ กะรัต แต่คุณเดียร์กเล่าว่า จากประสบการณ์ยังไม่เคยมีใครสั่งทำไซส์ใหญ่ขนาดนั้น โดยมากจะสั่งทำแค่ ๐.๔ กะรัต เพื่อเป็นที่ระลึกจริงๆ เท่านั้น
……….
เป็นการบรรยายในหัวข้อที่เหมือนจะเศร้า แต่ความเป็นจริงแล้วสนุกมาก ฉันได้เรียนรู้หลายอย่างมากว่า ในเรื่องความตาย ก็มีเรื่องที่ควรรู้ ควรเตรียมตัวมากมายเหลือเกิน เพื่อไม่เป็นภาระให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง รู้สึกตัวเองฉลาดขึ้นมากเลยค่ะ
ที่สำคัญ ได้เจริญมรณานุสติ เมื่อความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น เราก็ไม่ควรใช้ชีวิตด้วยความประมาท และมีความสุขกับทุกชั่วขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นะคะ
ขอบคุณสมาคมธารา ที่จัดหัวข้อที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งด้วยค่ะ
//ฉันเขียนสรุปมาจากความเข้าใจ อาจจะไม่ถูกต้องแม่นยำที่สุด หากต้องการเวอร์ชั่นเป๊ะ กรุณากดติดตามเพจ THARA e.V. 2022 ซึ่งจะสรุปข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำมาให้ได้อ่านกันอีกครั้งนะคะ