ช่วงเวลา 20 กว่าปีที่ได้ใช้ชีวิตในต่างแดน ดิฉันได้เจอะเจอคนไทยมากหน้าหลายตา จากหลากหลายอาชีพ ดิฉันรู้สึกชื่นชมและดีใจด้วยทุกครั้งที่เห็นคนไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทหรือแค่คนรู้จัก มีชีวิตที่มีความสุขในต่างแดน เพราะ…. ใครว่าอยู่เมืองนอกสบาย?
ยังมีอีกหลายชีวิตในต่างแดน ที่ดูเหมือนโลกใบนี้จะลืมพวกเธอไปเสียแล้ว ดิฉันกําลังพูดถึงหญิงไทยกลุ่มหนึ่งที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในลอนดอน
คุณรู้จักพวกเธอไหม พวกเธอหลายคนที่อยู่ในความดูแลของเราท้อแท้หมดหวัง เพราะได้รับการทารุณถูกทรมานทั้งร่างกายและจิตใจมาเป็นเวลานาน จนป่วยทางจิต บางรายถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง ครอบครัวทางไทยก็ไม่ทราบว่าลูกถูกหลอกมาค้าประเวณีที่ลอนดอน พ่อแม่ยังเข้าใจว่าลูกสาวไปทํางานที่ร้านเสริมสวยที่เกาหลีเพื่อหาเงินช่วยเหลือครอบครัว
จะกล่าวไป หญิงไทยที่อยู่ในวงการค้าประเวณีที่ลอนดอนทุกคนมาด้วยเหตุผลทางการเงินไม่ว่าจะเต็มใจมาหรือถูกหลอกมา หลายๆ คนมาด้วยความกตัญญู พวกเธอต้องมาทำงานหาเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พ่อแม่ สร้างบ้าน ใช้หนี้นอกระบบที่ครอบครัวของเธอก่อเอาไว้ หญิงไทยหลายคนต้องจําใจทํางานบริการทางเพศเพื่อเงิน เพราะรู้สึกผิดต่อพ่อแม่ และกลัวถูกสังคมไทยตราหน้าว่าเป็นลูกอกตัญญู
ส่วนมากคิดว่ามาลอนดอนแล้ว ได้เงินสักก้อนก็จะกลับไปสร้างตัวที่ไทย แต่ความเป็นจริงคือ จมดิ่งลงไปในวงเวียนของการค้าประเวณี และการใช้ยาเสพติดจนออกมาไม่ได้ และกลายเป็นปัญหาสังคมของที่นี่ต่อไป
ผู้หญิงจำนวนหนึ่งประสบปัญหาถูกหลอกลวง ถูกค้ามนุษย์ ถูกบังคับให้บริการทางเพศ ถูกเอาเปรียบต่าง ๆ นานา ชีวิตเหมือนตกนรก โชคดีที่ “ตอนนี้” รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังมุ่งมั่นให้การช่วยเหลือกับเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นคนต่างชาติอย่างยอดเยี่ยม โดยจัดบริการช่วยเหลือและสังคมสงเคราะห์ดีมากในทุก ๆ ด้าน
ดิฉันเป็นหญิงไทยคนหนึ่งในต่างแดน ที่โชคดีได้มีโอกาสทำงานเพื่อช่วยเหลือพวกเธอ โดยทำงานร่วมกับรัฐบาลอังกฤษเพื่อช่วยเหลือพี่น้องหญิงไทยกลุ่มนี้ในต่างแดน มันเป็นเวทีการทำงานระดับโลกเลยทีเดียว
สภาพแฟลตที่พักของหญิงไทยที่ถูกหลอกมาค้าบริการทางเพศ
ก่อนที่จะมาอยู่ในการดูแลของเรา พวกเธอใช้ชีวิตเหมือนอยู่ตัวคนเดียวในโลก ส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะพูดคุยกับใครเพราะระแวงไปเสียทุกอย่าง ออกมานอกบ้านก็กลัวจะถูกตํารวจจับ หรือไม่ก็กลัวมาเฟียที่หลอกมาตามมาทำร้าย หลาย ๆ คนที่ดิฉันและทีมงานได้ให้ความช่วยเหลือ ไม่มีความหวังในชีวิตหลงเหลืออยู่เลย หลายรายพยายามจะฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก ๆ
ในยุค 4.0 นี้ ดิฉันมั่นใจว่าเราไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพได้เลย หากปราศจากเทคโนโลยีในการสื่อสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แอปพลิเคชั่นนำร่อง หรือเครื่องไม้เครื่องมือดิจิตัลอันทันสมัยต่าง ๆ อีกมากมาย ดิฉันยอมรับว่าบางครั้งเราไม่สามารถจะทํางานได้เลยด้วยซ้ำ หากไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้
ผู้อ่านบางท่านคงคุ้นเคยกับโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Messenger, WhatsApp, Skype, FaceTime, Viber, Line หรือ Instagram เป็นอย่างดี
Applications เหล่านี้มีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อทุกมุมโลกเข้าหากันอย่างง่ายดายแค่ปลายนิ้วสัมผัส จึงมีความสำคัญและมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อการทำงานของเรา เราสามารถใช้เทคโนโลยียุค 4.0 เหล่านี้ ในการเป็นช่องทางติดต่อ การเข้าถึง การแจ้งข่าว และการพูดคุยให้กำลังใจหญิงไทยที่เป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ให้มีความหวังในการดำเนินชีวิตต่อไป ไปจนถึงการประชุมระดมความคิด ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐบาล เพื่อวางแผนทำการช่วยเหลือนำตัวพวกเธอออกมาจากซ่องที่พวกเธอถูกกักขังมานานเป็นแรมปี
ปีที่แล้วดิฉันและทีมงานได้เข้าร่วมประชุมที่ The Palace of Westminster ณ กรุงลอนดอน ในโครงการรณรงค์ระดับชาติที่ชื่อว่า Free for good หรือ UK campaign for the Modern Slavery (Victim Support) Bill จุดมุ่งหมายหลักของโครงการ คือ ต้องการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อให้รองรับความต้องการที่แท้จริงของเหยื่อจากการค้ามนุษย์ในสหราชอาณาจักรให้ดีขึ้น เช่นเดียวกัน โครงการนี้จะประสบความสําเร็จไปไม่ได้เลย หากเราไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter และ Instagram เป็นตัวหลักในการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีเหล่านี้ เพิ่มศักยภาพในการทํางานของเราได้อย่างคาดไม่ถึงจริง ๆ (freeforgood.org.uk)
ดิฉันจําได้ดีว่า ครั้งหนึ่งหญิงไทยที่อยู่ในการดูแลของเราหายตัวไปอย่างลึกลับ ทีมงานทุกคนตกใจมากเพราะเธอกําลังเป็นโรคซึมเศร้าขั้นร้ายแรง ติดยาเสพติด และกําลังอยู่ในช่วงจิตตก เธอเคยพยายามจะฆ่าตัวตายมาแล้วครั้งหนึ่ง ลอนดอนเป็นเมืองใหญ่มาก ๆ อาจจะมีขนาดความใหญ่เทียบเท่ากรุงเทพมหานคร พวกเราจะไปหาเธอได้จากที่ไหน
Photo by rawpixel.com from Pexels
ข่าวดีคือภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ตํารวจก็สามารถตามหาตัวเธอจนพบและนําเธอส่งโรงพยาบาล โดยเช็คตำแหน่งการใช้โทรศัพท์มือถือของเธอนั่นเอง ต้องขอบคุณแอปพลิเคชั่นนำร่องที่ทำให้เราหาตัวเธอจนพบก่อนที่จะสายเกินไป
ใครว่าอยู่เมืองนอกสบาย? ดิฉันเชื่อว่ามีคนไทยมากมายที่ใช้ชีวิตในต่างแดน แล้วก็มีชีวิตที่ดี มีครอบครัว มีอาชีพที่ดีมั่นคง มีชีวิตที่มีความสุข จนอาจจะมองไม่เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติที่เดินสวนกันบนท้องถนนด้วยซ้ำ
ดังนั้น ดิฉันจึงอยากขอฝากบทความสั้น ๆ ชิ้นนี้ ไว้เป็นอุทาหรณ์และข้อเตือนใจ ให้แก่พวกเราในต่างแดนช่วยกันสอดส่องและเห็นประโยชน์ของโลกดิจิตัลในการช่วยผู้ประสบเคราะห์ รวมทั้งผู้อ่านในเมืองไทยที่อาจกําลังคิดที่จะไปใช้ชีวิตหรือไปทำงานที่ต่างประเทศว่า อยู่เมืองนอกไม่ใช่สบาย และท่านควรเตรียมพร้อมด้วยการรู้เท่าทันโลก และด้วยการศึกษาช่องทางขอความช่วยเหลือในต่างแดนไว้ เพราะเราไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะต้องเจออะไรบ้าง
โลกดิจิตัลยุค 4.0 เชื่อมเราเข้าหากัน เชื่อมผู้เดือดร้อนกับผู้ช่วยเหลือ เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ ดังนั้น ขอให้พวกเราช่วยกันใช้เครื่องมือนี้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานผู้รับผิดชอบในประเทศไทย
- รณรงค์ด้านศีลธรรมและให้ความรู้เพิ่มเติม (ทางออก หน้าที่ ความรับผิดชอบ) เพื่อให้พ่อแม่ที่ยังไม่ตระหนักหยุดค่านิยมการรวยทางลัดโดยบังคับ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ให้ลูกสาวแต่งงานกับฝรั่ง
- รณรงค์ให้พ่อแม่ที่ยังไม่ตระหนัก หยุดใช้แนวคิดของความกตัญญูมาบังคับผลักดัน (ทั้งทางตรง และทางอ้อม) ให้ลูกสาวออกมาทํางานในอุตสาหกรรมทางเพศ (sex industry) เพราะเห็นว่าเป็นการหาเงินง่าย ๆ เพื่อมาเงินมาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวที่เสพสุขจากหยาดเหงื่อและน้ำตาของพวกเธอ
สุดท้าย ดิฉันอยากให้เพื่อนหญิงไทยคิดให้รอบคอบถ้วนถี่ก่อนที่จะตัดสินใจไปทำงานต่างแดนแบบไม่มีหลักประกัน หญิงไทยหลายต่อหลายคนที่อยู่ในการดูแลของเราก็ไม่เคยคิดว่าจะตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ พวกเธอคิดเพียงแค่ว่าจะมาทํางานเมืองนอกแค่ห้าหกเดือน เก็บเงินได้ก้อนหนึ่งก็จะกลับไปสร้างเนื้อสร้างตัวที่เมืองไทย สำหรับพวกเธอหลาย ๆ คน….วันนั้นก็ไม่เคยมาถึง
ด้วยความปรารถนาดีจาก
หญิงไท