รักข้ามวัฒนธรรม

จะแต่งงานกับฝรั่ง คิดดีแล้วหรือ
ที่จริงคำถามนี้ เขาเลิกถามกันมานานแล้ว ถือว่าเชยมากๆ แต่หากเรามาทวนกันสักนิดก็จะดีว่า การแต่งงานกับคนต่างชาตินั้น ทำเราต้องเสียสละอะไรไปบ้าง ถ้าไม่นับความเชื่อที่ว่า การได้สามีฝรั่งคือการมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเก่า

การแต่งงานกับคนต่างชาติย่อมหมายความว่า เราจะต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศเป็นการถาวร และเราจะได้ไม่ได้เห็นหน้าครอบครัวบ้านเกิดของเราบ่อยเท่าที่เราต้องการ

ก่อนที่คิดจะแต่งงานกับฝรั่ง ว่าที่มาดามทั้งหลายลองมาอ่านตรงนี้ดูก่อนนะ บางทีมันจะช่วยให้เราคิดได้รอบคอบขึ้น มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกหรือผิดที่เรารักกับคนต่างชาติข้ามวัฒนธรรมและอยากแต่งงานกับเขา เพราะนั่นเป็นชีวิตของเราที่เราต้องตัดสินใจเอาเอง แต่ผู้รู้(ฝรั่ง)เขาว่าไว้ว่า ก่อนจะสร้างบ้านสักหลัง เราคงต้องคำนวณค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้างก่อนใช่ไหม ก็เหมือนกับการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมนั่นแหละ ที่เราจะต้องรู้ว่าจะต้องใช้ต้นทุนอะไรบ้าง

  • การแต่งงานกับคนต่างชาติย่อมหมายความว่า เราจะต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศเป็นการถาวร (ส่วนใหญ่) ซึ่งหมายความว่า เราจะได้ไม่ได้เห็นหน้าครอบครัวในบ้านเกิดของเราบ่อยเท่าที่เราอยากเห็น และเด็กๆที่ต้องย้ายไปอยู่ต่างแดนก็จะได้คุ้นเคยกับปู่ย่ามากกว่าตายาย
  • การแต่งงานกับคนต่างชาติย่อมหมายความว่า เราจะลำบากที่จะเข้าใจอารมณ์ขันแบบของประเทศเขาด้วย และฝ่ายจะต้องคอยมาอธิบาย เช่น รายการทีวี เกมเด็กเล่น การ์ตูน
  • การแต่งงานกับคนต่างชาติย่อมหมายความว่า โอกาสที่เราจะได้ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเรา หรืองานฉลองประจำชาติก็น้อยลงไปด้วย – การแต่งงานกับคนต่างชาติย่อมหมายความว่า ลูกที่จะเกิดมา หรือลูกที่ติดเรามา จะต้องละทิ้งวัฒนธรรมไทยไปรับเอาวัฒนธรรมของประเทศใหม่หรือเปล่า
  • การแต่งงานกับคนต่างชาติอาจหมายความว่า เราต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศอย่างถาวร เผชิญกับดินฟ้าอากาศที่ไม่เหมือนกัน อาหารการกินที่ไม่คุ้นเคย ผู้คนที่ไม่ยิ้มแย้มเหมือนเมืองไทย งานที่หายาก ภาษาที่ไม่เข้าใจ ฯลฯ
  • การแต่งงานกับคนต่างชาติอาจหมายความว่า คุณจะต้องทิ้งหัวโขนที่คุณเคยมีอยู่เมืองไทย ไม่ว่าจะมีหน้าที่การงานใหญ่โตแค่ไหน บ่อยครั้ง คุณต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ หรือการศึกษาที่คุณมีติดตัวมาไม่ได้มาตรฐานของประเทศเขา
  • การแต่งงานกับคนต่างชาติผิวขาวหรือผิวดำอาจหมายความว่า คุณต้องเผชิญกับการดูถูกด้านสีผิว เช่น คนบ้านเขามองว่าเราเป็นคนผิวเหลือง คนบ้านเราเรียกสามีผิวดำของคุณว่า นิโกร

แต่…หญิงไทยใจแกร่งพร้อมลุยเสมอ
นับแต่การตั้งฐานทัพอเมริกันในประเทศไทยเป็นต้นมา จนจีไอย้ายกลับประเทศพร้อมเมียไทยก็ไม่น้อย หญิงไทยใจแกร่งที่ฝ่าฟันอุปสรรคความรักข้ามวัฒนธรรมดังกล่าวข้างต้นก็ลุยไปข้างหน้ารุ่นแล้ว รุ่นเล่า หมู่บ้านแล้ว หมู่บ้านเล่า เมืองแล้ว เมืองเล่า ไปทั่วทุกถิ่นแดนในโลก แม้ไม่มีสถิติของหญิงไทยในต่างแดนที่ชัดเจน แต่กระทรวงต่างประเทศระบุว่า มีคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศปัจจุบันนี้ประมาณ ๑.๕ ล้านคน และมีคนไทยเดินทางไปต่างประเทศปีละ ๕ ล้านคน

หญิงไทยเมียฝรั่งถือเป็นผู้นำรายได้เข้าประเทศอย่างมากมาย ไม่ว่าจะด้วยการส่งเงินกลับมาเลี้ยงดูครอบครัว นำเงินออมกลับมา เพิ่มรายได้ภาคการท่องเที่ยว นำเงินมาซื้อที่ดิน ก่อสร้างบ้าน พาสามีกลับมาอยู่เมืองไทยในวัยเกษียณ

ในจำนวนนี้ เราไม่สามารถแยกกรองหญิงไทยที่ไปแต่งงานกับฝรั่งและย้ายไปอยู่เมืองนอก กับหญิงไทยที่ไปท่องเที่ยวเยี่ยมแฟนฝรั่งเพื่อหาลู่ทางที่จะแต่งงานกันในที่สุด แต่ตัวเลขทำให้เราเห็นว่า คนไทยเริ่มเป็นนักท่องโลกมากขึ้น และหญิงไทยเมียฝรั่งถือเป็นผู้นำรายได้เข้าประเทศอย่างมากมาย ไม่ว่าจะด้วยการส่งเงินกลับมาเลี้ยงดูครอบครัว นำเงินออมกลับมา เพิ่มรายได้ภาคการท่องเที่ยว นำเงินมาซื้อที่ดิน ก่อสร้างบ้าน พาสามีกลับมาอยู่เมืองไทยในวัยเกษียณ เป็นต้น หญิงไทยจำนวนหนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิตแต่งงานและการปรับตัวข้ามวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างให้รุ่นน้องได้มากมาย หญิงไทยอีกส่วนหนึ่งล้มเหลวเหมือนนกปีกหัก แต่นกเหล่านี้ก็พร้อมจะเหินฟ้าข้ามพรมแดนอีกครั้ง เพียงขอให้มีโอกาส สรุป คือ การแต่งงานของหญิงไทยกับชายฝรั่งกลายเป็นเรื่องปกติในยุคนี้ จนไม่มีใครถามแล้วว่า “จะแต่งงานกับฝรั่งคิดดีแล้วหรือ” มีแต่จะถามว่า “หาแฟนฝรั่งได้ที่ไหน ช่วยหาให้คนสิ”

ความรักข้ามวัฒนธรรมไม่ง่ายเสมอไป
เรามามองมุมของเมียไทยและสามีฝรั่งในด้านความรักข้ามวัฒนธรรมกันหน่อยเป็นไร
นักทฤษฎีกล่าวไว้ว่า ความสัมพันธ์ฉันคู่ผัวตัวเมียหรือคนรักนั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องข้ามเส้นแบ่งทางประเพณีขนบธรรมเนียมอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ แม้แต่คนชาติเดียวก็อาจมาจากครอบครัวที่มีแนวปฏิบัติต่างกัน เช่น คนจีนกับคนไทย หรือคนภาคกลางกับคนภาคอีสาน แล้วก็ต้องมาสร้างครอบครัวใหม่ สำหรับคู่ชีวิตจำนวนมาก การปรับตัวมักจะค่อยเป็นค่อยไปอย่างธรรมชาติตามระยะเวลาที่อยู่ด้วยกัน แต่บางคู่ โดยเฉพาะคู่ของเมียไทยและสามีฝรั่ง ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ ที่ทั้งสองฝ่ายต้องพบความยากลำบากในการปรับตัวทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในวิธีการมองชีวิตของแต่ละฝ่าย

ปัญหารักข้ามวัฒนธรรมที่คู่สมรสเผชิญอยู่อย่าง คือ การรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์ของตน ความขัดแย้งเพราะความเชื่อที่แตกต่าง และการถกเถียงกันเรื่องเลี้ยงลูก

ความผูกพันที่คู่ชีวิตคนหนึ่งมีต่อวัฒนธรรมและประเพณีของตนเองนั้น อาจทำให้เขาหรือเธอเข้าใจอีกฝ่ายได้ยากขึ้น เช่น หญิงไทยต้องส่งเสียครอบครัวพ่อแม่ ฝรั่งไม่มีธรรมเนียมเช่นนั้น หรือหากเป็นคู่ครองที่มีความนับถือทางศาสนาต่างกันแบบที่อีกฝ่ายต้องเข้ารีตของอีกฝ่ายเท่านั้นจึงจะแต่งงานได้ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความหนักใจให้กับคนทั้งคู่ได้อย่างมาก และอาจเป็นสิ่งบั่นทอนความรักที่มีต่อกันได้ เช่น สามีไม่ต้องการเปลี่ยนศาสนาตามภรรยา หรือภรรยาต้องปฏิบัติกิจทางศาสนาที่สามีไม่เห็นด้วย

ปัญหารักข้ามวัฒนธรรมที่คู่สมรสเผชิญอยู่อย่างอื่นๆ ก็ได้แก่ แรกสุดก็คือ การรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์ของตน ไปอยู่เมืองนอกแล้วกลายเป็นมาดามในสายตาคนไทย แต่เป็นกะเหรี่ยงในสายตาของฝรั่ง อย่างต่อมาก็เรื่องความขัดแย้งเพราะความเชื่อที่แตกต่าง เช่น ฝ่ายชายไม่อยากเข้าวัดไทย ฝ่ายหญิงอยากทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านแต่ฝ่ายชายไม่เห็นด้วย เรื่องที่สามก็เป็นการถกเถียงกันเรื่องเลี้ยงลูก หญิงไทยก็จะเลี้ยงลูกโอ๋แบบคนไทย ฝรั่งเลี้ยงให้เด็กช่วยตัวเอง เรื่องต่อไปก็การที่ครอบครัวของแต่ละฝ่ายไม่สนับสนุน เช่น พ่อแม่ฝ่ายสามีไม่ชอบคนไทย หรือพ่อแม่คนไทยไม่อยากให้ลูกไปอยู่เมืองนอก จนไปถึงเรื่องการตีความเหตุการณ์เดียวกันคนละแบบเนื่องจากความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน เช่น เมียไทยถามอายุเพื่อนผู้หญิงของสามีเพราะจะได้รู้ว่าเป็นรุ่นพี่หรือเป็นรุ่นน้อง กลายเป็นความไม่สุภาพ เพราะฝรั่งไม่ถามอายุ และไม่นับพี่นับน้อง

ในเรื่องต่างๆเหล่านี้ คู่สมรสอาจต้องถอยหลังออกมาคนละก้าว ไม่เถียงเอาเป็นเอาตายว่าฝ่ายใดถูก เพื่อจะได้มองอีกฝ่ายอย่างชัดเจนขึ้นในฐานะบุคคลที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน การรับฟังซึ่งกันและกันอย่างเป็นกลาง เช่น เมื่อสามีตำหนิในสิ่งที่ทำไม่ถูกก็อย่าเพิ่งไปคิดว่าสามีหมดรัก การรับฟังจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ๆ และอาจทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคที่ขัดขวางอยู่ได้

อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมคืออะไร (What is cultural identity?)
วัฒนธรรมไม่ใช่แค่สิ่งที่เรามองเห็นเท่านั้น มันไม่ใช่แค่อาหารประจำชาติ เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ พระเจ้าที่เราบูชา หรือสถานที่ที่เราอยู่ ส่วนใหญ่วัฒนธรรมเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราทำ พูด คิด เชื่อ และ บ่อยครั้ง “รู้สึก” ที่ถูกหล่อหลอมจากวัยเด็กโดยการซึมซับเอาจากโลกรอบๆตัว · ความคิดว่าเราจะต้องปฏิบัติตัวเช่นไร เช่น เมื่อเจอผู้ที่อาวุโสกว่า เราไหว้ ฝรั่งเขาเฉยๆ

  • ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง เช่น เป็นพี่สาวคนโตที่รับผิดชอบครอบครัว หรือการมีงานทำที่ดี มีการศึกษาสูง ทำงานเป็นหัวหน้า
  • ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี อะไรถูกอะไรผิด ซึ่งได้มาจากพื้นฐานทางศาสนา
  • แรงบันดาลใจและความสนใจ เช่น คนไทยมีในหลวงเป็นพ่อของแผ่นดิน ทำดีเพื่อในหลวง แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องการเมือง ชอบตื่นข่าว เชื่อก่อนตั้งคำถาม ฝรั่งทำตามระบอบของรัฐและกฎเกณฑ์ของสังคม สนใจการเมือง ไม่หลงเชื่อสื่อง่ายๆ ตั้งคำถามก่อนเชื่อ
  • คุณค่า – ความสำคัญของสิ่งต่างๆในชีวิต (เช่น ครอบครัว เงิน เสรีภาพ)
  • ความเข้าใจว่าเรามีที่หยัดยืนในสังคม
  • ความคิดเกี่ยวกับการเกิด การมีชีวิต และการตาย เช่น คนไทยเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม แต่บางทีก็งมงายเชื่อในไสยศาสตร์ภูติผีปีศาจ ฝรั่งเชื่อในเรื่องวิทยาศาสตร์

ปัญหาของความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม
คู่สมรสต่างชาติมักต้องเผชิญกับอุปสรรคในชีวิตคู่หลายประการ เช่น

  • ต้องยอมรับความแตกต่างทางศาสนา (ต้องไปร่วมพิธีในโบสถ์กับสามีทั้งที่ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ ส่วนสามีไม่เคยยอมเข้าวัดด้วย สามีไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยชอบทำบุญชอบถวายอาหารมากมายให้พระ)
  • ต้องสูญเสียความเป็นตัวเอง (กติกามารยาทสังคมในเมืองนอกยุ่งยากกว่าเมืองไทย ทำตัวตามสบายไม่ได้ ไปเมืองไทยถูกเห็นว่าเป็นเมียฝรั่ง เจอแต่คนจ้องเอาเปรียบ)
  • ต้องถกเถียงเรื่องเล็กๆน้อยๆทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ความสะอาด มาตรฐาน พิธีกรรม (สามีฝรั่งไม่อยากให้ไปวัด ไม่ให้ตั้งพระพุทธรูปในบ้าน มองว่าปลาร้าเป็นของสกปรก)
  • ความเห็นที่ไม่ตรงกันต่อความหมายของคำว่า ความรัก ครอบครัว และความสัมพันธ์ (รักฉันก็ต้องรักครอบครัวฉันที่เมืองไทยด้วย ต้องช่วยส่งเสีย)
  • วิธีแก้ไขความขัดแย้งที่ต่างกัน (หญิงไทยโกรธแล้วงอนเงียบไม่พูด มีปัญหาแล้วไม่พูดตรงๆแต่เอาไปนินทากับคนอื่น ฝรั่งโกรธแล้วโวยวาย ชอบพูดตรงๆ)
  • ครอบครัวที่ไม่สนับสนุน (เพราะเหตุทางศาสนา เพราะอคติต่อหญิงไทย)
  • ลูกๆที่เติบโตในประเทศหนึ่ง ย่อมไม่รู้จักญาติในอีกประเทศหนึ่ง ก่อให้เกิดช่องว่าง (ลูกหลานคุยโดยตรงกับตาและยายไม่ได้ หรือไม่รู้ธรรมเนียมไทยๆเวลากลับบ้าน)
  • คู่สมรสฝ่ายที่เป็นต่างชาติอาจถูกมองอย่างมีอคติ (เช่น หญิงไทยต้องทำงานบาร์ หญิงไทยแต่งงานกับฝรั่งเพื่อเงิน)

ความเห็นแย้งเกี่ยวกับสไตล์การใช้ชีวิต (Lifestyle disagreements)
ความขัดแย้งในไลฟสไตล์นี้คือการถกเถียงในเรื่องต่างๆประจำวัน ความไม่ลงรอยนี้อาจจะทำให้เกิดความขุ่นเคืองเพราะฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าวัฒนธรรมของตัวเองถูกปฏิเสธหรือถูกท้าทาย เมื่ออีกฝ่ายไม่ยอมทำตามขนมธรรมประเพณีที่ตนเองเชื่อ ตัวอย่างเช่น

ปัญหาของหญิงไทยก็อาจเป็นเรื่องของเงินที่ต้องส่งเสียครอบครัวและบุตรหลานทางเมืองไทยที่สามีฝรั่งอาจจะไม่เข้าใจ

  • การกินและการดื่ม – เป็นเรื่องใหญ่ที่หญิงไทยต้องปรับตัวเมื่อไปอยู่เมืองนอก ข้อดีคืออาหารไทยได้รับการยอมรับไปทั่วโลก หาเครื่องปรุงง่าย สามีส่วนใหญ่ชอบอาหารไทย แต่ในบ้านฝรั่งที่ปิดทึบ บางครั้งการทำอาหารไทยกลิ่นแรงก็กลายเป็นเรื่องทะเลาะกันได้ หรือเพื่อนบ้านไม่ชอบ หรือฝรั่งดื่มมากกว่าคนไทย เพราะเป็นวัฒนธรรมของเขา ฝรั่งส่วนใหญ่ดื่มแล้วไม่เมา เก็บอาการได้ หญิงไทยจากที่ไม่เคยดื่ม ไปอยู่เมืองนอกอาจจะต้องดื่มมากขึ้น
  • เสื้อผ้า – บางที ฝ่ายหนึ่งต้องเปลี่ยนการแต่งตัวเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมของอีกฝ่าย หญิงไทยไม่คุ้นเคยกับอากาศหนาว ไปถึงปีแรกๆยังแต่งตัวให้อบอุ่นไม่เป็น เมืองไทยใส่เสื้อผ้าสีสดใส เมืองนอกใส่เสื้อผ้าสีทึมทึบ
  • การจัดสรรงานในบ้าน – เรื่องนี้สามีฝรั่งโชคดีที่สุดในสามโลก เพราะแต่งงานกับหญิงไทยแล้วสบาย ฝ่ายหญิงมักรับเหมาทำงานในบ้านทั้งหมด รวมทั้งเลี้ยงลูก เผลอๆทำงานนอกบ้านหาเงินเข้าบ้านด้วย
  • เงิน – เงินๆทองๆของหายาก ถ้าสองฝ่ายคิดไม่เหมือนกันในเรื่องวิธีจัดการกับเงิน การให้คุณค่ากับเงิน และ วิธีการใช้จ่าย ปัญหาของหญิงไทยก็อาจเป็นเรื่องของเงินที่ต้องส่งเสียครอบครัวและบุตรหลานทางเมืองไทยที่สามีฝรั่งอาจจะไม่เข้าใจ
  • คู่ครองควรดูว่าอะไรคือแรงผลักดันเบื้องหลัง บ่อยครั้งปัญหานั้นหยั่งลึกมากกว่าที่มองเห็น เช่น ความกตัญญูทำให้ภรรยาต้องการทำงานหนัก เพราะต้องการส่งเงินไปเมืองไทย แต่สามีอยากให้เอามาแบ่งค่าใช้จ่ายในบ้าน เพราะไม่เข้าใจเรื่องการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ เรื่องแบบนี้ คู่สมรสควรเปิดใจคุยกันตั้งแต่แรก อุปสรรคต่างๆที่เกี่ยวกับความรักข้ามวัฒนธรรมนั้นล้วนแล้วแต่ต้องการการสื่อสารที่ชัดเจนในชีวิตประจำวัน ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี

ความแตกต่างทางศาสนา
ส่วนใหญ่ของหญิงไทยกับสามีฝรั่งแล้ว ศาสนาต่างกันแน่นอน หากหญิงไทยเป็นชาวพุทธก็มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการปรับตัวให้กลมกลืนกับศาสนาของสามี เพราะศาสนาพุทธเปิดกว้าง อย่างไรก็ดี หากสามีไม่ได้ศรัทธาศาสนาพุทธและไม่อยากให้ภรรยาปฏิบัติตามศาสนาของตน สิ่งนี้จะก่อปัญหาได้ หรือมาดามจะยอมเป็นฝ่ายสละความเชื่อและพิธีกรรมของตัวเองบางอย่าง หรือทำให้เบาลง เพื่อให้สามีมีความสุข มาดามจะใช้เวลาเรียนรู้เรื่องศาสนาของอีกฝ่ายหรือไม่ หรืออาจจะไปสุเหร่า ไปโบสถ์ หรือไปวัดด้วยกัน เป็นบางครั้ง

ประเด็นทางศาสนาที่ไม่ควรมองข้าม

  • ความเชื่อที่ไปด้วยกันไม่ได้ – คนสองคนอาจรักกันมากด้วยเหตุผลอื่นๆ แต่ทั้งคู่อาจจะไม่เห็นด้วยในเรื่องคุณค่าพื้นฐานต่างๆเวลาที่ขัดแย้งกันขึ้นมา เช่น ฝรั่งเชื่อว่ามีพระเจ้า พระเจ้าเป็นผู้กำหนด แต่เราไม่เชื่อ เราเชื่อว่ากรรมเป็นผู้กำหนด
  • ครอบครัวที่ไม่ส่งเสริม – ในบางวัฒนธรรม การดำรงไว้ซึ่งศาสนาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด ด้วยกระแสโลกาภิวัติและการผสมกลมกลืนของวัฒนธรรมรอบโลก ทำให้เป็นการยากที่จะรักษาประเพณีทางศาสนาไว้ได้ เช่น บางศาสนายังมีเรื่องการคลุมถุงชน แต่คนหนุ่มสาวไม่มีความสุขกับวิธีการเช่นนี้ และหลายคนก็ไปรักคนนอกศาสนา สิ่งนี้อาจทำให้เกิดปัญหาครอบครัวที่ใหญ่หลวง และเจ้าตัวจะต้องถูกบังคับให้เลือกระหว่างครอบครัวหรือคนที่ตนรัก
  • การเลี้ยงดูบุตร – เมื่อคนสองคนมีศาสนาที่ต่างกัน ทั้งคู่ต้องหาวิธีประนีประนอมเรื่องการนับถือศาสนาของลูกๆ พวกเขาจะสอนลูกๆเกี่ยวกับทั้งสองศาสนา และให้เด็กเลือกว่าจะนับถือศาสนาไหนเมื่อโตขึ้น หรือว่าพวกเขาจะเลือกศาสนาให้ลูกๆเอง
  • ความรู้สึกผิด – ความเชื่อที่ฝังหัวเรามาตั้งแต่เกิดจะไม่เลือนหายไปง่ายๆ แม้ว่าชีวิตของมาดามจะเปลี่ยนไปจนต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น แต่หลักการทางศาสนาที่เราได้รับติดตัวมาจะยังคงอยู่กับเรา ความรู้สึกผิดจะเกาะกินใจคุณที่ยอมให้ความเชื่อทางศาสนาของตัวเองต้องเบี่ยงเบนไป ความแตกต่างทางศาสนานั้นพรากรักมาแล้วไม่รู้กี่คู่ต่อกี่คู่ ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะอยู่และยอมรับความแตกต่างนี้จึงสำคัญอย่างยิ่งยวด

ความแตกต่างทางศาสนาไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ฉันท์คู่ครองต้องจบลงเสมอไป การมีความคิดเห็นที่แตกต่างต่อการมองโลกบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุขภาพและเป็นประสบการณ์ที่จรรโลงใจได้ เราควรมองย้อนไปที่บทบาททางศาสนาของตัวเองในบริบทของครอบครัว บทบาทไหนที่มีผลกระทบต่อกิจกรรมประจำวัน การสนทนาเป็นอย่างไร ความรู้สึกที่มีต่อกันและกัน และตรงจุดไหนที่ศาสนาเริ่มมีส่วนสร้างความเปราะบางต่อชีวิตคู่ คุณอาจต้องมองย้อนไปว่าตั้งแต่เริ่มรักกันนั้น บทบาททางศาสนาเข้ามามีส่วนในตอนต้นมากน้อยแค่ไหน ศาสนาของคุณไม่จำเป็นต้องทำให้อัตลักษณ์ของคุณดูแย่ และเป็นไปได้ว่าคุณจะยอมรับความเชื่อของอีกฝ่ายโดยไม่จำเป็นเป็นต้องละทิ้งความเชื่อของคุณเอง จริงๆแล้ว ความแตกต่างก็ทำให้ชีวิตมีรสชาติ และตราบเท่าที่แต่ละฝ่ายยังเคารพการตัดสินใจของกันและกัน ความเชื่อทางศาสนาที่ไม่เหมือนกันก็ไม่ควรจะมาขัดขวางความสุขของคุณได้

อุปสรรคด้านภาษา
เรื่องนี้เหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ เมื่อมีกูเกิ้ลช่วยแปลเวลาหนุ่มสาวจีบกัน และเมื่อตกร่องปล่องชิ้น จะแต่งงานกัน ประเทศในยุโรปหลายประเทศก็กำหนดให้คู่หมั้นต้องสอบภาษาของประเทศสามีอย่างน้อยในระดับที่อ่านออกเขียนได้เสียก่อน จึงจะได้วีซ่าแต่งงาน ถือว่าเป็นตัวช่วยให้ฝ่ายหญิงส่วนหนึ่ง
แม้ว่าภาษาคือส่วนสำคัญยิ่งในการสื่อสาร แต่การสื่อสารโดยไม่ใช้ภาษานั้นก็สำคัญพอกัน ไม่ว่าจะเป็นการมองตากัน การยักไหล่ การขมวดคิ้ว การมองเมิน การเคลื่อนไหวแต่ละอย่างล้วนบ่งบอกสิ่งที่อยู่ในใจคุณได้ แม้ว่าการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมจะเริ่มด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเข้าใจกันได้เต็มที แต่ปกติ ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นคนที่จะต้องพูดภาษาของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้ว่าภาษาอาจจะไม่จำเป็นเวลาสองฝ่ายสื่อสารด้วยโรแมนซ์หวานจ๋อย แต่เมื่ออยู่กันไปนานๆ จะพบว่า การพูดภาษาด้วยกันไม่ได้นั้นจะสร้างปัญหาให้มากมาย

ภาษาเป็นกุญแจของการสอน การสั่ง และการแสดงออก หากว่ามาดามไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้อง ย่อมทำให้เกิดการตีความผิด และนำมาซึ่งข้อขัดแย้งได้

อารมณ์ขัน – อารมณ์ขันส่วนใหญ่ใช้คำพูด มาดามจะรู้สึกอย่างไรที่ฟังโจ๊กของสามีไม่รู้เรื่อง หรือสามีก็ฟังของเราไม่รู้เรื่อง แล้วยังต้องมาเสียเวลาอธิบายโจ๊กให้กันและกันฟัง
ความเข้าใจผิด – ภาษาเป็นกุญแจของการสอน การสั่ง และการแสดงออก หากว่ามาดามไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้อง ย่อมทำให้เกิดการตีความผิด และนำมาซึ่งข้อขัดแย้งได้
ความอึดอัดขัดข้อง – เมื่อเรารู้สึกต่อใครสักคนหนึ่ง เราก็อยากที่จะใกล้ชิดกับเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อยากพูดคุยเปิดใจ อยากเคลียร์ความไม่เข้าใจต่างๆ แต่การไม่สามารถพูดภาษาเดียวกัน ย่อมเป็นเครื่องกั้นขวางคุณสองคน แล้วยิ่งเวลาผ่านไปก็จะทำให้อึดอัดเป็นเท่าทวีคูณ
ความแปลกแยก – เมื่อเวลาที่เราต้องไปพบกับเพื่อนๆและครอบครัวของอีกฝ่าย เราคงจะแทบประสาทรับประทาน เพราะเราไม่สามารถพูดภาษาของเขาได้ เมื่อพูดไม่ได้ ความอึดอัดใจก็จะทวีเป็นสิบเท่า จะทำให้อย่างไรให้ฝ่ายครอบครัวสามีรู้ว่า เราเป็นสะใภ้ที่คู่ควรกับลูกชายของเขา แม้ว่าเขาจะไม่เข้าใจคุณก็ตาม ยิ่งเวลาเขาพูดจากันภาษาอื่น เรายิ่งรู้สึกเหมือนกับเขาพูดเรื่องเรา แม้ว่าความจริงจะไม่ใช่เช่นนั้น แน่นอนว่าการที่เราไม่สามารถร่วมวงสนทนากับครอบครัว ย่อมทำให้เรารู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยวไปด้วย

วิธีจัดการกับปัญหาด้านภาษา
คู่สามีภรรยาจะต้องพยายามเคลียร์ความเข้าใจผิดต่างๆ และเปิดใจถึงความอึดอัดที่ได้รับจากความรู้สึกแปลกแยก คู่สมรสจะต้องระวังเรื่องความเข้าใจผิดในการสื่อสารให้มาก และให้โอกาสแก่กันและกันเสมอ

พยายาม พยายาม และพยายาม – แม้ว่าสามีฝรั่งของคุณอาจจะอาศัยอยู่ในเมืองไทย แต่ถ้าคุณใช้เวลาเรียนรู้ภาษาของเขา ก็จะแสดงให้เห็นว่าคุณต้องการเป็นส่วนหนึ่งในโลกของเขา เช่นเดียวกับที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของโลกของคุณ
สร้างช่องทางสื่อสารที่ใช้ได้ผล – พยายามหาวิธีสื่อสารที่จะหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเวลาและสถานที่นัดหมาย เช่น การเขียน การวาดรูป การชี้ในปฏิทิน
เตรียมพร้อมสำหรับกิจกรรมทางสังคม – ในกรณีเมียไทยอยู่เมืองนอก สามีฝรั่งอาจขอร้องให้เพื่อนๆและสมาชิกครอบครัวที่พอจะพูดภาษาอังกฤษได้พยายามพูดกับเมียไทยบ้าง (ในกรณีใช้ภาษาอังกฤษ) หรือหากภรรยาได้เข้าเรียนภาษาแล้ว (เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส นอรวีเจี้ยน) ก็ขอให้ญาติๆพูดช้าๆ ชัดๆ โดยไม่ใช้คำยากๆ พอที่ฝ่ายภรรยาจะเข้าใจได้บ้าง บางทีสิ่งที่ดีที่สุดคือ ภรรยาอาสาเข้าไปช่วยงานในครัว หรือไปเล่นกับเด็กๆ
อดทน อดทน และอดทน – การเรียนภาษาใหม่เป็นสิ่งที่ใช้เวลาและการฝึกฝนอย่างยาวนาน ผู้เรียนจำเป็นต้องมีความอดทนและความเข้าใจ คุณจำเป็นต้องหาวิธีที่เป็นเอกลักษณ์ในการสื่อสารกับคู่ของตัวเอง การเรียนภาษาใหม่จนกว่าจะพูดได้คล่องนั้นใช้เวลา ๒-๓ ปี และกว่าจะอ่านจะเขียนได้เหมือนนักศึกษาก็ใช้เวลาถึง ๗-๘ ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดทางภาษาของภรรยาด้วย

การสูญเสียอัตลักษณ์ (Loss of identity) ถ้าคุณย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เปลี่ยนศาสนา หรือต้องเสียสละวัฒนธรรมของตน เพื่อเปลี่ยนไปเข้ากลุ่มวัฒนธรรมของสามี คุณอาจจะรู้สึกตัวเองไม่ใช่คนที่เคยเป็นต่อไป เมื่อคุณทำตัวกลมกลืนกับวัฒนธรรมใหม่ คุณจะต้องทิ้งนิสัยความเคยชินบางอย่างไป ในไม่ช้า คุณจะรู้สึกว่านิสัยเล็กๆน้อยๆเหล่านั้นสำหรับสำหรับคุณมากแค่ไหน และมันมีผลกระทบกับความเป็นตัวของตัวเองของคุณอย่างไรบ้าง คุณอาจตั้งคำถามว่า

  • ฉันคือใคร
  • ฉันเป็นส่วนหนึ่งของที่ไหน
  • ฉันเหมาะสมกับที่นี่หรือเปล่า
  • ฉันมีภาระต้องรักษาวัฒนธรรมเดิมที่ติดตัวฉันมาหรือไม่

มันเป็นไปได้ที่คุณจะคงขนบประเพณีบางอย่างของคณไว้ โดยรับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆเข้ามาในชีวิตพร้อมๆกัน คุณอาจจะต้องครุ่นคิดดูว่า อะไรที่ทำให้คุณเป็น “คุณ” เพราะท้ายที่สุดแล้ว คุณก็คือบุคคลคนหนึ่ง และวัฒนธรรมที่คุณเติบโตมาก็ทำให้คุณเป็นคนเช่นที่คุณเป็น วัฒนธรรมนั้นไม่ได้เป็นเจ้าของคุณ แต่มันเป็นสิ่งที่หล่อหลอมความเป็นคุณ และอำนาจควบคุมอยู่ในมือของคุณเอง

ข้อแนะนำสำหรับความรักข้ามวัฒนธรรมและภาษา 
ทุกคนต่างรู้ว่าไม่มีหลักสูตรตายตัวสำหรับความรักข้ามพรมแดน ความสัมพันธ์ของคนคู่หนึ่งจะต่างกันไป และเทคนิคที่คู่หนึ่งใช้ได้ดี อาจใช้ไม่ได้ผลกับคู่อื่นๆ ความท้าทายใดก็ตามที่คุณต้องเผชิญในเส้นทางร่วมชีวิตของคุณ ความยุ่งยากซับซ้อนใดๆที่เกิดจากความแตกต่างของคุณสองคน มันทำให้คุณต้องตระหนักเสมอว่า คุณมาร่วมชีวิตกันด้วยเหตุผลสำคัญอะไรเป็นอันดับแรก เหตุผลนั้นอาจจะเลอะเลือนไป เบี่ยงเบนไป หรือถูกลืมในบางครั้ง แต่เหตุผลนั้นจะไม่มีวันหายไปไหน นั้นคือ “คุณต้องการสร้างครอบครัวร่วมกัน” ต่อไปนี้คือข้อแนะนำสำหรับการเอาชนะความท้าทายของรักข้ามพรมแดน

  1. เข้าอกเข้าใจ เคารพ และ ประนีประนอม อย่าคาดหวังว่าคุณจะปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ได้อย่างราบรื่นไร้รอยขรุขระ แม้ว่าสามีคุณอาจจะเลือกอยู่เมืองไทย และคุณเป็นเจ้าของประเทศ คุณก็ยังต้องมองชีวิตคู่ว่าเป็นการผสานกันของสองวัฒนธรรม ไม่ใช่ฝ่ายที่ย้ายมาจากที่อื่นต้องเป็นฝ่ายปรับตัวเข้าหาฝ่ายคุณ ขอให้เคารพความแตกต่างไว้เสมอ เรียนรู้สิ่งที่ต่าง และดูว่าคุณจะร่วมประนีประนอมได้อย่างไร เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีความสุข การครองคู่ควรจพเป็นเรื่องของการหาสมดุลที่สะดวกใจต่อทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่พยายามมากพอ รอยร้าวก็จะเริ่มขึ้นได้
  2. เข้าถึงวัฒนธรรรมของแต่ละฝ่ายโดยทางตรง ไปเยี่ยมประเทศของแต่ละฝ่าย เรียนรู้ภาษาของอีกฝ่ายหนึ่ง (แม้ว่าภาษาที่ใช้ทุกวันจะเป็นภาษาไทย หรือภาษากลาง เช่น ภาษาอังกฤษ) และอ่านศึกษาเกี่ยวกับศาสนาและประวัติศาสต์ทางวัฒนธรรม ถ้าคุณไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ แล้วคุณมาใช้ชีวิตร่วมกับเขาทำไม ขอให้ใช้ความพยายามที่จะเข้าใจและลองใช้ชีวิตในแบบของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจว่าประสบการณ์จะเป็นเช่นไร อย่างน้อยก็แสดงว่า คุณแคร์ และคุณต้องการรู้จักเขาให้มากขึ้น
  3. สอนลูกๆให้เข้าใจทั้งสองวัฒนธรรม ประเด็นเรื่องการเลี้ยงลูกเป็นเรื่องใหญ่ในความรักข้ามวัฒนธรรม พ่อแม่ที่มีพื้นฐานต่างกันจะร่วมสร้างอัตลักษณ์ที่เข้มแข็งให้กับลูกๆได้อย่างไร แทนที่จะเห็นว่าวัฒนธรรมของคุณหรือของคู่ครองแบ่งแยกเป็นสอง ขอให้คุณมองชีวิตคู่ว่าเป็นเรื่องของความเป็นหนึ่งเดียว สอนเด็กๆให้เข้าใจวัฒนธรรมทั้งสองด้าน แต่เน้นว่าเราอยู่ร่วมกันอย่างไร และนำเอาสิ่งที่ดีจากทั้งสองวัฒนธรรมม้า การเลี้ยงลูกควรจะใช้ทั้งสองภาษาเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก ว่า พ่อหรือแม่พูดภาษาใดภาษาหนึ่งกับลูกไม่ได้
  4. คิดทางบวกเกี่ยวกับความแตกต่างของคุณทั้งคู่ การได้เห็นชีวิตในหลายๆแง่มุมถือเป็นประสบการณ์ที่ม่า คุณทั้งสองจะได้เรียนรู้จากกันและกันมากมาย ขอให้มองความ “ไม่เหมือน” นี้เป็นสิ่งดีที่ช่วยทำให้ชีวิตคู่ของคุณแกร่งขึ้น แทนที่จะมองว่าเป็นอุปสรรค

กลยุทธ์ในการแก้ไขความขัดแย้งในกรณีคู่สมรสต่างวัฒนธรรม
นักวิจัยชาวอเมริกันพบว่าคู่แต่งงานข้ามวัฒนาธรรมมักมีการพัฒนาเทคนิคการเอาชนะความขัดแย้งขึ้นมาหลายแบบ แบบที่พบเห็นได้บ่อยก็คือ

  • อารมณ์ขัน – ยาขนานเอกของปัญหาในครัวเรือน อารมณ์ขันทำให้คนสองคนเปิดใจกัน และมองปัญหาในมุมที่สุดชื่นึ้น เช่น แซววิธีใช้ภาษาอังกฤษของอีกฝ่าย หรือมารยาทบนโต๊ะอาหารที่ดูแปลกๆ คุณสามารถนำเสนอความแตกต่างของอีกฝ่ายในวิธีที่ทำให้คุณเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ ตราบเท่าที่คุณรู้ว่าจะทำตลกเรื่องอะไร ได้มากแค่ไหน โดยไม่ทำให้อีกฝ่ายเสียหน้าหรือเสียใจ แต่กรณีนี้อาจจะยากสำหรับเมียไทย-สามีฝรั่งที่ยังใช้ภาษาสื่อสารกันได้ไม่มากพอ
  • การปรับตัวฝ่ายเดียว – โดยทั่วไปหญิงไทยมักจะย้ายไปต่างประเทศกับสามี จึงเป็นฝ่ายต้องเรียนภาษา ปรับตัวเข้ากับขนบธรรมเนียม และทัศนคติของอีกฝ่าย เพื่อให้การครองคู่ไปกันรอด แม้ในกรณีสามีฝรั่งเลือกอยู่ประเทศไทย ฝ่ายหญิงไทยก็ยังต้องปรับตัวอะไรหลายอย่าง เช่น ทำอาหารฝรั่ง เข้าสังคมฝรั่งตามสามี
  • การหลอมกลืนเรื่องคุณค่าและความคาดหวัง – หาจุดร่วมในด้านความเชื่อและคุณค่าในวัฒนธรรมของแต่ละฝ่าย เป็นตัวกลางสร้างสุขได้ วัฒนธรรมส่วนใหญ่ยากนักที่จะไม่สอดคล้องกันในทางใดทางหนึ่ง เช่น ในทุกวัฒนธรรมต่างต้องการให้มนุษย์เราอยูร่วมกันอย่างมีสันติภาพ เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามและจรรโลงใจ ดำรงไว้ซึ่งศาสนาประจำชาติ ฯลฯ สิ่งที่เราต้องการคือการเรียนรู้ให้เข้าใจ ความเข้าใจ และการประนีประนอม ท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน
  • ชื่นชมวัฒนธรรมที่หลากหลาย – คู่สมรสข้ามชาติภาษาที่มีชอบเดินทางท่องเที่ยว เรียนรู้ประเทศใหม่ๆ เมืองใหม่ๆ มักจะอยู่ด้วยกันได้อย่างปรองดองกว่าคู่ที่ไม่นิยมไปไหนเลย การมีความสนใจร่วมกันเรื่องมนุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ การค้นพบ หมายถึงความสัมพันธ์ที่มีพลวัตรของความอยากรู้อยากเห็น – คู่ครองแต่ละฝ่ายก็ย่อมยินดีที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆของอีกฝ่าย ซึ่งทำให้ชีวิตคู่ราบรื่น และเป็นโลกทัศน์ของทั้งสองฝ่ายไปพร้อมกัน

ถามใจคุณดูเสมอว่า

  • ทำไมคุณสองคนจึงมาพบและรักกันได้ในตอนแรก
  • ชีวิตคู่ของคุณมีสิ่งใดที่ดีและเป็นทางบวกบ้าง
  • ความแตกต่างของคุณสองคนมีผลกระทบอะไรต่อชีวิตคู่
  • คุณจะสร้างสมดุลระหว่างวัฒนธรรมความเชื่อของคุณกับของสามีหรือภรรยาของคุณอย่งไร คุณจะหาจุดสมดุลได้ตรงไหน
  • คุณมองภาพอนาคตอย่างไร
  • คุณต้องการอะไรจากชีวิตคู่นี้
  • คุณค่า-ความเชื่ออะไรที่คุณต้องการให้ตกทอดไปสู่ลูกๆของคุณ
  • คุณยังคงความเป็นไทยไว้ได้ไม่ว่าจะอยู่เขตแดนประเทศไหนหรือไม่

จากบทความ Cross cultural relationships (15th February, 2016) ใน http://www.counselling-directory.org.uk/counsellor-articles/cross-cultural-relationships และ https://marriagemissions.com/thinking-of-marrying-someone-from-another-culture