โดย ผู้ก้าวข้าม
Photo credit: CHANWITY
พอดี ฉันมีเพื่อนโซเชียลที่กำลังรักษาตัวจากโรคซึมเศร้าขั้นหนักหน่วง เธอเล่าถึงความเจ็บป่วยและการต่อสู้บนเส้นทางเยียวยาอย่างไม่ปิดบัง และข้อเขียนของเธอเต็มไปด้วยความจริงใจ กล้าหาญ เป็นธรรมชาติ เต็มไปด้วยศักดิ์ศรี
และแน่นอนเธอสร้างกำลังใจให้ผู้อ่านมากมาย
และเพื่อนท่านนี้ชักชวนพวกเราว่า ใครเคยมีประสบการณ์รักษาด้วยวิธีจิตบำบัดอย่างไร มาลองแลกเปลี่ยนกัน
สิ่งที่เธอเขียน ทำให้เกิดปฏิกิริยา Me, too! กับฉัน
เพราะฉันเป็นอีกคนที่กำลังผ่านกระบวนการเยียวยาจิตใจ และเชื่อว่าได้ก้าวข้ามด่านสำคัญๆไปแล้วหลายด่าน
ฉันเนี่ยนะ คนที่ปกติมีความสุขจนล้นสีหน้า ยิ้มหวานตาเป็นประกายจากหัวใจ แถมยังประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ใช่น้อยๆ จะมีความทุกข์ที่ปลดล็อคด้วยตัวเองไม่ได้
เรื่องที่เราไม่อยากบอกใคร วันหนึ่งมันก็มาถึงจุดที่เราไม่อายที่จะเล่า เพราะใจของเราเลิกรู้สึกด้อย และพบการเคารพตัวเอง
แฟลชแบ็ค…
กรณีป่วยของฉัน คือ อาการวิตกจริต/วิตกกังวลอย่างรุนแรง (Severe Anxiety) ภาวะซึมเศร้าไร้ความรื่นรมย์ในชีวิต (Depression) ที่เกิดจากปมค้างใจในวัยเด็ก (Childhood trauma) และนิสัยมุ่งความสมบูรณ์แบบอย่างไม่ผ่อนปรนกับตัวเอง (Perfectionism Complex)
เกริ่นนำนิดนึงว่า ฉันเป็นผู้หญิงนักทำงานในระดับแถวหน้า ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานค่อนข้างดี เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และหน่วยงานที่ทำงานด้วยให้การยอมรับ งานที่ทำต้องใช้ภาษาและความละเอียดในการจัดการ ต้องบริหารข้อมูลจากฝ่ายอื่นๆ และต้องทำงานตามเดดไลน์เสมอ
สัญญาณเบื้องต้นของโรคซึมเศร้าเริ่มขึ้นเมื่อเป็นคนทำงานอายุยังน้อยแต่ความรับผิดชอบสูงมาก ต้องทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายบริหาร ฉันทำงานหนักสารพัด แต่ก็ไม่รู้สึกโอเคกับตัวเอง เครียด กดดัน สงสัยในคุณค่า
ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แต่ก็กล้าที่จะไปบอกนายฝรั่งว่าฉันรู้สึกป่วยอธิบายไม่ได้ นายฝรั่งเชื่อในแนว Cognitive behavioral therapy ก็ใจดี อนุญาตให้ไปพบนักจิตปรึกษาฝรั่งคนหนึ่งไม่ไกลจากสำนักงาน
ฉันไปพบเขาได้สี่ห้าครั้ง เป็นการคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเอง พบว่าได้ผลจริง ฉันเริ่มมั่นใจกับตัวเอง มีความสุขกับชีวิตเพิ่มขึ้น ได้ กลับไปทำงานตามปกติ
แต่แน่นอนว่า เรายังไม่รักษาแบบถอนรากถอนโคน วัยที่ยังน้อยทำให้ฉันทำงานหนักต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีเพื่อน มีปัญหา มีความสนุก ความหัวเสีย ความงี่เง่า ปนๆกันไป การงานก็เติบโตก้าวหน้า แล้วก็ไปสู่การทำงานระดับชาติ แต่เป็นโครงการระดับนานาชาติ มีเจ้าของทุนเป็นประเทศในยุโรป
ต้องเดินทางจากเหนือจรดใต้ไปถึงอีสาน แล้วก็ไปประชุมต่างประเทศ ทำงานกับคนหลากหลายชาติ ฟอร์มงานมันใหญ่กว่าความรู้สึกต่อตัวเอง ฉันเหมือนมดตัวน้อยๆที่กำลังเดินบนเส้นทางของช้าง
งานของฉันต้องเดินทางบ่อย ๆ เจอปัญหาที่แก้ไม่ตกหลายอย่าง ก็ใช้ความมุมานะและความรู้ที่เรียนมาแก้ไขไปเรื่อยๆ ถูกบ้างผิดบ้าง แต่ระบบที่ดีก็สอนให้เราเป็นระเบียบไปเรื่อยๆ
ความกดดันจากงานทำให้อาการปวดหัวไมเกรนเริ่มเป็นโรคประจำตัว และเริ่มมีอาการดิ่งที่ไม่รู้ว่าเป็นโรคเครียด
พอไปหาหมอ หมอคงดูอาการออก บอกว่าเครียด แต่ไม่ได้ระบุโรค ให้ยาชุดหนึ่งที่กินแล้วง่วงชนิดที่สัปหงกกลางที่ประชุม ตาลืมไม่ขึ้น นอนเท่าไรก็ไม่พอ กินยานี่อยู่ไม่กี่วันก็เลิก เพราะไม่ไหว ทำงานไม่ได้เลย
ทำงานนี้ได้ปีเดียวก็พบกับฮับบี้ในงาน ตกหลุมรัก ชีวิตรื่นรมย์กับความรัก แต่ขรุขระกับการปรับตัวข้ามภาษาและวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันแม่เริ่มป่วย พี่สาวเป็นคนดูแล ฉันเป็นคนหาเงินเลี้ยง ตัวฉันเองก็เข้าๆออกๆรพ ทั้งโรคภูมิแพ้ ทั้งโรคเครียด
ฉันต้องเจอกับก้าวสำคัญในชีวิตหลายๆอย่างพร้อมกัน ความรัก การงาน การแต่งงาน การย้ายถิ่น การเรียนภาษาต่างชาติอย่างจริงจัง การย้ายไปทำงานต่างประเทศ การปรับตัวกับอากาศ อาหาร วัฒนธรรมประเทศ วัฒนธรรมองค์กร วิถีคิด การสร้างเพื่อน ฯลฯ
โห มันยากสำหรับฉันมากๆ ต้องพยายามทำทุกอย่างให้เป็นให้เร็วที่สุด งานประจำก็ยังหาไม่ได้ ตัวตนภายในก็ไม่ได้ค้นพบ
สิ่งที่ดีของความอายุน้อยคือ เราสู้ได้ทุกอย่าง แต่สิ่งที่เสียของอายุที่น้อย วุฒิภาวะก็น้อยลงไปด้วย เจออุปสรรคแล้วสรุปบทเรียนไม่ค่อยได้ ก็แก้ไขแบบถูๆไถๆ เอาตัวเข้าแลก เอาเวลาเข้าแลก หลอกตัวเองว่าเราโอเค ทำงานหนัก แต่ไม่ได้ทำงานสมาร์ต เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
งานเหล่านั้นกัดกินฉันจนเกิดภาวะที่เรียกว่า จิตสลาย หรือ burn-out ชั่วคราว
ความที่อยากทำงานดีเลิศไม่ให้บกพร่อง แลกด้วยการหมกหมุ่น นอนน้อย ทำงานทั้งกลางวันกลางคืน ไม่รู้จักเซย์โน ทำอะไรหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน พยายามให้ทุกฝ่ายพอใจ สมาธิแตกกระจาย
ฉันก็เหมือนอึ่งอ่างตัวหนึ่งที่พยายามจะขยายให้ตัวใหญ่พอกับภาชนะที่ตัวเองติดอยู่ แน่นอนว่าอึ่งไม่ชนะ มีแต่จะตัวแตกตาย
ก่อนย้ายไปเมืองนอก แม่ที่เป็นเหมือนไอดอลในชีวิตของฉันเริ่มป่วยด้วยโรคทางสมอง สูญเสียความสามารถทางร่างกายไปเรื่อยๆ ฉันอ่อนเดียงสาต่อโรคสมองเสื่อมจริงๆ สมัยนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักมาก เราก็รักษาตามที่หมอสั่ง มองเห็นแม่ร่วงโรยไปเรื่อยๆ
แต่ฉันทำงาน ฉันมีความรัก ฉันมีคู่ครอง ฉันแบ่งใจเกินครึ่งไปให้เรื่องเหล่านี้ ปล่อยให้การดูแลรักษาแม่เป็นของพี่สาว และฉันกับพี่น้องช่วยอุดหนุนเรื่องเงิน พี่สาวดูแลแม่จนท่านเสียชีวิตตอนที่ฉันเพิ่งย้ายไปเมืองนอกเต็มตัว แม้ฉันจะโล่งใจที่แม่พ้นทุกข์ แต่ความรู้สึกผิดกัดกินใจเสมอมา
ลำดับชีวิต
ภาวะว้าวุ่นต่างๆในใจและสภาพอารมณ์ที่ประสบ ฉันนึกว่าเป็นการปรับตัวของคู่สมรสข้ามวัฒนธรรมตามปกติ แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นความกดดันที่ไม่เคยได้ระบายออก คือสัญญาณเริ่มต้นของสภาพจิตที่เริ่มเฉออกจากสมดุล
- ฉันย้ายไปสวิตเซอร์แลนด์ปี 2001 เราซื้อบ้านทันที ย้ายเข้าบ้านใหม่ เหน็ดเหนื่อย
- แม่เสียชีวิตหลังจากฉันย้ายไปต่างประเทศได้ครึ่งปี แม่ป่วยติดเตียงมาราว 3 ปี ฉันรู้สึกเป็นลูกอกตัญญู
- ฉันเรียนภาษาฝรั่งเศสแบบนักเรียนเต็มเวลาราว 2 ปี และเรียนสลับการทำงานสะสมลำดับความถนัดด้านภาษาเรื่อยๆอีก 5 ปี รวมเรียนไป 7 ปี จนได้ประกาศนียบัตรความถนัดทางภาษาจากสหประชาชาติมา 1 ใบ หืดขึ้นคอ
- ฉันทำงานรายจ๊อบสั้นๆตรงนั้นตรงนี้อยู่ 7 ปีเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นสัญญา 3 เดือนต่อหนึ่งครั้ง แล้วเว้นระยะหกเดือนตามระเบียบองค์กร เป็นงานด้านแรงงานเด็กและการทำโครงการทางสังคมที่ถนัด เป็นงานสั้น ๆ ที่ยูเอ็นพอมีค่าขนม แต่เกิดความสงสัยตัวเองมากว่าจะมีวันได้งานดีๆไหม อายุก็มากขึ้นทุกปี
- ฉันลงเรียนด้าน International Development Studies ภาคภาษาฝรั่งเศสแบบต้องใช้ verb-to-เดา บวกเปิดดิก เรียนหนึ่งปีจบได้ประกาศนียบัตร และวิทยานิพนธ์เรื่องกลไกการค้าน้ำตาลของสวิตเซอร์แลนด์ (ที่ขอเขียนเป็นภาษาอังกฤษแทนภาษาฝรั่งเศส) ได้รับการตีพิมพ์ลง Journal ของสถาบัน การเรียนเครียดมากๆถึงเครียดที่สุด เพราะเราไม่เข้าใจกระบวนการแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนแบบฝรั่ง พูดเสรีแบบไม่ต้องกลัวผิด เราคนไทยก็จะเงียบๆไม่พูดอะไร ตามเขาไม่ทัน แต่เราไปเด่นเอาตอนเขียนรายงานเท่านั้นเอง เรียนจบมาแบบคะแนนไม่ขี้ริ้ว
- เรียนเกือบจบก็ได้งานทำเต็มเวลา ปี 2008 อายุ 47 ปีพอดี เป็นการได้งานโดยต้องสอบสัมภาษณ์สำรวจทัศนคติและความชำนาญในการทำงาน พอดีมันเป็นงานประสานกับผู้ให้ทุนและทำรายงานส่ง ซึ่งเป็นงานที่ฉันฝึกฝนมาตลอด ฉันตอบสัมภาษณ์ด้วยความรื่นเริงมั่นใจ เรียกว่าทำได้ดีที่สุดในชีวิต ยังจดจำความรู้สึกได้เสมอ
- งานนี้เป็นงานประจำชิ้นสุดท้ายในชีวิต งานหนักมาก รายละเอียดจุกจิก ความตึงเครียดจึงสูง ฉันไม่รู้ว่างานนี้เหมาะกับฉันเพราะมันกึ่งจะน่าเบื่อเป็นงานแอดมินงานเอกสารเสียเยอะ หรือฉันเหมาะกับงานนี้เพราะทำงานแบบเป็ด รู้หลายๆอย่างตั้งแต่ออกแบบโครงการ การเงิน การตรวจบัญชี การทำสถิติ การเจรจา การประสานงาน การตอบคำถามไม้จิ้มฟันยันเรือรบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตรวจคำผิดระหว่างบรรทัด จัดรูปเล่มรายงาน ออกแบบคู่มือ ฯลฯ ฉันทำอยู่ 5 ปีครึ่ง
- ระหว่างทำงานปีแรก ก็เขียนวิทยานิพนธ์ประกาศนียบัตรใบที่สองเรื่องเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ไปด้วย ใช้ชีวิตแบบซอมบี้ ทำงานถึงหกโมงเย็น ค้นคว้าทำวิทยานิพนธ์ถึงสี่ทุ่มครึ่ง เป็นเดือนๆ
- ชีวิตทำงานได้เดินทางไปมิชชั่นหลายประเทศ ไปวอชิงตันสองครั้ง ไปอินเดีย กัมพูชา จอร์แดน เลบานอน
- ที่บ้านก็เป็นครัวไทยต้อนรับชาวโลกบ่อยๆ กลับจากที่ทำงานก็คว้าผ้ากันเปื้อนมารังสรรอาหารจานอร่อย สร้างความประทับใจให้อาคันตุกะหลากหลายชาติที่มาประชุมผู้เชี่ยวชาญ ฉันอาจจะเฉิดฉายในห้องครัว ยิ้มสยามสร้างความประทับใจ แต่ใจมันเครียดเกร็งทุกครั้งที่รับแขก กลัวจะทำไม่ทัน กลัวไม่อร่อย กลัวไปสารพัด น้อยครั้งมากที่จะทำด้วยใจผ่อนคลาย
- การสั่งสมความกลัวตาย – สามีฉันขับรถเร็วน่ากลัวมากในสายตาคนไทย แต่สำหรับเขานั่นคือการขับรถอย่างชำนาญ ฉันเพิ่งสารภาพกับเขาไปเร็วๆนี้ว่า ห้าปีแรกที่ไออยู่กับยู ไอขี้ขึ้นสมองทุกครั้งที่ยูขับรถ และนั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพจิตของไอเรรวนไปด้วยก็ได้ เมื่อมีการสั่งสมความกลัวตายที่หาทางออกไม่ได้อยู่เป็นระยะเวลานาน ที่ฉันมาพูดกับเขาได้ในไม่กี่วันมานี้ ก็เพราะฉันรู้สึกว่าใจฉันเข้มแข็งและก้าวข้ามความกลัวนั้นมานานแล้ว
กลับมาที่การป่วย ฉันเริ่มออกอาการอย่างรุนแรงปลายปี 2009 หลังจากเดินทางกลับจากมิชชั่นที่ต่างประเทศ คือรู้สึกเหี่ยวเป็นผักเฉา หมดแรงจะลุกไปทำงาน โลกหม่น ไม่มีกำลังใจอะไรเหลือ ทำอะไรไม่ได้ แม้แต่จะลุกมาทานยา จิตใจก็ว่างเปล่ามีแต่ความหม่นหมอง ต้องนอนอยู่กับที่วันละนานๆ แต่นอนก็ไม่ค่อยหลับ คิดฟุ้งซ่านไปหมดจนเหน็ดเหนื่อย
นั่นคือร่างกายและจิตใจปฏิเสธไม่ให้ฉันย่ำยีตัวเองอย่างที่ทำเสมอมา
วันแรกที่กลับมาจากต่างประเทศ ฉันอาการไม่ดี เลยตัดสินใจไปหาหมอ ตั้งใจจะขอใบลาป่วยสักวันสองวัน หมอก็คงมองออกว่าอาการหนัก เลยเอาแบบสอบถามมาถามโน่นนี่นั่น แล้วก็สรุปว่ายูเป็นโรคซึมเศร้าขั้นปานกลางถึงรุนแรง ไอต้องสั่งให้ยูพักงานสองอาทิตย์ ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ความจริงมาปะทะว่าฉันยกฐานะเป็นนักโทษของโรคซึมเศร้าแล้วหรือนี่
การรักษาตัว
ฉันเริ่มต้นรักษาด้วยยา และการลาป่วยเป็นเดือน ตามด้วยการพบจิตแพทย์ สมัยนั้นอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีตัวเลือกหมอที่ดีๆเลย เพราะหมอส่วนใหญ่รับเคสยากๆและภาษาฝรั่งเศส กว่าฉันจะสรรหาหมอที่พูดภาษาอังกฤษได้ ก็ใช้เวลา แล้วก็ยังไม่โดนใจอีก เพราะเราก็ไม่รู้ว่าจะแสดงออกอย่างไร จะบอกอะไร รู้สึกแค่ว่าไม่ได้คุยกันลึกซึ้ง ไปเจอกันสัก 10 ครั้งก็หยุดเจอ ชีวิตไม่ได้ดีขึ้น
มีช่วงลาป่วยตามใบสั่งหมอ ที่ฉันรู้สึกค่อยยังชั่ว ก็แอบเปิดดูอีเมลที่ทำงาน เท่านั้นก็ตัวก็สั่นไปหมด คลื่นไส้จนต้องหยุด สมองและจิตใจปฏิเสธการประมวลข้อมูลเช่นนั้นอย่างรุนแรง ฉันประหลาดใจตัวเองมากว่าเป็นเอาถึงขั้นนั้น
ชีวิตช่วงสิบปีแรกของการป่วยมีแต่เรื่องกินยา กินยา และกินยา ช่วยได้บ้าง ช่วยไม่ได้บ้าง เปลี่ยนหมอก็เปลี่ยนยา
ฉันได้ใช้เวลากับการศึกษาธรรมะและปฏิบัติภาวนานั่งสมาธิ พบว่าช่วยให้คุณภาพจิตใจดีขึ้น ทำให้ตกผลึกได้หลายอย่าง จิตใจมีที่ยึดเหนี่ยวที่เชื่อถือได้ มีการพิเคราะห์อารมณ์ของตัวเองได้อย่างตื้นๆ
และได้พัฒนาความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของมนุษย์คนหนึ่ง และความมีหิริโอตัปปะอาจเหมือนแสงสว่างที่ช่วยให้ฉันไม่จมดิ่งลึกลงไปจนเป็นอันตรายแก่ตัวเองก็ได้ แม้จะมีความทุกข์ที่อธิบายไม่ได้ ความรู้สึกไม่พอใจในชีวิต เกาะกินจิตใจอยู่เสมอ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ฉันก็ประคองตัวเองได้เสมอมา อยู่ในสังคมได้เกือบปกติ ทำงานได้ ทำกิจกรรมได้ มีพลังชีวิตล้นเหลือ สามารถยิ้มได้เสมอ มีผลงานดีๆ ให้ตัวเองภูมิใจ เป็นคู่ชีวิตที่เข้มแข็งขึ้น
มันอาจเป็นเลือดนักสู้หรือการไม่รู้จักปฏิเสธคนอื่นก็ได้ ที่ทำให้ฉันบ้าพลัง อยากทำอะไรมากมายไปหมด บางอย่างก็ทำเสร็จ บางอย่างก็ทำทิ้งไว้ครึ่งๆกลางๆ … จิตใจยังค้นหาทางออกมิรู้วายว่า วันไหนเราจะหายดีเสียดี
ฉันอยู่สวิตเซอร์แลนด์ได้ 11 ปี ก็ย้ายไปเลบานอน 2 ปี เป็นช่วงที่ปรับตัวกับชีวิตในประเทศใหม่ ยังหลงทางกับตัวเองเหมือนเดิมแต่ดูจะเบาลง เพราะสายลมแสงแดดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอาหารการกินที่ใกล้เคียงเมืองไทยทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดีจิตแพทย์ที่นั่นก็ไม่ได้รักษาฉันอย่างเอาจริงเอาจังอย่างไร เปลี่ยนยาหลายอย่าง จนฉันออกจากงานเร็วกว่าอายุเกษียณมาก และย้ายไปเยอรมนีพร้อมสามีในที่สุด
ตัดสินใจออกจากงาน
ฉันทำงานที่หนักที่สุดในชีวิตได้ห้าปีครึ่ง ก็ออกจากงานอย่างถาวร เรียกว่าเออร์ลี่รีไทร์พร้อมกับสามี ถ้าให้ฉันทำงานต่อก็คงทำได้ และก็คงมีความก้าวหน้าในการงานตามสมควร เพราะมีเวลาเหลือถึง 10 ปี
แต่ ณ จุดนั้น ฉันรู้ดีว่าตัวเองไม่สามารถทำงานเต็มเวลา ในขณะที่ต้องดูแลสามีที่โสหุ้ยสูงในขณะเดียวกัน ฉันไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะทำอะไรกับชีวิตหลังหยุดงาน แต่ปล่อยให้ชีวิตกำหนดเอง
เราย้ายบ้าน ซื้อบ้าน สร้างบ้าน เดินทางไปๆมาๆสองประเทศ ยุโรปกับไทย ขายบ้านอีก ซื้อบ้านอีก ย้ายอีก ปรับตัวกับชีวิตสองแบบสามแบบ ทำงานจิตอาสา เดินทางท่องเที่ยว เยี่ยมเพื่อนเยี่ยมญาติ สร้างกลุ่มเพื่อนใหม่
และข้างในฉัน มันยังแทรกด้วยการไม่เห็นคุณค่าของตนเอง (Self-worth หรือ Self-esteem) การไม่กล้าพูด “ไม่” ฉันมีความไฮเปอร์เกินพอดี เวลารู้สึกดีก็ดีสุดล้นพลัง แต่เวลารู้สึกแย่ก็ผัดวันประกันพรุ่งไม่อยากทำอะไรเลย รู้สึกตระหนกขวัญเสียง่าย
ฉันตีความหมายของอาการตัวเองไม่ออก
ฉันนอนกอดความรู้สึกเช่นนี้ เฝ้าแต่ต่อว่าตัวเอง ตัดสินตัวเอง ลงโทษตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร คนที่ได้หางเลขไปเต็มๆก็คือสามีนั่นเอง
ขอให้เชื่อเถอะว่า ไม่มีใครมองฉันออกว่ากำลังเผชิญกับอะไร เพราะฉันยังร่าเริงมีชีวิตชีวา ใครชวนไปทำอะไรก็ไป จนเมื่อฉันบอกเพื่อนๆหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี เพื่อนแปลกใจมาก
ไม่ว่ายุคนั้นหรือยุคนี้ คำว่าโรคซึมเศร้ามันต้องมากับใบหน้าอมทุกข์ คนถึงจะเชื่อว่าป่วยจริง
แล้วยุคนั้น โรคซึมเศร้ายังไม่กระหน่ำเวทีโซเชียลเท่าสมัยนี้ ความไม่เข้าใจและคำพูดสามัญของคนรอบข้างยังสามารถผลักผู้ป่วยตกเหวได้บ่อยๆ
เช่น
“ก็ดูเธอปกติดีนี่นะ” “เธอคิดไปเองหรือเปล่า” “ไม่สบาย ก็ไปรักษาให้หายสิ” “สู้ๆนะ คนที่แย่กว่าเธอยังมี” “เธอก็ดูปกติดีนี่ เธอคิดไปเองหรือเปล่า” “แน่ใจนะว่าเธอหายดีแล้ว” “หายป่วยแล้วค่อยมาคุยกัน” “เป็นโรคนี้แล้วจะทำงานนี้ได้หรือ” ฯลฯ
เราเลือกหมอได้
ตอนอยู่เมืองนอก เราไม่มีตัวเลือกหมอมากนัก เมื่อได้กลับเมืองไทยบ่อยขึ้น ฉันก็ตัดสินใจหาจิตแพทย์ไทย อาการก็เริ่มกระเตื้องขึ้น แพทย์อาจสั่งยาที่ถูกจริตคนไทยก็ได้ หรือเป็นการได้คุยอาการเป็นภาษาไทย มันอินเร็วกว่าก็ได้
รวมทั้งหมอรู้ว่าคนไทยขี้เกรงใจ ไม่กล้าปฏิเสธ กลัวเสียหน้า รู้สึกด้อย ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิ ก็ทำให้แนวทางปรับพฤติกรรมทำได้ง่ายขึ้น เรียกว่าหมอไทยรู้ใจคนไทย
แม้จะหาหมอสม่ำเสมอ เริ่มรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น แต่โจทย์ฉันก็ยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสิ่งที่ฉันยังทำไม่ได้ก็คือ ทำอะไรให้แต่พอดี ลดความเว่อร์วัง
แม้แต่งานจิตอาสาฉันก็ยังทำจนเกินกำลัง จนตัวเองเหนื่อยล้า คนรอบข้างก็พลอยอ่อนใจ ฉันทำงานชนิดที่หมดทุกเม็ด มีแรงเท่าไรขุดมาใช้จนหมด เหมือนไปเค้นเอาพลังสำรองชีวิตออกมาใช้จนมันเหือดแห้ง มันเลยบั่นทอนระยะยาว ทำให้ภาวะวิตกจริตของฉันก็ไม่หายไปไหน
ฉันมีอาการเหนื่อยตลอดเวลา แต่ก็ยังทำทำทำไม่ยอมหยุด จนร่างกายประท้วงด้วยไมเกรนบ่อยมาก และสภาพจิตก็แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ความเพลิดเพลินใจในชีวิตเลือนหายไปเรื่อยๆ
ฉันเกิดสงสัยว่า มันจะมีกระบวนการรักษาอะไรที่ได้ผลกว่า เจอหมอห้านาที จ่ายยา กลับบ้านไหม ฉันอยากเข้าใจถึงก้นบึ้งของปัญหา ฉันอยากได้หมอที่เข้าใจตัวฉัน ไม่ใช่อาการป่วยของฉัน
วันหนึ่งฉันเดินเข้าไปใน รพ เพื่อรักษาโรคอื่น แล้วก็ฉุกใจ แวะถามที่จุดตรวจรับคนไข้ว่า ที่นี่มีจิตแพทย์ที่ทำอะไรมากกว่าคุยแล้วให้ยาไหม แบบที่ทำงานกับคนไข้มากหน่อย ให้เวลาวิเคราะห์เยอะหน่อย
ฉันถามโดยไม่หวังอะไรมาก คำตอบจากเจ้าหน้าที่คือ มีค่ะ คนไข้อยากให้หมอผู้หญิงหรือหมอผู้ชาย ฉันตอบโดยไม่ลังเลว่า หมอผู้หญิง นั่นคือการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตฉัน และโชคดีที่ฉันเจอจิตแพทย์ดีในที่สุด
รู้จักวิธีรักษาใหม่
เมื่อได้พบจิตแพทย์ท่านนี้ครั้งแรกก็ประทับใจทันที ฉันเล่าอาการเจ็บป่วยโดยสังเขป สังเกตว่าคุณหมอจะถามเรื่องความรู้สึกของเราเกี่ยวกับตัวเราในเหตุการณ์ต่างๆที่เราประสบ มากกว่าให้เล่าตัวเหตุการณ์หรือบรรยายความรู้สึกทุกข์ เหมือนให้เราถอยหลังกลับไปก้าวหนึ่งแล้วมองดูตัวเองที่ทุกข์ เป็นการเรียกตัวตนที่มีสติออกมาดูตัวเอง
ฉันใช้เวลาไม่นานกับการปรับตัวกับวิธีรักษานี้ ซึ่งคุณหมออธิบายว่าเป็นการรักษาในแนวของซาเทียร์โมเดล ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ยินแบบนี้
มันถูกโฉลกเพราะมีแนวคิดที่ตรงกับการพิจารณาตนในแบบพุทธมากทีเดียว และมีเรื่องของการมองดูความรู้สึก ทำความรู้จักกับแกนอารมณ์สำคัญของจิตใจ คือ ความสุข ความเศร้า ความรังเกียจ ความกลัว ความแปลกใจ และความโกรธ
ในกรณีของฉัน เราจะทำงานกับความกลัวมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะความกลัวที่บ่มเพาะมาตั้งแต่วัยเด็กในลักษณะของปมค้างใจ
การทำจิตบำบัดแนวซาเทียร์
(แหล่งที่มา Bangkok Mental Health Hospital)
ซาเทียร์ (Satir) คือ แนวคิดทางจิตวิทยาที่พัฒนาโดย เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir) นักจิตบำบัดชาวอเมริกัน มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับการเข้าใจตนเองทั้งด้านบวกและด้านลบ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพตรงไปตรงมา และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
ซึ่งการบำบัดแนวซาเทียร์ไม่ได้ให้สำคัญกับความรู้สึกหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว แต่เน้นการจัดการกับประสบการณ์ทุกขั้นที่เกิดขึ้นกับผู้เข้ารับการบำบัด โดยมีเป้าหมาย คือ
- รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น
- มีการยอมรับตัวเอง เข้าใจเหตการณ์ต่าง ๆ โดยไม่มีภาวะกดดัน
- สามารถรับผิดชอบเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจได้โดยไม่รู้สึกหนัก และเห็นว่าคนอื่นๆ มีความสามารถรับผิดชอบเรื่องราวของแต่ละคนได้
- สามารถผลักดันตนเองให้พบความสุขสงบทางใจ มีแนวทางในการจัดการกับปัญหาที่อยู่ภายในใจของตัวเอง
ก้าวสู่การทำจิตบำบัด
หากการทำซาเทียร์โมเดล เหมือนการซ่อมรถยนต์คันหนึ่งที่สตาร์ทติดยาก เครื่องดับกลางทางบ่อยๆ ช่วงล่างส่งเสียงดัง ท่อไอเสียพ่นควันดำ ทำให้เป็นรถยนต์ที่มีเครื่องฟิตขึ้น ระบบเผาไหม้ดีขึ้น ช่วงล่างแน่นดี ขับเคลื่อนจากจุดเอไปจุดบีได้แบบเชื่อมั่นว่าจะไม่ตายกลางทาง พาไปเที่ยวตามที่เพลิดเพลินใจได้ แต่อาจไม่ค่อยมีกำลังถ้าต้องไต่เขาสูงๆ หรือเบรคยังกระตุกอยู่ หรือความร้อนหม้อน้ำขึ้นเวลาจอดรอนานๆ
การทำจิตบำบัดก็เหมือนกับการฟิตเครื่องรถคันนั้นให้มีกำลังแล่นผ่านอุปสรรคได้อย่างฉลุยขึ้น อุณหภูมิเครื่องเยือกเย็นสม่ำเสมอในทุกสถานการณ์ หรือหากจะพุ่งก็จะลงมาเมื่อวิกฤตินั้นผ่านไป เกียร์ทุกตัวส่งแรงอย่างสมบูรณ์ เป็นรถที่เจ้าของมั่นใจและภูมิใจได้
นั่นแหละคือ ฉันเลยกับการรักษาโดยจิตบำบัดในแนวที่เรียกว่า EDMR ซึ่งมีอธิบายอยู่ข้างล่าง การทำซาเทียร์นั้นปรับพื้นฐานวิธีคิดของฉันเอาไว้จนค่อนข้างแน่น เหมือนการเตรียมดินปั้นที่เนื้อละเอียดไว้ ตั้งไว้บนแท่นรอการเข้ารูป
เช่นเดียวกับฉันค้นพบความสุขในชีวิตมากขึ้น รู้จักว่าคุณภาพชีวิตที่ดีน่าจะเป็นอย่างไร แต่ก็ยังหวั่นไหวได้ง่ายเมื่อมีอะไรมากระทบความเชื่อมั่นของตัวเอง ฉันยังไม่พบว่าตัวตนของฉันจะพัฒนาไปได้ถึงจุดไหน และทำไมยังมีความขัดแย้งข้างในเสมอ
แล้ว EDMR ก็คือคำตอบ ฉันเป็นคนบรรจงปั้นดินเผานี้ออกมาเป็นรูปร่างตามที่การรักษาพัฒนาไป เก็บตกเรื่องความกลัว เรื่องปมค้างใจในวัยเด็ก เรื่องการจัดการกับความโกรธ เรื่องการเป็นมิตรกับตัวเอง
จนตอนนี้ฉันมีเครื่องกระเบื้องงามอยู่ในมือ ผลงานที่ใช้เวลาค้าหาตลอดชีวิต โดยการทำงานภายในอย่างไม่ย่อท้อของคนปั้นเหมือนการเติมไฟให้เตาเผาอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะกับเครื่องกระเบื้องชิ้นนั้น ผลงานที่ออกมาแวววาว ละอียดอ่อน แต่แกร่ง พร้อมใช้งานได้ตลอดอายุขัย มีลวดลายแห่งประสบการณ์ชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นงานกระเบื้องชิ้นเอก
เพราะเจ็บจึงปล่อยได้
ฉันมีทรอม่าหลายอย่างที่ต้องจัดการ เรื่องหนึ่งคือการคบเพื่อนที่ฉันรักและเหตุการณ์ทำให้เราไม่มองหน้ากัน และกลายมาเป็นบาดแผลใหญ่ที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ เพื่อนบอกว่าฉันไปพูดไม่ดีเกี่ยวกับเขาทำให้เขาเสียหน้ากับคนอื่น ฉันอธิบายข้อเท็จจริงและขอโทษแต่ดูเหมือนเขาจะปักใจว่าฉันคบไม่ได้ ฉันก็เพียรเฝ้าง้อ
แล้วเราก็มีโอกาสได้พบกัน แต่โชคร้ายมากที่เป็นช่วงที่ฉันขาดยาอยู่หลายวันเพราะกระเป๋าถูกขโมย และยาทางจิตเวชนั้นไม่สามารถไปขอซื้อเอาได้ง่ายๆโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ ฉันอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ทำตัวไม่ถูก แค่จะไปทำพาสปอร์ตใหม่ก็หืดขึ้นคอพอแล้ว ฉันต้องไปทำงานกลุ่มที่มีเพื่อนคนนั้น ไปกินไปนอนกันหลายคน อาการที่แย่ๆของฉันก็เป็นที่ประจักษ์กับสายตาคนอื่น บางคนไม่พูด บางคนส่งสายตาอบอุ่นเมตตา บางคนทำไม่เห็น บางคนล้อเล่น
ฉันนอนไม่หลับ จิตใจกระวนกระวาย หวั่นไหว มีอาการดราม่า น้อยใจ ฟังคำเถียงคำ พูดเสียงต่ำลึก แย่งคนอื่นพูด และสีหน้าแววตาก็คงดูน่าหวาดหวั่นในสายตาของคนอื่น
เมื่อมีโอกาส ฉันรวบรวมความกล้า ขอเคลียร์กับเพื่อนรุ่นน้องที่ผิดใจกัน เราอยู่กันสองคนในห้องปิด ฉันขอกอดเขาและบอกว่าฉันรักเขานะ และในขณะที่กอด ฉันก็อดนึกขึ้นมานิดเดียวไม่ได้ว่า เอ เขาอยากจะให้ฉันกอดหรือเปล่า
เขาเองก็พูดขึ้นมาเรียบๆว่า ถ้าพี่ขอกอดแล้วเขาไม่ให้กอด มันคงจะรู้สึกแย่มากเลยนะ ฉันยังสงสัยว่าเขาพูดขึ้นมาทำไม เพราะเห็นว่าเขายอมให้กอดแต่โดยดี เราคุยกันหลายอย่างในวันนั้น เขาก็บอกว่าเคลียร์ เรื่องราวทั้งหมดแก้ไขได้
จากจุดนั้น เราแยกทางกันไป ความรู้สึกลึกๆบอกฉันว่า เรื่องนี้น่าจะยังไม่เคลียร์ แต่ตอบไม่ได้ว่ามันไม่เคลียร์อะไร คือ เรารับรู้ได้ว่าสัญญาณมันไม่โอเค
เรื่องราวผ่านไป ภายหลัง เราถกเถียงกันเรื่องงานอื่นๆผ่านช่องเมสเสจ ฉันแสดงความไม่เห็นด้วยกับบทความที่เอ่ยถึงฉัน เขาก็ว่าฉันคิดมากไป คนอื่นเขาไม่ได้รู้สึก เราโทรคุยเคลียร์กันไม่รู้กี่ชั่วโมงก็ไม่ได้คลี่คลาย ฉันรู้สึกว่าเขาพูดวนไปวนมาอยู่ที่เดิม ฉันก็คงวนไม่แพ้กัน
จากนั้นก็ปิดช่องทางติดต่อกันไป เพราะทู่ซี้ไม่ไหวแล้ว ฉันได้แต่เสียดายมิตรภาพที่เคยปลูกไว้
นานหลังจากนั้น ฉันไปรู้ว่าเขาเอาเรื่องที่ฉันขอกอดไปโพสต์แล้วบอกว่า เขากลัวมากที่ฉันไปกอดเขา จะกลัวอะไรก็แล้วแต่ ฉันถึงกับอนาถตนเอง โอ ความไม่สบายของเราเป็นเรื่องน่ากลัวของคนอื่น คนที่เป็นโรคนี้เป็นเหมือนคนบ้าที่น่ารังเกียจในสายตนคนอื่นแม้แต่คนที่คิดว่าเป็นเพื่อน และได้ร่ำเรียนจิตวิทยาการปรึกษามา
มีสิ่งหนึ่งที่ฉันเอะใจว่า น้องเคยพูดอะไรหลายอย่างเหมือนเป็นการทดสอบว่าฉันจะมีปฏิกิริยาทางจิตเวชอย่างไร แล้วฉันก็ได้ไปรู้ทีหลังว่าเขาเอาฉันไปเป็นกรณีศึกษาในการเรียนของเขา แถมโพสต์เรื่องว่าเอาเคสฉันไปคุยกับจิตแพทย์ที่เมืองไทยอีกนะ
อย่างไรก็ดี หลังจากฉันทำงานกับตัวเองมาหลายปี ฉันกล้าพูดกับตัวเองได้ว่า ในใจฉันขณะที่กอดน้องไว้นั้นมีแต่ความรักเท่านั้น… การจะประสงค์ร้ายใดๆไม่เคยอยู่ในหัว มันเจ็บปวดนะคะในตอนนั้น…ฉันถูกกล่าวหาออกสื่ออยู่ข้างเดียว และฉันก็เลือกที่จะไม่โต้ตอบ นอนเลียแผลอยู่หลายปี
แต่ถึงวันนี้ ฉันเข้าใจชีวิตมากขึ้น ความเจ็บเบาบางลงกลายเป็นแผลจางๆให้เราจำได้ว่า ครั้งหนึ่งเราเคยบาดเจ็บเรื่องนี้
ฉันสรุปด้วยปัญญาเท่าที่มีว่า คนเรามีความกลัวต่างกัน กลัวสิ่งที่เห็นและไม่เห็น เขาก็กลัวฉันเพราะอ่านใจคนป่วยแบบฉันไม่ได้ว่ามาดีหรือมาร้าย ฉันก็กลัวว่าจะไม่ได้การยอมรับจากเขา
ฉันไม่รู้หรอกว่าให้อภัยเขาหรือยัง แต่ฉันให้อภัยตัวเองแล้วว่าความรู้สึกและการกระทำใดๆของฉันในวันนั้น มันเกิดขึ้นตามสภาพทางใจที่ฉันเป็นอยู่ขณะนั้น และเป็นสภาพจิตใจของผู้คิดดีต่อคนอื่น ฉันไม่สามารถโทษตัวเองได้
และการที่น้องเขาคิดแล้วเขียนไปเช่นนั้น เขาก็รู้เพียงเท่านั้น เขาก็มีอารมณ์ประมาณนั้น วันนี้เขาจะคิดได้หรือไม่ ก็ไม่ใช่ธุระของฉันแล้ว
นี่แหละ คนที่ป่วยซึมเศร้าจึงไม่อยากบอกให้โลกรู้ เพราะคนที่เข้าใจมีน้อยมาก แม้แต่คนที่จูบปากกัน บางทีเรื่องนี้กับเป็นเหมือนคำสาปของมิตรภาพ ความสามารถที่จะเห็นใจเห็นใจและเข้าใจคนที่ป่วยนั้นก็ไม่เกี่ยวกับระดับการศึกษาเสียด้วยสิ มันต้องมาจากเนื้อในของความเป็นคนๆนั้น
คนป่วยอยากได้อะไร
คนป่วยทุกคนน่าจะไม่อยากให้ใครตัดสินว่า บ้า อ่อนแอ คิดมาก ชอบดราม่า อันตราย เรียกร้องความสนใจ มโนไปเอง คิดขวางโลก ฯลฯ
และไม่อยากให้ใครเอาเรื่องของเขาไปเขียนบูลลี่ในสื่อโซเชียลแบบว่าไม่เอ่ยชื่อ คนในแวดวงก็รู้ว่าใคร
ฉันอยากได้คนรับฟังที่ไม่ต้องบอกว่าฉันควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร คนที่แค่รู้ว่าฉันกำลังบอกอะไร แสดงความสนใจกับสิ่งที่ฉันพูด
ถามว่าฉันรู้สึกอย่างไรในวันนี้ จับมือมองตาแล้วบอกว่า มีอะไรก็บอกนะ เราอยู่ตรงนี้ เราเห็นนะว่าเธอทุกข์ หรือโอบกอดโดยไม่ต้องพูดอะไร ภาษาท่าทางนั้นสื่อความห่วงใยได้ดีกว่าคำพูด
หรือ คนที่ปฏิบัติกับฉันเหมือนคนปกติ
แล้วตอนนี้อาการเป็นอย่างไร
ฉันเพิ่งมารู้ว่าชีวิตที่มีสมดุลทางจิตใจนั้นเป็นอย่างไร นิสัยพื้นฐานฉันอาจจะไม่เปลี่ยน เช่น ความจู้จี้จุกจิก ชอบลงรายละเอียด เป็นนักบงการ แต่วิจารณญานและการสนองตอบต่อสิ่งเร้ามีลักษณะที่เป็นคุณกับตัวเองมากขึ้น
ฉันจริงใจต่อความรู้สึกของตัวเอง โอบกอดความกลัวต่างๆในหัวใจเพราะตระหนักว่า ความกลัวคือมิตรแท้ หากไม่มีความกลัว ฉันคงไม่ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองปลอดภัย
บางทีเราไปเสียเวลากลัวเจ้าตัวที่เรียกว่า “ความกลัว” จนลืมถามตัวเองก่อนว่า ทำไมเราถึงกลัว
เช่น ฉันกลัวความผิดพลาดเพราะกลัวเสียหน้า กลัวจะดูไม่ดี แล้วทำไมกลัวจะดูไม่ดี เพราะฉันต้องการให้คนอื่นบอกว่าฉันดี แต่ฉันบอกตัวเองไม่เป็น ทำไมฉันต้องทำอะไรมากมาย เพราะฉันอยากเบี่ยงเบนตัวเองจากสิ่งที่ไม่อยากทำ
ทำไมฉันกลัวว่าจะดูไม่ฉลาด เพราะคนฉลาดน่าจะมีเพื่อนมากกว่า
ทำไมฉันกลัวว่าจะไม่มีเพื่อน เพราะฉันไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเป็นเพื่อนที่ดีของตัวเองได้ไหม
ทำไมฉันกลัวไม่เป็นเพื่อนที่ดี เพราะฉันเคยทำพลาดแล้วทำให้ตัวเองเดือดร้อน เช่นเคยถูกขโมยกระเป๋าสามครั้งระหว่างที่เดินทางคนเดียว
ทำไมฉันกลัวผู้ใหญ่ดุ เพราะฉันอยากให้แม่ฉันรักและไม่ตีฉันเวลาฉันทำผิด ทำไมฉันกลัวถูกตี เพราะเด็กดีจะไม่ถูกตี และฉันคงไม่ใช่เด็กดี…
เหล่านี้คือการทำงานภายในที่เกิดขึ้นทุกวัน เหตุการณ์ต่างๆในชีวิต ฉันจะทบทวนอยู่ประมาณนี้จนกว่าจะถึงรากเหง้าของความกลัว ทำให้ฉันมุ่งมั่นทำมากขึ้นๆ หาทางป้องกันข้อผิดพลาดทุกอย่าง
แต่สิ่งนั้นแลกด้วยความกดดันที่สูงมาก เวลาและพลังงานทั้งหมดกับเรื่องที่อาจจะไม่คุ้มค่าขนาดนั้น พอผิดหวังก็เกิดดราม่าในใจหรือกับคนรอบข้าง ใครมาตำหนิก็จะเสียใจ-ใจเสีย-กินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องวิ่งไล่ตามเงาคนอื่น และลงท้ายก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้
กระบวนการเยียวยาบำบัดจิตใจ รวมถึงการย้อนไปดูปมค้างใจในวัยเด็ก ทำให้ฉันเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า นิสัยใจคอในปัจจุบันเกิดจากความกลัวอะไรในวัยเด็ก แล้วเริ่มผ่อนคลายกับตัวเองในปัจจุบัน ยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องแก้ตัวให้ตนเองหรือให้คนอื่น และก้าวข้ามได้ในเวลาอันควร
ตบไหล่ตัวเองเวลาที่ทำได้ดี ปลอบใจตัวเองเวลาที่ทำได้แย่ ลดความรู้สึกดราม่า พอใจในตัวเองได้ในแบบที่ตัวเองเป็น แล้วแทนที่จะหันไปทำเอาใจคนอื่น ก็กลับมาเอาใจตัวเอง ฟังเสียงตัวเอง
บางครั้งจิตใจเกิดปฏิกิริยารุนแรงกับเรื่องที่ฉันเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรม นิสัยเดิมก็จะชวนดราม่าทันที ใจก็ร้อน หัวก็ร้อน ปากก็ไว นึกอยากต่อว่าโวยวายเป็นชุดใหญ่ๆ แต่มันเหมือนมีตัวฉันอีกคนหนึ่งมาสะกิด ถามว่าเหตุการณ์แบบนี้ต้องสติแตกด้วยหรือ ต้องว้าวุ่นใจขนาดนี้เชียวหรือ เอาเวลาไปดูแลสุขภาพตัวเองดีกว่าไปเป็นสายตรวจศีลธรรมดีกว่ามั้ง
แน่นอนว่าฉันสะดุ้ง ระลึกได้ว่าสตินั้นมีค่ายิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น เมื่อมีสติ ปัญญาก็จะตามมา หนทางแก้ไขที่สมควรก็จะเกิดขึ้น มันเป็นการต่อสู้ประมาณนี้ในใจอย่างต่อเนื่องกับสิ่งต่างๆที่เข้ามาปะทะ
และเกิดภาวะพึงพอใจผ่อนคลายกับชีวิตมากขึ้น มีความสุขในการทำงาน การพูดคุยกับเพื่อน การทำกิจวัตรประจำวัน ความรู้สึกผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับคนในครอบครัว และรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฉันคือ การได้รู้จักตัวเองและเป็นมิตรกับตัวเองได้ในที่สุด
และคนที่ต้องขอบคุณมากที่สุดในชีวิตคนหนึ่งก็คือ สามีที่ต้องรองรับสภาวะอารมณ์ป่วยๆของฉันเป็นสิบปี โดยไม่วางมือจากฉัน แม้เขาจะไม่เข้าใจว่าโรคนี้เป็นอย่างไร คิดว่าฉันมโนไปเองหลายอย่าง พูดอะไรให้เจ็บๆบ่อยครั้ง
แต่เมื่อมองย้อนกลับ เขาจริงใจกับฉันมาก ไม่ยอมให้ฉันหลอกตัวเอง ซึ่งตอนป่วยฉันไม่เข้าใจและยังวีนใส่ แต่พอหายดีแล้วจึงเห็นความชาญฉลาดในคำพูดของเขามากมาย เขาช่างเหมือนพ่อพระที่ทนทานกับฉันได้ โดยมีความผูกพันและความรักเดียวใจเดียวเป็นที่มั่น
…ส่งท้าย…
ฉันพยายามจะบอกอะไร ฉันพยายามจะบอกว่า ชีวิตของผู้หญิงทำงานผู้มุ่งมั่นทุกคนต่างต้องเจอขวากหนาม โรคซึมเศร้าก้าวข้ามได้แต่ต้องทำงานกับตัวเองหนักมาก เหมือนปีนป่ายภูเขาสูงที่เราไม่เคยทำมาก่อน
ก่อนป่วย เราเห็นตัวเราเพียงเหมือนเห็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง พอป่วย เราจึงพบความซับซ้อนของตัวเองมากมายเหมือนฐานภูเขาน้ำแข็ง พอเราดิ่งลงไป เราก็พบกับขวากหนามในเส้นทางที่ต้องย้อนกลับ เราต้องถากถางอุปสรรคเหล่านั้นไปทีละอย่างสองอย่าง ก่อนที่เราจะค่อยโผล่พ้นเหนือน้ำอีกครั้ง
แต่คราวนี้ด้วยความตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเองที่ดียิ่งขึ้น และเราก็จะรักและมีสันติกับตัวเอง
ความรู้สึกของฉันตอนนี้ คือ ขอให้แต่ละโมเม้นท์ในชีวิตเป็นโมเม้นท์แห่งกำไร คือการได้สิ่งที่ดีต่อใจหรือการมองให้ดีต่อใจ ไม่ว่าจะเจอกับอะไร
แน่นอนว่า ฉันจะเลิกมองบวกแบบหลอกตัวเอง แต่มองเห็นลบอย่างที่มันเป็น โดยไม่ต้องไปต่อเติมเพิ่มความลบนั้น ส่วนวันไหนโลกไม่สวย ฉันต้องขาดทุน ก็ถือว่าการขาดทุนเป็นบทเรียนให้ฉันได้แกร่งและเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตดีขึ้น
กำไรจากการเขียนเรื่องนี้ อาจเป็นการทำให้เกิด Me, three. Me, four. ของเพื่อนหญิงอีกหลายๆคน ก็เป็นได้
ฉันเข้าใจดีว่าการเดินทางของผู้ป่วยแต่ละคนมีเอกลักษณ์ เราแต่ละเคสไม่เหมือนกัน ปมของเราแตกต่างกัน เรามีตัวช่วยไม่เหมือนกัน เราต้องการเวลาตกผลึกน้อยมากไม่เท่ากัน
บางทีสิ่งที่เราทำได้สำเร็จ ก็อาจไม่ใช่ความถนัดของเพื่อนร่วมทุกข์คนอื่น
แต่เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ สมบัติล้ำค่าของเราคือใจที่ฝึกฝนได้ เราก็จงใช้โอกาสนั้นทำงานกับจิตใจของเราให้เต็มศักยภาพที่ได้เกิดมา
และเพราะตัวของเรานี่แหละที่พาเรามาถึงจุดดิ่ง ดังนั้นตัวของเราเช่นกันที่จะพาเราไปถึงจุดข้ามฟาก
Where there is a will, there is a way.
เขียนไว้ด้วยรัก ณ ห้องทำงานเล็กๆที่บ้านชนบท
วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2567
จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์ หรือ EMDR Psychotherapy มาจาก (Eye Movement Desensitization and Reprocessing) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาบาดแผลทางใจที่ได้ผลดีในเวลาอันสั้น เมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ เช่น CBT หรือ talk therapy EMDR เป็นการรักษาที่รวดเร็ว และปลอดภัยกว่าการใช้ยาและเป็นกระบวนการฟื้นฟูการทำงานของสมองและความทรงจำตามธรรมชาติ
EMDR Therapy สามารถแก้อาการผิดปกติของผู้ที่ประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ มีความเครียดขั้นรุนแรงจนเกิดเป็น PTSD ( Post-Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ รวมทั้งงสามารถแก้อาการอื่นทางจิตเวชได้หลากหลาย
ได้แก่
- อาการวิตกจริต วิตกกังวล Anxiety,
- หวาดระแวง หวาดกลัว panic attacks,
- โรคหวาดกลัวบางสิ่งบางอย่าง หรือ อาการphobias ต่างๆ
- ความเจ็บป่วยที่เป็นมานาน Chronic Illness,
- หรืออาการความเจ็บป่วยที่รักษามายาวนานแต่ไม่หาย และไม่เจอสาเหตุ (medical issues)
- โรคซึมเศร้า Depression
- โรคไบโพล่า bipolar disorders
- โรคตัดขาดสังคม หลีกหนี้ชีวิตความเป็นจริง Dissociative disorders
- โรคการกินผิดปกติ Eating disorders
- อาการเศร้าโศรก ทุกข์ระทมจากการสูญเสีย Grief and loss
- อาการเจ็บปวด Pain
- โรคกลัวความล้มเหลว Performance anxiety
- โรคบุคคลิกภาพบกพร่อง Personality disorders
- บาดแผลทางใจ หรืออาการหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น Post Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD
- และบาดแผลทางใจอื่นที่ยังติดค้างในใจ จนบางครั้งอาจเกิด flashback หรือ มองเห็นภาพเหตุการณ์นั้นโผล่ขึ้นมาอีกทำให้มีอาการฝันผวา ฝันร้ายเวลานอนหลับ
- บาดแผลทางใจจากการถูกข่มขืน ถูกกระทำชำเรา
- ถูกล่วงละเมิดทางเพศ Sexual assault
- หรือมีปัญหาในการนอนหลับ การนอนถูกรบกวน หรืออาการSleep disturbance ต่างๆ
- อาการหลงผิดไปติดสารเสพติด ยาเสพติด Substance abuse and addiction
- รวมทั้งมีอารมณ์และพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว และทำร้ายร่างกายผู้อื่นหรือทำร้ายตนเอง Violence and abuse
- ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัดอีเอ็มดีอาร์จะใช้เทคนิคเพิ่มทักษะความเข้มแข็งจิตใจของคนไข้ จนสามารถต่อสู้และฟื้นคืนกลับมาได้ด้วยตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ
- จิตบำบัดอีเอ็มดีอาร์ (EMDR Therapy) มีทั้งหมด 8 ขั้นตอน ดังนี้
- Phase 1: History-taking ซักประวัติ
- Phase 2: Preparing the client เตรียมคนไข้
- Phase 3: Assessing the target memory ประเมินชุดความทรงจำเป้าหมาย
- Phases 4-7: Processing the memory to adaptive resolution ย่อยความทรงจำเหล่านั้น ให้ปรับเป็นการแก้ไข
- Phase 8: Evaluating treatment results ประเมินผลการรักษา
การบำบัด 8 ขั้นตอนช่วยเปิดการไหลเวียนของระบบความทรงจำที่ถูกแช่งแข็งมานาน และช่วยสร้างระบบความทรงจำใหม่และประสบการณ์ใหม่ที่เป็นบวก ทำให้คนไข้รับมือกับเหตุการณ์เจ็บปวดที่ผ่านมาได้ดีขึ้น
หลังการบำบัดจบลง สมองก็ยังทำงานต่อไป การไหลเวียนของความทรงจำยังทำงานต่อเนื่อง ทำให้ค่อยๆหายจากการคิดวนเวียนและความเจ็บปวดซ้ำๆซากๆ
สนใจอ่านโดยละเอียดได้ ที่นี่ ค่ะ