สัมมนา พลังพึ่งพาที่อบอุ่น ครั้งที่ 1 เครือข่ายภาคีหญิงไทยในสหราชอาณาจักรจัดสัมมนา “พลังพึ่งพาที่อบอุ่น” ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ มหานครลอนดอน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2561
มีผู้ลงชื่อเข้าร่วมสัมมนารวมทั้งนักข่าวและวิทยากรจำนวน 20 คน
“ประธานเครือข่ายภาคียูเค” คุณเศรษฐินรี เวเนส กล่าวต้อนรับพร้อมแนะนำองค์กร คณะกรรมการ และอธิบายการทำงานขององค์กร หลังจากนั้นจึงกล่าวต้อนรับและแนะนำวิทยากรและประธานเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป คุณนงลักษณ์ ใจสงฆ์ เทร็พพ์
อัครราชทูตที่ปรึกษา นายชนสุต วุฒิวงศ์ วิทยากรท่านแรกกล่าวถึงการทำงานของสถานเอกอัครราชทูตในส่วนที่เกี่ยวกับชุมชนไทยโดยยึด “วัด บ้าน และสถานทูต” เป็นจุดเชื่อมโยงการทำงานเพื่อสมาชิกของชุมชนไทยในสหราชอาณาจักรซึ่งมีจำนวนทั้งหมดระหว่าง 60,000 ถึง 70,000 คนด้วยกัน
หัวข้อสำคัญที่ท่านอัครราชทูตยกเป็นตัวอย่างคือ ปัญหาเอกสาร เช่น บัตรต่างๆ การลงทะเบียนและการใช้ชื่อสกุลในเอกสารของไทยและเอกสารของสหราชอาณาจักร ฯ ปัญหาของนักท่องเที่ยวไทยในสหราชอาณาจักร ฯ
นอกจากนั้น ปัญหาสำคัญที่ทาง สอท. เข้ามามีบทบาทช่วยคลี่คลายให้สมาชิกของชุมชนไทยมีอาทิ ความเจ็บป่วยทางจิตใจ ความรุนแรงในครอบครัว กรณีการค้ามนุษย์ สถานการณ์ของผู้ต้องขังไทยในสหราชอาณาจักร ฯ เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าหน้าที่ สอท. จะเข้าช่วยเหลือได้เมื่อมีการร้องเรียนโดยตรงจาก “เจ้าของปัญหา” เท่านั้น
หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 24 ชั่วโมงของ สอท. ลอนดอน คือ 07918651-720 หรือ 07436831-519
Helen Miller จาก “Met Police” หรือสำนักงานตำรวจของมหานครลอนดอน
เจ้าหน้าที่ตำรวจตำแหน่ง detective sergeant ผู้เชี่ยวชาญแขนง “ทาสยุคใหม่” (modern slavery) เล่าถึงสถานการณ์ “การค้ามนุษย์” ในสหราชอาณาจักรที่เกี่ยวพันถึงคนไทย การทำงานของเธอเริ่มด้วยการแยกแยะ “ผู้กระทำ” และ “ผู้ถูกกระทำ” ต่อด้วยการให้ความช่วยแหลือและแนะนำ “ผู้ถูกกระทำ” บางครั้งมีเจ้าหน้าที่ช่วยระหว่างการดำเนินคดีและหลังจากคดีสิ้นสุดลงแล้วด้วย
คุณ Miller กล่าวว่า การค้ามนุษย์ตามนิยามของสหประชาชาติและการค้าสิ่งเสพติดนั้นเป็นอาชญากรรมที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในยุโรป ในกรณีการค้ามนุษย์ระหว่างปี 2560 ถึงปัจจุบันต้นปี 2561 นั้นมีคนไทย “ผู้ถูกกระทำ” จำนวน 9 คน
“ทาสยุคใหม่” นี้มีขอบเขตกว้าง รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์ การเอารัดเอาเปรียบ ค่าจ้างต่ำ หนี้สินบังคับ และแรงงานบังคับหรือกึ่งบังคับด้วย วงการที่ทางตำรวจจับตามองคือ บริษัทก่อสร้าง กิจการล้างรถ กิจการซักแห้ง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอพยบ แรงงานเด็กและผู้เยาว์ การสมรสบังคับหรืออำพราง เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีอาชญากรรมที่ทางตำรวจหาทางปราบปรามและป้องกัน คือ การค้าอวัยวะ และอาชญากรรมขบวนการ เช่น แก๊งค์ล้วงกระเป๋า แก๊งขอทาน แก๊งค์ฉกชิง
ตำรวจพยายามเข้าถึง “ผู้ถูกกระทำ” โดยการพูดคุยให้วางใจและแนะนำให้ร่วมมือกับทางการ ทางตำรวจจะอ้างความผิดตามกฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อนำตัว “ผู้ถูกกระทำ” ออกจากสถานที่อันตรายหรือสถานที่กวาดล้างเท่านั้น วิธีการของตำรวจในสมัยโลกาภิวัฒน์นี้รวมถึงการซอกหาผู้ที่สงสัยว่าจะเป็น “ผู้ถูกกระทำ” ทางอินเตอร์เน็ตด้วย คุณ Miller กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานด้านนี้ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษเพราะเป็นกรณีละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง นอกจากนั้นทางตำรวจยังร่วมมือกับองค์กรช่วยเหลือต่างๆอีกด้วย
ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการปราบปรามคือการป้องกันโดยจัดให้มีการร่วมมือกันทั่วประเทศและระหว่างประเทศ มีบ้านฉุกเฉินรับรอง มีโครงการสนับสนุน มีการให้คำแนะนำปรึกษา และบางครั้งต้องรวมการสนับสนุนทางการเงินหรือทางวัตถุด้วย
Amanda Gow จากองค์กร Tamar
มาพบผู้เข้าสัมมนาพร้อมด้วยผู้ร่วมงานคือคุณ Emma Gooding กล่าวถึงการเข้าถึงผู้ทำงานให้บริการทางเพศ โดยการเยี่ยมเยือน สร้างความไว้วางใจ ช่วยโยงถึงองค์กรหรือสมาคมต่างๆที่ให้ความช่วยเหลือแนะนำได้ นอกจากนั้นยังรวมถึงการจัดกลุ่มเรียนภาษาท้องถิ่นอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือมีความรู้ทางภาษาพอช่วยตัวเองได้อย่างน้อยในระดับหนึ่
เครือข่ายภาคีหญิงไทยในสหราชอาณาจักรปฏิบัติงานช่วยเหลือชุมชนคนไทยในท้องถิ่นดังต่อไปนี้ คือ
* รับฟัง
* วิเคราะห์
* ช่วยเหลือเบื้องต้น
* ส่งต่อ
สัมมนาเชิงปฏิบัติการ วิจัยกรณีตัวอย่าง
ภาคบ่ายเป็นการวิจัยกรณีตัวอย่างที่ทางภาคีเครือข่ายช่วยแก้ไขแนะนำมาจนนับได้ว่าสำเร็จ กรณีนี้รวมความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะทางจิตใจ เอกสาร สิทธิของคู่สมรส ปัญหากฎหมายคนเข้าเมือง ปัญหาทางภาษา การข่มขู่และการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ฯลฯ
ปิดการสัมมนาเวลา 15.00 น.
หลังจากนั้นคณะกรรมการและคณะทำงานยังประชุมหารือกันต่อไปอีกระยะหนึ่ง
เครือข่ายหญิงไทยในยุโรปยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นการทำงานแข็งขัน ความกระตือรือล้นและความตั้งใจมุ่งมั่นต่อการทำงานเพื่อศักดิ์ศรีและศักยภาพของชุมชนไทยในยุโรป
นงลักษณ์ ใจสงฆ์ เทร็พพ์
ประธานเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป รายงาน