A woman mourns at an indoor funeral ceremony with floral decorations and a coffin.

เรื่องเล่าเงาชีวิตหญิงไทยในต่างแดน
เรื่อง โดย เพจเรื่องเล่าจากหย่งศรี
ภาพ โดย Pavel Danik



เตรียมพร้อมกับการจากลา แบบคนเยอรมัน

สมัยฉันย้ายมาอยู่เยอรมนีปีแรกๆ สามีและฉันจะนั่งรถไฟไปเยี่ยมคุณแม่สามีที่อาศัยอยู่ต่างเมืองกันทุกไตรมาส หลังจากทานข้าวกลางวันเสร็จแล้ว เรามักจะออกไปเดินเล่นกัน

หนึ่งในที่ๆ คุณแม่นิยมเดินไปคือ สุสานของเมือง ซึ่งจัดตกแต่งอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ร่มรื่นเขียวขจี มีดอกไม้นานาพันธุ์

คุณแม่สามีมักชี้ให้ดูป้ายหลุมศพต่างๆ ที่ทำจากหินอ่อนสารพัดขนาด พร้อมบอกความตั้งใจว่า เมื่อถึงคราวของตัวคุณแม่เอง ขอให้ใช้เป็นแบบเสาเหล็กตั้ง มีป้ายชื่อทำด้วยเหล็กแผ่นเล็กๆ ก็พอ เพราะราคาย่อมเยากว่าหินอ่อนมากนัก

ฉันฟังแล้วรู้สึกตกใจไม่น้อยที่คุณแม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ในขณะที่ฉัน ซึ่งโตมาในวัฒนธรรมไทย รู้สึกไม่สะดวกใจเอาเสียเลย

คุณแม่บอกว่า เรื่องการเตรียมตัวสำหรับวาระสุดท้ายนี้ เธอจำฝังใจมาตั้งแต่เด็ก เพราะตอนเรียนมัธยมมีเพื่อนถึง ๒ คนที่เสียคุณพ่อคุณแม่ไปกระทันหัน และการจัดการเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ไม่มีการเตรียมการไว้ก่อนนั้น ไม่ง่ายเลย

โศกเศร้าเสียใจกับการจากไปก็แย่พอแล้ว ยังต้องมาวุ่นวายตัดสินใจสารพัดอย่างอีก

………

ณ งานประชุมสามัญประจำปีของสมาคมธาราครั้งหนึ่ง จัดในหัวข้อ “ความรู้คู่บ้าน อุ่นใจ สบายชีวิต” วิทยากรคือ คุณเดียร์ก วาลเตอร์ มีอาชีพเป็นผู้บริหารจัดการพิธีศพ เป็นกิจการของครอบครัวที่สืบทอดกันมาถึง ๔ รุ่นแล้ว

คุณเดียร์กบอกว่า การเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ง่าย สะดวก และไม่เป็นภาระแก่คนที่อยู่เบื้องหลัง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราสามารถเตรียมไว้ให้พร้อมได้

แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน

๑ เนื้อหาของงานพิธี – เราสามารถลองนึกได้ว่าอยากให้งานของเรานั้นออกมาเป็นอย่างไร (สีดอกไม้ เพลงที่ใช้ ฯลฯ) และตรวจสอบล่วงหน้าได้ว่า มีอะไรขัดกฎหมายหรือไม่

๒ การเงิน – ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของงานนี้ หลายคนเปิดบัญชีสะสมเงินไว้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งดี แต่ต้องแน่ใจว่ามีคนทราบเรื่องนี้ และสามารถนำเงินออกมาใช้ได้เมื่อถึงวันจริง บางคนอาจเลือกทำ “ประกัน” เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาจริง ผู้ที่อยู่เบื้องหลังจะได้มีเงินมาจัดการ

แหม… เยอรมนีนี่ เจ้าแห่งการประกันจริงๆ มีแม้กระทั่งประกันงานศพ!

๓ ด้านสิทธิ – ใครมีสิทธิดูแลและตัดสินใจที่เกี่ยวกับพิธี ซึ่งแต่ละรัฐก็จะไม่เหมือนกัน แต่โดยมากแล้ว จะจัดเรียงลำดับดังนี้

๑) คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย (สามี/ภรรยา)

๒) ลูก (ซึ่งน้ำหนักเท่ากันระหว่างลูกแท้ๆ กับลูกติด และในบรรดาพี่น้องจะเท่ากันทุกคน)

๓) พ่อแม่

๔) พี่น้อง

หากไม่ประสงค์ให้เรียงลำดับดังกล่าว หรือประสงค์ให้ “เพื่อน” เป็นผู้จัดการ สามารถแจ้งความจำนงด้วยการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สำคัญคือ ต้องเขียนด้วยลายมือตัวเอง เซ็นชื่อ ลงวันที่ และเมือง เป็นอันใช้ได้ ไม่ต้องได้รับการรับรองด้วยทนายก็ได้

……….

เอกสารที่ต้องใช้เพื่อขอมรณบัตร (Sterburkunde)

๑ ใบยืนยันว่าเสียชีวิต (Todesbescheiningung) หากเสียชีวิตที่บ้านจะออกโดยแพทย์ หากเสียที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะเป็นคนออกให้

๒ เอกสารประจำตัว (บัตรประชาชน)

๓ สูติบัตร ต้องเป็นตัวจริงเท่านั้น หากเกิดที่ต่างประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมัน ต้องเอาไปแปลและรับรองให้ถูกต้อง หากสูญหาย ให้กลับไปขอใหม่ที่เขตที่เกิด (ควรเตรียมไว้ล่วงหน้า เพราะบางครั้งการขอเอกสารนี้ ใช้เวลานานหลายเดือน)

๔ ใบทะเบียนสมรส / ใบหย่า

เมื่อได้มรณบัตรมาแล้ว ก็จะสามารถไปทำเรื่องที่เกี่ยวกับบัญชีธนาคาร, ประกันสุขภาพ, เงินเกษียณอายุ ฯลฯ ได้ต่อไป

……….

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ต้องตัดสินใจและเอกสารที่ต้องใช้มีไม่ใช่น้อย และหลายอย่างสามารถเตรียมล่วงหน้าได้ ความรู้เรื่องดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ เพื่อให้เมื่อถึงเวลาที่การเปลี่ยนแปลงมาถึง ทุกสิ่งจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

คุณเดียร์กเล่าว่า มีลูกค้าหลายท่านจัดแจงไว้เสร็จแล้วว่า พิธีของตนเองต้องการให้มีอะไรบ้าง จะต้องเชิญใครบ้าง และบางท่านก็จะแวะมาอัพเดตลิสต์นั้นทุกปี มาฆ่ารายชื่อแขกบางท่านทิ้ง เพราะได้จากไปก่อนแล้ว

เป็นเรื่องเศร้า แต่มองอีกมุม ก็ขำเหมือนกันเนาะคะ

………..

ส่วนคำถามที่พบบ่อยก็คือ ต้องเตรียมเงินไว้สักเท่าไรดี เพราะได้ข่าวว่างานศพที่เยอรมนีมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

คุณเดียร์กบอกว่า พูดถึงเรื่องงบนั้น คงต้องบอกว่าไม่มีขีดจำกัด จะจัดใหญ่โตอลังการเท่าไรก็ย่อมได้ แต่ปกติแล้ว งานศพจะอยู่ในราว ๒ – ๔ พันยูโร โดยเฉลี่ยก็อยู่ในราว ๓๐๐๐ ยูโร (ประมาณแสนกว่าบาท)

ฉันถามเพิ่มว่า ที่มันแพง เป็นเพราะ “ค่าที่” ใช่ไหม เพราะการฝังศพทั้งโลงต้องใช้พื้นที่มาก

คุณเดียร์กบอกว่า ไม่ใช่!

เรื่องพื้นที่และพิธีการนั้น ราคาไม่ต่างกันมาก ไม่ว่าจะฝังหรือเผา แต่ประเด็นที่ทำให้ราคาต่างกันคือ “ค่าแรง”

เพราะโกศอัฐิอันเล็กๆ ใช้คนเดียวขุด ชั่วโมงเดียวก็เสร็จ แต่หากฝังทั้งร่าง เป็นโลงศพ ต้องขุดหลุมฝังศพ ต้องมีอย่างน้อยสองคนขุด ต้องมีรถตักดิน

นี่คือตัวการที่ทำให้ราคาสูง เพราะต้องใช้คนมากขึ้น อีกทั้งจำนวนชั่วโมงขุด ก็ต้องมากกว่า

……….

อดถามต่อไม่ได้ว่า แล้วมันมีสถิติไหมว่า คนเยอรมันนิยมพิธีแบบไหนมากกว่ากัน

จากประสบการณ์หลายสิบปี คุณเดียร์กเล่าว่า คนทางเหนือซึ่งอยู่ใกล้ทะเล จะนิยมทำพิธีที่โปรยอังคารที่ทะเล ยิ่งลงใต้มาเรื่อยๆ คนก็จะนิยมทำพิธีฝังมากขึ้นเท่านั้น

อนึ่ง คุณเดียร์กเล่าด้วยว่า สภาพอากาศดูจะมีผลต่อเรื่องนี้มากพอควร เพราะจากประสบการณ์ ฤดูร้อนจะมีพิธีศพน้อย เหมือนอากาศดี สดชื่น สดใส ผู้คนมีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ ส่วนฤดูหนาวจะมีงานชุกมาก ราวกับว่าอากาศมืด ทะมึน เทา น่าห่อเหี่ยวใจ อยู่ไปก็แค่นั้น จากไปเสียเลยดีกว่า

ฟังเหมือนเรื่องตลก แต่จากแนวโน้มก็เป็นเช่นนี้จริงๆ สภาพอากาศส่งผลต่อจิตใจมากขนาดนั้น

ส่วนเทรนด์ที่กำลังมาแรงนั้น คุณเดียร์คเห็นสองสามอย่างค่ะ

อันดับแรก คือ การนำโกศอัฐิไปฝังในป่า โดยต้องเป็นป่าที่ได้รับสถานะเป็นสุสานเท่านั้น ไม่ใช่ป่าที่ไหนก็ได้

ตัวเลือกการฝังมีมากมาย เช่น ฝังร่วมกับคนอื่นๆ ใต้ต้นไม้ต้นเดียว หรือจะจองต้นไม้ไว้ แล้วฝังโกศไว้ข้างๆ กับคนที่รักก็ได้ และสมัยนี้มีโกศอัฐิที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ

เรียกว่าคืนสู่สามัญได้แบบหมดจดจริงๆ

อ้อ… ที่เยอรมนีไม่อนุญาตให้นำโกศอัฐิมาฝังเองที่บ้านนะคะ จะฝังในสวนที่บ้านไม่ได้ โกศอัฐิต้องไปอยู่ในสุสานเท่านั้น

ส่วนเรื่องการแบ่งเถ้าบางส่วนเล็กน้อย เพื่อนำมาทำเป็นของที่ระลึกนั้น ตามกฎหมายนั้นยังไม่ได้รับอนุญาต แต่โดยมากแล้วก็ไม่มีใครห้าม หากนำมาเล็กน้อยค่ะ

………

อีกเทรนด์ที่กำลังมา คือการนำเถ้าไปอัดเป็นเพชร ซึ่งในเยอรมนีก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ แต่ทำได้ที่สวิสเซอร์แลนด์ค่ะ

คุณเดียร์กบอกว่า โดยปกติแล้ว เถ้าของแต่ละท่านจะอยู่ที่ประมาณ ๓๐๐๐ กรัม การทำเพชรจะต้องใช้เถ้า ๑๐๐ กรัมต่อเพชร ๐.๑ กะรัต และมีค่าทำประมาณ ๑๐๐๐ ยูโร ต้องทำขั้นต่ำ ๐.๔ กะรัต ก็คือเงิน ๔๐๐๐ ยูโร ใช้เวลาประมาณ ๖ สัปดาห์ก็จะได้เพชร

ดังนั้น หากจะใช้เถ้าทั้งหมดทำก็จะได้เพชร ๓ กะรัต แต่คุณเดียร์กเล่าว่า จากประสบการณ์ยังไม่เคยมีใครสั่งทำไซส์ใหญ่ขนาดนั้น โดยมากจะสั่งทำแค่ ๐.๔ กะรัต เพื่อเป็นที่ระลึกจริงๆ เท่านั้น

……….

ส่วนคนไทยนั้น เราย่อมสงสัยว่า จะเอาโกศอัฐิที่มีเถ้าผู้เสียชีวิตกลับเมืองไทยได้ไหม ต้องทำอย่างไรบ้าง?

คำตอบคือ ทำได้ค่ะ โดยต้องแจ้งสายการบินให้ทราบ คุณเดียร์กแนะนำว่า ควรจะถือโกศขึ้นเครื่องเพื่อความปลอดภัย เพราะคงไม่มีใครอยากให้สูญหาย หรือบุบสลายด้วย ปัจจุบันโกศอัฐิขนาดไม่ใหญ่มาก ถือขึ้นเครื่องได้สบายๆ

……….

เป็นการบรรยายในหัวข้อที่เหมือนจะเศร้า แต่ความเป็นจริงแล้วสนุกมาก ฉันได้เรียนรู้หลายอย่างมากว่า ในเรื่องความตาย ก็มีเรื่องที่ควรรู้ ควรเตรียมตัวมากมายเหลือเกิน เพื่อไม่เป็นภาระให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง รู้สึกตัวเองฉลาดขึ้นมากเลยค่ะ

ที่สำคัญ ได้เจริญมรณานุสติ เมื่อความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น เราก็ไม่ควรใช้ชีวิตด้วยความประมาท และมีความสุขกับทุกชั่วขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นะคะ

ขอบคุณสมาคมธารา ที่จัดหัวข้อที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งด้วยค่ะ

………..

ที่ประเทศไทย ติดตามเนื้อหาเหล่านี้ได้ที่ เพจ Cheevamitr ชีวามิตร และเตรียมตัวรับมือกับช่วงสุดท้ายของชีวิตได้ด้วย สมุดเบาใจ และหนังสือแสดงเจตนาการเลือกรับการรักษาในช่วงท้ายของชีวิต (Living Will) ค่ะ

ดาวน์โหลดได้ที่นี่ค่ะ

สมุดเบาใจ – https://peacefuldeath.co/…/baojai-notebook_design-ver5.pdf

Living Will – https://cheevamitr.com/living-will