การอบรมสุขภาพจิต 2018

รายงานการอบรม โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครให้คำปรึกษาแก่หญิงไทยที่แต่งงานกับคนต่างชาติ ณ โรงแรม เอส ดี อเวนิว ถนนบรมราชชนนี กทม วันที่ ๖-๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑
สรุปการอบรม วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๑

วัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาสาสมัครให้คำปรึกษาแก่หญิงไทย
– ส่งเสริมสร้างเครือข่ายช่วยเหลือหญิงไทยที่แต่งงานกับคนต่างชาติ
– เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ รวมด้วยช่วยกัน ทั้งหญิงไทยและคนไทยในต่างประเทศ
– เสริมสร้างทักษะการช่วยเหลือให้คำปรึกษาต่าง ๆ

กิจกรรมของโครงการในอาทิตย์นี้
– การเสวนาประสบการณ์จากต่างแดน
– ดูงานที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี
– เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์
– วาระกับ รมต. และการทำงานของ พม. เพื่อคนไทยในต่างประเทศ
– การประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่าง ๆ
– การบรรยายโดยวิทยากร

เวทีเสวนา “เล่าสู่กันฟัง ประสบการณ์จากต่างแดน”
ดำเนินรายการโดย นางวรรภา ลำเจียกเทศ ผอ. ศูนย์ส่งเสริมและประสานงานการพัฒนาสังคมไทยในต่างแดน (ศส. ตปท.)

– ครอบครัวไทยแหว่งกลาง พ่อแม่ทำมาหากิน ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย
– ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี พัฒนาบ้านเมืองให้แข็งแรง เรื่องการสร้างความสนใจใฝ่รู้ ทำเรื่อง Mindset เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ถ้าประชาชนรู้สิทธิก็จะไม่ถูกเอาเปรียบ
– พม. มีกฎหมายต้องดูแล ๒๔ ฉบับ กลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มมีกฎหมายและระเบียบรองรับ
– คนทำงานด้านสังคมจึงต้องศึกษากฎหมายเหล่านี้ด้วยจะได้ช่วยกลุ่มเป้าหมายได้จริง
– เราประสานงานกับกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งมีทีมสหวิชาชีพลงไปชุมชนที่มีคนไทยเกินหมื่นคน มีศูนย์ดำรงธรรมอยู่ในสถานกงสุลทั่วโลก ในเมืองไทยมีอยู่ทุกจังหวัด
– ศูนย์ฯเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามทำงานกับคนไทยในต่างประเทศให้เป็นหน่วยเดียวกัน คนไทยในต่างประเทศประสานงานได้ที่สถานกงสุล หรือโทร ๑๓๐๐ ทุกเรื่องราว
– การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อยลง เป็นปัญหาหลัก
– พม. มีสื่อสารพัดเรื่องป้องกันการค้ามนุษย์
– ผลประโยชน์ในพื้นที่ ผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้แก้ปัญหาได้ยากมาก
– ภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในลำดับที่ ๙ จาก ๑๐ อันดับในเอเชีย คนไทยไม่มั่นใจที่จะพูด

นางนงลักษณ์ ใจสงฆ์ เทร็พพ์ (ยุโรป)
– ไปอยู่ต่างประเทศในช่วงหลังสงครามเวียดนาม ยุคจีไอครองเมือง ภาพลักษณ์ของหญิงไทยในต่างประเทศยังเป็นเรื่องค้าบริการเพศ
– สถานการณ์พาไป จะทำอย่างไรไม่ให้เขาคิดว่าคนไทยเป็นอย่างนี้หมด และทำไมหญิงไทยต้องทำงานแบบนี้
– ได้ทำงานแปลช่วยเหลือในเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล พบว่าหญิงไทยถูกกีดดันทางเพศทางสีผิว จึงคิดทำอะไรสักอย่าง
– จึงเริ่มทำเครือข่ายเล็ก ๆ แล้วกระจายเป็นเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป งานของเครือข่ายเน้นการส่งเสริมทักษะมากกว่าการช่วยเหลือ โดยผ่านภาคีต่าง ๆ
– อุปสรรค องค์กรเอกชนเสนอความคิดหรือโครงการ ก็จะไปติดเรื่องกฎหมายหรือระเบียบต่าง ๆ เช่น เรื่องสถานะทางเพศ
– เคสยาก ๆ คือ (๑) เรื่องสถานะทางเพศ ที่กฎหมายไทยยังให้การรับรองน้อยกว่าต่างประเทศ ทั้งที่สังคมไทยเองเปิดกว้างกับการแสดงออกถึงแนวโน้มทางเพศ (๒) การสร้างเอกลักษณ์ของคนไทยในต่างประเทศที่เน้นเชิงพัฒนาสังคม ครอบครัว ไม่ใช่ทางด้านวัฒนธรรมอย่างเดียว (๓) การส่งเสริมให้ชุมชนไทยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเจ้าของบ้าน เขายังไม่อ้าแขนรับพวกเรา เราต้องแสดงความเท่าเทียมเสมอภาค เขาจึงจะรับ อาจเกิดจากปัญหากีดกันผิว เขาอาจยอมรับผิวเผิน ทันทีที่เราก้าวผิด เขาจะบอกว่าเราเป็นคนต่างชาติคนแปลกหน้า (๔) การจัดกิจกรรมในต่างประเทศ มีหลายกองหลายกรมมาส่งเสริม จนเราสับสนว่าจะไปติดต่อที่ไหน อยากให้ผนึกเป็นหน่วยเดียว หรือมีผู้ประสานงานหลัก (๕) อยากให้ไปจัดงานที่ประเทศอื่นนอกเหนือจากเยอรมนีบ้าง เพราะปัญหาที่เจอก็เหมือนกัน เขาก็ต้องการความช่วยเหลือเหมือนกัน การแก้ไขปัญหาในกลุ่มเล็ก ๆ อาจจะมีผลมากกว่าการไปแก้ปัญหากับคนกลุ่มใหญ่มาก น่าไปนำร่องที่สวีเดน นอร์เวย์ หรือประเทศเล็ก ๆ อื่น ๆ ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำนวนคนไทยมีมากน้อยแค่ไหน

นางวิริน ทาเคดะ (ญี่ปุ่น)
– เป็นนักเรียนทุนที่ญี่ปุ่น เรียนด้านจิตวิทยาให้คำปรึกษาโดยตรง ได้แต่งงานกับคนญี่ปุ่นแล้วกลายเป็นแม่บ้าน
– บุตรสาวคนโตเป็นแรงบันดาลใจ ขอถวายชื่อจากพระเทพฯ กลายเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ ทำให้มีคนโทรมาขอคำปรึกษาเรื่องหญิงไทยที่มาโดยไม่มีวีซ่า และต้องการแต่งงานกับคนญี่ปุ่น เป็นประสบการณ์ช่วยเหลือคนอื่นครั้งแรก
– ปัญหาภาษาเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ไวยกรณ์ภาษาญี่ปุ่นยากมาก นิสัยผู้ชายญี่ปุ่นไม่ชอบพูดมาก มองตากันก็รู้ ซึ่งต่างกับนิสัยผู้หญิงไทยที่ชอบพูดชอบถาม ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในครอบครัว
– ลักษณะร่วม – ไม่รู้ภาษา การศึกษาน้อย มีภาระส่งเสียครอบครัวในเมืองไทย เรื่องการจุนเจือครอบครัวเป็นเรื่องที่สามีญี่ปุ่นไม่เข้าใจ
– วิธีการเลี้ยงลูกก็ต่างกัน อาหารไทยเขาก็ไม่ชอบ วัฒนธรรมที่แตกต่าง หญิงไทยมักจะทุกข์ใจเรื่องเหล่านี้
– ส่วนใหญ่จดทะเบียนสมรส เพราะจะทำให้ขอวีซ่าอยู่ญี่ปุ่นได้
– อยากให้คนไทยมีใจใฝ่รู้มากกว่านี้ คนไทยมีนิสัยชอบพึ่งคน ชอบถามคนอื่น แต่ไม่ค้นคว้าเอง ขี้เกียจอ่าน แต่ขยันอ่านเรื่องชาวบ้าน
– เราอยากพัฒนาศักยภาพคนไทย เรื่องความคิด เรื่องภาษา เรื่องดูแลสุขภาพ เราได้ทำหนังสือคู่มือสุขภาพแปลจากภาษาญี่ปุ่น รณรงค์เรื่องตรวจสุขภาพทุกปี
– น้องจิตอาสาในทีม มีใจรัก ถูกหลอกง่าย เพราะเรายินดีให้ความช่วยเหลือ เราไม่ตัดสินเบื้องหลังว่าเขามาอย่างไร เป็นส่วนดีของคนไทย
– การค้ามนุษย์ที่ญี่ปุ่น มาจากอีสาน (อุดร) แม้เขาจะรู้ เขาก็ยังต้องการไปตายเอาดาบหน้า ทำอย่างไรจะเปลี่ยนทัศนคติของเขาได้ เวลาเจอปัญหาก็มาลงที่พวกเรา เราลงขันกันช่วย ตั้งกล่องบริจาค จะเกิดบ่อยในญี่ปุ่น
– ที่น่าเป็นห่วงมากคือ ผู้ติดยาเสพติด เป็นเคสที่เราไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเด็กอาจติดมาจากประเทศไทยแล้วไปต่อที่ญี่ปุ่น การเป็นตัวจำหน่ายเป็นเรื่องง่ายที่สุดที่จะได้เงินเยอะ อาจมีแก๊งอยู่เบื้องหลัง เขาไปแบบเป็นทีม short gun ขนยาเสพติด ๑๔ คน ถ้าสถาบันครอบครัวไม่เปลี่ยนจิตสำนึก ไม่เป็นตัวอย่างที่ดี ก็จะแก้ไขที่เด็กลำบาก ความสุขในครอบครัวก็จะเป็นเกราะป้องกันให้ลูก
– ทุกอย่างเน้นต้นทางและปลูกฝังสำนึกในจิตใจ

ดร วีรพล วิชชุรังสี (พม.)
– การศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำของชนชาติพันธุ์ (ชนกลุ่มน้อย) ไปอยู่ชายแดนพม่าหนึ่งปี ดูว่าชาวไทยใหญ่หรือชาวไต มีวิถีอย่างไร นำเสนอตัวคนอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นำมาเปรียบเทียบกับคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศน้ำ ๆ
– ทำไมคนไทยแต่งชุดไทย ร้องเพลงไทย รักษาความเป็นไทยในต่างแดน เพราะเขาพยายามแสดงออกถึงความเท่าเทียมกับชนกลุ่มใหญ่ในประเทศนั้น
– การพัฒนาสังคมไทยในต่างประเทศโดยการพัฒนา ส่งเสริม คุ้มครอง เราจึงได้เปิดศูนย์ส่งเสริมฯ คนไทยในต่างประเทศ เป็นความพยายามบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำเรื่องคนไทยในต่างประเทศให้เป็นหน่วยเดียวกัน ออกเป็นประกาศกระทรวงภารกิจการพัฒนาสังคมในต่างประเทศ
– แผนปฏิบัติการ ๒๘ กิจกรรม ๙ กลไก กิจกรรมตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง จัดอบรมเตรียมความพร้อมที่ศรีษะเกษและขอนแก่น

นายปณต เกียรติก้อง (กรมการกงสุล)
– หญิงไทยที่แต่งงานกับคนต่างชาติ ความคิดเห็นส่วนตัว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป คิดว่าประสบความสำเร็จ มีสามีที่มีหน้าที่การงานที่ดี
– ก่อนที่หญิงไทยจะแต่งงาน มีประเด็นหลักสองสามประเด็น แรกสุด ต้องศึกษาวัฒนธรรมประเพณีของชายหนุ่มชาตินั้นก่อน อย่างที่สอง ดูเรื่องหน้าที่การงาน ทำอะไร ความมั่นคง ประวัติครอบครัว เคยสมรสมาก่อนหรือไม่ อย่างที่สาม การวางแผนว่าจะไปอยู่ประเทศไทย ทำงานอะไรหรือเป็นแม่บ้าน อย่างที่สี่ หญิงไทยต้องมีเกียรติ ต้องทำงาน แม้จะเป็นแม่บ้านก็ทำหน้าที่อย่างฉลาด หรือไม่ให้คนต่างชาติคิดว่าเรางอมืองอเท้าไม่ทำงาน การทำงานเป็นศักดิ์ศรีของหญิงไทย และช่วยในการดำรงอยู่ในสังคมต่างแดน
– เมื่อไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ก็ต้องดูเป็นรายบุคคล รายประเทศ เช่น ไปอยู่ตะวันออกกลาง ถูกจำกัดเสรีภาพ ถูกยึดหนังสือเดินทางไว้ ไม่ให้ไปไหน หรือเคสเมืองจีน ผู้ชายหาภรรยายาก เพราะหญิงจีนมีมาตรฐานสูงมาก ต้องมีบ้านมีรถ เขาก็จะมาหาทางเมืองไทยผ่านเอเย่นต์ เปิดปัญหาเรื่องยึดหนังสือเดินทางเช่นกันหรือทวงคืนเงินสินสอด นายหน้ายึดสินสอดไว้บางส่วน
– เคสส่วนใหญ่ที่กรมการกงสุลให้ความช่วยเหลือ เป็นกรณีของหญิงไทยที่รู้จักกับคนต่างชาติอย่างผิวเผิน แล้วถูกหลอกให้ไปทำงาน หลอกว่าจะให้ไปทำงานต่างประเทศ หลอกให้ไปลงทุนทำงาน (เปิดร้านนวด) หลอกให้ไปวีซ่าท่องเที่ยวแล้วเปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงานที่เมืองนอก หญิงไทยเราศึกษาผู้ชายน้อยไป และไม่เข้าใจว่าการไปทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย และมีเงื่อนไขมากมาย
– มีระเบียบราชการช่วยคนตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ
– มี Watch List สำหรับกลุ่มคนที่เคยไปทำความผิดต่างประเทศ (ค้ายาเสพติด ค้าประเวณี อาชญากรรมอื่น ๆ) ซึ่งจะมาโยงเรื่องการต่ออายุหนังสือเดินทาง

คำถาม-คำตอบ-ความคิดเห็น
๑. (อเมริกา) วัฒนธรรมของประเทศตะวันออกกลาง และชีวิตครอบครัวที่มีการปกป้องผู้หญิงสูง
๒. (ญี่ปุ่น) การศึกษาความเป็นมาของคนต่างชาติ เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะส่วนใหญ่ผ่านเอเย่นต์ บางทีเขาให้กงสุลไทยช่วยเช็ค กงสุลทำหน้าที่นี้ได้ไหม ตอบ (ปณต) กงสุลใหญ่ไม่มีหน้าที่เช็ค อาจจะรู้จักกันเป็นการส่วนตัว
๓. (โสพิศ – เบลเยี่ยม) มองข้ามความช่วยเหลือไปสู่ขั้นการพัฒนา คนไทยเหมือนชนกลุ่มน้อยที่เมืองนอก กิจกรรมที่จับต้องได้คืออะไรบ้าง ตอบ (วีรพล) จัดกิจกรรมผ่านองค์กรสาธารณประโยชน์
๔. (โสพิศ) การเตรียมความพร้อมบางอย่าง เช่น รำไทย นวด สปา เป็นการเตรียมจนล้นแล้วหรือเปล่า ตอบ (วรรภา) พม. ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ต่างประเทศ เราไปดูความต้องการด้วย เราไม่ได้เหมาโหล เราต้องอาศัยเครือข่ายที่ต่างประเทศด้วย เดือนกันยายนเราจะเอาโมเดลไปถามพี่น้องที่เยอรมนี เพื่อให้ meet the need
๕. (ฮ่องกง) หญิงไทยแต่งงานกับคนผิวสีมาหลายปีที่ฮ่องกง แล้วถูกหลอกให้ขนยาเสพติดแล้วถูกจับ เรามีเครือข่ายหญิงไทยในคุก ถ้าเขาอยากกลับมารับโทษที่เมืองไทย พอจะมีแนวทางหรือไม่ ตอบ มีสองส่วนเรื่องผู้ร้ายข้ามแดน กับเรื่องนักโทษ ฮ่องกงใช้กฎหมายเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่หรือเปล่า ถ้ามีก็ทำเรื่องของโอนตัวได้ เป็นแนวทางทั่วโลกที่นักโทษต้องทำเรื่องกับทางเรือนจำ
๖. (นรี – ยูเค) ขอเสนอแนะ จิตอาสามีความสามารถในต่างประเทศมีหลายคน อยากให้ทาง พม. นำบุคคลเหล่านี้มาทำงานดีกว่าไหม เพราะเขารู้พื้นที่ ใช้งานให้ถูกคน ตอบ (ปณต) เครือข่าย พม. และทุกท่านจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือคนไทยด้วยกันยามตกทุกข์ได้ยาก
๗. (น้ำทิพย์ – ฝรั่งเศส) สมาคมไทยโพรวองซ์ทำอยู่ เรื่องแม่อายุน้อย เกี่ยวเนื่องไปถึงต่างประเทศ ถ้าพัฒนาคนไทยในบ้านเราไม่ได้ แล้วจะแก้ไขคนไทยในต่างประเทศ
๘. (จงเจริญ – เยอรมนี) ทำไม พม. ไม่จัดหาล่ามที่เหมาะกับแรงงานต่างชาติในไทย ทั้งที่เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้มาก ตอบ (วรรภา) กฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นล่ามที่ได้รับอนุญาตโดยศาลและมีใบอนุญาตทำงาน ทำให้เป็นอุปสรรค
๙. (จงเจริญ) ผู้หญิงไทย ๙๐ เปอร์เซ็นต์ประสบความสำเร็จในการแต่งงานกับชาวต่างชาติจริงหรือ การศึกษาของคลินิกหญิงไทยขอนแก่นระบุว่าจำนวนหญิงไทยที่รู้สึกมีความมั่นคงในชีวิตสมรสข้ามวัฒนธรรมมีเพียง ๖๕ เปอร์เซ็นต์

สรุป
การเสวนากล่าวถึงครอบครัว ทัศนคติ (Mindset) ประเด็นยาเสพติด การเพิ่มความรู้ การปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย การบูรณาการความร่วมมือ การเข้าใจวัฒนธรรม เรื่องของการยอมรับ หญิงไทยไปที่ไหนต้องมีศักดิ์ศรี จิตอาสาต้องรู้ระเบียบการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จิตอาสาที่มีความพร้อม

วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๑ (ดูงาน)

สถานที่ : บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (http://www.apsw-thailand.org)

คุณณัฐิยา ทองศรีเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ – บรรยายต้อนรับคณะชมงาน

ความเป็นมาของบ้านพัก
สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เป็นองค์กรเอกชนสาธารณกุศล ซึ่งไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2523 โดย แม่ชีคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ ซึ่งท่านมองเห็นการเลือกปฏิบัติ ต่อสตรีและความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศอันนำไปสู่การลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล เอารัดเอาเปรียบ ผู้หญิงและเด็กในหลายลักษณะ (all forms of violence against women and girls) เช่น ล่อลวง ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ บังคับให้ค้าประเวณี จนนำไปสู่ปัญหาท้องเมื่อไม่พร้อม บ้างก็ถูกทารุณกรรม ทอดทิ้ง ติดเชื้อ HIV/AIDS จากบุคคลในครอบครัว ฯลฯ จึงก่อกำเนิดเป็นโครงการบ้านพักฉุกเฉิน เพื่อเป็นที่พักพิงชั่วคราวทั้งทางกายและใจให้แก่ผู้หญิง และเด็กที่เดือดร้อนซึ่งประสบปัญหาวิกฤตในชีวิต ให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย อาหาร ดูแล สุขภาพอนามัย รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำ การให้ทักษะชีวิตและกำลังใจ ใช้หลักการสังคม สงเคราะห์และกระบวนการจัดกลุ่มบำบัดทางจิต การส่งเสริมความรู้และฝึกอาชีพ เพื่อนำไปสู่ความเชื่อมั่นในตนเองสามารถ ดำ

เนินชีวิตในสังคมได้ปกติสุข ทั้งนี้ในแต่ละวันมีผู้หญิงและเด็กที่เดือดร้อนพักอาศัยประมาณ 70-80 คนต่อวัน โดยมี นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาเป็นผู้ให้การดูแล ทั้งยังรับปรึกษาทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมงโทร. 02-9292222

ผู้เข้าพักพิงจะได้รับการฝึกอบรมอาชีพอย่างน้อยหนึ่งหลักสูตรเพื่อให้ออกไปแล้วสามารถช่วยตัวเองได้ ได้แต่อาชีพเสริมสวย นวด เย็บจักรอุตสาหกรรม ช่างตัดเสื้อ ทำขนมอบ ขับรถยนต์ คอมพิวเตอร์เบื้องต้น ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ตุ๊กตาผ้า ทำงานฝีมือต่าง ๆ และยังมีเรียนการศึกษานอกโรงเรียน

เมื่อผู้เข้าพักพิงได้ออกจากบ้านพักฯไปแล้ว ก็จะมีการติดตามต่อเนื่องว่าสามารถบูรณาการกับชีวิตใหม่ได้จริง บางรายประสบความสำเร็จ กลับมาอย่างสง่างาม เช่น มาเลี้ยงอาหาร มาให้ความช่วยเหลือ รายที่ประสบความสำเร็จมีประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ บางส่วนมีปัญหาซ้ำ กลับมาแล้วกลับมาอีก มักเป็นปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว

ในกรณีท้องไม่พร้อม บ้านพักฯยังมี “หลักสูตรสอนการดูแลครรภ์” ให้กับแม่วัยรุ่นหรือแม่ที่ยังไม่พร้อมหรือตระหนักกับภาวะความเป็นแม่ มี “หลักสูตรอนามัยแม่และเด็ก” ปีละสองครั้ง มี “การทำงานกับผู้ปกครอง” เสริมสร้างความเข้าใจระหว่างพ่อแม่ลูก มีการจัดรับบุตรบุญธรรมในกรณีที่ไม่ต้องการเก็บเด็กไว้ ซึ่งปัจจุบันมีการส่งเด็กเป็นบุตรบุญธรรมน้อยลงมาก เนื่องจากแม่เด็กและพ่อแม่ของแม่เด็กเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น เมื่อเด็กกลับบ้านพร้อมลูกแล้ว ทางบ้านพักฯ

ยังติดตามช่วยเหลือด้วยผ้าอ้อม นมเด็ก เสื้อผ้าเด็ก ของใช้เด็กอ่อน จนอายุประมาณหนึ่งขวบครึ่ง

นอกจากนี้ยังมี “โครงการเพิ่มต้นทุนชีวิตให้แม่วัยรุ่น” โดยส่งเสริมให้แม่กลับไปเรียนหนังสือต่อและฝากลูกไว้ที่บ้านพักฯ เด็กที่เรียนสำเร็จจะได้รับเงินช่วยเหลือย้อนหลังเดือนละ ๑๕๐๐ บาท เพื่อเป็นต้นทุนชีวิตต่อไป

บ้านพักมี “โรงเรียนทำใจ” ซึ่งเป็น group support ให้ผู้ประสบปัญหาได้มาแลกเปลี่ยนและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะคนที่ผ่านพ้นประสบการณ์มาได้ จะมาให้กำลังใจคนที่ยังหาทางออกอยู่ มีกิจกรรมบำบัดเป็นกลุ่ม (group counselling) บำบัดรายบุคคล (individual counselling) ทำศิลปะบำบัด (art therapy) และประเมินสภาวะทางจิตวิทยา

เกี่ยวกับคนทำงาน
คุณณัฐิยา ทองศรีเกตุ ทำงานกับบ้านพักฯได้ ๒๘ ปีแล้ว โดยมีแรงบันดาลใจจากการได้พบกับแม่ชีคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญและประทับใจกับการอุทิศตนของท่าน ประกอบกับชอบช่วยเหลือคนอยู่แล้วและเรียนจบด้านจิตวิทยา จึงผันตัวจากการเป็นครูมาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ แม้เงินเดือนจะไม่มากแต่ชีวิตไม่เคยเดือดร้อน มีครอบครัวที่เข้าใจ มีพี่น้องที่คอยให้ความช่วยเหลือ ความสุขจากการทำงานคือการได้เห็นความสำเร็จของสตรีและเด็กหญิงที่ผ่านเข้ามาใช้บริการบ้านพักฉุกเฉิน

คุณนงลักษณ์ ใจสงฆ์ เทร็พพ์ กล่าวขอบคุณคุณณัฐิยาและทีมงาน สำหรับการต้อนรับและการบรรยาย

หลังจากนั้น คณะฯได้เยี่ยมชมสถานที่ โดยมีผู้ช่วยนักสังคมสงเคราะห์สองท่านเป็นผู้ดูแล

วันที่ ๗ สิงหาคม สรุปข่าวพิธีเปิดโดย พม.
https://www.facebook.com/100004630260474/posts/1112508375580161/

สรุปการอบรมวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๑

“ครอบครัวไทยและตะวันตก” – การบริหารความคาดหวัง

๑) กิจกรรมทำความรู้จักกัน โดยไปหาคนที่ไม่รู้จักและแนะนำในสิ่งที่เป็นจุดดีของเราสั้น ๆ แล้วเปลี่ยนไปเป็นคนอื่นเรื่อย ๆ
สิ่งที่ได้เรียนรู้ การสะท้อนจากคนที่เราไม่รู้จัก ช่วยยืนยัน (validate) คุณลักษณะบางประการของเราได้ (เช่น ความมีอัธยาศัย ความเป็นมิตร)
๒) คุณสมบัติของความคาดหวังในใจเรา มีทั้งกว้าง ทั้งเฉพาะเจาะจง ทั้งเชิงนามธรรม การมีความคาดหวังไม่ใช่ปัญหาในตัวของมันเอง แต่อยู่ที่ว่าเราปรับระดับความคาดหวังให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงได้หรือไม่ ในขณะเดียวกันความคาดหวังก็จะวางแนวทางในสิ่งที่เราจะเลือก ในความคาดหวัง มีพื้นที่ที่เราพอจะควบคุมได้ ภายใต้ความคาดหวังคืออะไร คือ การสร้างความหมายในชีวิต ความรู้สึกมีคุณค่า ความสุข ความสัมพันธ์ที่ดี
๓) ทำความรู้สึกพื้นที่ของความสัมพันธ์ ก่อนที่ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น กิจกรรม ผู้เข้าร่วมอ่านใบงาน “กติกาความรักความสัมพันธ์” (ตามตารางข้างล่าง) และเลือกในสิ่งที่เห็นด้วย ๕ ข้อ และอภิปรายในกลุ่ม ๖-๗ คน ที่มาจากหลากหลายประเทศ และมีสมาชิกผู้ชายหนึ่งคน
– เป็นตัวเอง
– จัดการอดีตให้เรียบร้อย
– คุณจะไม่มีความสุขกับคู่ของคุณ จนกว่าคุณจะเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับตัวเอง
– อย่าเลือกคนผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
– เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้
– รู้จักเขาให้มากพอจากบททดสอบในเหตุการณ์ต่าง ๆ
– ถ้าไม่ไว้วางใจกัน ความสัมพันธ์ก็เดินต่อไปไม่ได้
– ซื่อสัตย์ต่อกัน “ไม่บอกได้ แต่อย่าโกหกให้เข้าใจผิด”

– ค้นหาเป้าหมายร่วมกัน
– เราไม่สามารถทำให้ใครมารักเราได้
– ให้เขามีพื้นที่ส่วนตัว
– มองหาข้อผิดพลาดของตัวเอง
– อย่าถกเถียงในเรื่องเล็กน้อย มักมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย
– อย่ารู้สึกแย่ ถ้าเขาต้องการพื้นที่ส่วนตัว
– แยกการเงินออกจากกัน แต่ใจดีต่อกันในเรื่องการเงิน
– จุดที่คุณยืนในปัจจุบัน เป็นผลของการตัดสินใจเลือกในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต
– ให้เวลา
– ฝึกอ่านภาษารักของเขา “สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาทำ โดยไม่จำเป็นต้องทำ เป็นวิธีแสดงความรัก”
– ยอมรับความแตกต่าง
– กล้ากล่าวคำขอโทษ


– รู้ว่าเมื่อไรควรฟัง
– อย่าหยุดดูแลตัวเองให้ดูดี
– พูดจาภาษารัก
– อย่าพยายามเป็นพ่อแม่เขา
– ถ้ามีสิ่งกวนใจให้เปิดประเด็นพูดคุย
– ใส่ใจด้วยความจริงใจ
– อย่าโยนความรับผิดชอบไปให้เขา
– จัดเวลาสำหรับความโรแมนติก
– แบ่งเบาภาระให้กัน
– อย่ากระแนะกระแหน
– คู่ของเขาสำคัญกว่าลูกของเรา
– อย่าพยายามควบคุมกัน
– ฝึกฟังในสิ่งที่เขาไม่ได้พูด
– การถกเถียงในเรื่องเล็กน้อย มักมีสาเหตุอื่นมาร่วมด้วย
– อย่ารู้สึกแย่ ถ้าเขาต้องการพื้นที่ส่วนตัว
– เอาใจเขามาใส่ใจเรา มองจากมุมเขาให้เป็น
– แต่งกับใคร เราได้ญาติของคนนั้นมาด้วย
– ฟังเสียงจากภายในใจตัวเอง
– ปฏิบัติต่อเขาอย่างถูกต้อง ไม่ว่าเขาจะปฏิบัติต่อเราอย่างไร

๔) การบริหารความคาดหวัง ผู้เข้าร่วมช่วยกันตอบคำถามความคาดหวังต่อชีวิตคู่ และอภิปรายความคิดเห็น (๑) ความคาดหวังต่อตัวเอง (๒) ความคาดหวังต่อบุคคลที่จะมาเป็นคู่ (๓) ความคาดหวังที่คาดว่าคู่ของเรามีต่อเรา โดยแบ่งเป็นความคาดหวังเมื่อ “กำลังจะสมรส” และ “ในภาวะปัจจุบัน”
สิ่งที่ได้เรียนรู้


§ เรามักจะไม่รู้ว่าเราคาดหวังอะไร จนกว่าเราจะผิดหวังในสิ่งนั้น ๆ
§ ความคาดหว้งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปตามเวลา โอกาส และประสบการณ์
§ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ แต่เราปรับตัวเองได้
§ เราไม่ควรคาดหวังสูง ควรมีความยืดหยุ่น
§ วิธีการตั้งคำถามกลยุทธ์ ตั้งคำถามเป็นกระบวนการ
§ ไม่ควรกำหนดภาพตายตัว (Stereotype) ของหญิงไทยในต่างแดนในรูปแบบตายตัว
§ การได้สิ่งที่ยืนยันในแนวคิดและการปฏิบัติของตัวเอง
§ ความแตกต่างในบริบทของหญิงไทยในยุโรปและในเอเชีย
§ กติกาความรักความสัมพันธ์ช่วยทำให้เรามองเห็นในสิ่งที่เราไม่สนใจมาก่อน เป็นการยืนยันทางวิชาการ
§ แต่ละกลุ่มให้ความสำคัญกับรายการนี้ต่างกัน ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมบางคนเลือกทางเลือกบางอย่างไม่เหมือนกัน
§ ได้เรียนรู้ว่าความคาดหวังคืออะไร ได้รู้จักตัวเอง ความคาดหวังต่อตัวเองและความคาดหวังต่อคนอื่น
§ ต้องดูว่าผู้เดือดร้อนเขาต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า ความหวังดีของเราอาจจะทำให้เขามีความทุกข์
§ นำสิ่งที่ได้ไปปรับใช้ตามความแตกต่างทางวัฒนธรรม
§ ข้อแนะนำ นำรายการนี้ไปแลกเปลี่ยนกับคนในครอบครัว และเลือกข้อใดข้อหนึ่งมาปฏิบัติร่วมกัน โดยแปลงให้เป็นกิจกรรมให้เป็นรูปธรรม

สรุปการอบรมวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๑

ความคาดหวัง และ ความรุนแรงในครอบครัว
กิจกรรมที่ ๑
ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันที่ผ่านมา “สิ่งที่ได้เรียนรู้” “สิ่งที่จะนำไปใช้กับตัวเอง” “สิ่งที่จะนำไปใช้กับผู้อื่น”
กิจกรรมที่ ๒
แบบสอบถามความรุนแรงทางกายในชีวิตคู่ และการอภิปรายความต้องการของผู้เข้ารับการอบรม ที่อยากให้เน้นเรื่องความรุนแรงทางจิตใจ
กิจกรรมที่ ๓
ฝึกการหายใจแบบจี้กง
กิจกรรมที่ ๔
เข้าใจความรู้สึกภายในของเราเอง
ในมุมคิดของ Satir Model ท่าทางต่างๆ สามารถกระตุ้นความทรงจำที่ฝังไว้ของเราได้ คู่ครองหรือคนที่อยู่ด้วยกันนาน ๆ เริ่มจากรัก เมื่อผ่านความขัดแย้งบ่อย ๆ ก็กลายเป็นเบื่อหน่าย รำคาญ เกลียด จนไปถึงมองหน้าไม่ได้แล้ว
ความรุนแรงในครอบครัวเป็นการกล่าวโทษขั้นสูงสุด บางครั้งไม่ได้เริ่มจากความตั้งใจทางร้าย แต่ค่อย ๆ เกิดการเร้าอารมณ์ จนกลายเป็นความเคยชินและเกลียดชัง
คนที่ถูกทำร้าย ต้องจัดการที่ต้นทาง
การตีท่าทางโดยผู้เข้าร่วม (โปรดอ่านเปรียบเทียบกับการตีความโดยหลัก Satir ข้างล่าง)
ท่าที่หนึ่ง (Begging) นั่งคุกเข่าข้างหนึ่ง กอดอกด้วยมือหนึ่งข้าง มืออีกข้างยกขึ้นเหมือนขอร้อง เป็นท่าทางของคู่ที่อยู่ในระหว่างความขัดแย้ง


สารที่ส่งออกมาจากท่าทางนี้
“สงสารฉันหน่อยได้ไหม”
“เรากำลังขออะไรบางอย่าง”

“ทำให้รู้จักถ่อมตัว”
ท่าที่สอง (Aggressing) มือขวาท้าวสะเอว ย่อตัว เท้าซ้ายก้าวไปข้างหน้า มือซ้ายชี้ไปข้างหน้า ปากตะโกน ผลกระทบของท่านี้ต่อความสัมพันธ์ดังต่อไปนี้
“น่าเกลียด เป็นท่าที่ไม่น่าดู ไม่ควรแสดง”
“กำลังโกรธ”
“ไม่สะดวกใจ”
“มีอำนาจ เป็นผู้ควบคุม”
“ฟังฉันหน่อย”
“อยากทำท่านี้มากที่สุดในชีวิต เราโหยหาอยากทำ แต่ทำไม่ได้”
“ผู้หญิงรู้สึกว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ทำแบบนี้ ต้องรักษาภาพพจน์ เป็นการเก็บกด”

“เหมือนตัวเอง และเราควรจะลดลง”
“เสียใจ เพราะเคยทำท่านี้กับลูก”
ท่าที่สาม (Indifferent) นั่งตัวตรง มือไขว้กัน มือข้างหนึ่งคีบบุหรี่ หน้าเชิดหน่อย หลับตา
“ใช้ความคิด ไตร่ตรอง”
“ฉันไม่แคร์”
“อยู่เหนือคนอื่น เราไม่สนใจ สะใจ”
“ปล่อยวาง ปลง ช่างมัน ไม่หนัก”
“มีความหวัง มองข้างบน มีทางไป”
“หยิ่ง เชิดหน้า เพิกเฉย ปิดกั้น ละเลย”
“อบอุ่น ร่างกายเซฟ ปลอดภัย”
“กำลังฟัง นึกคิดตาม”
“จะเผชิญกับอะไร ก็ยอมรับ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แต่เครียดพอสมควร”

ท่าที่สี่ (Freedom) เคลื่อนไหวอย่างไรก็ได้ บิดตัว ไม่อยู่นิ่ง ไม่มีข้อจำกัด ละทิ้งความเป็นตัวตน ทำท่านี้อย่างเป็นอิสระ
“อิสรเสรี โบยบิน”
“การปลดปล่อย พื้นที่ส่วนตัว เซฟโซน”

“ปล่อยแก่”
การตีความท่าทางทั้งสี่โดยหลักจิตวิทยาแบบ Satir Model

แบบที่หนึ่ง คือ ท่าสมยอม (Placater) คือคนที่ละเลยความต้องการของตัวเอง ตอบสนองความต้องการของอีกฝ่าย และสถานการณ์ในตอนนั้น ถ้าทำนาน ๆ ครั้งไม่เป็นไร แต่ถ้าทำเป็นอุปนิสัยจะเกิดปัญหาโรคซึมเศร้าและอื่น ๆ


 การพยายามเอาใจ
 ขอโทษขอโพย
 ตอบรับเสมอ
 อะไรก็ได้ที่คุณต้องการ
 ไม่มีคุณ ฉันอยู่ไม่ได้
 รู้สึกมีคุณค่าจากการยอมรับ
 ไม่สามารถแสดงอารมณ์โกรธ
 เก็บอารมณ์ต่าง ๆ
 โรคซึมเศร้าและอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ
แบบที่สอง ท่ากล่าวโทษ (Blamer) เธอไม่มีความสำคัญ ฉันสำคัญ เช่น แม่ดุด่าลูก แม่คิดว่าตัวเองถูกต้อง คนที่ถูกกระทำจะรู้สึกถูกละเลยความต้องการภายใน เจตนาที่เป็นบวกกลายเป็นความไม่
 จับผิด เผด็จการ ควบคุม
 กระแนะกระแหน วิพากษ์วิจารณ์
 “คุณไม่เคยทำอะไรถูกสักอย่าง”
 “ถ้าไม่มีคุณ สิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้น”
 เหงา รู้สึกไม่เป็นที่รัก โกรธ
 ระแวง ไม่สามารถจัดการความเจ็บปวดหรือความกลัว

แบบที่สาม ท่าจอมเหตุผล (Super reasonable)
 พยายามปกป้องความรู้สึกตัวเอง
 ความรู้สึกท่วม
 มีความเครียดภายใน แต่ใช้ความคิดเข้าแก้ไข
 ตัดความรู้สึกของคู่กรณีออก
 สงบนิ่ง ดูเหมือนเป็นเหตุผล
 คาดหวังให้คนทำร่วมมือทำตาม
 ดูเหมือนไม่มีอารมณ์
 สามารถเลือกคำพูด
 หลีกเลี่ยงที่จะยอมรับผิด
 จัดการเรื่องราวโดยให้เหตุผล
 ไม่ไวกับความรู้สึกของคนรอบข้าง
 ย้ำคิดย้ำทำ ไม่ยืดหยุ่น
แบบที่สี่ ท่า ฉันไม่เกี่ยว (Irrelevant) ช่วงเวลาที่เราทิ้งทุกอย่าง เราคลายเครียด เราสนุกกับชีวิตตลอดเวลา เพื่อหนี เช่น ใช้ยาเสพติด กินเหล้า มีเพศสัมพันธ์ เล่นการพนัน เขาจัดการชีวิตไม่ได้ เป็นวิธีการหนีอย่างหนึ่ง
 ไวกับอารมณ์ อ่อนไหว แต่ไม่กล้าเปิดให้ใคร หรือเปิดให้ใครรับรู้
 เฉไฉ
 พูดมาก เรื่อยเปื่อย ไม่ค่อยอยู่นิ่ง
 ป่วน ไม่มีกาลเทศะ
 ขาดจุดหมาย บางทีเหมือนหลุดโลก
 ไม่สบตา ตอบไม่ตรงคำถาม เปลี่ยนเรื่อง
 “ไม่มีปัญหา”
 ภายใน ตื่นกลัว ไม่ไว้ใจ วิตกกังวล
 ถ้าฉันปฏิเสธปัญหา ปัญหาก็ไม่มีอยู่
 ดื่ม กิน เพศสัมพันธ์ ความบันเทิง

ในแนวของซาเทียร์ บางครั้ง “ตัวปัญหาไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่เป็นปัญหา”

ทำความรู้จักกับซาเทียร์ (ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.happinessisthailand.com/2017/08/satir/)

ซาเทียร์ (Satir) คือ ทฤษฎีทางจิตวิทยาซึ่งให้คำตอบว่า “ความสุขที่แท้นั้น ย่อมเริ่มต้นจากภายในจิตใจของตน ยอมรับตนเอง รัก เข้าใจ เมตตาตนเอง แล้วเผื่อแผ่ การยอมรับ ความรัก เข้าใจ และเมตตาสู่เพื่อนร่วมโลก”

นั่นคือ ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า “ซาเทียร์” ที่เข้าถึงธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์มากที่สุด ซาเทียร์มีแนวทางใกล้เคียงกับหลักธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าซาเทียร์จะถูกค้นพบโดยจิตวิทยาชาวอเมริกัน (เวอร์จิเนียร์ ซาเทียร์ (Virginia Satir) แพทย์บำบัดครอบครัว) ซึ่งเธอพบว่า ปัญหาของคนเราทุกวันนี้ก็คือ “การไม่ยอมรับในตนเองอย่างแท้จริง ไม่เห็นคุณค่า ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง”
คนเราจึงตกอยู่ในสภาพขาดสมดุลทางจิตใจ ผลก็คือ รู้สึกหงุดหงิดอารมณ์เสีย และขาดกำลังใจอยู่เสมอ ตราบใดที่เขารัก เมตตา ยอมรับ และมั่นใจในคุณค่าของตนเองอย่างแท้จริง เขาก็จะรัก เมตตา ยอมรับ และมั่นใจในคุณค่าของผู้อื่น ของเพื่อนร่วมโลก ยังผลให้คนเราจิตใจสบาย สงบ มีปีติสุขในชีวิตมากยิ่งขึ้น

Satir ใช้ทฤษฏี Iceberg (ระดับชั้นต่างๆของภูเขาน้ำแข็ง) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำรวจผลกระทบต่อจิตใจของคนในทุกระดับ ทั้งพฤติกรรม ความรู้สึก (โกรธ เกลียด กลัว รู้สึกผิด รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า) การรับรู้ (ประสาทสัมผัสที่ 5) ความคาดหวัง และตัวตนที่แท้จริง กระทั่ง แก่นแท้ของจิตวิญญาณ

แนวคิดและหลักการของซาเทียร์
1. จะไม่ชิงชังตนเอง หากเรารู้สึกโกรธ เกลียด รัก หรือรู้สึกใดๆก็ตาม จงยอมรับว่ามันคือปกติ คือธรรมชาติของมนุษย์ และตามดูมันเพื่อศึกษาอย่างมีสติ โดยไม่ตกเป็นเหมือนทาสที่โดนบงการ
2. ไม่ลงโทษตนเอง เพราะชีวิตของทุกคนย่อมผิดพลาดได้ ดังนั้นจงอภัยให้ตนเอง
3. ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะว่าความสมบูรณ์แบบไม่มีในโลก
4. ไม่ต้องยิ่งใหญ่หรือสูงส่ง เพราะนั่นรังแต่นำความหนักหน่วงมาให้ (Perfection is diesese) หนำซ้ำยังจะทำให้พบความสุขแท้ได้ยากยิ่ง เราพะชีวิตที่มีความสุขที่แท้ก็คือ ความพอเพียง เรียบง่าย เบาสบาย และ สุขเย็น
5. ไม่ต้องเลียนแบบใคร หรือพยายามใช้ชีวิตให้เหมือนใคร เพราะนั่นคือการฝืนธรรมชาติของตนเอง เพราะเหตุว่า ไม่มีอะไรดีกว่าการเป็น “ตัวเรา”
6. แม้ทุกคนจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่จงมั่นใจว่าคนเราเปลี่ยนแปลงได้ เลือกได้ เลือกที่จะมีความสุข เปลี่ยนแปลง พัฒนา และเติบโตได้อยู่เสมอ
7. มั่นใจในศักยภาพแห่งตน ทุกคนล้วนมีคุณค่าในตนเอง และค้นให้พบขุมพลังอันยิ่งใหญ่ในตัวเรา

สรุปการอบรมวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๑

การดึงเข้ามาอยู่ในปัจจุบัน (Grounding techniques)
การให้คำปรึกษากรณีผู้ประสบความรุนแรงและสะเทือนขวัญ (Trauma)

การดึงเข้ามาอยู่กับร่างกายในปัจจุบัน (Grounding exercises)
๑) กิจกรรมบริหารร่างกายที่ทำให้ใจจดจ่ออยู่กับร่างกาย เป็นฐานของ grounding techniques เป็นการสร้างความตระหนักในร่างกายของเรา อยู่กับความรู้สึกของร่างกายเมื่อมีอารมณ์มาปะทะ แนะนำให้ใช้สำหรับผู้ให้คำปรึกษา อย่านำไปใช้กับผู้มารับการปรึกษา ท่าวอร์มอัพที่ใช้การเคลื่อนไหวเป็นวงกลม
ก. ยืนตามสบาย แยกขาเล็กน้อย ไม่เกร็ง ตั้งศีรษะเหมือนมีเส้นดึงตรงจากกลางศีรษะ
ข. หมุนจมูกเป็นวงกลมขนาดไข่ดาว หมุนทีละด้าน ด้านละสามสี่ครั้ง
ค. หมุนจมูกเป็นจานขนาดใหญ่ หมุนทีละด้าน ด้านละสามสี่ครั้ง
ง. หมุนจมูกเป็นวงขนาดใหญ่ แหงอคอเล็กน้อย
จ. ยกมือสองข้างเสมอหู หมุนแขนซ้ายไปข้างหน้า แขนขวาไปข้างหลัง บิดตัวเล็กน้อย แขนเสมอไหล่ แขนซ้ายอยู่หน้า แขนขวาอยู่หลัง แล้วเอาลง ยกแขนขวามาข้างหน้า แขนซ้ายดันไปหลัง บิดตัว แล้วยกแขนให้เสมอไหล่ แล้วยกเหนือหัว ทำสลับข้างกันไป
ฉ. แกว่งมือซ้ายขวา
ช. กางแขน หันตัวไปทางซ้าย จนหันหน้าไปด้านหลัง หันหน้าไปด้านหน้าแล้วหมุนไปอีกข้าง สลับกันไป หายใจไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องสนใจ แล้วปรับให้มาหายใจเข้าเวลาหันมาข้างหน้า แล้วหายใจออกเวลาหันไปข้างหลัง
ซ. หลักการบริหารเข่า อย่าให้ระนาบของเข่าอย่าให้เกินนิ้วโป้ง นิ้วเท้า ยื่นก้นไปข้างหลัง มือจับเขา หมุนเข่าเป็นวงกลม
ฌ. บริหารข้อเท้า ยืน หมุนข้อเท้ารอบ ๆ ทีละข้างเป็นวงกลม ไปทีละทาง และสลับข้าง

๒) กิจกรรม Body Scan และฝึกลมหายใจ ซึ่งหลังจากทำกิจกรรม grounding ไปแล้ว จะทำให้เราอยู่กับร่างกายและลมหายใจได้ดีขึ้น

ฟังและตรวจสอบความเข้าใจ (Check for understanding)

๓) การฟังให้ได้เนื้อหา สิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก รู้ว่า Stance (จุดยืน) หรือโลกภายในใจของเขา
ก. การอยากรู้รายละเอียด จะไปขัดขวางกระบวนการ เช่น ภรรยาเตะก้านคอสามีจนสลบ เราอาจจะอยากรู้ว่าภรรยาใช้ท่าเตะอย่างไร ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเด็น ในกรณีเช่นนี้ แม้เราจะไม่รู้บริบทแต่เรารับรู้ความรู้สึกของเขาได้ไหม เช่น ตกใจ กลัว ห่วงตัวเอง ทำไปแล้วไม่ได้ตั้งใจ อยากได้ความช่วยเหลือ (อะไรที่คุยแล้วไม่แน่ใจ ให้เก็บไว้เป็นสมมุติฐานในใจ เก็บเอาไว้ไปตรวจสอบ) ปัญหาเตะก้านคอสามีสลบเป็นปัญหาอะไร เช่น ปัญหากฎหมาย (นี่สรุปจากความเข้าใจของเรา แต่เขารู้กฎหมายไหม)
ข. การตอบสนองถ้าเราได้รับเคสเช่นนั้น จะเป็นไปตามภาพที่เราคิดว่าเป็น
• ถามว่าเขาต้องการอะไร
• รับฟัง รอให้เขาเล่าต่อจนจบ
• สอบถามรายละเอียด เกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน
• เรียกรถพยาบาล
• จับชีพจรสามีว่ายังมีชีวิตหรือเปล่า
• ถามว่าตัวคุณเป็นอย่างไรบ้าง
ค. เรามีทางเลือก รอฟังให้เขาเล่า หรือถามเพื่อกรุยทางการพูดคุย แต่คำถามของเราอาจนำไปสู่สิ่งที่เราอยากรู้ แต่ไม่ใช่ประเด็นปัญหาของเขา
ง. กิจกรรมหัดการฟังที่ดี โดยเดาบริบทของคำพูดตัวอย่างสองสามแบบ และระบุว่าเป็นการสื่อสารในแนว “สมยอม” “กล่าวโทษ” “จอมเหตุผล” “ช่างมัน ฉันไม่แคร์”

๔) ทำกิจกรรมสะท้อนความรู้สึก ผู้เข้าร่วมจับคู่ ตั้งคำถามให้อีกฝ่ายช่วยยืนยัน (validate) ความรู้สึกหรือความคิดเห็น ถ้าอีกฝ่ายตอบ “ใช่” สามครั้ง ก็หยุด แล้วสลับไปให้อีกฝ่ายตั้งคำถาม

ตัวอย่างคำพูด “ลูกอ้วนมากแล้วนะ”
ตัวอย่างคำถามเพื่อให้อีกฝ่ายยืนยัน
“แม่หมายความว่า หนูดูแย่มากเลยใช่ไหม” “ไมใช่”
“แม่หมายความว่า แม่ไม่รักหนูแล้วใช่ไหม” “ไม่ใช่”
“แม่หมายความว่า หนูควรจะลดน้ำหนักใช่ไหม” “ใช่”
“แม่หมายความว่า หนูกินมากไปใช่ไหม” “ใช่”
“แม่หมายความว่า หนูไม่ควรใส่ชุดนี้ใช่ไหม” “ใช่”
ข้อสรุป
 เราไม่สามารถไปกำหนดว่าเขาหมายถึงอะไร อย่าไปสรุปสิ่งที่คนอื่นพูด เราอาจจะแปลความหมายผิด แม้แต่คนใกล้ชิดกับเราก็อย่าคิดว่าเราเข้าใจเขาเสมอไป
 การตั้งคำถามยากมาก ถ้าเราถามไปเรื่อย ๆ หรือถามย้อนคำเดียวกัน ก็ไม่มีประโยชน์
 เป็นการฝึกเดาใจ เคลียร์ข้อข้องใจ โดยให้เจ้าของประเด็นเป็นผู้ยืนยัน
 การตั้งคำถามเป็นการ lead ประเด็น เป็นพื้นที่ที่เราใช้ในการสำรวจ เป็นการประเมิน (assessment)
 เราตั้งคำถามเพื่อจำกัดวง ให้เกิดทางเลือก ให้เกิดการตัดสินใจ เราต้องรู้ว่าเราจะถามไปเพื่ออะไร เป็นการฝึกอ่านความหมายของคนให้ถูกต้อง
 ผู้ส่งสารต้องส่งให้เคลียร์ คนรับสารก็ต้องฟังอย่างมีสติ เป็นกลางและเข้าใจ
 บางคนก็ไม่ได้ชัดว่าตนเองต้องการอะไร ข่าวสารก็เลยออกมากำกวม
 คนพูด คนฟัง ต่างวัฒนธรรม ก็เป็นปัญหามาก ภาษาท่าทางบางอย่างก็ทำให้ผู้สอบสวนเกิดความสับสน
 คำถามปิดจำเป็นต้องมี สลับกับการใช้คำถามปลายเปิด แต่ให้สังเกตว่าตนเองใช้คำถามปิดมากไปหรือเปล่า
 เจ้าตัวบ่อยครั้งไม่รู้ว่าตัวเองคิดอะไร ต้องการอะไร บางทีเราก็รีบสรุปว่าเขาชอบอะไร เขาคิดอะไร ความสองจิตสองใจเป็นเรื่องปกติ
 คนที่มาปรึกษาก็ยังสับสนในทางเลือกที่มีอยู่ หน้าที่ของเราคือทำให้เขาค่อย ๆ แยกแยะประเด็นและอยู่ถึงจุดที่เขาต้องเลือก เราค่อย ๆ ทำให้เขาชัดขึ้น

การฟังด้วยหัวใจ (Listening with sympathy)

๕) การให้คำปรึกษาในกรณีของผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัว โดย ดูคลิป “การฟัง เป้ อารักษ์” และอภิปราย (https://youtu.be/oD0LwD39_XM)

 ทัศนคติของอาสาสมัครที่ดี คือ มีพื้นที่ให้เคสได้ถอยมาทบทวน ให้ที่พักใจ ไม่ว่าเคสจะกลับมากี่ครั้ง
 แต่ละประเทศจะมีระบบของตัวเอง เรามีหน้าที่ให้ข้อมูลและให้คำเตือนเชิงระบบ เช่น ระบบบ้านพักฉุกเฉินปิด
 ขอให้เมตตากับเคสในการตัดสินใจของเขา มันเป็นการเรียนรู้ของเขา สักวันหนึ่งเขาจะรู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร
 ต้องรักษาท่าทีที่เมตตาเสมอ
 อย่าให้ล้ำเส้น
 ต้องดูในระบบครอบครัว
 ผลต่อเราในฐานะเป็นผู้ช่วยเหลือ ขอให้สำรวจใจอยู่เรื่อย ๆ
 บาดแผลทางใจ ถ้าถามไม่เป็น อาจเป็นการย้ำ เป็นการสร้างความเป็นเหยื่อซ้ำหรือสร้างความชอกช้ำเพิ่มเติม
 บ่อยครั้งการฟังอย่างจริงใจเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

การรับมือกับกรณีผู้ประสบความรุนแรงและมีบาดแผลทางใจ (Dealing with trauma cases)

๖) กรณีศึกษา “บาดแผลทางใจ (Trauma)” ในกรณีภัยพิบัติ (อาสาสมัครญี่ปุ่น)
 แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นห้านาที ตัวเองไม่เคยฝึกการหนีภัย ลูกยังเล็ก และได้รับการฝึกที่โรงเรียนแล้ว
 สิ่งต่าง ๆ รอบตัวพังทลาย เสียงดังมาก ทุกอย่างเคลื่อนไหวในทุกที่ทุกทาง กระโดดลงมาจากชั้นสอง หยิบแค่ผ้ากันเปื้อนผืนเดียว เพราะเป็นสิ่งที่ใช้ประจำในการทำงาน ไม่รู้จะไปหลบที่ไหน เหมือนทุกอย่างจะพัก ไปเกาะรถ รถก็เหวี่ยงอย่างแรง เสียงจากใต้พื้นก็คำราม เสาไฟเหวี่ยง
 จากนั้นมีอาฟเตอร์ช็อกเก้าสิบกว่าครั้งในวันนั้น
 อีกวันก็ไปทำงาน แต่ก็ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อก ตัวเองก็กลัวแต่ก็ต้องดูแลคนอื่น ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้สิบกว่าคน
 เสียงเตือนในโทรศัพท์ที่น่ากลัว ประมาณสี่วินาทีก่อนเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะเตรียมอะไรแทบไม่ได้ ทำให้กลัวมาก ตัวสั่น เหงื่อออก ต้องใส่ชุดเผื่อวิ่งไว้เสมอแม้เวลานอน
 จนถึงวันที่ ๑๑ ก็ไม่ไหว มันเวียนหัวตลอดเวลาเพราะมันไหวตลอดเวลา เราต้องดูแลชีวิตคนอื่น ความรับผิดชอบสูงมาก ได้ตั๋วกลับเมืองไทยกับลูก แต่มาเวียนหัวที่เมืองไทยเพราะมันนิ่ง ต้องมาปรับตัวอยู่พักหนึ่ง
 มีจัดอบรมที่ญี่ปุ่น แชร์ประสบการณ์ในกลุ่ม เราเล่าเรื่องของคนอื่นได้ปกติ พอพี่คนหนึ่งเล่า เรามานึกถึงเหตุการณ์ของตัวเอง แค่นึกถึงก็ใจสั่น มือสั่น ขาสั่น น้ำตาคลอ ก็เลยได้รับการบำบัดต่อหน้าคนทุกคน โดยเริ่มให้เล่า ให้จับที่หน้าอกหรือท้อง ถ้ารู้สึกไม่ไหวก็ให้หยุด เล่าไปหยุดไป หมอแนะนำว่า ให้เราถอยมาเป็นผู้ดู เหมือนเป็นหนัง เราเป็นคนนั่งดู ไม่ใช่คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น
 เราฝึกสมาธิมาบ้าง เรากดความรู้สึกไว้ข้างใน เมื่อต้องเล่าเรื่องนี้หรือเห็นในทีวีหรือเห็นสายไฟสั่นก็เหมือนกลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง
 สิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัวมากคือ เสียงของข้าวของล้ม เสียงตึกพัง เสียงคำรามจากใต้ดิน หมอก็ให้ลองหลับตา ให้นึกภาพโดยไม่มีเสียง เลือกเก็บเป็นภาพขาวดำแล้วย่อให้เล็กลง (โดยการทำสมาธิ) ไปเก็บไว้ในกล่องเล็ก ๆ ในใจ พอทำลักษณะอย่างนี้จึงรู้สึกดีขึ้น ทุกวันนี้เป็นคนที่ยังกลัวเสียงดังอยู่ ใช้เวลาหกเดือน
 ตอนนี้ไม่มีอาการแล้ว แต่ก็ยังใจเต้นนิดหน่อยเมื่อนึกถึงว่าจะต้องมาเล่า

๗) ข้อสรุปการเกิดทรอม่า (Trauma) บาดแผลทางใจ ความสะเทือนขวัญ
 Trauma คือ ความกระเทือนใจอย่างรุนแรง ความเสียขวัญ ทำให้คนปกติเสียศูนย์ได้ ทำให้เกิดบาดแผลทางใจที่เมื่อคิดถึงก็จะหวาดผวา แต่ก็สามารถฟื้นตัน (Bounce back) ได้ ถ้าได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง
 การจะเกิดทรอม่าได้ สิ่งที่เกิดขึ้นต้องรุนแรง เลี่ยงไม่ได้ ช่วยไม่ได้ ผู้ประสบภาวะเช่นนี้ จะมีอาการย้ำเตือนถึงเหตุการณ์ อาการหวาดผวา หลีกเลี่ยงไม่ไปในสถานที่นั้น ๆ หรือสถานที่คล้ายกัน
 การช่วยเหลือควรทำด้วยผู้ให้การบำบัดที่ชำนาญการ
 การทำสมาธิจะช่วยให้ใจสงบลงได้
 การให้ทบทวนเหตุการณ์นั้น มันมีความรู้สึกติดค้างในสิ่งที่ได้ทำหรือไม่ได้ทำ
 ให้เขาเล่า แต่ไม่บังคับ ช่วยเขาเรียงลำดับเพื่อให้เขาจัดการกับความรู้สึกนั้นได้
 ทำ safety place หาสถานที่ปลอดภัยและทำให้ผ่อนคลาย
 ทำให้เขาค่อย ๆ เรียบเรียง เปลี่ยนภาพความทรงจำ หรี่เสียงลง เขาได้เรียนรู้ที่จะไม่ให้ความทรงจำมาเล่นงานเขาในแบบเดิมอยู่เรื่อย ๆ
 บาดแผลทางใจ เมื่อความทรงจำวิ่งเข้ามา ปฏิกิริยาทางกายจะวิ่งกลับมาด้วย
 ถ้าไม่พร้อม อย่าเล่า ถ้าไม่พร้อม อย่าถาม
 ต้องผ่านกระบวนการรักษา
 ผู้ประสบภาวะทางจิตใจที่รู้ว่าตัวเองมีกลุ่มสังคมที่พึ่งพาได้ จะฟื้นตัวได้เร็ว
 บทเรียนจากหมูป่า ไม่ถือว่าเป็น Trauma แต่เป็น Resilience (ความแข็งแกร่งยืดหยุ่นทางจิตใจ) ที่แสดงให้เห็นว่าคนที่เผชิญเหตุการณ์ไม่จำเป็นต้องเสียขวัญเสมอไป ในกรณีหมูป่า เป็นเพราะมีฐานการฝึกสมาธิ ความแข็งแกร่ง การทำงานเป็นทีม การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

สรุปวันที่ 10 สิงหาคม พิธีปิดและมอบประกาศนียบัตรให้แก่อาสาสมัคร โดย พม.

#สรุปเนื้อหา
วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑
พม. กับการพัฒนาสังคมไทยใสต่างประเทศ

บทบาทหน้าที่ของอาสาสมัคร (นำเสนอ โดย นักวิชาการของ พม.)

อาสาสมัครคือผู้ที่ทำงานตามที่กำหนดไว้ มีระยะเวลา มีการรับรองมาตรฐาน
สามมาตรฐาน ม ส อ คือ มาตรฐานอาสาสมัคร เช่น ผลการปฏิบัติงาน ทัศนคติ บทบาทหน้าที่
อาสาสมัครที่มีสังกัดชัดเจนแล้ว ให้ระบุว่าเป็นอาสาสมัครของหน่วยงานใด ทาง พม ก็จะดูว่า ชมรมนั้นกำหนดบทบาทหน้าที่ไว้อย่างไร แล้ว อสม ได้ทำงานตรงตามนั้น ถ้าตรง ทาง พม ก็จะให้การรับรอง
การยื่นขอ มีแบบฟอร์มประเมินตัวเอง แบบฟอร์มประเมินโดยหัวหน้างาน ประเมินโดยผู้ร่วมงาน
กระบวนการในต่างประเทศอาจจะต้องผ่านทางสถานทูต ทั้งในเรื่องรับรององค์กรด้วย ต้องขอยื่นรับรององค์กรสาธารณประโยชน์ในต่างประเทศก่อน เพื่อรับรู้การเป็นตัวตน
ประโยชน์ของการรับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ มีสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมของสำนักงานพัฒนาสังคม มีสิทธิยื่นของบประมาณทำโครงการในพื้นที่ที่ตั้งอยู่

การเสนอขอสนับสนุนโครงการ
ต้องมีขอบเขตการจัด ระดับประเทศ กี่คน ทำทีเดียว หรือทำเป็นเฟส จะไม่ให้เงินเยอะ ๆ โดยไม่น่าจะทำได้จริง ในประเทศไทยให้งบประมาณตามขนาดจังหวัด ในต่างประเทศ การติดตามผลการใช้เงิน หากไม่ถูกต้อง จะติดตามลำบาก จึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะให้งบประมาณสูงสุดเท่าไร
การขอสนับสนุนโครงการ ขอได้ทั้งปี มีการพิจารณาทุกเดือน แต่ต้องยื่นเอกสารเสนอโครงการประมาณหกเดือนล่วงหน้าอย่างต่ำ จะมีการปรับแก้ไขเอกสารเพื่อให้ดูว่าหมวดงบประมาณต่าง ๆ เหมาะสมเพียงใด หรือการใช้คำพูดให้เหมาะกับภาษาราชการ
กรรมการที่พิจารณาจะมีมาจากหลายหน่วยงาน ไม่ใช่เฉพาะ พม ยังมีสำนักงบฯ กรมบัญชีกลาง กระทรวงต่างประเทศ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการ ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ ไม่สามารถตอบได้ว่ารูปไหนจึงจะใช่ มิติการมองแตกต่างกันตามตัวคณะกรรมการที่เข้าร่วม เกณฑ์ที่จัดไว้ก็จะกว้าง ๆ ส่วนใหญ่ใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการ บางโครงการมีผลประโยชน์ทับซ้อน บางโครงการค่าใช้จ่ายเกินความจริง เขาจะไม่ค่อยให้การอบรม ทำครั้งเดียวแล้วจบ เขาไม่ค่อยให้ แต่จะให้โครงการที่มีความก้าวหน้า

คำถาม ข้อสังเกต จากผู้เข้าร่วม

(ถาม) โครงการที่มีลักษณะเครือข่าย ทำในหลายประเทศ จะประสบความยุ่งยากในการรับรองโดยสถานทูต ความไม่ชัดเจนในการเตรียมข้อเสนอโครงการว่าจะเอาแบบไหน อย่างไร ใช้ภาษาอะไร (ตอบ) การทำงานด้านสังคมมีความเป็นนามธรรมสูง พม. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างโครงการ กับสำนักงบประมาณ ทางเจ้าหน้าที่พยายามช่วยพวกเราเต็มที่ ถ้าเป็นประโยชน์จริงและไม่ผิดระเบียบ เรายินดีส่งเสริม เพราะเรามีกองทุนสนับสนุนอยู่แล้ว ขอให้อาสาสมัครช่วยบอกเรื่องปัญหาอุปสรรคในพื้นที่ให้เราทราบ เราจะได้เข้าใจและช่วยกัน เราต้องเสนอข้อมูลคืนท่านด้วย ขณะเดียวกันเราต้องเห็นพัฒนาการของงาน
(ถาม) การทำงานระหว่าง พม และ กระทรวงการต่างประเทศ ยังไม่ชัดเจน (ตอบ) เรื่องความล่าช้า เรากำลังทำบันทึกข้อตกลงกับกระทรวงต่างประเทศ เราไม่รู้ว่าเขามีศูนย์ดำรงธรรมในต่างประเทศ งานในต่างประเทศ ต้องผ่านกระทรวงต่างประเทศในทั้งระบบ พม ก้าวล่วงไม่ได้
(ถาม) คณะกรรมการมีขนาดใหญ่ ทำงานลำบาก น่าจะมีกองเลขาฯที่ชำนาญในการกลั่นกรองเรื่อง แบบพร้อมรับรอง น่าจะมีการแก้ไขระเบียบให้ตรงกับความต้องการ ความเป็นจริง ค่าของเงินในต่างประเทศ การเคลื่อนย้ายของมวลปัญหาข้ามพรมแดน (ตอบ) เราทำงานในระบบ เป็นการป้องกันความเสี่ยงทั้งสองฝ่าย ผ่านกระบวนการและแผนงาน ต้องมีหน่วยงานให้ครบ ขอรับไปเรื่องหากรรมการในระดับพื้นที่ เรื่องเกณฑ์ค่าใช้จ่ายของโครงการในต่างประเทศ เราคำนึงอยู่แล้ว กองทุนไม่ได้มีเงินมาก เราตัดในบางรายการที่ไดคล้องกับวัตถุประสงค์ เบิกได้ไหมตามระเบียบ ถ้าไม่ใช้ระเบียบก็อนุมัติไม่ได้ การประชุมคณะกรรมการมีสมาชิกหลากหลาย มีการคานอำนาจกัน จะมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านให้ความคิดเห็น เพราะปฏิบัติตามระเบียบตามเกณฑ์ กระทรวงจึงมีชื่อเสียง รมต มี ๑๔ ระบบงาน เรามีการยุบเลิกบางหน่อย ยกให้หน่วยอื่นทำ มีการปฏิรูป ปรับรื้อระบบใหม่ เราจะเปลี่ยนมาเป็น Regulator ระเบียบออกมาเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ และผู้ทำงานทำได้อย่างสบายใจ เป็นการปกป้องงบประมาณของแผ่นดิน ใจมุ่งมั่นอย่างเดียวไม่พอ
(ถาม) ประสบการณ์จากฮ่องกง (บังอร ประธานสมาคมรวมไทย) เจ้าของโครงการควรมีโอกาสได้นำเสนอโครงการของตัวเอง (ตอบ) หลักสูตร กศน. ของฮ่องกง เขามองว่าเป็นการใช้จ่ายซ้ำซ้อน กศน. จึงอยากขอทำเอง

การขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
ผอ. งานศูนย์บุตรบุญธรรม

ผู้หญิงไทยแต่งงานกับคนต่างชาติและรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ต้องมาดำเนินการที่ กทม ที่เดียว สมัยก่อน เป็นการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมกันเอง ไม่มีกฎหมายกำกับ ทำให้เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ พรบ เริ่มปี ๒๕๒๒ ตามด้วยระเบียบต่าง ๆ เช่น ต้องอายุมากกว่า ๒๕ ปี และเด็กต้องมีอายุห่าง ๑๕ ปี

ผู้ขอรับที่มีภรรยาไทย ถ้าอยู่เมืองไทยก็ยื่นเมืองไทย แต่ต้องอยู่ในเมืองไทยอย่างน้อยหกเดือน มีวีซ่าหนึ่งปี ต้องมีงานทำ ต้องมีใบอนุญาตทำงาน มีเอกสาต่าง ๆ ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ตรวจสุขภาพกาย สุขภาพจิต มีทะเบียนสมรส มีทะเบียนหย่าถ้าเคยสมรสมาแล้ว การอนุมัติคุณสมบัติของผู้ขอที่ออกให้โดยสถานทูต หรือจากประเทศต้นทาง
กรณีปัญหา การขอรับลูกติด ต้องมีการคุยกับนักสังคมสงเคราะห์ คบกันมานานเท่าไร จดทะเบียนสมรสเมื่อไร ความมั่นคงในความสัมพันธ์ เพราะภรรยาต้องยกเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของสามี เพราะมารดาต้องเซ็นยินยอม ทำให้หมดสิทธิในตัวลูก เมื่อหย่าร้าง แม่มาขอคัดเอกสารเพื่อไปยื่นเรื่องฟ้องเอาลูกคืน บางกรณีก็ขอไม่ได้เพราะเป็นของพ่อ
คณะกรรมการรับบุตรบุญธรรม เป็นผู้พิจารณาสูงสุด ในกรณีที่เป็นเด็กกำพร้าของกรมฯ จะมีการติดตามผลสองเดือน แม้แต่งงานไปแล้ว เรามีข้อมูลในฐานข้อมูล ในกรณีบุตรติดคู่สมรสหรือหลาน (ไม่ใช่ลูกสายตรง) เราจะไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ เราแค่จัดกระบวนการให้เขาได้รับบุตรบุญธรรม เราไม่มีการติดตาม ถ้าเด็กไม่อยู่ในอำนาจปกครองเรา เราจะไม่มีอำนาจติดตามได้

คำถาม – คำตอบ

(ฝรั่งเศส) ในต่างประเทศ จะมีรายงานของนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ให้ข้อสังเกต เช่น “เห็นด้วยอย่างเต็มที่” “เก็บความรู้สึกเอาไว้ก่อน” ต้องดูอายุเด็ก อายุคนขอ ลักษณะพิเศษของเด็ก
(ฝรั่งเศส) เด็กยังมีความรักชาติไทย มาเจอคนที่เคยเลี้ยงที่เมืองไทย เด็กได้รับการดูแลอย่างดี เด็กจะกลับมาขอสัญชาติไทยได้ไหม (ตอบ) โดยทั่วไป เด็กจะถือสองสัญชาติจนถึง ๑๘ ปี แล้วเลือกได้ แต่ประเทศไทยไม่ได้รับรองสองสัญชาติ (แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องสละสัญชาติ) กรณีเด็กผู้ชาย ก็มีเรื่องเกณฑ์ทหารด้วย
(ไทย) ประสบการณ์กับ ๑๓๐๐ โทรไปขอความช่วยเหลือ โทรไปตามเรื่อง ผู้รับจับใจความไม่ได้ในแต่ละครั้ง ทำให้ต้องเล่าเคสต้องเล่าซ้ำไปซ้ำมา (ตอบ) เคสที่อ่อนไหว ทำให้ต้องมีระบบการเข้าถึงข้อมูล ไม่ใช่จะเข้าถึงง่าย ๆ เด็กที่รับ ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เคสค้ามนุษย์มีชั้นความลับอยู่ ให้ถามหา ผอ ของศูนย์รับเรื่องเลย เคสค้ามนุษย์ไม่สามารถให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ จะรับไปเพื่อจัดวางระบบ
(เยอรมนี) คิดว่า ๑๓๐๐ มีการประชาสัมพันธ์น้อยมาก และอยากให้ ปชส ให้ถูกต้อง มีชมรมล่ามจิตอาสา ขึ้นมา รวบรวมได้ ๑๒ ภาษา ล่ามไม่ได้นั่งอยู่ตรงนั้น จะมีประสานกับล่ามว่าใครจะช่วยเหลือลงพื้นที่ได้บาง เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริม ๑๓๐๐ อีกที
(สวิสเซอร์แลนด์) บุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมของคู่ที่เป็นเพศเดียวกัน ทางเมืองไทยมี กม รับรองไหม (ตอบ) ถ้าเป็นชาวต่างชาติทั้งคู่ ไม่ผ่าน เป็นระเบียบที่ยังไม่อนุญาต แต่มีกรณีชาวต่างชาติที่มีคู่เพศเดียวกันเป็นคนไทย ยื่นรับหลานของตัวเอง ทำได้

สรุป
เราคือวิศวกรทางสังคม แปลงปัญหาให้เป็นปัญญา ช่วยกันเสนอแนะแบบพี่ ๆ น้อง ๆ ใช้สัมพันธภาพเป็นตัวนำ เรามาช่วยกัน กระทรวงไม่ได้รู้ทุกเรื่องราว

กล่าวปิดการประชุม และ พิธีมอบประกาศนียบัตร
โดย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

โครงการ “พม. กับภารกิจเพื่อคนไทย” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 สิงหาคม 2561 เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานอย่างสร้างสรรค์ระหว่างเครือข่ายอาสาสมัครหญิงไทยในต่างประเทศ และเสริมสร้างทักษะการให้คำปรึกษาแก่สมาชิกเครือข่ายอาสาสมัครหญิงไทยในต่างประเทศ จาก อเมริกา ยุโรป และเอเชีย จำนวน 15 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เบลเยียม อิตาลี และไทย ซึ่งผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 70 คน พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้แทนและเจ้าหน้าที่ สค. เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

หมายเหตุ: ในการอบรมทั้งห้าวันมีการพูดถึงซาเทียร์โมเดล (Satir Model) ทำให้อาสาสมัครที่เพิ่งมาอบรมครั้งแรกเกิดความสงสัย

ถ้าอยากทำความรู้จักกับแนวคิดนี้ แบบอ่านเข้าใจง่าย ๆ ไปที่นี่เลย http://www.happinessisthailand.com/2017/08/satir/

ถ้าอยากอ่านแบบเจาะลึกละเอียด เป็นวิชาการมาก คลิกที่นี่ http://www.psychiatry.or.th/JOURNAL/57-3/01-Nongpanga.pdf

นางศิริวรรณ เย็นตั้ง
ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ