หลายปีมาแล้วที่ได้อ่านหนังสือไทยเยอะมาก เมื่อก่อนยังอ่านหนังสือภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น ๆ บ้าง แต่หลัง ๆ โหยหาแต่อะไรไทย ๆ คงเป็นไปตามวัย
แต่ก็แปลกที่การอ่านหนังสือกลับเปลี่ยนไป เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือการเมือง ชีวประวัติ นิยายสอบสวน(ภาษาอังกฤษ) ตําราอาหารต่างชาติ และไทย (ชอบอ่าน ชอบดูรูป) เอามาทําบ้างเป็นบางคราว ระยะหลัง ๆ นี่ชอบอ่านเรื่องท่องเที่ยวที่เขียนโดยนักเขียนไทย หนังสือท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ช่วงแรก ๆ มักจะเขียนโดยนักเขียนที่เป็นคนดัง เช่น ดารา นักข่าว ไปเที่ยวยุโรป เอเซีย อเมริกา ส่วนใหญ่ไปเป็นกรุ๊ปเพื่อนสามสี่คน
ที่เขียนเยอะหน่อยก็มี กาญจนา หงษ์ทอง (นักข่าวเศรษฐกิจ) ที่มักจะเดินทางไปกับเพื่อน ๆ หรือบางครั้งคนเดียว เธอเขียนไว้หลายเล่มมาก ไปหลายประเทศ หรือนักเขียนคนดังอื่น ๆ ที่เขียนเรื่องท่องเที่ยวในมุมมองของเขาและเธอได้น่าอ่าน มีทั้งประวัติความรู้ ความคิดเห็นของผู้เขียนแทรกเข้าไปด้วย
หนังสือบางเล่มของนักเขียนคนอื่นก็มีรูปภาพสวย ๆ ให้ดูด้วย ส่วนใหญ่มักไม่ทําให้ผิดหวัง แต่บางเล่มก็มีแต่รูปสวย ๆ เนื้อหาไม่ค่อยมี บางคนก็ไฮโซเสียเหลือเกิน นอนโรงแรมคืนละ 500 เหรียญยูเอสในประเทศแถบลาตินอเมริกา แน่นอนเพราะโรงแรมที่พักมีหลายระดับหลายราคาให้เลือก แม้ในถิ่นกันดารกลางทะเลทรายหรือบนเขา อ่านตามแล้วเคลิ้ม ทุกอย่างเหมือนอยู่ในเทพนิยาย เพราะอิทธิพลของเงินที่มีอยู่ในมือ ทุกอย่างดูสวยหรู
บางเล่มก็เที่ยวงบประมาณจํากัด จําพวกนอนห้องพักแบบเกสต์เฮ้าส์ ห้องละ 10 เตียง ห้องอาบน้ำใช้ร่วมกัน หรือโรงแรมถูก ๆ กินอาหารแบบธรรมดา เดินหรือนั่งรถเมล์ธรรมดาเอาเป็นหลัก บางเล่มก็เขียนแบบขับรถไปเที่ยว ค่ำไหนนอนนั่น บางคนก็ท่องเที่ยวแบบขี่จักรยาน
หนังสือท่องเที่ยวมักจะมีนักเขียนหน้าใหม่ ๆ มาให้เห็นอยู่เป็นประจํา บางเล่มนักเขียนอายุเพิ่งพ้น 20 กว่า ๆ ประสบการณ์ของเด็กกับผู้ใหญ่จะเห็นได้ก็ตอนนี้แหละ นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวไทยยังเที่ยวแบบแบกเป้ (Backpacker) มากเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ชาย แต่มีผู้หญิงด้วยเหมือนกัน เดินทางคนเดียว เที่ยวลาตินอเมริกาทั้งทวีปก็มี เธอแน่มาก เมื่อก่อนเจอแต่นักเขียนชาย
ปกติบทความท่องเที่ยวเหล่านี้จะเขียนอยู่ในบล๊อกของพวกเขา มีคนติดตามกันเยอะ จนสํานักพิมพ์ต้องติดต่อให้มาพิมพ์ขาย เพราะฉะนั้นนักเขียนเหล่านี้อายุยังน้อยนิดอยู่เลย แต่ประสบการณ์ท่องเที่ยวเพียบ บางคนท่องเที่ยวเป็นอาชีพเพื่อกลับเอามาเขียนเป็นหนังสือก็มี เคยอ่านนักเขียนวัยรุ่น ภาษาที่ใช้สวิงสวาย บางครั้งถึงหยาบคาย (ไม่รู้ว่า บก ปล่อยให้ออกมาได้ยังไง แต่เห็นเขียนเล่มเดียว แล้วหายเงียบไปเลย)
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ในช่วงที่ผ่านมามีคนไทยไปเที่ยวกันเยอะมาก ฉันซื้อหนังสือท่องเที่ยวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นมา ๕-๖ เล่มแล้ว ตั้งแต่นักเขียนอาวุโสที่เดินทางพร้อมกับภรรยา ไปจนถึงพวกที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ที่ต้องเดินทางอย่างประหยัด เราจะเห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจนในการเดินทาง การกินการอยู่ นักเขียนส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องอาหารญี่ปุ่นพอสมควร ในขณะที่บางเล่มแทบจะไม่ได้กล่าวถึงเลย
นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังมีประเทศในแทบลาตินอเมริกา เช่น เปรู ชิลี อาเจนตินาร์ บราซิล ฉันอ่านจนแทบเหมือนกับว่าเคยไปมาแล้วยังงั้นแหละ ส่วนแถบเอเซีย ท้อปฮิตนอกจากญี่ปุ่น ก็คืออินเดีย เนปาล จีน ธิเบต เกาหลี ส่วนในยุโรป อเมริกาไม่ต้องพูดถึง เขียนกันมานานแล้ว ล่าสุดที่อ่านคือ คุณหมอหนุ่มไทยคนหนึ่งไปเดินเขาในเนปาล 30 วัน (Annapurana circuit) กลับมาเขียนหนังสือได้เล่มโต* และของอีกหลายคนที่เดินเทรคกิ้งระยะทางสั้น ๆ สี่ห้าวัน หรือในตัวเมืองหลวงกาฏมันดู
ส่วนในอินเดียมีเรื่องหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นในรัฐราชาสถาน (Rajastan) แคชเมียร์ และพาราณาสี มีเจออยู่เล่มหนึ่ง เขียนเรื่องไปเที่ยวปากีสถาน เขียนได้สนุกและน่าอ่าน เป็นชายหนุ่มเดินทางคนเดียวเหมือนกัน เรื่องไปเมืองจีนก็มีให้เห็นพอสมควร ฉันซื้อมาอ่านสองสามเล่มแล้ว ไม่โดนเท่าไหร่
เล่มใหม่ ๆ ก็เลยไปถึงขั้วโลกใต้ ไปเที่ยวเกาะ โบรา โบร่า เกาะสวาทหาดสวรรค์ ประเทศเฟรนซ์โปลินีเซียโน้นแน่ะ กว่าจะถึง ต้องนั่งเครื่องจากกรุงเทพฯ ไปลงซิดนีย์ออสเตรเลีย 8 ชั่วโมง และต่อไปอีก 14 ชั่วโมง เรียกว่าเดินทางกันหายห่วงกว่าจะไปถึง อ่านแล้วคะนึงถึงแต่ไม่อยากไปเพราะไกลเกินฝัน ไปเที่ยวเกาะเสม็ดดีกว่า ไม่ไกลดี
ทรงกรด บางยี่ขัน เป็นนักเขียนคนโปรดของฉันคนหนึ่ง อ่านของเธอมา 3-4 เล่ม อ่านได้ซ้ำซาก เขียนเรื่องท่องเที่ยวได้เหมือนนิยาย เล่นคําคมได้ลึกซึ้งมาก ชอบมากถึงชอบที่สุด พักหลังไม่ค่อยเห็นออกหนังสือประเภทนี้มาอีก เธอเขียนได้สนุกและน่าติดตาม ขนาดเล่มหนาปึ๊ก ฉันยังอ่านทุกตัวอักษร ทรงกรดเขียนไปเรื่องท่องเที่ยวในเกาหลี ได้เหมือนซีรี่ย์เกาหลี เขียนเรื่องจากปักกิ่งไปยังมอสโคว์โดยนั่งรถไฟทรานไซบีเรีย (ดาวหาง เหนือทางรถไฟ) สนุกจนวางไม่ลง ถ้าใครชอบอ่านหนังสือประเภทนี้ก็ไปหาอ่านได้นะคะ
ฉันอ่านหนังสือที่เขียนถึงประเทศเปรูถึง 6 เล่ม มีตั้งแต่เปรูอย่างเดียว และท่องเที่ยวผ่านเปรู แต่ละนักเขียนก็มีมุมมองและทัศนคติที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง มีทั้งการเดินทางแบบไปเดี่ยวแบกเป้ ขี่จักรยาน ไปเป็นคู่ นอนกางเต้นท์ หรือนอนโรงแรมห้าดาว ถึงแม้จะไปที่เดียวกัน แต่เหมือนไม่ได้ไปที่เดียวกันงั้นแหล่ะ ทําให้ฉันมาคิดดูว่า การคิดการเขียนของนักเขียนที่สามารถชักจูงใจผู้อ่านให้คล้อยตามหรือมีความสุขสนุกสนานในการอ่าน สามารถทําได้ด้วยปลายปากกาของคนคนเดียว
ในทริปที่เขียนถึงการไปเที่ยว”มาชู ปิกชู”** ที่ประเทศเปรู มีวิธีการเดินทางเข้าถึงสถานที่นั้นได้หลายทาง ทั้งอย่างถูก อย่างแพง อย่างสบาย อย่างเหนื่อย ทําให้รู้ว่าถึงแม้บางคนมีเงินที่จะจ่ายให้การเดินทางแบบสบาย ๆ ไม่เหนื่อย หลายคนกลับเลือกที่จะเดินเท้าเข้าไป อ่านเล่มล่าสุด พบว่า การเดินเทรคกิ้งแบบ 3 คืน 4 วันกับทัวร์ (หรือนานกว่านั้น) เขามีพ่อครัวหัวป่าก์ตามไปด้วยเพื่อปรุงอาหารรสเลิศให้กินแต่ละคืน มีห้องน้ำส่วนตัว (หมายความว่าไม่ต้องไปนั่งทุ่ง) เอากะพ่อสิ ทัวร์สมัยนี้ แสดงว่าคนเดินทาง(ที่มีเงิน) ถึงจะรักและอยากเห็นธรรมชาติแต่ก็ยังรักความสบายอยู่
เวลาฉันจะเขียนเรื่องท่องเที่ยว ฉันมักจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารการกินด้วย เพราะมันทําให้เห็นภาพของท้องถิ่นนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่สรุปได้ว่า นักเขียนชายมักจะไม่เน้นเรื่องการกินเท่าไหร่ นักเขียนหญิงบางคนก็จะเล่าถึงเรื่องอาหาร บางคนทําให้ภาพได้ชัดเจนเลยทีเดียว
แต่มีนักเขียนเด็กหนุ่มอยู่คนหนึ่งอายุน่าจะเกิน 20 ไปไม่เยอะ เธอจะเล่าเรื่องการเดินทางในเอเซียและยุโรปได้สนุกน่าอ่านตามประสาคนหนุ่ม และกล่าวถึงเรื่องที่พักหลับนอน อาหารการกินอยู่หลายตอน (แต่เป็นจําพวกอาหารตามถนนเพราะทุนจํากัด) แต่ก็ดูน่าอร่อยเพราะคนเขียนเขียนจากใจ อธิบายได้น่ากิน
นักเขียนไฮโซที่เขียนไว้ข้างบน ก็จะเล่าถึงที่พักราคาแพงสมราคาว่ามีความสวยงามน่าพักเพียงใด แต่ก็อีกละนะ สายตาของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ในขณะที่ฉันกับเพื่อนไปเที่ยวกัน พอเห็นห้องพักแล้วฉันก็ร้อง ”โอ้โห นี่น่ะเหรอ” (เสียงสูง) แต่เพื่อนกลับร้อง ”โอ้โห สุดยอดไปเลย” ประมาณนั้น
เคยอ่านหนังสือ 4 เล่มจบของสองสามีภรรยาไทยที่เดินทางรอบโลกเป็นเวลา 5 ปีด้วยจักรยาน มีบางช่วงต้องถอดรถจักรยานขึ้นเครื่องบิน จากเมืองไทยไปทางมาเลเซีย ไปออกอินโดแล้วไปออสเตรเลีย นิวซีแลนด์แล้วบินไปชิลี ท่องในลาตินอเมริกามาจนถึงแม็กซิโก เข้าสหรัฐฯ แล้วข้ามไปอัฟริกาเหนือแล้วต่อยุโรปตะวันตกและออก เข้ามารัสเซียลงมาจนมาประเทศจีน เวียดนาม พม่า เขมร ลาวและเข้าไทย (อาจจะมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง) บอกตรง ๆ ว่าเพลิน และชมชอบความอดทนของพวกเขามาก
แน่นอนฝรั่งเดินทางแบบนี้กันมาเยอะ บางคนเดินหรือโบกรถตลอดการเดินทางรอบโลกด้วยซ้ำ แต่นี่เพราะเป็นคนไทย ได้อ่านความคิดแบบไทย ๆ ความมีน้ำอดน้ำทนของคู่สามีภรรยา (เป็นฉันคงหย่ากันตั้งแต่ผ่านออกมามาเลเซียแล้ว ฮ่า) เยี่ยมเลย หามาอ่านกันนะคะ อาจจะเก่าไปแล้วเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ แต่การเดินทางแบบนี้ทําให้การอ่านมีรสชาติและไม่น่าเบื่อ ไม่บรรยายประวัติศาสตร์มาก
อีกคู่สองสามีภรรยา สามีฝรั่ง ภรรยาไทย เดินทางหลายประเทศเหมือนกัน ที่น่าสนใจคือไปประเทศซีเรีย ตอนนั้นอ่านแล้วอยากไปเที่ยว ลองอ่านหนังสือประเภทนี้ดูแล้วจะติดใจ
บางประเทศฉันก็ไปมาแล้วเป็น 10 ครั้ง แต่ก็มีมุมบางมุมที่ฉันยังไม่เคยเห็น เช่น ในกรุงปารีส ที่ไปบ่อยมากแต่ก็ยังเหมือนว่าจะเห็นอะไรไม่ครบถ้วน ลองมาอ่านมุมมองของคนอื่นบ้างก็ได้เห็นอะไรแตกต่าง ที่อ่านหนังสือไทยเพราะฉันเป็นคนไทย หลาย ๆ อย่างเราก็คิดเหมือนกันในฐานะที่เป็นคนไทย บางอย่างก็คิดต่างเพราะเราใช้ชีวิตในต่างประเทศมานานมองเห็นอีกมุมหนึ่งที่คนไทยไม่เห็น
หลัง ๆ นี้มักจะมีประเทศใหม่ ๆ ที่คนไทยเพิ่งจะเริ่มออกมาเที่ยว เช่น ประเทศไอซแลนด์ ไปดูแสงเหนือ ฉันเคยไปไอซ์แลนด์มา 2 ครั้งทั้งหน้าร้อน หน้าหนาว กลับไม่ได้มองเห็นอย่างที่นักเขียนได้เขียนถึงอย่างนั้น อ่านไป 2 เล่มแล้ว
ฉันมีหนังสือพวกนี้เป็นร้อยเล่มแล้วกระมั้งในในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา (หรืออาจนานกว่านั้น) จําไม่ได้ว่าหนังสือเล่มแรกที่ซื้อเล่มแรกชื่ออะไร แต่คงเป็นประเภทเที่ยวยุโรป อเมริกาอะไรทํานองนั้น หลังจากนั้น ประเทศอื่น ๆ ก็ตามมา ได้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี แหล่งท่องเที่ยว อาหารกิน ความเชื่อ ฯลฯ และคิดว่ายังจะหาซื้อมาอ่านทุกครั้งที่มีโอกาสให้หาซื้อได้ และยังกลับมาอ่านเล่มเก่า ๆ ได้อีกไม่มีเบื่อ
การอ่านทําให้ช่วยให้เพลิดเพลิน ตีต่อใจและดีต่อ(ลูก)ตาเหลือเกินนะคะ
*มาชู ปิกชู (Machu Picchu) หรือที่เรียกว่า เมืองสาบสูญแห่งอินคา เป็นซากอารยธรรมโบราณของชาวอินคา ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงในประเทศเปรู ที่มีความสูง 2,350 เมตร
หนังสือแนะนํา: เดินข้างเขา หนาวข้างเธอ**
นักเขียน: คุณากร วรวรรณธนะชัย
สํานักพิมพ์ บันลือ พับลิเคชั่นจํากัด (พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2559)
ISBN 978-616-327-178-5
หนังสือแนะนํา: I Roam Alone, Trekking through South America ห้องเรียนแห่งหุบเขาอเมริกาใต้
นักเขียน: มินท์
สํานักพิมพ์ บันลือ พับลิเคชั่นจํากัด (พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2558)
ISBN 978-616-298-265-1
หนังสือแนะนํา: ปั่นข้ามฝัน 2000 วันรอบโลก (1-4 เล่ม)
นักเขียน: วรรณกับหมู
สํานักพิมพ์ นิตยสารแพรว (พิมพ์ครั้งที่ 5 สิงหาคม 2552)
ISBN 978974-614-725-5
เครดิตภาพ murals4less