Photo credit: Charika Bo Channuntapipat

โดย Charika Bo Channuntapipat

ขออนุญาตแนะนำตัวนะคะ “โบ” จากอังกฤษ ทำงานในสายการศึกษา/อุดมศึกษาค่ะ

อยู่อังกฤษมาตั้งแต่ปี 2012 จากการเรียน แต่เริ่มทำงานมาได้ประมาณ 3 ปีกว่า ๆ

โบอยากแชร์สิ่งที่โบเรียนรู้จากการทำงานครบ 3 ปีที่นี่ค่ะ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยตรง แต่คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์แก่คนทำงานในทุกอาชีพ

เขียนจากประสบการณ์ที่เป็นผู้หญิงไทยอายุไม่มาก มาทำงานต่างแดนในอาชีพที่เพศ และเชื้อชาติอาจมีผลต่อความก้าวหน้า และการที่คนอื่นปฏิบัติกับเรา ทำให้ต้องปรับตัว ปรับหัวใจ และบริหารความเครียด/ความคาดหวังเยอะเลยค่ะ

——————————————

1. ปฎิบัติกับตนเองอย่างที่อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเรา

หลายคนอาจจะบอกว่า เอ๊ะเขียนผิดหรือเปล่า ต้องบอกว่า ปฏิบัติกับคนอื่นอย่างที่อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเราสิ ตรงนี้ไม่ได้เขียนผิดนะคะ สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้ทุกปีแต่ไม่เคยจำ คือ เรามักจะใจร้ายกับตัวเองเสมอ เพื่อที่จะทำให้คนอื่นโอเคในหลายสถานการณ์

เชื่อว่าพี่ ๆ ที่มาอยู่ต่างแดนก็มีการกดดันตัวเองให้ทำงานหนัก งานเงินให้ได้มากขึ้น จึงอยากสะท้อนจากบเรียนตัวเองว่า เราควรใจดีกับตัวเองด้วย เราอยากให้คนอื่นทำดีกับเรา เห็นใจเรา ให้เกียรติเรา มั่นใจในตัวเรา แต่ทำไมเราทำดีกับตัวเอง เห็นใจตัวเอง ให้เกียรติตัวเอง มั่นใจในตัวเอง ไม่ได้ในระดับที่ดีเท่าที่ควร

——————————————

2. อย่าให้คุณค่าเฉพาะตัวหายไป เพราะอยากเป็นเหมือนคนอื่น

หลายครั้งเรารู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ และเอาตัวเองไปเทียบกับคนที่ที่ทำงาน เราอยากเป็นแบบเขา จนทำให้เรามีความคิดตลอดเวลาว่า เราสู้เขาไม่ได้

จนมีวันหนึ่งเราได้คุยกับเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกันที่เรานับถือในความสามารถ เขาบอกเราว่า เขาชื่นชมในสิ่งที่เราทำ ชื่มชมในสิ่งที่เราเป็น เราเป็นหนึ่งในคนที่เขาคิดว่าเก่งมากๆ ในที่ทำงาน ในใจแว่บแรกก็ยังนึกดูถูกตัวเองอยู่ว่า เขาพูดไปเพราะมารยาท

แต่เพื่อนคนนี้คงรู้จักเราดี เขาบอกเราว่า เขาไม่ได้ชมตามมารยาทนะ เขาพูดจริ งๆ รวมถึงเจ้านายก็มาพูดกับเราตอนช่วงที่เราเครียดๆ ว่าทุกคนที่นี่เขายินดีมาก ๆ ที่มีเราอยู่ที่นี่

เหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้ว่าคนอื่นเห็นคุณค่าในตัวเรา ทั้งๆ ที่เราไม่ค่อยเห็นมัน หลายคนในที่ทำงานบอกว่าสิ่งที่เราเป็นแบบนี้ดีแล้ว เป็นสิ่งเสริมให้การทำงานเป็นทีมดีขึ้น ทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน มีคนยินดี และชอบในสิ่งที่เราเป็นอยู่

เพราะฉะนั้นเป็นตัวเองในแบบที่เป็นแหละดีแล้ว ใครที่คิดว่าอยากเป็นเหมือนคนอื่นเพราะตัวเรามันไม่ดี อยากให้ลองมองหาคุณค่าในตัวเองให้เจอ และมุ่งพัฒนาส่วนที่เราคิดว่าเข้ากับความเป็นเราได้มากที่สุด ไม่ใช่มุ่งพัฒนาในส่วนที่คิดว่าเราต้องเหมือนคนอื่น เพราะความต่าง ความพิเศษที่เราใส่เข้าไปในทีม ในที่ทำงาน ในสังคม ในประเทศ อาจจะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นก็ได้

——————————————

3. ปิดทองหลังพระได้ แต่อย่าละเลยที่จะบอกให้คนอื่นรู้

เราเคยคิดมาเสมอว่า เวลาทำงาน หรือทำกิจกรรมอะไร ถ้าทำเยอะ ทำหนัก คนก็จะเห็นเองโดยที่ไม่ต้องพยายามบอกคนอื่นว่าเราทำอะไรอยู่ หัวหน้าเราบอกว่าเวลาเขียนรายงานให้ผู้บริหารฟังถึงสิ่งที่เราทำ ต้องเขียนให้ถ่อมตัวน้อยกว่านี้ และเขียนให้สิ่งที่ทำดูเด่นชัดกว่านี้

ในตอนแรกเรารู้สึกว่า ทำก็เหนื่อยพอควรแล้ว ยังต้องมาชมตัวเอง หรือต้องมาสาธยาย หรือพิสูจน์สิ่งที่ตัวเองทำผ่านตัวอักษรจนสวยหรูอีก… จนเราได้อ่านตัวอย่างรายงานของเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เราสนิทในที่ทำงาน เราจึงเปลี่ยนความคิด เพราะงานคล้ายกันมาก ทำงานลักษณะเดียวกัน แต่เขียนรายงานออกมาอย่างกับทำคนละสิ่งอย่าง และมันดูว้าวมาก ๆ

พอเรามาลองคิดในมุมผู้บริหารที่ไม่ได้เป็นผู้จัดการเราโดยตรง ที่เป็นผู้อนุมัติเลื่อนตำแหน่ง ถึงทำเหมือนกัน แต่รายงานต่างกัน มันไม่แปลกเลยที่การเขียน หรือการบอกเล่าสิ่งที่ทำไปแบบที่เราเล่า จะทำให้ผู้บริหารเห็นว่าเราทำน้อยกว่า สำเร็จน้อยกว่า

เพราะฉะนั้นทำอย่างเดียวไม่พอ ต้องบอกให้คนอื่นรู้ได้ว่าทำอะไรไป และต้องใช้วิธี และคำพูดการบอกที่เหมาะสมด้วย มีคำพูดจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่เราเจอในอินเตอร์เนตบอกว่า

“You do have to be willing to boast. Managers don’t always know what you do, and success is not always fairly credited” โดย Richard Berry มหาวิทยาลัยซันเดอร์แลนด์

แต่อันนี้คืออวดในสิ่งที่ทำจริงนะคะ ไม่ใช่อวดในสิ่งที่ไม่ได้ทำ!!

——————————————

4. เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าที่เราคิด

สัญญาทดลองงาน (probation) ของมหาวิทยาลัยที่เราอยู่คือ 3 ปี แต่หลังจากสองปีเราก็ทำตามเงื่อนไขได้หมด และสามารถออกจาก probation ได้ โดยถ้าเราออกจาก probation มีโอกาสขอขึ้นเงินเดือน …

แต่เราไม่ออกจะอยู่ใน probation จนครบ 3 ปีทุกคนอาจจะงงว่า อ้าว ออกจาก probation ก็ดีสิ ถือว่าผ่านงาน จริง ๆ สัญญา probation คือ 3 ปี คนที่อยู่ในสัญญาจะได้กันเวลา 20-25% ของเวลาการทำงานทั้งหมดออกมาเป็นส่วนการทำวิจัย ซึ่งหมายความว่า ระบบนี้ให้ประโยชน์ในแง่เวลากับบุคคลากรที่เพิ่งเริ่มทำงาน ทำให้งานส่วนอื่น ๆ (ขั่วโมงสอน หรือชั่วโมงทำงานบริหาร) ลดลง

การยื่นข้อเสนอขึ้นเงินเดือนให้เราถ้าเราออกจากสัญญา probation คือให้เราเลือกแลกเงินที่เพิ่มขึ้นมา กับเวลาที่เสียไป

ในอาจารย์ที่เพิ่งเริ่มทำงานที่มีประสบการณ์ไม่มาก และต้องการเวลามาพัฒนางานวิจัย เราก็เลือกที่จะเก็บเวลาไว้แทนที่จะรับเงินเดือนที่มากขึ้น ณ เวลานั้นทำให้เราเห็นถึงคุณค่า และมูลค่าของเวลาเป็นรูปธรรมมากขึ้นจริงๆ

——————————————

5. การมาอยู่ในสังคมที่เราเป็นฝ่ายด้อย ทำให้เรามองเห็นปัญหาทางสังคมที่เราเคยมองข้ามมาก่อน

พอมาอยู่ในประเทศที่เราไม่ใช่ประชากรของเขา เราไม่มีความได้เปรียบทางด้านเชื้อชาติ สังคมหรือชนชั้น หรือเราเป็นประชากรที่ถูกมองว่าเป็นคนนอก หรือไม่ใช่ “คนส่วนใหญ่” ทำให้เรารับรู้ถึงความอึดอัดคับข้องใจ ของคนบางกลุ่มที่เราอาจมองข้ามในสังคมที่บ้านเกิดเรา ที่เราถือว่าโชคดีมากที่เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีฐานะพอกินพอใช้ และมีต้นทุนทางสังคมที่มากกว่าคนบางกลุ่มมาก

ตรงนี้ไม่ได้จะบอกว่าเราถูกปฏิบัติไม่ดีจากคนที่นี่ เพื่อนเราทุกคนที่ทำงาน ปฏิบัติกับเราดีมาก แต่ยังไงก็ตามเราก็ยังประสบพบเจอกับเหตุการณ์ที่คนหรือระบบที่นี่ปฏิบัติต่อเราแบบมีอคติโดยไม่รู้ตัว ค่อนข้างมากกว่าตอนอยู่ที่ประเทศบ้านเกิด

——————————————

บทความนี้ปรับมาจากบทความเต็มที่เคยเขียนลงเพจของตัวเองนะคะ หวังว่าจะเป็นส่วนสะท้อนประสบการณ์พี่ ๆ เพื่อน ๆ หลายท่านที่มาทำงานที่ต่างบ้านต่างเมือง

ถ้าใครสนใจข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และโบช่วยได้ ก็ยินดีนะคะ