เป็นมนุษย์ที่ยั่งยืน?

ใครหนอที่หาหัวข้ออย่างนี้มาให้เขียน? ซึ่งเป็นเรื่องที่กว้างมากและใหญ่มาก และหลายคนคงคิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ ภูเขา ทะเล แม่น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ หรือบางคนอาจจะคิดถึงการผลิตทางด้านการเกษตร ประมง อุตสาหกรรม ฯลฯ และคิดไกลไปถึงสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน คิดถึงสาเหตุและวิธีการในการป้องกันแก้ไข ซึ่งเราทุกคนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ จะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน คิดว่าทำอย่างไร เราจะรักษาสิ่งเหล่านี้ให้คงสภาพเดิมมากที่สุด ให้เป็นไปตามธรรมชาติและเหมาะสมกับการอาศัยอยู่ของสิ่งมีชีวิตเท่าที่เราจะทำได้ เพื่อให้เรา ลูกหลานและคนรุ่นหลังได้มีชีวิตที่ดี

แต่ในความคิดของผู้เขียนนั้น “วิถีชีวิตแบบยั่งยืน” ยังมีมุมมองทางด้านอื่น ๆ อีกด้วย ลองคิดซิว่า เรา/มนุษย์ เป็นทรัพยากรหนึ่งของโลก และต้องการเป็นทรัพยากรที่ดีมาก มีคุณค่า มีประโยชน์แบบยั่งยืน เราควรที่จะทำอย่างไร? มีวิธีการดูแลรักษาตนเอง คนรอบข้าง เพื่อนร่วมโลกและสภาพแวดล้อมอย่างไร? สามารถสืบทอดความคิด วิธีการประพฤติปฏิบัติต่อไปยังลูกหลานของเราได้อย่างไร? สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคำถาม

แน่นอนก่อนอื่น เราต้องมีความสุข มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี เราจึงจะสามารถเป็นทรัพยากรที่ดีของโลกได้

1. รู้จักตัวเอง ก่อนที่เราจะไปรู้เรื่องอื่น ๆ ควรที่เราจะต้องรู้จักตนเอง ก่อนที่จะไปคิดพัฒนาสิ่งภายนอก ควรต้องพัฒนาตนเองก่อน เคยถามตนเองไหมว่า “ฉันมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ฉันมีความสามารถอะไรบ้าง ฉันกำลังทำอะไรอยู่ อะไรคือสิ่งที่ฉันต้องการ และฉันจะทำได้อย่างไร?” คำถามเหล่านี้จะทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น วิเคราะห์ตนเองมากขึ้น มีเหตุผลให้กับตนเอง เมื่อได้คำตอบแล้ว ข้อดีเราเก็บไว้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับตนเองในการที่จะดำเนินชีวิตต่อไป ส่วนข้อเสีย ถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะต้องมี และเมื่อเรารู้แล้ว จึงต้องนำมาคิด หาวิธีการปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ “ไม้ดัดได้ ฉันใด เราคนก็สามารถฝึกตนเองได้ ฉันนั้น”

2. มีจุดมุ่งหมายของชีวิต เมื่อเราจะก้าวเดินออกจากบ้าน เราต่างมีจุดมุ่งหมายว่าเราจะไปไหน ทำอะไร ฯลฯ เช่นเดียวกัน วิถีการดำเนินชีวิต ต้องมีจุดมุ่งหมายและมีการวางแผน เมื่อรู้ว่ามีความสามารถอะไรบ้าง ที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองหรือสังคมได้ จึงควรที่จะนำมาใช้ ทั้งในด้านการประกอบอาชีพและการทำงานเพื่อส่วนรวม อาชีพเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำเป็นประจำ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรักในอาชีพนั้น ๆ เพื่อที่จะทำงานได้อย่างมีความสุข มีความก้าวหน้า อาชีพอะไรก็ตามที่เป็นอาชีพที่สุจริต ถือเป็นความภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำ อย่าปิดกั้นตัวเองเพียงเพราะคิดว่า ฉันจบปริญญา ในสาขานี้ สาขานั้น นั่นคือความสามารถของฉัน และจะต้องทำงานในด้านนั้นเท่านั้น

แต่ลองเปิดโอกาสให้กับตนเอง ทดลองสิ่งใหม่ ๆ ว่านอกจากปริญญาแล้วยังมีความสามารถพิเศษอื่น ๆ อีกหรือเปล่า หลายคนมีความสามารถในด้านการทำอาหาร ขนม เย็บปักถักร้อย นวดแผนโบราณ ช่างฝีมือ ออกแบบ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประกอบอาชีพได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเอง และคิดว่าฉันจะต้องทำได้ จากนั้นทำให้ดีที่สุด ถึงแม้ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม ถ้าครั้งนี้ฉันทำไม่ได้ ฉันจะพยายามต่อไป “ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหน ที่ประสบความสำเร็จด้วยการทดลองเพียงครั้งเดียว” “ไม่มีใครที่ไม่เคยล้ม” แต่ทุกคนเคยล้ม และต่างก็ลุกขึ้นและเดินต่อไป

3. มีวิธีการคิดและทัศนคติที่ดี เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากเราไม่รู้จักคิด เราจะไม่มีความสุขเลย มนุษย์ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ปัจจัยสี่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ตามที่เราได้เคยเรียนหรือรู้มา แต่ดูเหมือนชีวิตมนุษย์ ณ ปัจจุบัน ยังต้องการสิ่งอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การมีพื้นที่ในสังคม การเป็นที่ยอมรับ เพื่อที่จะสามารถยืนอยู่ได้ด้วยความมั่นใจ ในแต่ละวันเราต้องพบปะผู้คน และอาจจะมีเรื่องที่เข้ามากระทบกับความรู้สึกของเราในด้านลบ และบ่อยครั้งเรื่องเหล่านั้นมักจะมาจากคนที่เรารักหรือมีความสัมพันธ์ด้วย เช่น คนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูงและคนรู้จัก

หากมีเพื่อนคนหนึ่งมาพูดคุยกับเรา และสิ่งที่เขาพูดนั้นกระทบกับความรู้สึกของเราในทางลบอย่างแรง เราควรจะทำอย่างไร? คิดว่า… “ครั้งนี้ฝากไว้ก่อน ขอกลับไปคิด เดี๋ยวจะมาเอาคืน” หรือ “ใส่อารมณ์โต้ตอบกลับในทันที ให้สมกับที่เขาว่าฉัน” หรือ “ไม่พูด ไม่ตอบและไม่ต้องคบหาสมาคมกันอีก” หรือ “ตอบกลับอย่างมีเหตุผล ด้วยน้ำเสียงธรรมดาและขอบคุณ” และคิดว่า “เขาพูดเพราะรัก เขาติเพื่อก่อ เพราะถ้าไม่รัก ไม่ห่วง เขาคงไม่พูดออกมา และถ้าเขาไม่พูด เราก็คงไม่รู้ตัว ฯลฯ” เราสามารถที่จะเลือกคิด เลือกทำได้ “สิ่งใดก็ตาม หากมีคนให้ ถ้าเราต้องการรับ สิ่งนั้นก็จะอยู่กับเรา แต่ถ้าเราไม่ต้องการรับ สิ่งนั้นก็จะยังคงอยู่กับผู้ให้ หรืออยู่ที่ตรงนั้น”

นั่นเป็นอีกวิธีการคิดหนึ่งซึ่งจะทำให้เรามีความสุข และไม่เก็บเรื่องเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์ บ่อยครั้งถ้าเราไม่สามารถจัดการกับความคิดของตนเองได้ และมีอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ภายใน สิ่งนี้ยังจะส่งผลไปยังคนรอบข้างของเราอีกด้วย

วิธีจัดการกับการมีพื้นที่อยู่ในสังคมนั้น อยู่ที่ความคิดและการกระทำของเรา ที่เราจะทำตัวให้เป็นที่ยอมรับได้มากน้อยเพียงใด การรู้ทันความคิดของตนเองเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่จะทำให้เรามีความสุข รู้ว่าอะไรควรพูด ไม่ควรพูด อะไรควรทำ ไม่ควรทำ ทั้งนี้เพราะการที่เราตั้งคำถามกับตนเองและให้คำตอบกับตนเองเสมอ จึงเป็นการฝึกให้เราได้คิดก่อนที่จะทำ จะทำให้รู้จักคิดด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างตนเอง ไม่โทษตนเอง หรือไม่คิดเอาเปรียบ ว่าร้ายผู้อื่น ไม่คิดอะไรที่ไม่ดี แต่จะสามารถเตือนตนเองได้ในสถานการณ์นั้นๆ แน่นอน เมื่อความคิดดี การกระทำย่อมดีตามไปด้วย “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว”

บางช่วงเวลาของชีวิต เราอาจต้องพบกับปัญหาและอุปสรรค แต่อย่ารีบสรุปเรื่องราวนั้น ๆ คงต้องคิดว่า นั่นคือการท้าทายความสามารถของเราว่าเราจะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร และไม่ลืมที่จะคิดว่า “เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส”

4. มีความพอเพียงในสิ่งที่มี ที่เป็นและที่ทำ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ให้หยุดอยู่กับที่ ไม่ต้องพัฒนาตนเอง ไม่ต้องคิดหรือทำอะไรให้มากมาย อยู่ไปวัน ๆ ตามประสา แต่ความพอเพียงในที่นี้หมายถึง การมองอย่างเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ เช่น เมื่อเข้าใจว่าคนเราไม่เหมือนกัน ทั้งความคิด อุปนิสัย ความรู้ความสามารถ อาชีพ ตำแหน่ง หน้าที่ ฯลฯ

ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องเหมือนเขา ไม่ต้องใช้ของแบรนด์ซึ่งมีราคาสูงมากเหมือนเขา ในขณะที่เรามีรายได้เพียงเท่านี้ และสามารถที่จะซื้อสิ่งของที่มีคุณภาพที่เท่าเทียมกันในราคาที่ต่ำกว่า ยอมรับและเข้าใจว่า ที่บางคนทำอย่างนั้น เพราะเขามีรายได้มากกว่าหรือมีสถานภาพทางสังคมที่มีความจำเป็นต้องใช้สินค้าเหล่านั้น ไม่นำตนเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพื่อที่จะทำให้ตนเองเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี

การที่เรารู้สถานภาพ บทบาทและหน้าที่ของตนเอง จะทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ มีมุมมองที่กว้างไกล มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และสามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การที่เราได้ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ภายในครอบครัว แม่บ้าน แม่ของลูก ภรรยา ลูก หรือหน้าที่จากงานประจำ หรือสังคมภายนอก

สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้เราเกิดภาคภูมิใจในตนเองแล้ว ยังส่งผลให้คนรอบข้างมีความภาคภูมิใจในตัวเราอีกด้วย ลูกภูมิใจในตัวแม่ สามีภูมิใจในตัวภรรยา และนั่นคือสิ่งที่คนรอบข้างจะได้รับและนำไปเป็นแบบอย่างที่ดีในการประพฤติปฏิบัติต่อไป บ่อยครั้งที่เราเห็นลูกใครสักคนที่เรารู้จักดี เราสามารถมองสะท้อนไปถึงพ่อกับแม่ของเขาด้วย เป็นเสมือนกระจกส่องทีเดียว

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการมี “วิถีชีวิตแบบยั่งยืน” คือ ทำให้ตนเองมีความสุข มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังทำอยู่ มีความคิดและทัศนคติที่ดีกับตนเองและผู้อื่น รู้ทันความคิดของตนเอง มีจุดมุ่งหมายในการทำสิ่งต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดไปยังลูกหลานของเรา เขาจะได้ยินเราพูด เล่าเรื่องราวต่างๆ ได้เห็นวิธีการทำ การแก้ปัญหาของเรา เมื่อคนมีคุณภาพที่ดีมีความคิดและการกระทำที่สร้างสรรค์ และนั่นคือ วิถีชีวิตแบบยั่งยืน เป็นทรัพยากรที่ดีและสำคัญของโลก ทำให้สังคมน่าอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“ตนเตือนตน” เป็นวลีที่ครอบคลุมได้ทุก ๆ เรื่อง ใช้ได้ตลอดเวลา ง่ายต่อการจดจำ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร