เศรษฐกิจของพ่อ

ชีวิตแบบยั่งยืน หมายความว่า การดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคนในแต่ละวัน มีความเสมอต้นเสมอปลาย คือเคยอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น เป็นความหมายที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความยั่งยืน

ชีวิตแบบยั่งยืนในความหมายของ “ศาสตร์พระราชา” (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9) คือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความจำเป็นที่ต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี พอที่จะรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรู้ ความรอบคอบระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันที่ต้องเสริมสร้างจิตสำนึก ในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ประหยัด มีความเพียร มีสติ

ทรงเน้นย้ำว่า เศรษฐกิจพอเพียงมิใช่แต่พอมีพอกินเท่านั้น หากต้องมีการพัฒนาให้ก้าวหน้าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายด้วย ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงนำไปปฏิบัติได้ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐ (เอกสารเจิดกำจรกำหนดการพระราชพิธี) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ที่มาของเศรษฐกิจพอเพียง มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงนำการปฏิบัติเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของอาณาประชาราษฎรให้ได้ผลแท้จริง เป็นพระราชดำริอันเรียบง่าย ใช้เครื่องมือใกล้ตัว และประหยัด ปฏิบัติได้ทุกภูมิสังคมของไทยหรือแม้ในต่างประเทศ พระราชดำริหลายองค์เป็นทั้งทฤษฏีและปรัชญา จนเป็นที่สรรเสริญว่าคือ “ศาสตร์ของพระราชา” เช่น กำเนิดโครงการหลวง โครงการฝนหลวง ธนาคารโค-กระบือ เกษตรทฤษฏีใหม่ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในที่นี้ผู้เขียนขอกล่าวเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฏีใหม่

ก่อนการเรียนรู้วิถีชีวิตแบบยั่งยืนตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผู้เขียนขอนำเรียนพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ดังนี้ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2470 ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2489 พระราชทานปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระราชดำริพัฒนาเทิดถาวร โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือหัวใจการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในการวางรากฐานพัฒนาสังคมและประเทศ ทรงพัฒนาดินเพื่อสร้างที่ทำกิน พัฒนาป่าเพื่อสร้างน้ำ พัฒนาน้ำเพื่อสร้างธัญญาหาร พัฒนาข้าวปลาอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิต ทรงสอนประชาชนให้รู้จักชีวิตพอเพียงเพื่อประโยชน์สุขของแผ่นดิน การพัฒนาทุกด้านล้วนประสานสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่า พระองค์คือผู้ทรงสร้างความเป็นฝึกแผ่นมั่นคงให้แก่ชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้แก่ประชาชนไทยเป็นแนวทางการดำรงชีวิต เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ความพอเพียงประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกันคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี

ทั้งนี้การตัดสินใจ การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการบริหารจัดการให้เป็นไปในทางสายกลาง อยู่ในระดับพอเพียงนี้ ต้องอาศัยเงื่อนไขของความรู้และเงื่อนไขของคุณธรรมเป็นพื้นฐาน โดยเงื่อนไขของความรู้ ได้แก่ ความรอบรู้ในวิชาการ ประสบการณ์ หรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน มีความรอบคอบที่จะนำความรู้มาพิจารณาอย่างเป็นบูรณาการ เพื่อประกอบการวางแผนและการนำไปสู่การปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง และเงื่อนไขของคุณธรรม ได้แก่ การมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความขยัน อดทน มีความเพียร มีสติ มีปัญญา แบ่งปัน ดำเนินชีวิตไปในทางที่ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ (วรเดช จันทรศร, 2554)

ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้

ห่วงที่ 1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและ ผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

ห่วงที่ 2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดย พิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

ห่วงที่ 3. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยมีเงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง 2 ประการ ดังนี้

โดยมีเงื่อนไข

1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน
ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฏิบัติ

2. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต (มูลนิธิชัยพัฒนา)

เกษตรทฤษฏีใหม่ ทรงเน้นเรื่องการจัดการที่ดินและน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร แบ่งออกเป็น 3 ขั้นคือ

ขั้นต้น เป็นการแบ่งพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 :10
ส่วนที่ 1 ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำฝน
ส่วนที่ 2 ปลูกข้าว
ส่วนที่ 3 ปลูกไม้ผล พืชผัก พืชไร่
ส่วนที่ 4 เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์

ขั้นที่ 2 เป็นการให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปแบบกลุ่มย่อยหรือสหกรณ์ในด้านการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา

ขั้นที่ 3 อันเป็นขั้นสุดท้ายคือ การติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงินมาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต (เอกสารเจิดกำจรกำหนดการพระราชพิธี, 26 พย. 60)

จะเห็นได้ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นหลักที่ปฏิบัติได้จริง ประสบผลสำเร็จ ซึ่งจะเห็นได้จากคุณสุธรรม จันทร์อ่อน ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ปี พ.ศ. 2561

คุณสุธรรม จันทร์อ่อน เคยเป็นผู้ทำการเกษตรแบบธรรมชาติ โดยเพาะปลูกพืชผักตามฤดูกาล และหันมาปรับเปลี่ยนเป็นการเพาะปลูกแบบเกษตรเชิงเดี่ยว ตามคำเชิญชวนของบริษัทเอกชน โดยปลูกฝ้าย ปลูกอ้อย เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งสร้างรายได้ดีในช่วงแรก แต่สุดท้ายเกิดมีหนี้สิน เนื่องจากกิจกรรมทางการเกษตรแต่ละอย่างมีต้นทุนที่สูง ประกอบกับในกระบวนการผลิตยังมีการใช้สารเคมีในปริมาณสูง เพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากและมีคุณภาพ ส่งผลให้มีสุขภาพไม่ดี จึงหันกลับมายึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยทำการเกษตรแบบอินทรีย์ มีการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนเพื่อวิเคราะห์ตนเอง จนสามารถปลดหนี้สินได้สำเร็จ และดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นระยะเวลา 17 ปี สามารถเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น

https://www.moac.go.th/philosopher-philosopher-preview-401291791792 29 ธค. 61

คุณไก่ มีสุข แจ้งมีสุข อดีตผู้ประกาศข่าวสาวจากช่อง 3 ได้หันหลังให้วงการกลับมาสานฝันคุณพ่อที่อยากให้กลับมาอยู่บ้านเกิด พร้อม ๆ กับสานฝันตัวเองที่อยากให้ลูกสาวได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มีการทำสวน ปลูกมะนาวปลอดสารพิษ ปลูกผักไว้รับประทานเอง ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ เพื่อให้ไร่แจ้งมีสุขสวยสดชื่นดังที่ตั้งใจไว้

https://decor.mthai.com/celebstyle/35207.html 29 ธค.61

อีกหนึ่งคนดังหลังจากที่หันหลังให้กับวงการเพลงไปนาน สำหรับมือกล่องบ้าพลัง “วรเชษฐ์ เอมเปีย” หรือ “เชษฐ์ สไมล์บัฟฟาโล” ที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมานานนับสิบปีที่บ้านป่า อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ทำนาปลูกข้าว ทำสวนเลี้ยงชีพ แถมยังเปิดโรงทานให้กับผู้ยากไร้ แม้จะไม่ได้ร่ำรวยแต่หนุ่มเชษฐ์กลับมีความสุขอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

“ผมภูมิใจที่สุด ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรเต็มขั้น บางคนไม่เคยรู้ว่าพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ของเราพระองค์ท่านก็ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรแล้วเราเป็นลูกของท่านเมื่อเราได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรเราก็รู้สึกปลื้มอกปลื้มใจ ภาคภูมิใจเป็นอย่างมากครับ…เช้าวันนี้ช่วยกัน แต่งโคนกล้วย พรวนดิน รดน้ำ ปลูกกล้วยเพิ่มไว้อีก 3 ไร่ บนร่องสวน อยู่ข้างหลังโรงทานเชษฐ์ เพื่อต่อไปกล้วยนี่แหล่ะจะเลี้ยงดูโรงทาน โดยที่เราจะมีความมั่นคงยั่งยืนเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เกษตรพอเพียงที่มีความก้าวหน้ายิ่ง ๆ..”

คุณตุ๊ก ชนกวนัน รักชีพ ซิงเกิ้ลมัมหัวใจพอเพียง ที่สร้างสุธาทิพย์ฟาร์ม หันมาปลูกข้าวตามวิถีเกษตรอินทรีย์บนนาข้าวของตัวเอง มีโรงสีเอง และเมื่อมีมากเกินกว่าที่ตัวเองจะกินหมดค่อยนำไปจำหน่าย ถือเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่เธอนำมาใช้เลี้ยงดูตัวเองและลูก ๆ และนอกจากนี้สาวตุ๊กยังได้สอนให้ลูก ๆ รู้จักการทำนา เผื่อภายภาคหน้าเมื่อตัวเองไม่อยู่ลูก ๆ จะได้สานต่อความพอเพียงนี้ต่อไป

https://www.tnews.co.th/contents/473894 29 ธค.61

เหล่านี้คือตัวอย่างชีวิตแบบยั่งยืนบนวิถีความพอเพียง ที่ทุกคนในสังคมสามารถเลือกใช้ชีวิตได้ “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกจะมีชีวิตที่ดีแบบยั่งยืนและพอเพียง” ได้ด้วยตัวของเราเอง

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้มีหลายประเทศได้ขอรับพระราชทานแนวพระราชดำริไปพัฒนาประเทศของตนโดยเฉพาะความยากจน ทรงแก้ไขด้วยการพัฒนา สอนราษฎรให้รู้จักพึ่งตนเอง ทรงวางแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยวิธีเรียบง่าย มีผลสำเร็จชัดเจนให้สอดคล้องกับภูมิสังคมคือสภาพทางภูมิศาสตร์และสังคมแต่ละถิ่น เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิชัยพัฒนาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยตรง ประมาณ 5,000 โครงการ

เป็นที่ประจักษ์ชัดในพระอัจฉริยภาพว่าทรงเป็นเลิศในศาสตร์ทั้งปวง หน่วยงานต่างๆได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญาเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ อาทิ อัครศิลปิน พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระบิดาแห่งในหลวง พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน นอกจากนี้ ได้มีการถวายพระนามด้วยความจงรักภักดี อาทิ กษัตริย์เกษตร กษัตริย์นักพัฒนา และกษัตริย์นักกีฬา เป็นต้น

ที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ยังมีพระปรีชาเกริกไกรไปทั่วหล้าแล้วยังมีพระราชกรณียกิจเพื่อปวงประชาอีกนานัปการ มีพระเกียรติยศปรากฏทั่วสากล ที่ผู้เขียนไม่สามารถนำมากล่าวถึงได้ในพื้นที่อันจำกัดเช่นนี้ได้ แต่สิ่งที่ประจักษ์แก่ประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้อาศัยใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10

ดังนั้น การใช้ชีวิตแบบยั่งยืนคือการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง คือมิใช่แต่พอมีพอกินเท่านั้น หากต้องมีการพัฒนาให้ก้าวหน้าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายด้วย ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงนำไปปฏิบัติได้ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐ (เอกสารเจิดกำจรกำหนดการพระราชพิธี, 26 พย. 60)

………………………………………………………….

หมายเหตุ : เจิดกำจรกำหนดการพระราชพิธี หมายถึง แผ่นพับที่ระลึกงานพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9