บทความจากสารสตรี ปี 2013:

โดย บุญส่ง ชเลธร หัวหน้าศูนย์ กศน. กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน

บทความนี้เขียนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

……………………………………………………………………………………………………………..

Photo credit: https://www.pexels.com/photo/bunch-of-delicious-fresh-blueberries-on-table-4021622/

สองด้านของเหรียญเดียวกัน

ในขณะที่สวีเดนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการดีเป็นอันดับต้นๆของโลกประเทศหนึ่ง ที่พลเมืองได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งตาย การดูแลของรัฐครอบคลุมเด็กที่อยู่ในครรภ์ สตรีผู้เป็นแม่ เด็กนักเรียน วัยรุ่น ครอบครัว คนพิการ คนป่วยไข้ คนทำงาน คนว่างงาน จนถึงคนแก่เฒ่า

รัฐสวัสดิการจะดูแลคนทำงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความอบอุ่นปลอดภัยในชีวิต และการมีงานทำไม่ว่าจะเป็นงานอะไร คนขับรถเมล์ คนเสิร์ฟอาหาร พ่อครัว คนล้างจาน คนทำความสะอาด คนเก็บขยะ คนส่งหนังสือพิมพ์ แพทย์ ครู ช่างฝีมือ ซึ่งแม้ระดับความแตกต่างของเงินเดือนจะยังคงมีอยู่ตามลักษณะของงาน แต่โดยพื้นฐานแล้วการมีงานประจำทำในทุกอาชีพล้วนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

นอกจากนั้นกฎหมายก็ยังเข้าควบคุมและดูแลทั้งสภาพการทำงาน เงื่อนไขการจ้างงาน เงินเดือน สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน วันหยุด ค่าล่วงเวลา รวมถึงสวัสดิการที่ควรมีและควรได้รับ

สวีเดนและประเทศที่มีรัฐสวัสดิการอื่นๆได้พิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ในระบอบทุนนิยมที่พูดกันว่าคู่ขัดแย้งหลักของสังคม คือ กรรมกร อันเป็นผู้ทำการผลิตกับ นายทุน ที่เป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตจะต้องขัดแย้งและต่อสู้โค่นล้มกันนั้น ไม่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น สวีเดนทำให้นายจ้างอยู่ได้ คนงานอยู่ได้และอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ความขัดแย้งในปัญหาการแบ่งกำไรจากการผลิตที่ยังคงมีอยู่นั้นสามารถแก้ไขหรือบรรลุประโยชน์ร่วมกันได้ด้วยการเจรจา แม้ในบางหนจะมีการสไตรค์หยุดงานหรือปิดงานเลิกจ้าง แต่ทุกอย่างก็วางอยู่บนพื้นฐานของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นดิน

ดังนั้นเมื่อมองย้อนกลับมาถึงกรณีคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ที่มาจากประเทศไทยหรือ/และจากอีกหลายประเทศในเอเซีย อย่าง เวียดนาม จีน และบังคลาเทศ ทำไมคนงานเหล่านี้จึงมีสภาพเหมือน “ทาส” ในยุคสมัยก่อน ที่ความเป็นอยู่แออัดยัดเยียด เหม็นอับ สกปรก เงื่อนไขการทำงานแย่ ค่าแรงน้อยในขณะที่งานหนักมาก และไม่มีอะไรค้ำประกันเลยว่าหลังการทำงานอย่างหนักเป็นเวลาร่วม 3 เดือนแล้วนั้น พวกเขาจะได้ค่าแรงงานคุ้มกับความเหนื่อยยากอย่างที่ตั้งความหวังเอาไว้ก่อนหน้าการเหิรฟ้ามาจากอีกซีกโลกหนึ่ง

อะไรคือข้อเท็จจริง และ อะไรคือปัญหาสำหรับคนงานเก็บลูกเบอร์รี่จากประเทศไทย

ลูกเบอร์รี่ : ทรัพย์สินเรี่ยดินในป่าเขา

ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมามีคนเอเซียจำนวนนับพันจนถึงหมื่นคนในบางปี เดินทางมาสวีเดนเพื่อเป็นคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ งานที่คนสวีดิชเจ้าของประเทศไม่ยอมทำเป็นอาชีพ นอกจากการเก็บหาเป็นบางครั้งเพื่อนำมาทำแยมบ้างเท่านั้น ทั้งๆที่ลูกเบอร์รี่อันเป็นผลไม้ป่าหลากหลายพันธุ์ผุดขึ้นเองตามธรรมชาติในเขตป่าเขา แน่นหนาระเรี่ยปกคลุมผืนดินไปจนทั่วประเทศโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ และใครๆก็เข้ามาเก็บกินหรือเก็บขายได้

ดังนั้น ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมจนถึงกลางเดือนกันยายนของสวีเดนจึงปรากฎคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานของไทย จะเดินเข้าป่าเสาะหาเก็บผลไม้เหล่านี้ไปขาย ตั้งแต่เช้าจรดค่ำมืดทุกวัน

เรื่องน่าจะเป็นไปอย่างง่าย ๆ ที่ว่าคนงานมาสวีเดน ทำงานเก็บลูกเบอร์รี่โดยได้รับค่าแรงค่าเหนื่อยตามจำนวนกิโลกรัมของผลไม้ป่าที่ตัวเองเก็บได้ แล้วบินกลับอย่างสบายใจต่อรายได้ที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของตน แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับปรากฎข่าวคราวความขัดแย้งและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวงคนงาน การเอารัดเอาเปรียบ การปราศจากระบบการจ้างงานที่เป็นธรรม โดยความช่วยเหลือที่ควรได้รับจากหน่วยราชการก็มิได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น

หนังสือพิมพ์สวีเดนเรียกคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ว่า “ทาสสมัยใหม่”

ทั้งหนังสือพิมพ์อย่าง New York Times และหนังสือพิมพ์อินเดีย The Hindi ต่างก็พาดหัวตัวโตและเขียนถึงว่า สวีเดนเอารัดเอาเปรียบคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ที่ยากจนเหล่านี้อย่างไร (Swedwatch # 41, MORS LILLA OLLE, Peace & Love Foundation, Svenska kyrkan, Swedwatch, Författare: Mats Wingborg, Juni 2011, sidan 6)

ที่คอมมูน Åsele, Luleå และ Storuman ทางภาคเหนือของสวีเดนมีการเดินขบวนของคนงานเก็บลูกเบอร์รี่หลายครั้ง แม้กระทั่งการเดินขบวนประท้วงหน้าสถานทูตสวีเดนประจำประเทศไทยของคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ที่กลับมาเมืองไทยพร้อมหนี้สินรุงรังก็เคยปรากฎเป็นข่าว ที่สร้างภาพลักษณ์เสียหายให้กับประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีเยี่ยม ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีสำนึกแห่งมนุษยธรรมสูงส่ง

แม้ว่าในประเทศสวีเดน คนงานเก็บลูกเบอร์รี่จะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนและบุคคลทั่วไป สหภาพแรงงานทางภาคเหนือได้รวบรวมเงินบริจาค องค์การกาชาดสากลบริจาคเสื้อผ้าเครื่องใช้ที่จำเป็นประจำวัน แม้กระทั่งร้านอาหารบางแห่งถึงกับอนุญาตให้คนเก็บลูกเบอร์รี่เข้าไปรับประทานอาหารฟรี ก็มี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยได้รับรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ที่เข้าไปในสวีเดนภายใต้เงื่อนไขและข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีเนื้อความในสัญญาไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยคนงานได้รับการกำชับจากบริษัทนายหน้าจัดหางานให้ร่วมกันโกหกต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบถ้าประสงค์จะเดินทางมาทำงาน

โดยทั้งที่รู้ว่า สัญญาทั้งหลายนั้นเขียนขึ้นมาเพื่อให้ผ่านการรับรองตามกฎหมายเท่านั้น ถือเป็นนิติกรรมอำพราง และคนงานจะได้รับความเสียหายใหญ่หลวงเองหากมีปัญหาเกิดขึ้นจากการทำงาน ความช่วยเหลือจะมีน้อยมากและการเอาโทษผิดกับทางบริษัทนายหน้าก็แทบเป็นศูนย์ แต่คนงานก็ยังร่วมมือกันทำในสิ่งที่ผิดๆด้วยเพียงเพราะต้องการออกมาทำงาน ทำแม้กระทั่งการเซ็นต์ชื่อทิ้งไว้ในกระดาษเปล่า โดยไม่รู้ว่าจะถูกนำไปทำอะไรบ้างในภายหลัง แม้สัญญาการจ้างงานที่ตนลงชื่อ บริษัทนายหน้าก็หลีกเลี่ยงที่จะให้สำเนา รวมไปถึงลักษณะของวีซ่าก็ไม่อาจรู้ได้ว่าเป็นอย่างไร เป็นวีซ่าท่องเที่ยวหรือวีซ่าการทำงานชั่วคราว

แต่ถึงกระนั้นความต้องการไปทำงานเพื่อหารายได้พิเศษของคนงานก็ยังมีสูงมาก ซึ่งในการประชุมเสวนาครั้งหนึ่งที่จังหวัดพิษณุโลกในปีที่ผ่านมา ได้มีการรวบรวมชาวบ้านที่ประสงค์จะไปทำงานเก็บลูกเบอร์รี่ในสวีเดนกว่าหนึ่งร้อยคน โดยส่วนใหญ่ได้เคยไปมาแล้วและบางคนไปติดต่อกันมานับสิบปี ทางองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เป็นผู้สนับสนุนการจัดการประชุมได้ถามที่ประชุมว่า ถ้าได้รู้ว่าบริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานหลอกคนงานไปทำงานเก็บลูกเบอร์รี่ คนงานจะยังคงอยากไปกันไหม ปรากฎว่าทั้งร้อยเปอร์เซนต์ในที่ประชุมตอบชัดเจนว่า ก็จะยังคงอยากไป ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่ตอบว่าไม่ไป ถามว่าทำไม ก็ได้คำตอบว่า ถึงบริษัทนายหน้าจะหลอกไปหรือให้ข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง แต่ถ้าช่วยให้ไปถึงสวีเดนได้ก็ไม่เป็นไร พวกเขาเชื่อว่าสามารถเอาตัวรอดได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฎอยู่เนืองๆ คือการที่คนงานต้องกู้เงินเพื่อนำมาให้กับบริษัทนายหน้าจัดหางาน ดอกเบี้ยของการกู้เงินนอกระบบสูงถึง 5-10 % ต่อเดือน ซึ่งคนงานจำจะต้องเก็บลูกเบอร์รี่ถึง 2-3 ตันต่อคนในช่วงเวลา 2-3 เดือนเพื่อให้สามารถจ่ายหนี้สินที่กู้มาและพอมีเงินเหลือกลับไปบ้าง

ซึ่งโอกาสที่จะเป็นเช่นนี้ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ ทั้งดินฟ้าอากาศที่เป็นใจให้ลูกเบอร์รี่มีจำนวนมากพอ ซึ่งถ้าในปีนั้นเกิดฝนตกมาก ลูกเบอร์รี่มีน้อย ทั้งสุขภาพของคนงานที่จะสามารถอดทนต่อการทำงานหนักได้ ก็เป็นส่วนที่ต้องพิจารณา เพราะเกิดปัญหาความไม่คุ้นชินกับอากาศ ทำให้ป่วยไข้จนไม่สามารถออกไปทำงานได้ กับการประสบอุบัติเหตุ คนงานถูกหมีตะปบเอาก็เคยปรากฎ หลงป่า พลัดตกเขาจนขาหัก ก็มี

นอกจากนั้นจำนวนคนงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาเก็บลูกเบอร์รี่ก็เป็นปัญหาใหญ่ โดยสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนในประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่ในการพิจารณาออกวีซ่า ก็ไม่ใส่ใจในจำนวนผู้ที่จะได้รับวีซ่า ว่าถ้าอนุญาตไปมาก ก็เท่ากับส่งคนงานเข้าไปแย่งกันเก็บผลไม้ป่าที่มีจำนวนจำกัด อันเป็นผลให้รายได้ของแต่ละคนลดลงตามส่วน ทั้งนี้ มีเสียงวิจารณ์กันว่าเป็นเพราะทางสถานทูตได้รับค่าธรรมเนียมการออกวีซ่าต่อหัวเป็นเงินเกือบหนึ่งหมื่นบาทต่อคน เมื่อออกวีซ่าได้มากก็เท่ากับมีรายได้เป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้น แทนที่จะออกวีซ่าให้คนงานแค่สามถึงสี่พันคนต่อปี ซึ่งถือเป็นจำนวนเหมาะสม แต่กลับออกให้ถึงแปด-เก้าพันคน เป็นต้น

ครั้นเมื่อสอบถามไปกับทางสถานทูตก็ได้รับคำตอบว่า หากผู้ยื่นขอวีซ่ามีเอกสารและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ทางสถานทูตก็ไม่สามารถปฏิเสธการออกวีซ่าได้ ส่วนการไม่จำกัดจำนวนโควต้าก็เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายลงมา หากไม่มีแล้ว ทางสถานทูตก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ตัวแปรที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ เรื่องราคาผลไม้ป่าที่เกิดจากการกำหนดของตลาดโลก ที่มีผลทำให้คนงานมีรายได้ดีขึ้นหรือลดลง และที่สำคัญคือบริษัทนายหน้าจัดหางานของไทยหลายแห่งก็คิดแต่จะเอากำไรจนเกินความพอดีหรือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ในสองปีที่ผ่านมา มีกรณีน่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือมีบริษัทรับซื้อลูกเบอร์รี่ในสวีเดนบางบริษัทที่ได้พบปะและพูดคุยด้วย ได้พยายามแสดงความจริงใจที่จะช่วยเหลือคนงานไทยบ้างในระดับหนึ่ง คือการยินดีออกเงินค่าใช้จ่ายล่วงหน้าให้กับคนงานคนละสี่หมื่นบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยแต่อย่างใด เมื่อคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ได้ก็ค่อยหักออกในระหว่างการทำงานภายหลัง ซึ่งทำให้คนงานไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบที่ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงหรือกู้น้อยลง แต่ปรากฎว่าบริษัทนายหน้าจัดหางานที่รับเงินก้อนนี้ไป กลับเอาไปค้ากำไรอีกด้วยการเก็บดอกเบี้ยเอากับคนงานที่ตนเองพาขึ้นมาเองแทน อย่างนี้ก็มี

ปัญหาของคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ที่ผ่านมาจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของเงินค่าตอบแทนและเงื่อนไขการทำงานเท่านั้น แต่ยังสามารถมองได้ว่านี่เป็นเรื่องของการล่วงละเมิดทางด้านสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงคำถามว่านี่จะถูกจัดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ “ค้ามนุษย์” ได้หรือไม่อีกด้วย

สวีเดน : ความขายหน้าของชาติ

ข่าวคราวในทางลบของสิ่งที่เกิดขึ้นในสวีเดนต่อการปฏิบัติต่อคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ปรากฎออกทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆทั้งทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์และโซเชียลมีเดียอื่นๆ การฉวยโอกาสและการเอารัดเอาเปรียบกับชาวนายากจนจากประเทศต่างๆที่มาเป็นคนงานในสวีเดน ถูกทำให้รับรู้ไปจนทั่วโลก

ในหนังสือพิมพ์ New York Times วันที่ 20 กันยายน 2010 เสนอบทรายงานเรื่องนี้ โดยการอ้างอิงว่าสวีเดนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกฎหมายแรงงานที่ยืนอยู่ข้างคนงาน แต่เรื่องคนงานเก็บลูกเบอร์รี่กลับเป็นเรื่อง “ความน่าอับอายระดับชาติ” ที่คนงานต่างชาติต้องเป็นฝ่ายรับความเสี่ยงในทุกๆด้านของการมาทำงานในสวีเดน ซึ่งบทความในลักษณะอย่างนี้ยังมีปรากฎใน Bangkok Post ในประเทศไทย และ Irish Time ในไอร์แลนด์

หนังสือพิมพ์ The Hindi ของอินเดียวันที่ 9 ตุลาคม 2010 มีการเขียนรายงานว่า คนงานเก็บลูกเบอร์รี่ชาวเวียดนามที่ถูกหลอกมาทำงาน จำต้องออกไล่จับ “นกตัวเล็กๆ” เพื่อมาเป็นอาหารประทังชีวิต (Swedwatch # 41, MORS LILLA OLLE, Peace & Love Foundation, Svenska kyrkan, Swedwatch, Författare: Mats Wingborg, Juni 2011, sidan 11) เดือนกันยายน 2010 มีรายงานข่าวว่า คนงานเก็บลูกเบอร์รี่ชาวเวียดนามจับตัวหัวหน้างานขังเป็นตัวประกันเพราะถูกเบี้ยวค่าแรง ด้านคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ชาวไทยเดินขบวนทั้งในสวีเดนและในประเทศไทยที่หน้าสถานทูตสวีเดนในกรุงเทพฯ

นอกจากนั้น ยังมีบทเรียนในทางร้ายต่อการมาทำงาน ที่ถูกนายจ้างคือบริษัท Lomsjö Bär AB ของสวีเดนซึ่งวางแผนหลอกลวงมาตั้งแต่ต้น โดยการเชิดเงินรายได้ทั้งหมดของคนงานแล้วหนีหายไป คนงานเล่าว่า “เราทำงานกัน 7 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ตีสามจนถึงสามทุ่ม โดยไม่มีวันหยุดหรือเวลาพักผ่อน เรานั่งรถกันไกลหลายสิบกิโลเมตรจนเป็นร้อยๆกิโลเมตร แล้วเดินต่อเข้าไปในป่าอีกหลายกิโลเมตรเพื่อก้มหาลูกเบอร์รี่ เมื่อเก็บได้ก็ต้องแบกกันออกมา บางหนถึงเที่ยวละ 30 กิโลกรัม เราเก็บกันแม้แต่ในยามฝนตก..”

หนังสือพิมพ์ Dagen Nyheter วันที่ 25 กันยายน 2010 ลงข่าวว่า “คนงานเก็บลูกเบอร์รี่ชาวไทยร่วม 200 คนที่ความฝันถูกทำลาย ต้องนอนบนฟูกในโรงยิมของเมือง Luleå พวกเขามาสวีเดนด้วยความเชื่อมั่นว่าจะสามารถมีรายได้กลับไป แต่มาตอนนี้พวกเขากลับต้องเดินทางกลับไปเร็วกว่ากำหนด พร้อมด้วยหนี้สินที่ท่วมถึงใบหู”

หนังสือพิมพ์ Aftonbladet ของสวีเดนวันที่ 14 ตุลาคม 2010 รายงานว่า “คนงานเก็บลูกเบอร์รี่ชาวไทย 117 คนเพิ่งเดินทางกลับไทย พวกเขามาเก็บลูกบลูเบอร์รี่ในแถบ Åsele ถึง 2 เดือน แต่ถูกหลอกเรื่องค่าจ้าง”

หนังสือพิมพ์ Norrbottens-Kuriren ทางตอนหนือของสวีเดนวันที่ 30 สิงหาคม 2009 สรุปปัญหาของการทำงานเก็บลูกเบอร์รี่ที่ผ่านมาจนถึงวันนั้นว่าคนงานมีสภาพที่ “ใกล้กับการเป็นทาสเท่าที่จะใกล้ได้” ภาพความเป็นจริงของการทำงานต่างกันสิ้นเชิงกับคำโฆษณาชวนเชื่อจากตัวแทนบริษัทนายหน้าจัดหางานหลายต่อหลายคน ที่บรรยายว่าการเก็บลูกเบอร์รี่เสมือนประหนึ่งการเดินเก็บเงินที่ตกอยู่ดาษดื่นทั่วไปหมดบนผืนดินในป่าหิมพานต์

กำหนดเงื่อนไขใหม่

ทางรัฐบาลสวีเดนก็คงวิตกกังวลกับภาพพจน์ที่ปรากฎไม่น้อย จึงได้มีการมอบหมายให้สหภาพแรงงานในประเทศช่วยคิดหาทางแก้ไข จนกระทั่งปี 2010 ก็ปรากฎเป็นมติออกมาให้ปรับระบบการเดินทางมาเก็บลูกเบอร์รี่ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดใหม่

โดยความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ จากที่แต่เดิมคนงานจะมีรายได้ตามจำนวนหน่วยกิโลกรัมของลูกเบอร์รี่ที่ตนเองเก็บได้ มาสู่การจ้างงานด้วยเงินเดือนประจำต่อเดือน โดยนายจ้างไม่ว่าจะเป็นบริษัทในประเทศสวีเดนหรือบริษัทในประเทศไทยที่ส่งคนงานมา ต้องมีสัญญาการค้ำประกันค่าแรงขั้นต่ำกับคนงาน โดยถ้านายจ้างเป็นบริษัทในประเทศสวีเดน คนงานจะได้รับประกันเงินเดือนอย่างน้อย 16 372 โครนต่อเดือน (ประมาณ 74 000 บาท) ในการทำงานเต็มเวลา โดยจะต้องเสียภาษีรายได้ราว 25 % แต่ถ้านายจ้างเป็นบริษัทในประเทศไทย คนงานจะได้รับค่าแรงเป็นเงินเดือนอย่างน้อย 17 730 โครนต่อเดือน (ประมาณ 80 000 บาท) ในการทำงานเต็มเวลา แต่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

ทั้งนี้คนงานต้องได้ใบอนุญาตทำงานชั่วคราวจึงจะเข้ามาเก็บลูกเบอร์รี่ได้ ซึ่งก็มีการกำหนดคุณสมบัติว่า

  • ต้องมีหนังสือเดินทางถูกต้องตามกฎหมาย
  • ต้องสามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยรายได้จากงานที่ทำ
  • ผู้เป็นนายจ้างต้องประกาศหาคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ในประเทศสวีเดนและในประเทศต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปมาก่อนแล้วไม่น้อยกว่า 10 วันโดยไม่สามารถหาคนงานได้
  • ผู้เป็นนายจ้างต้องทำสัญญาการจ้างงานให้คนงาน ซึ่งในนั้นต้องระบุเรื่องเงินเดือนและเงื่อนไขการทำงานตามกฎหมาย โดยเฉพาะต้องยึดหลักตามที่มีอยู่ในกฎข้อบังคับที่เรียกว่า “สัญญาข้อตกลงร่วมของสวีเดน” ซึ่งจะเป็นเช่นเดียวกับที่ใช้กับคนทำงานในสวีเดนในงานอาชีพนั้น ๆ หรือในสายงานนั้น ๆ
  • เงินตอบแทนจากการทำงานไม่เต็มเวลา อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นเงิน 13 000 โครนต่อเดือน (ประมาณ 60 000 บาท)
  • นายจ้างหรือผู้ว่าจ้างต้องให้สหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาสัญญาการจ้างงานและแสดงความเห็นต่อเงื่อนไขที่ระบุไว้ในข้อเสนอการจ้างงานด้วยว่า สัญญานั้นเขียนขึ้นอย่างถูกต้องตามข้อกฎหมายหรือไม่ ข้อกำหนดใหม่ที่ประกาศออกมาก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างมากมาย

มีการประชุมสัมมนากันในหมู่บริษัทรับซื้อลูกเบอร์รี่และผู้เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพราะมีคำถามที่หาคำตอบไม่ได้หลายประการว่า เงินเดือนที่กำหนดมานั้นหมายถึงการทำงานวันละกี่ชั่วโมง กี่วันในสัปดาห์ และจะมีการทำงานนอกเวลาที่กำหนดได้ไหม ค่าล่วงเวลาเป็นอย่างไร การทำงานในวันหยุดราชการ วันเสาร์-อาทิตย์ และในกรณีที่คนงานจ่ายเงินภาษีรายได้ให้กับรัฐ ย่อมหมายความว่า หากคนงานเกิดป่วยไข้ขึ้นมาในวันทำงานนั้น คนงานควรได้รับเงินช่วยเหลือเรื่องค่าป่วยด้วยใช่ไหม

นอกจากนั้น ข้อสังเกตเชิงคัดค้านต่อข้อกำหนดนี้ก็ยังมีไปถึงว่า อาจมีคนงานที่ฉวยโอกาสจากเงินเดือนขั้นต่ำที่ได้นี้ แล้วไม่ทำงานอย่างที่ควรจะทำ แกล้งป่วย หรืออู้งานเวลาอยู่ในป่า เพราะไม่มีคนเข้าไปตรวจตราหรือดูแลว่าทำงานจริงไหม รวมถึงว่าอาจมีคนงานที่เก็บลูกเบอร์รี่ เอาลูกเบอร์รี่ส่วนใหญ่ที่ตนเองเก็บได้ออกไปขาย “มืด” ให้กับร้านค้าย่อยโดยตรง หรือสมคบกับคนไทยบางคนนำไปขายต่อที่อื่นเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง เพราะตามกฎหมายนั้น ไม่ว่าจะเก็บลูกเบอร์รี่ได้สิบกิโลกรัมหรือร้อยกิโลกรัม ต่างก็จะได้รับเงินเดือนจากบริษัทนายจ้างเท่ากันอยู่แล้ว ทางฝ่ายนายจ้างอันเป็นบริษัทรับซื้อลูกเบอร์รี่ได้รวมตัวกันคัดค้านข้อกำหนดใหม่คราวนี้มาก

ดังนั้น ในปีเดียวกันทางองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ก็ได้จัดให้มีการประชุมขึ้น โดยได้รับความสนับสนุนจากทางสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงสตอกโฮล์มให้ใช้สถานที่เป็นที่ประชุม มีคนมาร่วมประชุมเกือบร้อยคน โดยบริษัทรับซื้อลูกเบอร์รี่มาประชุมเกือบครบทุกบริษัท ปรากฎว่า มีอยู่บริษัทเดียวที่ยอมรับข้อกำหนดใหม่เรื่องการจ่ายค่าแรงเป็นเงินเดือน คือบริษัท Lomsjö Bär AB ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ค้านหัวชนฝา อันสร้างความแปลกใจให้ที่ประชุมไม่น้อยที่ยังมีบริษัทที่ยินยอมกับข้อกำหนดนี้ทั้ง ๆ ที่มีข้ออ่อนมากมาย

แต่มาภายหลัง (ในปีเดียวกัน) เรื่องก็ถึงเปิดโปงออกมาว่า บริษัท Lomsjö Bär AB โกงเงินค่าแรงคนงานไทยราวสองร้อยคนในฤดูกาลนั้น เงินเดือนเดือนแรกที่ต้องจ่ายก็ขอเลื่อนออกไป พอถึงเดือนที่สองก็ขอเลื่อนออกไปอีก ทั้ง ๆ ที่ลูกเบอร์รี่ที่คนงานเก็บได้มาก ๆ ในแต่ละวันถูกทางบริษัทขนไปขายต่อให้กับเอเย่นต์ใหญ่รับซื้อลูกเบอร์รี่แล้ววันต่อวัน พอครบสองเดือนทางเจ้าของบริษัท Lomsjö Bär AB ก็ปิดตัวเองหนีหายไปพร้อมกับเงินนับสิบล้าน ทิ้งคนงานสองร้อยกว่าคนที่เหมือนสูญเสียทุกอย่างให้คว้างอยู่กับที่และกับอนาคตที่ไม่มีความแน่นอน ดังนั้น การยอมรับข้อกำหนดใหม่เรื่องเงินเดือนให้คนงานเก็บลูกเบอร์รี่จึงเป็นเพียงการสร้างภาพของบริษัท Lomsjö Bär AB และเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนเตรียมการโกงอยู่แล้วนั่นเอง

เส้นทางขบวนการเก็บลูกเบอร์รี่

ในช่วงต้น เมื่อกว่ายี่สิบปีมาแล้วที่การเก็บลูกเบอร์รี่ของคนงานไทยเป็นการหารายได้พิเศษที่เกิดจากเครือญาติชักจูงกันเข้ามา โดยคนไทยที่อยู่ทางภาคเหนือบางคนนำญาติพี่น้องเพื่อนฝูงทางเมืองไทยมาเที่ยว แต่ในระหว่างการอ้างว่ามาเที่ยวหรือมาเยี่ยมญาตินั้น ก็กลับเข้าป่าเก็บลูกเบอร์รี่กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำต่อการทำงานในช่วงเวลาประมาณสามเดือน

ข่าวลือว่าบางครอบครัว พ่อแม่ลูกชายและลูกสะใภ้มีรายได้จากการขายลูกเบอร์รี่รวมกันถึงหนึ่งล้านบาท กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครปรารถนาค้นหาความเป็นจริงหรือลงลึกไปในรายละเอียดว่าจริงไหม เป็นไปได้อย่างไร มันกลายเป็นความฝันที่ง่ายต่อการไขว้คว้ามากกว่าการซื้อหวย สิ่งนี้กระตุ้นให้ความอยากที่จะได้มาทำงานเก็บลูกเบอร์รี่ในสวีเดนพุ่งขึ้นทบเท่าทวีคูณ จากจำนวนคนเป็นสิบ กลายมาเป็นร้อย เป็นพันและเป็นหลาย ๆ พันจนใกล้หมื่น ในที่สุด

เมื่อความต้องการมาเก็บลูกเบอร์รี่มีมากขึ้น ก็เกิดขบวนการรับส่งคนงาน เกิดธุรกิจให้เช่าบ้านพักรวมอาหารและบริการเช่ารถขึ้นในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ต้นทางเริ่มที่ประเทศไทยโดยคนงานต้องมีวีซ่าเข้าประเทศสวีเดน ซึ่งการขอวีซ่าเข้าประเทศเพื่อมาเก็บลูกเบอร์รี่ในสมัยแรก ๆ นั้นจะเป็นวีซ่าท่องเที่ยวทั้งหมด โดยมีญาติพี่น้องในสวีเดนให้การรับรองการอยู่อาศัย อาหารการกินไปจนถึงตั๋วเครื่องบินเดินทางก็มี

ซึ่งในช่วงปีแรก ๆ คนเข้ามายังมีจำนวนไม่มาก และจะเป็นการมาอยู่อาศัยกับญาติพี่น้องซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้หรือมีก็น้อยมาก ทำให้มีเงินเหลือเก็บกลับประเทศ ครั้นเมื่อข่าวลือสะพัดออกไปก็มีคนต้องการเข้ามาเก็บลูกเบอร์รี่มากขึ้น เกิดเป็นขบวนการจัดการในรูปแบบการท่องเที่ยวหรือการดูงานแอบแฝง โดยบริษัททัวร์ที่เป็นนายหน้าพามาสวีเดนเก็บค่าบริการจำนวนหนึ่ง อันเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา

ในปีแรก ๆ บริษัททัวร์เหล่านี้ก็มิได้มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน แต่เห็นว่าเป็นการหารายได้ง่าย ๆ และมีลูกค้าจำนวนมากที่พร้อมจะกู้หนี้ยืมสินมา ก็มีการพากันขึ้นมาเป็นกลุ่ม ๆ แล้วหาที่อยู่ที่พักแบบง่าย ๆ อย่างกระท่อมพักร้อนชายป่าทางภาคเหนืออันเป็นแหล่งของลูกเบอร์รี่ ช่วงนั้น คนงานส่วนใหญ่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากมากจนเกิดเป็นข่าวขึ้นมาอยู่เนืองๆ หลายหนก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมตัวและส่งตัวกลับ ในกรุงสตอกโฮล์มถึงกับมีกลุ่มประชาชนในพื้นที่ออกตระเวณไล่ล่าบริษัททัวร์ปลอมเหล่านี้ จนมีการขับรถไล่กันไปมาทั้งเมือง ก็เคยมี

แต่กระนั้น ความประสงค์ที่จะมาเก็บลูกเบอร์รี่ของคนงานไทยจากภาคอีสานก็ไม่เคยลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ทำงานหนักสามารถมีเงินติดกระเป๋ากลับไปบ้านเหมือนเดิม บริษัทนายหน้าจัดหาคนงานเข้ามาจัดการเป็นกลุ่มสุดท้าย มีการจัดตั้งตัวแทนเดินสายหาคนงานในชนบทตามจังหวัดต่าง ๆ มีการให้เงินตอบแทนนายหน้าหาคนงานในพื้นที่ มีการติดต่อกับบริษัทรับซื้อลูกเบอร์รี่ในสวีเดน มีการติดต่อเช่าแคมป์หรือบ้านพักของคนไทยในพื้นที่เพื่อเป็นที่พักให้คนงาน มาภายหลังทางบริษัทรับซื้อลูกเบอร์รี่บางบริษัทถึงกับจัดตั้งแคมป์และก่อสร้างบ้านพักแบบง่าย ๆ ของตนขึ้นมาเอง ถึงแม้จะเปิดใช้งานเพียงปีละสามเดือน แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับกำไรที่ได้มา

กระนั้นปัญหาก็ไม่ยุติลงง่าย ๆ เพราะเมื่อมีการจัดระบบรับคนงานแบบครบวงจรขึ้น ก็มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยที่คนงานที่มาในลักษณะเดิมคือ อ้างว่ามาท่องเที่ยวเยี่ยมญาติก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งในส่วนนี้คนงานจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า จึงเกิดสภาพที่คนงานกลุ่มหนึ่งกู้หนี้ยืมสินจำนวนมากมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอยู่กิน ค่าเช่ารถและน้ำมันรถ ตลอดจนจ่ายค่าบริการให้กับบริษัทนายหน้าจัดหางาน ในขณะที่กลุ่มเดินทางซึ่งมีญาติพี่น้องอยู่ในสวีเดนมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ากันมาก

ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาสภาพอากาศไม่ดีอันมีผลให้ลูกเบอร์รี่มีจำนวนน้อย ราคาในตลาดโลกที่ผันผวน หรือคนงานมาแย่งกันเก็บมากขึ้นขณะที่พื้นที่ป่าไม่ได้ขยายออก ทำให้คนงานมีรายได้น้อยลงในขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงสูงเช่นเดิม เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่าย แถมยังมีหนี้สินจากการกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง จนเกิดกรณีมาเก็บลูกเบอร์รี่แล้วกลับไม่ได้เงิน กลับไปบ้านก็ยังเสียที่นาที่เอาไปจำนองเงินกู้อีก การชุมนุมประท้วงและเรียกร้องขอความช่วยเหลือก็เกิดขึ้น อึงคนึงติดต่อกันมาทุกปี แต่ส่วนคนงานที่มีค่าใช้จ่ายน้อย ยังจะมีรายได้ที่น่าพอใจ ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ประท้วงจากคนกลุ่มนี้

ในปี 2009 มีคนงานเก็บลูกเบอร์รี่จากสวีเดนเข้าร้องเรียนต่อกรมแรงงานทั้งหมด 1014 รายจากจำนวนคนงาน 5950 ราย ซึ่งมีการตกลงยินยอมความกันกับบริษัทนายหน้าจัดหางานในปีนั้น 740 ราย เหลือเป็นคดีความในปี 2010 จำนวน 274 ราย ส่วนคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ในฟินแลนด์ 1672 รายมายื่นเรื่องร้องเรียน 121 ราย

การที่ทางรัฐบาลสวีเดนโดยสหภาพแรงงานได้ออกข้อกำหนดให้นายจ้างต้องรับผิดชอบการจ่ายค่าแรงเป็นรายเดือนเพื่อแก้ปัญหาคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ดังที่กล่าวมาตั้งแต่ปี 2010 แต่กระนั้นในปี 2011 ก็ยังมีปัญหาการชุมนุม การประท้วงของคนงานจากบังคลาเทศ เวียดนามและจีน อันเป็นคนงานกลุ่มใหม่ที่บริษัทรับซื้อลูกเบอร์รี่พาเข้าหาเพราะเห็นว่าคนงานจากไทยมีปัญหามาก จึงหันไปลองคนงานจากชาติอื่น ๆ แต่ก็ไม่อาจเลี่ยงปัญหาได้ จึงมีการนำคนงานขึ้นมาเป็นหลักอีกเหมือนเดิม แต่เพราะเหตุที่ปัญหายังคงมีไม่หยุด

ในปี 2012 ทางสถานทูตสวีเดนในประเทศไทยจึงเข้มงวดเรื่องการออกวีซ่าท่องเที่ยวมากขึ้น และถ้าสงสัยว่า ผู้ขอวีซ่าท่องเที่ยวจะแอบแฝงเพื่อไปเก็บลูกเบอร์รี่แล้ว ก็จะไม่ได้วีซ่าเข้าประเทศ คงมีแต่บริษัทนายหน้าจัดหางานที่มีการร่วมมือกับบริษัทรับซื้อลูกเบอร์รี่ที่ส่งคนงานเข้าไปเป็นล่ำเป็นสันเหมือนเดิม แต่เพราะจำนวนที่เดินทางไปมีไม่มากเกินไปจนล้นอย่างในปีที่ผ่าน ๆ มาทำให้ไม่ปรากฎมีข่าวการประท้วงหรือชุมนุมเดินขบวน ซึ่งสันนิษฐานว่า คนงานที่เดินทางมาน่าจะมีรายได้กลับบ้านกันคนละพอสมควร

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า การไม่ปรากฎเป็นข่าวอื้อฉาวจะหมายความว่าเงื่อนไขการทำงานดีขึ้น หรือความเป็นอยู่ของคนงานดีขึ้น มีสิทธิมากขึ้นก็หาไม่ แต่เป็นเพราะช่วงหลังคนงานที่เสียงดังและก่อการประท้วงจะถูกหมายหัวจากบริษัทนายหน้าจัดหางานกับบริษัทรับซื้อลูกเบอร์รี่ ไม่ยอมรับให้เดินทางมาอีกเท่านั้น ส่วนที่ประสงค์จะมาอีกในปีต่อ ๆ ไปจึงมีลักษณะเงียบมากขึ้น

หน่วยราชการ : รับและถอยร่น

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคนไทยในต่างประเทศ ไม่สำคัญว่าคนไทยเหล่านั้นจะเป็นใครมาจากไหน เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร คนกลุ่มแรกที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้เลยคือสถานทูตหรือสถานกงศุลของไทยที่จะถูกถามหาและถูกเรียกร้องให้ต้องแสดงบทบาทให้การให้ความช่วยเหลือ ดูแลและที่สำคัญคือต้องคิดหาทางปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทยไม่ให้ถูกละเมิด หรือเกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต

ดังนั้นการมีนโยบายในเชิงรุกต่อปัญหานี้จึงถือเป็นความสำคัญที่ควรได้รับการพิจารณา ปัญหาคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ในสวีเดนและรวมไปถึงฟินแลนด์ด้วยนั้น ที่เกิดปัญหามาในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา แม้ว่าบางปีจะเงียบจนดูเหมือนไม่มีปัญหา ก็มิใช่ว่าสภาพของคนงานดีขึ้นหรือได้รับความเป็นธรรมจากการทำงานอย่างเหมาะสมขึ้น

คนงานทุกวันนี้ยังพักในกระท่อมหรือในแคมป์ที่สกปรก คับแคบ ยัดเยียด อาหารการกินก็เป็นไปแค่เพียงประทังชีวิต และก็ยังคงเสี่ยงกับการถูกกดค่าแรงหรือโกงค่าแรง โดยอ้างความผันผวนของราคาในตลาดโลกที่คนงานไม่มีทางรู้ว่าจริงหรือไม่ มีหน่วยราชการของรัฐจากประเทศไทยส่งตัวแทนขึ้นมารับฟังปัญหาจนถึงการเจรจากับทางหน่วยราชการและสหภาพแรงงานของสวีเดนหลายกลุ่มหลายคณะ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นการมารับฟังความคิดเห็นหรือแค่มาขอข้อมูลจากทางฝ่ายสวีเดนเท่านั้น

ที่น่าสังเกตคือ ทางฝ่ายไทยดูเหมือนปราศจากการเตรียมตัวหรือเรียนรู้ปัญหามาล่วงหน้า จึงไม่เคยมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในการช่วยคนงาน สิ่งที่ปรากฎขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดเรื่อง คือการพยายามส่งคนงานกลับประเทศโดยเร็วที่สุด เสมือนหนึ่งว่าเมื่อไม่มีคนงาน ก็ไม่มีข่าว ไม่มีปัญหา จากนั้นทุกฝ่ายก็เหมือนรอว่าจะเกิดปัญหาอีกไหมในปีต่อ ๆ ไป โดยมิได้มีนโยบายในเชิงรุกเพื่อการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเลย

ไม่แต่เท่านั้น ความใส่ใจในปัญหาของทางฝ่ายไทยก็ดูจะมีไม่มากนักและอย่างไม่ต่อเนื่องด้วย มีตัวอย่างหนึ่งที่น่าตกใจ คือในการประชุมที่จัดขึ้นโดย ปปช. ครั้งหนึ่งที่กรุงเทพฯเมื่อกลางปี 2511 ที่เชิญเอานักวิชาการ ทนายความและองค์กรที่เกี่ยวข้องมาร่วมปรึกษาหารือกัน ที่ปรึกษาท่านหนึ่งซึ่งเป็นคณะทำงานของ ปปช. เองได้พูดขึ้นกลางที่ประชุมว่า ปัญหาคนงานเก็บลูกเบอร์รี่นั้นมีมูลค่าเป็นพัน ๆ ล้านต่อปีไหม ถ้าแค่สิบล้าน ร้อยล้าน ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจ ซึ่งแม้ประธานในที่ประชุมจะออกตัวในภายหลังว่า ไม่ใช่ความเห็นของ ปปช. แต่ก็สะท้อนอะไรต่ออะไรออกมาไม่น้อยเลยทีเดียว

มีข้อเสนอที่พูดถึงว่า รัฐบาลไทยน่าจะเปิดการเจรจาส่งคนงานมาเก็บลูกเบอร์รี่แบบ จีทูจี จากรัฐบาลสู่รัฐบาล เพื่อตัดปัญหาบริษัทตัวแทนนายหน้าจัดหางานเหมือนเช่นที่มีข้อสัญญาดำเนินการเช่นนี้แล้วกับหลายประเทศ อันเป็นการช่วยให้คนงานมีรายได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องสูญเสียรายได้จำนวนหนึ่งไปจ่ายเป็นค่าบริการให้กับบริษัทเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการคิดดำเนินการเจรจาหรือมองดูความเป็นไปได้แต่อย่างใด

ข้อวิพากษ์วิจารณ์อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมคนงานไทยต้องเป็นฝ่ายเดียวที่รับความเสี่ยงจากการมาทำงานเก็บลูกเบอร์รี่ ทำไมบริษัทรับซื้อลูกเบอร์รี่หรือบริษัทนายจ้างไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือนอกประเทศจึงไม่ต้องเสี่ยงอะไรเลย คนงานจ่ายค่าเดินทางมาสวีเดน จ่ายค่านายหน้า จ่ายค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเช่ารถ ค่าน้ำมันรถและทุ่มแรงทำงาน ตื่นนอนตั้งแต่ตีสี่ กินอาหารแล้วออกไปจากแคมป์ตั้งแต่ตีห้า บางหนขับรถไกลเป็นร้อยกิโลเมตรแล้วเดินลุยเข้าไปในป่าอีกนับสิบกิโลเมตรเพื่อก้ม ๆ เงย ๆ หาต้นเบอร์รี่ที่เป็นพุ่มตามพื้นดิน กว่าจะกลับเข้าที่พักอีกทีก็ราวสามทุ่มสี่ทุ่ม รายได้ของคนงานมีเพียงอย่างเดียวคือจำนวนลูกเบอร์รี่ที่เก็บได้ บางครั้งได้มาก บางครั้งได้น้อย หากเก็บไม่ได้มากพอเพราะเงื่อนไขประกอบหลายประการ คนงานก็จะไม่มีเงินจ่ายค่าที่พัก อาหาร ค่าเช่ารถและน้ำมันรถ

จึงไม่แปลกที่จะปรากฎว่า หลังงานทำงานอย่างหนักเป็นสัปดาห์ คนงานกลับติดลบ ยังจะต้องชดใช้เงินให้กับนายจ้างอีก เพราะรายได้มีไม่พอกับรายจ่ายประจำวัน ในขณะที่ฝ่ายบริษัทนายจ้าง ซึ่งในภายหลังพวกบริษัทนายหน้าจัดหางานจะแอบอ้างทำเอกสารสัญญากับคนงานประหนึ่งว่าตนเองเป็นนายจ้างเองเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายการส่งคนงานเข้าประเทศ แต่ในความเป็นจริงก็คือเสือนอนกินที่ยังคงขูดเงินจากคนงานเหมือนเดิม หากใครได้เห็นสัญญาการจ้างงานของบริษัทเหล่านี้ก็จะรู้ว่าเขียนกันขึ้นมาอย่างนั้นเอง เช่น เริ่มงานแปดโมงเช้า เลิกงานสี่โมงเย็น พักระหว่างเที่ยงถึงบ่ายโมง เสาร์อาทิตย์พักผ่อน เป็นต้น ซึ่งถึงจะเขียนโกหกอย่างไร คนงานก็คงลงชื่อรับรองอยู่นั่นเองเพราะความที่อยากจะได้เดินทางมา

ดังนั้น การพยายามวาดภาพหรือให้ข้อเท็จจริงถึงด้านมืดที่จะเกิดจากการเดินทางมาเก็บลูกเบอร์รี่ที่หน่วยราชการบางหน่วย หรือองค์กรบางแห่งพยายามยัดเยียดให้คนงาน เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้คนงานเปลี่ยนใจที่จะไม่เดินทางมานั้น จึงไม่ประสบผลสำเร็จ ยิ่งในช่วงปีไหนที่พืชไร่ไม่ให้ผลผลิตตามที่คาดหวัง ผืนนาประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วม ฝนแล้ง ชาวนาก็จะยิ่งดิ้นรนออกมาหางานพิเศษทำกัน การเดินทางมาเก็บลูกเบอร์รี่ที่เคยมีข่าวลือว่าบางครอบครัวเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว สามารถทำเงินได้ถึงหนึ่งล้านบาทจึงมีอิทธิพลต่อความคิดมากกว่าข้อมูล เอกสารหรือการบรรยายของนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายนัก

จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่หน่วยราชการไทยต้องเป็นหัวหอกมีนโยบายเชิงรุก เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของคนงานไทย ดึงให้บริษัทนายจ้าง บริษัทรับซื้อลูกเบอร์รี่และรัฐบาลสวีเดนลงมารับผิดชอบมากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้คนงานไทยที่แทบไม่มีโอกาสสู้รบปรบมือเลย เป็นฝ่ายต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังที่ผ่านมาแล้วนับสิบ ๆ ปี

0 comments