สรุปย่อ การประชุมเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป ประจำปี พ.ศ. 2560
(For English version, click here)
การประชุมเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ณ ศูนย์วัฒนธรรมออรอญติซ (Aranytíz Cultural House) ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี โดยใช้ชื่อการประชุมว่า #ดีต่อใจ Get Momentum to Empower
การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 78 คน (หญิง 76 คน ชาย 2 คน) จาก 13 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรีย (2 คน) เบลเยี่ยม (7 คน) ฟินแลนด์ (3 คน) ฝรั่งเศส (2 คน) อิตาลี (9 คน) ฮังการี (2 คน) เยอรมนี (26 คน) เนเธอร์แลนด์ (1 คน) นอร์เวย์ (13 คน) สวีเดน (6 คน) สวิสเซอร์แลนด์ (2 คน) สหราชอาณาจักร (3 คน) และ ประเทศไทย (2 คน) และ ข้าราชการจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ จำนวน 6 คน และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงบูดาเปสต์ จำนวน 4 คน
วันที่ 5 พฤษภาคมในช่วงเช้า เป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ซึ่งมีการเปิดประชุมโดยประธานเครือข่ายฯ คุณนงลักษณ์ ใจสงฆ์ เทร็พพ ที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมและรายงานการเงินในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีการเสนอผลการทำงานด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องการฝึกอบรม การจัดประชุม แนะนำภาคีใหม่ ๆ รายงานการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ้คและเว็บไซต์ ทบทวนรายชื่อกรรมการและผู้ประสานงานประเทศ รับฟังข้อเสนอจากสมาชิก ท้ายสุด ที่ประชุมได้ลงคะแนนเสียงเลือกประเทศเจ้าภาพสำหรับการประชุมครั้งต่อไป คือ ประเทศเยอรมนี โดยจะจัดงาน ณ เมืองฮัมบูร์ก
วันที่ 5 และ วันที่ 6 พฤษภาคมในช่วงบ่าย เป็นการบรรยายให้ความรู้โดยวิทยากรจากกรมสุขภาพจิต นายแพทย์ดุสิต ลิขณะพิชิตกุล ในเรื่องของการดูแลจิตใจของอาสาสมัครที่ทำงานเพื่อคนไทยในต่างแดน ซึ่งให้ทั้งความรู้ด้านวิชาการ การปฏิบัติ กรณีตัวอย่าง เรื่องจริงจากประสบการณ์ และการถามตอบในประเด็นต่าง ๆ การบรรยายเน้นการพูดคุยเป็นหลัก ประกอบด้วยการฉายข้อความสำคัญเรื่องของการป้องกันและเยียวยาจากภาวะเครียด ภาวะหมดไฟ และบทบาทที่เหมาะสมของการเป็นผู้ให้คำปรึกษาต่อผู้เดือดร้อนในต่างแดน ผู้เข้าร่วมรู้สึกมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการบรรยายเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากความกระตือรือร้น และจำนวนคำถามที่มากมายทั้งระหว่างและหลังการบรรยาย
วันที่ 6 พฤษภาคมในช่วงเช้า เป็นการบรรยายเรื่องบทบาทของสถานทูตไทยในฮังการี โดยท่านจักรกฤษณ์ ศรีวลี เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ท่านต่อ ศรลัมพ์ อุปทูต ประจำกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ท่านศิวพร เฉลิมช่วง กงศุล ประจำกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ท่านเอกอัครราชทูตกล่าวถึงกรอบงานบทบาทหน้าที่ของสถานทูต และท่านกงสุลอธิบายและเล่าถึงประสบการณ์การทำงานของฝ่ายกงสุล โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับความเดือดร้อนในต่างแดน ประกอบด้วยกรณีตัวอย่าง และจำนวนคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศฮังการี
ต่อจากนั้น เป็นการบรรยายเรื่องผลการทำงานของรัฐบาลปัจจุบันในเรื่องสังคม โดยคณะผู้แทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ซึ่งนำโดย พลตำรวจเอก สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การนำเสนอกล่าวถึงผลงานทางด้านสังคมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และอธิบายถึงงานของกระทรวงซึ่งครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอายุ และงานในหลาย ๆ ระดับเพื่อเข้าถึงประชากรที่ยากจนและคนชายขอบไร้ที่พึ่ง คนชรา เด็กและสตรี ผลงานด้านวิชาการ ด้านมาตรการและกลไก และ ด้านการช่วยเหลือคนไทยในท้องที่ ในปี พ.ศ. 2560 มีการนำเสนอเรื่องการดูแลหญิงไทยในต่างแดน โดยนโยบายของรัฐคือ เน้นการส่งเสริมให้คนไทยรวมตัว รัก สามัคคี ช่วยเหลือกันและกัน และส่งเสริมให้จดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์โดยมีช่องทางให้ความช่วยเหลือ ผ่าน website yingthai.net ผ่าน Application Yingthai ผ่าน Facebook: Yingthai / Yingthainet ผ่าน Line และ ผ่านเบอร์ +66 99 130 1300 ปัจจุบัน มีองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ได้รับการรับรองแล้วจำนวน 23 องค์กร ใน 9 ประเทศ
ในส่วนของการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยมีผลงานยกระดับดีขึ้นจากระดับ 3 เป็นระดับ 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ใน TIP Report ของสหรัฐอเมริกา โดยปัญหาการค้ามนุษย์ถือเป็นเป็นวาระแห่งชาติ ต้องมีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน นายกรัฐมนตรีเป็นประธานของวาระฯ และมีคณะอนุกรรมการ 5 คณะ มีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับสถานการณ์และการแก้ปัญหา มีการเร่งรัดดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และคดีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง มีการให้การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว และ มีป้องกันกลุ่มเสี่ยงโดยจัดระเบียบทั้งสถานบริการ สถานประกอบกิจการ การรณรงค์ยุติการขอทาน
ในช่วงบ่ายของวันที่ 6 พฤษภาคมเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยในสามหัวข้อ โดยมีหัวข้อที่ 1 คือ #…ดีต่อใจ สร้างพลังบวกในโลกโซเชี่ยล นำกลุ่มโดย นายแพทย์ดุสิต ลิขณะพิชิตกุล หัวข้อที่ 2 คือ ดอกไม้ให้คุณ แต่ดอกไม้ของคุณจะให้ใคร การดูแลจิตใจของกันและกัน นำกลุ่มโดย คุณประไพรัตน์ รัตนโอฬาร มิกซ์ และ หัวข้อที่ 3 คือ ก็มาเองง่ะ สมัครใจมาตายเอาดาบหน้า ถ้าเกิดปัญหา จะพึ่งพาใคร นำกลุมโดย คุณเสริมศรี บุญสุตม์ สมาชิกทั้งสามกลุ่มทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน และนำเสนอผลงานของกลุ่มต่อที่ประชุมใหญ่อย่างกระทัดรัดชัดเจน กลุ่ม ที่หนึ่งนำเสนอประโยชน์ โทษ และการใช้สอยสื่อทางสังคมอย่างรู้เท่าทัน กลุ่มที่สองนำเสนอวิธีดูแลจิตใจตัวเองในฐานะอาสาสมัครโดยปรับจากสิ่งที่ได้ ยินจากการบรรยายที่ผ่านมา กลุ่มที่สามนำเสนอปัญหา สาเหตุของปัญหาและวิธีการแก้ไขในเรื่องของหญิงไทยที่ไปเผชิญโชคในต่างแดน
อาจกล่าวได้ว่าการประชุมใหญ่สามัญประจำปี การบรรยายให้ความรู้ และการประชุมเชิงปฏิบัติการของสมาชิกเครือข่ายหญิงไทยในยุโรปได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ครอบคลุมทุกหัวข้อที่กำหนด มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากกว่าที่ประมาณการไว้ และการประชุมเป็นที่พอใจของผู้เข้าร่วมอย่างยิ่งยวด โดยผู้เข้าร่วมได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานอาสาสมัครหรืองานจิตอาสา มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็น ได้สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน สมกับหัวข้อประชุมว่า “ดีต่อใจ”
เครือข่ายหญิงไทยในยุโรปขอขอบคุณมูลนิธิหมู่บ้านไทย (Thai Town Foundation หรือ Thai Város Alapítvány) ประจำกรุงบูดาเปสต์ในฐานะเจ้าภาพจัดงาน ขอขอบคุณผู้สนับสนุนงบประมาณการประชุม คือ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงบูดาเปสต์ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์
และขอขอบคุณสมาชิกเครือข่ายทุกท่านทั้งที่มาร่วมประชุมด้วยตัวเองและที่ไม่ได้มาร่วมประชุมที่สนับสนุนงานของเครือข่ายด้วยดีเสมอมา
สรุปโดย
จงเจริญ ศรแก้ว กริมสมันน์
ประชาสัมพันธ์เครือขายหญิงไทยในยุโรป
[seed_social]