คนเราไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็ต้องมีค่าครองชีพกันทั้งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเรื่องปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเราทุกคน นั่นคือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ซึ่งเรารู้กันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแล้ว แต่ปัจจุบัน เพิ่มมาอีกหลายปัจจัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิต เช่น ปัยจัยด้านเทคโนโลยี การสื่อสาร การเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ เป็นต้น ตามแต่ใครเห็นว่าปัจจัยนั้น ๆ สำคัญกับชีวิตของตน และสิ่งที่เพิ่มมามานั้น ก็เพิ่มมาในค่าครองชีพด้วยเป็นธรรมดา
จึงอยากจะบอกว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในประเทศที่มีค่าครองชีพสูงอย่างในสวิตเซอร์แลนด์ หรือจะอยู่ในประเทศไทยที่มีค่าครองชีพต่ำกว่า แต่ถ้าเราไม่รู้จักการใช้ชีวิตให้เหมาะสม สร้างความสมดุลให้กับรายรับและรายจ่ายแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็อยู่ยากไม่ต่างกัน สำหรับฉัน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งที่ฉันใช้ในการดำรงชีวิต ที่เห็นชัดที่สุดก็เมื่อมาอยู่ในต่างแดนนี่เอง เป็นอย่างไร ไปติดตามกันค่ะ
ฉันเองนิสัยดั้งเดิมเป็นคนประหยัด ใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง ถ้าจะซื้อของใหญ่ ๆ ก็จะประเมินความสามารถของตัวเองก่อนว่ามีปัญญาไหม เช่น เมื่อทำงานมาได้สักระยะ พอมีเงินก้อนน้อย ๆ ก็เริ่มมองหาที่อยู่อาศัย เป็นสมบัติของตัวเอง ก็ต้องดูว่า เงินเดือนที่มี พอผ่อนคอนโดมิเนียมทุกเดือนไหม ซึ่งนิสัยดั้งเดิมแบบนี้ ฉันคิดว่าเป็นเพราะฉันรู้จักทำงานในช่วงปิดเทอม เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัวเวลาเปิดเทอมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นค่าชุดนักเรียนหรือหนังสือเรียน เพราะบ้านฉันไม่ได้ร่ำรวย พ่อทำงานคนเดียว แม่เป็นแม่บ้านที่ดูแลลูก ๆ 3 คน ฉันเป็นลูกคนโตที่รู้เห็นความลำบากของพ่อแม่ ที่ต้องดูแลส่งเสียลูกเรียน 3 คน การที่ฉันรู้ถึงความยากลำบากของการได้มา จึงทำให้เห็นคุณค่าในการใช้จ่าย
พอแต่งงานมาใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน เรื่องค่าครองชีพของครอบครัวเป็นประเด็นสำคัญทุกครัวเรือน ฉันมาอยู่ช่วงแรกไม่ได้ทำงาน ก็คงเหมือนพวกเราหลาย ๆ คน ที่กว่าจะได้งานต้องอาศัยอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น เรื่องภาษา เพราะฉะนั้น คนที่หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ก็คือสามี ซึ่งค่าใช้จ่ายประจำทุกเดือน ก็คือปัจจัยสี่ ซึ่งจำเป็น ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ก็มี แต่เราใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานมานานกว่า 30 ปี ที่ตั้งอยู่บนทางสายกลาง อยู่ในความไม่ประมาท พอประมาณ มีเหตุมีผล เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต โชคดีที่สามีเป็นคนประเภทเดียวกัน เป็นอย่างไรนั้นจะเล่าให้ฟัง ในปัจจัยทั้งหลายที่มีบทบาทสำคัญในชีวิต ดังต่อไปนี้
1. ที่อยู่อาศัย โชคดีที่พ่อบ้านเป็นคนที่วางแผนชีวิต เพราะตอนฉันแต่งงานมาอยู่กับเขา เขาก็มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองแล้ว แต่ยังต้องผ่อนธนาคารอยู่ทุกเดือน แต่อย่างน้อยก็ถูกกว่าค่าเช่าบ้านสัก 2 เท่า และเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ในบ้านก็ซื้อครั้งเดียว ใช้มาจนปัจจุบัน ยกเว้นว่าจะพังหรือเสียหายใช้การไม่ได้แล้ว นั่นแหละ เราจึงหาซื้อใหม่ บางคนใช้ความรู้สึกว่าไม่ชอบแล้วก็ซื้อใหม่ แต่บ้านนี้เป็นลักษณะตรงข้าม
2. อาหาร เป็นสิ่งจำเป็น เราต้องเลือกของคุณภาพดี เพื่อสุขภาพที่ดี แต่บางที ของยังดีแต่ราคาถูกลงครึ่งราคา เพราะใกล้หมดอายุ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ซึ่งที่นี่ราคาค่อนข้างแพง เราก็จะซื้อของที่เขาลดราคานี้ แล้วทำกินเลย หรือบางทีก็แช่แข็งไว้ และนำออกมาใช้ในเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ การออกไปรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือโรงแรม ที่นี่แพงมาก เราจึงทำอาหารกินเองที่บ้านเป็นประจำ เรามีความสุขกับการทำอาหารกินกันเองที่บ้าน มีบ้างในโอกาสพิเศษที่จะไปนั่งกินในร้านอาหาร เพื่อให้รางวัลกับชีวิต
3. เครื่องนุ่งห่มเสื้อผ้า ก็จะซื้อตอนลดราคาถึง 75 % หรือก็ซื้อที่ร้านมือสอง ขอบอกว่าร้านมือสองที่นี่ สินค้าคุณภาพดีเยี่ยม ถ้าโชคและตาดี บางทีก็ได้ของใหม่ และไม่ได้ซื้อมาหลายปีแล้ว เพราะที่นี่ เราใส่เสื้อผ้าซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้าไม่ขาดเสียก่อน ก็จะใส่อยู่ได้ และเราก็ไม่ได้มีโอกาสสำคัญให้ต้องแต่งตัวมากมาย แล้วยิ่งหน้าหนาว บางทีชุดหนึ่งก็ใส่ได้หลายวัน เปลี่ยนแต่ข้างในเท่านั้น นี่ขนาดไม่ได้ซื้อมาหลายปี เสื้อผ้าก็ยังเต็มตู้ ก็จะดูว่าตัวไหนไม่ได้ใส่หรือใส่ไม่ได้แล้ว ก็ใส่ถุงนำไปใส่ตู้บริจาคต่อไป
4. ยารักษาโรค ในสวิตเซอร์แลนด์กฏหมายบังคับให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นี่จ่ายค่าประกันสุขภาพ ซึ่งเราจ่ายปีละเป็นแสนบาท นี่คือแบบที่ถูกที่สุดแล้ว ระบบประกันสุขภาพที่นี่มี 3 แบบให้เลือก คือ
– แบบแรก เมื่อเจ็บป่วย 300 ฟรังค์แรก เราต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง หลังจากนั้น ประกันจ่าย แบบนี้ราคาต่อเดือนจะแพงที่สุด ซึ่งแต่ละบริษัทประกันจะต่างกัน
– แบบที่สอง เมื่อเจ็บป่วย 1500 ฟรังค์แรก เราต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง หลังจากนั้นประกันจ่าย แบบนี้ราคาต่อเดือนจะแพงรองลงมา
– แบบที่สาม เมื่อเจ็บป่วย 2500 ฟรังค์แรก เราต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง หลังจากนั้นประกันจ่าย แบบนี้ราคาต่อเดือนจะถูกที่สุด
เราก็ดูตามสุขภาพของเราว่าควรจะทำแบบไหน แต่บางทีเราก็โชคร้ายที่คิดว่าตัวเองแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ทำแบบที่สามดีกว่า แต่แล้วอยู่ ๆ ก็เจ็บป่วยขึ้นมาต้องผ่าตัด เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีใครรู้ล่วงหน้า แต่บางปีไม่ได้ไปหาหมอเลย หรือไปบ้างก็ต้องจ่ายเองเพราะยังไม่ถึงเป้าที่ประกันจะจ่าย ก็ให้นึกเสียดายเงินขึ้นมาเหมือนกัน แต่คิดทางบวกไว้ว่า ดีแล้วที่แข็งแรงดี ที่จ่ายไปก็ถือว่าทำบุญช่วยคนอื่น ๆ ต่อไป คิดแล้วทำให้ใจสบายขึ้น ก็คิดเถอะนะคะ
5. ปัจจัยอำนวยความสะดวกอื่น ๆ
– โทรศัพท์ ก็ซื้อใช้ในราคาและยี่ห้อที่ใช้ได้ดีเหมือนยี่ห้อราคาแพง และเราไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายเป็นรายเดือนที่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ด้วย เราก็ใช้อินเตอร์เน็ตที่บ้านได้ และใช้แบบเติมเงิน
– ไม่เคยซื้อของราคาแพง แบรนด์เนม เพราะยี่ห้ออื่น ๆ ก็ใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน
– การเดินทางระบบขนส่งที่นี่ดีมากและก็แพงมากด้วย คนที่นี่ส่วนใหญ่จึงซื้อบัตรลดครึ่งราคาหรือคนที่ทำงานต่างเมืองประจำก็ซื้อตั๋วปี ส่วนตัวฉันใช้แค่บัตรลดครึ่งราคา และบางทีก็ดูตั๋วราคาประหยัด ซึ่งจะถูกกว่าราคาปกติตั้งแต่ 25-75 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แต่มีข้อจำกัดคือ ต้องเป็นรถไฟ หรือรถเมล์ ตามเวลาที่ระบุไว้เท่านั้น หากพลาดก็หมายถึงว่าตั๋วที่ซื้อมาใช้ไม่ได้ แต่ฉันยังไม่เคยพลาดเลยสักครั้ง ลองคิดเป็นปี ก็ประหยัดได้เป็นร้อยฟรังค์ทีเดียว
การมีชีวิตแบบพอเพียง ทำให้ชีวิตคู่ของเราจัดสมดุลรายรับรายจ่ายได้ดี แบ่งส่วนไว้สำหรับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นสิ่งที่เราสองคนรักได้ 30-60 วันในหนึ่งปี ขึ้นอยู่กับว่าไปที่ไหน และยังมีเงินเก็บสะสมไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิต และฉันเองยังส่งเสียให้พ่อแม่ที่เมืองไทยได้ใช้ตามอัตภาพด้วยทุกเดือน
ฉันคิดว่าการมีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่หรูหรา ไม่ฟุ่มเฟือย รู้ฐานะของตัวเอง รู้จักพอ ไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น เท่านี้ชีวิตแบบพอเพียง ก็อยู่ได้อย่างสบาย ในประเทศที่หลายคนบอกว่าค่าครองชีพสูงจัง…