แปลและเรียบเรียงจาก แหล่งที่มาของข้อมูล โดย จงเจริญ ศรแก้ว
Photo by Daria Shevtsova from Pexels
คำว่า Au Pair เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “ในระดับที่เท่าเทียมกัน” ออกเสียงว่า “โอแปร์” ส่วนในภาษาอังกฤษออกเสียงว่า “ออแพร์/โอแปร์ “
โครงการ ‘Au pair’ คืออะไร
Au Pair คือ โครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนจากประเทศหนึ่งไปอยู่กับครอบครัวโฮสต์ในอีกประเทศหนึ่ง โดยเป็นครอบครัวที่มีบุตรยังเล็กและต้องการพี่เลี้ยงดูแล โครงการมีระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี เป้าหมายคือให้ออแพร์และโฮสต์ได้ทำความรู้จักวัฒนธรรมและภาษาของกันและกัน และเป็นการเปิดโลกกว้างให้กับออแพร์ด้วย
คนหนุ่มหรือคนสาวที่ไปอยู่บ้านโฮสต์ในประเทศเดียวกับไม่ถือว่าเป็น Au Pair
Au Pair คือใคร?
- คนหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 30 ปี (บางประเทศอาจไม่เกิน 25 ปี)
- ยังไม่ได้แต่งงานและไม่มีบุตร
- สามารถไปอาศัยอยู่กับโฮสต์ตามระยะเวลาที่กำหนด
- สนใจแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
- ต้องการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ
- มีทักษะในการดูแลน้องและทำงานบ้านเบา ๆ
- มีความรู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาในประเทศที่จะไป ในระดับช่วยตัวเองได้
ครอบครัวโฮสต์ (Host Familiy) คืออะไร?
- เป็นครอบครัวที่มีลูกเล็ก รวมถึงครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
- มีบุตรอย่างน้อยหนึ่งคนที่อายุ 16 ปีหรือน้อยกว่า
- มีบ้านพักอาศัยถาวร
- พร้อมเป็นเจ้าภาพให้ออแพร์ตามช่วงเวลาที่กำหนด
- ยินดีปฏิบัติต่อออแพร์เหมือนสมาชิกในครอบครัว
การปฏิบัติต่อ Au Pair
ออแพร์เป็นเหมือน “ลูกชายหรือลูกสาวคนโต” ที่ทำหน้าที่ดูแลน้อง และทำงานบ้านเบา ๆ ไม่เกินเวลาที่กำหนด ทางครอบครัวโฮสต์ให้เงินค่าขนมติดกระเป๋า (Pocket money) จัดหาอาหารและที่พักที่เป็นสัดส่วน การให้และการรับเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ Au Pair โดยมีการเซ็นสัญญาที่กำหนดรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับทั้งสองฝ่าย
หน้าที่หลักของ Au Pair คือ
- การดูแลน้อง
- ทำงานบ้านเบา ๆ
- ไม่ใช่คนทำความสะอาด
- ไม่ใช่ครูสอนภาษา
- ไม่ใช่ผู้ดูแลผู้สูงอายุ
- ไม่ใช่พี่เลี้ยงสุนัข
- ไม่ใช่คนงานตามฤดูกาล
เวลาทำงานของ Au Pair
กำหนดโดยหน่วยงานของรัฐในประเทศของโฮสต์ โดยปกติไม่เกิน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (รวมถึงพี่เลี้ยงเด็ก) บางประเทศ สูงสุด 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งสองฝ่ายอาจปรับเวลาได้บ้าง เช่น หากทำงานเกินเวลาในสัปดาห์หนึ่ง ก็ไปชดเชยทำงานน้อยลงในสัปดาห์ต่อไป
การจัดที่พัก
โฮสต์ต้องจัดให้ออแพร์มีห้องพักที่เป็นสัดส่วน มีหน้าต่าง ขนาดอย่างน้อย 9 ตารางเมตร และล็อคกลอนได้ มีเครื่องทำความอบอุ่น (หากอยู่ในเขตหนาว) มีการตกแต่งให้อยู่อาศัยได้ โฮสต์ต้องอนุญาตให้ออแพร์เข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มในบ้านได้ฟรี
เงินติดกระเป๋า (Pocket Money)
นอกจากอาหารและที่พักที่โฮสต์จัดหาให้แล้ว ออแพร์จะได้รับเงินค่าขนมหรือเงินติดกระเป๋ามากน้อยตามระดับทางเศรษฐกิจของประเทศที่ไปอาศัย และการตกลงล่วงหน้ากับโฮสต์
ค่าเดินทาง
ขึ้นอยู่กับสัญญาที่ตกลงกัน ในหลายกรณี ออแพร์จ่ายค่าเดินทางก่อนและโฮสต์คืนเงินให้ หรือโฮสต์ซื้อตั๋วให้ โปรดศึกษาเงื่อนไขนี้ให้ดีก่อนเซ็นสัญญา
คอร์สเรียนภาษา
โฮสต์ต้องจัดเวลาว่างให้ออแพร์ได้ไปเรียนภาษา โดยปกติ ออแพร์จ่ายค่าคอร์สเอง แต่ในบางประเทศ โฮสต์เป็นผู้จ่ายให้ (โปรดดูข้อมูลประเทศโฮสต์เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม)
วันหยุด
ออแพร์ที่มีสัญญา 12 เดือนควรได้รับวันหยุดสี่สัปดาห์ พร้อมเงินติดกระเป๋าในช่วงหยุด
หากสัญญามีระยะสั้นกว่านั้นก็ต้องตกลงสัดส่วนวันหยุดกับโฮสต์
หากโฮสต์เดินทางไปพักร้อนและไม่อยู่บ้าน โฮสต์ต้องชวนออแพร์ได้ด้วยโดยจ่ายเงินติดกระเป๋าเหมือนปกติ หากออแพร์ตัดสินใจอยู่บ้านระหว่างที่โฮสต์ไปพักร้อน โฮสต์ต้องให้เงินดูแลทำความสะอาดให้กับออแพร์ในช่วงเวลานี้อย่างเพียงพอ
เวลาว่าง
ออแพร์ต้องมีเวลาว่างไปหาเพื่อนหรือเดินทางท่องเที่ยว ออแพร์จึงควรได้รับวันหยุดอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์และควรเป็นวันอาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ Au Pair ไม่ต้องทำงานในวันเหล่านี้
บัตรโดยสาร
โฮสต์ควรซื้อบัตรโดยสารรายเดือนสำหรับรถบัส รถราง หรือรถไฟ ให้ ออแพร์เดินทางไปรับน้องจากสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน หรืออนุญาตให้ออแพร์ใช้รถยนต์หรือจักรยานของครอบครัวเพื่อไปโรงเรียนภาษา
สัญญา
สัญญาระหว่างออแพร์และโฮสต์จะมีรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น งานที่ต้องทำ ชั่วโมงทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ จำนวนเงินติดกระเป๋า วันที่จ่ายเงินติดกระเป๋า ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิดและเพิ่มความปลอดภัยต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ปกติสัญญามาตรฐานส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ
การยกเลิกสัญญา
ในกรณีต้องการยกเลิกสัญญา ออแพร์และโฮสต์ต้องแจ้งแต่ละฝ่ายล่วงหน้าอย่างน้อยสองสัปดาห์ เพื่อให้โฮสต์มีเวลาหาออแพร์ใหม่ และให้ออแพร์มีเวลาขยับขยายหาโฮสต์ใหม่ หรือเตรียมเดินทางกลับบ้าน หากมีเหตุร้ายแรงฉุกเฉินก็อาจยกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
เคล็ดลับของเรา
ออแพร์และโฮสต์ควรตกลงประเด็นสำคัญที่สุดล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนที่ ออแพร์จะเดินทาง เช่น จำนวนเงินค่าติดกระเป๋า ชั่วโมงทำงาน กิจกรรมสันทนาการ และ วันหยุด โฮสต์ควรคิดต่อ ออแพร์เหมือนลูกหลานเพื่อทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นประสบการณ์ที่ดีกับทุกฝ่าย
เงินติดกระเป๋า
เป็นเงินที่โฮสต์จ่ายให้ออแพร์เป็นรายเดือนเพื่อแลกกับความช่วยเหลือที่ได้รับ โดยไม่เกี่ยวกับค่าอาหารและที่พักซึ่งโฮสต์ต้องจัดหาให้อยู่แล้ว จำนวนเงินติดกระเป๋าขึ้นอยู่กับประเทศเจ้าภาพและขึ้นอยู่กับจำนวนชั่วโมงทำงาน ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร ออแพร์มักได้รับ 80-85 GBP ต่อสัปดาห์ ในลักเซมเบิร์ก ออแพร์มักได้รับ 500€ ต่อเดือน ส่วนใหญ่จำนวนเงินจะมีกำหนดไว้ตามกฎหมาย
Au Pair ไม่ใช่การจ้างงาน
Au Pair เป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบการจ้างงานทั่วไป ดังนั้นออแพร์จึงไม่มีสถานะของลูกจ้าง แต่เป็นสมาชิกชั่วคราวในครอบครัวที่ได้รับเงินติดกระเป๋า
เคล็ดลับเพื่อความปลอดภัยของ Au Pair
- ติดต่อทำความรู้จักพูดคุยกับโฮสต์ผ่านสื่อออนไลน์ก่อนเซ็นสัญญา
- อ่านสัญญาให้ละเอียด หากไม่เข้าใจจุดไหน ให้สอบถามกับบริษัท AuPairWorld ที่ดูแลประเทศปลายทาง
- ทำสำเนาเอกสารสำคัญทุกอย่างเก็บไว้อย่างน้อยหนึ่งชุด แยกกับเอกสารตัวจริง (หนังสือเดินทาง หน้าวีซ่าเข้าเมือง สัญญา Au Pair บัตรโดยสารเครื่องบิน สัญญา Au Pair)
- ทำสำเนาเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้วส่งอีเมล์ให้ตัวเองและครอบครัว เพื่อจะได้เรียกใช้ได้ง่ายในกรณีฉุกเฉิน
- ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมด อายุหนังสือเดินทาง อายุของวีซ่า
- บันทึกข้อมูลสำคัญทั้งหมด เช่น ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของโฮสต์ แผนการเดินทางของคุณ ที่อยู่ติดต่อสำนักงานเยาวชนที่ดูแลกิจกรรม Au Pair ในประเทศ) และส่งให้ตัวเองพ่อแม่และเพื่อนสนิทของคุณ
- วิธีการเดินทางจากสนามบินไปบ้านโฮสต์ในกรณีที่โฮสต์ไม่สามารถมารับเองได้ และสถานที่สำคัญใกล้บ้านโฮสต์หรือใกล้สถานีรถไฟหรือสนามบิน
- ตรวจสอบว่าสถานทูตไทยตั้งอยู่ที่ใด เบอร์ติดต่อฉุกเฉินของสถานทูต และวิธีการรายงานตัวของคนไทยเมื่อไปถึง
- รวบรวมชื่อสมาคม กลุ่มจิตอาสา หรือ เพจที่ให้ความช่วยเหลือคนไทยในประเทศนั้น ๆ และติดต่อแจ้งกลุ่มไปล่วงหน้า
- เตรียมเงินติดตัวให้เพียงพอกับค่าเดินทางและช่วงแรกของการเข้าพัก
เคล็ดลับความปลอดภัยในต่างประเทศ
- เก็บเอกสารส่วนตัวของคุณอย่างปลอดภัยกับตัวตลอดเวลา
- หนังสือเดินทางของคุณเป็นเอกสารที่สำคัญมาก อย่ามอบให้บุคคลอื่น
- หากโฮสต์ขอหนังสือเดินทาง ให้มอบเฉพาะสำเนาเท่านั้น
- ทำความคุ้นเคยกับละแวกบ้านและพื้นที่โดยรอบ ป้ายรถเมล์ ไปรษณีย์ ร้านขายยา ร้านของชำ โรงเรียนของน้อง สถานีตำรวจ สำนักงานชุมชน (คอมมูน) หน่วยงานช่วยเหลือคนต่างชาติ
- ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้เวลาว่างในเมืองใหม่ ศึกษาวิธีเดินทางที่ดีที่สุดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง (เช่น เดินเท้า ระบบขนส่งสาธารณะ จักรยาน)
- เรียนรู้สอบถามจากโฮสต์เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นเพื่อช่วยในการปรับตัว
- เก็บหมายเลขโทรศัพท์ของโฮสต์ สถานทูตไทย สายด่วนของประเทศนั้น ในโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารประจำตัว สำหรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น
- พูดคุยกับโฮสต์สม่ำเสมอ อย่าเก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว
- มีปัญหา ไม่เข้าใจ หรือกังวลใจ ให้รีบแจ้ง อย่าเก็บไว้คนเดียว จะได้ทำความเข้าใจหรือแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นด้วย
- อย่าย้ายออกจากบ้านโฮสต์โดยไม่ได้แจ้งให้ทางตัวแทนของบริษัท AuPairWorld และ-หรือ สำนักงานเยาวชนที่ดูแลเรื่อง Au Pair ในประเทศนั้นรับทราบก่อน