ห้าถิ่นแผ่นดินงาม 7

ตอน : ข้ามฟ้าเนปาล – จากธากาสู่กาฐมาณฑุ

แม่ต้อยตีวิดจ๋า

ฉันมาถึงเนปาลแล้วจ้ะ ตอนค่ำ ๆ นี่เอง

เมื่อเช้าที่ธากา ฉันตื่นสบาย ๆ กินข้าวโอ๊ตกับนมต้มเป็นอาหารเช้า แล้วก็ทำงานจนได้เวลาเดินทาง ก็ไปสนามบิน โชคดีที่แท้กซี่คันนี้ไม่ได้ออกอาการให้น่าเป็นห่วง ที่ขำคือ ตรงสี่แยกหนึ่ง รถหยุดติดไฟแดง ฉันนั่งอยู่เพลิน ๆ ก็สะดุ้ง เพราะเห็นมือหงิก ๆ มือหนึ่งโผล่มาตรงหน้าต่างรถ เหมือนหนังสยองขวัญ ก้มมองออกไปนอกห่น้าต่าง เห็นเป็นคนขอทานที่ขาขาด แกเอาตัวถัด ๆ มากับพื้นถนนถึงข้างรถ แล้วโผล่มาทักทายแค่มือ จากตกใจก็กลายเป็นขำ แต่ไม่ได้ให้ทานแกแต่อย่างไร รถก็ออกไปเสียก่อน ตามถนนหนทาง เกาะกลางถนน จะเห็นคนจน ขอทาน คนเสื้อผ้าขาดกระมอมกระแมม เด็ก ๆ ขายของอยู่เป็นระยะ ๆ

จะว่าไปสนามบินธากานี่ก็สะดวกสบายดี ไม่หรูหรา แต่สะอาด กว้างขวาง โล่งดีทีเดียว คนที่เข้าสนามบินได้ต้องมีตั๋วเครื่องบิน ดังนั้น ญาติที่มาส่งก็ส่งได้แค่ข้างหน้า เข้าตัวตึกไม่ได้ ส่วนตรงเช็คอินจะมีที่กั้นอีกที หากเคาน์เต้อร์ยังไม่เปิดก็เข้าไม่ได้ เนื่้องจากฉันไปถึงแต่หัววัน ยามก็เลยไม่ยอมให้เช็คอิน ก็เลยนั่งแกร่วรอ เดินไปกี่เีที่ยวอีตายามก็ส่ายหัวท่าเดียว ไม่ให้เข้า ฉันรอจนประมาณชั่วโมงหนึ่งก่อนขึ้นเครื่องก็เอะใจ เพราะคิดว่าไม่น่าล่าช้าขนาดนี้ หน้าจอก็ไม่ขึ้น แต่เห็นคนไปเข้าคิว ก็สงสัยว่าน่าจะใช่ ก็เลยเดินหน้าตาย ไม่สนใจคุณยาม เข้าไปเช็คอิน แล้วก็ใช่จริง ๆ ด้วย นี่แหละหนา ถ้าเชื่อยามหรือบอร์ด(ที่ไม่)ประกาศ ต้องตกเครื่องแน่

ฉันไปเจอผู้หญิงบังคลาฯคนหนึ่งมาเช็คอินพร้อมกัน แต่แกท่าทางไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็เลยช่วยแกเท่าที่จะช่วยได้ ช่วยยกกระเป๋าขึ้นชั่งให้ด้วย ของแกก็ผ่านไปเรียบร้อย แต่พอคราวฉันเช็คอิน ปรากฏว่า คูปองตั๋วของฉันมันหายไปหนึ่งใบ เขาไม่ยอมให้เช็คอิน ทำอย่างไรดี ก็ต้องเช็คกับดาสหรือมาซุด เพราะตั๋วนี้ฉันได้มาจากดาส ซื้อที่นี่ ฉันเลยโทรไปหามาซุด ขอให้ติดต่อบริษัทขายตั๋วให้ มาซุดก็ขอคุยกับพนักงานหน้าเคาน์เตอร์เป็นภาษาเบงกาลีกัน พอหมอนั่นวางหูก็บอกว่า ให้รอต่อไป ฉันก็นึกขำ ๆ ว่า นี่จะได้อยู่บังคลาเทศต่อละมังเนี่ย

ยืนใจเย็นคอย ก็มีนักธุรกิจญี่ปุ่นคนหนึ่งมาพร้อมเจ้าหน้าที่สนามบินชาวบังคลาฯ ปรากฏว่าแกเจอปัญหาเดียวกันเป๊ะเลย คือคูปองหายไปหนึ่งใบ แล้วแกก็ทำเหมือนฉันเป๊ะเลย คือ โทรไปหาคนของแกให้ตามเรื่องให้ ฉันก็เลยถือโอกาสแสดงตัวว่า ฉันก็มีปัญหาเดียวกันจ้า ประมาณว่า หาพวกเอาไว้ก่อน ไม่นานเกินรอก็มีโทรศัพท์มาถึงพนักงานหน้าเคาน์เตอร์ เป็นทางบริษัทขายตั๋วแจ้งมาว่า คูปองอยู่ที่เขาจริง ๆ เขาคุยกันพักหนึ่ง ก็รับตั๋วของนักธุรกิจญี่ปุ่นไปทำการเช็คอินให้อย่างเรียบร้อย แล้วก็โบ้ยมาที่ฉันให้ไปเช็คอินเสียให้เรียบร้อย โล่งอกไป

ตอนขึ้นเครื่อง ฉันไปเจอผู้หญิงบังคลาฯคนเดิมอีก แกนั่งติดกับฉัน แต่ฉันเห็นที่ว่างเยอะ ก็เลยแยกไปนั่งอีกแถวหนึ่ง ไม่ได้รังเกียจแกหรอก แต่มันนั่งสบายกว่า ได้นั่งติดหน้าต่างดูวิว

น่าแปลกนะเธอ พอตอนเครื่องออกพ้นพื้นดิน ฉันมองออกไป เห็นทุ่งนา ทิวทัศน์เรียบง่าย รู้สึกน้ำตาคลอขึ้นมา ใจหายที่จากไป มีแต่ความรู้สึกดี ๆ ให้เมืองบังคลาฯ เมืองที่ไม่คิดอยากจะมา แต่พอมาแล้วกลับรู้สึกผูกพันอย่างบอกไ่ม่ถูก

ระหว่างเดินทาง ฉันขอเอาความรู้เรื่องเนปาลมาฝากเธอด้วยแล้วกัน จะได้เปรียบเทียบกับบังคลาเทศด้วย
– พื้นที่ ๑๔๐๘๐๐ ตร กม
– ประชากร ๒๗ ล้านคน
– ชนเผ่าต่าง ๆ ได้แก่ เชตริ ๑๕.๕% พราหมณ์หรือบรามันฮิลล์ ๑๒.๕% มาการ์ ๗ % ธารู ๖.๖% ทามัง ๕.๕% เนวาร์ ๕.๔% มุสลิม ๔.๒% คามิ ๓.๙% ยาดาฟ ๓.๙% และอื่น ๆ ๓๒.๗%
– ศาสนาก็หลากหลายมาก คือ ฮินดู ๘๐.๖% พุทธ ๑๐.๗% มุสลิม ๔.๒% คิรานท์ ๓.๖% และอื่น ๆ ๐.๑% (ถือว่าเป็นรัฐฮินดูแห่งเดียวในโลก)
– ภาษา เนปาลี ๔๗.๘% ไมธาลี ๑๒.๑% โพชพูรี ๗.๔% ธารู (ดาเการา/รานา) ๕.๘% ทามัง ๕.๑% เนวาร์ ๓.๖% มาการ์ ๓.๓% อวาธี ๒.๔% และอื่น ๆ อีก ๑๐% ระบุไม่ได้อีก ๒.๕ % (แต่ข้าราชการกับนักธุรกิจส่วนใหญ่จะพูดภาษาอังกฤษได้)
– รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี หรืออำนาจการซื้อ คือ ๑๕๐๐ ดอลล่าร์เท่านั้นเอง (ยังน้อยกว่าบังคลาเทศตั้ง ๕๐๐ แน่ะเธอ)
– ผลิตผลทางการเกษตรได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี น้ำตาล พืชกินหัว นม เนื้อควาย
– อุตสาหกรรมหลักคือ การท่องเที่ยว สิ่งทด โรงสีข้าว โรงปอ โรงน้ำตาล โรงน้ำมันจากพืชขนาดเล็ก บุหรี่ ปูนซีเมนต์และทำอิฐ
– สินค้าส่งออก คือ พรม เสื้อผ้า เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์จากปอ เมล็ดพืช
– สภาพทางภูมิศาสตร์ เป็นประเทศถูกปิดล้อม ไม่มีทะเล เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญระหว่างจีนและอินเดีย
– ทรัพยากรธรรมชาติ ควอทซ์ น้ำ ซุง พลังงานน้ำ ทิวทัศน์อันงดงาม แร่ลิกไน้ต์ ทองแดง โคบอลท์ เหล็ก
– ภัยธรรมชาติ พายุฟ้าคะนองอย่างรุนแรง น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ความแห้งแล้ง ความอดอยาก-ทุพภิกขภัย ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ความรุนแรง และระยะเวลาของมรสุมฤดูร้อน
– ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม คือ ป่าไม้ถูกทำลาย (ใช้ฟืนเป็นพลังงานเพราะไม่มีอย่างอื่นให้เลือก) น้ำเน่าเสีย (จากสิ่งปฏิกูลของคนและสัตว์ ของเหลือการเกษตร และของเสียอุตสาหกรรม) การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และไอเสียจากรถยนต์

เอาความรู้ไปเบาะ ๆ ก่อนนะเธอ โดยสรุปแล้ว ประเทศนี้มีความหลากหลายทางชนชาติ ภาษา และศาสนาเป็นอย่างมาก รวมทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ที่สุดขั้วไม่เหมือนใคร ฉันประหลาดใจเอาการที่พบว่า เนปาลยังจนกว่าบังคลาฯเสียอีก อาจเป็นภาพลวงตาว่าที่นี่มียอดฟ้าหิมาลัย นักท่องเที่ยวเข้าออกกันครึ่ก ๆ ยิ่งกว่าบังคลาเทศ นับเป็นความจนที่แอบแฝงอยู่ภายใต้สีสันแท้ ๆ

เอาละ กลับมาที่การเดินทาง ซึ่งเรียบร้อยดี พอลงจากเครื่อง ฉันก็วิ่งไปตรงที่ทำวีซ่าเข้าประเทศ เพราะไม่ได้ทำมาล่วงหน้า ปรากฏว่า คุณพี่ผู้หญิงคนเดิมแกก็มาทำเหมือนกัน แต่แกกรอกแบบฟอร์มไม่ได้ (ภาษาอังกฤษ) ฉันก็เลยช่วยแกกรอก ยอมเสียเวลาอีกนิดนึง คราวนี้แกได้ผ่านไปก่อน แต่แกกลับมากอดฉันแน่นก่อนไป แล้วบอกขอบคุณไม่ขาดปาก ชื่นใจเหมือนกันนะที่ทำความดีแล้วมีคนขอบคุณ หึหึ ผลจากการทำความดีของฉันคือ ทำให้ฉันติดแหง็กรอคิวอยู่อีกหลายนาที แต่เป็นการรอที่สุขใจ รู้สึกว่า บางทีเราก็ไม่ควรหวงเวลาของเรามากมายจนเกินไปนัก หากจะได้ใช้มันทำสิ่งดี ๆ ให้คนอื่นเสียบ้าง

ฉันไปเจอคุณพี่คนเดิมอีกครั้งสุดท้ายที่สายพานรับกระเป๋า ซึ่งรอนานมากจริง ๆ แต่กระเป๋าฉันมาก่อนก็เลยออกไปก่อน รีบแลกตังก์ แล้วไปมองหารถโรงแรมที่มารอรับ คราวนี้เสียรู้เด็กเร่ร่อนที่มาช่วยยกกระเป๋าไปขึ้นรถ โดยอ้างว่ามาจากโรงแรม ฉันก็กัดฟันให้เงินทิปไป จะไม่ให้ก็รู้สึกไม่ดี ให้แล้วก็เจ็บใจเด็ก เป็นอันว่าความรู้สึกเจ็บใจนี้หายกันไปจากความดีที่ทำเมื่อครู่นี้ ห้า ห้า ห้า

โรงแรมซัมมิทนี่ฉันเคยพักเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนเริ่มทำงานด้านเด็กใหม่ ๆ ตอนนั้นเป็นเดือนกุมภาฯจำได้ว่า หนาว ไม่น่าอยู่ ตอนนี้เดือนตุลาฯอากาศเริ่มเย็น แต่ถือว่าสบาย ส่วนโรงแรมพัฒนาไปมาก เป็นรีสอร์ทสวยงาม บนเนินเขา มองเห็นเมืองกาฐมาณฑุจากลานหน้าโรงแรม ห้องพักฉันสบาย อยู่มุมที่วิวดีมากทีเดียว เหมือนได้ขึ้นสวรรค์เมื่อเทียบกับธากา มีอินเตอร์เน็ทถึงห้องพัก ฉันเอากระเป๋าเก็บแล้วก็ไปหาข้าวกิน เพราะค่ำแล้ว อ้อ ต้องโทรไปรายงานตัี่วที่ศูนย์วิทยุยูเอ็นด้วย เพราะสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ ดังนั้นใครไปใครมา เขาจึงต้องบันทึกไว้

อืมม์ โรงแรมดี ๆ นี่มันก็มีอาหารดี ๆ ให้กินเพียบเลยนะ วันนี้ฉันเลยสั่งสปาร์เก็ตตี้ผัดเห็ด พอมาถึงแล้ัวหน้าตาเหมือนเส้นจันทร์ผัดเห็ดดี ๆ นี่้เอง แต่ก็ทานด้วยความยินดี หลังจากทานข้าวกับปลาจนหน้าจะเป็นแมวที่เมืองบังคลาฯ สังเกตว่าแขกในโรงแรมมีแต่ฝรั่ง ฝรั่ง และบักสีดาทั้งนั้้นเลย นัยว่า โรงแรมนี้มีเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเป็นขาประจำ

คืนแรกฉันหลับสบาย ใช้อินเตอร์เน็ตส่งข่าวถึงเจ้ากรมฯที่บ้าน และติดต่องาน

เช้าวันต่อมา ฉันก็จับแท้กซี่ไปสำนักงานเรียบร้อยดี ไปพบกับเพื่อนร่วมงานชื่อ มินิชา เป็นสาวเก่ง จบกฎหมาย และจิตวิทยาอุตสาหกรรม คุณแม่ลูกสอง เราคุยกันถูกคอ มินิชาอธิบายโน่นนิดนี่หน่อยแล้วก็พาฉันไปเยี่ยมโครงการทันที โครงการแรกชื่อว่า ไมติเนปาล (Maiti Nepal) ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กที่ตกเป็นเหยื่อจากค้ามนุษย์ ถูกทารุณทำร้าย หรืออยู่ในระหว่างดำเนินคดี

ทางโครงการเตรียมตัวต้อนรับอย่างดี มีการฉายพาวเวอร์พ้อยท์สรุปงานให้ครบทุกด้าน เรียกว่า ฉันไม่ต้องทำการบ้านมากนัก เจ้าหน้าที่ต่างก็เข้มแข็ง ชำนาญงานดีกันทุกคน แต่งตัวชุดพื้นเมืองส่าหรีสีสันสวยงาม ก็แปลกหูแปลกตากว่าทางเมืองบังคลาฯไปอีกแบบหนึ่ง

งานที่เขาทำโดยสรุปก็คือ การช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กโดยแนวทางสหวิชาชีพ การหาที่พักอาศัยและปัจจัยสี่ให้เด็ก การจัดทำคู่มือบริหารเคสเด็ก การจัดทำฐานข้อมูลเด็กด้วยระบบคอมพิวเตอร์ การอบรมแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน (peer educators) ในกลุ่มผู้หญิงทำงานร้านอาหารเคบินและร้านอาหารเต้นรำ การอบรมทักษะชีวิต การจัดสอนกศน การจัดอบรมอาชีพ ฯลฯ

เคบินเรสตัวรองท์ (Cabin restaurant) นี่เป็นชื่อเรียกลักษณะของร้านอาหารที่แบ่งเป็นคอก ๆ มีโต๊ะ เก้าอี้ยาวในที่แคบ ๆ ต้องนั่งเบียดกัน พอเข้าไปนั่งแล้ว โต๊ะข้าง ๆ ก็จะมองไม่เห็นกัน เป็นที่ดื่มกินแล้วก็เพลิดเพลินทางเพศได้นิด ๆ หน่อย ๆ ในกรณีที่ผู้หญิงสมยอมด้วย ส่วนร้านอาหารเต้นรำ หรือ Dance restaurant ก็เป็นตามชื่อ และมีการแฝงเรื่องขายบริการด้วย

โครงการพยายามทำงานในร้านอาหารเคบินและร้านเต้นรำเหล่านี้ในหลาย ๆ ด้าน หนึ่ง คือ ไม่ให้มีเด็กหญิงอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีมาทำงานในสถานที่แบบนี้เพราะเสื่อมศีลธรรม และผิดกฎหมายอายุขั้นต่ำของการทำงาน สอง คือ รณรงค์ให้เจ้าของสถานที่ไม่จ้างคนงานอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี หากพบเจอก็จะนำตัวเด็กออกมาให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ สาม คือ ปกป้องสิทธิของคนงานที่ไม่ต้องการขายบริการทางเพศ ให้สามารถทำงานได้โดยไม่ถูกบีบบังคับใจให้ขายบริการ และไม่ให้ลูกค้าลวนลาม สี่ คือ ในกรณีที่มีพนักงานอยากขายบริการ ก็รณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ฉันไม่มีโอกาสได้ไปดูร้านอาหารเคบิน แต่ได้เห็นรูป และได้พบกับกลุ่มตัวแทนคนทำงานร้านอาหารแบบเคบินด้วย เป็นกลุ่มที่ได้รับการอบรมให้เป็นแกนนำในการรณรงค์ การให้ความรู้แก่ผู้หญิงทำงานคนอื่น ๆ ด้วย อายุของกลุ่มนี้ระหว่าง ๒๐-๒๔ ปี ก็เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว หน้าตาก็ผิดแผกแตกต่างกันไป บางคนขาวเหมือนคนจีน บางคนคมขำแบบแขก ๆ ไม่น่าเชื่อว่าเป็นคนชาติเดียวกัน ทุกคนมีพลังใจ มีความตั้งใจ กล้าแสดงออก มีเรื่องราวความเป็นมาแตกต่างกัน บางคนก็มีความเป็นผู้นำสูง มีศักยภาพ ได้รับการยอมรับจากนายจ้าง จากสหภาพแรงงาน ทุกคนต่างก็มาเล่าประสบการณ์ของพวกตนให้ฉันรับฟังอย่างเป็นกันเอง สุดท้ายพวกเราก็ถ่ายรูปร่วมกัน

การทำงานนั้นประสบความยากลำบากในตอนแรก ๆ เมื่อจะเข้าไปทำงานในร้านอาหาร เพราะเจ้าของร้านไม่เข้าใจ กลัวเสียลูกค้า ไม่กล้าให้ข้อมูล บางทีเจ้าหน้าที่สาว ๆ ของไมตีเข้าไป ลูกค้าก็คิดว่าเป็นเด็กใหม่เสียอีก หรือเจ้าหน้าที่หนุ่ม ๆ ไปติดต่อ สาว ๆ ที่ทำงานก็นึกว่าเป็นลูกค้า เป็นงั้นไป แต่ตอนนี้ทราบว่า ทางร้านอาหารต่าง ๆ เข้าใจเป็นอย่างดี และให้ความร่วมมือในการเข้าไปทำงาน เก็บข้อมูล ให้ความรู้กับคนงาน รวมทั้งมีการประสานงานกับสมาคมนายจ้างร้านอาหารและโรงแรมขนาดเล็ก และสหภาพแรงงานด้วย เพราะร่วมกันทำ “ข้อกำหนด” สำหรับสถานประกอบการเรื่องการไม่จ้างคนงานอายุน้อยกว่า ๑๘ ปี และการปฏิบัติต่อคนงานอย่างเป็นธรรม

ออกจากไมตีเราต้องไปต่ออีกหน่วยงานหนึ่ง ที่ทำงานกับสตรีหม้ายและม่าย คือ ทั้งที่สามีตายและสามีหย่าร้างไป มีเจ้าหน้าที่ไมตีติดรถไปลงปากทางคนหนึ่ง เที่ยงกว่าแล้ว มินิชากับฉันต้องหาข้าวกินกันก่อนไปเยี่ยมอีกโครงการ ตกลงกันว่าจะหาของกินง่าย ๆ เร็ว ๆ ระหว่างขับรถไป เราเห็นร้านอาหารเขียนว่า Fast food restaurant ฉันก็ชี้มือชี้ไม้ว่า นี่ไง ร้านอาหารแบบกินเร็ว ๆ เจ้าหน้าที่ไมตีที่มาด้วยก็บอกว่า นั่นแหละ ร้านนี้ ทำอาหารช้ามาก ๆ เลย อย่าไปทานเลย ที่ว่า เร็ว นั้นเร็วแต่ชื่อ พวกเราก็เลยหัวเราะเป็นเรื่องขำไปเลยที่ร้านทานด่วนนั้นด่วนเฉพาะชื่อ

สุดท้ายเราไปเจอร้านเบเกอรี่ขนมแขกที่มีอาหารง่าย ๆ มังสวิรัติให้ทานด้วย หน้าตาสะอาดดีทีเดียว มีอาหารที่ทำไว้แล้วอยู่ในตู้ให้เลือกได้เป็นถาด ๆ ฉันไม่รู้จักสักอย่าง แต่ก็ไปมอง ๆ แล้วก็สั่งแป้งทอดมีรูตรงกลางเหมือนโดนัทมาสองก้อน เขาเสิร์ฟพร้อมกับซอสเผ็ดนิด ๆ และชัทนีมะพร้าว คือมะพร้าวขูดขาว ๆ ผสมกับกะทิ รสจืด ๆ เค็ม ๆ ส่วนมินิชาสั่งโดซ่าไส้ผัก อาหารของฉันมาก่อน นี่เป็นภาพที่ฉันเจี๊ยะไปบ้างแล้ว อิอิ

ส่วนของมินิชาพอมาถึง เราก็หัวเราะกันกลิ้ง เพราะเป็นแผ่นแป้งเหมือนขนมเบื้อง แต่ใหญ่อลังการม้วนมาเหมือนกระบอง (ดูรูป) ข้างในก็มีไส้ผักผัดกับผงกะหรี่ มีซอสกับชัทนีมะพร้าวเหมือนของฉัน อาหารร้อน อร่อย สะอาดดี สะท้อนให้เห็นทางเลือกด้านอาหารการกินที่หลากหลายกว่าเมืองบังคลาฯ มินิชาบอกว่า อาหารเนปาลก็คืออาหารอินเดียตอนใต้ที่ไม่เผ็ดดี ๆ นี่เอง

ของหวานที่ร้า่นนี่ก็น่ากินมาก มินิชาสั่งโรสมาลัย (ชื่อเพราะมาก ๆ) ให้ฉัน เป็นนมที่เอาไปหมักแล้วมาเป็นก้อนเหมือนเต้าหู้แช่มาในครีมรสหวาน อืมม์ อร่อยจริง ๆ แหละ สำหรับคนทานชีสได้ น่าจะชอบ แต่ฉันรู้ว่าเธอไม่ค่อยจะถนัดของพวกนี้เหมือนเพื่อน ๆ นกน้อยของฉันเช่น พี่แอ๊ด ลุงพอล นี่ก็ไม่เก่งชีสเหมือนกัน แต่เธออย่าให้กิ๊กน้องโพรู้เชียวนะ เดี๋ยวโดนแย่งทานไม่เหลือ คิกคิก

อิ่มอร่อยแล้ว พวกเราก็ตรงไปสำนักงาน Women for Human Rights (WHR) หรือองค์กรสตรีเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยหญิงหม้ายเพื่อแม่หม้ายโดยเฉพาะ สมาชิกและผู้ร่วมโครงการต่างเป็นหม้ายไร้คู่

สาเหตุที่มีองค์กรนี้ก็เพราะ ในเนปาลนั้น หากสตรีใดตกพุ่มหม้าย ถูกหย่า สามีตาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุธรรมชาติ อุบัติเหตุ หรือจากการสู้รบของกลุ่มนักต่อต้านกษัตริย์และกลุ่มเมาอิสต์ ก็ตาม สถานะจะตกต่ำโดยทันที แรกสุดคือ พวกเธอจะออกไปไหนมาไหนในงานรื่นเริงไม่ได้ พวกเธอจะแต้มสีแดงที่หน้าผากไม่ได้ จะแต่งตัวสีแดงก็ไม่ได้ จะต้องอยู่ในครอบครัวของสามีต่อไป และทำงานรับใช้เท่าที่ครอบครัวสามีจะกรุณา ส่วนใหญ่จะถูกกดขี่หรือถูกญาติผู้ชายในครอบครัวเอาเปรียบลวนลามหรือข่มขืน จะแต่งงานใหม่ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีชายใดยอมแต่งด้วย

ผู้หญิงเหล่านี้บางส่วนยังอายุไม่ถึง ๑๘ ปี (๑๘ ปีคืออายุขั้นต่ำสำหรับการทำงานล่อแหลม เช่น งานขายบริการ งานอันตรายอื่น ๆ โครงการจึงเน้นทำงานกับคนที่อายุต่ำกว่า ๑๘) เพราะคนที่นี่แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ส่วนใหญ่มักมีลูกเล็ก ๆ กัน ลูก ๆ ก็ต้องตกในภาวะยากลำบากตามแม่ไปด้วย โอกาสที่ทั้งแม่และลูกจะถูกล่อลวง ค้าเอาไปทำงานทางเพศ หรือทำงานกดขี่อื่น ๆ มีสูงมาก ผู้หญิงหม้ายคนใดที่อยากแยกจากครอบครัวสามีไปก็อาจทำได้ ถ้าใจแข็ง แต่มักไปได้งานต้อยต่ำ เช่น ร้านอาหารเคบิน งานรับใช้ตามบ้าน หรือไปทำงานบริการทางเพศเสียเลย เรียกว่า ไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้

องค์กร WHR นี่จึงมีเป้าหมายจะยกระดับทางสังคมให้สตรีเหล่านี้ ให้รู้จักสิทธิสตรี สิทธิเด็ก ปัญหาการค้ามนุษย์ ให้มีทักษะอาชีพที่มีเกียรติ ให้มีความรู้ป้องกันตนเองจากการถูกล่อลวง ให้ลูก ๆ ของพวกเธอได้เรียนหนังสือ ให้พวกเธอได้ร่วมกลุ่มมีกันและกัน “ช่วยกันเช็ดน้ำตาที่หัวเข่า” ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับสตรีที่สูญเสียเหล่านี้มาก

ฉันฟังกรอบงานของเขาแล้วประทับใจจัง ที่นี่ฉันได้พบกับคุณลิลี่ ธาปา ซึ่งเป็นสตรีหม้ายเหมือนกัน แม้ว่าเธอจะมีฐานะทางสังคมสูง เป็นอาจารย์สอนอยู่มหาวิทยาลัย เป็นคนรวย แต่เธอก็เผชิญกับการสูญเสียเหมือนสตรีคนอื่น ๆ เธอจึงบุกเบิกองค์กรนี้ และโยงงานมาสัมพันธ์กับการแก้ไขปัญหาค้าเด็ก กล่าวคือ เธอถือว่าสตรีกลุ่มนี้และลูก ๆ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ ฉันเองก็เห็นด้วย แม้จะไม่ทั้งหมด

ฉันได้พบกับเจ้าหน้าที่ด้านต่าง ๆ เช่่น ที่ปรึกษากฎหมายอาสาฯ ครู กศน ครูฝึกอาชีพ นักรณรงค์สังคม และกลุ่มสตรีหม้าย หลายคนมีแววตาที่เล่าเรื่องได้ดีกว่าสิ่งใดทั้งหมด เป็นบ่ายที่ฉันประทับใจมาก แล้วยังมีลูก ๆ ของหญิงหม้ายเหล่านี้ ทั้งที่ยังเด็กเล็ก ๆ และที่เป็นหนุ่มแล้ว (เรียนอาชีวะ) ก็มี ทางกลุ่มมีการจัดหาทุน เปิดบัญชีออมทรัพย์สำหรับอนาคต ทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยลดรายได้ในครัวเรือน เช่น สบู่ มีการอบรมหญิงหม้ายให้เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก เช่น ทำของที่ระลึก ขายของหน้าร้าน ขายผัก ทำขนม เป็นต้น เสียดายที่ฉันไม่อาจคุยกับทุกคนได้ทั้งหมด แ่ต่ก็พยายามถามคำถามแต่ละคนมากเท่าที่จะทำได้

ทีแรกเราจะดูงานที่นี่ที่เดียว แต่คุยไปคุยมาถูกคอ ก็เลยจะไปดูแม่บ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวด้วย ซึ่งอยู่นอกเมือง ก็เลยนัดคุณลิลี่ในอีกสองวันให้พาไป ในการนี้ฉันเลยถือโอกาสบริจาคเงินสมทบกองทุนให้เขาด้วย

ดูงานเสร็จแล้ว ฉันก็กลับสำนักงานกับมินิชา บังเอิญผู้รักษาการณ์บริหารหน่วยงานเป็นเพื่อนร่วมงานเก่า (คนไทย) เขาเลยเชิญฉันไปทานข้าว ได้รู้จักกับแฟนเขาด้วย (คนไทย) เหมือนกัน ความที่เป็นคนไทยสามคนด้วยกัน ก็เลยไม่ไปทานอาหารไทย แต่ไปทานพิซซ่าที่ร้านชื่อว่า Fire & Ice พิซซ่าคุณภาพฝรั่ง ใช้ได้ อร่อยเหมือนเมืองเจฯ แผ่นเท่ากะละมัง สามคนทานพิซซ่าชิ้นเดียวกับสลัดอีกจาน ก็ยังแทบจะไม่หมด

เสร็จแล้วออกไปซื้อของที่ย่านปาธาน ฉันก็ไม่ค่อยได้ซื้อนานแล้ว เลยไม่รู้จะซื้ออะไร สุดท้ายไปหยุดที่ร้านชา เลือกซื้อสนุกไปเลย เลือกเสร็จไฟดับ คนขายต้องเอาเทียนมาจุด เราจ่ายเงินแล้วก็เดินทางกลับ พี่เขาไปส่งฉันที่โรงแรม

สองวันแรกในเนปาลก็ผ่านไปด้วยประการฉะนี้แหละเธอ

แม่นกเจนีวาในแดนภูเขา

Message us