ซีรี่ย์กรุ่นไฟสงครามกลางเมือง
เรื่อง โดย
Pokhansa
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


เพื่อนร่วมชาติคะ

ประเทศนี้ทำให้ฉันคิดถึงบ้านไม่น้อย ไม้ดอกหลากพันธุ์ที่ล้วนเคยคุ้นตาตั้งแต่เด็ก ๆ และไม่ได้เห็นเป็นสิบปี (ยกเว้นตอนกลับไปเยี่ยมบ้าน) ก็ได้มาเห็นที่นี่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดอกไม้เหล่านี้มีเสน่ห์ต่างไปจากดอกไม้เมืองหนาว มันมีชีวิต มีเรื่องราว มีความทรงจำของบ้านเกิดอยู่ในนั้น

ผู้หญิงกับดอกไม้เป็นของคู่กัน และผู้หญิงถูกเปรียบเทียบกับดอกไม้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้หญิงรักดอกไม้ และดอกไม้ก็อ่อนหวานเหมือนหญิงสาว

ตอนย้ายมาใหม่ ๆ อากาศยังเย็นอยู่ ยังไม่เห็นดอกไม้มากนัก พอปลายหนาวก็เห็นต้นไม้ใหญ่ชนิดหนึ่งออกดอกสีม่วงงามขจีเต็มต้น ตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้าง อยู่คงทนมาเป็นเดือนให้ได้เห็นงามตาทุกวัน ก่อนจะร่วงโรยหายไปอย่างช้า ๆ ฉันสอบถามคนที่อยู่มาก่อน เขาบอกว่า ต้นไม้ดอกสีม่วงชนิดนี้มีเห็นได้ทั่วไปในเขตตะวันออกกลาง

พอสปริงก็เริ่มเห็นดอกกระดาษตามเกาะกลางถนน แต้มด้วยดอกพวงคราม ดอกผกากรอง ทำเอาตื่นเต้นมาก พออากาศเริ่มร้อนขึ้นก็จะมีดอกชบา ดอกบานบุรีต้นเล็ก ๆ เพิ่มตามมา

วันเวลาผันไป ดอกไม้น้อยใหญ่ก็พากันอวดโฉมทีละนิดทีละหน่อย ดอกเฟื่องฟ้าเถาสูงใหญ่ เลื้อยละลงมาจนระดับเหนือศีรษะ ราวกับน้ำตกสีชมพูอ่อนหวานตามรั้วบ้าน มีต้นใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ใกล้ที่ทำงานฉัน แค่ช่วงตึกเดียว เดินผ่านหรือขับรถผ่านทีไร ก็สุขทีนั้น นึกในใจว่า จะถ่ายรูปส่งไปให้ทีมสวนที่เมืองไทย (เชียงรายและเชียงใหม่) ให้ปลูกให้ได้ตามนี้

เฟื่องฟ้าชมพูหวานเป็นแพกว้างเหล่านี้ค่อย ๆ แห้งเหี่ยวไปตามลำดับ ฉันเชื่อว่าจะมีรุ่นใหม่ตามมา ฉันก็เริ่มเห็นดอกคล้ายเฟื่องฟ้า แต่ทรงต้นไม่เหมือนกัน ค่อย ๆ ผลิดอกสีชมพูเข้ม หยดย้อย บาดตาทีละน้อย ฉันมองออกจากหน้าต่างห้องครัวจะเห็นพัฒนาการของดอกนี้ทุกวัน จากสีชมพูประปราย ก็เริ่มระบายหนาขึ้น

ดอกการ์ดีเนีย หรือดอกพุดบ้านเรา บานผ่านไปแล้ว ใกล้หมดแล้ว หอมหวาน ชวนให้คิดถึงหิ้งพระบูชา ดอกนี้ชายหนุ่มที่ทำงานเก็บมาจากย้าน เลยแบ่งให้ฉันหนึ่งดอก ได้หอมชื่นใจมาหลายวัน ไม่ต้องกลัวสามีหึงหวงหรอก รายนั้นไม่ใช่คนขี้หึง เพื่อนร่วมงานหญิงอีกคนหนึ่งก็เด็ดมาหลายดอก มอบให้ฉันช่อเล็ก ๆ ช่อหนึ่ง ฉันเอาดอกทั้งสองใส่แก้วน้ำไว้ หน้าจอคอมฯ ได้กลิ่นมาเป็นอาทิตย์

ดอกการ์ดีเนียนี้ ช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ฉันเห็นเขาร้อยเป็นมาลัยสักประมาณ 10-20 ดอก เดินขายตามสี่แยกไฟแดง โห คิดถึงเมืองไทยมากเลย อยากซื้อเหมือนกัน แต่ก็ระงับใจไปทุกที เพราะถ้าดอกไม้เยอะ ๆ กลิ่นแรง ๆ ฉันมักจะเกิดอาการแพ้ จามฟุตฟิต ปวดหัว หายใจไม่สะดวกเอาง่าย ๆ ดังนั้นชื่นชมอยู่ห่าง ๆ ก็พอ

ช่วงหนึ่งฉันเห็นคนเอารถมาเปิดท้าย ขายการ์ดีเนียเป็นกระถาง ต้นขนาดสูงท่วมเอว มีดอกติดมาแล้ว ส่วนร้านดอกไม้ก็จะทำอย่างเดียวกัน รู้สึกว่าคงเป็นดอกไม้ที่คนที่นี่ชื่นชอบ นำไปปลูกที่บ้าน อยากซื้อมาก ๆ เลย

ถัดจากการ์ดีเนีย ก็มีดอกมะลิซ้อน วันก่อนก็ได้จากหนุ่มคนเดิม

ร้านดอกไม้มีดอกกุหลาบก้านยาว ๆ มาขายหลากสี ฉันเพลิดเพลินที่สุดเวลาเข้าร้านดอกไม้ นั่นก็ดอกกลาดิโอลัส นั่นดอกแอสเตอร์มาเรีย ดอกบานชื่น ดอกเยอบีร่า ดอกลิลี่ขาวและชมพูด และอีกสารพัดดอกที่ไม่รู้จักชื่อ และทำให้หัวใจอบอุ่นเหลือเกิน (อยู่เจนีวาก็ชอบเกร่ไปที่ร้านดอกไม้เช่นกัน)

วันก่อนเดินไปโรงพยาบาลข้างสำนักงาน เหลือบไปเห็นดอกหางนกยูงแพใหญ่ ส้มจัดจับใจ พอไปธุระที่ รพ เสร็จ ออกมาก็รีบไปถ่ายภาพบันทึกไว้สักหน่อย ให้สมกับที่เป็นแฟนตัวจริง

เกาะกลางถนนมีดอกไม้เถาที่คาดว่าเป็นผกากรอง พอดอกแก่ ก็ออกลูกมาหน้าตาเหมือนลูกแบลคเบอร์รี่ (ไม่ใช่สมาร์ทโฟนนะจ๊ะ) ทำเอาฉันพิศวง เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่า ผกากรองให้ลูกน่ารักน่ากินเช่นนี้ด้วย

ในซอยอพาร์ตเม้นท์ ถัดจากมหาลัยอเมริกาแห่งเบรุต เจ้าของซอยเข้าใจปลูกเจอราเนี่ยมสีสวย เวลาเดินผ่านแล้วเบิกบานตา และเบิกบานใจมาก

นั่นดอกเหลือง ๆ สงสัยจะเป็นบานบุรี แล้วยังเห็นพุทธรักษาแอบงามซ่อนตัวอยู่เงียบ ๆ

หน้าวิทยาลัยคริสเตียน ตึกดูเก่าขลัง วันก่อนเดินผ่านไปได้กลิ่นดอกสายน้ำผึ้ง นึกในใจว่า เราไม่ได้กลิ่นอย่างนี้มานานแค่ไหนแล้วนะ ฉันยืนสูดกลิ่นอย่างชื่นใจ ยามหน้าวิทยาลัยอาจจะคิดว่า เหมดฟิลิปปินส์คนนี้จะแอบมาสอดแนมอะไรหรือเปล่า

ร้านดอกไม้ที่นี่มีซุกซ่อนอยู่ทุกซอกทุกมุม พอซื้อแล้ว เขาจะจัดช่อให้โดยไม่ต้องขอ บางทีฉันก็บอกว่า ไม่ต้องจัดละ ห่อให้ไอเถอะ จะเอาไปใส่แจกันเอง เขามักจะแต้มด้วยใบบอนหรือใบว่าน หรือใบอะไรที่คล้ายหญ้าเรียวยาว แต่ใบที่ฉันชอบมากที่สุด คือ ใบยูคาลิปตัสที่กลมสวยงาม และกลิ่นหอมชวนให้ไม่เป็นหวัดนักแล ช่วงหนึ่งเขาประกอบกับดอกไม้ให้ฟรี ๆ แต่ช่วงหลังฉันไม่ค่อยเห็นแล้ว เข้าใจว่าคงหมดฤดู หากต้องการก็ต้องซื้อเอา กำละประมาณ 5 ดอลล์

เสน่ห์ของเบรุตน่าจะอยู่ที่มุมเล็กมุมน้อยที่มีไม้ต้นไม้ดอกแอบซ่อนตัวอยู่ แม้ในเมืองที่สับสนอลหม่าน การจราจรเหมือนจราจล ถนนหนทางคดเคี้ยวคับแคบ ตรอกซอยมากมายชวนให้หลง ชอบทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่รักสิ่งแวดล้อม แต่คนเลบานีสก็ไม่ขาดดอกไม้-ต้นไม้ในทุกมุมที่เปิดเผยหรือซ่อนเร้น

ต้นที่งามที่สุดในสายตาฉัน เหมือนปริ๊นเซสแห่งมวลไม้ต้น ก็คือ ต้นโอลีฟที่เป็นพุ่มงาม และใบเขียวเคลือบประกายสีเงิน โอลีฟเป็นไม้ที่มีมนต์ขลัง ต้นหนึ่ง ๆ มีอายุเป็นร้อยปี เกินช่วงชีวิตของคนส่วนใหญ่ กิ่งก้านงาม มีรูปทรงแปลก ๆ งามเพียงต้นยังไม่พอ ยังให้ผลโอลีฟซึ่งเป็นอัญมณีแห่งอาหารของภูมิภาคแถบเมดิเตอร์เรเนียน ลูกโอลีฟเอาไปทำอะไรได้มากมาย แต่ที่เด่นที่สุด คือ น้ำมันสกัดจากโอลีฟ เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก น้ำมันที่สกัดจากต้นโอลีฟแบบโคลเพรส ที่มาจากย่านปลูกอันสมบูรณ์ งดงาม แดดดี ดินดี ให้รสชาติที่เหมือนขึ้นสวรรค์สำหรับคนรักโอลีฟออยล์

นักเขียนปีเตอร์ มายล์เจ้าของเรื่อง “หนึ่งปีในโพรวองซ์” ที่โด่งดังไปทั่วโลก พูดถึงโอลีฟที่เขาปลูกเอง แล้วเอาไปให้โรงงานสกัดให้ร่วมกับโอลีฟจากคนทั้งหมู่บ้าน เขาเอาขนมปังมาจิ้มนำมันเปล่า ๆ (เพื่อให้ได้รสชาติแท้ ๆ ของน้ำมัน) เมื่อลิ้มแล้ว เขาบอกว่า อืมม์ รสชาติที่หลับตาแล้วเหมือนมีแสงแดดสีทองอร่ามส่องสว่างอยู่ในปาก

เขาเชื่อว่า น้ำมันมะกอกชั้นดีจะให้ความรู้สึกถึงสายลมและแสงแดดที่ห้อมล้อมต้นโอลีฟที่ ให้ลูกมาสกัด

โรแมนติกเสียไม่มี เวลาฉันชิมน้ำมันมะกอกดี ๆ ก็พยายามใส่อารมณ์นั้นตามไปด้วย

ข้ามจากไม้ดอก ก็ต้องว่าด้วยไม้ผล

ต้องสรุปว่า ชีวิตฉันไม่เคยมีความสุขกับการทานผลไม้เท่ากับอยู่ที่นี่ อย่างน้อยก็ในสิบปีที่ผ่านมา ในสวิตฯมีผลไม้ดี ๆ คุณภาพเยี่ยม สด สะอาดมากมาย ฉันไม่เถียงเลย แม้ตอนอยู่สวิตฯก็แฮปปี้กับผลไม้ต่าง ๆ ที่มาจากทั่วมุมโลก แม้แต่ผลไม้ไทย ทว่าความรู้สึกมันไม่เหมือนกัน เมืองสวิสอุดมด้วยผลไม้นำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ผลไม้ที่ปลูกบนพื้นดินสวิสมีไม่มากนักและจะได้กินก็เป็นฤดูกาล เช่น แอปเปิ้ล แอปริคอต เชอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ (น่าจะลืมผลอื่นไปเหมือนกัน) แต่ผลไม้สวิสแพงมาก เพราะชาวสวนไม่ใช่คนจนเลยไม่ต้องทนขายถูก ๆ

ผักผลไม้นำเข้า เดินทางมาไกลแสนไกล ข้ามน้ำข้ามทะเลข้ามทวีป ข้อเสียก็คือ เขาต้องเก็บตั้งแต่ยังอ่อนเพื่อให้มาสุกปลายทางพอดี ไม่ได้สุกคาต้นนานพอที่จะบ่มรสชาติให้สมกับความเป็นผลไม้ชนิดนั้น อย่างนี้นี่เอง คนโบราณเขาจึงว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” เพื่อเปรียบเทียบกับอะไรที่ยังไม่ควรทำ ก็ฝ่าฝืนทำไปเสียก่อน ทำให้เสียเรื่องได้

ส่วนผลไม้ที่เลบานอน มีนำเข้ามากก็จริงตามประสาสังคมบริโภคนิยม แต่ผลไม้ประจำชาติก็ดาดดื่นไม่แพ้กัน เปลี่ยนผันไปตามฤดูกาล ส่วนสิ่งที่แตกต่างที่ฉันชอบย้ำแล้วย้ำอีกก็คือ “รสชาติ” ผลไม้ที่ได้ดินดี แดดดี ปลูกอย่างเป็นธรรมชาติ จากต้นก็มาสู่จานของเราในเวลาวันสองวัน ย่อมรักษาความสด อร่อย และรสชาติของมันไว้ได้เกือบครบถ้วน

ตั้งแต่ฉันมาอยู่ที่นี่จะแทบไม่แลผลไม้นำเข้าเลย ได้ลิ้มชิมรสสตรอเบอร์รี่ติดกันเป็นเดือน ๆ ผลสีแดงก่ำ ร้านผักผลไม้ข้างบ้านมีมาขายทุกวัน หวานฉ่ำชื่นใจ อมเปรี้ยวนิด ๆ ฉันกินกับโยเกิร์ตทุกเช้า

แต่ที่เครซี่ที่สุดคือ ของกล้วย ๆ นั่นคือกล้วยพื้นเมือง อยู่สวิตฯกินแต่กล้วยลูกใหญ่นำเข้าจากละตินอเมริกา ตอนแรกฉันก็จะไปหาซื้อกล้วยแบบนั้นเหมือนกัน พอไปที่ซุปเปอร์ฯก็ไม่เห็นมี คงจะหมดตลาด เดินไปหน่อยเห็นกล้วยเครือใหญ่แขวนไว้ ยังเขียวปี๋ ก็นึกในใจว่า คนที่นี่ประหลาด กล้วยลูกก็เล็ก ไซส์เหมือนกล้วยไข่ แต่หน้าตาแบบกล้วยหอม แถมยังดิบอยู่ก็เอามาขายแล้ว แต่ไม่มีตัวเลือก ฉันก็เลยชี้ ๆ ว่าเอากล้วยหน่อย คนขายก็เลยหักเอามาหวีหนึ่งชั่งกิโลให้ ฉันไม่ค่อยจะเชื่อใจเท่าไรว่าจะได้กินของดี

โอ้โฮเหะ เห็นเขียว ๆ อย่างนั้น สุกเร็วเหมือนกัน ลืมไปนิดเดียว ก็เหลืองนิด ๆ ข้างในนิ่มพอที่จะกินได้แล้ว ได้ลองครั้งแรกก็ตกใจ อะไรเนี่ย ทำไมรสชาติมันดีอย่างนี้ นุ่มอร่อยสมเป็นกล้วย

ตั้งแต่นั้นมา ฉันก็เลยกลายเป็นสาวกกล้วยเลบานีส ซื้อจนชำนาญว่า หากจะรีบกินต้องซื้อสีประมาณนี้ ถ้าจะเอาไว้นานหน่อยต้องสีนี้ อัตราการสุกของผลไม้ที่นี่จะเร็วกว่าที่เมืองหนาวมาก เอามาไว้บ้านแป๊บเดียวก็เริ่มสุกแล้ว เช้าไหนไม่ได้กินกล้วยจะรู้สึกว่าขาดอะไรไปสักอย่าง

ฉันกินกล้วยอยู่หลายเดือน แต่สักเดือนที่ผ่านมา กล้วยเริ่มวาย ลูกใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ หายากขึ้น และรสชาติถดถอยไปตามลำดับ จึงนึกรู้ว่า ที่นี่กล้วยขึ้นหน้าหนาวได้ดีกว่าหน้าร้อนแฮะ ตอนที่เขียนอยู่นี่มีแต่กล้วยนำเข้าจากโซมาเลียและละตินอเมริกาแล้ว ความสนใจกล้วยก็ลดลง ย้ายไปที่ผลไม้อื่น

ผลไม้อีกอย่างหนึ่งที่ถวิลหาเสมอ ก็คือ มะม่วง ฉันได้กินมะม่วงสดน้อยมากที่สวิตฯ แต่ชอบซื้อมะม่วงตากแห้งจากอาฟริกาใต้ที่เขาทำเป็นห่อขายอย่างสะอาด นาน ๆ ก็ได้กินมะม่วงไทยเสียหน่อยไม่ให้ลืมรส ไปเมืองไทยตอนปลายปีก็ไม่ค่อยมีมะม่วงแล้ว

ช่วงแรกฉันเห็นมะม่วงลูกใหญ่ ๆ ที่นี่ก็ไม่สนใจ คิดว่าคงไม่อร่อย มัวไปเพลินกับผลไม้อื่นเช่น ส้ม เกรปฟรุต เอามาคั้นน้ำกินตอนเช้า วันหนึ่งต้องทำกับข้าวเลี้ยงแขก สามีก็บอกว่า ทำข้าวเหนียวมะม่วงหน่อยได้ไหม ฉันก็หนักใจสิ ว้า จะไปหามะม่วงที่ไหนล่ะ ก็เลยลองไปซื้อมะม่วงลูกใหญ่ ๆ ที่ท่าทางสุกมากแล้วมาลอง ทำข้าวเหนียวอย่างดี แต่ว่าทำสังขยาเผื่อไว้ด้วย เพราะรู้ว่ามะม่วงยังไม่ได้ที่ โชคดีว่า แขกชอบใจข้าวเหนียวสังขยามาก พอลองปอกมะม่วงเสิรฟแล้ว มะม่วงยังเปรี้ยว แต่รสชาติเกือบใกล้มะม่วงสำหรับกินกับข้าวเหนียว ก็เลยสรุปในใจว่า รอให้มะม่วงรุ่นนี้เข้าฤดูที่สุกอีกสักหน่อยจะซื้อมาอีก

แล้วมะม่วงก็เริ่มดกดื่นขึ้น คงเหมือนที่เมืองไทยที่จะได้กินมะม่วงมากในหน้าร้อน ช่วงเมษาฯ ฉันก็เลยสนุกกับการซื้อมะม่วงแบบต่าง ๆ มาชิม แต่น่าเสียดายว่า มะม่วงส่วนใหญ่มาจากเยเมน จากโซมาเลีย แต่ถึงกระนั้น พอเจอช่วงมะม่วงแก่ได้ที่ รสชาติอร่อยมาก มีรุ่นหนึ่งที่หวาน เหลือง นิ่ม เกือบจะเท่าน้ำดอกไม้บ้านเรา ฉันก็ไปอวดคุณสามีว่า นี่ ได้แล้ว มะม่วงกินกับข้าวเหนียว (แต่ตอนนั้นไม่มีข้าวเหนียวแล้วจ้า)

ฉันซื้อมะม่วงกินด้วยความเบิกบาน บางทีก็ผ่าใส่กล่องไปกินที่ทำงาน

อากาศร้อนขึ้นเรื่อย ๆ แตงโม แคนตาลูป แตงหวานน้ำผึ้ง เมล่อน ส้มโอ หนาตาขึ้นเรื่อย ๆ มนุษย์เรากับผลหมากรากไม้ก็แปลก พอได้หน้าของมัน เราก็จะนึกอยากกินไปเอง มันไม่ต้องมาเชิญชวนเราเลย ฉันเห็นแตงโม เมล่อนก็ซื้อมาลอง เมล่อนขอใช้ได้ แต่ยังไม่เต็มที่ แตงโม อืมม์ มีแววอร่อย แต่ต้องรออีกสักหน่อย

วันก่อนไปได้แตงโมลูกหนัก 9 กิโล (นี่ลูกเล็กที่สุดในร้านแล้วนะ) ด้วยความเชื่อมั่นในรสชาติแตงโมที่นี่ แล้วก็ไม่ผิดหวัง เป็นแตงโมที่หวานฉ่ำ เนื้อเป็นทราย ถูกต้องตามตำราทุกอย่าง เม็ดก็น้อยด้วย

ฉันซัดแตงโมอย่างปลื้มเปรม ดับร้อนของแต่ละวัน ตื่นมาดึก ๆ ไม่รู้จะกินอะไรจุบจิบ ก็ได้แตงโมนี่เลย นี่เพิ่งหมดไปครึ่งลูกเอง

ลูกพีช ลูกแอปริคอตส้มและเขียว ลูกพลัม เชอร์รี่มาจ่อคิวรอแล้ว ฉันซื้อมาลองอย่างละนิดละหน่อย ชอบใจแอปริคอตเขียว ซึ่งหวานฉ่ำอย่างไม่น่าเชื่อ นึกว่าจะเปรี้ยว ส่วนเชอร์รี่บ้านนี้หวานแหลม ถูกปากมาก แถมยังลูกใหญ่เนื้อเยอะด้วย

ในตู้เย็นและในตะกร้าจึงเต็มไปด้วยผลไม้หลากชนิดอยู่เสมอ

ที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือ คุณหมอประจำบ้าน นั่นก็คือแอปเปิ้ลที่อุดมด้วยวิตามินซีและไฟเบอร์ มีทั้งแบบนำเข้าและพื้นบ้าน ด้วยความคลั่งไคล้ผลไม้พื้นเมือง ฉันก็ซื้อมาลอง มีแบบแดงก่ำ กับแบบเขียวอ่อน อร่อยทั้งคู่ หวานสดใส ฉันชอบลูกเล็ก ๆ กัดกินไม่กี่คำ มันกรอบกระทัดรัดดี

ที่ยังไม่ได้ลองคือ ลูกอัลม่อนด์สด ผลเขียว ๆ ที่คนแถบนี้เขายืนยันว่า คนชาติอื่นไม่มีวันเคยลิ้มรสอัลม่อนด์สดที่เขาผ่ากินเนื้อและเม็ดที่ยังอ่อน ๆ อยู่หรอก ขอติดไว้ก่อน

มาลีและหมากไม้เป็นผลผลิตของพื้นดินอันอุดม เป็นสิ่งที่นำเรากลับไปใกล้ชิดกับธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เป็นทั้งอาหารตาและอาหารใจ ยังมีอีกมากมายที่ฉันไม่รู้จัก ยังไม่ได้ลิ้มลอง ยังไม่ได้ท่องไปในโลกแห่งรสชาติ

แต่รู้สึกว่ากำลังใกล้บ้านเข้าไปทุกทีแล้ว การย้ายมาเลบานอนก็คงเป็นการเตรียมให้เราคืนสู่อ้อมอกของบ้านเกิดอย่างค่อย เป็นค่อยไปนั่นเอง


ฉันผู้นอกใจผลไม้ไทย

บันทึกไว้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555