ตอน : ย่ำผ่านเมืองอิเหนา – ไปโบกอร์
Photo CREDIT: Bayu Novanta/SOPA Images/Shutterstock
แม่ต้อยตีวิดที่คิดถึง
เช้าวันสุดท้ายที่อินดรามายู อาการเจ็บคอฉันเริ่มแย่ขึ้น เลยกินแต่้ขนมปังกับผลไม้แทนข้าวผัด แล้วดื่มชาร้อนเยอะ ๆ
กินข้าวเสร็จเห็นคนขับรถเอารถมาจอดหน้าห้องพัก เปิดท้า้ยรถเห็นมะม่วงสองกล่อง ได้ทราบว่าปานจิวิ่งออกไปซื้อมะม่วงแต่้เช้า แล้วซื้อมาฝากฉันหนึ่งกล่อง มะม่วงเหลืองแดงส้มสวยน่ากิน ปานจิบอกว่าเป็นมะม่วงที่ส่งออกไปญี่ปุ่น
เราเดินทางกันตอนสาย ๆ คุยกันไปตลอดทาง หลับบ้างนิดหน่อย บนเส้นทาง ปานจิชี้ให้ฉันดูคนหนุ่มสาวข้างทาง มีเครื่องเสียงแบบสะพายได้ บอกว่า เป็นนักดนตรีพเนจร ซึ่งจะขึ้นไปบนรถประจำทาง แล้วก็เล่นดนตรีร้องเพลงแลกเงิน ปานจิบอกว่า คนขับรถจะถือเป็นความบันเทิง ไม่เก็บเงินจากนักดนตรีเหล่านี้ นักดนตรีละร้องเพลงขำมาก มีเนื้อหาว่า “ฉันจะไม่ว่าอะไรเลย ถ้าเธอไม่ชอบเพลงที่ฉันร้อง แต่ฉันจะเจ็บปวดใจมาก หากเธอแกล้งหลับ” แหม เข้ากับความเป็นจริงเลย พอร้องเพลงหลัก ๆ เสร็จ นักร้องก็จะเอาหมวกมาถือไว้ขอบริจาคโดยประกาศว่า “ตอนนี้ตัวแทนกระทรวงวัฒนธรรมทำหน้าที่เสร็จแล้ว ก็เหลือตัวแทนกระทรวงสวัสดิการสังคมมาทำหน้าที่ต่อ” เรียกว่า เป็นการขอค่าดนตรีแบบจี้มากทีเดียว
เราไปถึงจาการ์ต้าบ่าย ๆ ปานจิส่งฉันที่โรงแรมแล้วตัวเองก็แวะที่ฟิตเนสคลับ เพื่อไปอบไอน้ำ ฉันก็เช็คอินใหม่ บังเอิญได้ห้องชั้นสูบบุหรี่ ลืิมบอกเขา เช็คอินเข้าห้องไปแล้วถึงรู้ ก็เลยไปกินข้าวก่อน (อาหารญี่ปุ่นอีกแล้ว) แล้วก็ไปขอเปลี่ยนห้อง พอเสร็จ ปานจิก็ออกมาจากฟิตเนสพอดี เห็นฉันยังไอแค้ก ๆ ก็เลยพาไปสปาใกล้ ๆ โรงแรม ไปนอดตัวเสียหนึ่ังชั่วโมง ทางสปาฯเอาชามะขามให้ดื่ม เออ ทำให้คอโล่งไปเหมือนกัน
เสร็จจากสปา ฉันก็กลับโรงแรม ทำงาน พักผ่อน ดื่มแต่น้ำอุ่นตลอด ปานจิแวะมาตอนเย็น พาไปกินอาหารจีนใกล้โรงแรม แล้วฉันก็เดินไปซื้อของที่ห้างใกล้ ๆ ได้ผ้าบาติคมาเยอะเหมือนกัน ก่อนจะเข้านอนแต่หัวค่ำ หนังหรือข่าวฉันก็ไม่ดูเพราะไม่ติดโทรทัศน์เลย หากมีเวลา ชอบอ่านหนังสือมากกว่า
วันรุ่งขึ้น อาการคอฉันก็ยังทรงตัวอยู่ อาหารเช้าบุฟเฟต์ที่โรงแรมนี่มากมายเหลือจะกิน แต่ฉันกินได้เฉพาะผลไม้กับขนมปังปิ้งเป็นหลัก เห็นอาหารมาก ๆ อย่างนี้ก็ทานไม่ลงเหมือนกัน
ปานจิมารับตอนสาย ๆ พอไปศูนย์อบรมตัดเย็บที่โบกอร์ คราวนี้เส้นทางสวย เป็นภูเขาเขียวชอุ่ม ปานจิเล่าให้ฟังว่าชอบไปเดินเขามาก ท่าทางเป็นนักเดินเขา เข้าป่าตัวยง
ศูนย์อบรมการตัดเย็บอุตสาหกรรมนี้น่าทึ่งมาก มีคนเยอรมันมาก่อตั้งไว้ ถือเป็นศูนย์ระดับนานาชาติ ใช้ชื่อว่า International German Garment Training Centre ผู้ก่อตั้งเขาตั้งใจให้อบรมกับเยาวชนยากจนเพื่อให้มีฝีมือแรงงานเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำได้ เขาคิดค่าเรียนจากเด็ก ๆ แต่ส่วนใหญ่เด็ก ๆ จะมีผู้สนับสนุนค่าเรียน (เช่นโครงการของเรา) ที่ศูนย์ฯนี้หาเงินเก่ง มีผู้บริจาคมากมาย เพื่ออุดหนุนค่าอยู่กินของเด็ก ๆ ค่าตึก ค่าอุปกรณ์ ค่าหอพัก ค่าใช้จ่ายทั่วไป แต่กระนั้นก็ยังต้องขยันหาเงินอยู่เสมอ
ฉันทราบว่าทางศูนย์เองก็เพิ่งรับเยาวชนจากพื้นที่สึนามิมาฝึกอาชีพถึงห้าสิบคน ทราบว่ามีปัญหาพอสมควรเพราะเด็กคงยังผวากับเหตุการณ์อยู่
ตัวศูนย์เป็นหมู่ตึกหน้าตาอบอุ่น เต็มไปด้วยต้นไม้ และจุดพักตามากมาย มีห้องโชว์แบบเสื้อจากยุโรปหน้าตาเหมือนบูติค ที่เอามาเป็นแม่แบบให้เด็ก ๆ ฝึกทำ รองผู้อำนวยการศูนย์คือคุณดามาริส (ชอบทานต้มยำกุ้ง) ให้การต้อนรับอย่างดี พาพวกเราไปที่ห้องอบรมใหญ่ มีเด็ก ๆ ประมาณสามสิบคนเดินมานั่งเรียงรายอย่างเรียบร้อย
ฉันประทับใจตั้งแต่แรกเห็นสถานที่ และยิ่งประทับใจเมื่อเห็นเด็กสาว ๆ อายุราวสิบแปดถึงยี่สิบปี เดินมาเข้าห้องประชุมด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเบิกบาน หัวเราะกันกิ๊กกั๊ก หน้าตาเป็นมิตร ลักษณะมีความมั่นใจในตัวเองพอสมควร ไม่เหนียมอายมากจนเกินไป รู้สึกว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า เด็ก ๆ มีความสุข
เราคุยกับเด็ก ๆ อยู่สักครึ่งชั่วโมง ทราบว่าส่วนใหญ่อายุประมาณยี่สิบ มีตัวแทนเด็กสองคนมาอธิบายว่า ทำอะไรบ้าง รู้สึกอย่างไรบ้าง โดยบอกว่า ขอบคุณที่ฉันมาเยี่ยม ดีใจที่ได้รับโอกาสให้มาเรียนวิชาชีพที่ดี หวังว่าจะได้มีงานทำต่อไป หากไม่ได้มาฝึกอบรมนี้ก็คงต้องตกงานอยู่กับบ้าน หรือไปทำงานในเมือง เด็กทั้งหมดมาจากอินดรามายูที่ฉันเพิ่งไปดูงานมา หน้าตาสะสวย บริสุทธิ์ บางคนดูแล้วมีความเศร้าอยู่ในดวงตา
การเรียนนั้นแบ่งเป็นสามเรื่องหลัก ๆ คือ การเย็บเสื้อผ้า การทอเสื้อกันหนาว และการเย็บเสื้อโปโล ซึ่งเด็ก ๆ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากวิชาชีพแล้ว เด็ก ๆ จะได้เรียนภาษาอังกฤษ กับ คอมพิวเตอร์ประกอบไปด้วย มีกิจกรรมกีฬา นันทนาการ ออกไปเที่ยวข้างนอก และพอวันหยุดก็จะพากลับไปเยี่ยมบ้าน หลักสูตรที่ต้องเรียนคือ หกเดือน แต่หากใครมีแววก็จะข้ามชั้นไปเรียนระดับหัวหน้างาน หรือ ซุปเปอร์ไวเซอร์อีกหกเดือน และหากเก่งยิ่งกว่านั้นก็จะไปเรียนในระดับคิวซีหรือควบคุมคุณภาพ
ฉันถามเด็ก ๆ ว่าความฝันของพวกเธอคืออะไร ส่วนหนึ่งก็คืออยากมีงานดี ๆ ทำ อีกส่วนหนึ่งบอกว่า อยากไปทำงานเมืองไทย ทำงานที่ญี่ปุ่น ป่อยยย….เพราะฟังแล้วก็เดาได้ว่า ทิศทางของเด็ก ๆ จะไปจบที่ไหน ฉันกับปานจิก็เลยคุยถึงปัญหาการค้าเด็ก บอกว่า ไม่ใช่ผู้ใหญ่ทุกคนจะใจดีเหมือนคุณดามาริสหรือปานจิ มีผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งคอยจ้องเอาเปรียบพวกเด็กหญิง ดังนั้นขอให้ระวังตัว ขอให้ตั้งใจเรียนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันตัวเอง
ที่จริงเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะสู้กับกระแสการค้าเนื้อสด เพราะผลตอบแทนนั้นเย้ายวน ทำให้เด็ก ๆ และครอบครัวมองข้ามผลร้าย เนื่องจากในชีวิตของคนยากไร้นั้นเคยชินกับการถูกกดขี่ถูกเอาเปรียบสิทธิ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่คิดว่า การเอาตัวเข้าแลกเพื่อให้ได้เงินมาบรรเทาความยากจน ซื้อข้าวของที่อยากได้จะถือเป็นการถูกเอาเปรียบมากกว่าที่เคยได้รับตรงไหน รวมทั้งความรู้สึกที่อยากตอบแทนบุพการีให้ลืมตาอ้าปากได้ เป็นการยากที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจว่า การค้ามนุษย์เป็นกลไกอุบาทว์ ทำลายอนาคตเด็ก และอนาคตชาติ เสี่ยงต่อการติดโรคร้าย เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายถึงชีวิต เป็นวงจรแห่งการเอาเปรียบที่ไร้ความปรานี ทำลายศักดิ์ศรีของมนุษย์
ปานจิบอกว่า ครูพยายามชักชวนเด็ก ๆ ให้เรียนต่อ เด็กคนหนึ่งไม่เรียนต่อ แต่ตัดสินใจไปญี่ปุ่น พออีกหกเดือน เด็กกลับมาเยี่ยมโรงเรียน มีรถเก๋งคันใหม่มาอวดด้ัวย เธอลองคิดดูใจของเด็ก ๆ ที่ตั้งใจเรียนสิที่จะรู้สึกอย่างไร อย่างนี้ใครจะมีกำลังใจไปเรียน ทำงานสุจริตทั้งชีวิตก็ยังซื้อรถสักคันไม่ได้ กระแสไปญี่ปุ่นนี่ฮิตมาก นัยว่า ลูกค้าที่ญี่ปุ่นชอบเด็กเอ๊าะ ๆ พอเด็กไปทำงานได้สักหกเดือนหรือหนึ่งปี็ก็ไม่เอ๊าะแล้ว ก็จะเดินทางกลับบ้าน แล้วก็ไปทำงานเดิมในจาการ์ต้าต่อไป เหตุที่มีเด็กสาวกลับบ้านมาได้อย่างปลอดภัย พร้อมทรัพย์สินเงินทอง กลายเป็นแรงจูงใจให้เด็กสาวที่เหลืออยากไปบ้าง ไม่เห็นอันตรายอะไร
ฉันมองเห็นความลำบากของการเปลี่ยนทัศนคติจริง ๆ เธอเอ๋ย เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา ไม่รู้อีกกี่ปีกี่ชาติ นักค้ามนุษย์จะหมดไป และเด็กๆกับครอบครัวจะมีความภูมิใจในศักดิ์ศรี มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตัว ไม่เป็นเหยื่อของวัตถุนิยมและความไม่รู้…..
คุยกับเด็ก ๆ แล้ว พวกเราก็เดินดูบริเวณศูนย์ฯ คุณดามาริสพาไปดูห้องฝึกอบรมหลาย ๆ แบบ เราเจอเด็ก ๆ ที่เพิ่งคุยกับเราด้วย กำลังทำงานกันอยู่ สถานที่กว้างขวาง สวยงาม ตึกรามต่าง ๆ ทันสมัย ห้องพักเด็กจะมีชื่อเมืองใหญ่ ๆ ในยุโรป เป็นตัวแทนของชาติที่ให้เงินบริจาคกับการก่อสร้างต่าง ๆ
พวกเราลาคุณดามาริส ซึ่งขอให้ฉันส่งสูตรต้มยำกุ้งกับมันสำปะหลังเชื่อมไปให้ แล้วก็เดินทางกลับ ปานจิพาฉันแวะ Factory Outlet ไปดูเสื้อผ้าสวย ๆ ถูก ๆ แต่ฉันไม่ค่อยอยากซื้ออะไรแล้ว เพราะเมื่อวานก็ขนซื้อผ้าบาติกมากมาย เกรงจะน้ำหนักเกิน เลยไปนั่งกินข้าวผัดปลาเค็มคนเดียว รอปานจิ เสร็จแล้วก็เดินทางกลับจาการ์ต้ากัน
เราแวะไปที่สำนักงาน ล่ำลาเพื่อนร่วมงาน ฉันเดินกลับโรงแรม แค่ข้ามถนนก็ถึง ยอมรับว่าเหนื่อยแล้ว หลังจากเดินทางสามประเทศ สามอาทิตย์ ยังเหลืออีกสองประเทศคือ ศรีลังกา กับเมืองไทย ที่ต้องดูงานอีก
คอฉันยังเจ็บอยู่ ฉันไปซื้อชา่มะขามมากินเอง แต่คราวนี้ไ่ม่ถูกใจเหมือนที่สปาแห่งนั้น เพราะมันหวานมากไป แล้วก็ระคายคอ ก็เลยดื่มไปแค่ถ้วยเดียว แล้วเปลี่ยนไปดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำชาฝรั่งใส่มะนาวน้ำผึ้งแทน
คืนนี้ปานจิไม่ได้มาชวนทานข้าวเย็น ฉันก็เลยไปทานอาหารญี่ปุ่นอีกแล้ว ไม่รู้เป็นยังไง คงเป็นเพราะโรงแรมนี้มีลูกค้าญี่ปุ่นเยอะ อาหารญี่ปุ่นอร่อยดี อยู่เจนีวาไม่ค่อยได้กิน เพราะมันแพง ที่โรงแรมนี้ราคาถูกกว่ากับกรุงเทพฯ
กินข้าวเสร็จก็แพ็คกระเป๋าเตรียมเดินทาง ในกระเป๋าฉันมีมะม่วงของปานจิหนึ่งกล่อง หนักสักสี่ห้ากิโลได้ ฉันก็เอาใส่กระเป๋าทั้งกล่องกระดาษนั่นแหละ มะม่วงจะได้ไม่ช้ำ พิศดูแล้วคิดว่ากระเป๋าคงหนักเกินยี่สิบกิโล
ตอนเช้าฉันทำตัวตามสบายเพราะเป็นวันเดินทาง ไม่ได้ทำงานอะไร แต่กินข้าวสาย ๆ พร้อมน้ำชาบีบมะนาวใส่น้ำผึ้ง พอสายแก่ ๆ ปานจิก็มารับ พาไปสนามบิน คุยกันไป จนส่งฉันเข้าสนามบิน
สนามบินที่นี่สวย ทันสมัยเหมือนกรุงเทพฯ แต่เล็กกว่าหน่อย ฉันชอบงานบาติคและงานไม้ที่ประดับตามที่ต่าง ๆ ผ้าบาติคก็สวยมาก เห็นแล้วอยากซื้อไปทุกอย่าง ว่าแล้วฉันก็เดินเข้าร้านเครื่องสานจากลำบอก ได้ที่รองจานสานวงรีมาหกอัน และถาดสานอีกหนึ่งถาด แบกหนักเอี้ยดเสียเธอ
แล้วก็กระเตงขึ้นเครื่องบิน พะรุงพะรังซ้ายขวา ทั้งกระเป๋าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คด้วย บินสามชั่วโมงก็ลัดฟ้าถึงกรุงเทพฯตอนเย็น ๆ ต้องไปเข้าคิวรอแท้กซี่เสียนาน จะไปลิมูซีนก็แพงจับใจ เพราะฉันจะไปแค่แจ้งวัฒนะใกล้ ๆ เอง
เที่ยวนี้กลับถึงเมืองไทยอย่างเหน็ดเหนื่อย ได้คอเจ็บมาเป็นของแถม
พรุ่งนี้ฉันจะได้เจอกับเธอแล้วสิ แม่ต้อยตีวิด ดีใจจังเลย ขอกระพือปีก
แม่นกเจนีวาในกรุงเทพฯ