ผู้ประกอบการเยอรมัน

ความเสมอภาคเจ้าของบริษัทกับพนักงาน
คนไทยเรียกเจ้านาย-ลูกน้อง

(ขออนุญาตแชร์จากเพื่อนสะใภ้เยอรมันท่านหนึ่ง ซึ่งขอสงวนชื่อไว้เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว)

ความเสมอภาคในโลกของการทำงาน

ที่ยุโรปนับว่าช่องว่างระหว่างเจ้านายเเละลูกน้องน้อยมาก ทุกคนเสมอภาคกันไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งอะไร สามารถออกความคิดเห็นถูกผิดได้ทุกเรื่องไม่ต้องกลัวว่าใครใหญ่กว่าใครหรือใครจะไล่ออก เพราะมีกฏหมายคุ้มครองไม่สามารถไล่ออกได้ง่าย ๆ

ทุกคนทำหน้าที่ตามตำแหน่งของตนไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องส่วนตัวของใคร ทำงานเสร็จกลับบ้าน เวลามีงานปาตี้ในโรงงาน ก็ไม่มีการเเยกโต้ะประธาน วีไอพี อะไรพิเศษ เจ้าของโรงงานและครอบครัว ผู้จัดการ พนักงานต่างๆก็นั่งโต๊ะเก้าอี้แบบเดียวกัน อาหารเหมือนกัน เครื่องดื่มเหมือนกัน ไปเข้าคิวรับอาหารเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ

ไม่มีใครสำคัญกว่าใคร ไม่ต้องมาดูแลใครให้เสียเวลา และเสียความเป็นส่วนตัว แต่ละคนอาหาร เครื่องดื่มที่เอามาก็ทานจนหมดจานไม่มีใครกินทิ้งกินขว้างให้เหลือติดจาน

ในวันงานจะมีการพาลูกเมียเข้าชมในส่วนต่างๆของบริษัท เพื่อให้รู้ว่าสามีหรือพ่อมาทำงานอะไร บริษัทผลิตอะไร มีกระบวนการอย่างไร ซึ่งปกติจะเป็นความลับบริษัท เปิดให้เข้าชมเฉพาะคนในครอบครัวของพนักงานเท่านั้น

บริษัทนี้ดีตรงมีห้องทีวีพักผ่อนขนาดใหญ่ มีห้องอาบน้ำ ห้องนอนพักสำหรับคนเลิกกะแล้วยังไม่อยากกลับบ้าน มีอาหารเที่ยงและเครื่องดื่มให้ ทานฟรี นับว่าสวัสดิการดีมาก และหากคุณอยู่ฝ่ายบริหารคุณจะได้ส่วนเเบ่งจากกำไรบริษัท เป็นคนละกี่เปอร์เซ็นต์ขึ้นอยู่กับความสามารถ เจ้าของแฟร์มากๆ นับว่าใครได้เข้ามาแล้วไม่อยากออกไปอยู่ที่อื่นเลย

เจ้าของโรงงานและลูกสาวเข้าคิวรับอาหารเหมือนคนอื่นๆ แต่สิ่งที่เราอยากเล่านั้น เป็นเรื่องของเจ้าของโรงงานแห่งนี้

ความมีน้ำใจของผู้ประกอบการเยอรมัน

วันนี้มีโอกาสไปงานปาร์ตี้ประจำปีของโรงงานแห่งหนึ่ง มีแขกมาหลายร้อย เพราะ สามโรงงานมารวมกัน ทุกคนพาครอบครัวมาด้วย มีอาหารหลากหลายให้เลือกกินแบบบุฟเฟต์ เครื่องดื่ม เหล้าเบียร์แชมเปญเเละเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบชงเหมือนในผับ ทุกอย่างกินฟรีไม่มีจำกัด มีเครื่องเล่นสำหรับเด็กๆงานเริ่มบ่ายสามจนถึงสี่ทุ่ม ก็ไม่เห็นคนเมาแบบอ้วกแตก อาละวาด ทุกคนดื่มและสนุกสนาน

มาปีนี้ เห็นพนักงานหลายคนพาเด็กอาฟริกาอายุราว ๆ 6-12 ปีติดสอยห้อยตามมาด้วยหลายครอบครัว สอบถามไปได้ความมาว่า เขาพากันไปรับเด็ก ๆ ชาวอาฟริกามาเป็นลูกบุญธรรม เพราะมัวแต่ทำงานจนลืมคิดเรื่องมีลูก

ส่วนเจ้าของโรงงานเองก็แสนจะใจดี จัดตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้าเเละด้อยโอกาสทางภาคเหนือของประเทศไทย มีเด็กร้อยกว่าคน ส่งเงินไปให้ปีละหลายล้านบาท สร้างศูนย์เด็ก ซื้อรถยนต์ให้เพื่อไว้รับส่งเด็กในศูนย์ เเละรับเป็นลูกอุปการะอีก 13 คน ส่งเงินให้กินใช้และเรียนจนจบมหาวิทยาลัย และปีที่ผ่านมาแกก็ให้เงินเราไปบริจาคโรงเรียนปีละ 30,000 €

โดยในทุก ๆ ปีคุณลุงจะไปประเทศไทย ปีละสองครั้ง ครั้งละหนึ่งเดือน อยู่กินนอนใช้ชีวิตกับเด็กๆในศูนย์ เวลาทานอาหารก็จะไปเข้าคิวกินอาหารแบบเดียวกันกับเด็ก ๆ นับว่าแกมีความผูกพันธ์กับประเทศไทยอย่างมาก

ถ้าไม่เห็นกับตาคงไม่เชื่อว่า คุณลุงเป็นเจ้าของบริษัท 3 แห่ง แต่ละแห่งมีเครื่องจักรมากมายและมีมูลค่าสูง บริษัทแกผลิตชิ้นส่วนต่างๆให้รถยนต์ยี่ห้อดังหลายยี่ห้อ เเละชิ้นส่วนเล็กๆให้บริษัทใหญ่ๆดังๆหลายเเห่งเช่น ซีเมนต์ มีดสวินลิ้ง มีด วูดทอป ล้อกระเป๋ารีมูว่า และอีกหลายแบรนด์ ส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก

แต่คุณลุงเจ้าของบริษัทใช้ชีวิตแบบธรรมดามาก ๆ รถยนต์แกก็ธรรมด๊า ธรรมดา ขับรถเอง ที่บ้านเเกก็ธรรมดา ไม่แตกต่างจากคนอื่นมากมาย มองไม่ออกว่าเป็นเจ้าของกิจการ

ซึ่งคนยุโรปส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนี้ แม้จะรวยแต่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และเมื่อสบายเเล้วก็อยากจะแบ่งปันถึงคนอื่นที่ยังยากไร้โดยเฉพาะเด็กๆ นับว่าคุณลุงก็เป็นหนึ่งในการช่วยเหลือสนับสนุนเด็กๆในประเทศไทย

เป็นเรื่องน่าภูมิใจมาก ๆ ค่ะ