ห้าถิ่นแผ่นดินงาม 2

ตอน : เยือนถิ่นบังคลาฯ – เหยียบธากา (หนึ่ง)

แม่ต้อยตีวิดที่รักยิ่ง

เย้ ในที่สุดฉันก็ลากสังขารมาถึงประเทศที่ขึ้นชื่อว่ายากจนมาก ๆ ของโลก และอาจจะเป็นหนึ่งในประเทศจนที่สุดในเอเชีย

สายการบินไทยทำหน้าที่ยอดเยี่ยม สะดวกสบายตลอดการเดินทางสามชั่วโมง อาการปวดหัวตุบ ๆ ของฉันยังคงอยู่ระหว่างเดินทาง แต่ไม่เป็นอุปสรรคมากมาย

สำหรับฉันนี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาเยือนประเทศนี้ ดังนั้นทุกอย่างจึงเป็นเรื่องแปลกใหม่และตื่นเต้น คิดดูนะแม่ต้อยฯ ฉันอยู่เจนีวา ชีวิตสุดแสนจะสงบ ราบเรียบ อบอุ่น การจราจรไม่เคยติดขัด บ้านเมืองมีระเบียบวินัย สะอาด สวยงาม (แต่ก็แพงสุด ๆ) แล้วอยู่ ๆ ก็มาถึงประเทศที่ “ไม่น่าเชื่อ (incredible)” ในหลาย ๆ อย่าง หัวใจของฉันมันก็เกิดอาการสูบฉีดโลหิตแรงขึ้นด้วยความตื่นเต้น ทำเอาอาการปวดหัวตุบ ๆ หายไปโดยไม่รู้ตัว

ก่อนจะเล่าต่อ ให้ฉันเอาความรู้รอบโต๊ะของประเทศนี้มาขยายให้เธอฟังสักนิด
– เมืองหลวงคือ ธากา เมืองท่าคือ จิตตะกอง (ใกล้พม่า) และมองคลา
– ชายแดนติดต่ออินเดียและพม่า
– พื้นที่ ๑๔๔๐๐๐ ตารางกิโลเมตร (หนึ่งในสามของเมืองไทย) เป็นผืนน้ำเสีย ๑๐๐๐๐ กว่า ตร กม
– พื้นที่หนึ่งในสามของประเทศถูกน้ำท่วมทุกปี
– ประชากร ๑๓๐ ล้านคน (สองเท่าเมืองไทย)
– ภาษาเบงกาลีเป็นภาษาหลัก และภาษาอังกฤษเป็นภาษารอง
– ระบบการปกครองประชาธิปไตย
– ประชากรนับถือศาสนาอิสลาม ๘๓% ฮินดู ๑๖% พุทธ คริสต์และอื่น ๆ รวมกันประมาณ ๑%
– การศึกษาชั้นประถาม ๕ ปี ชั้นมัธยมต้น ๕ ปี และ มัธยมปลาย ๒ ปี
– อัตราการรู้หนังสือ ๔๓% (ซึ่งถือว่าประเมินสูงกว่าความเป็นจริง)ในกลุ่มประชากรอายุสูงกว่า ๑๕ ปี โดย ๕๓% เป็นชาย ๓๑% เป็นหญิง (หายไปไหน ๑๖% ก็ไม่รู้นิ)
– ประชากร ๘๐% อยู่ในชนบท และ ๖๐% หาเลี้ยงชีพจากการเกษตร อาหารหลักคือข้าวกับปลา (เข้าท่ามาก เหมือนอาหารหลักบ้านเราเลย)
– ผู้ชายบ้านนอกใส่โสร่งกับเสื้อในชนบท ผู้ชายในเมืองใส่เสื้อกับกางเกงขายาว ผู้หญิงใส่สาหรี
– ผลไม้หลัก คือมะม่วง ขนุน ฝรั่ง ลิ้นจี่ แตงโม กล้วย สับปะรด ส้ม และมะพร้าว
– รายได้ประชาชาติต่อหัว ๒๐๐๐ ดอลล่าร์ต่อปี (ของไทยเรา ๘๑๐๐ ดอลล่าร์ต่อหัวต่อปี มากกว่ากันสี่เท่า)

ปัญหาสำคัญของประเทศนี้ คือ ผู้คนขาดที่ดินทำกิน (ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน) ที่ดินทำกินถูกน้ำท่วมบ่อย มีโรคที่มากับน้ำ น้ำเสียจากการใช้ยาฆ่าแมลง น้ำใต้ดินได้รับมลพิษ แห้งแล้งเป็นบางช่วงของปีในตอนเหนือและกลางประเทศ (ไกลปากน้ำ) ดินเสื่อมและดินพังทลาย ป่าไม้ถูกทำลาย และประชากรล้นประเทศ (คิดดูนะเธอ เนื้อที่แค่หนึ่งในสามของเรา แต่มีประชากรสองเท่า)

ในส่วนงานที่ฉันไปดูคือ เด็ก ๆ และครอบครัวยากจนทำให้ขาดโอกาสในการเรียนหนังสือ เมื่อไม่รู้หนังสือก้ถูกหลอกได้ง่าย ผู้หญิงมีฐานะทางสังคมต่ำ ทำงานนอกบ้านไม่ได้ ขาดรายได้ขาดอำนาจต่อรอง ผู้ชายเองก็ใช่ว่าจะมีงานทำ ดังนั้นหาอะไรได้ก็ต้องเอา เด็ก ๆ ต้องไปหางานทำในเมือง ถูกหลอกไปขายบริการ หรือใช้งานเยี่ยงทาส หรือถูกลักพาตัวข้ามชายแดน

แต่ประเทศนี้เองก็เป็นที่ที่โครงการเงินกู้ยืมขนาดเล็กเบิกบาน มีกรามีนแบ้งก์ (Grameen Bank) ที่ขึ้นชื่อ (คล้าย ๆ ธนาคารเพื่อการเกษตรของเรา แต่เน้นคนจน คนไม่รู้หนังสือ สตรี) มีเอ็นจีโอใหญ่ที่สุดในโลกชื่อ BRAC – Bangladesh Rural Advancement Committee ที่รู้เรื่องนี้ เพราะฉันเขียนเปเป้อร์เรื่องหน่วยงานนี้ตอนเรียนหลักสูตรปริญญาเอกพาร์ทไทม์ (ฉันป่าวเป็นด้อกเตอร์แข่งกับคุณพิลกริม คุณโพเคอิลเล่ คุณแสนรัก คุณละอองฝน คุณกางเขนดง คุณโดโรธี เขานา….ฉันยังห่างไกลตกขอบอยู่จ้า)

และประเทศนี้มีคนรวยที่รวยมาก ๆ จากการกว้านซื้อที่ดิน รวบธุรกิจต่าง ๆ ไว้ในมือ ทั้งการเกษตร (เลี้ยงกุ้งส่งออก ข้าวส่งออก ผักผลไม้ส่งออก) และอุตสาหกรรมเบา (ผลิตเสื้อผ้าส่งออก ปอส่งออก) และมีรัฐบาลที่ขึ้นชื่อในเรื่องคอร์รัปชั่น (ฟังคุ้น ๆ ไหม เธอ?) ประเทศนี้ไม่ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศยากจน ๒๐ อันดับแรกของโลก แต่ก็ถือว่าเป็นประเทศที่จนมาก ๆ ประเทศหนึ่ง (ประเทศที่ถือว่าจนที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในอาฟริกา มีรายได้ประชาชาติแค่ ๕๐๐ ดอลล่าร์ต่อหัวต่อปี ยังน้อยกว่าบังคลาเทศสี่เท่า)

เอาละ ให้ข้อมูลเธอพอหอมปากหอมคอแค่นี้ มาเล่าเรื่องเดินทางของฉันดีกว่า เธอจะได้ไม่เครียดกับข้อมูลมากเกินไป

ฉันลงเครื่องบินได้ก็ไปต่อคิวตรวจลงตราหนังสือเดินทางเพื่อเข้าประเทศ (ลืมบอกเธอไปว่า ค่าวีซ่าประเทศนี้แพ้งแพง เสียไปตั้งสองพันบาท) คิวตรวจลงตราหนังสือเดินทางยาวพอควร และเคลื่อนหน้าอย่างเชื่องช้า แต่ในที่สุดก็หลุดออกไปได้ ฉันรีบตรงไปแลกเงินก่อนอื่นใด เพราะต้องเตรียมเงินไว้จ่ายค่ารถค่ารา และทิปพนักงานโรงแรม อัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์ละเกือบเจ็ดสิบตะกะ (taka) หัวฉันก็ต้องคิดหมายเหตุเทียบเงินไทยกับเงินตะกะไว้ในใจ

พอหลุดออกมานอกตึก โอ้โฮ รถแท้กซี่ รถโรงแรมยั้วเยี้ยไปหมด เสียงบีบแตรสนั่น สนุกสนาน ฉันก็ชะเง้อคอยืดมองหาชื่อตัวเอง เพราะทางเกสต์เฮ้าส์เขาจะส่งคนมารับ มีฝรั่งผิวขาวท่าทางดีถามว่าจะไปไหน เพิ่งเคยมาหรือว่าไร ก็ตอบไปว่า จ้า แต่ฉันมีคนมารับ คุณฝรั่งคนนี้มาทำงานแบบคอนซัลแตนท์เหมือนกัน แกได้รถโรงแรมของแกก่อนก็ไปนั่งรอในรถ ส่วนฉันก็เจอกับคนมารับ ซึ่งวิ่งไปเรียกแท้กซี่ข้างนอกอีกที ฉันรอไม่นานก็ได้เดินทางออกนอกสนามบินจ้า ฉันมันก็หัวไม่ไว แทนที่จะหนีบหนุ่มฝรั่ง(ไม่น้อย)คนนี้ไปฝากเพื่อน ๆ สาวโสดบ้าง ก็ดันลืมไป ขออภัยด้วยนะเพื่อนเอ๋ย ฝากคนที่หัวไม่มีงูก็แห้วอย่างนี้แหละ

เส้นทางจากสนามบินไปที่พักเหมือนกับถนนในต่างจังหวัดบ้านเราหน่อย ๆ เป็นถนนไฮเวย์ค่อนข้างเล็ก มีรถรามากมาย ผู้คนขวักไขว่ เราใช้เวลาเกือบชั่วโมงกว่าจะถึงที่พัก เพราะรถติดแหง็กหลายแห่ง เป็นช่วงชั่วโมงเร่งด่วนกระมังนี่ ฉันสังเกตว่า พื้นถนนหนทางส่วนใหญ่ค่อนข้างอยู่ในสภาพดี ตรงข้ามกับภาพที่พ่อบ้านฉันขู่ไว้ว่าเป็นหลุมเป็นบ่อเต็มไปด้วยฝุ่น แต่พอเข้าถนนย่อย ซอยเล็กจึงเห็นว่า เออ นี่ของจริง หลุม บ่อ น้ำ โคลน ขยะ ทั้งนั้น

แม่ต้อยฯเอ๋ย การจราจรบนถนนเมืองธากานี่มันพะย่ะค่ะจริง ๆ แรกสุด คุณคนขับแท้กซี่ของฉันเขาแซงทั้งซ้ายทั้งขวาแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ช่องว่างจะเล็กหรือใหญ่เขาไม่สน เขาไปได้หมด ฉันนั่งใจหายใจคว่ำ (จนหายปวดหัวดังที่บอกไปแล้ว) ไปตลอดทาง แต่ที่นี้ มันไม่ใช่เฉพาะคุณคนขับของฉันที่ขับรถแบบนี้ แต่ทั้งถนนเลยจ้า ทั้งรถแท้กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถเมล์ รถส่วนตัว รถบรรทุกส่งของ รถโดยสารประจำทางชั้นเดียว สองชั้น (ที่สภาพโทรมสุด ๆ) รถสามล้อ หรือริกชอว์ ก็เข้ามาร่วมสังฆกรรมด้วย รวมทั้งรถจักรยาน จะมีคนข้ามถนนหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องต้องวอรี่ คนข้ามต้องระวังเอาเอง ไม่มีทางเอกทางโท ใครอยากไปก็ไป ไฟเขียวหรือแดงก็ช่าง หากติดพันแล้วต้องไป ไม่มีการหยุด แล้วเส้นแบ่งกลางถนนกับแบ่งช่องจราจรน่ะ เขาเสียเงินขีดเส้นไว้เปล่า ๆ ปลี้ ๆ แท้ ๆ เพราะฉันไม่เห็นใครเคารพเส้นเหล่านี้เลย

โอย เธอเอ๋ย กว่าจะหลุดไปถึงที่พักได้ ฉันสวดมนต์ไม่รู้กี่รอบ ตำรวจจราจรมีไม้กระบองเล็ก ๆ คอยโบกรถ ท่าทางเหน็ดเหนื่อยสิ้นหวัง เพราะคงไม่รู้ว่าจะกำกับการจราจรอย่างไร ยานพาหนะทุกชนิดต่างถาโถมออกมาบนท้องถนนเพื่อปิดช่องว่างทุกหนแห่งที่มองเห็น รถราส่วนใหญ่ต่างบุบสลายมีรอยช้ำรอบตัว มีรถใหม่ ๆ ให้เห็นเหมือนกัน (ท่าทางจะเป็นคนมีเงิน) แต่คาดว่าคงจะใหม่อยู่ได้ไม่นานหากต้องเจอการจราจรแบบนี้ทุกเมื่อเืชื่อวัน ฉันเกิดสงสัยว่ามีบริษัทประกันรถยนต์ไหนกล้ามารับประกันรถยนต์ที่ประเทศนี้บ้างไหมหนอ

นอกจากการจราจรอันโกลาหลอลหม่านแล้ว สิ่งประดับท้องถนนไม่ให้หงอยเหงาก็คือ แสงบีบแตรที่เขาจะบีบเวลาจะแซง เวลามีใครแซงสวนทางมาน่าหวาดเสียว เวลามีใครข้ามถนนตัดหน้า เวลามีรถเบียดซ้าย เวลามีรถเบียดขวา เวลารถข้างหน้าขวางทาง เวลารถข้างหน้าขับช้าแล้วไม่ให้ทาง เวลารถสามล้อถีับถลาเข้ามาในเส้นทาง เวลาเหงา ๆ ไม่มีอะไรทำ (เอ๊ย อันนี้ฉันแถมให้เอง) จนฉันเชื่อว่าถ้าคนขับรถในเมืองบังคลาฯไม่ได้บีบแตร แกคงจะขับรถไม่ออกเป็นแน่แท้

ที่พักของฉันเป็นเกสต์เฮ้าท์เล็ก ๆ คงเหมือนแถวบางลำพูบ้านเรา มีรั้วรอบขอบชิด ประตูปิดไว้ตลอด แต่มียามคอยเิปิด มีสองตึก สองชั้น บรรยากาศข้างในใช้ได้ มีสนามหญ้าตรงกลาง มีต้นไม้ใหญ่รอบ ๆ อยู่ในซอยเล็ก ๆ ไกลถนนใหญ่ (แต่ไม่ไกลเสียงแตรเลยแหละ โรบิ้น) พนักงานทั้งหมดเป็นผู้ชาย หน้าดำ ๆ ดุ ๆ แต่เวลายิ้มแล้วน่ารักทุกคน ฉันไม่คาดหวังอะไรกับห้องพักเลย (ราคาคืนละ ๓๕ ดอลล่าร์)

แต่พบว่า ห้องพักสะอาด กว้างขวาง สะดวก เตียงนอนเดี่ยวใหญ่ มีโต๊ะหวายสานสำหรับวางของ มีโต๊ะทำงานพร้อมปลั๊กไฟรางแบบรู้ใจคนทำงาน มีทีวี ตู้เย็น แอร์ติดผนัง แยกส่วนกับห้องน้ำที่กว้างขวางเหมือนกัน ปูพื้นหินขัด ที่น่าแปลกคือมีถังน้ำกับขันแบบมีหูจับให้ด้วย แต่ฉันดูแล้วเหมาะที่จะใช้ซักผ้าเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่าสะดวก สะอาด แต่ไม่หรูหรา

ทว่าเธอเอ๋ย เสียงแตรที่ลอดมาจากท้องถนนน่ะสิที่ทำให้ฉันกังวล เพราะฉันน่ะ นอนแต่ในที่สงบ ๆ (เมืองเจฯ) มานานหนักหนาแล้ว ไม่เป็นไร กัดฟันสู้เอา

ฉันไม่มีเวลาทำอะไรมากนัก เพราะต้องเดินทางไปสำนักงานโครงการฯโดยทันที คุณอะลามเจ้าของเกสต์เฮ้าท์มาแนะนำตัว แล้วพาขึ้นสามล้อถีบไปส่งที่สำนักงาน เพราะฉันยังไม่รู้จักเส้นทาง แกบอกว่า อุ๊ย ไม่ไกล สองสามนาทีก็ถึง เอาเข้าจริงก็เกือบสิบนาที เพราะรถติดแน่นหนา แม้สามล้อก็ไปเร็วไม่ได้ ฉันสังเกตว่าเมืองธากานี้ดี คือ เป็นเมืองราบ ไม่มีที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ทำให้สามล้อเป็นอาชีพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาเพราะไม่ต้องถีบขึ้นลงเนินให้เหน็ดเหนื่อยมากนัก

ห้า ห้า ห้า เธอคงถามว่า ประสบการณ์ขึ้นสามล้อเป็นอย่างไรบ้าง สามล้อเขานั้น ที่นั่งอยู่สูงกว่าบ้านเรา และสูงกว่าคนขับ ที่นั่งแคบมาก ชนิดที่นั่งสองคนแล้วต้องเบียดกัน ฉันก็ต้องเบียดกับคุณอะลามไป แล้วถนนมันก็ขรุขระเป็นหลุมเป็นร่อง กระเด้งกระดอนไป ฉันก็ต้องจับไว้กลัวตก แล้วก็กลัวไปเบียดคุณอะลามด้วย นั่งไปก็เสียวไป เพราะคุณสามล้อแกก็ถีบรถแบบเดียวกับคุณแท้กซี่ คือแทรกไปทุกที แซงไปทุกแห่ง เลี้ยวตัดหน้ารถยนต์ตามใจชอบ ทำทุกสิ่งที่ชวนให้โดนชน พ่อแก้วแม่แก้วมีกี่ชุด ฉันอัญเชิญมาคุ้มครองหมด นั่งไปก็คิดไปว่า เคยมีนักท่องเที่ยวตกสามล้อไปจูบดินบ้างไหม แต่โชคดี ที่ฉันยังไม่มีโอกาสได้เป็นข่าว เดินทางไปถึงสำนักงานด้วยความเรียบร้อย คุณอะลามไม่ยอมให้จ่ายค่ารถ บอกว่าไม่แพง ไม่กี่ตะกะ ไม่ต้องกังวล

เฮ้อ ในที่สุดฉันก็ลากสังขารไปถึงสำนักงาน เดินขึ้นบันไดสามชั้น ไปสำนักงานแรงงานเด็ก พบกับเพื่อนร่วมงาน ผู้ประสานงานกับเลขาฯ ที่นี่เลขาฯเป็นผู้ชายจ้า ผู้หญิงเขาไม่นิยมทำงานนอกบ้านกัน (แต่รีเซฟชั่นชั้นล่างกลับเป็นผู้หญิง) ผู้ประสานงาน ชื่อ มาซุด ส่วนเลขาฯชื่อ ดาส คุณดาสอายุรุ่นคุณอา (จากหน้าตา) หน้าตาย ไม่ค่อยยิ้ม ทำเอายิ้มสยามฝ่อไปพอสมควร ส่วนมาซุดค่อนข้างอินเตอร์ เคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ มีความรู้มาก เราก็คุยกันเรื่องโปรแกรมเยี่ยมโครงการ ซึ่งจะมีออกต่างจังหวัดด้วย ระหว่างนั้นก็จะมีเด็กหนุ่ม (ธุรการ) มารับออร์เดอร์ชากาแฟ เวลาฉันสั่งชา หนุ่มน้อยก็จะหยึกคอ เอียงหน้านิดนึงเป็นทำนองรับรู้

โปรแกรมวันแรกของฉันมีแค่เยี่ยมศูนย์ช่วยเหลือเด็กเหยื่อการค้ามนุษย์ (ชื่อย่อว่า NUS) ในช่วงบ่ายวันนี้เท่านั้น โดยดาสจะไปเป็นเืพื่อน เนื่องจากมาซุดติดงานสัมมนานักข่าว คุยกันในสำนักงานไม่นาน ดาสก็พาฉันไปขึ้นรถของสำนักงาน ไปส่งที่ศูนย์ฟื้้นฟูเด็กฯ ที่อยู่นอกเมือง ห่างไปสักครึ่งชั่วโมง (รถติด) คนขับรถของสำนักงานนี่ค่อยยังชั่วหน่อย ขับไม่ค่อยหวาดเสียว แต่แกก็บีบแตรไปเรื่อย ๆ และรถคันอื่น ๆ ก็มาทำให้เราตื่นเต้นได้เหมือนกัน

ศูนย์ฯที่ฉันไปเยี่ยมนี้อยู่บนชั้นห้าของตึกแถวซึ่งเป็นเหมือนแฟลตที่พักด้วย อยู่ในซอยเล็ก ๆ ค่อนข้างสงบ ชั้นล่างมียามเฝ้า เห็นมีที่นอนและมุ้งกางอยู่ คาดว่า คุณยามคงนอนเฝ้าด้วย ดาสกับฉันก็ลากสังขารขึ้นบันไดสี่ชั้น (ประเทศยากจนนะจ๊ะ ไม่มีลิฟต์) ชั้นบนมีลูกกรงเหล็กกั้นไว้ไม่ให้คนนอกที่ไม่พึงประสงค์เข้าไปในศูนย์ฯได้

ที่ศูนย์ฯนี้ฉันได้พบกับผู้อำนวยการชื่อ อะโฟรซา กับทีมงานทั้งชายหนึ่งหกเจ็ดคน มีนักสังคมสงเครา์ะห์ ครูสอนหนังสือ ครูฝึกอาชีพ เจ้าหน้าที่ด้านต่าง ๆ ทุกคนน่ารัก ยิ้มแย้มแจ่มใส หลายคนพูดภาษาอังกฤษได้ บางคนก็พูดได้นิดหน่อย คุณอะโฟรซาผูกขาดการพูดตามประสาผู้อำนวยการ เธอก็อธิบายการทำงาน ฉันก็ซักถามในส่วนที่สงสัย หลัก ๆ คือ ศูนย์ฯนี้ให้การดูแล ที่พักพิง การเยียวยา การศึกษา และฝึกอาชีพให้แก่เด็ก ๆ ที่เคยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และได้รับการช่วยเหลือโดยตำรวจหรือหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งเด็กหลายคนมีอาการบอบช้ำทั้งทางกายและใจ ต้องได้รับการบำบัดให้หายดีก่อนกลับบ้าน หรือเด็กบางคนต้องรอดำเนินคดีฟ้องร้องผู้ละเมิด ในขณะที่ช่วยเหลือเด็ก ๆ ก็มีการติดต่อหาครอบครัวเด็กไปด้วย เพราะเด็กบางคนถูกลักตัวมาไกล แม้แต่เด็กเองก็หาทางกลับบ้านไม่ถูก

คุยกันแล้วก็เดินไปดูกิจกรรมในศูนย์ฯ มีห้องเรียน ห้องพักผ่อน ห้องตัดเย็บทำงานฝีมือ ห้องนอนเด็กหญิง เด็กชาย ห้องพักเจ้าหน้าที่ ฯลฯ บรรยากาศก็สะอาด ปลอดโปร่งดี มีงานฝีมือของเด็กแสดงด้วย เด็กบางคนก็สดใส บางคนก็หมองเศร้า ทำให้เดาได้ไม่ยากว่า เด็ก ๆ เคยผ่านอะไรที่เลวร้ายมาบ้าง ฉันก็ทักทาย พูดคุย สอบถาม เล่นกับเด็ก ๆ นิดหน่อยก็ลากลับ เพราะห้าโมงกว่าแล้ว ดาสต้องกลับบ้าน รถต้องกลับสำนักงาน เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่อาจใช้เวลาได้มากกว่านี้

ดาสขอลงรถปากทางเพราะบ้านแกอยู่อีกทางหนึ่ง ส่วนฉันก็นั่งรถเข้าเมือง รถติดหนึบหนับ ทั้งรถมาก และขาดวินัยการจราจรด้วย สงสารคุณคนขับต้องกลับบ้านดึกกว่าฉัน แกไปส่งฉันลงที่ที่พักด้วยความเรียบร้อย

นี่แหละ แม่ต้อยฯจ๋า โครงการแรกที่ฉันได้เห็นในประเทศนี้ พอกลับถึงที่พัก ฉันก็ไปเมียง ๆ มอง ๆ ในห้องครัว ซึ่งอยู่ติดกับห้องพักฉัน ห้องครัวเขากว้างขวาง ดูสะอาดดี ไม่มีอะไรหมก ๆ กอง ๆ ให้น่ารังเกียจ คุณเชฟเป็นแขกผิวดำ (มีแขกบางคนผิวจะขาวกว่าและหน้าเหมือนคนจีนคนไทยนี่แหละ) ยิ้มฟันขาว ถามว่าฉันอยากทานอะไร ฉันก็ไม่รู้จะทานอะไร เขาก็เลยพาไปดูอาหารในห้องครัว อืมม์ มีแกงกะหรี่กุ้งที่เขาทำไว้ให้แขกอีกชุดหนึ่ง ฉันก็เลยสั่งอย่างเดียวกัน กับผัดผัก ข้าวเปล่าและผลไม้ อย่างอื่นไม่รู้จะสั่งอะไร เป็นการสั่งอาหารล่วงหน้าไปหนึ่งชั่วโมง แล้วฉันก็เข้าห้องไปพัก ไปนั่งเขียนบันทึกสิ่งที่ได้ไปเห็นมา

พอได้เวลาก็ไปนั่งรอที่โต๊ะกินข้าว ซึ่งก็อยู่หน้าห้องฉันอีกนั่นแหละ สักพักเขาก็เอาข้าวขาวมาวางชามใหญ่ แล้วก็ตามด้วยผัดผักกับผงกะหรี่เหลือง ๆ กับแกงกุ้งเหลือง ๆ (อย่าลืมว่าที่นี่เลี้ยงกุ้งกุลาส่งออกนอก) อีกนั่นแหละ หน้าตาน่ากิน ฉันก็ชิมอาหารบังคลาฯมื้อแรกด้วยความเต็มใจ อุแม่เจ้าเอ๋ย รสชาติน่ะโอเคจ้า ไม่มีอะไรน่ารังเกียจ หวานมันเค็มใช้ได้ (เพราะไม่คาดหวังสูง) แต่มันเผ็ดจ้าเผ็ด ตักแกงไปตักผักไปจึงเห็นพริกขี้หนูเม็ดใหญ่ทุบหยาบแทรกอยู่ในแกงในผักหลายเม็ดทีเดียว

ไอ้ฉันมันคนไทยก็จริง แต่ทานอาหารไม่ค่อยเผ็ดมาก จึงทานไม่ค่อยได้ ต้องเขี่ย ๆ เอา คุณเชฟเดินออกมาุถามว่าเป็นยังไง ฉันน้ำหูน้ำตาไหลบอกว่า อร่อยดี แต่เผ็ด พรุ่งนี้ขอไม่เผ็ดนะจ๊ะ คุณเชฟแปลกใจบอกว่า ปกติคนไทยชอบเผ็ด ๆ นี่นา ฉันก็บอกว่า ก็ไม่ใ่ช่ทุกคนหรอกจ้า

อาหารราคาแพงหรือเปล่าไม่รู้นะ แกงกะหรี่กุ้งนั้น ๒๐๐ ตะกะ (๑๒๐ บาทโดยประมาณ) แต่ผัดผักประมาณ ๓๐ บาท คิดว่าแพงเพราะราคาเดียวกับเมืองไทย น้ำขวดละ ๑๐ บาท

ที่เกสต์เฮ้าท์มีอินเตอร์เน็ทให้ใช้ ทั้งแบบ “Broad band“ กับแบบ “Dial-up” (ยุคปี 2005) ส่วนตึกที่ฉันพักนี่เป็นแบบหลัง กินข้าวเสร็จฉันเลยไปใช้เน็ตประมาณชั่วโมงนึง ส่งข่าวถึงพ่อบ้านและเพื่อนฝูง แล้วก็ส่งข่าวถึงเธอนี่แหละ เดี๋ยวฉันก็จะไปนอนแล้ว

แม่ต้อยตีวิดจ๋า ดูแล้วทริปบังคลาฯของฉันน่าจะสนุกทีเดียว

แม่นกเจนีวา

Photo by Kelly Lacy

อ่านตอนที่แล้ว

อ่านตอนต่อไป