ตอน : เยือนถิ่นบังคลาฯ – เหยียบธากา (สอง)
แม่ต้อยตีวิดที่รัก
เพื่อนของเธอผ่านพ้นวันแรกมาได้แล้ว นอนหลับเกือบเต็มอิ่ม ยกเว้นเสียงแอร์ เมื่อคืนฉันส่งข่าวถึงเธอแล้ว ก็เข้าห้องนอน ซักผ้าตากในห้องน้ำ อาบน้ำ เปิดแอร์นอน เหอ เหอ แอร์ที่ว่านี่เสียงดังกระหึ่มยิ่งกว่าโรงสีเสียอีก ฉันทนนอนอยู่แค่ครึ่งคืนก็ต้องปิดแอร์ ยอมนอนร้อน ๆ เอา เปิดพัดลมเพดาน หน้าต่างก็ไม่กล้าเปิด กลัวเสียงจากถนน
คืนแรกก็ผ่านไปดังนี้แหละ เช้านี้ฉันทานกล้วย กับมะละกอ ขนมปังปิ้ง กับน้ำชาใส่นมจ้า ไม่รู้จะสั่งอะไรทาน จะทานข้าวแต่เช้าหรือก็กระไรอยู่ ยังเข็ดแกงเผ็ด ๆ อยู่
วันนี้ฉันต้องเดินทางไปสำนักงานเอง ก็บอกให้เจ้าหน้าที่โรงแรมช่วยเรียกสามล้อให้ ให้อธิบายทางเสร็จสรรพ ปรากฏว่า ไปเส้นทางเดิม แต่มีเลี้ยวผิดอยู่ตอนหนึ่ง หลงไปไหนไม่รู้ รู้ว่าไม่ใช่แน่ ๆ ก็เลยหยุดถามคนข้างทางที่พอพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะสามล้อฉันนั่นพูดไม่ได้สักคำ คน ๆ นั้นก็อธิบายพอจะรู้เรื่อง เราก็เลี้ยวกลับไปใหม่ คราวนี้ฉันพอจำทางได้ ก็เลยไปถึงสำนักงานแบบเหงื่อตกนิด ๆ เกือบไปแล้วไหมล่ะ เบอร์โทรสำนักงานก็ลืมเอาติดมาด้วย
สิ่งนี้ทำให้ฉันนึกถึงเด็ก ๆ ที่ถูกหลอกไปต่างบ้านต่างเมือง เช่น เด็กพม่ามาเมืองไทย หรือเด็กบังคลาฯหลงไปอินเดีย ปากีสถาน พวกเขาคงรู้สึกกลัวเพราะสื่อสารกับใครไม่ได้ ความไม่รู้ภาษา(ของท้องถิ่นที่ตนไป)เพียงอย่างเดียว สามารถทำให้คนเราเสียเปรียบได้มากมาย ขนาดฉันมีความรู้ ก็ยังนึกเสียวไส้เลยว่า ถ้าหลงจริง ๆ จะพูดกับใครรู้เรื่องไหมเนี่ย ประสบการณ์ตรงนี้ทำให้ซาบซึ้งและนึกยกย่องโครงการต่าง ๆ ที่พยายามทำงานช่วยเหลือเด็กและสตรีต่างชาติที่ถูกหลอกหรือพลัดหลง
แต่ว่าเช้านี้ฉันนั่งสามล้อด้วยความทะมัดทะแมงเหมือนางพญาน้อย ๆ เชียวหล่ะ เธอเอ๋ย ค่าสามล้อจ่ายไป ๒๐ ตะกะ ประมาณ ๑๐ บาท อาการหวาดเสียวจากการจราจร หรือ traffic syndrome ของฉันหายไปแล้วจ้ะ เริ่มเคยชินกับสภาพแล้ว แม้แต่เสียงหนวกหูทั้งหลายก็กลายเป็นดนตรีบรรเลงไป ชอบไม่ชอบก็ชินไปเอง
วันนี้ดาสพาฉันนั่งแท้กซี่เล็ก หน้าตาเหมือนตุ๊กตุ๊กบ้านเรา แต่ตรงที่นั่งคนขับมีรั้วรอบขอบชิด สอบถามได้ความว่าเพื่อป้องกันไม่ให้คนขับรับคนนั่งเพิ่มเกินกำหนด จริงเท็จต้องอยู่กับผู้บอก
เราไปเยี่ยมหน่วยงานเอ็นจีโอ ชื่อ ทารังโก้ (Tarango) ที่ทำเรื่องอบรมอาชีพและทักษะการประกอบธุรกิจให้สตรียากจน โดยเฉพาะสตรีที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเดี่ยว (ไม่มีสามี หย่า ทิ้งร้าง หรือสามีตาย) ฉันได้พบกับผู้อำนวยการหญิง (อีกแล้ว) ชื่อ โคหินูร์ กับวิทยากรอาวุโส (ยังหนุ่มอยู่) ชื่อ เมือง (เหมือนคนไทยหรือพม่าแฮะ หน้าแกก็เหมือน) สองคนก็มาอธิบายงานให้ฉันฟังด้วยความฉาดฉาน
ทางโครงการอบรมสตรีหัวหน้าครอบครัวที่ว่านี้ได้สามร้อยคน มีผู้ชายติดมาสามคน ให้เงินประกอบอาชีพไปแล้ว อยู่ในช่วงติดตามผู้รับการอบรมทั้งหมดที่ตอนนี้กลายเป็นผู้ประกอบการย่อย ๆ ในชุมชนของตน
การอบรมนั้นแบ่งเป็นสามตอน คือ ตอนแรกเป็นการอบรมทักษะธุรกิจ การวางแผน การทำบัญชีเงินสดง่าย ๆ การคำนวณต้นทุนกำไร ตอนที่สองคือเลือกอาชีพจริง ออกไปสำรวจตลาด และกลับมาทบทวนอาชีพ ตอนสุดท้ายคือไปอบรมอาชีพที่เลือก เช่น เลือกทำขนม เลี้ยงไก่เลี้ยงแพะ เพาะปลูก เปิดร้านขายของ เย็บเสื้อผ้า ทำงานฝีมือสิ่งทอ ซ่อมรถสามล้อ เป็นต้น
เธอต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า สตรีและบุรุษเหล่านี้เป็นคนไม่รู้หนังสือ ดังนั้นการอบรมที่ช่วยให้คิดเงินเป็น ทำบัญชีเป็น คำนวณกำไรต้นทุนเป็น (โดยใช้รูปภาพหรือสัญญลักษณ์ช่วย) จึงถือเป็นนวัตกรรมอย่างยิ่ง เพราะมันสามารถผันเปลี่ยนชีวิตของพวกเธอและเขา จากความด้อยกว่า เป็นการช่วยตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี ในหลักสูตรนี้ จะมีแบบฝึกหัดให้หัดเขียนตัวเลขแบบบังคลาด้วย
ส่วนการให้เงินทุนนั้น เป็นเงินก้อนเล็ก ๆ แค่ ๒๕๐๐ ตะกะ ซึ่งจริง ๆ จะไม่พอเปิดกิจการหรอก ส่วนใหญ่ต้องไปหาเงินอื่นมาลงขันเพิ่ม หรือทำเล็ก ๆ ได้เงินมาก็เอามาขยายกิจการทีละน้อย ทางโครงการจะทำสัญญากับคนรับเงิน (ที่อ่านหนังสือไม่ออก) เขาจะอ่านสัญญาให้ฟัง ซึ่งในสัญญาจะไม่ได้บอกว่าเป็นเงินยืม แต่เจ้าหน้าที่โครงการแกก็จะขู่คนรับเงินว่า นี่เป็นเงินยืมนะ ต้องคืนโครงการ เหตุที่ต้องทำดังนี้เพราะหากบอกว่าให้เปล่า คนรับก็อาจจะเหลาะแหละเอาไปใช้ไม่เป็นประโยชน์ก็ได้
อย่างที่เธอก็รู้ว่า ในบังคลาเทศ โครงการเงินกู้ขนาดเล็กเพื่อคนยากจนนั้นจะเบิกบานมาก ฉันเองก็จำได้ไม่หมด โต้โผใหญ่ ๆ ก็กรามีนแบ้งก์กับองค์กรบราค ที่เคยเล่าไปแล้ว เงินกู้เหล่านี้ทำให้คนจนลืมตาอ้าปากมีงานทำ ช่วยทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนตัวไปได้ในประเทศที่แสนจนยากเช่นนี้ ส่วนใหญ่เงินกู้เหล่านี้มุ่งเน้นที่ผู้หญิง ทั้งนี้เพื่อยกระดับทางสังคมของพวกเธอ และเป็นการเพิ่มฐานกลุ่มแรงงานที่แข็งขันทางเศรษฐกิจอีกกลุ่มหนึ่งด้วย เขามีการสำรวจวิจัยแล้วว่า ผู้หญิงจะเป็นกลุ่มที่มีอัตราการชำระเงินคืนดีที่สุด คือมีความรับผิดชอบต่อเงินกู้ดี แต่ฉันจำไม่ได้ว่าเขาบอกว่า ผู้ชายทำอย่างไร
ดังนั้น จึงมีคนวิจารณ์โครงการทารังโก้นี้ว่า ให้เงินฟรี ๆ อย่างนี้จะทำให้คนรับเสียคน ไม่คิดใช้หนี้ อาจจะเอาเงินไปทำอย่างอื่น คนที่คิดโครงการให้เปล่านี้ (มาซุดกับโคหินูร์) ก็เถียงว่า ให้เปล่าดีกว่าให้กู้ เพราะเงินที่ให้นี้ก้อนเล็กมาก การบริหารเงินกู้ (ทำบัญชี ตามเรียกเก็บ) เป็นเรื่องปวดหัวไม่คุ้มค่าจ้างพนักงานเพิ่ม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโครงการกับผู้รับ กลายเป็นลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ไม่ใช่หุ้นส่วน นอกจากนั้น เงินกู้จะสร้างความเครียดให้กับผู้รับ แทนที่จะตั้งใจทำธุรกิจ ต้องมานอนก่ายหน้าผากคิดหาเงินคืนให้โครงการ แต่โครงการนี้ก็ไม่ได้ให้เปล่าแล้วทิ้งเลย แต่มีการติดตามให้กำลังใจผู้ประกอบการสตรีรายจิ๋วเหล่านี้เป็นระยะ ๆ ช่วยกันแก้ไขปัญหาอุปสรรค หรืออีกนัยหนึ่งก็ดูว่าเงินที่ให้ไปได้ใช้ประโยชน์เต็มที่
โดยทั่วไป มาซุดค่อนข้างต่อต้านความคิดเรื่องเงินกู้ เพราะทำให้คนเป็นหนี้ แต่ก็ไม่ได้ค้านว่า ไม่มีประโยชน์เสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนจากครอบครัวหนึ่งไปสู่อีกครอบครัวหนึ่งได้ไม่รู้จบ และการกู้เงินและคืนเงินได้ ถือเป็นการรู้จักบริหารการเงินด้วยอย่างหนึ่ง ไม่เช่นนั้นกรามีนแบ้งก์หรือบราคคงไม่รุ่งเรืองกลายเป็นธนาคารคนจนตัวอย่าง และเอ็นจีโอใหญ่ที่สุดในโลก (มาซุดนั่นแหละที่วิจารณ์อีกว่า สุดท้ายคนที่รวยก็คือตัวองค์การฯ จริงเท็จเธอลองพิจารณาเอานะ)
สรุปว่า แนวใครก็แนวมันจ้า
จากนั้น คุณโคหินูร์ก็เอาเอกสารต่าง ๆ มาอวด ในภาพนั่นคือ โมเดลธุรกิจ ชื่อเรียกหรู ในนั้นเต็มไปด้วยภาพ เข้าใจง่าย ฉันประทับใจกับโมเดลนี้มาก คุยกันเสร็จ คุณโคหินูร์ก็พาไปดูห้องที่ผลิตงานฝีมือต่าง ๆ ประเทศบังคลาเทศนี้ขึ้นชื่อเรื่องเครื่องสานจากปอ ที่นี่เขาทำตามออร์เดอร์ยุโรป ส่งออกไปอังกฤษกับเยอรมนีเชียวนะ เธอ มีแคตาล็อกสวยงามทีเดียว ฉันเองก็กังวลว่าจะต้องเดินทางอีกหลายประเทศก็เลยไม่ได้ซื้ออะไรมากมาย นอกจากผ้าคลุมไหล่ฝ้ายสีหวาน ๆ ผืนหนึ่งกับแฟ้มที่ทอจากปอเท่านั้นเอง
ฉันไม่ได้ใช้เวลานานที่นี่ เพราะฉันจะได้ไปดูงานของทารังโก้ในพื้นที่ด้วย แต่ถึงกระนั้นฉันก็ประทับใจกับความเป็นมืออาชีพของที่นี่ คิดดูว่า ทางโครงการฯเขาสามารถช่วยเหลือสตรียากจนกว่าหนึ่งหมื่นคน (ซึ่งไม่เกี่ยวกับโครงการส่วนที่ฉันมาดู) ให้มีอาชีพทำงานอยู่กับบ้าน ผลิตงานฝีมือจากปอ จากฝ้่าย และอื่น ๆ เพื่อส่งออกได้ สตรีเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนที่น่าพอใจ ทำให้ลืมตาอ้าปากได้ โดยไม่ต้องอพยพไปทำงานในโรงงาน คล้าย ๆ กับศิลปาชีพของเราอย่างไรอย่างนั้น เพราะงานฝีมือที่เขาผลิตนั้นต้องคุณภาพสูงระดับส่งออก ถึงอาจถือได้ว่าสตรีเหล่านี้ได้พัฒนาฝีมืออาชีพที่ไม่กระจอกเลยทีเดียวจ้า
จากนั้นดาสกับฉันก็ออกไปผจญภัยเรียกแท้กซี่น้อยกลับสำนักงาน แต่เนื่องจากเราอยู่ไกลถนนใหญ่ หาแท้กซี่ไม่ได้ เราเลยนั่งสามล้อวิ่งไปจนเจอแท้กซี่ ก็กระโดดลงจากสามล้อ ไปขึ้นแท้กซี่แทน ฉันสังเกตว่าเงินที่นี่จะเป็นแบ๊งก์เก่าบ้างใหม่บ้าง บางทีก็ยับเยินจนไม่ค่อยจะกล้าจับเท่าไร
กลับถึงสำนักงาน ฉันต้องรอพบกับมาซุดซึ่งยังไปสัมมนานักข่าวอยู่ ก็เลยควักโน้ตบุ้คมาทำงาน แต่ก็ชักหิวแล้ว ดูแล้วว่า คนที่นี่เขาห่อข้าวมากินกัน หรือไม่ก็กลับไปกินกันที่บ้าน ไม่ค่อยมีใครทานร้านอาหาร (แล้วก็ไม่ค่อยมีร้านอาหารมากนัก) เลยถามดาสว่าจะไปซื้อของกินได้ที่ไหน แกก็อึก ๆ อัก ๆ บอกจะให้เด็กไปซื้อแซนวิชไก่ให้ ฉันพิจารณาแล้ว การต้อนรับขับสู้แขกแบบบังคลาฯคงไม่อบอุ่นเท่าบ้านเราเท่าไร รวมทั้งความขี้เกรงใจแบบคนไทย ก็เลยทำให้ฉันบอกไม่เป็นไร (ไม่กล้ากินไก่ด้วย) ฉันเลยออกไปหาซื้อเองก็ได้ จะได้ผจญภัยเล็ก ๆ ไปในตัว
ว่าแล้วก็เดินออกไปนอกถนน เห็นหาบขายกล้วย กับมะละกอ ก็เล็งไว้ก่อน มีรถเข็นกาแฟเล็ก ๆ ขายของกินเล่น แต่หน้าตาไม่น่าไว้ใจ มีคาเฟ่เล็ก ๆ เดินเข้าไปมีแต่วัยรุ่นนักเรียนตรึม ไม่รู้จะสั่งอะไรกิน บรรยากาศก็ทึม ๆ ข้างใน เล็งแล้วท่าจะไม่ได้กินง่าย ก็เลยถอยออกมา
เรื่องที่ตลกคือ ฉันไม่กล้าข้ามถนนจ้า เพราะไม่รู้ว่ารถที่นี่จะหยุดหรือไม่หยุด แล้วก็ขับกันมาจากทุกทางด้วยความเร็ว ฉันยืนละล้าละลังอยู่นานกว่าจะตัดใจข้ามได้ เฮ้อ รอดชีวิตแล้วก็ไปที่แผงขายกล้วยข้างทาง ใช้ภาษามือกับคนขาย(ผู้ชาย) เสียค่ากล้วย(และคงค่าโง่ด้วย)ไป ๒๐ ตะกะ รู้สึกว่าจริง ๆ คงราคาถูกกว่านี้มาก แต่ก็ช่างมัน คนขายยิ้มน่ารักดี ท่าทางไม่ใช่ตั้งใจจะฟันลูกค้า แต่คงสนุกที่นาน ๆ มีลูกค้าเงินหนา (ตั้ง ๑๐ บาท) ผ่านมา แล้วฉันก็ซื้อมะละกออีกลูกราคา ๑๐ ตะกะ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว เดินกลับไปกินกล้วยที่สำนักงาน พอดีเด็กธุรการกลับมาแล้ว เขาก็เลยปอกมะละกอให้กิน และชงชามาให้ดื่ม
พอมาซุดกลับมาก็คุยกันนิดหน่อย แล้วนัดหมายไปขึ้นเครื่องบินวันพรุ่งนี้เพื่อเดินทางขึ้นเหนือไปเยี่ยมโครงการกันสามวันสามคืน ฉันก็นึกในใจอยากรู้ว่า พิมานแอร์ไลน์ที่นักเดินทางเขาหวาดหวั่นกันนั้น หน้าตามันจะเป็นอย่างไรหนอ พรุ่งนี้ฉันต้องขึ้นเครื่องนี้เสียด้วยสิ
ฉันลามาซุดกลับที่พักแต่หัววันเพื่อไปนั่งทำงานเท่าที่จะทำได้ ขากลับนั่งสามล้อ คนที่สำนักงานช่วยบอกสามล้อให้ว่าจะไปที่ไหน เหตุการณ์ผ่านไปด้วยดี ไม่มีหลง รู้สึกว่าโรงแรมหาง่ายกว่าสำนักงาน เออ ที่จริงที่ธากานี้มีโรงแรมใหญ่ระดับห้าดาวสองสามแห่ง แต่ราคาแพงกว่าเบี้ยเลี้ยงของฉัน ทางโครงการก็เลยจองบ้านพักนี้ให้ ซึ่งฉันก็พอใจ ยกเว้นแค่เสียงแอร์เท่านั้น เข้าใจว่าที่พักส่วนใหญ่คงจะเป็นแบบของฉัน คือเป็นเกสต์เฮ้าท์ ซุกซ่อนตามมุมต่าง ๆ ของเมือง
ฉันสังเกตว่าแขก(ซึ่งไม่ใช่แขก)ที่พักส่วนใหญ่เป็นฝรั่งทั้งหนุ่มสาวและแก่ หลายคนใส่ชุดแขกเหมาะเจาะ ส่วนฉันสาวไทยแต่งทะมัดทะแมงแบบสากล กางเกงสแล็คกับเสื้อแขนยาวหลวม ๆ ลืมบอกเธอไปว่า ก่อนออกจากเมืองไทย เพื่อนญี่ปุ่นที่เคยมาทำงานประเทศนี้เป็นปีเตือนว่า ต้องแต่งตัวรัดกุม ไม่เปิดเผยร่างกาย ไม่รัดรูป กางเกงขายาวใส่ได้ หรือกระโปรงยาว กับเสื้อแขนยาว ปิดคอ ปิดแขน ทำเอาฉันต้องแจ้นออกไปซื้อเสื้อผ้าเพิ่ม เพราะอยู่เมืองเจฯใส่แต่เสื้อยืดรัดตัวอวดพุงกลม ๆ อิอิ ดีว่าอากาศที่นี่ไม่ร้อนจัด มีฝนตกเป็นระยะ ค่อนข้างชื้น ใส่เสื้อแขนยาวก็พอทนได้
เย็นนี้ฉันได้ทานแกงปลาแบบไม่เผ็ด กับผักต้ม แล้วก็ข้าวเปล่ากับผลไม้ อาหารอย่างอื่นไม่กล้าสั่ง และฉันก็อยากทานอาหารแบบพื้นบ้านเขาจริง ๆ สองมื้อผ่านมา ฉันสังเกตว่า แกงของเขาคงจะใช้ผงกะหรี่ชนิดเดียว ผัดกับน้ำมัน ใส่หอมหน่อยนึงให้แกงมันขลุกขลิก แล้วก็ใส่เนื้อสัตว์ เช่น ปลา กุ้ง หรือไก่ (ฉันไม่ได้กินไก่ที่นี่ แต่เห็นแขกคนอื่นทาน หน้าตาน่ากินแฮะ) ส่วนผัดผักก็ใส่ผงกะหรี่อันเดียวกันนี่แหละ น่าเบื่อดีใช่ไหมเธอ แต่บอกก่อนนะว่า รสชาติไม่เลวร้าย กินกับข้าวได้พออร่อย เค็มพอดี ไม่ต้องขอเกลือเพิ่ม มาเที่ยวนี้ฉันพยายามทำตัวเหมือนนักแสวงบุญ มีอะไรให้กินก็กิน พยายามพอใจในสิ่งที่ได้รับ อีกอย่าง พอรู้ว่ามีคอเลสเตอรอลสูง ฉันก็เลยมีมานะตั้งใจทานให้น้อยลงด้วย
ขอลาไปนอนก่อนจ้า เธอที่รัก คืนนี้ฉันคงนอนหลับได้ดีกว่าคืนก่อนนะ กะว่าจะไม่เปิดแอร์นอน
แม่นกน้อยเจนีวา