ปฐมพยาบาลใจ

เกริ่นนำ

เนื่องด้วยควันหลงจากการอบรมเครือข่ายอาสาสมัครให้คำปรึกษาหญิงไทยที่แต่งงานกับคนต่างชาติ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6-10 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรม เอส ดี อเวนิว กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการอบรมด้านสุขภาพจิตต่อเนื่องครั้งที่ ๗ สำหรับอาสาสมัครเพื่อหญิงไทยและคนไทยในต่างแดน ทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข


ภาพจากการอบรมจิตอาสา โดย จ ศรแก้ว

รายงานการอบรมฉบับเต็ม คลิกที่นี่

เครือข่ายหญิงไทยในยุโรปมีความยินดีขอต่อยอดหนึ่งในหัวข้ออบรม คือเรื่อง การปฐมพยาบาลทางใจ หรือ Psychological First Aid โดยเรียกกันสั้น ๆ ว่า PFA ซึ่งเป็นทักษะที่อาสาสมัครส่วนใหญ่สามารถนำไปใช้ได้กับผู้เพิ่งประสบเหตุการณ์วิกฤติ โดยท่านไม่ต้องมีคุณสมบัติถึงขั้นนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพหรือเป็นมืออาชีพ

แน่นอนว่า ในการช่วยเหลือผู้ที่เพิ่งได้รับทุกข์และความวิปโยค ท่านจำเป็นต้องมีคุณสมบัติและเตรียมพร้อมหลายด้าน เพื่อให้ทำหน้าที่นี้ได้สมประโยชน์ของผู้ประสบทุกข์ สารสตรีฉบับนี้เสนอแนะเทคนิคและข้อควรรู้แก่ท่านเพื่อนำไปปรับใช้

สุดท้าย จิตวิญญาณที่สำคัญของอาสาสมัคร คือ ท่านต้องช่วยตัวเองได้ก่อน จึงจะช่วยผู้อื่น และเมื่อท่านเรียนรู้ที่จะรักและเคารพตัวเอง ท่านก็จะปฏิบัติต่อผู้ต้องการความช่วยเหลือด้วยทัศนคติเดียวกัน

ด้วยความปรารถนาดี

จาก กองบรรณาธิการ

PFA คืออะไร

การปฐมพยาบาลทางใจ คือการประคับประคองเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่ประสบกับความทุกข์และต้องการกำลังใจ ในลักษณะเฉพาะหน้า ซึ่งประกอบด้วยแนวทางต่อไปนี้

  • ดูแลและช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์อย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ก้าวก่ายการตัดสินใจ
  • ประเมินความต้องการและความกังวลของผู้ประสบทุกข์ร่วมกัน
  • ช่วยเรื่องปัจจัยพื้นฐาน เช่น อาหาร น้ำ ข้อมูล ที่พัก เป็นอันดับแรก
  • ปลอบใจ ทำให้ผู้ประสบทุกข์รู้สึกสงบลง รับฟังโดยไม่คะยั้นคะยอ
  • ช่วยให้เข้าถึงข้อมูล บริการ การรักษา และสวัสดิการสังคม
  • ปกป้องผู้ประสบทุกข์จากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอีก
  • ไม่ใช่การช่วยเหลือที่ต้องใช้มืออาชีพเท่านั้น
  • ไม่ใช่การให้คำปรึกษาอย่างวิชาชีพ
  • ไม่ใช่การเจาะลึกด้านจิตใจเพื่อเก็บรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  • ไม่ใช่กระบวนการให้ผู้ประสบทุกข์วิเคราะห์หรือเรียงลำดับเหตุการณ์
  • ไม่ใช่การกดดันให้ผู้ประสบทุกข์ระบายอารมณ์หรือความรู้สึกต่อเหตุการณ์

PFA ใช้เมื่อไร

การปฐมพยาบาลทางใจเหมาะสำหรับผู้ประสบทุกข์จากสถานการณ์วิกฤติ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่สมัครใจรับความช่วยเหลือ

ในกรณีที่ผู้ประสบทุกข์ยังไม่พร้อม ท่านเพียงแจ้งให้ทราบว่าท่านพร้อมช่วยเหลือเมื่อเธอหรือเขาต้องการ และท่านจะคอยอยู่ใกล้ ๆ

ภาวะวิกฤติอาจประกอบด้วยภัยธรรมชาติแบบต่าง ๆ ความรุนแรงในครอบครัว อาชญากรรมทางเพศ การค้ามนุษย์

การปฐมพยาบาลทางใจทำได้ดีที่สุดในครั้งแรกที่คุณได้พบกับผู้ประสบทุกข์อย่างรุนแรง ซึ่งมักจะเกิดในช่วงระหว่างหรือทันทีหลังเหตุการณ์ บางครั้งก็อาจใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ ในกรณีที่เหตุการณ์เกิดต่อเนื่อง และขึ้นอยู่กับขีดความรุนแรงของผลกระทบ

PFA ใช้กับใคร

ภาวะวิกฤติบางอย่างมักกระทบชุมชนในวงกว้างและหลากหลาย ซึ่งไม่ใช่ผู้ประสบภัยทุกคนจะเกิดการช็อกทางใจและต้องการความช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี ยังมีบุคคลที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษด้วยเหตุผลทางอายุ เพศ สุขภาพ ภาวะพิการ ที่ต้องการการปฐมพยาบาลทางใจเป็นพิเศษ การให้บริการจึงควรเน้นเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้

1. เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะถ้าถูกพรากจากผู้ปกครอง เช่น น้ำท่วมเด็กพลัดหลง ต้องได้รับการดูแลไม่ให้เจอกับการละเมิดหรือเอาเปรียบ และยังต้องได้รับปัจจัยพื้นฐานโดยทันทีด้วย
2. บุคคลที่มีปัญหาสุขภาพหรือความพิการทางร่างกายหรือจิตใจ จะต้องมีที่พักพิงที่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้ถูกละเมิดซ้ำ และเพื่อจะได้รับการรักษาพยาบาลและการดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงผู้สูงวัยมาก สตรีมีครรภ์ ผู้มีภาวะโรคจิต หรือผู้มีปัญหาการฟังและการมองเห็น (หูหนวก ตาบอด)
3. บุคคลที่เสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติหรือความรุนแรง เช่น สตรี ชนกลุ่มน้อย คนย้ายถิ่น

Photo credit:pexels-photo-208459.jpeg

คุณสมบัติของผู้ทำ PFA

  • มีประสบการณ์ทำงานทางสังคม เป็นอาสาสมัครที่เคยให้คำปรึกษา สามารถควบคุมรักษาอารมณ์ได้
  • พร้อมทำงานช่วยเหลือผู้อื่นในภาวะวิกฤติและทุพภิกขภัย ซึ่งมีเงื่อนไขยากลำบากหลายประการ
  • สามารถลงพื้นที่ทันทีหลังเกิดเหตุ โดยไม่สามารถกำหนดเงื่อนเวลาได้
  • เข้าใจหรือได้ศึกษาสถานการณ์วิกฤติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ทุพภิกขภัย ความรุนแรงในครอบครัว การค้ามนุษย์
  • ได้เรียนรู้วิธีทำงานในสถานการณ์วิกฤติและเข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือ(กู้ภัย)เป็นทีม
  • ไม่มีเงื่อนไขส่วนตัวและครอบครัว รวมทั้งภาวะสุขภาพ ที่จะสร้างความเครียดเพิ่มขึ้น

ทัศนคติในงาน PFA

การรับฟังผู้ประสบทุกข์อย่างจริงใจและตั้งใจ ถือเป็นหัวใจของการปฐมพยาบาลทางใจ ทั้งยังช่วยให้อีกฝ่ายสงบได้เร็ว และปูทางไปสู่การวางแผนช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
รับฟังด้วยดวงตา ›› โดยให้ความสนใจกับผู้รับคำปรึกษาอย่างมีสมาธิ
รับฟังด้วยหู ›› ได้ยินสิ่งที่อีกฝ่ายมีความกังวลห่วงใย
รับฟังด้วยหัวใจ ›› ด้วยความอาทรและด้วยความเคารพ

ท่านอาจต้องการดู คลิป “ฟังด้วยหัวใจ เป้ อารักษ์” 11.29 นาที เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น

  • ยอมรับในศักดิ์ศรี (dignity) และปฏิบัติต่ออีกฝ่ายอย่างเคารพและตามค่านิยมทางวัฒนธรรมและสังคมของอีกฝ่าย
  • คุ้มครองสิทธิ (protection) โดยช่วยให้อีกฝ่ายเข้าถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ อย่างไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
  • ช่วยเหลือ (support) ให้อีกฝ่ายเข้าถึงสิทธิที่มีอยู่ พร้อมทั้งเป็นกำลังใจและรับฟัง
  • รักษาผลประโยชน์สูงสุด (best interests) ของบุคคลที่ท่านกำลังให้บริการ

สร้างกำลังใจ

บุคคลที่ประสบทุกข์หรือเจอกับความรุนแรงมาสด ๆ ร้อน ๆ จะมีทั้งความกังวลและหวาดกลัว ท่านสามารถช่วยได้โดย

  • ปรึกษากับผู้ประสบทุกข์ว่าเขาหรือเธอต้องการอะไรเร่งด่วน แล้วจัดลำดับความสำคัญ พร้อมคิดวิธีการแก้ไข เช่น การถามว่าอีกฝ่ายต้องการทำอะไรก่อน ทำอะไรทีหลัง
  • ช่วยกันสะสางปัญหาง่าย ๆ 2-3 ปัญหาที่ทำได้ก่อน เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น และเป็นการสร้างความแข็งแกร่งในการก้าวผ่านปัญหาในภาพรวม
  • ให้คำแนะนำที่ทำได้ง่ายเพื่อให้อีกฝ่ายช่วยตัวเองได้ เช่น การไปลงทะเบียนรับบริการต่าง ๆ
  • ช่วยกันคิดว่าเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวคนไหนที่จะช่วยเหลืออีกฝ่ายได้
  • ถามอีกฝ่ายว่าเคยแก้ปัญหายาก ๆ ในอดีตอย่างไร และให้กำลังใจว่าอีกฝ่ายจะสามารถก้าวผ่านความยากลำบากในครั้งได้
  • ถามอีกฝ่ายว่าอะไรจะทำให้รู้สึกดีขึ้น โดย
  • แนะนำให้แก้ปัญหาในทางบวก (พักผ่อนให้เพียงพอ ใช้เวลากับเพื่อน ๆ ทำงานใช้แรงกายเบา ๆ เดินเล่น ร้องเพลง สวดมนต์ ดื่มน้ำ คุยกับเพื่อน ๆ)
  • หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาทางลบ (เช่น ใช้ความรุนแรง นอนทั้งวัน ละเลยสุขภาพ ไม่อาบน้ำ อดอาหาร ใช้ยาเสพติด สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ใช้แรงงานหนักเกินตัว)

บรรยากาศการอบรมจิตอาสาเรื่องการให้คำปรึกษา (ภาพโดย จ. ศรแก้ว)

DO’S & DON’TS

สิ่งที่ควรทำ (Do’s)

  • หาสถานที่เงียบ ๆ ในการพูดคุย ให้มีสิ่งรบกวนจากภายนอกน้อยที่สุด
  • เคารพความเป็นส่วนตัวและรักษาความลับของผู้ประสบทุกข์
  • นั่งใกล้ ๆ กับผู้ประสบทุกข์ แต่อย่าให้ใกล้เกินไป ต้องคำนึงถึงอายุ เพศ และวัฒนธรรมด้วย
  • แสดงให้ผู้ประสบทุกข์รู้ว่าคุณรับฟังอยู่ตลอด ด้วยการพยักหน้าหรือพูดสั้น ๆ ว่า ค่ะ ครับ อืมม์
  • อดทน และ สงบ
  • ให้ข้อเท็จจริงที่ท่านรู้ และจริงใจที่จะบอกว่าท่านรู้เรื่องไหนไม่รู้เรื่องไหน และจะหาข้อมูลให้
  • ให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน
  • รับทราบความรู้สึกของอีกฝ่ายในกรณีสูญเสียคนที่รักหรือที่อยู่อาศัย เช่น พูดว่า “เสียใจด้วยอย่างยิ่งเลยค่ะ คุณคงจะเศร้ากับเรื่องนี้มากเลยนะคะ”
  • รับทราบถึงความเข้มแข็งของอีกฝ่ายที่จะพยายามช่วยตัวเอง
  • ให้มีช่องว่างและความเงียบในระหว่างพูดคุยบ้าง

สิ่งที่ไม่ควรทำ (Don’ts)

  • แตะต้องร่างกายอีกฝ่าย โดยเฉพาะถ้าเป็นเพศตรงข้าม ถ้าไม่แน่ใจว่าควรจะทำ
  • ตัดสินการกระทำหรือความรู้สึกของอีกฝ่าย เช่น พูดว่า “คุณไม่ควรจะรู้สึกเช่นนั้น” หรือ “คุณควรจะดีใจที่รอดชีวิตมาได้” “คุณไม่น่าจะยอมให้เขาตี”
  • สร้างเรื่องที่ท่านไม่รู้จริงขึ้นมา
  • ใช้คำพูดที่เข้าใจยาก
  • เอาเรื่องคนอื่นมาเล่า
  • เล่าปัญหาของตัวท่านเอง
  • ให้คำสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ หรือรับประกันสิ่งใดที่ท่านทำไม่ได้
  • ทำตัวเหมือนกับว่าท่านสามารถแก้ปัญหาทั้งหมดให้อีกฝ่าย
  • ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอ่อนด้อยไม่มีความสามารถที่จะช่วยตัวเอง
  • พูดถึงคนอื่นในทางลบ เช่น บ้า โหดร้าย
  • ขัดจังหวะในระหว่างที่อีกฝ่ายกำลังเล่า (เช่น ดูนาฬิกา มองไปทางอื่น หรือ พูดเร็วมาก)

นักสังคมสงเคราะห์มืออาชีพ บ้านพักฉุกเฉิน (ภาพโดย จ. ศรแก้ว)
การปิดเคส

ท่านไม่สามารถอยู่กับผู้ประสบทุกข์ได้ในทุกกระบวนการของความช่วยเหลือ เนื่องจากขั้นตอนการทำงานมีมากมายและอาจจะยาวนาน ท่านต้องใช้วิจารณญาณว่าควรปิดเคสเมื่อไร โดย

  • ดูจากความต้องการของผู้ประสบทุกข์และความต้องการของตัวท่านเอง
  • หากเหมาะสม ก็ขอให้อธิบายกับผู้ประสบทุกข์ว่า ท่านหมดหน้าที่แล้ว
  • หากมีคนอื่นมารับช่วง ก็ให้แจ้งกับผู้ประสบทุกข์ว่า ใครจะมารับช่วง จะไปทำอะไรต่อ และแนะนำตัวผู้รับช่วง
  • ไม่ว่าท่านจะมีประสบการณ์กับผู้ประสบทุกข์อย่างไร (เช่น มีการโต้เถียง ใช้อารมณ์ เกิดความผิดพลาด) ขอให้ท่านกล่าวล่ำลาและอวยพรให้อีกฝ่ายประสบแต่สิ่งที่ดีต่อไป

การถอดบทเรียน

การใช้เวลาพักและไตร่ตรองหลังจากช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์มาแล้ว ถือเป็นกระบวนการสำคัญของการปฐมพยาบาลทางใจ สถานการณ์วิกฤติและความต้องการของผู้ประสบทุกข์ล้วนแตกต่างกันไป และบางครั้งก็เป็นการยากสำหรับท่านในฐานะอาสาสมัครที่จะแบกรับความรู้สึกเจ็บปวดและความทุกข์ของอีกฝ่าย ดังนั้นเมื่องานของท่านจบลง ท่านควรใช้เวลาทบทวนถอดบทเรียนเพื่อฟื้นฟูตัวเอง ดังต่อไปนี้

  • ล่าประสบการณ์ของท่านให้หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือคนสนิท ที่ท่านไว้ใจได้
  • ยอมรับและภูมิใจว่าท่านมีความสามารถช่วยคนอื่นได้ แม้ว่าจะน้อยนิดเพียงใด
  • เรียนรู้ที่จะสะท้อนและยอมรับในสิ่งที่ทำได้ดี สิ่งที่ทำได้ไม่ดี และข้อจำกัดของท่านในสถานการณ์เช่นนั้น
  • ใช้เวลาพักผ่อนและหย่อนคลายก่อนที่จะเริ่มงานชิ้นใหม่หรือรับภาระส่วนตัวในชีวิตใหม่
  • สำคัญมาก!!!!! หากท่านพบว่า หลังจากทำงานกับผู้ประสบทุกข์ไประยะหนึ่ง ตัวเองมีภาพหลอนในความคิดความทรงจำ รู้สึกกระวนกระวาย เศร้าอย่างลึกซึ้ง นอนไม่หลับ ดื่มมากขึ้น หรือเริ่มใช้ยา ท่านต้องขอความช่วยเหลือจากคนที่ท่านไว้ใจโดยทันที ยิ่งไปกว่านั้น ท่านควรเข้าพบแพทย์หรือผู้ชำนาญด้านสุขภาพจิต หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปภายในหนึ่งเดือน

จงเจริญ ศรแก้ว แปลและเรียบเรียงจาก คู่มือขององค์การอนามัยโลก WHO Psychological First Aid: Guide for Field Workers 

เครดิตภาพปก