Suffrage หมายถึง สิทธิในการออกเสียง มาจากภาษาละตินแปล เป็นอังกฤษได้ความสั้น ๆ ว่า to vote
สิทธินี้มีที่มาและมีที่ไป
เรื่องมันมี มันถึงมีเรื่อง
ปี ค.ศ 1893 Lord Glasgow ผู้ว่าราชการประเทศนิวซีแลนด์ลงนามในกฎหมายผ่านสภาให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งได้ตามกฎหมาย นับถึงปัจจุบันก็ 126 ปี
เป็นประเทศแรกในโลกที่ผู้หญิงได้รับสิทธิเท่าเทียมผู้ชายให้เลือกผู้แทนของตัวเองได้
(เมืองแม่คืออังกฤษยินยอมให้สิทธิผู้หญิงเลือกตั้ง ในปี ค.ศ. 1928 – สามสิบห้าปีตามหลังเมืองลูกที่อยู่ไกลสุดขอบฟ้า)
ปีนั้น นิวซีแลนด์มีพลเมืองตามทะเบียนสำมะโนประชากรรวมกัน เกือบเจ็ดแสนคน แบ่งเป็นชายสามแสนสี่และหญิงสามแสนต้นๆ
Kate Sheppard คือ ผู้นำคนสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิการออกเสียงของสตรีในนิวซีแลนด์
Credit: Wikipedia ของฟรีไม่มีในโลกสิทธิเลือกตั้งไม่ได้มาตามรัฐธรรมนูญ
อยากได้ต้องไขว่คว้า ต้องต่อสู้
นั่งอยู่บ้านเลี้ยงลูกทำกับข้าวไปวัน ๆ ย่อมไม่มีทางได้มา
แล้วสิทธิเลือกตั้งนั้นสำคัญไฉน
ฟังดูเผิน ๆ อาจจะนึกว่าเป็นเรื่องของผู้หญิงมีการศึกษามีฐานะอยากเป็นผู้แทนอยากท้าทายอำนาจของผู้ชาย
เนื้อแท้จริง ๆ นั้นง่าย ๆ บ้าน ๆ กว่าที่คนรุ่นเราจะคิดไปถึง
ผู้หญิงที่เป็นเมียเป็นแม่เป็นพี่สาวน้องสาวในอาณานิคมสุดขอบฟ้าสมัยนั้น ต้องการสิทธิเลือกตั้งเพื่อหาตัวแทนเข้าไปมีสิทธิออกหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายครอบครัวเท่านั้นเอง
ทุกข์ของครอบครัวในสมัยนั้นแยกแยะได้หลัก ๆ คือ
1. สุรา
2. ความรุนแรงในครอบครัว
เมืองใหม่เพิ่งตั้งตัว พลเมืองยังตั้งหลักไม่ได้ หักร้างถางพงทำไร่ไถนาเป็นงานหนัก สิ่งเร้าคือร้านเหล้าโรงเหล้าที่มีอิสระเสรีเปิดขายเปิดบริการตามใจผู้ขายผู้ซื้อ ผู้ผลิตมีอำนาจบงการกรรมการเมืองไม่ให้กำกับโรงเหล้า
ชายหนุ่มวัยทำงานหลงใหลเมรัยจนเงินค่าแรงไปไม่ถึงมือครอบครัว
เกิดการวิวาททำร้ายร่างกายลูกเมีย มีคดีเดือดร้อนรำคาญ คุณภาพชีวิตตกต่ำ
นี่คือจุดเริ่มต้นขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิง สิทธิที่จะมีผู้แทนเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงของแม่ ๆ เมีย ๆ ทั่วประเทศ ให้ผู้ชายออกกฎหมายคุ้มครองผู้หญิงและเด็ก ให้รัฐบาลจำกัดเวลาโรงเหล้า สร้างโรงเลี้ยงเด็กกำพร้าฯลฯ
สิทธิเบื้องต้นของมนุษย์ที่ควรจะมีควรจะได้เท่านั้นเอง
รายละเอียดการต่อสู้เพื่อสิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิงสุดขอบฟ้า ไม่ได้ต่อสู้โดดเดี่ยว ข่าวสารมาเรือจากอเมริกา อังกฤษ ยุโรป แลกเปลี่ยนข้อมูลจากผู้หญิงถึงผู้หญิง วิธีการต่อสู้
หนทางยาวไกล เต็มไปด้วยขวากหนามสารพัด
Toitu Museum จัดนิทรรศการสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงได้น่าชมน่าสนใจ
เวลาผ่านไปร้อยยี่สิบกว่าปี นิวซีแลนด์มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงมีความสามารถถึง 3 คนโดยไม่ได้มาเพราะมีตัวช่วยให้เป็นหุ่นเชิดแต่อย่างใด ผู้ว่าราชการประเทศก็เป็นผู้หญิง
แต่ความเสมอภาคระหว่างเพศนั้นยังไม่สมบูรณ์แบบ
ค่าแรงระหว่างหญิงและชายยังเหลื่อมล้ำ
การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป
Wichanee Ratanapan
24 January 2019
—————————————————————
บก ขอแถม
ในส่วนของประเทศไทย รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก พ.ศ. 2475 ได้ให้สิทธิแก่ชายและหญิงในการเลือกตั้ง หญิงได้รับเลือกเป็นผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกใน พ.ศ. 2478 จึงกล่าวได้ว่า ประเทศไทยให้ความเท่าเทียมกับสตรีในทางการเมืองมานานถึง 87 ปีแล้ว
Cover photo credit: NY National Archives
(หมายเหตุ ภาพปกคือม้วนฎีกาที่บันทึกลายมือชื่อของสตรีชาวนิวซีแลนด์ที่ขอมีสิทธิออกเสียง จาก Archives New Zealand Flickr account, March 24, 2015)