การจ้างงานและกฎหมายแรงงานในฮังการี
Employment and Labour Law in Hungary 2017
ทางเลือกในการจ้างงาน
สัญญาจ้างงานอาจทำได้ในรูปแบบ “สัญญาชั่วคราว” และ “สัญญาถาวรที่ไม่จำกัดเวลา”
สัญญาชั่วคราว (Fixed term employment)
ระยะเวลาสำหรับสัญญาชนิดนี้จะกำหนดตามเวลาในปฏิทินหรือโดยวิธีอื่นที่เหมาะสมก็ได้ ระยะเวลาการจ้างชั่วคราวจะต้อง “ไม่เกิน 5 ปี” ซึ่งรวมถึงการต่อสัญญาเดิมกับนายจ้างเดิม หรือการไปมีสัญญาจ้างงานแบบชั่วคราวกับที่แห่งใหม่ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 6 เดือนหลังจากสัญญากับที่ทำงานแห่งเก่าจบลง การต่อสัญญาชั่วคราวสามารถทำได้เพื่อผลประโยชน์ที่ถูกต้องชอบธรรมของนายจ้าง หรือลูกจ้างสามารถไปทำสัญญาใหม่ภายใน 6 เดือนกับนายจ้างใหม่ได้ ด้วยเหตุผลเดียวกัน
สัญญาจ้างงานแบบถาวร (Permanent employment)
หากว่าทั้งสองฝ่ายคือนายจ้างและลูกจ้าง ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจ้างงาน หรือกำหนดให้เป็น “แบบไม่จำกัดระยะเวลา (indefinite duration)” ให้ถือว่าสัญญานั้นเป็นสัญญาจ้างงานแบบไม่มีกำหนดเวลา สัญญาชนิดนี้สามารถนำไปใช้ได้กับประชากรชาวฮังกาเรียนและประชากรต่างชาติ ทั้งที่เป็นประชากรของสหภาพยุโรป (EU) และไม่ใช่ประชากรของ EU นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2009 เป็นต้นมา ประชากรในประเทศกลุ่ม EU และสมาชิกครอบครัวสามารถทำงานในประเทศฮังการีได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน (Work permits) นายจ้างต้องแจ้งจำนวนลูกจ้างที่เป็นประชากรชาว EU ต่อศูนย์การจ้างงาน (Employment Centre) ทั้งนี้เพื่อเป็นการรวบรวมสถิติ ส่วนคนต่างชาติที่ไม่ใช่ประชากร EU จะต้องมีใบอนุญาตทำงาน แต่ก็มีกรณียกเว้นอยู่บ้างจำนวนไม่มากนัก
ตามระเบียบทางการแล้ว ลูกจ้างจะต้องยื่นขอใบอนุญาตทำงาน โดยที่นายจ้างที่หวังจ้างลูกจ้างคนนั้น จะต้องแสดงให้เห็นว่าได้พยายามจ้างงานประชากรชาวฮังกาเรียนแล้ว โดยใช้บริการของศูนย์จัดหางานในการค้นหาแรงงานที่มีคุณสมบัติภายในประเทศก่อน คนต่างชาติที่ไม่ใช่ประชากรชาว EU จะเริ่มทำงานในฮังการีได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตต่าง ๆ และมีเอกสารที่ต้องใช้ในการจ้างงานครบทุกตัว นอกจากนั้น แรงงานต่างชาติยังจะต้องได้สิทธิพำนักอาศัยในประเทศฮังการีเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ ซึ่งสิทธิพำนักนี้ชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป เช่น ใบอนุญาตพำนักอาศัยเพื่อทำกิจกรรมที่เกิดรายได้ (Residence permit for gainful activity) ใบอนุญาตพำนักอาศัยเพื่อการหากิจกรรมที่เกิดรายได้ (Residence permit for purpose of gainful activity) ใบอนุญาตพำนักอาศัยสำหรับแรงงานตามฤดูกาล (Residence permit for seasonal workers).
เงื่อนไขต่ำสุดสำหรับสัญญาจ้างงาน (Minimum terms)
ในประเทศฮังการี การทำสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรถือเป็นข้อกำหนดสำคัญในการจัดจ้างงาน เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะจัดทำสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร และสัญญาจ้างงานต้องมีหัวข้อสำคัญ ๆ ตามที่กำหนด ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องเห็นชอบต่อเงื่อนไขในสัญญาทั้งสองฝ่าย ซึ่งรวมทั้ง “ค่าแรงขั้นต่ำและตำแหน่งหน้าที่การงาน” (Base wage and the position) – ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำคัญในกฎหมายแรงงานฮังกาเรียน
แต่กฎหมายไม่บังคับให้ระบุสถานที่ทำงานหรือระยะเวลาจ้างงาน หรือแม้แต่วันเริ่มงาน (เพราะถึงสัญญาจ้างงานจะไม่มีข้อความเหล่านี้กำกับก็ไม่ทำให้สัญญาหมดการบังคับใช้) หากว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้ระบุสถานที่ทำงาน ให้ถือเอาว่าสถานที่ที่ลูกจ้างทำหน้าที่ตามสัญญาจ้างงานเป็นประจำสม่ำเสมอนั้นเป็น “สถานที่ทำงาน” ไปโดยปริยาย
นอกเหนือจากข้อกำหนดหลัก ๆ ที่สำคัญและต้องมีในสัญญาจ้างงานดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทั้งสองฝ่ายอาจร่วมกันกำหนดเงื่อนไขการว่าจ้างอื่น ๆ โดยที่การกำหนดเงื่อนไขว่าจ้างนี้ จะต้องคำนึงถึงว่า เงื่อนไขนั้นจะต้องไม่เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงาน ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขและสภาพการจ้างงานขั้นต่ำไว้ การที่จะเบี่ยงเบนไปจากข้อกำหนดเหล่านี้ได้ อาจจะทำได้ หากว่าทำแล้วเป็นประโยชน์กับลูกจ้างโดยทั่วไป ในมุมของนายจ้างระดับบริหาร ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต้องตกลงเงื่อนไขการจ้างงานร่วมกัน และเงื่อนไขขั้นต่ำ (Minimum terms) ที่จะต้องทำตามกฎหมายแรงงานนั้นจะมีจำนวนน้อยข้อกว่า
ระยะเวลาทดลองงาน (Probationary period)
ในสัญญาจ้างงานของฮังการีนั้น ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจะต้องกำหนดระยะเวลาสำหรับ “การทดลองงาน (Probationary period)” ที่จะต้องไม่นานกว่า 3 เดือนนับจากวันที่เริ่มทำตามสัญญาการจ้างงาน ในกรณีที่ระยะเวลาทดลองงานสั้นกว่านั้น ทั้งสองฝ่ายอาจจะตกลงร่วมกันที่จะขยายเวลาทดลองงานได้หนึ่งครั้ง ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ระยะเวลาทดลองงานรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 3 เดือน ทั้งสองฝ่ายสามารถกำหนดระยะเวลาทดลองนี้ได้ทั้งในสัญญาที่กำหนดระยะเวลาหรือสัญญาชั่วคราว และในสัญญาจ้างงานถาวร ข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาทดลองงานจะต้องมีระบุในสัญญาจ้างงาน
การบอกเลิกการจ้างงาน (Termination of the employment)
กรณีการบอกเลิกสัญญาจ้างงานนั้นขึ้นอยู่กับเจตนารมย์ของแต่ละฝ่าย และจะต้องมีการแสดงความจำนงค์ของฝ่ายหนึ่งเป็นอย่างน้อย หรือต้องมีการแสดงความจำนงค์ของทั้งสองฝ่าย ในกรณีที่จำเป็น การเลิกสัญญาเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาและจะไม่มีช่องว่างให้มีการเบี่ยงเบนไปจากกฎหมายพื้นฐาน การเลิกจ้างงานในประเทศฮังการี ทำได้ 3 แบบคือ แบบที่หนึ่ง โดยความเห็นชอบร่วมกัน (Mutual consent) แบบที่สอง โดยลายลักษณ์อักษรหรือยื่นโนติ๊ส (Notice) และแบบที่สาม โดยการให้ออกโดยไม่มีการเตือน (Dismissal without notice)
การเลิกสัญญาโดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร (Termination by notice)
การจ้างงานสามารถสิ้นสุดลงได้ด้วยการยื่นโนติ๊สโดยฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้าง และหากมีการตกลงกันทั้งสองฝ่าย การสิ้นสุดของการจ้างงานโดยยื่นโนติ๊สจะต้องอยู่ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่ได้รับการว่าจ้างเป็นวันแรก ในกรณีนายจ้างเป็นคนบอกเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องระบุสาเหตุของการเลิกจ้างอย่างชัดเจน และระยะเวลาก่อนให้ออกตามโนติ๊สคือ 30 วัน ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายยุติการจ้างงาน ระยะเวลาให้ออกตามโนติ๊สสามารถขยายออกไปได้ดังต่อไปนี้
เพิ่มอีก 5 วันในกรณีลูกจ้างทำงานมาแล้ว 3 ปี
เพิ่มอีก 15 วันในกรณีลูกจ้างทำงานมาแล้ว 5 ปี
เพิ่มอีก 20 วันในกรณีลูกจ้างทำงานมาแล้ว 8 ปี
เพิ่มอีก 25 วันในกรณีลูกจ้างทำงานมาแล้ว 10 ปี
เพิ่มอีก 30 วันในกรณีลูกจ้างทำงานมาแล้ว 15 ปี
เพิ่มอีก 40 วันในกรณีลูกจ้างทำงานมาแล้ว 18 ปี
เพิ่มอีก 60 วันในกรณีที่ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีแล้วเป็นต้นไป
หากทั้งสองฝ่ายนายจ้างลูกจ้างเห็นพ้องต้องการ ก็สามารถขยายระยะเวลาการให้ผลของการสิ้นสุดสัญญาตามโนติ๊สยาวได้ไปถึง 6 เดือน แต่สำหรับโนติ๊สที่ยกเลิกสัญญาจ้างงานแบบชั่วคราวจะต้องไม่นานเกินกว่าระยะเวลาในตัวสัญญาจ้างงานนั้น
การเลิกจ้างงานโดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย (Termination by mutual consent)
การบอกเลิกจ้างด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายนั้นไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนระบุไว้ในกฎหมายแรงงานฮังกาเรียน การบอกเลิกสัญญาแบบนี้ทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันได้อย่างอิสระว่าจะมีเงื่อนไขการเลิกสัญญาอย่างไรบ้าง
การบอกเลิกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า (Dismisall without notice)
การบอกเลิกโดยไม่ยื่นโนติ๊สให้นายจ้างหรือลูกจ้างรับทราบ อาจจะทำได้ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำการดังต่อไปนี้
ตั้งใจ หรือ ละเลยหละหลวมอย่างร้ายแรงที่ทำให้เกิดการละเมิดข้อผูกพันที่มีต่อกันตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างงาน หรือ
กระทำในสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจ้างงานนั้นได้อีกต่อไป
สิทธิในการเลิกจ้างโดยไม่มีการเตือนหรือไม่มีโนติ๊สจะทำได้ภายในระยะเวลา 15 วันหลังจากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทราบถึงสาเหตุที่จะเป็นการละเมิดเงื่อนไขการจ้างงาน และไม่ว่าในกรณีใด จะต้องอยู่ในช่วงเวลาไม่เกิน 1 ปีนับจากเหตุอันเป็นการละเมิดเงื่อนไขการจ้างงานนั้นได้เกิดขึ้น หรือในกรณีของการทำความผิดทางอาญาก็จะนับจากขณะที่เหตุละเมิดนั้นได้เกิดขึ้น และหากตัวแทนฝ่ายนายจ้างเป็นผู้ใช้สิทธิในการบอกเลิกจ้างโดยไม่มีโนติ๊ส วันที่ตัวแทนนั้นทราบถึงเหตุอันเป็นการละเมิดข้อสัญญา จะนับวันที่ตัวแทนที่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดข้อสัญญาที่เป็นเหตุให้ต้องบอกเลิกการจ้างงาน ในกรณีบอกเลิกจ้างโดยไม่มีโนติ๊ส หน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงจะถือเป็นของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
การประกันสังคมและภาษีรายได้ (Social contributions and income tax)
นายจ้างในประเทศฮังการีจะต้องจ่ายภาษีและเงินนำส่งโดยใช้ฐานเงินเดือนก่อนหักภาษีของลูกจ้างดังต่อไปนี้
ภาษีสังคม (Social contribution tax) : ลูกจ้างไม่ต้องจ่าย นายจ้างจ่าย 22.0 %
ภาษีอาชีวะ (Vocational contribution) : ลูกจ้างไม่ต้องจ่าย นายจ้างจ่าย 1.5 %
ภาษีรายได้ส่วนบุคคล (Personal income tax) : ลูกจ้างจ่าย 15.0 % นายจ้างไม่ต้องจ่าย
เงินสำรองเลี้ยงชีพ (Pension contribution) : ลูกจ้างจ่าย 10.0 % นายจ้างไม่ต้องจ่าย
เงินประกันสังคม (Social security contribution) : ลูกจ้างจ่าย 7.0 % นายจ้างไม่ต้องจ่าย
เงินจ้างงาน (Employment contribution) : ลูกจ้างจ่าย 1.5 % นายจ้างไม่ต้องจ่าย
รวมทั้งสิ้น : ลูกจ้างจ่าย 33.5 % นายจ้างจ่าย 23.5 %
เวลาทำงานและวันหยุด (Working time and vacation)
จำนวนชั่วโมงทำงานสำหรับงานเต็มเวลาในแต่ละวันคือ 8 ชั่วโมง (เวลาทำงานปกติ) และจำนวนวันทำงานต่อหนึ่งอาทิตย์ คือ 5 วัน ระยะเวลาทำงานในแต่ละวันจะปรับลดลงหรือปรับขึ้นก็ได้ ตามแต่ที่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกัน การทำงานในแต่ละวันจะกำหนดได้สูงสุดไม่เกิน 12 ชั่วโมงสำหรับลูกจ้างที่เป็นตัวสำรองแทนงาน หรือลูกจ้างที่เป็นญาติกับนายจ้างหรือเป็นเจ้าของกิจการเอง
ลูกจ้างในฮังการีจะได้รับวันหยุดพักผ่อน 2 วันต่อสัปดาห์ ในกรณีที่การทำงานเป็นแบบไม่สม่ำเสมอ การกำหนดวันหยุดงานก็อาจเป็นแบบไม่สม่ำเสมอได้เช่นกัน แทนที่จะใช้วันหยุดเป็นรายสัปดาห์ ลูกจ้างอาจจะได้รับเวลาหยุดงานติดต่อกัน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แทน
การทำงานล่วงเวลา (Overtime)
ในกรณีของการจ้างงานเต็มเวลา ลูกจ้างจะได้รับอนุญาตให้ทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 250 ชั่วโมงในหนึ่งปีปฏิทิน การทำงานล่วงเวลาต้องมีแจ้งไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หากมีการร้องขอโดยลูกจ้าง
วันหยุดพักผ่อน (Vacation time)
จำนวนวันหยุดพักผ่อนคือ 20 วันทำงาน คนงานจะได้รับวันหยุดพักผ่อนเพิ่มเติมจาก 1 วัน ถึง 10 วัน ขึ้นอยู่กับอายุของลูกจ้างและเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างอาจได้รับวันหยุดเพื่อลาป่วยเป็นเวลา 15 วันต่อปีปฏิทินสำหรับในช่วงระยะเวลาที่ลูกจ้างไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
วันหยุดที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (Unpaid leave)
วันหยุดที่ไม่ได้รับค่าจ้างคือวันหยุดพักผ่อนที่ไม่ได้นับเป็นวันจ้างงาน ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ลูกจ้างอาจจะได้รับ แต่ไม่ได้เป็นข้อกำหนดตามกฎหมายฮังกาเรียน ลูกจ้างอาจจะขอลาหยุดพิเศษโดยไม่ขอรับค่าจ้าง โดยเขียนคำขอเป็นลายลักษณ์อักษร ยื่นให้นายจ้างอย่างน้อย 15 วันล่วงหน้า
ลูกจ้างจะมีสิทธิขอหยุดพักผ่อนโดยไม่ได้รับค่าจ้างได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
เพื่อไปเลี้ยงบุตร จนกว่าบุตรจะอายุครบ 3 ขวบ
หากบุตรมีอายุเกิน 3 ขวบ ลูกจ้างอาจขอลาหยุดโดยไม่ได้ค่าจ้างเพื่อไปเลี้ยงบุตรจนอายุ 10 ขวบ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มีเงินช่วยเหลือบุตร
เพื่อไปทำหน้าที่ด้านการทหารรับใช้ชาติด้วยความสมัครใจ
นอกเหนือเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นแล้ว นายจ้างและลูกจ้างยังสามารถตกลงร่วมกันได้ว่าจะให้มีการลาหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างในกรณีอื่น ๆ แต่กรณีเหล่านั้นจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานฮังการี
สิทธิประโยชน์ทั่วไปของลูกจ้าง (Most common employee benefits)
สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของลูกจ้างนั้นเป็นไปตามระบบของฮังการี สิทธิประโยชน์หลายอย่างมีเพื่อช่วยเกื้อกูล มีเพื่อเป็นสวัสดิการ หรือมีเพื่อเหตุผลทางสังคม และเป็นเรื่องปกติที่นายจ้างจะส่งเงินสมทบกองทุนส่วนหนึ่งให้กับลูกจ้าง เช่น สำหรับเสื้อผ้าเครื่องแบบทำงาน นอกจากนั้นสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่นายจ้างต้องเอื้อหรือควรเอื้อให้กับลูกจ้างก็ได้แก่
สิ่งที่ต้องจัดให้ลูกจ้าง (ซึ่งต้องทำเหมือนกันสำหรับลูกจ้างทุกคน เช่น คูปองอาหารจำนวน 10.000 HUF ต่อลูกจ้างหนึ่งคนต่อเดือน)
สิ่งที่จัดให้ลูกจ้างตามสมัครใจ (โดยนายจ้างเลือกสิทธิประโยชน์นี้ได้จากรายงานสิทธิประโยชน์ที่อยู่ในกรอบที่กำหนดไว้) – ระบบที่เลือกเอาได้นี้ เรียกว่า “ระบบคาเฟทีเรีย (Cafeteria system)”
สิทธิประโยชน์ที่ใช้มากที่สุดในฮังการี (Most common benefits in Hungary)
คูปองที่เรียกว่า Erzsébet voucher (สำหรับช่วยเรื่องวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร) คูปองสำหรับเริ่มเรียนหนังสือ คูปองสำหรับงานวัฒนธรรม คูปองของขวัญ
บัตร SZÉP Card ซึ่งมี 3 ช่อง แต่ละช่องนำไปใช้ได้ในสถานที่ที่รับบัตรเหล่านี้ (เช่น มื้ออาหารที่ภัตตาคาร ที่พัก งานวัฒนธรรม)
ตั๋วเดินทางประจำฤดูกาลสำหรับใช้รถโดยสารขนส่งมวลชน
บัตรกองทุนรักษาสุขภาพ (Health Care Fund Card)
การเพิ่มเติมในเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
บทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับการทำงานชั่วคราว (Temporary work – General aspects)
การเรียกมาทำงาน (Call for work)
นายจ้างอาจจะจัดจ้างคนทำงานบางเวลา หรืองานพาร์ทไทม์ มาเพื่อทำงานชิ้นหนึ่ง ๆ ให้แล้วเสร็จ โดยระยะเวลาอาจจะอยู่ที่ 6 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำงานนั้น ๆ ระยะเวลาทำงานรวมจะต้องไม่เกิน 4 เดือน
การจ้างงานแบบง่าย ๆ และ ชั่วครั้งชั่วคราว (Simplified employment and occasional work)
การจ้างงานแบบนี้เป็นไปตามประกาศคุณสมบัติเฉพาะโดยนายจ้าง งานชนิดนี้จะอนุญาตให้เฉพาะลูกจ้างที่ไม่ใช่ประชากร EU เช่น ในงานเกษตรเฉพาะฤดูกาล จำนวนของลูกจ้างในลักษณะการทำงานเช่นนี้จะถูกกำหนดโดยเคร่งครัดโดยกฎหมายแรงงาน การจ้างงานนี้ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน แม้ว่าแต่ละฝ่ายทำสัญญาจ้างงานมากกว่าหนึ่งครั้ง
การทำงานชั่วคราวกับเอเยนซี่ (Temporary agency work)
การทำงานเช่นนี้หมายความว่า ลูกจ้างจะได้รับการจัดจ้างจากนายหน้าจัดหางานให้ไปทำงานกับสถานประกอบการที่ต้องการแรงงานชั่วคราว โดยจะต้องมีสัญญาจ้างงานระหว่างลูกจ้างและสำนักจัดหางาน ระยะเวลาที่กำหนดให้ทำงานจะไม่เกิน 5 ปี รวมทั้งระยะเวลาที่มีการต่ออายุการจ้างงาน หรือการจ้างงานกลับเข้ามาภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหลังจากการจ้างงานครั้งก่อน
การส่งลูกจ้างไปทำงานที่อื่น (Posting of employees)
นายจ้างอาจส่งลูกจ้างไปทำงานหรือไปสถานที่ทำงานอื่น ๆ ได้เป็นการชั่วคราว ซึ่งไม่ใช่งานหรือสถานที่เดียวกับที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างงาน หรือส่งต่อให้นายจ้างคนอื่นก็ได้ ระยะเวลาการจ้างงานเช่นนี้จะต้องไม่เกินจำนวนวันทำงานร่วม 44 วัน หรือ ชั่วโมงทำงาน 352 ชั่วโมง ต่อรอบปีปฏิทิน การส่งลูกจ้างไปประจำหน้าที่ที่อื่นเช่นนี้จะทำได้ในกรณีที่ลูกจ้างเริ่มงานในระหว่างปีนั้น ในกรณีที่เป็นสัญญาจ้างงานแบบกำหนดระยะเวลาหรือในกรณีของการจ้างงานรายวันแบบไม่ประจำ หรืองานพาร์ทไทม์ ลูกจ้างที่ถูกส่งไปประจำหน้าที่อื่นจะต้องได้รับแจ้งว่าจะต้องทำไปงานนั้น ๆ นานเท่าไร ในบางกรณี กฎหมายแรงงานฮังกาเรียนจะกำหนดไม่ให้มีการส่งลูกจ้างไปทำงานที่อื่นโดยลูกจ้างไม่ยินยอมด้วย
กฎหมายและบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง (Overview of applicable legislation)
Act I of 2012 on the Labour Code;
Act CLV of 2011 on Vocational Training Contributions and Support for the Development of Training Programs;
Act LXXX of 1997 on the Eligibility for Social Security Benefits and Private Pensions and the Funding for These Services;
Act LXXXI of 1997 on Social Security Pension Benefits;
Act LXXXII of 1997 on Private Pensions and Private Pension Funds;
Act LXXXIII of 1997 on the Services of the Compulsory Health Insurance System;
Act CXVII of 1995 on Personal Income Tax,
Act LXXV of 2010 on Simplified employment and occasional work relationships
แหล่งข้อมูล: https://accace.com/wp-content/uploads/2017/02/2017-Labour-Law-and-Employment-Hungary-EN.pdf
Photo credit: ภาพธงชาติฮังกาเรียน