**ขอชี้แจง – ท่านผู้อ่านอาจตีประเด็นของบทความต่างกันไป… ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจที่จะมองเมียต่างชาติและครอบครัวของพวกเธอในด้านลบหรือมีอคติใด ๆ และผู้เขียนไม่ได้มีประสบการณ์เลวร้ายกับตัวเองต่อครอบครัวหรือเพื่อนฝูงขนาดนั้น
…. สะใภ้ต่างแดนเจอกับปัญหาเหล่านี้มีมากพอสมควร อาจจะไม่ใช่ทุกคน สิ่งที่บทความต้องการสื่อถึงคือ “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า รัก จากคนไทยที่เมืองไทย มันเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้เราทุกคนทางนี้ต่อสู้”
Laddawan Thelin สะใภ้นอร์เวย์
แต่ถ้าสิ่งเล็ก ๆ นี้ต้องแสดงออกด้วยเงิน ของใช้ฟุ่มเฟือย เงินใช้หนี้ เงินซื้อผ่อนรถ เงินปลูกบ้าน ค่าเล่าเรียนหลาน ๆ โขยงใหญ่ หรือการเลี้ยงดูปูเสื่อที่ไม่มีวันเลิกรา…เมียต่างชาติจะเอาพลังที่ไหนมาต่อสู้
…เพื่อนมาเล่าว่า โทรไปบ้านทีไร คนนั้นจะเอาทีวีใหม่ หลานคนนี้ขอรถมอเตอร์ไซด์ น้องคนนี้ขอไอโฟนรุ่นล่าสุด….บ้างก็มาแอดด์ มาทักในเฟส แล้วก็ขอโน่นขอนี่… ถ้าให้ไม่ได้ ก็บอกว่าไปขอผัวฝรั่งสิ… ผัวรวยไม่ใช่หรือ
ทัศนะเอาแต่ได้ ไม่เห็นใจคนอื่น ทั้ง ๆ ที่เป็นคนในครอบครัวแท้ ๆ … เป็นความช้ำใจของหญิงไทยในต่างแดนจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงอยากสื่อสารประสบการณ์ที่ได้ยินมาและเสนอแง่คิดในฐานะหญิงไทยไกลบ้านคนหนึ่ง
….สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก….
….หลังจากการกลับเมืองไทย อันไวดั่งสายฟ้าแลบ กระเป๋าก็เบาปานสายฟ้าฟาดเช่นกัน อันไทยแลนด์เมืองแห่งรอยยิ้มนั้น ขาไปก็ยิ้ม ขามานั้นเกือบร้องไห้ เพราะใช้เงินเพลินมือไปหน่อย คนที่ไม่เคยใช้ชีวิตต่างแดนมักจะไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำไมคนที่กลับไปเยี่ยมภูมิลำเนานั้นต้องใช้เงินอย่างกับสามล้อถูกหวย…
แต่ความเป็นจริงนั้นพวกเราจำใจต้องใช้เงินเพื่อซื้อความสุขและสะดวกสบาย อยู่เมืองนอกคอกฝรั่งมันลำบากมาก อยากกินอะไรก็ไม่ได้กิน อยากไปไหนก็ไม่ได้ไป ใช้เงินต้องคิดหลายตลบ
Photo credit: https://www.pexels.com/photo/100-euro-63635/
เพราะอะไรนะหรือ? เสื้อผ้าที่โน่นไม่ได้ซื้อครั้งเดียวใส่ได้ 4 ฤดูกาลเหมือนเมืองไทย หน้าปากซอยไม่มีข้าวจานเดียวหรือก๋วยเตี๋ยวเรือให้ใส่ปากเวลาหิว ไม่มีแม้แต่ข้าวกระเพราไข่ดาวจาก ไม่มี 7-11 ทุก ๆ 200 เมตรเหมือนบ้านเรา…การจ่ายกับข้าวที่เมืองนอกครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาท นับชิ้นได้และกินได้ไม่ถึง 3 วัน…
ยิ่งมีลูกเด็กเล็กแดง ยิ่งดราม่าเยอะ ไหนจะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าประกัน ค่าหมอ ค่ายา ครีมทาหนังหน้า ของใช้รายวันจิปาถะ ที่นี่เด็ก ๆ มีสังคม มีจัดวันเกิดทุกคน ถ้าในชั้นเรียนมี 20 คน ก็ต้องไปให้ครบตามบัตรเชิญ ของขวัญไม่ต่ำกว่า 500 บาทต่อคน คิดไปว่าปีหนึ่ง ๆ ต้องควักเท่าไหร่? ไหนจะช่วงเทศกาลโน่นนี่ ยิ่งคริสมาสต์ คือเทศกาลหมดตูด ดูดจนเลือดแห้ง …
… เมืองไทยคือสวรรค์ดี ๆ นี่เอง
แต่ก็ทำให้ลืมไปว่านรกมีจริง
….เมื่อกลับเมืองไทยแต่ละที ชาวไทยต่างแดนต้องควักจ่ายรอบด้าน ใครต่อใครกินจนอิ่ม คนสนิทบ้างไม่สนิทบ้าง เพื่อนของเพื่อนติดสอยห้อยมากินด้วย คนมาจากเมืองนอกต้องจ่าย เหมือนเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว
คือ จริง ๆ พวกเราชินกับการเป็นฝรั่งกัน ชินกับความเสมอภาค สมการหารครึ่ง หารสาม หารสี่ ที่นี่เคร่งครัดมาก ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน พ่อแม่ไม่เอาเปรียบลูก พี่น้องเพื่อนพ้องไม่เอาเปรียบกัน ต้องไปแบบ “กูจ่าย มึงจ่าย” ส่วนระบบ “กูกิน มึงจ่าย” น้อยมากที่ปรากฏให้ได้เห็นในสังคมตะวันตก
…ด้วยความอดอยากของคนไกลบ้าน กอปรกับความลำบาก พอกลับเมืองสรรค์ก็อยากสรรค์หาความสุขใส่ตัว แต่กระนั้นคำว่า “การหาความสุขใส่ตัวเอง (ลูกผัว) ด้วย” มันเหมือนความเห็นแก่ตัว เพราะต้องมีพ่อแม่พี่น้องลูกหลานเหลนที่อยากมีความสุขร่วม ขนกันไปเหนือลงใต้ ใครควักกระเป๋า? หนีไม่พ้นคนมาไกลเช่นเดิม
ลองไปมีความสุขแบบตัวใครตัวมันดูสิ ก็ต้องแบกภาระบาปในใจหนักอึ้ง เพราะการกินดีอยู่ดีแบบหาความสุขใส่เฉพาะตัวและลูกผัวนั้น จะถูกตราหน้าว่า เป็นคนอกตัญญู ไม่รู้คุณ ไม่ตอบแทนบุญคุณ หยิ่ง ไม่เอาพี่ไม่เอาน้องบ้าง วัวลืมตีนบ้าง คางคกขึ้นวอบ้าง เมียฝรั่งเว่อร์บ้าง สารพัดคำที่คนจะสรรหามาติดหลังให้…
…มันคงเป็นค่านิยม หรือไม่ก็เป็นวัฒนธรรมในสังคมไทยไปแล้ว ที่มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นเพื่อน บางคนก็ไม่อยากกลับไปเยี่ยมบ้าน ลำพังค่าตั๋วเครื่องบินมันพอมีกำลัง ค่ากินอยู่พ่อแม่ลูกพอมีปัญญา แต่ความจริงมันฉายภาพอยู่ต่อหน้าว่าอะไรบ้างที่ต้องรับผิดชอบ!
แม้อยู่กันคนละครึ่งโลกก็ยังต้องทำตัวเหมือนธนาคารโลกและนายอำเภออยู่ตลอด เสียงตามสายบอกเงินไม่มี ภาระหนี้ครอบครัว คนนี้ป่วย คนนี้ตายลูกเด็กเล็กแดงคนนี้ คนนั้นเรียนบ้าง เมียฝรั่งยิ่งกว่านักสังคมสงเคราะห์ เวลาจะเอาเดี๋ยวนี้ตอนนี้ ไม่มีต้องหา ต้องรับรู้ตามใบแจ้งหนี้
Photo credit: https://www.pexels.com/photo/adult-building-business-clean-209271/
… ความจริงของชีวิต คือคนไกลบ้านต้องปากกัดตีนถีบ พอ ๆ กับคนที่เมืองไทย แม้จะเป็นดินแดนแห่งสิทธิเสรีภาพ แต่ฝรั่งมองเราเหมือนพวกพม่า พวกต่างด้าว ต้องก้มหน้าทำงานที่ฝรั่งเขาไม่อยากทำกัน บ้างต้องคอยมาเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวคนป่วยคนแก่ ทั้งที่กับบุพการียังไม่เคยปฏิบัติ บ้างต้องมาล้างส้วม เช็ดถู วัน ๆ อยู่กับพื้น อยู่กับห้องน้ำไม่รู้กี่สิบห้องต่อวัน ทำซ้ำๆ เป็น 10 ปี 20 ปี อย่างที่ตนไม่มีทางเลือก เพราะต้องคำนึงถึงรายได้ที่ต้องเลี้ยงชีพของคนทางนี้และคนทางโน้น
พอกลับบ้านต้องสร้างภาพยิ่งกว่าเศรษฐินีประจำจังหวัด ทองกี่เส้น ผ่อนรายเดือนมาใส่ บ้านกี่หลังต้องเก็บเงินมาปลูก มันต้องใหญ่โต เพื่อหน้าตาของคนในวงตระกูล เพื่อรักษาเกียรติของตน แค่เป็นเมียฝรั่งคนก็ดูถูกเพ่งเล็งอยู่แล้ว ไหนจะต้องมาแข่งบุญแข่งวาสนากันระหว่างเมียฝรั่งด้วยกันอีก
สังคมเมียฝรั่งก็ใช่ย่อย “ใครดีกว่าใครไปไม่ได้”
เส้นกราฟความอิจฉามันพุ่งสูงอย่างดุเดือด น่ากลัวมากกว่าที่คิด…ใครไม่สัมผัสจะไม่รู้เลย !
….ได้ผัวรวยคนก็สรรเสริญ “วาสนามันดี” พอได้ผัวจนคนก็ว่า “เมียฝรั่งขี้นก” รวยหรือจน ต้องทนหามาให้ได้เพื่อส่งเสียเลี้ยงดูพ่อแม่พี่น้องญาติโคตรเหง้าจะได้สบาย… พอลำบากมาจะบากหน้ากลับไปพึ่งใครก็ไม่ได้ พอท่อน้ำเลี้ยงขาด ก็ดิ้นกันยิ่งกว่าฝูงปลากระดี่ขาดน้ำ
… “โธ่!! จ่ายแค่นี้ขนหน้าแข้งไม่ร่วงหรอกมั้ง” คนสิ้นคิดมักง่าย ก็มักคิดเอาแต่ได้เป็นนิสัย… “ค่าเงินเมืองนอกแพง”
คนอยู่เมืองนอกกินหญ้าแทนข้าวหรือไง?
… ที่เมืองนอก ระบบต่าง ๆ คงไม่ต่างกันมาก ดังนั้นแต่ละคนจะรู้ว่าคนอื่นระดับขั้นเงินเดือนเริ่มแรกได้ขั้นต้นเท่าไหร่ นับไป 0-5 ปี, 6-10 ปี ไปเรื่อยตามนั้น แต่ละปีกว่าจะขึ้นทีละนิดเดียว แต่ค่าครองชีพมันพุ่งพรวดไปเร็วกว่านั้น
… ระดับเงินเดือนให้ตามอาชีพและการศึกษา และต้องตรงกับสายงานด้วย เช่น จบปริญญาสาขาการตลาด มาถูพื้นขัดส้วม ก็ได้เงินเดือนเท่ากับจบ ป. 6 แต่ถ้าจบปริญญาด้านทำความสะอาดอุตสาหกรรมมา ก็จะได้เป็นหัวหน้าหรือวิทยากรในด้านที่เรียนมา เป็นต้น
… รายได้ต่อเดือนหรือพูดง่าย ๆ คือ เงินเดือน ถ้าพูดเป็นเงินไทยก็แสนบาทขึ้น แต่ที่เมืองนอกมันคือแสนสาหัส 100,000 บาทจ่ายภาษีรายได้ 36-40% ก็เท่ากับว่ารายได้แสนหนึ่ง หลังหักภาษีก็เข้ากระเป๋าไปหกหมื่นบาท … ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน มันมีราคากลาง แค่ราคา 25,000 บาท หาเอาเถอะ หืดแทบขึ้นคอ
หักแล้วเดือนหนึ่ง ๆ เหลือเท่าไหร่? สมการง่ายที่ ๆ เด็กประถมสองยังตีโจทย์แตก คิดดูว่าฝรั่งที่ทำงานเป็นวิศวกรตามวุฒิการศึกษา มีประสบการณ์ 40 ปี เงินเดือนโดยประมาณ 290,000 บาท แต่จ่ายภาษีรายได้ 40% หักค่าผ่อนบ้าน ค่าน้ำมัน ค่าเสื่อมราคารถ ค่าเสื่อมราคาบ้าน ค่าโน่นนี่อีกจิปาถะ
… แล้วพวกต่างด้าวอย่างเรา ๆ ล่ะ มีวุฒิอะไรมาบ้าง มีประสบการณ์ตรงกับสายงานไหม ภาษาระดับไหน…. ก็คิดดูว่า งานมันหายากกว่าที่เมืองไทยหรือเปล่า ในขณะที่เมืองไทย อะไรก็เป็นเงินเป็นทอง …เส้นผมบังภูเขา จริง ๆ
… บ้างไม่มีความรู้ติดตัวมาเพราะความจน เพราะด้อยซึ่งโอกาส เพราะความเสียสละอันยิ่งใหญ่ให้คนข้างหลังได้เล่าเรียน ได้มีกิน … แต่ภาระที่แบกนั้นมันไม่สิ้นสุด เพราะความเคยตัวของคนที่ “คาดหวัง” ว่าจะมีคนป้อนใส่ปากอยู่เสมอ
… สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก
มันเป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับคนไทยไกลบ้าน ความห่วงใยที่มีต่อลูกหลานจากคนที่เมืองไทยมันคือกำลังอันสำคัญในการต่อสู้อุปสรรคทั้งปวง
Photo credit: https://www.pexels.com/photo/four-people-walking-while-holding-each-others-arms-1282267/
ความรักของคนในสายเลือดคือภูมิคุ้มกัน
… แค่ต่อสู้กับโลกเมืองนอก มันก็หนักพอแล้ว ต้องมาต่อสู้กับความรู้สึกของคนในครอบครัวอีก เชื่อหลายคนที่ผ่านเข้ามาอ่านต้องเคยผ่านความรู้สึกนี้…
…..อยู่เมืองนอกต้องขยัน ต้องอดทน ต้องอึดยิ่งกว่าผู้ชายบางคนที่เมืองไทยด้วยซ้ำ หนักก็เอาเบาต้องสู้ หาเงินได้แต่ได้ใช้ทีปีละหน ความรู้ที่มีมาสูงแค่ไหนก็แพ้โอกาสและโชค! ที่นี่ทุกคนตีนเทียมกัน ความเป็นสิทธิความเป็นคนมีเท่ากัน แต่โอกาสที่ได้มามันต่างกัน วาสนาต่างกัน…
… อย่ายัดเยียดความเป็นปลิงให้กับคนต่างแดน มันลำบากใจมากที่ต้องมาดูดเลือดของคนที่ขึ้นชื่อว่า “ผัว” เพื่อจะเอาเลือดนั้นไปเลี้ยงคนตีนครบ มือครบ…….
.. ส่วนคนต่างแดนที่ชีวิตดีดี๊ก็ดีไป แต่จงจำไว้ว่า ระดับตีนเท่ากันทุกคน อย่าเหยียบย่ำคนอื่นให้จมดินเพื่อตัวเองจะได้ดูสูงเด่นกว่าคนอื่น”
ณ กระท่อมรจนาปลายทะเล
บก. ขอให้ความเห็น
โพสต์นี้ได้รับการแชร์อย่างถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ในเว็บไซต์ของเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป คงจะไม่มีคำใดเหมาะกว่า “โดนใจ” สำหรับอธิบายกระแสบอกต่อ ส่งต่อ ราวน้ำหลากขนาดนี้
เป็นการ “โดนใจ” กับประเด็นที่ลัดดาวัลย์หยิบยกมาเล่าสู่ “โดนใจ” กับลักษณะตัดพ้อแบบ “แบหัวใจ” เว้ากันซื่อ ๆ พร้อมขอความเห็นใจ ความรัก ความห่วงใย ความเข้าใจจากคนทางบ้านในเมืองไทยในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่เป็นของบาดใจ โดยไม่ลืมหยอดลูกเล่น หยิกแกมหยอก เจ็บนิด ๆ คันหน่อย ๆ แบบลูกทุ่งแถมไปด้วย
ลัดดาวัลย์ปอกเปลือกความในใจหญิงไทยเมียฝรั่งจำนวนหนึ่ง (มากหรือน้อย เราไม่มีสถิติ) และให้ความคิดเห็นอย่างซื่อตรง
เธอเพียงขอ “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก” เท่านั้นเอง
วันที่ 28 กันยายน 2018
Photo credit: https://www.pexels.com/photo/beautiful-blur-fashion-female-210628/