ดูต้นก่อน “ดูไบ”

ชื่อบทความนี้สะกดไม่ผิดหรอกนะคะท่าน…

ต้นไม้มักต้องมีใบ มีดอก ต้นไม้บางประเภทก็มีแต่ลำต้น ต้นไม้บางต้น ใบจะสวยงาม แต่จะสวยงามได้ ก็ต้องมีลำต้นที่แข็งแรง เปรียบเสมือนเมืองที่สวยงาม ไม่ใช่สวยแค่ตึกรามบ้านช่อง แต่ต้องมีองค์ประกอบทั้งผู้คน อากาศและต่าง ๆ อีกมากมาย เปรียบเหมือน “ดูไบ” ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งในประเทศยูเออี

ประเทศยูเออี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates) มีทั้งหมด ด้วยกัน 7 รัฐ คือ Abu Dhabi, Ajman, Sharjah, Dubai, Fujairah, Ras-Al-Khaimanh, Umm-Al-Quwain โดยมีอาบูดาบีเป็นเมืองหลวง แต่หลายคนคงเคยได้ยินแต่ชื่ออาบูดาบี และดูไบเท่านั้น โดยเฉพาะดูไบที่เริ่มโด่งดังภายในเวลาไม่นานมานี้เอง รวมทั้งคนไทยในยุโรปที่ใช้สายการบินแห่งชาติของดูไบ และบินผ่านดูไบเพื่อเปลี่ยนเครื่องกลับไปยังประเทศไทยของเรา

ตัวฉันเองก็ใช้การบินนี้มาหลายปี ผ่านดูไบมานับครั้งไม่ถ้วน แถมมีเพื่อนเก่าที่อยู่และทำงานที่ดูไบมาเกือบ 30 ปี แต่ก็ยังไม่เคยมีอะไรไปกระตุ้นต่อมอยากเที่ยว ยังไม่มีความคิดที่จะแวะเที่ยวดูเมืองดูไบแห่งนี้ จนได้ฤกษ์เบิกชัยจากกลุ่มเพื่อนเก่านักเรียนอินเดียด้วยกันว่า เราจะไปเยี่ยมเจ๊ออมเพื่อนซี้ของเราเสียที

แวบแรกที่ออกตัวอาคารในจากสนามบิน แม่เจ้า มันช่างร้อนเหลือ นี่ขนาดเดือนพฤศจิกายนนะ สนามบินที่เราคาดว่าจะอยู่นอกเมือง กลับกลายเป็นในเมือง เลยไปถึงอพาร์ตเม้นท์ของเพื่อนภายในเวลาไม่ถึงยี่สิบนาที และในเวลาตอนกลางคืนรถไม่ติดมาก บ้านเพื่อนไม่ได้อยู่นอกเมือง แต่ก็ไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง มองจากห้องพักของเจ๊ออม มีความรู้สึกว่า เหมือนอยู่แถวเมืองทองธานีของกรุงเทพฯ เพราะมีอพาร์ตเม้นท์สร้างติด ๆ กัน อาคารไม่สูงมากนัก สร้างเป็นบล็อก ไม่มีต้นไม้ให้เห็นถึงความร่มเย็น

พอเพื่อนมากันครบทีม ก็ออกตะเวนชมเมืองดูไบ ไปไหนก็เห็นแต่ตึกสวยงาม อลังการงานสร้าง ขณะที่กำลังก่อสร้างก็อยู่อีกมากมาย เพราะการก่อสร้างที่ดูเหมือนว่าจะไม่จบไม่สิ้น

ดูไบมองบนสวยด้วยสิ่งก่อสร้างที่ทันสมัย แต่มองข้างล่างมีแต่แขก แต่เรามาเมืองแขกนี่นาจะบ่นเรื่องแขกไปทำไม คนไทยมีคำจำกัดความ “แขก” ส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็น “แขกอินเดีย” เสียหมด ในดูไบแห่งนี้ มีประชากรที่เป็นคนอินเดีย 25 เปอร์เซนต์ คนท้องถิ่นหมายถึงคนอาหรับมีเพียง 9 เปอร์เซนต์เท่านั้น นอกจากนั้น เป็นแรงงานจากประเทศบังคลาเทศ ปากีสถาน เนปาล ศรีลังกา ฟิลิปินส์ และแอฟริกา สรุปโดยรวมถึงทั้งประเทศยูเออีที่มีประชากรทั้งหมด 9.2 ล้านคน เป็นอาหรับ 1.4 ล้าน ที่เหลือคนต่างชาติ 7.8 ล้านคน*

กลายเป็นว่าคนอินเดียเป็นประชากรกลุมใหญ่ในประเทศยูเออีหรือในดูไบ ดังนั้นมองไปทางไหน ก็จะเห็นแต่แขก แขก แขก ที่ไม่ได้แต่งตัวแบบแขกอาหรับ ใส่ชุดขาว มีหนวดเครา หน้าตาหล่อชวนฝัน (นาน ๆ จะโผล่มาให้เห็นสักที แต่แขกอาหรับก็ไม่ได้มีแต่อาหรับจากดูไบ แต่อาหรับจากประเทศใกล้เคียง เช่น ซาอุดิอาระเบีย โอมาน ฯลฯ สังเกตได้จากที่คาดหัวหรือกางเกงในที่แอบใส่อยู่ข้างใน อันนี้เจ๊เขาบอกมา)

ประชากรฝ่ายหญิงก็มีเพียงแค่ 25 เปอร์เซนต์เท่านั้น (จากจำนวนพลเมืองอาหรับทั้งหมด) เท่าที่มองเห็นทั่วไป เราไม่ค่อยเห็นผู้หญิงคลุมหน้าคลุมตามาเดินถนนเท่านไหร่ ส่วนใหญ่เป็นคนเอเซีย หรือนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่เป็นผู้หญิง แม้แต่ผู้หญิงแขก (อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ) ก็ไม่ค่อยจะเห็น

เยิ่นเย้อมาพอสมควรให้ผู้อ่านเห็นภาพของสภาพบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยตึกรามใหญ่โต ขณะที่อีกภาพหนึ่งคือ บ้านชั้นเดียว ดูรกรุงรัง หรือคอนโดนอกเมืองที่สร้างติด ๆ กัน โดยไม่มีต้นไม้หรือสิ่งจรรโลงใจอื่น ๆ

ดูไบเป็นเมืองที่มีประชากรอยู่หนาแน่น มีรถยนต์มาก มีฝุ่นทรายจากทะเลทรายและจากการก่อสร้าง ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศ ไม่แพ้กรุงเทพฯเลยทีเดียว เพื่อนออมบอกว่า เด็ก ๆ ที่นี่โตขึ้นมาในตึก ในห้องแอร์ เพราะไม่มีที่จะให้เด็กออกไปเล่นข้างนอกในอากาศที่ร้อนมาก (ถึงแม้ในหน้าหนาวจะมีอุณหภูมิ 15-20 องศาก็ตาม แต่นั่นก็เป็นตอนเย็นหรือในตอนดึกเท่านั้น) รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย

คนฟิลิปปินส์ (ที่พำนักอาศัยและทำงานในดูไบ 3 เปอร์เซนต์ของประชากรเอเซีย) ได้ยึดหัวหาดการทำงานในสนามบิน และตามห้างร้านต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ชาวฟิลิปปินส์จึงมีโอกาสได้ทำงานที่นั่นมากกว่าคนไทย เพราะถ้าเป็นคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี ก็คงจะไม่อยากออกไปทำงานต่างประเทศเป็นแค่พนักงานขายของ ใช้ความรู้ภาษาหางานทำในเมืองไทยคงจะมีโอกาสดีกว่า

ดังนั้น คนไทยที่ทำไปทำงานในดูไบในปัจจุบัน จึงไปพนักนวดในร้านนวด สปา หรือในโรงแรม ถามว่าอาชีพอื่น ๆ ไม่มีหรือ ก็คงจะมีบ้าง เช่น วิศวกร หรือพนักงานสายการบิน ที่เป็นส่วนน้อย ส่วนเพื่อนของฉันที่ทำงานสำนักงานไทยในฐานะลูกจ้างท้องถิ่น (local staff) ซึ่งก็มีจำนวนอยู่ไม่กี่คน เราได้แวะเข้าไปทานอาหารไทยในศูนย์อาหารในห้างที่ดูไบ คนทำอาหารเป็นคนไทย แต่คนขายเป็นฟิลิปปินส์!!!!

ได้คุยกันกับเพื่อนจึงทราบว่า การอยู่และทำงานในดูไบไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งที่เธอก็เคยเรียนหนังสืออยู่ในอินเดียมาหลายปี ได้ประสบการณ์การอยู่เมืองแขกมาแล้ว การอยู่ดูไบก็เหมือนจะหนักกว่า เพราะมีแขกหลายเชื้อชาติ ทั้งแขกอาหรับและแขกอินเดีย ปากี บังคลาเทศ ฯลฯ โดยเฉพาะการไม่ให้เกียรติผู้หญิงนั้นดูจะเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่ อากาศก็ร้อน แถมสังคมที่นี่ก็เป็นสังคมของมนุษย์ผู้ชาย

เพื่อนบอกว่า มนุษย์แขกผู้ชายนั้นเป็นใหญ่ ไม่ให้เกียรติผู้หญิงเท่าไหร่ ไม่มีระเบียบ ไม่ยอมเข้าคิว เพราะต่างคิดว่า ฉันรวยและรวยมาก ไม่ต้องเกรงใจใคร โดยเฉพาะแขกผู้ชายเจ้าของประเทศ เธอบอกโดนเดินชนหรือรถเฉี่ยวหลายครั้ง โดยไม่เคยได้รับการขอโทษแม้แต่ครั้งเดียว

หลายคนได้เห็นจากทีวีหรืออ่านข่าวว่า คนในดูไบรวยมาก มีรถซุปเปอร์คาร์วิ่งเต็มถนน โรงแรมใหญ่โตเจ็ดแปดดาว (ทีอื่นมีห้าดาว) ผู้ชายอาหรับหล่อ ๆ สาวสวย เดินอยู่เต็ม ในความเป็นจริงอย่างที่กล่าวข้างบนแล้ว ในดูไบ มีคนพื้นเมืองอยู่ไม่กี่หยิบมือ นอกจากเป็นคนต่างชาติที่มาช่วยสร้างชาติให้

ดูไบเมื่อก่อนเป็นแค่เมืองท่า ทำประมง ทำไข่มุก จนกระทั่งมาขุดพบน้ำมันเมื่อปี ค.ศ. 1966 ทำให้ได้ลืมตาอ้าปากได้ กว่าจะทำเมืองได้พัฒนาขนาดนี้ก็ต้องผ่านอะไรมามาก

พวกเราได้ไปเที่ยวเมืองหลวงอาบูดาบี ที่อยู่ไม่ห่างจากดูไบ ขับรถไม่ถึงสองชั่วโมง บนไฮเวย์กว้างขวาง ในเมืองอาบูดาบี ไม่ได้มีตึกรามบ้านช่องใหญ่โตเหมือนดูไบ แต่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ดูน่าอยู่กว่าดูไบมาก

เราแวะไปดู Grand Mosque เป็นสุเหร่าที่สวยมาก ใหญ่โต เป็นสถานที่ที่ไม่ควรพลาดถ้าเราไปเมืองอาบูดาบี เราแวะไปดูวังเก่าที่ตอนนี้กลายเป็นโรงแรมหรู มีนักท่องเที่ยวเดินเข้าออกอยู่เต็มไปหมด มีชายหาดส่วนตัว ห้องอาหารหรูเริ่ด ห้องดื่มน้ำชา ที่เริ่มด้วยชาหรือกาแฟ (ที่อาจจะโรยผงทองคำ) ถ้วยละห้าสิบยูโร (สองพันบาท) เราไม่ได้แวะดื่มหรอกค่ะ เสียดายทอง

การมีชีวิตที่อยู่ร่วมกับประชากรแขก(ทั้งหลาย) ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะเราเป็นคนไทยที่มีความเกรงใจ การทำงานที่อาจถูกเอารัดเอาเปรียบ ในดูไบ เขาจะเริ่มทำงานกันตั้งแต่วันอาทิตย์จนถึงวันพฤหัส ส่วนวันศุกร์ วันเสาร์เป็นวันหยุดราชการ ในวันศุกร์ร้านค้าปิดทำการอย่างน้อยจนถึงเที่ยง เพราะช่วงเช้าพวกผู้ชายต้องไปสุเหร่าสวดมนต์ (นอกจากร้านค้าที่มีคนต่างชาติที่ไม่ได้เป็นมุสลิม) วันศุกร์เราผ่านเข้าในรัฐซาจาร์ ร้านรวงปิดหมด เห็นพวกผู้ชายเดินเข้าสุเหร่าหรือถือพรมกันคนละผืน

มักจะมีข่าวออกมาอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการทำงานในดูไบของคนไทยหรือหญิงไทยว่า

  • เปิดใจเหยื่อค้ากามในร้านนวดไทยในดูไบ
  • แรงงานไทยในดูไบถูกยึดพาสปอร์ต กลับไทยไม่ได้
  • แรงงานไทยไม่ได้สบายอย่างที่คิด
    ฯลฯ

ลองเปิดหาดูเถอะค่ะข่าวพวกนี้ มีให้เห็นหรืออ่านกันเยอะแยะ

บทความนี้เป็นเพียงบทความเล็ก ๆ ที่ฉันได้เขียนขึ้นหลังจากเข้าไปเที่ยวในดูไบ เห็นความงาม ความยิ่งใหญ่กับสิ่งก่อสร้างที่ถูกมนุษย์ปรุงแต่งขึ้น การถมทะเลสร้างเป็นเกาะต้นปาล์ม ปลูกบ้านขายติดชายทะเล (ด้วยราคาแพงลิ่ว) มีชายหาดขาวสะอาดที่ไม่มีความร่มรื่นของเงาไม้ การลงไปเดินชายหาดด้วยชุดอาบน้ำหรือบิกินีในหาดสาธารณะ จะถูกรุมมองด้วยสายตาจากผู้ชาย(แขก)ที่ทำให้คุณขนลุก การไปเดินตลาดที่คุณจะพบแต่พ่อค้า ไม่มีแม่ค้า (นอกจากร้านในอาคารที่จะมีคนขายเป็นคนต่างชาติ) ร้านอาหารที่คนเสริฟเป็นผู้ชายต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ฉันยังดีใจที่พบว่า ผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นคนพื้นเมืองหรือต่างชาติ ต่างมีสิทธิ์เดินถนน ด้วยชุดอะไรก็ได้ ไม่ต้องถูกบังคับให้ถูกคลุมหัว คลุมหู เหมือนในบางประเทศอื่น ๆ

ไปเถอะคะ ไปเที่ยวหรือแวะไปดูไบที่คุณจะได้เห็นว่า ความจนกับความรวยมันต่างกันแค่ไหน คนที่กลับมาจากดูไบด้วยความอิ่มเอม เพราะได้รับการบริการเต็มร้อยด้วยการจ่ายเงินเต็มที่ ช้อปปิ้งอย่างเมามัน กับคนงานที่ทำงานตากแดดร้อนด้วยอุณหภูมิเกือบห้าสิบองศา หรือหญิงไทยที่ทำงานร้านนวด (เจ้าของร้านเป็นชาวจีน) ไม่ได้ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวัน

เหรียญมีสองด้าน ต้องไปดูกันให้เห็น แต่ฉันโชคดีที่ได้ไปเห็นอีกรูปแบบหนึ่ง

ว่าแต่ว่า ดูแต่ใบนะ อย่าดูต้น….