ข้อเสนอแนะ พรบ ความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐

ข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐

โดย สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

Cover Photo Credit by RODNAE Productions

เปิดอ่าน พรบ ฉบับเต็มได้ที่นี่

๑) ช่องว่างที่ทำให้กฎหมายไม่มีผลใช้บังคับเกิดจาก การนำผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นเหตุให้ต้องดึงพนักงานสอบสวนมาเกี่ยวข้อง โดยที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ถูกฝึกมาให้เข้าใจและมีทักษะในการแก้ไขปัญหาครอบครัว จึงดำเนินการสอบสวนเช่นเดียวกับคดีอาญาทั่วไป โดยมาตรา ๘ กำหนดให้ “เมื่อมีการร้องทุกข์ภายในอายุความตามมาตรา ๗ แล้ว ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยเร็วและส่งตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว สำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่ได้ตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว….” เมื่อเป็นความผิดที่สามารถยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์ได้

การได้ตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวต้องเริ่มต้นจากการจับและควบคุมตัวแล้วพนักงานสอบสวน ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งผู้ประนีประนอมประกอบด้วยบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็นบิดามารดา ผู้ปกครอง ญาติของคู่ความหรือบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ เห็นสมควรเพื่อให้คำปรึกษา หรือช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ยอมความกัน หรืออาจมอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์ หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลใดช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ยอมความ ตามมาตรา ๑๖ โดยการนับเวลาที่จะให้ได้บันทึกข้อตกลงเบื้องต้นก่อน ๔๘ ชั่วโมงนับแต่ได้ตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง หากได้มาภายหลัง๔๘ ชั่วโมงนับแต่ได้ตัวผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวก็ไม่อาจดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว หากคู่สมรสที่ต้องการหย่าขาดจากผู้กระทำและต้องการดำเนินคดีอาญา ย่อมไม่ต้องการการไกล่เกลี่ย สำหรับผู้ต้องการอยู่ร่วมกับผู้กระทำต่อไปก็ไม่ต้องการให้มีการร้องทุกข์เพื่อนำตัวผู้กระทำเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเพราะไม่ได้เข้าใจว่า ร้องทุกข์กรณีนี้เป็นเพียงการบังคับให้ผู้กระทำต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเท่านั้น ไม่ได้ต้องการฟ้องลงโทษผู้กระทำ

ทั้งนี้แม้พนักงานสอบสวนก็ไม่คุ้นเคยต่อการใช้กฎหมายอาญา มาบังคับให้ผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการไกล่ตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งต้องมีกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนจนนำไปสู่บันทึกข้อตกลงเบื้องต้นและ หากได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวครบถ้วนแล้วจึงให้มีการยอมความ การถอนคำร้องทุกข์ หรือการถอนฟ้องตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง  ดังนั้นแม้จะได้บันทึกข้อตกลงเบื้องต้นมาแล้วพนักงานสอบสวนก็ยังไม่อาจปิดสำนวน(สอบสวน)ฟ้องหรือส่งสำนวน(สอบสวน)ฟ้องให้พนักงานอัยการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสำนวนสอบสวนคดีความรุนแรงในครอบครัวนั้นยุ่งยากกว่าการทำสำนวนสอบสวนคดีความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ และไม่ใช่คะแนนสำหรับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง พนักงานสอบสวนส่วนใหญ่และแม้แต่พนักงานสอบสวนหญิง จึงไม่ปรารถนาจะสอบสวนดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัว

๒) เสนอให้ใช้กฎหมายควบคุมพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวได้โดยตรง โดยยังคงให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีฐานะเทียบได้ไม่ต่ำกว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา ๑๐ ได้เช่นเดิม หากมีผู้พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา๕ หรือเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้พบเห็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา ๖ วรรคสอง ให้มีอำนาจกระทำการตามมาตรา ๖ วรรคสองด้วย เช่นเดียวกัน

๓) จากการขาดแคลนพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สามารถปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ อาจนำหลักการพิจารณาคดีคุ้มครองสวัสดิภาพของศาล ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยเพิ่มผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีก่อน เช่นเดียวกับมาตรา ๑๗๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยให้ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายสามารถกระทำการยื่นคำร้องแทนผู้เสียหายได้ หากผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอด้วยตนเองได้ ทั้งนี้เพื่อปิดช่องว่างความขาดแคลนพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สามารถปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรต้องกำหนดให้ศาลทำการไต่สวนโดยมิชักช้าและไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเคร่งครัด

๔) การออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ตามมาตรา ๑๐ และ ๑๑ หากมีความจำเป็นที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องต้องจ่ายทดรองไปก่อน ควรให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บคืนจากผู้กระทำได้

๕) นอกจากนั้นควรปรับแก้ความในมาตรา ๑๕ เล็กน้อยเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและผู้กระทำ ไม่ได้มีแต่ระหว่างคู่สมรสหรือคู่ครองเท่านั้น ดังนี้

มาตรา ๑๕ ไม่ว่าการพิจารณาคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลพยายามไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้บรรลุข้อตกลงปรองดองกัน โดยมุ่งถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้ ประกอบด้วย

(๑) การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

(๒) การสงวนและคุ้มครองสถานภาพของการสมรสของชายและหญิงที่สมัครใจอยู่กินกันฉันสามีภริยา หากไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสได้ ก็ให้การหย่าเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและเสียหายน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรซึ่งยังเป็นผู้เยาว์เป็นสำคัญ ทั้งนี้ให้ศาลในคดีหย่านำพยานหลักฐานและคำคู่ความจากคดีนี้ไปประกอบในสำนวนคดี

(๓) การคุ้มครองและช่วยเหลือครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ครอบครัวนั้นต้องรับผิดชอบในการดูแลให้การศึกษาแก่สมาชิกที่เป็นผู้เยาว์

(๔) มาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือบุคคลในครอบครัวให้ปรองดองกันและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกันเองและกับผู้เยาว์

๖) เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับหลักการใช้อำนาจศาล โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายอาจดำเนินการแยกออกไปตามกฎหมายอาญา จึงควรปรับแก้ความในมาตรา ๑๖ ดังนี้

มาตรา ๑๖ เพื่อประโยชน์ในการไกล่เกลี่ยในคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาล แล้วแต่กรณี อาจตั้งผู้ประนีประนอมประกอบด้วยบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งเป็นบิดามารดา ผู้ปกครอง ญาติของคู่ความหรือบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือศาลเห็นสมควรเพื่อให้คำปรึกษา หรือช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ปรองดองกัน หรืออาจมอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์ หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลใดช่วยเหลือไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ปรองดองกันก็ได้

เมื่อผู้ประนีประนอมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่งได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลแล้ว ให้รายงานผลการไกล่เกลี่ยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลแล้วแต่กรณีด้วย ในกรณีที่การไกล่เกลี่ยเป็นผลสำเร็จ บุคคลดังกล่าวจะจัดให้มีการทำสัญญาปรองดองขึ้นหรือจะขอให้เรียกคู่ความมาทำสัญญาปรองดองกันต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือศาลก็ได้

กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้จัดการไกล่เกลี่ยก่อนยื่นคำร้องต่อศาล หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงปรองดองกัน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาล เรียกคู่ความมาทำสัญญาปรองดองกันต่อหน้าศาล

ไม่ว่าสัญญาปรองดองจะทำต่อหน้าศาลหรือไม่ ให้ศาลมีอำนาจเปรียบเทียบให้คู่ความได้บรรลุข้อตกลงปรองดองกันตามมาตรา ๑๕

๗) สำหรับมาตราอื่นๆที่ขัดแย้งกับข้อเสนอแนะ ข้อ ๑) ถึง ข้อ ๔ ควรแก้ไขให้สอดคล้องกับประเด็นทั้งหมดนี้ด้วย@@@

Message us