เพื่อนบ้านสังสรรค์

ฉันอยู่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เป็นเวลาทั้งสิ้น ๑๑ ปี หลังจากมาอยู่ได้สักสี่ปี ทางการเจนีวาเขาก็มีนโยบายเพื่อนบ้านสัมพันธ์ มีโฆษณาเชิญชวนให้เพื่อนบ้านจัดปาร์ตี้กลางซอย ซอยใครซอยมัน เอาของกินมาแบ่งกัน กำหนดให้จัดทุกปี วันอังคารที่สามของเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าเป็นปลายหนาวเข้าสู่หน้าร้อนอันอบอุ่น

ฉันกับสามีก็มีโอกาสได้ไปร่วมตั้งแต่ปีแรกที่มีการจัดงาน

ปีแรก ฉันเอาก๋วยเตี๋ยวผัดไปร่วม

ปีที่สอง ฉันเอาเกี๊ยวทอดไปแจม

ปีที่สาม ฉันเอาผัดไทยอีกแล้ว

ปีที่สี่ ฉันเอาปอเปี๊ยะมังสวิรัติกับสลัดผลไม้รวม

ของกินของฉันหมดก่อนทุกปี เหมือนเพื่อนบ้านจะรู้ว่าของไทยอร่อย (แฮ่ม ชมตัวเอง) ทุกคนจะแวะมาบอกฉันว่า “มาดาม ขนมของยูอร่อยมาก ฉันได้กินไปสองชิ้นแน่ะ”

ปีแรกฉันพูดภาษาฝรั่งเศสได้เพียงเล็กน้อย ปีต่อ ๆ มาก็พูดดีขึ้นเรื่อย ๆ ปีสุดท้ายก็ยังไม่ดีที่สุด แต่ก็ถู ๆ ไถ ๆ คุยเรื่องการเมืองได้นิดหน่อย

เขาเอาเต้นท์มาตั้งหน้าบ้านเพื่อนบ้านหลังหนึ่ง มีเก้าอี้ โต๊ะ จานชามกระดาษ ช้อน แก้วน้ำ เครื่องดื่ม และเตาปิ้งบาร์บีคิวบริการพร้อม พวกเราก็ช่วยกันเอาของกินเครื่องดื่มมาร่วมคนละไม้ละมือ ใครใคร่เอาอะไรมาก็ตามสะดวก

เท่าที่ฉันทราบ เต้นท์และเก้าอี้นั้นขอยืมมา โดยทางเทศบาลให้มาใช้ฟรีเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในชุมชน

พวกเราสังสรรกันกลางซอย ไม่ค่อยมีรถผ่านเข้ามาเพราะซอยนี้เป็นของพวกเราทั้งหมด

บรรยากาศคุยไป ดื่มไป เพื่อนบ้านผู้หญิงคนหนึ่งเป็นคนประสานด้านการจัดงาน ทุกปีเธอจะเอาบัตรเชิญมาให้เราถึงมือ ปีนี้เธอบอกว่าแวะมาบ้านฉันสามครั้งแต่ไม่เจอตัวสักครั้ง ก็เลยเสียบบัตรเชิญไว้ เราก็โทรไปตอบรับว่าไปแน่

พ่อบ้านของฉันพูดภาษาฝรั่งเศสเก่ง ก็เลยคุยกับเขาไปทั่ว

ฉันไม่รู้ว่าคนสวิสนินทากันหรือเปล่า และถ้านินทา เขานินทากันอย่างไร ส่วนใหญ่เขาก็จะพูดคุยเรื่องดินฟ้าอากาศ “แหม ปีนี้หนาวนานจังนะ” “ว้าว โชคดีจัง วันนี้จัดงาน อากาศดี ฝนไม่ตก”

หรือเรื่องบ้านเมือง “แย่จัง ทางการเล่นเปิดหน้างานก่อสร้างทั่วเมือง ผู้คนเดือดร้อน”

หรือเรื่องเพื่อนบ้าน “เออ ไม่เห็นมาดามคนนี้มางาน เขาป่วยหรือเปล่า” “เพื่อนบ้านหลังนั้นเพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่”

หรือเรื่องข่าวต่างประเทศ “ฉันฟังข่าวความรุนแรงที่ภาคใต้ของเมืองไทย ครอบครัวคุณได้รับผลกระทบหรือเปล่า”

พ่อบ้านฉันไปช่วยเสิร์ฟไวน์ ฉันไม่ดื่ม ถ่ายรูปอย่างเดียว เพื่อนบ้านช่วยกันเอาไวน์มาแจมคนละขวดสองขวด มีเตาบาร์บีคิวต่างหาก บางคนก็เอาไส้กรอกมาปิ้ง ของใครของมัน

คนหนุ่มสาวในงาน ยังมีเด็ก ๆ อีกแต่ไปวิ่งเล่นกันที่อื่นแล้ว ฉันว่าหนุ่มสาวคงเบื่อพวกเราเหมือนกัน มีแต่คนแก่ ๆ คุยกัน

พวกเราสรุปว่า ความคิดริเริ่มแบบนี้เป็นความคิดที่ดี เพราะปีหนึ่งพวกเราอาจจะขับรถหรือเดินสวนทางกันไม่กี่ครั้ง ปีหนึ่งเวียนมาครบ เด็ก ๆ ก็โตขึ้น ผู้ใหญ่ก็แก่ลง คนแก่หลายคนที่เคยเห็นสี่ปีก่อน ดูแล้วแก่ไปถนัดตา ตัวเราเองก็เช่นกัน

หลังจัดงาน พวกเราเจอหน้ากันครั้งใดก็จะโบกมือทักทายอย่างอบอุ่น

การพบปะของพวกเราแม้จะมีดื่มกิน แต่ก็ไม่มีเสียงดังโวยวาย คนที่นี่ไม่ค่อยแสดงอาการเมา ถ้าจะหน้าแดง-ตาแดงบ้าง ก็ยังรักษามารยาทสังคมได้ดี เขาไม่มีการเปิดดนตรีดัง ๆ ด้วย พวกเราได้คุยกันจริง ๆ ไม่ต้องตะโกนคุย ใครมีธุระก็ทยอยกลับบ้านก่อน

ทุกปีพ่อบ้านกับฉันจะกลับเกือบ ๆ จะคนสุดท้าย ปีนี้กลับเร็วหน่อยนึงเพราะค่อยข้างเหนื่อยจากงาน

ต้องขอขอบคุณทางการเจนีวาที่เห็นประโยชน์ของ “เพื่อนบ้านสังสรรค์ (Fête des voisins)” และยังอำนวยความสะดวกเรื่องเต้นท์และเก้าอี้ ทราบว่ามีเงินอุดหนุนให้นิดหน่อยด้วย อันนี้ไม่แน่ใจ ฉันคิดว่ามีประโยชน์สำหรับคนต่างชาติเช่นฉันที่ทำให้ได้กลมกลืนกับคนสวิสได้เร็วขึ้น

และอาหารไทยก็ชนะใจฝรั่งทุกปีจ้า

Message us