สัญญาก่อนสมรส

สัญญาก่อนสมรส

การครองคู่ในยุคใหม่นิยมใช้สัญญาก่อนสมรสมากขึ้น มาดูกันว่ามันคืออะไร

“สัญญาก่อนสมรส” คำ ๆ นี้คงเป็นที่รู้จักน้อยมากในหมู่คนไทย แม้ว่าเราพอจะรู้เรื่องสินเดิม สินส่วนตัว กับสินสมรส แต่ชนิดที่จะทำเป็นสัญญาบรรยายทรัพย์เป็นฉากๆ ก็คงมีเฉพาะคนที่ร่ำรวยจริงๆ มีธุรกิจมากมายมหาศาลที่ต้องแยกแยะเพื่อความรอบคอบในเรื่องภาษี และปกป้องเรื่องมรดกหรือผลประโยชน์ของครอบครัวเดิม

บ่อยครั้ง เราได้ยินเรื่องสัญญาก่อนสมรสของคนดังระดับโลก ดาราฮอลลีวู้ด เซเลบ อภิมหาเศรษฐีทั้งหลายที่เปลี่ยนภรรยาบ่อยกว่าเปลี่ยนรถยนต์ หรือ ดาวค้างฟ้าที่เปลี่ยนสามีบ่อยเหมือนซื้อแหวนเพชร ที่บอกชัดเจนเลยว่า ถ้าเลิกกัน ยูจะได้ส่วนแบ่งเท่าไร เรียกว่าใครที่คิดจะมาเป็นหนูตกถังข้าวสาร ไม่มีสิทธิได้แอ้มข้าวสารทั้งยุ้งหรอก อย่างมากก็สักกระบุงเท่านั้น

แต่มาดามเมียฝรั่งอย่างพวกเรา แต่งงานแล้วก็กะว่าจะร่วมหัวจมท้ายกับสามีฝรั่งกันไปจนถึงที่สุด ไอ้ที่จะคิดเลิกร้างกันคงไม่มีอยู่ในสมอง เพราะแค่เตรียมเอกสารขอวีซ่าแต่งงานก็หืดขึ้นคอแล้ว ใครจะคิดมาทำสัญญาก่อนสมรส ภาษากฎหมายวุ่นวายอ่านไม่เข้าใจ แถมเมียฝรั่งอย่างเราก็มีทองแค่หนวดกุ้ง บางทีก็แทบจะมามือเปล่าพร้อมภาระมากมาย แต่งงานกับสามีฝรั่งที่รวยกว่า ก็ต้องหวังให้เขาเลี้ยงดูเราเป็นธรรมดา แต่ไม่ได้ละโมบจะไปเอาอะไรที่ไม่ใช่ของเรา เราไปด้วยความรักแท้ๆ ทำไมต้องมาแยกทรัพย์สมบัติกันด้วย นั่นมันวัฒนธรรมฝรั่งชัดๆ

ถ้าแม้นว่าที่สามีเอ่ยว่า ที่รัก เรามาทำสัญญาก่อนสมรสกันเถอะ ว่าที่เจ้าสาวหรือคู่หมั้นหลายคนอาจจะเอ๋อไปหน่อยนึงก่อน พอรู้ว่าเป็นอะไรก็อาจจะตะลึงงัน น้อยอกน้อยใจ น้ำหูน้ำตาว่า ยูไม่รักไอจริง กลัวไอจะมาปอกลอกหรือไง เผลอๆจะไม่ได้แต่งงานก็เพราะไอ้สัญญาที่ว่านี่แหละ

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไหนๆ เราเป็นมาดามเมียฝรั่งแล้ว เราลองมารู้จักสัญญาก่อนสมรสกันดีกว่า ไปพูดคุยกับใครเขาจะได้ไม่ล้าสมัย หรือเกิดมีคนรู้จักมาถาม จะได้ให้คำแนะนำได้ถูก

สัญญาก่อนสมรสคืออะไร 

สัญญาก่อนสมรส มีคำเรียกเต็มๆภาษาอังกฤษว่า Prenuptial Contract หรือ เรียกสั้นๆว่า Prenup แต่ใครจะถนัดเรียกว่า Marriage Contract ก็คงไม่ผิดประการใด นิยามของ “สัญญาก่อนสมรส” ที่พอเข้าใจกันทั่วไปก็คือ

• เป็นข้อตกลงของว่าที่เจ้าบ่าว-ว่าที่เจ้าสาว ที่ว่าด้วยทรัพย์สิน(และหนี้สิน)ของทั้งสองฝ่าย และ การแบ่งทรัพย์สินเหล่านั้นในกรณีหย่าร้างหรือตายจากกันไปข้างหนึ่ง
• โดยทั่วไปจะเขียนก่อนจดทะเบียนสมรส และจะแนบเป็นเอกสารหนึ่งเมื่อยื่นขอแต่งงาน (แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละชุมชนด้วย)
• สัญญามักจะมีภาคผนวกที่ระบุว่า ใครมีอะไรเป็น “สินเดิม” บ้าง และอะไรเป็นที่ถือเป็น ”สินสมรส” และ “สินส่วนตัว”

คำศัพท์ทางกฎหมายสองสามคำที่ควรรู้

สินเดิม (Separate property assets and liabilities): คือสิ่งที่มาดามและว่าที่สามี มีติดตัวมาก่อนแต่งงาน เช่น ที่ดินที่พ่อแม่ให้ บ้านหรือคอนโดที่ซื้อหรือผ่อนไว้ด้วยเงินตัวเอง รถยนต์ที่มีมาก่อนสมรส แก้วแหวนเงินทอง เงินสดในบัญชีธนาคาร หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และทรัพย์สินหรืออหังสาริมทรัยพ์อื่นๆ การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ บริษัท ห้างหุ้นส่วน ประกันชีวิต รวมทั้งหนี้สินต่างๆ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้ลงทุน หนี้เงินกู้ผ่อนบ้าน ที่มีมา “ก่อน” การแต่งงาน

สินสมรส (Marital property): สินทรัพย์ที่หาได้หรือมีร่วมกันในระหว่างการสมรส เช่น บ้านที่ซื้อร่วมกันและช่วยกันผ่อนหลังจากแต่งงานแล้ว รถยนต์ที่ซื้อใช้เพื่อครอบครัว เงินเดือนจากการทำมาหากินของแต่ละฝ่าย เงินเก็บสะสมร่วมกัน หลักทรัพย์อื่นๆที่เห็นได้ชัดว่าหามาเพื่อครอบครัวแม้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะออกเงินน้อยกว่าหรือไม่ได้ออกเงิน เงินลงทุนในธุรกิจของครอบครัว บริษัทที่จัดตั้งร่วมกัน การเข้าไปเป็นลูกจ้างบริษัทของอีกฝ่าย

สินส่วนตัว (Separate property): สินทรัพย์ที่เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อนการแต่งงานหรือระหว่างแต่งงาน เช่น บ้าน-ที่ดินที่ซื้อก่อนแต่ง มรดกที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้จากญาติฝั่งของตัวเอง หรือของขวัญที่มีคนให้มาด้วยความเสน่หา หรือของรางวัลที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กองทุนการศึกษาเพื่อบุตรหลานที่มีจากการสมรสครั้งก่อน แต่ ในบางครั้งสิ่งที่งอกเงยจากสินส่วนตัวในระหว่างการแต่งงาน เช่น เงินกำไร ดอกเบี้ย มูลค่าหุ้นที่สูงขึ้น ผลกำไรจากบริษัท ก็อาจถือเป็นสินสมรสได้ หากไม่มีการระบุให้ชัดเจน

เหตุสิ้นสุดการสมรส (Operative event, separation event or termination): เหตุที่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง และทำให้สัญญาก่อนสมรสมาผลบังคับใช้ โดยทั่วไป หมายถึง การยื่นฟ้องหย่า การย้ายออกจากบ้าน หรือการส่งหนังสือฟ้องหย่า

ค่าเลี้ยงดู (Spousal support or maintenance): เมื่อฝ่ายหนึ่งต้องให้การดูแลด้านการเงินอีกฝ่ายหนึ่งหลังการหย่าร้าง เช่น ในกรณีคู่สมรสต้องทิ้งงานอาชีพเพื่ออยู่กับบ้านและเลี้ยงลูก ค่าเลี้ยงดูคือเงินที่จะต้องให้คู่สมรสฝ่ายที่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ในทันที

ย่อหน้ายุติสัญญา (Sunset clause): ย่อหน้าในข้อตกลงที่บอกว่าเมื่อไรสัญญานี้จะหมดการบังคับใช้ เช่น เมื่อการสมรสจบลง หรือ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต หรือหลังจากแต่งงานมาครบกี่ปี บางทีก็อาจหมายถึงจำนวนเงินค่าเลี้ยงดูที่คู่สมรสจะได้รับที่ขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่อยู่กินกันมา ถ้าคู่สมรสมีบุตร ก็อาจได้รับค่าเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น

ต้นร้ายแล้วปลายจะดี(ไหม)
สัญญาก่อนสมรสจะว่าไปก็แสดงความโปร่งใสทางการเงินของทั้งสองฝ่าย และช่วยให้คู่สมรสได้วางแผนร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะกำหนดสิทธิ หน้าที่ และภาระต่อทรัพย์สินแล้ว ยังเป็นการทำให้เรารู้จักว่าที่สามีว่าที่ภรรยาดีขึ้นด้วยว่า มีแนวคิดอย่างไรเรื่องสินสมรส และมีความคาดหวังอย่างไรต่อกันและกันในเรื่องเงินๆทองๆที่ชวนบาดใจนี้ แน่นอนว่าสัญญาก่อนสมรสฟังดูน่ากลัวพิลึก เหมือนไม่ใช่สิ่งที่คนรักกันสองคนจะเอามาคุยกันได้เลย แต่ใครจะรู้ วันหนึ่งแฟนฝรั่งของว่าที่มาดามจะเอ่ยขึ้นมาว่า “ดาร์ลิงก์ ถ้าเราจะแต่งงานกัน ไออยากให้เราทำสัญญาก่อนสมรสให้เรียบร้อยนะ” ถ้าวันนั้นมาถึง ว่าที่มาดามก็จะได้อมยิ้มด้วยท่าทางสบายๆ ก่อนตอบว่า “ก็ดีเหมือนกัน ยูลองบอกไอซิว่ายูคิดอย่างไร”

ถ้าเราเชื่อในไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน แม้รักที่สุดวันหนึ่งก็อาจหมดรักได้ การแต่งงานแม้จะเริ่มต้นอย่างหวานจนน้ำอ้อยเรียกพี่ วันหนึ่งน้ำผึ้งก็อาจจะขม และแต่ละฝ่ายอาจจะต้องการจะไปทางใครทางมัน ดังนั้น สัญญาก่อนสมรสจะเป็นเส้นทางอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจนสำหรับทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะเมียฝรั่งที่จากบ้านมาไกล ไม่ต้องเสียเวลามาทะเลาะกันตอนแยกทางกันจริงๆ เราไม่ควรจะกลัวที่จะทำสัญญาก่อนสมรสนี้ แต่เรามีสิทธิหวังว่าเราจะไม่มีวันต้องใช้มันจริงๆ

ดังนั้น บางทีการถกเถียง ทะเลาะ น้ำหูน้ำตา น้อยอกน้อยใจ ต่อว่าต่อขานกันเสียตั้งแต่ก่อนจะเซ็นสัญญา อาจทำให้การเริ่มต้นชีวิตคู่ที่ขรุขระกลับดำเนินไปด้วยความราบรื่น เพราะต่างชัดเจนในความคาดหวังของแต่ละฝ่ายก็ได้

สัญญาก่อนสมรสเหมาะสมกับใครบ้าง
1. คู่สมรสที่ฝ่ายหนึ่งมีทรัพย์สินมากกว่าอีกฝ่ายอย่างชัดเจน
2. คู่สมรสที่ต้องการจะเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของกันและกันในเรื่องของการบริหารทรัพย์สิน-หนี้สินและการเงินของครอบครัว
3. คู่สมรสที่มีธุรกิจหรืออสังหาริมทรัพย์ติดตัวมา และจำเป็นต้องวางแผนระยะยาว
4. คู่สมรสที่มีหนี้สินจำนวนมากติดตัวมา
5. คู่สมรสที่มีภาระต้องส่งเสียภรรยาเก่าและลูกติดจากการสมรสเดิมอยู่
6. คู่สมรสที่ต้องการความคุ้มครองให้แก่ลูกของตัวเองและลูกที่ติดมาจากการสมรสครั้งก่อน ซึ่งอาจได้รับความคุ้มครองต่างกัน (แต่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยท้ายสุดว่าข้อตกลงเช่นนั้นเป็นผลดีที่สุดกับเด็กหรือไม่)
7. คู่สมรสที่มีมรดกหรือทรัพย์สินบางอย่างที่ควรตกทอดอยู่ในครอบครัวฝ่ายตนเท่านั้น
8. คู่สมรสเพศเดียวกันในกรณีที่ต้องการมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน (Cohabitation) แต่ยังไม่มีกฎหมายจดทะเบียนสมรสรองรับ

การบังคับใช้สัญญาก่อนสมรส 
แม้ว่าการเซ็นสัญญาจะเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เมื่อถึงขั้นต้องบังคับใช้ (แบ่งสมบัติตอนหย่าร้าง) ศาลก็อาจมีสิทธิเข้ามาแทรกแซงได้ เป็นรายกรณีไป โดยเฉพาะหากมีฝ่ายหนึ่งร้องเรียนว่าสัญญานั้นไม่เป็นธรรม ปัจจัยที่ศาลจะพิจารณาคือ
• ความเป็นธรรมของสัญญาดังกล่าวต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
• คู่สมรสที่เซ็นสัญญาเข้าใจเนื้อหาอย่างแท้จริงหรือไม่
• คู่สมรสที่เซ็นสัญญาได้รับคำปรึกษาทางกฎหมายอย่างเหมาะสมหรือเปล่าเพื่อให้เข้าใจเนื้อหาและจุดมุ่งหมายของสัญญา
• คู่สมรสมีเวลาไตร่ตรองมากพอก่อนจะเซ็นสัญญาหรือไม่ หรือถูกบังคับให้เซ็น

สัญญาหลังสมรส (Post-marriage contract)
บางครั้งคู่สมรสมาเซ็นสัญญากันหลังแต่งงานว่าจะแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพราะเริ่มมีเค้าว่าจะต้องหย่าร้างกันในไม่ช้านี้ ในกรณีนี้ ศาลจะพิจารณาคดีตามสัญญาหลังแต่งงานมากกว่าตามสัญญาก่อนสมรส อย่างไรก็ดี ในบางรัฐ จะไม่รับพิจารณาสัญญาหลังแต่งงานหากพบว่ามีการทำสัญญานี้ในระหว่างที่คู่สมรสเริ่มคิดเรื่องการหย่าร้างแล้ว (เช่น ภรรยาจับได้ว่าสามีแอบไปมีกิ๊กก่อนที่จะมาขอทำสัญญาหลังแต่งงาน)

ข้อจำกัดของการทำสัญญาก่อนสมรส
ในหลายประเทศหรือในหลายรัฐ ก็ไม่ได้รับรองการทำสัญญาก่อนสมรส เพราะถือว่าไม่เป็นผลดีต่อนโยบายสังคม เนื่องจากสัญญาก่อนสมรสอาจทำให้เกิดการหย่าร้างมากขึ้น หรือสามีที่ร่ำรวยอาจสร้างเงื่อนไขสัญญาที่เอาเปรียบหรือหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางกฎหมายต่อภรรยาของตนได้ หรือใช้เป็นข้ออ้างเปลี่ยนภรรยาเป็นว่าเล่น

แม้ว่าการทำสัญญาจะมีข้ออ่อนอยู่บ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือเรื่องเงินส่งเสียเลี้ยงดูภรรยาและบุตรในกรณีที่แยกทางหรือตายจากกัน รวมทั้ง ช่วยให้ฝ่ายที่ไม่ได้ก่อหนี้สินก่อนการแต่งงาน ไม่ต้องรับผิดต่อหนี้สินของอีกฝ่าย

สิ่งที่ไม่ควรระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส ได้แก่ การนับถือศาสนาของเด็กๆ การแบ่งหน้าที่ในบ้าน การแบ่งภาระทางการเงิน หรือการมีเพศสัมพันธ์บ่อยแค่ไหน เพราะเป็นเงื่อนไขที่ศาลไม่มีกลไกในการวินิจฉัย และหากมีเงื่อนไขแปลกๆเช่นนั้น ก็อาจทำให้ศาลวินิจฉัยว่า

สัญญาก่อนสมรสกลายเป็นโมฆะได้

โดยทั่วไป คู่สัญญาสามารถระบุในสิ่งที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีงามของสังคมไว้ในสัญญาเช่นที่ว่านี้ได้ แต่สัญญาดังกล่าวจะต้องไม่มีเนื้อหาที่เชื้อเชิญให้อีกฝ่ายรีบฟ้องหย่าอีกฝ่ายโดยเร็ว เพราะสัญญาเช่นนี้จะถือเป็นโมฆะได้

ข้อจำกัดต่างๆของสัญญาก่อนสมรสมีดังนี้ 
1. ทั้งสองฝ่ายต้องแบไต๋หมดหน้าตักว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เพราะถ้าไม่แถลงให้หมด เมื่อถึงเวลาแบ่งทรัพย์สินกัน อาจจะเสียสิทธิในทรัพย์ที่ไม่ได้แจ้งนั้น
2. บางมลรัฐหรือประเทศไม่อนุญาตให้ทำสัญญาที่จำกัดหรืองดเว้นการให้ค่าเลี้ยงดูคู่สมรสที่ด้อยกว่า โดยเฉพาะหากคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นคนร่ำรวย
3. ไม่สามารถสร้างเงื่อนไขเรื่องเงินเลี้ยงดูบุตรได้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
4. ในบางประเทศ เช่น สหรัฐ และคานาดา ไม่อนุญาตให้ทำสัญญาที่จำกัดสิทธิการเยี่ยมเยียนบุตร
5. ศาลสามารถบอกล้างสัญญาได้หากเห็นว่า หัวใจของสัญญานั้นเป็นการฉ้อฉล ตบตา ข่มขู่บังคับ หรือล่อลวงขืนใจ ให้อีกฝ่ายยอมตาม เช่น เจ้าบ่าวเอาสัญญามาให้เจ้าสาวเซ็นในคืนก่อนวันแต่งงาน เจ้าสาวอาจฟ้องว่าเป็นการข่มขู่หรือฝืนใจให้ โดยทั่วไปสัญญาควรเซ็นไม่น้อยกว่า ๓๐ วันก่อนส่งบัตรเชิญแต่งงาน
6. สัญญาจะบังคับใช้ไม่ได้ หากมีข้อกำหนดที่จะทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายต้องสิ้นไร้ไม้ตอก
7. ต้องพูดเรื่องเงินทองของแสลงใจ ในช่วงที่ควรจะพูดแต่เรื่องความสุขของการสร้างชีวิตใหม่ เหมือนกับมีความไม่ไว้วางใจกัน และอาจเป็นเรื่องที่กัดกินใจตลอดชีวิตแต่งงานได้ เผลอๆ ทำให้เกิดการมองในแง่ร้าย เพราะต้องมาวางแผนการหย่าร้างพร้อมๆกับวางแผนการแต่งงาน
8. ต้องเหน็ดเหนื่อยและตึงเครียดกับการต่อรอง และต้องเสียเงินจ้างทนายความ
9. คู่สมรสฝ่ายหนึ่งอาจต้องสูญเสียสิทธิในกองมรดกของอีกฝ่าย ในกรณีเสียชีวิต ทั้งๆที่โดยทางกฎหมายแล้วคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิที่จะได้รับ(บางส่วน)
10. คู่สมรสฝ่ายที่หนุนช่วยธุรกิจในทางอ้อม เช่น โดยการจัดเลี้ยงแขกของบริษัท หรือดูแลบ้านเรือนและเด็กๆเพื่อให้อีกฝ่ายทำงานได้อย่างเต็มที่ อาจไม่ได้สิทธิในมูลค่าเพิ่มของธุรกิจของอีกฝ่าย
11. หากเป็นการทำสัญญาระหว่างคู่แต่งงานต่างวัฒนธรรมต่างการศึกษา ข้อตกลงอาจไม่ใช่ประโยชน์ที่ดีที่สุดของฝ่ายซึ่งอาจจะไม่เข้าใจเจตนารมณ์และเนื้อหาแห่งสัญญาดีพอ

ประโยชน์ของการทำสัญญาก่อนสมรส 
ไม่จำเป็นต้องรวย เราก็ทำสัญญาก่อนสมรสได้ โดยเฉพาะคนที่กำลังจะแต่งงานเป็นครั้งที่สอง เพราะมีบทเรียนและภาระ (เมียเก่าและลูกติด) จากการแต่งงานครั้งก่อน

ประโยชน์ของสัญญาก่อนสมรสมีมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
1. ความแน่นอนและแน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน หากว่าอีกฝ่ายขอหย่าหรือเสียชีวิตไป
2. ความคุ้มครองให้กับลูกๆที่ติดมาจากการสมรสครั้งก่อน
3. เป็นสิ่งที่ทำในระหว่างที่คู่สมรสยังรักใคร่กลมเกลียวกันดี จึงเป็นการทำอย่างมีสติและปรองกองมากกว่า ไปเรียกร้องกันในตอนจะแยกทางหรือฟ้องหย่า ซึ่งจุดนั้นจะมีแต่เรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง และผลของการฟ้องหย่าก็ยังคาดเดาไม่ได้อีกด้วย แถมต้องเสียค่าทนายมากมาย
4. ทั้งสองฝ่ายสามารถต่อรองเนื้อหาในการแบ่งทรัพย์สินได้เอง แทนที่จะให้ศาล (ผู้พิพากษา) มาตัดสินโดยใช้ฎหมายของจังหวัดหรือรัฐที่อาศัยอยู่ว่าจะต้องแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไร
5. ทำให้คู่สมรสมีความเปิดเผยและโปร่งใสต่อกันในเรื่องที่สำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตสมรส
6. ช่วยปกป้องทรัพย์สมบัติของแต่ละฝ่ายที่ตกทอดจากปู่ย่าตายายสู่ลูกหลาน หรือธุรกิจครอบครัวที่ทำมาเนิ่นนานก่อนการแต่งงาน
7. ช่วยการบริหารบัญชีทรัพย์สินให้แยกจากกันชัดเจน
8. ช่วยทำให้วางแผนเรื่องทรัพย์มรดกของแต่ละฝ่ายได้ง่ายขึ้น
9. ช่วยป้องกันการขัดแย้งในอนาคต
10. เป็นการสร้างแนวทางสำหรับการตัดสินใจในอนาคต
11. ช่วยคุ้มครองคู่สมรสที่ต้องทิ้งอาชีพการงานหรือบ้านเกิดเมืองนอนมาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

การฟ้องล้มล้างสัญญาก่อนสมรส
กรณีนี้เป็นประโยชน์สำหรับมาดามเมียฝรั่ง ซึ่งเมื่อยามรัก อะไรที่แฟนขอ เราก็ให้ง่าย ๆ แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจภาษา อ่านไม่ออกสักคำ แต่ก็เชื่อใจเขา พอสามีขอแยกทางขึ้นมา ถึงพบว่าตัวเองเสียเปรียบมากมายเพราะความไม่รู้ในตอนนั้น การทำสัญญาก่อนสมรสจึงไม่ควรทำกันเอง แต่ควรมีทนายความช่วยทำ โดยมีทนายฝ่ายละคน ทั้งนี้เพื่อให้เนื้อหาในสัญญาไม่แย้งกับกฎหมายครอบครัวหรือกฏหมายอื่น ๆ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย

การฟ้องล้มล้างสัญญาก่อนสมรสอาจทำได้ในเงื่อนไขต่อไปนี้ 
1. สัญญายังไม่มีการลงนาม ไม่มีการลงวันที่ เนื้อความยังไม่ครบถ้วน
2. คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ได้เปิดเผยทรัพย์สิน-หนี้สินทั้งหมด
3. พิสูจน์ได้ว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีตัวแทน(ทนาย)ตามกฎหมายช่วยดูการร่างสัญญา แต่ข้อนี้เพียงข้อเดียวยังไม่พอที่จะบอกล้มสัญญา
4. พิสูจน์ได้ว่าสัญญานั้นไม่ยุติธรรม (unconscionable) ในขณะที่มีการเซ็นสัญญานั้น หรือ ตามเหตุการณ์ในปัจจุบัน
5. ฝ่ายหนึ่งถูกบีบบังคับให้เซ็นเพราะสถานการณ์ เช่น เซ็นในเวลาที่คับขันกระชั้นชิดเกินไป
6. ฝ่ายหนึ่งทำการฉ้อฉล ตบตา หลอกลวง ขู่บังคับ ฝืนใจให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมทำตาม

สิ่งอื่นที่ควรพิจารณา 
คู่แต่งงานควรร่างรายการทรัพย์สินของตัวเองอย่างละเอียด เพื่อให้ตรงกับสัญญาก่อนสมรส เพราะเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจากไป ลูกหลานหรือภรรยาม่ายจะได้ไปดำเนินคดีเรื่องทรัพย์สินต่างๆ ทำให้เสียเงินเสียเวลาโดยใช่เหตุคู่แต่งงานอาจพิจารณาทำประกันชีวิตแทนที่จะมอบเป็นทรัพย์สินให้แก่ลูกและเมียคู่แต่งงานอาจยกเลิกหรือแก้ไขสัญญาก่อนสมรสได้ตลอดเวลา หรือสามารถเพิ่ม “วันหมดอายุ” (sunset provision) ได้ เช่น สัญญาจะหมดอายุเมื่อแต่งงานครบ ๑๐ ปี เป็นต้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกขอให้เซ็นสัญญาก่อนสมรสอย่างกระชั้นชิด เช่น ไม่ถึง ๓๐ วันก่อนแต่งงาน สัญญานั้นอาจถือเป็นโมฆะได้ หากมีการฟ้องร้อง

ถามใจเธอดูก่อน
เมื่อเราได้เข้าใจข้อดี ข้อเสีย ความหมายของสัญญาก่อนสมรสแล้ว ลองถามตัวเองดูด้วยคำถามเหล่านี้ว่า เราอยากทำหรือจำเป็นต้องทำสัญญาเช่นที่ว่านี้หรือเปล่า
1. คุณมีอสังหาริมทรัพย์หรือไม่
2. นอกจากอสังหาริมทรัพย์ คุณมีเงินสดและสมบัติที่มีมูลค่ารวมกันมากกว่า $50,000 หรือไม่
3. คุณมีรายได้มากกว่า $100,000 ต่อปีหรือเปล่า
4. คุณมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจใดหรือเปล่า
5. คุณมีทรัพย์สินรวมกันที่มีมูลค่ามากกว่าเงินสำรองเลี้ยงชีพหรือเงินบำนาญหนึ่งปีรวมกันไหม
6. คุณมีผลตอบแทนในการทำงานที่เป็นหุ้นหรือส่วนแบ่งผลกำไรของกิจการหรือไม่
7. คุณและคู่ครองของคุณตั้งใจจะศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น ในขณะที่อีกฝ่ายเป็นคนทำงานหาเลี้ยงหรือเปล่า
8. ในพินัยกรรมหรือกองมรดกของคุณ มีชื่อทายาทอื่นๆนอกเหนือจากชื่อคู่สมรสของคุณหรือเปล่า
ถ้าคุณตอบ “ใช่” ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆข้อ คุณควรจะทำสัญญาก่อนสมรสถ้าคุณตอบ “ไม่” หมดทุกข้อ คุณไม่จำเป็นต้องทำสัญญาก่อนสมรส แต่ว่าคุณอาจสนใจที่จะทำเพราะอย่างน้อยก็จะได้ปกป้องทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะสร้างขึ้นใหม่ในอนาคต

สิ่งที่ควรระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส 
1. มรดกสำหรับบุตรธิดาที่มีมาจากการแต่งงานครั้งก่อน (ไม่ใช่เงินเลี้ยงดูบุตร)
2. ธุรกิจที่มีมาก่อน
3. ผลประโยชน์จากกองทุนเกษียณอายุ
4. การจัดการ สินส่วนตัว และ สินสมรส
5. การไม่รับผูกพันกับหนี้สินที่คู่สมรสมีมาก่อนการแต่งงาน
6. การแบ่งแยกทรัพย์สินในกรณีหย่าร้าง และค่าเลี้ยงดู
7. รายได้ รายการหักจ่าย ค่าจ้างในการขอคืนภาษี ง
8. การจัดการกับใบเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในบ้าน
9. การบริหารบัญชีธนาคารร่วมกัน ถ้ามี
10. การวางแผนการลงทุน เช่น การซื้อทรัพย์สินชิ้นใหญ่ หรือทำโครงการใหม่ๆ เช่น สร้างหรือซื้อบ้าน หรือ เปิดบริษัทใหม่
11. การบริหารหนี้สินจากบัตรเครดิตและการจ่ายเงิน
12. การช่วยกันสะสมเงินออม
13. การช่วยกันส่งเสียอีกฝ่ายให้ได้เล่าเรียนเพิ่มเติม
14. การกระจายทรัพย์มรดกให้กับผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เช่น ทำประกันชีวิต
15. วิธีการเจรจาในกรณีขัดแย้ง เช่น หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ย

ข้อผิดพลาดที่ควรเลี่ยง
ฝรั่งนักกฎหมายเขาสรุปข้อผิดพลาดบางประการที่ได้ยินได้ฟังบ่อย ๆ ว่าเป็นเหตุผลของการไม่ทำสัญญาก่อนสมควร

ข้อผิดพลาดที่ ๑: “ไอไม่อยากพูดเรื่องนี้ มันไม่โรแมนติก” 
แน่นอนว่าการพูดคุยเรื่องสัญญาก่อนสมรส มันไม่ม่วนเหมือนคุยเรื่องจะไปฮันนีมูนที่ไหน จะมีลูกกี่คน จะสร้างบ้านกี่ชั้น แต่ชีวิตจริงคือ มาดามได้แต่งงานอยู่กินกันไป เอ๊ะ รักชักจืดจาง ทะเลาะเช้าเย็น สามีท่าทางเหมือนมีหญิงอื่น หากสามีเปลี่ยนใจไปมีคนใหม่จริง เราจะมีอะไรติดตัวบ้าง เงินทองเขาก็หามาทั้งนั้น มาถึงจุดนั้นแล้ว เราอาจจะนึกเสียใจว่าไม่ได้ทำสัญญาดังว่าไว้เสียก่อน คู่รักทั้งหลายไม่มีใครอยากพูดถึงเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ความรัก แต่ฟังเหมือนความงก

ที่จริงแล้ว เราควรพูดเรื่องนี้ตั้งแต่แรกเริ่มและพูดถึงมันบ่อยๆ เพราะพูดก่อนแต่งมันง่ายกว่าพูดตอนกำลังท้าหย่ากันเหย็งๆแน่นอน จะให้ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและครอบครัวบอกว่า เราควรทำสัญญาก่อนสมรสอย่างน้อย ๖ เดือนก่อนวันแต่งงาน การเปิดเผยด้านการเงินเป็นสิ่งสำคัญ มาดามจำนวนมากไม่รู้เลยว่า สามีมีทรัพย์สินอะไร หนี้สินอะไรเท่าไร เพราะคนจะแต่งงานกันก็มักจะคุยกันเรื่องอื่น เช่น งานแต่งงาน การขอวีซ่า การย้ายถิ่น การส่งเสียคนทางบ้าน เรียนภาษา หาที่อยู่ใหม่ ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนเกี่ยวโยงกับการใช้เงินทั้งนั้น

ดังนั้น คู่สมรสที่ประสบความสำเร็จคือคู่ที่สื่อสารกันมากที่สุดในเรื่องนี้ มีความชัดเจนด้านการเงินมากที่สุด การทำสัญญาก่อนสมรสเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อความรู้สึกของสาวไทยผู้ไม่คุ้นเคยกับการใช้กฎหมายมากำกับความรักแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ได้มีทรัพย์สินเทียมเท่าฝ่ายชาย แค่ภาษาที่จะคุยกับว่าที่สามีให้รู้เรื่องก็ทั้งยากแล้ว แต่มันเป็นเรื่องสำคัญที่คู่ชีวิตที่มองการณ์ไกลจำเป็นต้องทำร่วมกัน เพราะการร่วมชีวิตด้วยความรัก ก็เป็นการเอาเงินมาร่วมกันเป็นถุงเดียวด้วย ถ้าเราไม่รู้จักบริหารเงินถุงนั้นให้เป็น ก็เท่ากับเราไม่ได้ปกป้องอนาคตของตัวเราเอง

ข้อผิดพลาดที่ ๒: ใช้ทนายคนเดียวกัน 
อาจจะฟังดูแปลกๆ ว่าทำไมใช้ทนายคนเดียวกันไม่ได้ เรื่องของเรื่องคือ กฎหมายกำหนดให้ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องมีตัวแทนคนละคน เพราะหากมีการฟ้องร้องในภายหลังว่า อีกฝ่ายไม่มีตัวแทนทางกฎหมาย สัญญานั้นอาจเป็นโมฆะได้

การมีทนายให้แต่ละฝ่ายก็จะช่วยให้ฝ่ายที่รู้กฎหมายน้อยกว่าสบายใจ ถ้าให้ทนายคนเดียวกันก็จะไม่มีคนช่วยปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่อ่อนกว่าอย่างเต็มที่และรอบด้าน เพราะทนายจะกลายเป็นคนกลาง ไม่ใช่คนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะตกลงอะไรก็กลายเป็นหยวนๆกันไป และมองในด้านเดียว โดยเฉพาะถ้าฝ่ายมาดามมาต่างบ้านต่างเมือง ยิ่งต้องมีทนายที่อธิบายให้ฟังและรักษาผลประโยชน์ของมาดามในฐานะคนต่างชาติด้วย ทนายของตัวเองจะพูดได้เต็มที่ว่าเนื้อหาสัญญานี้ยุติธรรมหรือไม่กับเรา แต่หากเป็นทนายร่วมเขาอาจจะคิดว่า ให้ผัวเมียพูดกันเองดีกว่า แล้วเราก็จะไม่ได้ความชัดเจนหรือถามในสิ่งที่เราไม่อยากถามว่าที่สามีตรงๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดมุ่งหมายของการทำสัญญาก่อนสมรสก็เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่สมเหตุสมผล เป็นธรรม และนำไปบังคับใช้ได้กับทั้งสองฝ่าย มิใช่การมีทนายสองคนเพื่อมาเอาชนะกัน

ข้อผิดพลาดที่ ๓: ปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำในระหว่างการต่อรอง
เป็นไปได้ว่าเนื้อหาในข้อตกลงบางอย่างจะทำให้มาดามน้อยใจ เช่น ถ้ามาดามเป็นฝ่ายขอหย่าและไปแต่งงานใหม่ จะไม่ให้อะไรเลย หรือห้ามเอาสินสมรสไปส่งเสียทางบ้านที่เมืองไทย ถ้ามาดามรู้สึกไม่พอใจกับเงื่อนไขของสัญญาเช่นนี้ ก็อาจจะใช้เวลาในการต่อรองให้นานขึ้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อทั้งสองฝ่าย

เราต้องคิดเสมอว่า การแต่งงานเป็นการร่วมชีวิตของคนสองคนทั้งในด้านหัวใจความรัก และด้านทรัพย์สินเงินทองด้วย การทำสัญญาก่อนสมรสก็เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจในการสมรสนั่นเอง ขอให้พยายามอย่าใช้อารมณ์ในการเจรจาต่อรอง ให้ทำเหมือนเรากำลังตกลงทางธุรกิจ เพราะเราจะคิดได้อย่างปลอดโปร่งมากกว่า

ข้อผิดพลาดที่ ๔: รีบสรุปข้อตกลงเร็วเกินไป 
ถ้ามาดามรู้สึกไม่สะดวกใจกับการทำสัญญา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ไม่สันทัดด้านภาษา รู้สึกถูกเอาเปรียบ แล้วคิดว่าปล่อยไปตามกรรม ไปตายเอาดาบหน้า กำขี้ดีกว่ากำตด มาดามอาจจะต้องมาเสียใจในภายหลัง เช่น ยอมรับเงินค่าเลี้ยงดูจำนวนนิดเดียวในกรณีที่เขาเป็นฝ่ายขอหย่าโดยเราไม่มีความผิด (เพราะคิดว่าจะไม่มีวันนั้นเกิดขึ้น)

ดังนั้น มาดามไม่ควรจะยอมตามข้อสัญญาใดที่ตัวเองไม่เห็นด้วย หรือไม่เข้าใจ เพียงเพราะอยากให้มันจบๆไป หรือเพราะอยากแสดงความเป็นคนหัวอ่อน ว่าง่าย ไม่งก เพราะมันอาจจะสร้างปัญหาใหญ่ได้ในภายหลัง มาดามควรจะเลือกในสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจเต็มร้อยจำไว้ว่าฝรั่ง(ส่วนใหญ่)เป็นชาติที่ถนัดกับการถกเถียงด้วยเหตุผลเพื่อหาข้อสรุป บางทีเถียงกันหน้าดำหน้าแดงเหมือนจะฆ่ากันตาย แต่เถียงจบแล้วจบกัน ไม่มีต่อ และพวกเขาสามารถพูดเรื่องเงินๆทองๆได้สบาย ไม่ขวยเขิน

เมื่อรักจะแต่งงานกับฝรั่งก็ต้องปรับทัศนคติให้เข้ากับเขาได้ด้วย ยอมเถียงกันวันนี้ขณะที่เราสองคนยังเท่าเทียมกัน ดีกว่าไปเถียงกันวันที่เรากลายเป็นเบี้ยล่างไปแล้ว

ข้อผิดพลาดที่ ๕: ครุ่นคิดถึงสัญญาหลังเซ็นไปแล้ว 
หลังจากตรวจดูเนื้อหาในสัญญาและได้ลงนามไปแล้ว มาดามไม่ควรนั่งคิดนอนคิดว่า เอ เราได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์กันแน่ อย่างนี้เขาเอาเปรียบเรานี่นา ตายละ ทำไมเราไม่ขอนั่นขอนี่ไว้ด้วย

คิดแล้วก็ไม่มีความสุข เวลาทะเลาะกันนิดหน่อยก็คิดว่า หย่าดีกว่ามั้ง หย่าแล้วเราจะได้เท่านี้เท่านี้ เอาไปตั้งตัวใหม่ได้ แทนที่จะคิดปรองดองกับชีวิตแต่งงาน กลายเป็นคิดอยากแยกทางทุกวันไป

แม้ว่าสัญญาจะว่าด้วยเรื่องเงินๆทองๆและเงื่อนไขการใช้เงินของคู่สมรส แต่สัญญานี้ไม่ได้มีไว้เพื่อทำลายความสุขของมาดาม จะให้ดี ผู้ชำนาญการเขาแนะนำว่า ให้เอาสัญญาใส่ลิ้นชักชั้นล่างสุด ล็อคกุญแจแล้วลืมมันไปได้เลย ใช้ชีวิตแต่งงานอย่างมีความสุข เน้นไปที่ความสุขของการหมั้นหมาย งานวิวาห์ที่กำลังจะตามมา และหวังเพียงว่า มาดามจะไม่ต้องไปเปิดลิ้นชักนั้นอีกเลยในชีวิต

แหล่งอ้างอิง
http://findlaw.co.uk/law/family/marriage_and_civil_partnerships/prenuptial-agreements.html
http://family.findlaw.com/marriage/
https://www.institutedfa.com/prenup
http://marriage.about.com/cs/agreem
https://www.theknot.com/content/pre
http://family.findlaw.com/marriage/

ตัวอย่าง
ข้อความข้างล่างนี้เป็นแค่ตัวอย่าง ในการทำสัญญาจริงท่านต้องปรึกษาทนายความเพื่อให้เกิดผลทางกฎหมายจริงตามถิ่นที่อยู่ที่ท่านอาศัย สัญญาก่อนสมรส
______________(ชื่อ นามสกุล)_________________________, ต่อไปนี้ใช้เรียกว่า “ว่าที่สามี” และ ______(ชื่อ นามสกุล)_________________________________, ต่อไปนี้ เรียกว่า “ว่าที่ภรรยา” ได้ตกลงกันในวันที่ _____ เดือน ________________, ปี ค.ศ. ______, ดังต่อไปนี้
1. ว่าที่สามีและว่าที่ภรรยามีความตั้งใจจะทำการสมรสกันในอนาคตอันใกล้นี้ และต้องการที่จะกำหนดสิทธิและหน้าที่ของแต่ละฝ่ายในเรื่องของรายได้และทรัพย์สินที่เป็นของส่วนตัว ที่เป็นของที่จะสร้างด้วยกันในระหว่างชีวิตแต่งงาน ไม่ว่าจะถือเป็นสินร่วม(สินสมรส)หรือสินแยก(สินส่วนตัว)ก็ตาม
2. ว่าที่สามีและว่าที่ภรรยาได้เปิดเผยต่อกันและกันอย่างหมดจดครบถ้วยว่าต่างฝ่ายต่างมีทรัพย์สินที่เป็นเงินสดและที่เป็นหนี้สินอะไรบ้าง โดยได้แนบไว้ในภาคผนวกท้ายสัญญาฉบับนี้ ให้ชื่อว่า ภาคผนวก ก และ ภาคผนวก ข
3. ยกเว้นที่จะระบุเป็นอย่างอื่นดังข้างล่างนี้ ว่าที่สามีและว่าที่ภรรยาขอละเว้นการใช้สิทธิต่อไปนี้:
ก. แบ่งปันทรัพย์มรดกของกันและกันในกรณีที่เสียชีวิต
ข. เรียกร้องค่าเลี้ยงดู ทั้งชั่วคราวและถาวร
ค. ร่วมได้ประโยชน์ในมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของทรัพย์สินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย
ง. ร่วมได้รับเงินบำนาญ เงินปันผล หรือบัญชีผู้เกษียณของอีกฝ่าย
จ. แบ่งทรัพย์ที่ถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะมีอยู่ในตอนนี้ หรือจะสร้างขึ้นในอนาคต
ฉ. เรียกร้องตามระยะเวลาที่ได้อาศัยร่วมชายคาบ้านเดียว
4. [ระบุข้อยกเว้นต่างๆไว้ในข้อนี้]
5. [เพิ่มเติมข้อกำหนดใหม่ๆในที่นี้ ซึ่งอาจจะพูดถึงแบ่งปันหน้าที่ในครัวเรือนของแต่ละฝ่าย การรับผิดชอบค่าใช้จ่าย การดูแลบัญชีครอบครัว การชำระหนี้บัตรเครดิต การชำระภาษีรายได้]
6. ทั้งว่าที่สามีและว่าที่ภรรยา มีตัวแทนเป็นนักกฎหมายแยกเป็นเอกเทศสำหรับแต่ละฝ่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเลือกสรรมาเอง
7. ทั้งว่าที่สามีและภรรยา มีรายได้และทรัพย์สินแยกจากกัน ที่จะนำมาใช้เพื่อความจำเป็นด้านการเงินของแต่ละฝ่าย
8. ข้อตกลงนี้เป็นสัญญาทั้งหมดของคู่สมรส และอาจมีการแก้ไขเป็นลายลักษณ์อักษร โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย
9. ในกรณีที่ข้อสัญญาข้อใดข้อหนึ่งในนี้ถือว่าเป็นโมฆะเพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อสัญญาข้อนี้จะถูกแยกออกจากข้อสัญญาที่เหลือทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าส่วนที่เหลือของสัญญายังคงมีผลบังคับใช้อยู่
10. สัญญานี้ทำตามกฎหมายของรัฐหรือเมือง_________________, และข้อขัดแย้งใดๆเรื่องสัญญา จะใช้กฎหมายของรัฐนั้นเป็นตัวตัดสิน
11. สัญญานี้มีผลทันทีที่คู่สัญญาสาบานตัวในพิธีสมรสอย่างเป็นทางการ
ข้าพเจ้าได้อ่านสัญญาเบื้องต้น และได้ใช้เวลาทำความเข้าใจกับความหมาย ข้าพเจ้าเข้าใจเนื้อหาสัญญา
ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับเนื้อความ และข้าพเจ้าสมัครใจที่จะทำตามสัญญานี้

_________________                                        _________________
ว่าที่สามี                                                  ว่าที่ภรรยา

Photo credit: https://www.pexels.com/photo/band-blur-close-up-engagement-265730/