เรื่องผัวเมียตีกัน

ฝรั่งเขามักจะมีสิ่งที่เรียกว่า FAQs หรือ คำถามที่ถูกถามบ่อยๆ ในทุกประเด็นความรู้ ไม่ว่าจะเรื่องซื้อตั๋วเครื่องบิน การขอวีซ่า การทำใบขับขี่ การสมัครงาน การใช้อุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ ปัญหาเรื่องสุขภาพ แม้แต่เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาสุขภาพจิต การละเมิดทางเพศ สิทธิสตรี การใช้ยา เขาก็มิได้เว้นที่จะประมวลความรู้เหล่านี้ไว้ให้ผู้ที่สงสัยได้ศึกษาเรียนรู้กัน

เรื่องผัวเมียตีกันทะเลาะกันมีทั้งในเมืองไทยและเมืองนอก แต่เมืองไทยเราไม่ค่อยจะมีสูตรสำเร็จว่า ผู้หญิงจะช่วยตัวเองได้อย่างไรในกรณีนี้ อย่างมากก็แจ้งความหรือไปหาบ้านพักฉุกเฉิน หรือหนีไปอยู่กับญาติ แค่ฝรั่งเขารวบรวมไว้ทุกแง่มุมทุกซอกเล็กซอกน้อยของความสัมพันธ์ จนบางทีเหมือนจะเว่อร์ไปเสียด้วยซ้ำ

เรื่องผัวเมียตีกน บางทีเราไม่ใช่คนเดือดร้อน แต่เขาบากหน้ามาขอความช่วยเหลือก็ไม่รู้จะแนะนำอะไร ถึงไม่ใช่คนในครอบครัวของเรา แต่ก็อาจเป็นครอบครัวของคนใกล้ชิด เป็นญาติ เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นคนข้างบ้าน มาดามแต่งงานมาอยู่แดดไกล หัวเดียวตัวเดียวโด่เด่ บางทีเกิดคำถามก็ไม่รู้จะถามใคร แล้วเมืองนอก เรื่องทำร้ายร่างกายเขาถือเป็นคดีอาญาด้วย ไอ้เราจะไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง เผลอๆก็จะเหมือนทำผิดกฎหมายไป แถมคนถูกทำร้ายเป็นคนชาติเดียวกัน โดยฝรั่งต่างชาติทำร้ายเอาเปรียบ เราจะอยู่เฉยๆก็ใช่ที่

อย่ากระนั้นเลย มาดามหญิงไทยในต่างแดน เรามาติดอาวุธทางปัญญาเพิ่มเติมกันสักเล็กน้อยดีกว่า ไหนๆ มาดามก็ได้สลายปีกไปใช้ชีวิตเมืองนอก ต้องพกความแกร่ง ความเก่ง ความอึด ความอดทน ความกล้าบ้าบิ่นอันไม่เหมือนกัน และความพร้อมที่จะไปตายเอาดาบหน้าก็บ่อยไป

เนื้อหาต่อไปนี้รวบรวมและแปลมาจาก Center for Relationship Abuse Awareness: Education, Training and Action เนื้อหาวิธีการแปลอาจจะนมเนยไปหน่อย ผู้แปลต้องขออภัยในที่นี้ด้วยค่ะ

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำร้ายกันในครอบครัว
การที่เราจะช่วยใครสักคนได้ เราควรจะต้องมาปรับความเข้าใจของเราต่อปัญหานี้ก่อนนะคะ และเนื่องจากหญิงไทยที่ประสบปัญหานั้นมีสามีเป็นคนต่างชาติ เราเลยจึงจำเป็นต้องรู้แนวคิดแบบฝรั่งว่า เขามองปัญหานี้อย่างไร หากมองแบบไทยๆ อย่างเดียวอาจเป็นการเกาไม่ถูกที่คันก็ได้ ผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเขาสรุป “สิ่งที่คนทั่วไปยังเข้าใจไม่ถูก” เกี่ยวกับปัญหาคนในครอบครัวตีกันไว้หลายข้อดังนี้

1. ความสัมพันธ์เชิงละเมิด (Relationship Abuse) เป็นเรื่องที่เกิดไม่บ่อย

ไม่จริง ปัญหานี้เกิดทั่วโลก ผู้ชายมักเป็นฝ่ายทำร้ายผู้หญิงทุก 1 ใน 3 คนทางร่างกายหรือทางเพศ โดยเฉพาะมีผู้หญิงมากกว่า 3 คนต่อวันที่ถูกฆาตกรรมโดยสามีหรือเพื่อนชาย (แฟน) ในอเมริกา ผู้หญิงและเด็กมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงมากกว่าเพราะสภาพทางเพศและทางกาย โดยจะถูกกระทำจากผู้ชายที่ตัวเองรู้จักเป็นส่วนใหญ่ ความรุนแรงในครอบครัวมักไม่ปรากฎในสถิติครัวเรือนใดๆ

2. ไม่มีปัญหาการละเมิดเกิดระหว่างกับคนเพศเดียว

ไม่จริง น่าแปลกว่า ความสัมพันธ์เชิงละเมิด (การทำร้ายกันในคนที่เป็นคู่) เกิดขึ้นในสัดส่วนเฉลี่ยเหมือนๆกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่ที่เป็นเพศเดียวกัน หรือคู่ต่างเพศ เงื่อนไขของการละเมิดก็คือ การพยายามควบคุมอีกฝ่ายหนึ่ง แต่วิธีการละเมิดอาจต่างกันเล็กน้อย เช่น ถ้าเป็นคู่เพศเดียวกัน ก็อาจจะมีการขู่ว่าจะเอาเรื่องไปบอกครอบครัวหรือมหาวิทยาลัยที่ไม่ยอมรับเรื่องรักร่วมเพศ การจะเป็นผู้ละเมิดหรือผู้ถูกละเมิดนั้น ไม่เกี่ยวกับขนาดของร่างกาย ความแข็งแรง การเมือง หรือบุคลิกภาพใดๆ

3. วัยรุ่นไม่ค่อยประสบปัญหาการทำร้ายร่างกายและจิตใจ

ไม่จริง ผู้หญิงทุกกลุ่มอายุมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ โดยคู่ที่เป็นเพศชาย และกลุ่มที่อายุระหว่าง 20-24 ปี เป็นกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุดที่จะเจอกับความรุนแรงที่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต เด็กหญิงวัยรุ่นในอเมริกาหนึ่งในห้าคนรายงานว่าถูกเพื่อนชายทำร้ายร่างการและหรือละเมิดทางเพศ

4. ปัญหาการทำร้ายร่างกายและจิตใจเกิดจากความมึนเมา

ไม่จริง การทำร้ายร่างกายเป็นการเลือกที่จะทำ แม้ว่าปัญหาการเสพแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดจะเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์เชิงละเมิด (เพราะคนส่วนใหญ่มักจะดื่มกัน) แต่ไม่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรง คนจำนวนมากดื่มและใช้ยา และส่วนใหญ่ของคนเหล่านั้นไม่ได้ทำร้ายคนอื่น และก็ไม่ใช่ผู้ละเมิดทุกคนที่ดื่ม และคนที่ดื่มก็ไม่ใช่คนที่ใช้ความรุนแรงทุกคนไป ความรุนแรงนั้นจะยังคงอยู่แม้ว่าผู้ละเมิดจะหยุดดื่มแล้วก็ตาม

5. ปัญหาการทำร้ายร่างกายและจิตใจเกิดจากสภาวะโรคจิต

ไม่จริง ความบกพร่องด้านบุคลิกภาพ ความเจ็บป่วยทางจิตใจ การขาดความควบคุมตัวเอง หรือนิสัยชอบละเมิดโดยทั่วๆไป ไม่ได้เป็นเหตุผลให้เกิดการละเมิดในความสัมพันธ์ แม้ว่าจะเป็นในกรณีที่ผู้ละเมิดมีภาวะป่วยทางจิตก็ตาม (เช่น โรคอัลไซเมอร์) เมื่อมีอาการละเมิด คนป่วยเหล่านี้จะละเมิดคนหลายๆคน ไม่ใช่คนๆเดียว เหมือนในความสัมพันธ์เชิงครอบครัว อย่างไรก็ดี หากผู้ละเมิดเป็นโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงหรือถูกแยกโดดเดี่ยวอย่างมากก็จะกระทำการละเมิดโดยไม่คิดถึงผลกระทบเช่นกัน

6. ความยากจนทำให้เกิดปัญหาทำร้ายร่างกายกัน

ไม่ใช่ ความรุนแรงในครอบครัวเกิดในทุกระดับชั้นในสังคม คนจำนวนมากยากจน แต่ก็ไม่ได้คิดจะทำร้ายคนในครอบครัวเดียวกัน มีการศึกษาที่ระบุว่า มีการละเมิดเกิดมากกว่าในครอบครัวที่รายได้น้อย และก็มีการศึกษาที่บอกว่า มีการละเมิดมากกว่าในครอบครัวที่รายได้สูงกว่า สถิติที่จะรับรองยังมีน้อยมาก เพราะเป็นสถิติที่ได้มาจากหน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ กรมตำรวจ หน่วยงานสวัสดิการสังคม และศาล ซึ่งแน่นอนว่า คนที่มีเงินจะไม่เข้าหาหน่วยบริการเหล่านี้ จึงไม่มีสถิติของคนกลุ่มนี้เป็นธรรมดา กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย จะเข้าไม่ถึงทรัพยากรความช่วยเหลือได้ง่ายนัก ซึ่งนั่นคืออุปสรรคทำให้ผู้ถูกละเมิดไม่อาจเดินหนีจากมาได้ง่ายๆ นอกจากนั้น ระหว่างที่มีความ “ยากลำบาก” ทางเศรษฐกิจโดยรวมในระดับประเทศ ทรัพยากรงบประมาณที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวก็มักจะถูกตัดก่อน และมีผลกระทบกับความช่วยเหลือต่อกลุ่มที่ด้อยโอกาส และการเข้าถึงบริการของกลุ่มคนเหล่านี้

7. ความรู้สึกต้อยต่ำและความเครียดก่อให้เกิดการละเมิดกัน

ไม่จริง ความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้เกิดจากความเครียด คนส่วนมากมีความเครียด แต่ก็ไม่ได้ไปละเมิดใคร คนจำนวนมากมายมีความรู้สึกว่าตัวเองต้อยต่ำ ก็ไม่ได้เลือกที่จะทำร้ายใคร

8. การละเมิดเกิดขึ้นเพราะความโกรธหรือการสูญเสียความควบคุมตนเอง

ไม่จริง การละเมิดไม่เกี่ยวกับการบริหารความโกรธ ตัวอย่างเช่น ผู้ละเมิดไม่เลือกทำร้ายร่างกายเจ้านายหรือผู้ร่วมงาน ไม่ว่าจะรู้สึกโกรธแค่ไหน ความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้มีผลมาจากผู้ละเมิดสูญเสียการควบคุมตัวเอง เพราะการละเมิดนั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปอย่างมีการควบคุม นั่นคือ ผู้ละเมิดเลือกที่จะกระทำรุนแรงกับคู่ครองที่อยู่ใกล้ชิดเท่านั้น

9. เราจะเอาผิดกับผู้ละเมิดได้อย่างไร

การเอาผิดกับผู้ละเมิดเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นการส่งสารให้คนอื่นๆได้รู้ว่า สังคมจะไม่ยอมรับการละเมิดไม่ว่าจะชนิดไหนก็ตาม แต่น่าเสียดายว่า ยังมีเครื่องขวางกั้นกระบวนการยุติธรรมมากมาย และถ้าผู้รักษากฎหมายไม่เข้าใจกลไกของความรุนแรงในครอบครัว ก็จะประสบความลำบากในการระบุตัวและลงโทษผู้ละเมิดได้ นอกจากนั้นผู้หญิงที่ประสบเคราะห์จำนวนมากก็ไม่ได้เข้าหากระบวนการยุติธรรม เพราะมีอุปสรรคด้านสถาบัน เช่น การที่เจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ หรือ รังเกียจคนรักเพศเดียวกัน ดังนั้น เราแต่ละคนจึงควรต้องเอาผิดกับผู้ละเมิดด้วย โดยการไม่ตำหนิซ้ำเติมผู้ประสบเคราะห์ สอนให้เด็กๆเข้าใจว่าความรุนแรงไม่ใช่คำตอบของปัญหา และการพยายามควบคุมคนอื่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

10. ผู้หญิงก็ทำร้ายร่างกายและจิตใจผู้ชายได้พอๆกัน

ไม่จริง ข้อมูลจากกรมยุติธรรมของสหรัฐระบุว่า 95% ของปัญหาการละเมิดด้านความสัมพันธ์นั้นเป็นการกระทำโดยผู้ชายต่อผู้หญิง และอีก 5% ที่เหลือเป็นการกระทำโดยผู้ชายต่อผู้ชาย หรือผู้หญิงต่อผู้หญิง (ในกรณีรักเพศเดียวกัน) อย่างไรก็ตาม ผู้ชายสามารถเป็นเหยื่อและผู้หญิงสามารถเป็นผู้ทำร้ายได้ และความรุนแรงในครอบครัวเกิดในความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันเช่นกัน แต่การกล่าวเช่นนี้ก็ไม่ใช่จะเบี่ยงประเด็นว่าไม่มีกรณีของผู้ชายที่ถูกผู้หญิงทำร้าย แต่เป็นการเน้นว่ามีรูปแบบของความรุนแรงทางเพศสภาพเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายทุกคนมีนิสัยชอบทำร้าย และถ้าเปรียบเทียบก็อาจกล่าวว่า นักบอลทุกคนเป็นผู้ชาย แต่ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนเป็นนักบอล เช่นเดียวกับการกล่าวว่า ผู้ทำร้ายร่างกายเป็นผู้ชายทุกคน แต่ผู้ชายทุกคนไม่ใช่ผู้ทำร้ายร่างกายคนอื่น

11. มีสถิติว่าผู้หญิงก็รุนแรงได้ไม่แพ้ผู้ชาย

การศึกษาวิจัยเช่นนี้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “Conflict Tactics Scale” ซึ่งไม่ได้ควบคุมบริบทที่เกิดความรุนแรง เช่น การใช้กำลังในการป้องกันตัวหรือการแก้คืน เช่น มีผู้ชายกำลังเค้นคอผู้หญิง และผู้หญิงก็ขีดข่วนผู้ชายกลับเพื่อให้ผู้ชายหยุดทำร้ายเธอ ในกรณีนี้ถ้าใช้วิธีคำนวณแบบ Conflict Tactics Scale ทั้งสองฝ่ายจะได้คะแนนหนึ่งแต้มในการทำร้ายร่างกายกันและกัน หากผู้หญิงถูกทำร้ายโดยผู้ชายมาเป็นปีๆ เช่น ถูกผลักติดผนัง เธอจึงคว้ามีดขึ้นมา และขู่ให้ผู้ชายถอยไป กรณีนี้ ผู้หญิงจะถูกกาสองคะแนน ผู้ชายหนึ่งคะแนนสำหรับการทำร้ายกัน นี่คือเนื้อหาของการศึกษาวิจัยที่สรุปว่า ผู้หญิงมีความรุนแรงกว่าหรือรุนแรงเท่ากับผู้ชาย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการวิจัยอื่นๆที่พบว่า ไม่ว่าอัตราส่วนความรุนแรงจะเป็นเท่าไร หรือ ใครเป็นคนเริ่มความรุนแรงก่อน ผู้หญิงมักมีโอกาสได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของคู่ครองคนใกล้ตัวมากกว่าผู้ชาย 7 ถึง 10 เท่า

12. ถ้าอย่างนั้น การทำร้ายกันและกันก็เป็นแค่เรื่องมโนขึ้นมาเอง

ต้องมีใครคนหนึ่งเป็นผู้ล่วงละเมิดหลัก (dominant aggressor) เสมอ นั่นคือ คนที่เป็นสาเหตุให้เกิดพฤติกรรมทำร้ายร่างกายและละเมิดกันเป็นส่วนใหญ่ ผู้ล่วงละเมิดหลัก คือ “บุคคลที่ตั้งใจจะเป็นคนที่ชนะในเกมทั้งหมด มากกว่าจะเป็นคนที่เริ่มก้าวร้าวก่อน” มีการวิจัยที่พบว่า การละเมิดเป็นสิ่งที่สองฝ่ายทำใส่กันและกันได้ โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดที่ไม่เหมาะสมเช่นที่กล่าวไปแล้ว (คือ “Conflict Tactics Scale”) หรือการสำรวจที่ไม่ได้ควบคุมบริบท การเหมาะว่า ผู้ชายผู้หญิงต่างทำร้ายกันและกัน ทำให้มีการจับตัวผิดคน เนื่องจากการสอบสวนที่ไม่เหมาะสม และทำให้เกิดความเข้าใจผิดทางคลีนิกว่า ต่างคนต่างทำร้ายกัน นอกจากนั้น การอนุมานทั้งสองฝ่ายต่างทำร้ายกันนั้น เป็นสิ่งที่อันตรายต่อผู้ที่เป็นเหยื่อซึ่งอาจต้องทำร้ายอีกฝ่ายเพื่อป้องกันตนเอง และสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้ละเมิดเฝ้าย้ำบอกเหยื่อว่า เป็นความผิดของเหยื่อเอง

13. ความรุนแรงต่อสตรีเกิดจากคนแปลกหน้า

ไม่จริง ความรุนแรงต่อสตรีส่วนใหญ่เกิดจากคู่ครองปัจจุบันหรืออดีตคู่ครอง ผู้หญิงจำนวน 76% รายงานว่าถูกสามีหรืออดีตสามี หรือแฟนร่วมบ้านทำร้ายร่างกายหรือถูกข่มขืน มีผู้หญิงแค่ 14% ที่ถูกทำร้ายร่างกายโดยคนที่ไม่รู้จักกัน

14. ทำไมผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายจึงยอมทน

คนจำนวนมากมักสงสัยว่า “ทำไมผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจึงไม่หนีไปหาที่พึ่ง ทำไมจึงทนอยู่” รวมกับว่าการหนีจากไปเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายได้ เป็นสิ่งสำคัญมากที่เราจะต้องเข้าใจว่า มีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้เหยื่อไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่พื้นที่ปลอดภัยได้ โดยเฉพาะเหยื่อในความสัมพันธ์เชิงละเมิด แทนที่เราจะถามว่าทำไมผู้หญิงจึงไม่ทำอย่างนั้น หรือไม่ทำอย่างนี้ เราควรจะทำว่า “ทำไมสามีจึงทำร้ายภรรยา และฉันจะช่วยภรรยาให้หาที่พึ่งที่ปลอดภัยได้อย่างไร” มีปัจจัยมากมายหลายอย่างที่ผู้ถูกกระทำต้องคำนึงถึงในการที่จะตอบสนองต่อคนที่กระทำต่อพวกเธอ ความเป็นจริงก็คือว่า ช่วงเวลาที่อันตรายมากที่สุดสำหรับผู้หญิงที่ถูกทำร้ายก็คือ ช่วงที่พวกเธอคิดจะจากสามีตัวเองไป 75% ของสถิติฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาครอบครัวเกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงแยกทางจากไป และความรุนแรงนี้เพิ่มขึ้นอีก 75% แม้จะแยกทางจากกันแล้วไม่ถึงสองปี ปัญหานี้เป็นเรื่องจริงและจะต้องจัดการด้วยการ “วางแผนถอยฉากอย่างปลอดภัย (safety planning)”

15. วัฒนธรรมมีบทบาทอย่างไร

วัฒนธรรมทั้งหลายมีทั้งจารีตประเพณีที่ทั้งต่อต้านและยอมรับความสัมพันธ์เชิงละเมิด เราไม่สามารถใช้วัฒนธรรมมาเป็นข้ออ้างสำหรับการละเมิดทางกายและใจต่อสตรีเพศได้ แม้ว่าผู้ทำการละเมิดจะใช้ “วัฒนธรรม” เป็นข้ออ้างในการกระทำของตน การทำร้ายผู้อื่นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหรือกลุ่มสังคมใดๆ – มันเป็นทางเลือก และการอ้างวัฒนธรรมก็เหมือนการไม่ยอมรับผิดชอบในสิ่งที่ตนกระทำ เป็นที่น่าเสียใจว่า ความสัมพันธ์เชิงละเมิดมีอยู่ในทุกสังคมวัฒนธรรม ทั่วโลก วัฒนธรรมที่หลากหลายอาจมองปัญหาการละเมิดต่างกันไป และบางวัฒนธรรมก็เอาผิดกับคนละเมิดมากกว่าบางวัฒนธรรม เราจำเป็นต้องลงโทษผู้กระทำผิดใน ทุกๆวัฒนธรรม และ ด้วยความเท่าเทียมกัน (ไม่ใช่ลงโทษคนผิวดำมากกว่าคนผิวขาว เป็นค้น) วัฒนธรรมนั้นถูกกำหนดโดยบุคคล ดังนั้น ขอให้เราถามผู้เหยื่อว่าต้องการนิยามวัฒนธรรมของเธออย่างไร ก่อนที่จะสันนิษฐานและรับรองว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอย่างปลอดความรุนแรงและการละเมิด

16. การเยียวยาผู้ละเมิดจะช่วยลดความรุนแรง

ยังไม่แน่นอน เพราะการส่งคนผิดไปรับการบำบัดมักจะไม่ค่อยได้ผล เพราะมีจำนวนผู้รับการบำบัดที่จบก็ไปก็มีไม่กี่คนที่หยุดพฤติกรรมรุนแรงโดยสิ้นเชิง การส่งคนผิดไปบำบัดยังเป็นการสร้างความปลอดภัยแบบปลอมๆให้กับคนที่ตกเป็นเหยื่อด้วย เพราะคนผิดที่ตกหล่นไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่องนั้นมีถึง 89% แล้วคนเหล่านี้ก็มีแนวโน้มจะกลับไปใช้ความรุนแรงอีก แล้วคนที่เข้ารับการรักษาไม่ต่อเนื่องก็ไม่ต้องได้รับโทษแต่อย่างไร ในกรณีที่ต้องกลับมารับการรักษาซ้ำ ส่วนการที่จะรู้ว่าผู้รับการบำบัดได้เปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่ ก็จะรู้ได้จากการสอบถามทางโทรศัพท์กับคู่สมรสหรือครอบครัว หรือเมื่อผู้รับการบำบัดคนนั้นถูกจับกลับมาอีกครั้ง การให้คำปรึกษารายบุคคลกับคนที่ชอบตบตีภรรยาหรือคู่สมรสอาจเป็นประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ แต่เป็นวิธีที่อันตรายมาในการจะหยุดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เพราะข้อมูลที่ผู้ให้คำปรึกษาจะได้จากผู้รับการบำบัดนั้น เป็นข้อมูลข้างเดียวที่มองว่าอีกฝ่าย(เหยื่อ)เป็นคนผิด ดังนั้นข้อมูลที่ได้การปรึกษาลักษณะนี้จึงมีประโยชน์น้อยมากและมีความผิดพลาดได้เป็นส่วนใหญ่ .

17. ควรนำคู่สมรสมารับการปรึกษาพร้อมกัน

ไม่สมควรอย่างยิ่ง การให้คำปรึกษากับคู่สมรสพร้อมกันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะความสัมพันธ์เชิงละเมิดเช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “การให้คำปรึกษาคู่สมรสพร้อมกันจะมีประโยชน์ต่อเมื่อเป็นการสะสางความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน แต่การละเมิดทุบตีคู่สมรสถือเป็นอาชญกรรมที่รุนแรง เป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นพฤติกรรมที่ผู้ละเมิดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว ผู้ละเมิดเป็นคนเลือกที่จะทำ และเป็นคนเดียวที่จะหยุดกระทำได้ แม้ว่าฝ่ายที่ทำร้ายจะบอกอีกว่าเป็นฝ่ายยั่วยุให้เกิดปัญหาก็ตาม เพราะว่าความประพฤติของสมาชิกครอบครัวคนหนึ่งไม่ควรจะเป็นสาเหตุให้คู่สมรสอีกคนหนึ่งใช้กำลังและความรุนแรง กล่าวโดยสรุป การให้คำปรึกษาเป็นคู่ ไม่เหมาะกับปัญหานี้เพราะ

  • ทำให้ฝ่ายหญิงที่ถูกทุบตีเป็นอันตรายได้เพราะอีกฝ่ายจะต้องข่มขู่คุกคามไม่ให้ผู้ความจริงระหว่างที่เข้ารับการปรึกษา
  • ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหลักการว่าฝ่ายหญิงมีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรงในครอบครัวได้
  • ทำให้ลืมหรือปล่อยผ่านประเด็นปัญหาความรุนแรงและการทุบตีได้ เพราะการปรึกษามักจะเน้นไปที่การพูดคุยของคู่สมรสมากกว่า
  • ทำให้ดูเหมือนว่าผู้ให้คำปรึกษายอมรับความรุนแรงหรือเห็นว่าความรุนแรงนั้นไม่สำคัญ
  • ทำให้ฝ่ายหญิงรู้สึกแปลกแยกมายิ่งขึ้น เพราะเธอจะไม่กล้าพูดถึงความรุนแรงในระหว่างการให้คำปรึกษา
  • เหมือนกับว่าฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบในการพาฝ่ายชายไปรับการรักษาด้วยคำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาก็จะเหน็ดเหนื่อยต่อการที่ผู้ละเมิดจะหาวิธีพลิกแพลงต่างๆนานาที่จะไม่รับการรักษาตัวคนเดียว

18. เด็กผู้ชายที่เห็นความรุนแรงมีแนวโน้มจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรงด้วย

ไม่จริงเสมอไป จากการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กชายประมาณ 10%-30% ที่ได้ประสบกับเหตุการณ์รุนแรงในครอบครัวมาก่อนก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรงชอบตบตีด้วยเช่นกัน ส่วนเด็กชายอีก 70%-90% จะไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้น การได้เห็นความรุนแรงในครอบครัวจึงไม่ได้หมายความว่า เด็กจะต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ที่รุนแรงเสอมไป แต่เป็นการเลือกของเด็กเอง และเด็กจำนวนมากที่เคยเห็นความรุนแรงก็เกลียดความรุนแรงเช่นกัน

19. ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดบ่อย

ไม่จริง การใช้ความรุนแรงทางร่างกายเป็นกลยุทธ์ที่จะควบคุมคนอื่น และโดยส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการควบคุมที่ใหญ่กว่านั้นในการที่จะใช้เทคนิคต่างๆ ตั้งแต่การข่มขู่ การทำให้อับอาย การแยกโดดเดี่ยว การควบคุมทางการเงินและเศรษฐกิจ การละเมิดทางจิตใจและร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ละเมิดคิดว่าตัวเองไม่อาจจะควบคุม “เหยื่อ” ของตัวเองได้อีกต่อไป

20. ผู้หญิงที่ถูกทุบตีทำร้ายมักเป็นฝ่ายอ้อนมือเอง

ไม่จริง เป็นการยากมากที่ผู้เป็นเหยื่อจะเป็นคนท้าทายให้อีกฝ่ายทุบตีทำร้ายตน คนที่เลือกจะทำร้ายก็คือ “ผู้ละเมิด” เพราะผู้ละเมิดเลือกได้ว่าจะเลิกกับเหยื่อหรือจะพูดคุยให้เข้าใจกัน หากว่าเหยื่อเป็นคนท้าทายจริง แทนที่จะใช้การตบตี ยังไม่มีงานวิจัยใจที่บอกว่า ผู้หญิงชอบถูกตบตี ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายมักจะพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะหนีไปจากคนที่ทำร้ายตน แต่ทำไม่ได้เพราะผู้ควบคุมชีวิตของเธอจะทำร้ายเธอรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และหาวิธีต่างๆนานามาข่มขู่ จำนวนฆาตกรรมที่เกี่ยวกับความรุนแรงภายในครัวเรือนเกือบ 75% เกิดจากการที่เหยื่อพยายามจะขอแยกทางจากคู่ครองอารมณ์ร้ายของตัวเอง ดังนั้น การที่ผู้หญิงยังไม่ยอมหนีไปก็เป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์ของการเอาชีวิตรอด

21. ความหมายเปลี่ยนเมื่อคำเปลี่ยน

การเปลี่ยนมุมพูดถึงปัญหาความสัมพันธ์เชิงละเมิดกับการคุกคามทางเพศจะทำให้การมองปัญหาของเราเปลี่ยนไป และไม่เป็นการชี้นิ้วไปที่เหยื่อ เช่น แฟรงก์ กับ สมศรีแต่งงานกัน แฟรงก์ทำร้ายร่างกายสมศรีบ่อยๆเวลาสมศรีทำอะไรไม่ถูกใจ ถ้าเราพูดว่า “สมศรีถูกตบตี” มันทำให้ดูเหมือนสมศรีสมควรที่จะถูกกระทำเช่นนั้น แต่ที่จริงเราต้องนึกถึงแฟรงก์และการที่เขาเลือกจะตบตีสมศรี เช่น “แฟรงก์เป็นฝ่ายซ้อมสมศรี” จะเป็นประโยคที่พุ่งความสนใจไปที่แฟรงค์ ซึ่งเป็นคนละเมิดในที่นี้ และทำให้เราตระหนักว่าปัญหาอยู่ที่ไหน

เมื่อเราพูดถึง “ความรุนแรงต่อสตรี” เรามักจะคิดไปว่า ฝ่ายหญิงไปทำผิดอะไรจึงถูกทุบตีมากกว่าว่าทำไมฝ่ายชายจึงใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง แต่ถ้าเราพูดว่า “ความรุนแรงของผู้ชายต่อสตรี หรือความรุนแรงของคนรักเพศเดียวกัน” จะทำให้เรานึกถึงสิ่งที่ผู้ละเมิดกระทำต่อผู้ถูกละเมิด ความรุนแรงที่มีฐานทางเพศนั้นเกี่ยวกับเพศทั้งสองแน่นอน แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นว่าเราหมายถึงทั้งสองเพศจริงๆ ไม่ใช่ไม่กล่าวถึงเพศใดเลย

การที่ตั้งกรอบเสียใหม่นี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อกล่าวถึงสถิติการละเมิดในความสัมพันธ์และการคุกคามทางเพศ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเขียนดังนี้

“ทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกา มีผู้หญิงอย่างน้อย 1 ใน 3 คนที่ประสบกับปัญหาความสัมพันธ์เชิงละเมิดหรือถูกกระทำทางเพศในช่วงหนึ่งๆในชีวิตของพวกเธอ” (ข้อมูลจาก World Health Organization, 2013)
ในขณะที่สถิตินั้นควรจะพูดเสียใหม่ว่า “ทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกา ผู้ชายจะละเมิดทางความสัมพันธ์หรือกระทำผิดทางเพศกับผู้หญิงอย่างน้อย 1 ใน 3 คน” (ข้อมูลจาก World Health Organization, 2013)
ต่อไปนี้คือตัวอย่างการเรียบเรียงสถิติขององค์การอนามัยโลกเสียใหม่ เพื่อเน้นไปที่ผู้ก่อความรุนแรงมากกว่าเน้นไปที่เหยื่อ

  • ผู้ชายจะทำร้ายผู้หญิง 1 ใน 3 คนที่ตนเองมีความสัมพันธ์ด้วย
  • ผู้ชายข่มขืนผู้หญิงหนึ่งใน 4 คน และข่มขืนผู้ชาย 1 ใน 33 คน
  • ผู้ชายหรือผู้หญิงจะทำร้ายคู่ครองเพศเดียวกัน ทุก 1 ใน 4
Message us