ฝันสลายที่ปลายทาง

ภาพทั่วไป
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จำนวนหญิงไทยที่แต่งงานกับหนุ่มสวีเดนมีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เฉพาะห้วงเวลาสี่ปี หญิงไทยสะใภ้สวีเดนได้เพิ่มจาก 17,099 คนในปี ค.ศ. 2009 เป็น 36,974 คน ในปี ค.ศ. 2013 สถิติล่าสุดในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2017 พบว่ามีหญิงไทยจดทะเบียนสมรสกับชายสวีดิชถึง 16,000 คน (SCB: Statistiska centralbyrån (Statistics Sweden), 2009, 2013, 2017) โดยภาพรวมแล้วหญิงไทยที่อาศัยในสวีเดน เป็นหญิงไทยที่แต่งงานกับชาวสวีเดน 93% และได้รับใบอนุญาตให้พำนักอาศัยจากการแต่งงาน ย้ายถิ่นตามสถานะครอบครัว มีหญิงไทยจำนวนน้อยที่มาศึกษาเล่าเรียนที่สวีเดน หรือย้ายถิ่นด้วยเหตุผลอื่น ๆ

บทสรุปรายงานการวิจัย
ปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนางวีรติ พงษ์ทิพย์พัฒน์ และคณะ

จากต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Broken dreams of a better life in Sweden: Thai women’s lived experiences of intimate partner violence by Swedish men in international Marriages”

Authors: Weerati Pongthippata,b, Mehrdad Darvishpoura, Jureerat Kijsompornc and Gunnel Östlunda, School of Health, Care and Social Welfare, Mälardalen University, Eskilstuna, Sweden;
a,b Mental Health and Psychiatric Nursing Department, Boromarajonani College of Nursing Udon Thani, Udon Thani, Thailand; c Praboromrajchanok Institute for Health Workforce Development, Ministry of Public Health, Nonthaburi, Thailand

รายงานบทความดุษฎีนิพนธ์ฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) สามารถติดตามอ่านได้ที่
https://doi.org/10.1080/16549716.2018.1496889

รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “ประสบการณ์ชีวิตของหญิงไทยในสวีเดน: ภาระความรับผิดชอบต่อภาวะสุขภาพและเศรษฐกิจของครอบครัว” (Living experiences of Thai female immigrants in Sweden-Family economics, transnational and health responsibilities) โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา อธิบาย และวิเคราะห์ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพและสวัสดิภาพของหญิงไทยที่อพยพและอาศัยอยู่ในประเทศสวีเดน โดยศึกษาในมุมมองของหญิงไทย มีความเป็นปัจเจกบุคคลเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราว ประสบการณ์ การดำเนินชีวิต ภาวะสุขภาพกาย สุขภาพจิต ความแตกต่างทางเพศ อายุ ศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม และความเชื่อ โดยมุ่งศึกษาประสบการณ์ของหญิงไทย ภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว บทบาทภาระความรับผิดชอบต่อภาวะสุขภาพ และเศรษฐกิจของครอบครัวของพวกเธอในประเทศไทย รวมทั้งภาวะสุขภาพทั้งด้านร่างกาย และจิตใจของหญิงไทยที่อาศัยในสวีเดน การดำเนินชีวิต การปรับตัวกับการแต่งงาน และ/หรือ การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ชายสวีเดน ภาวะหรือปัญหาทางสังคม และเศรษฐกิจ ความรุนแรงในความครอบครัว และ/หรือความรุนแรงในการใช้ชีวิตร่วมกับชายชาวสวีเดน รวมทั้งความสัมพันธ์ชีวิตคู่ในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างหญิงไทยและผู้ชายสวีเดนที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ

วัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษาประสบการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับหญิงไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศสวีเดน

กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มอาสาสมัครที่เป็นผู้ร่วมโครงการวิจัยฯ เป็นหญิงไทยที่อาศัยในประเทศสวีเดน โดยมีคุณสมบัติ ได้แก่

  • เกิดในประเทศไทยและยังคงมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทย
  • อาศัยในประเทศสวีเดนอย่างน้อย 5 ปี
  • แต่งงานกับชายสวีดิช และ/หรือ ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันกับชายสวีดิช
  • เคยแต่งงาน และ/หรือ เคยใช้ชีวิตคู่ร่วมกันกับชายสวีดิช (แยก/หย่าร้าง/ตายจาก)
  • สามารถติดต่อสื่อสารด้วยภาษาไทยได้
  • มีความยินดีเข้าร่วมโครงการวิจัยฯ

วิธีการศึกษาวิจัย
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งเชิงโครงสร้าง (Semi-structured interviews) ที่ใช้เทคนิกการบันทึกเหตุการณ์สำคัญ (critical incident technique) โดยใช้ระเบียบวิจัยการวิเคราะห์ข้อมูลที่เรียกว่า การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงคุณภาพ (Content Analysis)

หญิงไทยที่อาสาเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ฯมีทั้งหมด 40 คน พวกเธอได้รับการสัมภาษณ์แบบรายบุคคล โดยคำถามมีที่ครอบคลุม 3 ประเด็น ได้แก่

  • ชีวิตประจำวัน และครอบครัว (Everyday life and family life)
  • ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบข้ามชาติ (Transnational and responsibility in Thailand) และ
  • เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสวัสดิการสังคม (Situations related to health and welfare)

ตัวอย่างของคำถามในการสัมภาษณ์ ได้แก่ ประสบการณ์การดำเนินชีวิต การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ประสบการณ์ด้านอาชีพ ประสบการณ์ในชีวิตครอบครัว ความสัมพันธ์ของหญิงไทยและครอบครัว (ทั้งในประเทศสวีเดนและประเทศไทย) ประสบการณ์การใช้ชีวิตคู่ร่วมกับชายสวีดิช ประสบการณ์การเป็นภรรยาของชายสวีดิช และ/หรือ การหย่าร้าง ประสบการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตคู่ หน้าที่ความรับผิดชอบของหญิงไทยที่มีต่อครอบครัวและญาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย/ประเทศสวีเดน รวมทั้งการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

ผลการวิจัย…

จากจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด 40 คน มีผู้ที่รายงานว่าประสบความรุนแรงในชีวิตคู่ 18 คน โดยมีระดับการศึกษา คือ (1) ไม่ได้เรียนหนังสือ 3 คน (2) ประถมศึกษา (6 ปี) 2 คน (3) มัธยมศึกษา (12 ปี) 2 คน (4) วิทยาลัย (หลักสูตรในระดับปริญญาตรี) 5 คน และ (5) ปริญญาตรี 6 คน

  • ข้อมูลประชากรตัวอย่าง (หญิงไทย 18 คนที่รายงานว่าได้รับความรุนแรง)
  • อายุ 35–68 ปี
  • เดินทางมาสวีเดนระหว่างอายุ 23–50 ปี หรือเฉลี่ย 33 ปี
  • อาศัยอยู่ในสวีเดนตั้งแต่ 6 ถึง 43 ปี หรือเฉลี่ย 19 ปี

ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย (หรือถิ่นอาศัยที่อยู่นานที่สุด)

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 9 คน
  • ภาคเหนือ 1 คน
  • ภาคใต้ 1 คน
  • ภาคกลาง 7 คน

สถานภาพสมรส

  • อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน โดยการแต่งงาน และ/หรือไม่ได้จดทะเบียน (Samboo) 8 คน
  • อาศัยอยู่คนละบ้านแต่มีความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา (särbo) 5 คน
  • หย่าร้าง (divorce) 5 คน

พวกเธอบรรยายถึงการเป็น “เมียฝรั่ง” กับการแต่งงานข้ามชาติว่า ต้องอาศัยความอดทน การนิ่งเงียบ (สงบปาก สงบคำ) ความซื่อสัตย์ การเป็นแม่บ้าน ความรักและรับผิดชอบ ฯลฯ ซึ่งในบางครั้ง การทำหน้าที่เมียที่ดีก็ไม่อาจช่วยให้พวกเธอปลอดพ้นจากการถูกกระทำรุนแรงจากคู่รักหรือสามีสวีดิชได้ อย่างไรก็ดี พวกเธอยังรู้สึกว่าต้องอดทน ยืนหยัดและต่อสู้โดยไม่ยอมพ่ายแพ้ เพราะเชื่อว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในประเทศสวีเดน

แต่ระดับการศึกษาไม่ใช่เงื่อนไข
การศึกษาพบว่าความเหนือกว่าของฝ่ายหญิง (การศึกษา เงินเดือน อาชีพ ฐานะทางสังคม) กลับทำให้ฝ่ายชายที่การศึกษาน้อยหรือฝ่ายชายที่มีปัญหาทางจิตใจ รู้สึกด้อยและอิจฉา จนบางคนที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ถึงกับใช้ความรุนแรงกับภรรยาเพื่อแสดงว่าตนเองเป็นใหญ่กว่า

“สามีมีเงินเดือนน้อยกว่าดิฉัน …เราทะเลาะกันบ่อย ๆ มาจากหลายสาเหตุ อย่างเช่น ดิฉันไปเยี่ยมบ้านและให้เงินกับพ่อแม่ที่บ้าน เขาอิจฉา และไม่เคยเข้าใจวัฒนธรรมไทยว่า เราต้องดูแลครอบครัว …อดีตสามีสวิดิชเป็นคนขี้เกียจ ขาดความรับผิดชอบ ไม่กระตือรือร้น และไม่ช่วยทำอะไรในบ้านเลย… ดิฉันต้องทำงานแทบทุกอย่างด้วยตัวเอง เช่น ต้องปีนบันได เปลี่ยนหลอดไฟ ซ่อมก๊อกน้ำรั่ว …ดิฉันเหนื่อยมาก และยอมแพ้ …แม้ว่าเขาจะไม่เคยตบตี หรือทำร้ายร่างกาย แต่เขาก็ชอบใช้พูดหยาบคาย ด่าทอเพื่อทำร้ายจิตใจของเรา… สุดท้ายดิฉันขอเขาหย่า…. (หญิงไทย Interview #2)

ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
หญิงไทยกลุ่มตัวอย่างบรรยายถึงการเป็น “เมียฝรั่ง” กับการแต่งงานข้ามชาติว่า ต้องอาศัยความอดทน การนิ่งเงียบ (สงบปาก สงบคำ) ความซื่อสัตย์ การเป็นแม่บ้าน ความรักและรับผิดชอบ ฯลฯ ซึ่งในบางครั้ง การทำหน้าที่เมียที่ดีก็ไม่อาจช่วยให้พวกเธอปลอดพ้นจากการถูกกระทำรุนแรงจากคู่รักหรือสามีสวีดิชได้ อย่างไรก็ดี พวกเธอยังรู้สึกว่าต้องอดทน ยืนหยัดและต่อสู้โดยไม่ยอมพ่ายแพ้ เพราะเชื่อว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในประเทศสวีเดน

ผลการงานวิจัยพบว่าหญิงไทยประสบความรุนแรงใน 4 รูปแบบ ดังนี้

ความรุนแรงที่หญิงไทยประสบ (18 คน)
 ความรุนแรงทางจิตใจ (อย่างเดียว) 9 คน
 ความรุนแรงทางร่างกาย และจิตใจ 6 คน
 ความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ และเศรษฐกิจ 1 คน
 ความรุนแรงทางจิตใจและทางเพศ 1 คน
 ความรุนแรงทางจิตใจ ทางเศรษฐกิจ และทางเพศ 1 คน

หญิงไทย (ผู้ให้สัมภาษณ์) รายงานว่า ความรุนแรงที่ได้รับ ไม่ใช่เฉพาะการกระทำทางทางกาย เช่น ตบตี ผลักไส ต่อย เตะ ทำร้ายร่างกาย แต่ยังเป็นความรุนแรงที่พรากเอาศักดิ์ศรีของภรรยาไปด้วย เช่น การพูดจาดูถูกดูหมิ่นทำร้ายจิตใจ การหลอกลวง การทรยศ การนอกใจไปมีหญิงใหม่ การตัดหนทางการหารายได้ (การทำมาหากิน) ของภรรยา การไล่ออกจากบ้านท่ามกลางอากาศหนาวจัด การปฏิบัติต่อภรรยาเยี่ยงทาสหรือคนรับใช้ การปฏิบัติกับลูกติดจากเมืองไทยอย่างเลวร้าย การไม่ช่วยเหลือให้ภรรยาปรับตัวเข้าสังคม หญิงไทยบางคนรายงานว่า เมื่อสามีดื่มเหล้าและเมาแล้ว มักจะเกิดการทะเลาะวิวาท นอกจากนั้น หญิงไทยบางคนรายงานว่า สามีสวีดิชมีนิสัยเอาเปรียบ เกียจคร้าน ทอดทิ้งภาระการเลี้ยงลูก และงานในบ้านให้ตนเองรับผิดชอบ ความไม่เป็นผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย (ลูกแหง่ของแม่) การให้เงินไม่พอซื้ออาหารการเงิน การไม่ดูดำดูดีในยามลูกหรือภรรยาเจ็บป่วยอยู่ที่บ้าน การไม่พยายามเข้าใจความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของภรรยา ความอิจฉาครอบครัวของภรรยา รวมไปถึง การก้าวก่ายโดยภรรยาเก่าหรือแม่สามี

ทางแก้ไขปัญหา ….อยู่ที่ไหน

เมื่อประสบความเดือดร้อน หญิงไทยเมียฝรั่งต้องพบความยากลำบากในการขอความช่วยเหลือ รวมทั้งการช่วยตัวเองให้อยู่รอด ในกรณีที่แจ้งความสามีฝรั่งแล้วสามีถูกจับ หญิงไทยก็ต้องอยู่ด้วยตัวเอง ซึ่งพวกเธอหลายคนยังพึ่งตัวเองไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัญหาดูเหมือนเป็นทางตันสำหรับพวกเธอที่ทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องทนยอม

นอกจากนั้น งานวิจัยยังพบว่า ภรรยาผู้ถูกขับไล่ไสส่งออกจากบ้านที่เคยอยู่ร่วมกันกับสามี ต่างสะท้อนความรู้สึกว่าถูกหมิ่นเกียรติ-ถูกพรากศักดิ์ศรีความเป็นคน โดยไม่รู้ว่ามีกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชนใดจะมาคุ้มครองหรือดูแลความเป็นอยู่ของพวกเธอได้

หญิงไทยที่ให้สัมภาษณ์พบว่า ตนเองได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านกับบริการด้านสังคมสงเคราะห์ของรัฐมากกว่าจากสามีและครอบครัวของสามี ถึงกระนั้น ก็ไม่มีหญิงไทยคนใดอยากบากหน้ากลับเมืองไทย เพราะความกลัวเสียหน้า และพวกเธอต้องการอดทนกับสามีหรือคู่ครองถึงที่สุด และแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในสวีเดนต่อไป

……เจาะงานวิจัยเพิ่มอีกนิด

ตามเงาความคิด โดย จงเจริญ ศรแก้ว

ความฝันเริ่มต้นที่เมืองไทย
…หญิงไทยจำนวนมากมุ่งมั่นจนเกือบถึงขึ้นใฝ่ฝันที่จะได้แต่งงานครองคู่กับชาวต่างชาติ ผิวขาว ผมทอง ตาสีฟ้า หรือที่เรียกว่า handsome, blond hair and blue eyes รูปหล่อ สูง-ขาว (ใหญ่) ใจดี และมีฐานะ (ไม่ยากจน) และที่สำคัญคือ ชายต่างชาติเหล่านี้ “ยอมรับ” ความเป็นเธอ ไม่ว่าจะสูง ต่ำ ดำ ขาว จน ไม่มีงานทำ มีลูกติด มีภาระ ปากกัดตีนถีบ มีอาชีพต้อยต่ำ พวกเขาส่วนมากไม่ได้เลือกเบื้องหลังหรือฐานะการเงินของพวกเธอเป็นหลัก แต่เลือกในความเป็นหญิงไทยที่อ่อนหวาน ช่างเอาอกเอาใจ พร้อมเป็นผู้ตาม และไม่เรียกร้องมาก ที่พวกเขาได้ประทับใจเป็นเบื้องแรก

หญิงไทยบางคนโชคดีเลือกจนได้พบเจ้าชายรูปหล่อขี่ม้าขาว และนำพวกเธอตามสู่ชีวิตใหม่ในแดนไกลสุดขอบฟ้า เพื่อไปให้ถึงฝั่งฝัน พวกเธอบางคนไม่โชคดีนัก จึงยอมคว้าโอกาส “อะไรก็ได้ หรือใครก็ได้ที่ผ่านเข้ามา” โดยไม่ต้องคำนึงถึง “ความเสี่ยง” หรือเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ได้แก่ การปรับตัว ความรู้ภาษา โอกาสในการมีงานทำ วัฒนธรรมที่แตกต่าง ฯลฯ ไม่คำนึงถึเบื้องหลังความเป็นมาของผู้ชายเหล่านั้น พวกเธอพร้อมจะเสี่ยงและ “ไปตายเอาดาบหน้า” แน่นอนว่า พวกเธอพลโดยเร็วว่าความฝันกับความจริงนั้นสวนทางกัน สิ่งที่ต้องเผชิญในต่างแดนร่วมชีวิตกับชายต่างชาติต่างวัฒนธรรมนั้นไม่หอมหวาน บางครั้งยังเป็นเหมือนฝันร้ายที่พรากเอา คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สร้างความบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ

ซื่อสัตย์และว่าง่าย
หญิงไทยได้ชื่อว่าเป็นช้างเท้าหลังเสมอมา ความซื่อ อ่อนหวาน ว่าง่าย ไม่เรื่องมาก เป็นสิ่งที่ดึงดูดชายต่างชาติจำนวนมาก ในขณะเดียวกันคุณสมบัติเช่นนี้ก็กลายเป็นหอกที่ทิ่มแทงพวกเธอโดยไม่ตั้งใจ กล่าวคือหญิงไทยที่ยึดถือคติความอดทนนี้จะมองเห็นความรุนแรงที่สามีทำกับตนเป็นเรื่องปกติของครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสมรส เป็นเรื่องธรรมดา และการบอกเล่าให้ใครรู้ปัญหาหรือการขอความช่วยเหลือถือเป็นการเสียหน้า จึงกลายเป็นปัจจัยที่หล่อเลี้ยงความรุนแรงทางกาย วาจา จิตใจ ในบ้านให้ดำรงอยู่ต่อไป

(คัดลอกจากงานวิจัย) “สามีหนูชอบดื่ม และใช้เวลากับเพื่อนฝูง ปล่อยให้หนูอยู่กับลูกเล็ก ๆ คนเดียว เวลากลับบ้าน เขาก็จะอารมณ์เสียกับทุกอย่าง เขาผลักและตบตีหนู… หนูหกล้ม และมีรอยแผลตามตัว….สีแดงสีเขียวเป็นจ้ำ ๆ จนออกจากบ้านไปไหนไม่ได้หลายวัน… แต่หนูก็ไม่ได้แจ้งความ หรือใส่ใจโกรธแค้นเค้า มันเป็นชีวิตครอบครัว หนูคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาและปกติ (เรื่องเล็ก ๆ ในบ้าน) หนูก็เลยเงียบไว้ ไม่ได้บอกใคร…”
แตงกวา (นามสมมุติ) ไม่ได้เรียนหนังสือ พนักงานทำความสะอาด

อึดและอดทนเยี่ยงทาสในเรือน
เมื่อบากหน้าไปต่างประเทศแล้ว หญิงไทยต่างเชื่อเรื่องการ “ไปตายเอาดาบหน้า” ดังนั้น พวกเธอจึงมีความอดทน อดกลั้น และอึดอย่างน่ามหัศจรรย์ สาเหตุส่วนหนึ่งคือความยากจนที่บ้าน การไม่มีทางเลือก-ไม่มีที่ไป ความเป็นห่วงครอบครัวที่เมืองไทย การไม่รู้สิทธิของตัวเอง ฯลฯ พวกเธอทนต่อการทะเลาะเบาะแว้ง ปัญหาการดื่มและการใช้ยา การถูกกระทำรุนแรง ต้องทำตัวเป็นเมียที่ไว้วางใจได้ ต้องแบกรับภาระของครอบครัวไว้บนบ่าคนเดียว ทนกับสามีที่ทำตัวเป็นเด็กไม่รู้จักโต ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม สามีทำอะไรได้ตามใจ แต่ตัวเองถูกห้ามทำโน่น-นี่-นั่น และการต้องเป็นฝ่ายให้โดยไม่ได้รับอะไรกลับมา แม้แต่คำชมหรือการขอบใจจากฝ่ายสามี

หญิงไทยเมียฝรั่งเหล่านี้มีบทบาทในครอบครัวที่มากมาย ตั้งแต่เป็นคนทำความสะอาดบ้าน เป็นแม่บ้าน เป็นคนรับใช้ เป็นคนรองรับอารมณ์ทางเพศของสามี พวกเธอพบความผิดหวังในสวีเดน ที่คิดว่าชีวิตจะดีกว่าอยู่ที่เมืองไทย พวกเธอรู้สึกว่าไม่ได้รับความเคารพนับถือหรือเกรงใจจากสามีหรือครอบครัวของสามี พวกเธอรู้สึกต้อยต่ำ ถูกปฏิบัติอย่างไร้ค่าในฐานะที่เป็นเมียชาวเอเชียในครอบครัวฝรั่ง

(คัดลอกจากงานวิจัย) “…เราอยู่ด้วยกันมาเจ็ดปี มีลูกชายสองคน อายุหกขวบ และขวบครึ่ง ทีแรกเขา (สามีสวีดิช) เป็นคนดีมาก …พอแต่งงานกันไม่นาน หนูได้เห็นนิสัยที่แท้จริงของเขา ….เขาไม่เป็นผู้ใหญ่ ไม่ช่วยทำงานบ้าน ชอบเล่นวีดีโอเกม ไม่ชอบทำความสะอาด ไม่ช่วยดูแลลูก บางทีก็ไปเรียกแม่เขามาช่วยดูลูก… แล้วส่วนมากเขาชอบไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง…
ตอนที่เขาเริ่มทำงานใหม่ หนูรู้สึกเครียดมาก …เขา (สามี) ต้องทำงานกะกลางคืน และอยู่ไปจนเช้า ช่วงนั้นเขาจะบ่นมาก …บ่นเรื่องงาน โวยวาย กลายเป็นคนขี้รำคาญ และโกรธไปทุกอย่าง เราทะเลาะกัน เขาพาลเอาความโกรธไปลงที่ลูก ๆ ตะโกน และใช้คำหยาบคาย ปาข้าวของลงพื้น… หนูบอกเขาว่าถ้าเขาไม่ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น หนูจะขอหย่า…”
(ชบา, 27 ปี พนักงานทำอาหาร)

ถูกทิ้งและดูหมิ่นศักดิ์ศรี
สุภาษิตไทยบอกว่า “เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร” แต่การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมและย้ายถิ่นเช่นนี้ทำให้หญิงไทยตกเป็นเบี้ยล่างแทบจะโดยสิ้นเชิง อาจต้องเสียทั้งทองเสียทั้งสามี โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายชายไปพบหญิงใหม่ที่ถูกใจกว่า สาวกว่า น่าปรารถนามากกว่า สามีก็จะเขี่ยพวกเธอทิ้งอย่างง่ายดาย และทำให้พวกเธอต้องเผชิญความการเสียศักดิ์ศรีอย่างไม่มีทางต่อสู้ สตรีที่ให้สัมภาษณ์ครึ่งหนึ่งบอกว่า สามีทิ้งไปมีผู้หญิงย้ายถิ่นจากเมืองไทย จากฟิลิปปินส์ จากซีเรีย หรือจากฟินแลนด์

เหตุผลที่ฝ่ายชายใช้ในการทิ้งภรรยาเก่า คือเธอไม่มีความเร้าใจทางเพศต่อไป ไม่สามารถหาเงินมาช่วยครอบครัว ไม่ดูแลครอบครัวให้ดีพอ หรือไม่ดีพอสำหรับเขา หรือเขาไปเจอผู้หญิงใหม่และต้องการหย่า ผลที่เกิดขึ้นบางครั้งคือฝ่ายหญิงต้องถูกระเห็จออกจากบ้าน ไม่มีที่อยู่ ต้องตกอยู่ในสภาวะอารมณ์ที่สั่นคลอนจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิต พวกเธอบางคนต้องสูญเสียบ้านที่เคยร่วมอาศัยกับฝ่ายชาย หรือสูญเสียธุรกิจที่ร่วมกันสร้างมา และสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเองไปทั้งหมด

(คัดลอกจากงานวิจัย) “สามีเก่าคนสวีดิช เขามีผู้หญิงหลายคนมาก แต่พี่ไม่เคยคิดว่าเขาจะทิ้งพี่ไปมีผู้หญิงใหม่ เพราะเราทำธุรกิจขายผลไม้ด้วยกัน เขาเป็นทั้งสามีและหุ้นส่วน เขาหลอกลวงและหักหลังพี่ และไปพาผู้หญิงฟิลิปปินส์มาอยู่ที่สวีเดนด้วย เขาตบตีและทำร้ายพี่ เขาบอกว่า ยูแก่แล้วและไม่น่าพิศวาส…… พี่ต้องเสียทั้งบ้าน ธุรกิจขายผลไม้ และป่วยเป็นโรคซึมเศร้า…”
กานดา (นามสมมุติ) อายุ 51 ปี ไม่มีการศึกษา ผู้ประกอบการ

เมื่อสามีที่เป็นเจ้าของประเทศเป็นจุดเชื่อมโยงเพียงอย่างเดียวของหญิงไทยที่แต่งงานและย้ายถิ่น การแยกทางกันย่อมทำให้เกิดความเคว้งคว้าง หลงทาง และกดดันอย่างหนัก ซึ่งเกิดมีผลต่อสุขภาพกายและใจอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะหากหญิงไทยผู้นั้นไม่มีการศึกษา อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาสวีดิช ความสะเทือนใจเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดภาวะจิตสรีระแปรปรวน (psychosomatic symptoms) และปัญหาด้านอารมณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการซึมเศร้า ความเครียด ความกระวนกระวาย อาการนอนไม่หลับ ปวดหัวข้างเดียว (ไมเกรน) หรือปวดท้อง

ฝันสลายและการหลอกลวง
การเดินทางสู่ชีวิตคู่ในต่างแดนเริ่มต้นด้วยความฝันและความคาดหวังมากมาย หลายคนรู้ว่าการแต่งงานเช่นนี้เหมือนการเสี่ยงโชคซื้อหวย โอกาสที่จะถูกรางวัลมีน้อยและโอกาสหมดตัวมีมาก โดยเฉพาะหากซื้อแบบทุ่มหมดหน้าตัก แต่ไม่มีใครเคยเข็ดหลาบเพราะหวังว่าสักวันโชคจะเข้าข้างตัวเอง

สัญญาณชี้บ่งว่า ความฝันกำลังคลอนแคลนเริ่มขึ้นเมื่อมีการแบ่งแยกลูกฉัน-ลูกเธอ-ลูกติดจากเมืองไทย ความคาดหวังที่เกินจริงจากสามีหรือคนที่บ้านในเมืองไทย การวุ่นวายจากคู่สมรสเดิมของฝ่ายชาย (เข้า-ออกบ้านตามใจ เอาลูกมาฝากให้เลี้ยง แสดงความสนิทสนมกับสามีอย่างไม่เกรงใจ) หรือจากแม่สามี (เช่น เข้ามาบงการวิธีเลี้ยงลูก เข้าข้างลูกชาย ไม่แสดงการยอมรับ แสดงความเย็นชา) หรือการเอาเปรียบต่าง ๆ นานา ใช้ภรรยาเป็นวัตถุทางเพศ และปฏิบัติกับภรรยาเหมือนเป็นคนรับใช้ รวมทั้งการลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกาย

ชีวิตคู่มาถึงจุดที่ “ฝันสลาย” โดยสมบูรณ์ เมื่อฝ่ายชายทรยศนอกใจ บอกเลิก และไล่ออกจากบ้าน เป็นสิ่งที่ทิ่มแทงอารมณ์ของเมียฝรั่งอย่างลึกซึ้ง

(คัดลอกจากงานวิจัย) หนูหย่ากับแฟนเก่าที่เมืองไทย พี่สาวและแฟนสวีดิชช่วยหาหนุ่มสวีดิชให้ ….เป้าหมายของเราคือการเป็นเมียฝรั่ง ได้งานทำ และมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม…. เราอยู่กับเขาก่อนที่นี่ 6 เดือน แล้วกลับเมืองไทย แล้วพอเขาทำเอกสารต่าง ๆ เสร็จ หนูกับลูกสาว (จากสามีไทย) อายุ 4 ขวบ ก็เดินทางมาอยู่สวีเดน…. แต่เขาไม่รักลูกสาวหนูเลย เขาชอบตะคอกใส่ลูก ทำตัวหยาบคาย ไม่อบอุ่น และทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ลูกหนูกลัวเขามาก เขาขี้อิจฉา…. ไม่ยอมให้หนูพาลูกเข้านอน และบอกราตรีสวัสดิ์….
เขาอยากให้หนูอยู่กับเขาตลอด 24 ชั่วโมง…. เขาบอกว่าเขาเกลียดลูกสาวของหนู เราทะเลาะกันใหญ่ จนถึงขั้นลงไม้ลงมือสู้กัน เขาตบหนู ผลักหนูโยนหนูกับลูกออกมานอกบ้าน โชคดีที่เพื่อนบ้าน (ชาวสวีดิช) ช่วยเราสองคนแม่ลูกก่อนที่เราจะแข็งตายท่ามกลางหิมะนอกบ้าน สุดท้ายตำรวจมา และหนูได้แยกทางกับเขาในที่สุด…..”

คีตา (นามสมมุติ) อายุ 38 ปี ปริญญาตรี
พนักงานทำงานโรงงาน และรับจ้างทำความสะอาด

สรุปการศึกษาครั้งนี้ว่า สตรีย้ายถิ่นล้วนมีความเปราะบางเพราะต้องเป็นฝ่ายพึ่งพาสามี ทำให้เกิดช่องว่างของอำนาจและการกดขี่ และเกิดผลกระทบทางสุขภาพกายและใจของพวกเธอ ดังนั้น หน่วยงานด้านสุขภาพและสวัสดิการของรัฐในสวีเดน (หรือประเทศปลายทางอื่น ๆ) ควรต้องให้ความสนใจกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของสตรีย้ายถิ่นเหล่านี้ให้ดีขึ้น โดยประกันให้พวกเธอได้เข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านมนุษยชน สวัสดิการ และสุขภาพ เฉกเช่นประชาชนคนอื่น ๆ ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ การตรวจสุขภาพที่บ้าน ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่อาจช่วยสอดส่องและหยุดยั้งความรุนแรงในครอบครัวของคู่สมรสข้ามชาติได้

ส่วนความเป็นไปได้ของข้อเสนอแนะเหล่านี้ก็คงอยู่ที่การนำเสนอผลการศึกษาวิจัยต่อผู้เกี่ยวข้องต่อไป

ไม่ว่าการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเพื่อสตรีย้ายถิ่นจะมีผลออกมาเป็นเช่นไร ทางออกของหญิงไทยหัวใจแกร่งเหล่านี้ก็ยังคงเป็นการ “ตายเอาดาบหน้า” และสู้ต่อไปเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในประเทศสวีเดน

ประเด็นคำถามคาใจ

(1) กระบวนการช่วยหาคู่ข้าชาติ หญิงไทยบางคนในงานวิจัยนี้ฯ ต้องจ่ายค่านายหน้าให้กับเพื่อนหรือญาติที่อยู่สวีเดนมาก่อน ที่รับอาสาจะ “จัดหาผู้ชายสวีดิชให้” นี่จะสามารถเรียกได้ไหมว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการค้ามนุษย์ (Human trafficking)

(2) การปรบมือข้างเดียวนั้นไม่ดัง เราทราบว่าหญิงไทยบางส่วนก็มีนิสัยการดื่ม เที่ยว กิน เล่นการพนัน คบเพื่อนในทางผิด ไม่ยอมปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ สร้างหนี้สิน มีเรื่องปิดบังฝ่ายชาย ฯลฯ เรามีภาพว่าชายสวีดิชกระทำรุนแรงกับพวกเธออย่างไร แต่เราไม่มีภาพว่าหญิงไทยเองปฏิบัติต่อสามีของพวกเธอเช่นไร ภาพที่เราเห็นยังไม่ครบ

(3) ปรากฏการณ์ภูเขาน้ำแข็ง มีหญิงไทยที่เปิดอกว่าตนเองได้รับความรุนแรงจากการเป็นเมียฝรั่งนั้นมีจำนวนน้อย และเรายังไม่ทราบว่ายังมีหญิงไทยจำนวนอีก “กี่คน” ที่ไม่ได้บอกหรือไม่กล้าบอกให้ใครรู้ได้ว่าเธอกำลังประสบทุกข์เช่นไร ทำอย่างไรเราจะเข้าถึงพวกเธอเหล่านั้น
รายงานวิจัยเรื่องนี้ สะท้อนชีวิต ความเป็นจริงส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่พบว่า หญิงไทยบางคน ตื่นเต้น ใฝ่ฝันที่จะไปต่างประเทศ และเป็นมาดาม เป็นเมียฝรั่ง ขาดความตระหนัก ไตร่ตรองให้ดีก่อนการตัดสินใจ จนกระทั่งพบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดินทางมาอาศัยอยู่ที่สวีเดน พวกเธอมุ่งสู่โลกตะวันตกด้วยความโดดเด่นของหญิงเอเชีย นั่นคือ ความซื่อสัตย์และว่าง่าย ความอึดและอดทนเยี่ยงทาสในเรือน ก่อนที่จะพบว่าคุณสมบัติเหล่านั้นมิได้ทำให้เธอมีภูมิคุ้มกันจากการถูกทิ้ง การถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี การถูกหลอกลวง และจบลงด้วยความฝันที่แหลกสลายอันทิ้งร่องรอยแห่งความเจ็บช้ำที่ยากเยียวยา

Weerati Phongthippata

เกี่ยวกับผู้วิจัย
วีรติ พงษ์ทิพย์พัฒน์ (วีร์, Vicky) พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี
ค.ศ. 2010 – ค.ศ. 2011 ปริญญาโทสาขา Caring Science ประเทศสวีเดน
ค.ศ. 2014 – ปัจจุบัน ศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสุขภาพ (Health and Welfare) ณ มหาวิทยาลัยมาลาดาเลน ประเทศสวีเดน (Department of Social Work, School of Health Care and Social Welfare, Mälardalen University. Sweden)
อาศัยในประเทศสวีเดนนานกว่า 5 ปี และเป็นชาวหนองคาย

Message us