รักร้าง Italian style

เมื่อพาสต้าบูด – รักร้างสไตล์อิตาเลียน

หญิงไทยจำนวนหนึ่งแต่งงานและย้ายมาอยู่กินกับสามีชาวอิตาเลียน มีลูกหลาน มีงานทำ รู้ภาษา ขับรถไปไหนมาไหน ช่วยด้วยเองได้ มีอาชีพ มีเงินเก็บสะสม สร้างครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง

แต่ก็มีหญิงไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่โชคดีเช่นนั้น ปัญหาการสมรสระดมรุมเร้ามากมาย ด้วยการเข้ากันไม่ได้ด้านนิสัยใจคอ แต่งงานกันโดยไม่ได้ดูใจนานพอ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม การไม่รู้ภาษา การไม่มีงานทำ การมีภาระหนี้สิ้น การไม่ได้รับความยอมรับจากครอบครัวของสามี ความโดดเดี่ยวหงอยเหงา การคบเพื่อนผิด การขาดที่ปรึกษาที่ดี สามีปันใจให้หญิงอื่นสารพัดปัญหา ทำให้น้ำผึ้งขม น้ำผักหมดความหวาน หรือถ้าว่าสไตล์อิตาเลียน ก็คงบอกว่า พาสต้าบูดเสียแล้ว

หนทางโรยด้วยกลีบกุหลาบหรือหนามแหลม วาสนาคนเรามันต่างกัน

ทางออกสุดท้ายก็คือ ต้องแยกทางกัน หากมีทะเบียนสมรสก็ต้องหย่าร้างกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่มีทะเบียน ก็แค่ทางใครทางมัน แต่ก็มักจะติดปัญหาพัวพันว่าใครจะส่งเสียลูก จะอาศัยหลังคาที่ไหนคลุมหัว ไม่อยากกลับไปเมืองไทย ทำยังไงจะอยู่อิตาลีต่อไปได้ ล้วนแต่ต้องดิ้นรนกันไป

ดังนั้น หญิงไทยที่เริ่มจะไม่ค่อยสุขกับชีวิตครอบครัว จนถึงจุดเปราะบางจำเป็นต้องมีติดอาวุธทางปัญญากันหน่อย ให้เข้าใจว่า หากจะหย่าร้าง เราจะมีสิทธิอย่างไร ลูกของเราต้องได้รับสิทธิอะไรบ้าง ว่าง่าย ๆ เราจะแยกทางไปให้เร็วที่สุด เพื่อตัดปัญหา ไม่เอาอะไรเลยก็ได้ แต่กระบวนการหย่าไม่ได้ง่ายเหมือนเมืองไทยที่ควงแขนกันขึ้นอำเภอแล้วก็จดทะเบียนหย่า มันมีขั้นตอนที่ต้องรู้ไว้ เผื่อจะเปลี่ยนใจหันมาคืนดีกันเพื่อลูก ก็ยังทัน

การสำรวจออนไลน์ที่จัดทำโดย American Consumer Opinion® กับประเทศชั้นนำ 11 ประเทศทั่วโลก พบว่า ชาวอิตาเลียนมีอัตราการสมรสที่มีความสุขน้อยที่สุด ขณะที่ประเทศคานาดามีอัตราสูงที่สุด อัตราความสุขมีเรียงลำดับดังนี้คือ คานาดา 76% สหรัฐอเมริกา 74% สหราชอาณาจักร 74% บราซิล 69% เนเธอร์แลนด์ 69% ฝรั่งเศส 65% รัสเซีย 62% เยอรมนี 56% สเปน 56% ประเทศจีน 52% และอิตาลี 48% อัตรานี้วัดจากคู่สมรสที่ยังอยู่ด้วยกัน
การสำรวจบอกว่า สตรีชาวอิตาเลียนจำนวน 43% เท่านั้นที่บ่งว่าตัวเองมีความสุขกับสามี ขณะที่สามีจำนวน 53% ระบุว่าตัวเองมีความสุขกับภรรยาดี

และเป็นที่น่าแปลกว่าในประเทศส่วนใหญ่ ฝ่ายชายจะระบุว่ามีความสุขมากกว่าฝ่ายหญิง อาจเป็นเพราะภรรยาเป็นผู้แบกรับภาระรับผิดชอบในบ้านที่มากมาย ในขณะที่ผู้เป็นสามีส่วนใหญ่ไม่ต้องช่วยทำงานบ้าน ซึ่งคงเป็นปัญหาร่วมของสตรีทั่วโลก สตรีที่มีโชคมากหน่อยก็น่าจะอยู่ในแถบประเทศที่สิทธิสตรีเข้มแข็ง และความเท่าเทียมทางเพศสภาพมีสูง เช่น แถบสแกนดิเนเวีย

ชาวอิตาเลียนมีอัตราการสมรสที่มีความสุขน้อยที่สุด ขณะที่คู่สมรสประเทศคานาดามีอัตราความสุขสูงที่สุด


…แต่เรามารู้เรื่องการหย่าร้างสไตล์อิตาเลียนกันก่อน

การหย่าร้างเคยเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในอิตาลี ประเทศซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของศาสนจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก (กรุงวาติกัน) ที่ต้องการรักษาสถาบันครอบครัวไว้ให้เหนียวแน่น ไม่ยอมรับการหย่าร้าง และมีอิทธิพลมาอย่างยืดยาว ไม่ยอมให้ชาวคาทอลิกหย่าไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด จนยุคสมัยเปลี่ยนไป ศาสนจักรต้องยอมอ่อนข้อให้รัฐบาลยุคใหม่หรือสังคมยุคใหม่ในที่สุด โดยเกิดกฎหมายหย่าร้างครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970 หรือไม่ถึง 50 ปีที่ผ่านมา

ระหว่างนั้น มีหนังอิตาเลียนเรื่องหนึ่งชื่อว่า Divorce Italian Style ที่สะท้อนสังคมในยุคที่ศาสนจักรยังห้ามการหย่าร้าง เรื่องมีประมาณว่า ฝ่ายสามีหน่ายเมียแก่ แล้วเกิดไปมีกิ๊ก ไม่รู้จะกำจัดเมียยังไง เพราะหย่าก็หย่าไม่ได้ เลยวางแผนทุกอย่างเพื่อให้เมียมีกิ๊กบ้าง ตั้งใจว่าจะจับเมียกับชู้ให้ได้คาหนังคาเขา แล้วยิงให้ตายเสียทั้งคู่ โดยถือเป็น “ฆาตกรรมเพื่อรักษาเกียรติยศแห่งสามี (Honour crime)” ซึ่งอาจจะติดคุกเพียงระยะสั้น ๆ แล้วตนเองจะได้ออกมาแต่งงานกับกิ๊ก หนังจะขึ้นต้น-ลงท้ายอย่างไร ผู้อ่านคงต้องไปเสาะหาดูเอาเอง แต่ยุคนี้คงไม่ต้องใช้วิธีที่ยุ่งยากแบบนี้แล้ว

หนังนี้มีผลต่อสังคมและระบบนิติบัญญัติมากน้อยแค่ไหน เราคงประมาณไม่ได้ แต่ก็มีการผ่านกฎหมายหย่าร้างในที่สุด แต่การหย่าตามกฎหมายชุดแรก ๆ ก็ยังเป็นไปด้วยความยากเย็น เพราะศาสนจักรก็ยังแทรกแซงไม่ให้หย่ากันได้ง่าย ๆ กฎหมายเลยมีขั้นตอนมากมาย ต้องเปลืองเวลา ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากหากเป็นการฟ้องหย่า หรือแม้จะเต็มใจหย่า ศาลก็ยังสั่งให้แยกกันอยู่ไปก่อนถึง 3 ปี เผื่อจะเปลี่ยนใจ กว่าจะดำเนินเรื่องหย่าได้จริง ๆ ผลก็คือ หนุ่มสาวจำนวนมาก เลยไม่จดทะเบียนแต่งงาน หรือ ออกไปจดทะเบียนหย่าที่ประเทศอื่น แล้วเอามารับรองในอิตาลี หรือแยกกันอยู่ แต่ต่างคนต่างหาคู่ใหม่ แม้ว่าจะยังไม่หย่าร้างกับคู่เดิม ทำให้สถานสังคมครอบครัว ดูยุ่งเหยิงมากกว่ากลมเกลียวดังที่ศาสนาจักรหวังไว้ กฎหมายหย่าร้างก็มีการปรับปรุงเรื่อย ๆ แต่ยังไม่ถูกใจครอบครัวยุคใหม่อยู่ดี

ในที่สุด ศาสนจักรยอมอ่อนข้อ รู้ว่าฝืนกระแสสังคมไม่ไหว และการยอมรับความจริงของฝ่ายนิติบัญญัติว่า หากคู่สมรสไปด้วยกันไม่รอดแล้ว ก็เปล่าประโยชน์ที่จะพยายามใช้เวลาหน่วงเหนี่ยวเพื่อเปลี่ยนใจ ในที่สุด รัฐสภาอิตาลีก็ก้าวกระโดดด้วยการรับรองกฎหมายหย่าร้างใหม่ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) โดยกฎหมายใหม่นี้ กำหนดให้การแยกกันอยู่ก่อนหย่าร้างจริงมีระยะเวลาสั้นลง เป็น 1 ปีในกรณีฟ้องหย่า และ 6 เดือนในกรณีเต็มใจหย่าทั้งสองฝ่าย

การหย่าที่ยากเย็นทำให้หนุ่มสาวจำนวนมากไม่จดทะเบียนแต่งงาน หรือ ออกไปจดทะเบียนหย่าที่ประเทศอื่น แล้วเอามารับรองในอิตาลี หรือแยกกันอยู่ แต่ต่างคนต่างหาคู่ใหม่โดยยังไม่หย่าร้างกับคู่เดิม

หลังจากกฎหมายผ่าน อัตราการหย่าร้างพุ่งกระฉูดภายในครึ่งปี โดยมีการจดทะเบียนหย่าถึง 82,469 คู่ หรือเพิ่มขึ้นถึง 57 % เมื่อเทียบกับปี ค.ศ 2014 แต่การเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า มีความล้มเหลวในชีวิตสมรสมากขึ้น แต่หมายความว่า กรณีหย่าร้างที่รอแยกทางให้ครบเวลาที่ศาลกำหนดนั้น สามารถย่นเวลาให้สั้นขึ้นได้ ทำให้คดีหย่าร้างที่ค้างคาอยูในศาลเป็นจำนวนมากเป็นอันปิดคดีได้

ส่วนจำนวนผู้ที่จดทะเบียนขอแยกทางกันอยู่ในปี ค.ศ. 2015 มีเพิ่มขึ้นเพียง 2.7 % และอัตราการแต่งงานก็เพิ่มขึ้นด้วยเล็กน้อย ประมาณ 2.4 % (หรือ 194,377 คู่) หลังจากที่จำนวนคู่แต่งงานมีน้อยลงอย่างน่าใจหายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนสถิติของปีปัจจุบัน ค.ศ. 2016 จะเป็นอย่างไร ไม่ช้าเราคงจะรู้ แต่หน่วยงานสถิติของอิตาลีเชื่อว่า อัตราการหย่าร้างจะสูงขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า ก่อนที่จะลดลงมาสู่อัตราปกติก่อนที่จะผ่านกฎหมายตัวใหม่นี้

หญิงไทยในอิตาลี ไม่มาก ไม่น้อย

ใน ปี พ.ศ. 2555 สถานทูตไทยทั่วโลกได้รวบรวมสถิติจำนวนคนไทยในต่างประเทศไว้ พบว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในกรุงโรมจำนวน 5,534 คน โดยไม่นับคนที่ใบอนุญาตให้อยู่อาศัยได้หมดอายุลงและกำลังรอต่อใบอนุญาต เมื่อดูแล้วก็เหมือนมีจำนวนเพียงหยิบมือ

ส่วนในปี พ.ศ. 2560 ทราบจากสถานทูตไทยว่า มีคนไทยอยู่ในอิตาลีจำนวน 6,600 คน เป็นชายเสีย 700 คน (ไม่ใช่ “ชายที่เป็นคนไม่ดีนะคะ” อ่านดี ๆ) ที่เหลือก็เป็นหญิงเสีย 5,900 คน (หญิงก็ไม่เสียเช่นกัน) หรือเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ นับว่าจำนวนคนไทยในอิตาลีมีไม่มากและไม่น้อย จำนวนนี้นับคนไทยที่ถือสองสัญชาติด้วย (ขอขอบคุณเหรัญญิกเครือข่ายฯ คุณอนุรักษ์ วีระเดชะ ที่เสาะหาตัวเลขมาให้ค่ะ)

ส่วนสำนักงานสถิติของอิตาลี สรุปไว้ว่า อัตราการสมรสระหว่างชาวต่างชาติกับชาวอิตาเลียนนั้นมีสูงถึง 68% หรือจำนวน 20,764 คู่ ในปี ค.ศ. 2012 อย่างไรก็ดี เราต้องอ่านสถิตินี้ด้วยความเข้าใจว่า เป็นการแต่งงานของทั้งชายและหญิงอิตาเลียนกับชาวต่างชาติ และรวมการแต่งงานกับชาวต่างชาติบ้านใกล้เรือนเคียงที่เป็นชาวยุโรปด้วยกัน ไม่เฉพาะผมดำ ๆ ตาดำ ๆ อย่างสาวไทย หรือสาวละตินอเมริกา

ความช้ำใจของสะใภ้ไทยในแดนพาสต้า
เราไม่รู้ว่า หญิงไทยเกือบหกพันคนนั้น อยู่ในวัยแต่งงานกันกี่คน เป็นเด็กหญิงเสียกี่คน แต่เราได้ยินหนาหูเรื่องความไม่ค่อยเป็นสุขของคู่สมรสหญิงไทย-หนุ่มอิตาเลียน ไหนจะเรื่องภาษาที่ค่อนข้างยาก ไหนจะนิสัยของสามี ที่ลื่นเป็นปลาไหลจับไม่ติด (ขุนแผนเมืองไทย คาซาโนว่าเมืองพาสต้า) ไม่ค่อยดูแลครอบครัวและลูกเมีย แอบไปกุ๊กกิ๊กสาวอื่น หรือทำร้ายตบตี หรือมีภาระต้องส่งเสียเมียเก่าลูกติด หรือรักแต่ตัวเรา แต่ลูกติดคนไทยของเรา เขาไม่เอาด้วย สามีจำนวนมากดูเหมือนจะเป็นลูกแหง่ติดแม่ และเกาะครอบครัวเหนียวแน่น บางทีต้องย้ายไปอยู่กับครอบครัวสามี แยกไปไหนไม่ได้ ไม่งั้นแม่สามีจะออกอาการ ในอิตาลี ผู้เป็นแม่มักจะเป็นใหญ่ในบ้าน และคนอิตาเลียนจะรักสถาบันครอบครัว(เดิม)มาก ลูกสะใภ้ต่างชาติหัวดำ ๆ ตาดำ ๆ พูดอิตาเลียนไม่ค่อยได้ จึงมักถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากแม่สามี

นอกจากนั้น บริษัทถุงยางอนามัยชั้นนำของโลกเคยทำสำรวจว่า ใครเคยหรือกำลัง “นอกใจคู่สมรสหรือคู่ครองของตน” ผลการจัดลำดับน่าจะทำให้เราอึ้ง และมีเรื่องถกเถียงคัดค้านได้มากมาย แต่ตัวเลขระบุว่า ในบรรดา 10 ประเทศผู้นำการเล่นชู้สู่สาวสู่ชายกันมากที่สุด (คือทั้งชายและหญิง) มีประเทศไทยอยู่หัวแถว ตามด้วยประเทศในยุโรปทั้งหมด โดยมีอิตาลีอยู่อันดับ 3 จะภูมิใจดีหรือไม่ที่พี่ไทยอยู่แถวหน้าของประเทศโลกที่ 1 ในด้านนี้ !? แล้วสาวไทยก็เหมือนหนีเสีอไปปะจรเข้ จากประเทศที่มีการนอกใจเป็นอันดับที่ 1 ไปเจอประเทศอันดับที่ 3

สะใภ้ยุโรปชาติอื่น ๆ หากอยากทราบสถิติทั้ง 8 ประเทศที่เหลือ ขอให้คลิกที่แหล่งข้อมูลด้านล่างของบทความค่ะ ซึ่งจะให้นิยามคำว่า “นอกใจ” ไม่เหมือนกันสำหรับแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้อ่านแยกแยกระหว่างการนอกใจกับการใช้ถุงยางอนามัยว่า ประการที่ 1 กลุ่มที่ตอบการสำรวจคือ ใครก็ได้ที่ยินดีร่วมสำรวจโดยจะใช้หรือไม่ใช้ถุงยางก็ได้ ดังนั้นเราจึงมีทั้งตัวเลขชายและหญิง ประการที่ 2 การสำรวจไม่ได้ถามว่านำถุงยางอนามัยไปใช้เพื่อการนอกใจ แต่ถามเฉพาะว่าใครเคยนอกใจคู่สมรสบ้าง ประการที่ 3 การใช้ถุงยางในหลาย ๆ ประเทศในยุโรป (และน่าจะทั่วโลก) จะเป็นผลจากการรณรงค์ป้องกันการติดต่อโรคทางเพศ โดยเฉพาะโรคเอดส์ที่คุกคามมนุษยชาติมาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นผลจากความรู้ด้านเพศศึกษาที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะจากโรงเรียนหรือแหล่งอื่น ๆ และ ประการสุดท้าย การขายถุงยางอนามัยนั้นมีเป้าหมายหลักเพื่อการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และป้องการการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์เป็นหลัก ส่วนใครจะนำไปใช้เพื่อนอกใจคู่สมรสหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ไอดอลของหนุ่มอิตาเลียน

สำหรับกรณีอิตาลี รายงานสำรวจแค่วิเคราะห์สั้น ๆ ว่า เพราะเมืองเวนิสคือเมืองเกิดของ คาซาโนว่า ซึ่งได้ชื่อเสียงเลื่องลือทั่วยุโรปในยุคนั้นถึงความเป็นหนุ่มเจ้าเสน่ห์ เจ้าสำราญ นักรักที่น่าหลงไหล คาซาโนว่ากลายเป็นเหมือนไอดอลหรือตัวอย่างให้หนุ่ม ๆ อิตาเลียนเอาตาม จนถึงทุกวันนี้

คาซาโนว่าเคยเขียนสารไปถึงจักรพรรดินีชู้รักว่า “ความเสื่อมเกียรติยศจะบังเกิดได้ ก็ต่อเมื่อการชื่นชู้ชูกันถูกสังคมจับได้เท่านั้น” ว่าง่าย ๆ ถ้าจับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน ก็ไม่ถือว่ามีการนอกใจ ซึ่งเรื่องการนอกใจเป็นเรื่องที่เบิกบานรุ่งเรือง จนกระทั่งเกิดกฎหมายหย่าร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1970 ดังที่กล่าวไปแล้ว
รักกันง่าย แต่หน่ายแล้วต้องทน

ข้อมูลจากเว็บไซต์สำหรับคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอิตาลี ให้ความกระจ่างเพิ่มเติมว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้หย่ากันได้ยากเย็น ก็เพราะค่าใช้จ่ายนั่นเอง หากหย่ากันโดยสงบก็จะมีค่าทนาย ค่าศาล ค่าพิสูจน์หลักฐาน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ น้อยมากหรือแทบไม่มีเลย แต่หากหย่ากันแบบอีกฝ่ายก็ไม่ยอมอีกฝ่าย แบบนั้นต้องใช้เงินหลายพันยูโร โดยทั่วไป เมื่อคู่สมรสคิดจะหย่าร้างกันก็จะไปหาผู้พิพากษาที่จะเสนอทางเลือก 2 ทาง คือ (1) กลับไปใคร่ครวญใหม่และคืนดีกัน (หลังจากที่ท่านคงปลอบโยน โอ้โลมปฏิโลม ให้เปลี่ยนใจ จนเหนื่อยแล้ว) หรือ (2) เลือกขอแยกกันอยู่อย่างเป็นทางการเป็นเวลา 1 ปี เรียกกันว่า “separazione formale” ส่วนเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ใครจะได้อะไรเท่าไร ก็ต้องตกลงว่ากันในขั้นตอนนี้เลย

ส่วนชาวคาทอลิกที่ไม่อยากอยู่ด้วยกัน แต่ไม่อยากหย่า ก็สามารถขอใบอนุญาตแยกกันอยู่อย่างเป็นทางการ ที่เรียกว่า formal judicial separation ได้

กฎหมายหย่าร้างใหม่มีใจความอย่างไร

สำคัญที่สุดก็คือ เรื่องทรัพย์สินเงินทอง

ห้าปีให้หลังจากกฎหมายหย่าร้างฉบับแรก อิตาลีได้ประกาศรัฐบัญญัติแห่งปี ค.ศ. 1975 ว่าด้วยการปฏิรูปกฎหมายครอบครัวฉบับปี ค.ศ. 1955 (1955 Family Law Reformation Act) ให้นับว่า อสังหาริมทรัพย์ส่วนรวม (communal property) ที่ครอบครัวมีใช้ร่วมกัน ถือเป็น the default legal state นอกเสียจากว่า คู่สมรสจะมีการตกลงกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนล่วงหน้า ซึ่งเป็นไปตามความในมาตรา 159 ของกฎหมายแพ่งอิตาเลียน
รัฐบัญญัติปฏิรูปกฎหมายครอบครัวที่ค่อนข้างเก่านี้ มีเป้าหมายเพื่อป้องกันคู่สมรสที่ด้อยกว่าจากการถูกคู่สมรสที่เหนือกว่า (ทางการเงิน ทางความรู้ ทางภาษา ด้วยการข่มขู่ ด้วยการฉ้อฉล) กดดันหรือหลอกให้ตกลงยอมรับเงื่อนไขการแบ่งแยกทรัพย์สินอย่างปราศจากคุณธรรม ไม่สมเหตุสมผล ไม่ยุติธรรม

ด้วยเหตุนี้ คู่สมรสจำนวนหนึ่งในยุคปัจจันจึงนิยมทำสัญญากำหนดแบ่งแยกทรัพย์สินไว้ตั้งแต่วันแต่งงาน โดยการสำรวจมโนประชากรของกองสถิติอิตาเลียนระบุว่า มีคู่สมรสถึง 64.2% ในปี ค.ศ. 2011 (ISTAT Census 2011) ที่ทำสัญญาเช่นที่ว่านี้ หรือเรารู้จักกันในนามว่า “สัญญาการสมรส (nuptial agreement)”

แล้วก็ไม่พ้นสัญญาการสมรส

ความรักอันหวานชื่นต้องอาศัยการทะนุถนอม ความเข้าใจ ความอดทน การให้อภัย การปล่อยวาง วันแต่งงานคือวันเริ่มพิสูจน์คุณสมบัติเหล่านั้นของคู่ชีวิตทั้งสอง

การลงนามในสัญญาการสมรสจะเกิดขึ้นในระหว่างพิธีแต่งงาน และถือว่ามีผลทางกฎหมาย โดยผู้ใดจะมาคัดค้านหรือฟ้องร้องต่อศาลมิได้ในภายหลัง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ตราบใดที่ผลแห่งการสมรสนั้นยังมีอยู่ (The marriage itself is valid) เหตุที่จะทำให้ผลแห่งการสมรสเป็นอันยกเลิกไปนั้น กฎหมายครอบครัวอิตาเลียนระบุไว้ต้องเป็นกรณีร้ายแรง เช่น การสมรสของพี่น้องสายเลือดเดียวกัน หรือของลูกกับแม่ หรือลูกกับพ่อ หรือคู่สมรสกลายเป็นผู้ไร้ความสามารถโดยสิ้นเชิง การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ หรือคู่สมรสต้องคดีถูกตัดสินจองจำตลอดชีวิต (ส่วนผลโมฆะของการสมรสแบบไทย ๆ ที่เราได้ยินบ่อยก็คือ การจดทะเบียนซ้อน ซึ่งน่าจะเกิดได้ยากในยุโรปยุคที่การตรวจสอบก่อนแต่งงานเป็นไปอย่างเข้มงวด)

ด้วยเหตุที่มีการทำสัญญาแยกทรัพย์สินไว้อย่างชัดเจนเช่นนี้ เราอาจให้นิยาม “สัญญาการสมรส” ว่าตรงข้ามกับ “สัญญาก่อนสมรส (pre-nuptial agreement)” ซึ่งใช้กันในประเทศที่ใช้กฎหมายสามัญ (Common Law) ในขณะที่ประเทศอิตาลีใช้ระบบกฎหมายแพ่ง (Civil Law System) และใช้การพิจารณาคดีทางกฎหมายโดยเงื่อนไขที่กำหนดโดยศาลรัฐธรรมนูญ (judicial review of legislation under certain conditions in Constitutional Court)

ดังนั้น หากมีการฟ้องหย่าในอิตาลี โดยมี “สัญญาการสมรส” กำกับอยู่ ศาลจะไม่นับที่ดิน มรดก และ เงินบริจาคที่อยู่ในนามของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวว่าเป็น อสังหาริมทรัพย์ส่วนรวม (communal property) ที่ต้องเอามาแบ่งกัน นอกเสียจากว่าจะระบุไว้ในพินัยกรรม หรือในสัญญาเงินบริจาค (donation contract) ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมาก

ดังนั้น คู่สมรสฝ่ายหนึ่งร่ำรวยกว่าอีกฝ่ายหนึ่งอาจถูกบังคับให้จ่ายเงินจำนวนมากเป็นค่าเลี้ยงดูแก่คู่สมรสฝ่ายที่ด้อยกว่าและเป็นค่าเลี้ยงดูบุตร ยกเว้นว่าคู่สมรสได้ทำ “สัญญาการสมรส” ดังกล่าวเบื้องต้นไว้ ก็อาจทำให้คู่สมรสที่มีฐานะเหนือกว่า สามารถหลีกเลี่ยงการต้องส่งเสียเลี้ยงดูบุตรภรรยาเป็นเงินจำนวนมากอย่างที่ประเทศที่ใช้กฎหมาย Common Law โดยทั่วไปกำหนดให้แบ่งทรัพย์สินส่วนกลางอย่างเท่าเทียม

หากผู้อ่าน อยากทราบเพิ่มเติมว่าประเทศไหนใช้กฎหมาย Common Law นี้ หรือดูระบบกฎหมายทั่วโลกโปรดเช็คได้ที่แหล่งข้อมูลท้ายบทความ

สัญญาและคำสั่งศาลว่าด้วยการแยกทางกันอยู่ และ การหย่าร้าง

ในกรณีเกือบทั้งหมด การหย่าร้างในอิตาลีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคู่สมรสได้แยกกันอยู่อย่างเป็นทางการมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี (ฟ้องหย่า) หรือ เป็นเวลา 6 เดือน (แยกแบบสันติ) หรือที่เรียกว่า “หย่าด่วน” ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายปฏิรูปการหย่าร้างฉบับล่าสุด ซึ่งมีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า “Fast Track” Divorce Reform กฎหมายหย่าร้างกำหนดไว้ไม่กี่กรณีที่จะอนุญาตให้หย่ากันโดยทันที (เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชายสายเลือดเดียวกัน หรือคู่สมรสกลายเป็นผู้ไร้ความสามารถ การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ การถูกตัดสินจองจำตลอดชีวิต ดังที่กล่าวไปแล้ว) ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดน้อยมาก

ที่จริงแล้ว การยกเลิกสถานภาพสมรส (Dissolution of a Marriage) นั้นเป็นกระบวนการ 2 ขั้นตอนติดต่อกัน คือ ขั้นตอนแรกเป็นการแยกกันอยู่ และขั้นตอนที่ 2 เป็นการหย่าขาดจริง ๆ ซึ่งจะว่าไป ขั้นตอนที่ 2 ก็คือการรับรองสำเนาเอกสารของขั้นตอนที่ 1 (การแยกกันอยู่) นั่นเอง เพียงแต่ค่าธรรมเนียมศาลในขั้นตอนการหย่าจะแพงกว่าถึง 2 เท่า ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คู่สมรสต้องพยายามต่อรองการหย่าให้ดีที่สุด

ความแตกต่างจากประเทศยุโรปอื่น ๆ ก็คือ เมื่อคู่สมรสในอิตาลีต้องการหย่าจากร้างกัน ก็จำเป็นต้องไปขอ “คำสั่ง (Order)” จากประธานหัวหน้าศาลท้องถิ่น (Tribunale) ว่า มีความประสงค์จะใช้ชีวิตแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุตรธิดา มีที่ดิน หรือแต่งงานกันมายาวนานเท่าไรก็ตาม การแยกกันโดยพฤตินัย (De facto separation) โดยไม่มี “คำสั่ง” ศาล จะนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อขอหย่าในภายหลังมิได้ เช่น แยกบ้านกันอยู่เพราะเหม็นขี้หน้ากันมาหลายปีแล้ว สามีอยู่อิตาลี ภรรยาอยู่เมืองไทย แต่ไม่เคยไปขอคำสั่งแยกกันอยู่

การขอแยกกันอยู่จะต้องมีการกรอกแบบฟอร์มกับศาลท้องที่ (อันเป็นไปตามความในมาตรา 706 ของกฎหมายว่าด้วยกระบวนการทางแพ่ง)

การแยกกันอยู่และการหย่าร้างในอิตาลี ถือว่า ไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ผิด แต่ก็นั่นแหละ หากฝ่ายหนึ่งสามารถกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งได้สำเร็จและศาลยอมรับฟังว่า ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายที่ทำให้ชีวิตครอบครัวล่มสลาย ก็จะเพิ่มน้ำหนักในการต่อรองขอค่าเลี้ยงดู (maintenance) ให้ได้มากขึ้น และอาจจะได้ค่าเสียหายด้วย


คำสั่งให้แยกกันอยู่ด้วยความเต็มใจ (Consent Orders)

คู่สมรสที่ต้องการยื่นขอคำสั่งให้ “แยกกันอยู่ด้วยความสมัครใจ” หรือ “Consent to separate” สามารถกรอกแบบฟอร์มได้ที่ศาล โดยไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลยืดยาวว่า ทำไมประสงค์จะแยกกันอยู่ เพียงแต่ระบุว่า “อุปนิสัยไปด้วยกันไม่ได้” (“unreasonable behavior”) หรือภาษาไทยก็ว่า “ทัศนคติไม่ตรงกัน” ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งศาลจะบันทึกไว้ว่า “ไม่สามารถจะอยู่ร่วมชายคาด้วยกันได้ต่อไป” (“intolerable continued cohabitation”) โดยทั่ว ๆ ไป คำอนุมัติให้แยกกันอยู่ได้ตามคำสั่งศาลจะใช้เวลารอประมาณ 2-3 เดือน

ในกรณีแยกกันอยู่อย่างสมัครใจนี้ จะไม่มีมาตรฐานทางกฎหมายขั้นต่ำมากำหนดว่า ต้องแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไร ตราบเท่าที่คู่สมรสไม่มีบุตรด้วยกัน คู่สมรสสามารถจัดการแยกทรัพย์สินตามกฎหมายได้ตามที่ตกลงกันได้เอง
แต่ว่าในการแบ่งทรัพย์สินนี้ ศาลอาจสั่งยับยั้งข้อตกลงในการแยกกันอยู่ หากข้อตกลงนั้นไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของเด็ก ๆ ที่เป็นบุตรธิดาของคู่สมรส ซึ่งเคยมีคดีแบบนี้ 2-3 คดีเมื่อไม่นานมานี้ ที่ศาลตัดสินให้คู่สมรสต้องเปลี่ยนใจเพราะเหตุดังกล่าว แต่ในกรณีเกือบทั้งหมด ศาลจะออกคำสั่งให้แยกกันอยู่ตามที่ร้องขอ และคู่สมรสจะต้องยอมรับผลกระทบทางลบใด ๆ (ต่อเด็ก ๆ) ที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของพ่อแม่ที่ทำอย่างเป็นอิสระและรู้ตัวดี

ก่อนที่จะมีการย่นย่อกระบวนการขอแยกทางให้สั้นกระชับและไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแพง ๆ นี้ การขอแยกทางและการขอหย่าร้างเป็นกระบวนการที่ยุ่งเหยิงยาวนาน จึงทำให้มีคดีหย่าร้างไม่ถึง 10% ในปี ค.ศ. 2007 เพราะการขอแยกทางและหย่าร้างอาจใช้เวลาถึง 2 หรือ 3 ปี หรือนานกว่านั้น นับว่าเป็นโชคของคู่แต่งงานที่น้ำผึ้งขม พาสต้าบูด เอสเปรซโซ่เปรี้ยว ในยุคนี้ ที่จะได้ไม่ต้องทนกับสภาวะที่กดดันต่อจิตใจจนยาวนานเกินไปนัก

คำสั่งและข้อตกลงเกี่ยวกับบ้านที่อยู่อาศัยและค่าเลี้ยงดู (Orders and Agreements about Housing and Alimony)

เด็ก ๆ จะต้องได้รับการดูแลส่งเสียจนกว่าจะพี่งตัวเองได้ทางการเงิน โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าเลี้ยงดูที่เหมาะสมสำหรับเด็ก 1 คนจะอยู่ที่ประมาณ 25% ของรายได้ประจำปีของพ่อ (หรือของแม่ หากฝ่ายแม่เป็นผู้ผิดและมีฐานะดีกว่า)
ไม่มีขอบเขตกำหนดว่า เมื่อใดจึงจะถือว่า ลูกคนหนึ่งพึ่งตัวเองได้ในด้านการเงินแล้ว (financial independence) โดยทั่วไป อาจถึงอายุ 26 ปี คือ อายุเฉลี่ยของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โดยพิจารณาไปตามความเหมาะสม (อย่างเช่น ในเยอรมนี พ่อแม่ต้องส่งเสียเลี้ยงดูลูกทุกคนให้เรียนสำเร็จในชั้นสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และสูงกว่าระดับความรู้ของพ่อแม่เองด้วย หากพ่อแม่จบปริญญาเอก ก็ต้องส่งเสียลูกจนจบระดับเดียวกันเป็นอย่างน้อย)

การแยกทางกัน จะสร้างความโดดเดี่ยวเหงาหงอยให้เกิดกับลูกของเราอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ส่วนบ้านของครอบครัวที่อยู่ด้วยกันมา จะต้องเป็นบ้านที่เด็กได้อยู่อาศัยต่อไป จนกว่าเด็ก ๆ จะพึ่งตนเองได้ โดยอาศัยความตามมาตรา 337 ลำดับที่ 6 ของกฎหมายแพ่ง และทันทีที่เด็กถึงวัยพึ่งตัวเองได้ สิทธิครอบครองบ้านจะต้องส่งคืนให้เจ้าของบ้านเดิม เช่น ถ้าบ้านเป็นของพ่อ พ่อกับแม่หย่าร้าง พ่อแยกไปอยู่ แม่เลี้ยงลูกจนโต ลูกมีงานทำมีเงินเก็บไปหาบ้านใหม่อยู่ บ้านนั้นต้องคืนให้พ่อ แต่ก็มีกรณียกเว้นว่า ตัวแม่ที่เลี้ยงลูกมาตลอด (ผู้ปกครองเด็ก) ก็เป็นเจ้าของบ้านหลังนั้นด้วย ในกรณีนี้ ให้ถือว่าบ้าน “เป็นทรัพย์สินร่วมกัน” อดีตสามีภรรยาต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีขายบ้าน แล้วแบ่งเงินกันไป

…แล้วถ้าเขาเป็นคนผิดล่ะ

ตามกฎหมายอิตาเลียน ถ้าเป็นการหย่าแบบ “คนหนึ่งเป็นฝ่ายผิด (fault based)” กฎหมายจะกำหนดให้ คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้ทำผิดต่อสถาบันครอบครัว มีสิทธิเรียกร้องขอเงินค่าเลี้ยงดูเป็นการส่วนตัว (personal maintenance) ซึ่งหมายความว่า นอกจากจำนวนเงินที่อดีตสามี (หรืออดีตภรรยา ในกรณีที่ภรรยาเป็นคนผิด และมีฐานะดีกว่า) จะต้องส่งเสียอดีตภรรยา(หรืออดีตสามี)เป็นรายเดือนจะต้องเพิ่มสูงขึ้นแล้ว คู่สมรสที่เป็นฝ่ายเสียหายยังสามารถขอเรียกร้องเงินค่าเลี้ยงดูเป็นก้อนใหญ่ (Alimony in Gross) ที่จ่ายให้ครั้งเดียวอีกด้วย

เมื่อมีการจ่ายเงินเลี้ยงดูเป็นก้อนใหญ่แล้ว ฝ่ายผู้เสียหายจะกลับมาขอเรียกร้องเพิ่มเติมในภายหลังอีกมิได้ ตามความในมาตรา 9 bis II alinea ของกฎหมายหย่าร้าง

ส่วนทรัพย์มรดกของคู่ที่หย่าร้างกัน ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไป ก็จะใช้ระเบียบอื่น ๆ ตามความในกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสืบทอดมรดก (Estate Succession) มาเป็นเครื่องกำหนดว่าจะต้องทำอย่างไร เช่น หากอดีตสามีเป็นเจ้าของบ้านที่ลูกอาศัยอยู่ในระหว่างที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้ แล้วอดีตสามีเสียชีวิตในระหว่างที่ลูกยังอาศัยอยู่ในบ้านกับอดีตภรรยา จะต้องทำอย่างไรกับบ้านหลังนั้น

ดังนั้น สาวไทยควรคิดให้รอบคอบก่อนแต่งงาน รักกันแค่ไหนก็ต้องระวังตัวไว้ด้วย หากเจ้าบ่าวขอให้เซ็นสัญญาการสมรส ซึ่งกำหนดเงื่อนไขแบบเราเสียเปรียบ เช่น จะไม่เรียกร้องอะไรเลย หรือให้เราเซ็น ๆ ไปโดยเราไม่รู้ข้อความว่าเซ็นอะไรลงไป เราก็จะตกอยู่ในภาวะที่น่าขมขื่นเมื่อหย่าร้างกัน โดยจะเอาอะไรไปอ้างต่อศาลไม่ได้ว่า หนูไม่รู้ หนูหูเบา ไม่ได้

…แล้วถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่อยู่ด้วยกันเฉย ๆ จะทำอย่างไร

กฎหมายอิตาเลียนถือว่า การจดทะเบียนสมรส (marriage) เท่านั้นจึงจะทำให้คู่สมรสนั้นมีความชอบธรรมตามกฎหมาย
ดังนั้น จึงไม่มีกฎหมายอิตาเลียนมาตราใดที่คุ้มครองคู่สามีภรรยาที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่จดทะเบียน หรือที่เรียกกันว่า Cohabitation

แม้ว่าการอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนจะเป็นความนิยมในสมัยนี้ แต่เรื่องกฏหมายไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายว่า คู่ครองฝ่ายหนึ่งต้องมีหน้าที่เลี้ยงดูและอุปถัมภ์ทางด้านการเงินแก่อีกฝ่ายหนึ่งอย่างไร การเลี้ยงดูอุปการะกันในด้านค่าใช้จ่าย หรือการครองชีพต่าง ๆ ถือเป็นหน้าที่ที่เป็นไปตามหลักของศีลธรรมเท่านั้น (a duty dictated by moral principles)

นั่นก็หมายความว่า เมื่อต้องแยกทางกัน จะไม่สามารถนำกฎหมายข้อใดมากำหนดว่าจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูเท่านั้นเท่านี้ แม้ว่าการเลิกร้างกันอาจจะไร้ความเป็นธรรมก็ตาม

หนึ่งเดียวในสิทธิที่พึงมีของคู่ครองก็คือ สิทธิที่จะสืบต่อสัญญาเช่า(บ้าน อพาร์ทเม้นท์ หรืออื่น ๆ)

….จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายครอบครัวอีกไหม

แน่นอนว่า สภาพครอบครัวยุคใหม่ ย่อมสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับฝ่ายนิติบัญญัติในประเทศชั้นนำทั่วโลง เพราะมีทั้งการทำสัญญาก่อนสมรส (หรือระหว่างสมรส) การอยู่กินด้วยกันโดยไม่จดทะเบียน การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน การรับบุตรบุญธรรมของคู่สมรสเพศเดียวกัน เป็นต้น

ในอิตาลี รัฐสภาก็เริ่มร่างรัฐบัญญัติเพื่อกำหนดจุดยืนทางกฎหมายที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ และศาลสูงก็มีกรณีตัวอย่าง (Supreme Court precedents) มากมาย ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านนิติบัญญัติในอนาคตอันใกล้
เรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องมีกฎหมายมารองรับก็คือ ครอบครัวผสม (reconstituted or blended family) ว่าง่าย ๆ ก็คือ เมื่อบุคคลสองคนตัดสินใจแต่งงานจดทะเบียนกัน หรือมาอยู่ร่วมชายคากันโดยไม่จดทะเบียน และมีลูกติดจากการครองคู่ (โดยจดหรือไม่จดทะเบียน) มาด้วย ไม่ว่าจะมาแค่ฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่าย และอยู่ร่วมชายคาตลอดเวลาหรือมาอาศัยอยู่เป็นบางช่วง ครอบครัวชนิดที่ทำให้เกิด “พ่อเลี้ยง” และ “แม่เลี้ยง” นี้กลายเป็นสิ่งปกติในทุกวันนี้ แต่การบังคับใช้ทางกฎหมายยังเป็นไปอย่าง “เฉพาะกิจ (ad hoc )” อยู่ ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายและยากลำบากมากมาย

นอกจากนั้น ก็ยังจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองผู้เยาว์ในครอบครัวลักษณะต่าง ๆ เช่น ครอบครัวที่ไม่ได้จดทะเบียนกัน หรือครอบครัวพ่อแม่เพศเดียวกัน ที่รับอุปการะบุตรบุญธรรม หรือมีลูกอยู่ที่ประเทศอื่น แม้ว่าจะมีครอบครัวในลักษณะนี้อยู่จริง แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายมาคุ้มครอง

ในไม่ช้า รัฐสภาจะผ่านกฎหมายว่าด้วย “การหย่าตรง (direct divorce)” ที่คู่สมรสสามารถขอหย่าโดยทันที โดยไม่ต้องมีการแยกกันอยู่อย่างเป็นทางการ ในกรณีที่คู่สมรสนั้น “ไม่มี” บุตรที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือบุตรที่มีความพิการอย่างร้ายแรง หรือบุตรที่อายุต่ำกว่า 26 ปีที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้ในทางเศรษฐกิจ
เหตุการณ์ด้านกฎหมายจะเป็นอย่างไรต่อไป สะใภ้อิตาเลียนคงต้องคอยติดตาม


สรุปกฎหมายหย่าร้างอิตาลี ฉบับปฏิรูป เดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2015 อย่างย่อๆ

1. การหย่ามี 2 ขั้นตอน คือ ขอแยกกันอยู่อย่างเป็นทางการ และ ขอหย่าจริงหลังจากแยกกันอยู่ครบกำหนดแล้ว
2. การหย่ามี 2 แบบคือ แบบเต็มใจหย่าด้วยกันทั้งคู่ (consent divorce) กับ แบบฟ้องร้องเพราะอีกฝ่ายเป็นผู้ผิด (fault-based divorce)
3. สามีภรรยาที่หย่ากันด้วยความเต็มใจ ไม่มีฟ้องร้อง จะต้องมีระยะเวลาแยกกันอยู่อย่างน้อย 6 เดือน ก่อนจะยื่นเรื่องขอหย่าได้
4. การดำเนินการทั้งหลาย ต้องไปยื่นเรื่องขอคำสั่งศาลในเขตที่เราแต่งงานว่า มีความจำนงค์ขอหย่า ศาลก็จะไกล่เกลี่ยหรือ “สั่ง” ให้แยกกันอยู่
5. เมื่อได้คำสั่ง คู่สมรสต้องแยกกันจริงๆ อยู่บ้านคนละหลัง จนถึงวันที่หย่าจริงก็ไปแสดงต่อศาลว่า ยังต้องการหย่ากันอยู่ด้วยเหตุผลว่าอยู่กันไม่ได้
6. การหย่าแบบสงบนี้จะไม่เสียค่าใช้จ่ายมากและไม่ต้องแยกกันอยู่นานมากเหมือนกรณีฟ้องหย่า เอาความว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ทำให้ครอบครัวล่มสลาย
7. ฝ่ายที่มีทรัพย์สินมากกว่าจะต้องส่งเสียค่าเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมายกำหนด ซึ่งมีเพดานขั้นต่ำไว้ เช่น คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อปีต่อเด็ก 1 คน (จำนวนการจ่ายจริงต้องเป็นไปตามศาลสั่ง) หมายความว่าอดีตสามีอาจต้องส่งเสียลูก 2 คนด้วยรายได้ครึ่งหนึ่ง ดังนั้น เราจึงได้ยินบ่อย ๆ ว่า ผู้ชายยุโรปที่หย่าร้างแล้วแทบไม่มีเงินเหลือใช้จ่ายเท่าไร เพราะต้องส่งให้เมียเก่าและลูกติดเกือบทั้งหมด
8. โดยทั่วไป ฝ่ายที่มีฐานะดีกว่าต้องให้เงินเลี้ยงดูอีกฝ่ายที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่า การเรียกร้องจำนวนเงินที่ต้องการต้องตกลงกันในศาลตอนยื่นเรื่องขอหย่า ยกเว้นว่าจะมีสัญญาการสมรสที่กำหนดไว้ว่าเรียกร้องไม่ได้
9. หากมีบุตรยังพึ่งตนเองไม่ได้ บุตรนั้นจะต้องได้อยู่ในบ้านของครอบครัวจนโต เรียนหนังสือจบ โดยเฉลี่ย โดยถือเอาการจบมหาวิทยาลัยเป็นเกณฑ์ (26 ปี) ไม่ได้นับเอาการบรรลุนิติภาวะเป็นเกณฑ์
10. เมื่อเด็กเรียนจบในระดับสูงสุดที่เด็กมีความสามารถ มีงานทำ แยกไปพึ่งตัวเองได้ บ้านจะตกคืนเป็นของเจ้าของเดิม คือ พ่อ หรือ แม่ หากว่าทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้าของบ้านด้วยกัน ต้องตกลงว่าจะขายแบ่งเงินกันหรือทำวิธีอื่น ๆ
11. ฝ่ายที่แยกบ้านไป มีสิทธิในการเยี่ยมเยียนบุตร โดยต้องไม่มีการกีดกันจากฝ่ายที่เป็นผู้ปกครองบุตร
12. โดยทั่วไป เด็กจะได้อยู่กับมารดา หากพิสูจน์ได้ว่า มารดาไม่ขาดความสามารถ เช่น พิการ วิกลจริต ติดเหล้า ติดคุก และเมื่อเด็กอายุครบ 10 ขวบ เด็กจะเลือกได้ว่า จะอยู่กับพ่อ หรือ อยู่กับแม่ ในกรณีที่เด็กผูกพันกับทั้ง 2 ฝ่าย หรือพ่อไม่มีปัญหา อยากได้ลูกไปอยู่ด้วย มีความพร้อม หรือแม่ขาดความพร้อม ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐจะมีเกณฑ์กำหนดด้วย มิใช่ให้เด็กเลือกตามอำเภอใจหรือโดยการยุยงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

…หรือว่า สองเรายังมีความหวัง???
แม้ว่าจะเขียนมาอย่างยืดยาวถึงความล้มเหลวของการสมรส วิธีการแยกกันอยู่ตามกฎหมายอิตาเลียน แต่คู่สมรสทั้งหลายก็ควรตรองแล้วตรองอีกให้หนัก ๆ ว่า การหย่าร้างไม่ใช่เรื่องสนุก ยิ่งมีลูกมาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ขอให้คิดให้มาก ๆ ว่า กว่าจะข้ามน้ำข้ามทะเลมารักกันได้ แต่งงานกันได้ สร้างครอบครัว ผ่านทุกข์สุขมาด้วยกันได้ เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย แล้วพอขัดใจกันหน่อย ก็จะกระทืบเท้าจากไป ก็ใช่ที่

โปรดนึกถึงวันที่ดอกรักผลิบาน อย่างน้อยวันหนึ่งเราก็เคยรักกันมาก เราจะกลับมาทบทวนความหลังนั้นได้อีกไหม

เราต้องใช้ความฉลาดทางอารมณ์สูงมากในคู่สมรส เพราะไม่มีการแต่งงานใดที่ไม่มีเรื่องขัดแย้งกันเสียเลย บ่อยครั้ง ผู้เป็นภรรยาก็ต้องขมขื่นกับการนอกใจของสามี แต่ก็อดทนเพื่อลูก เอาน้ำเย็นเข้าลูบ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปลดปล่อยหัวใจให้รู้จักวางเฉย ปรับปรุงตัวเองไม่ให้กลายเป็นยายเพิ้งก้นครัว ใช้มธุรสวาจา ไม่เชือดเฉือน สุดท้าย สามีก็มาตายรัง

ผู้ฉลาดในการใช้ชีวิตท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า ในชีวิตแต่งงาน ผู้หญิงเลือกได้ระหว่าง “สามี” หรือ “ความสุข” แน่นอนว่า ผู้หญิงเราเลือกทั้ง 2 อย่างไม่ได้ แต่เมื่อเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็ตั้งพุ่งหน้าชนไปตามทางเลือกนั้น เมื่อเราเลือกจะมีสามีมีลูกมีครอบครัว สุขทุกข์ก็เป็นผลกระทบจากการเลือกนั้น แต่ขอให้เราบอกตัวเองว่า “เราได้เลือกแล้ว”
แต่ถ้าเลือกอยากได้ความสุข แต่ในชีวิตจริงต้องอยู่กับสามีอย่างทนทุกข์วันแล้ววันเล่า … คำตอบคืออะไร คงไม่ต้องบอกกระมัง?

ทุกข์จากชีวิตสมรสเกิดขึ้นเป็นของแน่ สำคัญว่า หญิงไทยเรามีอาวุธทางปัญญา (และมารยา 500 เล่มเกวียน) ที่จะสร้างความประทับใจให้ครอบครัวและเพื่อน ๆ ของสามี เรารู้จักผูกมัดใจของสามีทั้งเรื่องในบ้าน นอกบ้านและในห้องนอน เราเป็นศรีภรรยาที่คู่ควรกับฐานะสะใภ้อิตาเลียน เราเป็นผู้หญิงไทยหัวใจแกร่ง เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง (สู้กับปัญหาชีวิต ไม่ใช่แกว่งใส่สามี) เรารู้ผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่เอาแต่ใจตน เราเห็นคุณค่าของเงินทองที่สามีหามาให้ เราคู่ควรกับการเป็นมารดาของเด็กที่ได้สัญชาติยุโรเปี้ยนซึ่งนำมาซึ่งศักดิ์และสิทธิมากมาย เกินกว่าเด็กไทยคนหนึ่งจะได้รับ

พูดง่าย ๆ ถ้าเรามาแต่ตัว ความรู้ก็ไม่มี ภาษาก็ไม่ได้ ขับรถก็ไม่เป็น งานก็ไม่มีทำ งานบ้านก็ไม่เป็น งานครัวก็ไม่เอาไหน ขี้งอนขี้น้อยใจ ขี้หึง ปากจัด พูดจาไม่รักษาน้ำใจสามี ไปไหนมาไหนต้องให้สามีไปรับไปส่ง เรื่องในเตียงถ้าไม่ชืดชาก็สุดโต่ง เพื่อนอิตาเลียนก็ไม่คบ คอยจับผิดระแวงสามี ระแวงพ่อแม่พี่น้องสามี ไม่พยายามเข้าใจสายใยครอบครัวแบบอิตาเลียน เลือกคบเพื่อนที่ไม่พากันก้าวหน้า จับกลุ่มเม้าท์มอยอิจฉาริษยาคนอื่น อยากได้แต่ของขวัญแพง ๆ ของใช้แพง ๆ จากสามี กิริยามารยาทแข็งกระด้าง เข้าสังคมไม่เป็น กินแต่อาหารไทย ไม่ปรับตัว ไปไหนก็อยู่ยากกินยาก ประชุมผู้ปกครองก็ไปไม่ได้เพราะไม่รู้ภาษา … ไม่ต้องคิดใช่ไหมว่า ชีวิตแต่งงานจะยืนยาวแค่ไหน? ที่พูดอย่างนี้เป็นการยกตัวอย่างแบบสุดโต่งเท่านั้นว่าอะไรที่จะทำให้สามีร้างรักได้ ที่จริงแล้วหญิงไทยหัวใจเด็ดสะใภ้อิตาลี และสะใภ้ต่างแดนนั้นมีดีกว่านั้นมากมาย เราต้องเอาดีของเราออกมาโชว์ให้หมด และทำให้เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ฝืนทำ

รักที่มีความสุขไปชั่วนิรันดร์นั้นเป็นแค่ความคาดหวัง จะเป็นจริงได้ คู่สมรสต้องปรับตัวเข้าหากันตลอดเวลา โดยเฉพาะคู่สมรสต่างภาษาต่างวัฒนธรรม ความเข้าใจกันเกิดยากยิ่งกว่ารุ้งกินน้ำในวันที่ฝนไม่ตก

แล้วก็มิใช่ว่า สามีของเราจะเป็นพ่อเทพบุตร ทำอะไรไม่ผิด แตะต้องไม่ได้ ไม่เจ้าชู้ประตูดิน รักเดียวใจเดียว ทะนุถนอมเราเหมือนไข่ในหิน ไม่มีอารมณ์ร้าย ไม่ทำร้ายร่างกาย ไม่ขี้เหนียว ไม่ขี้งก ไม่ทำตัวหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่พูดบิดเบือนกลับกลอก ไม่ขี้บ่น ไม่ขี้เหล้า หรือ สมบูรณ์แบบ ซื่อสัตย์ หาเงินได้เท่าไรยกให้ภรรยา เป็นสถาบันที่เราต้องกราบไหว้บูชา หาใช่เช่นนั้นไม่ แต่เราเมื่อเลือกเขามาแล้ว ก็ต้องยอมรับผลของการเลือกของเรา เช่น รู้จักกัน 2 เดือนก็ตามมาแต่งงานเลย แบบนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่เราต้องรับสภาพเหมือนกัน

เพราะรักแรกพบและแล้ว “เจ้าชายเจ้าหญิงก็อภิเษกสมรสและครองคู่อย่างมีความสุขไปชั่วนิรันดร์” นั้นมีแต่ในเทพนิยาย ถ้าเราอยู่กับชีวิตจริง เราก็รู้ว่า เราได้ตามวาสนา ตามเหตุปัจจัยที่เราทำร่วมกันมากับเขาคนนั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็ต้องรู้จักว่า จุดอ่อนของเขาคืออะไร นิสัยแย่ ๆ ของเรามีตรงไหน ต้องปรับกันไป นิสัยดี ๆ ของเขามีอะไร ตอนไหนที่เราพูดกับเขารู้เรื่อง เราก็รู้จักจังหวะพูด เรื่องไหนที่เราพูดแล้วเขาหงุดหงิด ชวนทะเลาะ เราก็เพลา ๆ หน่อย เราพอจะค่อย ๆ ตะล่อมให้เขาเข้าใจว่า เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไรได้ไหม ที่สำคัญ เรากับเขาต้องมีภาษาที่ใช้สื่อสารกันได้ผล ถ้าไทยคำ อิตาเลียนคำ ภาษามือ ภาษาใบ้ตลอด มันก็ไปตลอดรอดฝั่งยากเหมือนกัน

… ขอให้การหย่าร้าง “อย่าเป็นทางเลือกแรก” ของการแก้ปัญหาชีวิตสมรสที่ประสบมรสุมของเพื่อนหญิงไทยสะใภ้อิตาเลียนหรือสะใภ้ชาติไหน ๆ เลย

เพื่อเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป และ ชมรมจิตอาสาคืนถิ่น
(ด้วยแรงบันดาลใจจาก น้อง ร และ น้อง น)

แหล่งข้อมูล