นิยายรักขาดตอน — ความชอกช้ำที่ไร้พรมแดน
เรื่องผัวทำร้ายร่างกายเมีย เห็นเมียเป็นกระสอบทราย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกประเทศและทุกสังคม เราเรียกกันว่าเป็น ความรุนแรงในครอบครัวที่กระทำต่อสตรี (Domestic Violence Against Women) ถ้าเป็นผัวเมียชาติเดียวกัน ฝ่ายหญิงก็พอจะรู้ทางหนีทีไล่บ้าง แต่ถ้าเป็นเมียไทยที่ย้ายถิ่นติดตามสามีฝรั่งไปอยู่เมืองนอก แล้วต้องเจอเหตุการณ์ที่เหมือนฝันร้ายเช่นนี้ พวกเธอจะหาที่พึ่งได้ที่ไหน ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วย้ายไปอยู่ประเทศของคู่สมรสนั้น ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายโดยสามีต่างชาติสูงกว่าผู้หญิงในชาตินั้น ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะสถานะผู้ย้ายถิ่น (Immigrants) ทำให้ผู้หญิงอยู่ในสภาพล่อแหลม วีซ่าของภรรยาขึ้นอยู่กับสามี สามีเห็นภรรยาเป็นลูกไก่ในกำมือ นอกนั้น ภรรยาพูดภาษาไม่ได้ หัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่มีเงินเป็นของตัวเอง ทำให้ต้องพึ่งพิงสามีเป็นทวีคูณ และที่สำคัญคือ ตัวภรรยาเองทนยอมต่อการถูกกดขี่ข่มเหง เพราะพื้นเพจากบ้านเดิมที่เห็นการทุบตีผู้หญิงเป็นเรื่องธรรมดา
เมียไทยในต่างแดนต่างหวังที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าตอนอยู่บ้านเกิด มีสามีที่ดี มีลูกน่ารัก มีงานทำ มีบ้านอยู่ มีเงินเก็บ แต่ชีวิตจริงไม่ง่ายดังฝัน บางครั้งเลือกคู่ชีวิตผิด จากสามีฝรั่งที่เคยสัญญาว่าจะรักทะนุถนอมดูแลส่งเสียก็กลายเป็นอีกคน ธาตุแท้อันเลวร้ายและสันดานดิบมาจากไหนไม่รู้เริ่มแสดงตัว นิยายรักข้ามพรมแดนเปลี่ยนจากฉากหวานเป็นฉากบู๊เลือดตกยางออก มาดามเมียฝรั่งเหมือนตื่นจากฝันดีมาเผชิญกับความจริงที่รันทด คู่ชีวิตกลายเป็นคนใจทมิฬ ปากว่ามือถึง หยาบกระด้าง ติดเหล้าติดยา จนถึงขั้นทุบตีทำร้ายร่างกาย เมื่อมีตบตีครั้งแรก ครั้งที่สองที่สามก็ตามมา แต่ละครั้งอาจจะจบด้วยการงอนง้อขอโทษคืนดีกัน แล้วก็กลับเข้าวงจรเดิม ๆ เพื่อนหญิงจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการความช่วยเหลือได้ เพราะไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ภาษา ไม่มีศูนย์บริการช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ ลำบากเรื่องการเดินทาง มีปัญหาทางจิต มีภาวะพิการ หรือได้รับบาดเจ็บจนไม่อาจติดต่อใครได้ เหล่านี้คือความชอกช้ำที่สตรีย้ายถิ่นจำนวนมากต้องเผชิญไม่ว่าจะอยู่ใต้ฟ้าเมืองไหน
กรณีศึกษาของเยอรมนี
หญิงไทยอยู่กินกับสามีฝรั่งเยอรมันมาเกือบ 10 ปี แล้วมาถูกสามีทำร้ายร่างกายตบบ้องหู แพทย์ตรวจพบว่าภรรยาสูญเสียการได้ยินในหูข้างหนึ่ง ภรรยาไปแจ้งความ ตำรวจรับเรื่องไว้แล้วบังคับคดีว่า สามีต้องอยู่ห่างจากภรรยาเป็นเวลา 2 อาทิตย์ โดยภรรยาสามารถอยู่บ้านเดิมได้ และสามีต้องเป็นฝ่ายไปหาที่อยู่ใหม่ แต่ภรรยาอยากให้จบดี ๆ ก็เลยยอมย้ายไปอยู่ที่อื่นเสียเอง ตอนหลังสามีโทรมาบอกขอให้ภรรยาถอนแจ้งความแล้วมาพูดกันดี ๆ ภรรยาลังเลเพราะคิดว่าอาจมีโอกาสคืนดีกัน จึงมาปรึกษาในเพจ เรื่องเล่าจากมาดาม(เมียฝรั่ง) เพื่อน ๆ สมาชิกร้องห้ามกันเสียงหลงว่า อย่าถอนแจ้งความเด็ดขาด เพราะคดีทำร้ายร่างกายเป็นคดีอาญา ถ้าถอนแจ้งความ เราจะผิดในฐานะแจ้งความเท็จ
แม้ว่ากรณีศึกษานี้จะไม่ใช่เรื่องที่รุนแรงขนาดเลือดตกยางออกหรือเสียชีวิต แต่มีประเด็นที่น่าสนใจหลายข้อ ข้อแรก ผู้หญิงอยู่ที่ไหนก็เป็นที่รองมือรองเท้าของผู้ชายที่ไร้เมตตาเสมอ ความรุนแรงต่อสตรีนั้นไม่มีพรมแดน ข้อสอง ผู้หญิงทนกับการละเมิดเหล่านั้นโดยหวังว่าต่อไปเหตุการณ์คงจะดีขึ้น เป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ที่มีความปลอดภัยของตัวเองเป็นเดิมพัน ข้อสาม หญิงไทยในต่างแดนไม่ได้ใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์เพื่อคุ้มครองตนจากความรุนแรงในครอบครัว เพราะความไม่ตระหนักในสิทธิของตน ข้อสุดท้าย ในบ้านเมืองที่เจริญแล้ว กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ สตรีและผู้อ่อนแอได้รับความคุ้มครอง ผู้รักษากฎหมายปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง
ถ้าจะเอาสถิติมายืนยัน ผู้หญิงในเยอรมันประมาณทุก 1 ใน 3 คนต้องเคยประสบพบเจอกับความรุนแรงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาก่อน (ทั้งทางวาจา กดดันจิตใจ ทำร้ายร่างกาย ละเมิดทางเพศ) โดย 1 ใน 4 คนเจอกับการทำร้ายร่างกาย และอีก 1 ใน 13 คนถูกทำร้ายทางเพศจากคู่ของตนเอง ผู้ละเมิด 99% เป็นชาย รายงานของกรมตำรวจเยอรมันเมื่อปี คศ 2011 ระบุว่ามีผู้หญิงถึง 137,960 ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว และถือเป็น 75% ของผู้ประสบความรุนแรงทั้งหมด
กฎหมายและการบังคับใช้ที่เข้มแข็งคือคำตอบ
เมืองไทยเป็นอย่างไรเดี๋ยวเรามาว่ากัน แต่ประเทศเยอรมนีและยุโรปหลายประเทศ สิทธิมนุษยชนเขาเข้มแข็งมาก สิทธิอันหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ สิทธิในร่างกายของตนที่ใครจะมาละเมิดมิได้ ความผิดต่อร่างกายผู้อื่นถือเป็นความผิดต่อรัฐ แม้ว่าเยอรมนีจะไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะเรื่องการทำร้ายร่างกายในครอบครัว แต่ก็อาศัยความคุ้มครองตามกฎหมายอาญาที่ระบุว่า การกระทำผิดต่อร่างกายของผู้อื่นเป็นโทษทางอาญา มีสิทธิถูกจำคุกสูงสุด 10 ปี หรือปรับเป็นเงินจำนวนมาก (อาจสูงถึง 21 ล้านยูโร) แม้แต่การละเมิดด้วยวาจาก็เป็นความทางอาญาได้เช่นกัน จำคุก 2 ปีหรือปรับอีกจำนวนหนึ่ง กฎหมายทั้ง 2 มาตรานี้นำมาบังคับใช้กับกรณีการทำร้ายกันในครอบครัวด้วย
แต่การฟ้องร้องในระดับศาลต้องมีพยาน เพื่อป้องกันคู่สมรสกลั่นแกล้งอีกฝ่าย เนื่องด้วยเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายกันมักจะเกิดในบ้าน มีกันแค่สองคน ผู้แจ้งความจะกล่าวหาอย่างไรก็ได้ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาจะแก้ตัวอย่างไรก็ได้ ดังนั้น หากไม่มีบุคคลที่สามก็ต้องมีรายงานตรวจร่างกายของแพทย์ ดังกรณีศึกษาที่กล่าวข้างบน หากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในขั้นศาล ก็เอาผิดกับผู้ละเมิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ 90% ของการคดีความรุนแรงในครอบครัวเยอรมนีจึงต้องถูกยกฟ้องเพราะขาดหลักฐานที่แน่นหนา นอกจากนั้น ระเบียบใหม่ของเยอรมนีกำหนดว่า ในกรณีผู้ร่วมบ้านทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายอย่างรุนแรงและหลักฐานมีชัดเจน ให้ผู้ถูกกระทำเลือกได้ว่าจะให้ฝ่ายที่ทำร้ายตนเองย้ายไปอยู่ที่อื่น หรือตัวเองขอย้ายไปบ้านพักฉุกเฉิน ในกรณีให้ผู้ละเมิด (ส่วนใหญ่ก็คือสามีหรือเพื่อนชาย) ออกจากบ้านไป เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ใช้อำนาจนี้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการใช้กำลังบังคับพาตัวออกไปจากบ้าน และออกใบสั่งไม่ให้กลับเข้าบ้านเป็นเวลา 14 วันสูงสุด
ความช่วยเหลือรอคุณอยู่
ประเทศเยอรมนีมีหน่วยงานช่วยเหลือผู้หญิงมากมาย ในเดือนมีนาคม คศ 2013 มีการเปิดสายด่วนแห่งชาติสำหรับผู้หญิงโทรมาขอความช่วยเหลือในกรณีถูกทำร้ายร่างกาย (Hilfetelefon Gewalt gegen Frauen เบอร์ 0800 116 016 โทรฟรี เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ทุกวัน) นอกจากนั้น ทั่วประเทศยังมีที่พักพิงสำหรับผู้หญิง 345 แห่ง มีศูนย์ช่วยเหลือสตรี 600-700 ศูนย์ และมีศูนย์เฉพาะเหยื่อของความรุนแรงทางเพศอีก 100 ศูนย์ จะเห็นว่าความช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ ตัวเรานี่เอง ถ้าเราเปิดหูเปิดตาสักหน่อย
สำหรับหญิงไทยสามารถติดต่อ Amnesty for Women ซึ่งเป็นหน่วยงานของคนไทย อยู่ในเมือง Hamburg รับปรึกษาปัญหาทางโทรศัพท์และช่วยเหลือทางกฎหมายด้วย มีผู้ให้คำปรึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ย้อนมาดูสถานการณ์ในฝรั่งเศส
กรณีศึกษาของฝรั่งเศสต่างจากเยอรมนีเล็กน้อย คือ หญิงไทยที่ความรู้น้อย อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่งงานและย้ายมาอยู่ฝรั่งเศสได้ไม่ถึงหนึ่งปี เธอก็ถูกสามีฝรั่งทำร้ายร่างกายอย่างบอบช้ำและถูกไล่ออกจากบ้าน โดยให้เงินติดตัวมาก้อนเล็ก ๆ จนต้องซมซานมาและได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มหญิงไทยด้วยกัน กรณีนี้หญิงไทยผู้เสียหายตัดสินใจไม่เอาเรื่อง เพราะสำนึกในน้ำใจที่สามีให้เงินติดตัวมา แม้ว่าจะได้รับคำแนะนำให้ตรวจร่างกายและแจ้งความ เธอตัดสินใจรีบเดินทางกลับประเทศไทยทันที โดยทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง
ความรุนแรงต่อสตรีในฝรั่งเศสเกิดขึ้นกับสตรีทุกเพศวัน ทุกสีผิว ทุกศาสนาความเชื่อ และทุกความเป็นมาทางสังคม Amnesty International เผยข้อมูลที่น่าตกใจว่ามีสตรีที่เสียชีวิตเพราะความรุนแรงในครัวเรือนอย่างน้อย 1 คนในทุกๆ 4 วัน และผู้หญิงในฝรั่งเศส 1 ใน 10 คนเคยประสบกับความรุนแรงมาแล้วในชีวิต ข้อมูลเหล่านี้มาจากคดีที่รายงานเข้ามาเท่านั้น ซึ่งเราไม่ทราบเลยว่ายังมีสตรีที่ประสบความลำเค็ญซ่อนเร้นจากสายตาภายนอกอีกมากเท่าไร (หรือแม้แต่สตรีที่เลือกที่จะไม่ดำเนินการตามกฎหมายเหมือนกรณีหญิงไทยที่กล่าวไปแล้ว) เหมือนเราเห็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ประเทศฝรั่งเศสใช้กฎหมายอาญาในการกำกับเรื่องความรุนแรงในครัวเรือน โดยกำหนดโทษสูงสำหรับการละเมิดที่รุนแรงที่กระทำต่อผู้ให้กำเนิด หรือต่อคู่สมรส หรือผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมในครัวเรือนเดียวกัน และเป็นผลให้ผู้ถูกละเมิดหรือเหยื่อถึงแก่ความตาย หรือพิกลพิการ หรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานอย่างสิ้นเชิงเกินกว่า 8 วัน หรือไม่อาจทำงานได้ถึง 8 วันหรือน้อยกว่า หรือไม่ทำให้สูญเสียความสามารถใด ๆ โดยลักษณะของการละเมิดคือ การทรมานหรือ
การกระทำอย่างป่าเถื่อนต่อผู้ที่เป็นเหยื่อ
ในปี คศ 2010 สภาผู้แทนฝรั่งเศสได้ผ่าน “กฎหมายว่าด้วยอาชญกรรมที่ทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของผู้อยูร่วมชายคาเดียวกัน” กฎหมายสั่งห้ามไม่ให้ “คุกคามกรรโชกคู่สมรส หรือคู่ครอง หรือผู้อยู่ร่วมบ้าน ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนทำให้คุณภาพชีวิตของอีกฝ่ายต้องเสื่อมทรามลง และเกิดผลลบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของฝ่ายนั้น“ การกระทำเช่นนี้มีความผิดตามกฎหมาย อาจได้รับโทษสูงสุด คือ จำคุก 3 ปี และปรับอีก 45,000 ยูโร ถ้าการกระทำนั้น ทำให้ผู้ถูกกระทำสูญเสียความสามารถในการทำงานเป็นเวลา 8 วันหรือไม่สูญเสียความสามารถในการทำงานเลยก็ตาม บทลงโทษจะทวีขึ้นเป็นจำคุก 5 ปีและปรับ 75,000 ยูโร ถ้าการละเมิดทำให้ผู้ตกเป็นเบี้ยล่างต้องสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานมากกว่า 8 วัน เช่นเดียวกันกับเยอรมนี คู่สมรสที่เป็นฝ่ายกระทำจะต้องถูกไล่ออกจากบ้านที่อาศัยร่วมกัน หากว่าการกระทำนั้นจะเป็นอันตรายต่อคู่สมรสอีกฝ่ายและต่อบุตรธิดา
เมื่อปี คศ. 1992 ประเทศฝรั่งเศสได้จัดตั้งสายด่วนเบอร์ 3919 โดยมีชื่อว่า Violences Conjugales Info โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน 75% แต่สายด่วนนี้ไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่บริการเฉพาะวันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 8:00 น ถึง 22:00 น. เท่านั้น และยังหยุดทำงานวันที่ 1 มกราคม 1 พฤษภาคม และ 25 ธันวาคม นอกจากนั้น ยังโทรฟรีเฉพาะในกรณีที่โทรจากเบอร์บ้าน แต่ต้องเสียเงินถ้าโทรจากมือถือถือ สรุปว่ารัฐบาลฝรั่งเศสยังไม่ได้ทำตามข้อเสนอแนะของคณะทำงานสภายุโรปในเรื่องที่ต้องการให้มีสายด่วนบริการฟรีแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงและทุกวัน
ส่วนสถานพักพิงสำหรับสตรีนั้นมีอยู่ 42 แห่ง ซึ่งสามารถรองรับผู้ต้องการความช่วยเหลือได้เพียง 1,563 คน ขณะที่ประมาณว่ามีคนต้องการใช้บริการมากถึง 6,262 คน สถานพักพิงเหล่านี้ได้รับเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากรัฐ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีศูนย์บริการสตรีอีกทั่วประเทศ แต่ไม่มีจำนวนที่แน่นอนมายืนยัน หน่วยงานหนึ่งที่เป็นที่รู้จักค่อนข้างดีและมีสาขาทั่วประเทศ Centre national d’information sur les droits des femme et des familles ซึ่งให้ความช่วยเหลือสตรีที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงในชีวิตสมรส การข่มขืน การละเมิดทางเพศ การลวนลาม การตัดขลิบอวัยวะเพศ การบังคับแต่งงาน โดยรับฟังปัญหา ให้ข้อมูลด้านสิทธิ และเป็นเพื่อนผู้เสียหายในการแจ้งความ ขึ้นศาล หรือรับสวัสดิการต่าง ๆ
สำหรับหญิงไทยที่ประสบปัญหา สามารถติดต่อขอข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ Association Solidarité Thaï en France (ชมรมสตรีไทยในประเทศฝรั่งเศส) ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงปารีส
แล้วบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง
หน่วยงานสตรีขององค์การสหประชาชาติรายงานว่าในปี คศ. 2013 ประเทศไทยมีเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรงสูงขึ้น ซึ่งเป็นความรุนแรงต่อคู่ของตนเอง โดยไทยอยู่ในลำดับที่ 36 จาก 75 ประเทศที่มีการกระทำรุนแรงทางกายมากที่สุด และอยู่ในลำดับที่ 7 จาก 71 ประเทศที่มีการกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุด ส่วนความรุนแรงในกลุ่มสตรี พบมากที่สุดอยู่ในกลุ่มอายุ 24-45 ปี คิดเป็นร้อยละ 74 ปัญหาอันดับหนึ่งที่พบได้แก่ การทำร้ายร่างกาย 9,699 ราย คิดเป็นร้อยละ 77 รองลงมาคือถูกกระทำทางเพศ 2,226 ราย คิดเป็นร้อยละ 18 ผู้กระทำเป็นคู่สมรสมากที่สุดร้อยละ 53 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการนอกใจ หึงหวง ทะเลาะวิวาทกัน
ประเทศไทยมีบริการสายด่วนให้ประชาชนที่พบเห็นเหตุการณ์ผู้ถูกกระทำรุนแรง โทรแจ้งได้ที่ 1669 หรือ 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังมี “ศูนย์พึ่งได้” ที่มีทีมแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ ทำงานแบบทีมสหวิชาชีพ จำนวน 829 แห่ง อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปรวม 95 แห่ง และในโรงพยาบาลชุมชน 734 แห่ง นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานเอกชนที่มีชื่อเสียงและความสามารถอีกจำนวนไม่น้อย แต่ไม่อาจกล่าวถึงในนี้ได้ทั้งหมด
โชคดีที่ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ที่มุ่งเน้นการคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว บำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำไม่ให้กลับมากระทำซ้ำอีก และยังคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเหตุ ซึ่งจะทำให้ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่สังคมต้องตระหนักและเข้าไปแทรกแซงให้ทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินเยียวยา
เรื่องของผัวเมีย คนอื่นไม่เกี่ยวจริงหรือ
ในกรณีของสามีฝรั่งตบตีเมียไทยที่เกิดเหตุในประเทศไทย ก็ใช้กฎหมายไทยเข้ามากำกับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งกำหนดให้ “ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งจะเห็นว่าโทษน้อยมาก อย่างไรก็ดี ความผิดฐานทำร้ายร่างกายถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่รัฐเป็นผู้เสียหาย และเป็นเรื่องของความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าคู่ความจะได้ทำการยอมความหรือถอนฟ้องคดีไปแล้ว พนักงานสอบสวนยังอาจดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ต้องหาได้ และการยอมความในคดีอาญาอาจมีผลเป็นการยอมความในส่วนคดีละเมิดอันเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วย นั่นคือหากมีความเสียหายใด ๆ ก็จะเรียกร้องไม่ได้
แต่อย่างที่เรารับรู้กันมานานหนักหนาว่า ตำรวจมักบอกว่า “เรื่องของผัวเมียไปเคลียร์กันเอง” นั้นเป็นเพราะสามีภรรยาพอทะเลาะกันก็มาแจ้งความ พอปรับความเข้าใจกันได้ก็มาขอถอนแจ้งความ พอตำรวจอธิบายว่าอาญาแผ่นดินถอนแจ้งความไม่ได้ เลยพาลโกรธเจ้าหน้าที่ตำรวจ หาว่าเป็นคนทำให้ครอบครัวเขาแตกแยก ดังนั้น เวลามีกรณีผัวทำร้ายร่างกายเมีย เจ้าหน้าที่จึงต้องไกล่เกลี่ยดูก่อน ไม่รับแจ้งความในทันที จึงทำให้ดูเหมือนว่าไม่เต็มใจดำเนินคดีเสียอีก
เพื่อให้การทะเลาะกันในครอบครัวไม่บานปลาย กลายเป็นคดีอาญาให้รัฐดำเนินงานไม่หวัดไม่ไหว พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 จึงบัญญัติไว้ในมาตรา 4 ว่า “การกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอันยอมความได้” แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฏหมายอาญาหรือกฏหมายอื่น ซึ่งก็หมายความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความเอาไว้ก่อนได้ ถ้าผู้ถูกกระทำมีความประสงค์จะไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำต่อไปก็สามารถทำได้ เหมือนกับเรากลับมาเริ่มต้นที่ “ศูนย์” ใหม่อีกครั้งในเรื่องของการคุ้มครองสตรีจากความรุนแรง
อะไรคือสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัว
สาเหตุของความรุนแรงนั้นมีหลายประการด้วยกัน สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือความต้องการที่จะควบคุมอีกฝ่ายให้อยู่ใต้อำนาจของตน เพราะผู้ละเมิดมักมีภาพลักษณ์ต่อตัวเองที่ต่ำต้อย เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงมาก่อน จึงเชื่อว่าความรุนแรงเท่านั้นที่เป็นทางออก ผู้ละเมิดมักเคยใช้ความรุนแรงกับคู่ของตนแล้วได้ผล จึงใช้ต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ยังรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายอยู่
ส่วนตัวกระตุ้นให้เกิดการทำร้ายคู่สมรส คือ การมีปากมีเสียง ความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน การเมาจนควบคุมตัวเองไม่ได้ การติดสารเสพติด ความหึงหวงที่มากเกินพอดี ความริษยาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความโกรธจนหน้ามืด ทัศนคติที่มองผู้หญิงว่าไม่เท่าเทียม ภาวะโรคจิตบางชนิด ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรัง ความยากจน ภาวะตกงานระยะยาว และ…การขอบอกเลิกของฝ่ายหญิง
สัญญาณเตือนภัยเบื้องต้นว่าเพื่อนหญิงอาจอยู่ในภาวะเสี่ยง คือ มีคู่สมรสอารมณ์รุนแรง แปรปรวนง่าย เอาใจยาก ทำอะไรไม่ถูกใจ พูดอะไรไม่ได้ ขี้โกรธหงุดหงิด พูดขู่ตะคอก ตะโกนใส่หน้า ทำให้รู้สึกต้อยต่ำ ควบคุมทุกอย่างในบ้าน โยนความผิดให้ภรรยาในทุกเรื่อง ส่วนสัญญาณเตือนภัยขั้นต่อไปก็ได้แก่ การพูดจาดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท ลำเลิก จิกด่าโง่งี่เง่า บังคับขืนใจให้ร่วมเพศ เห็นเมียเป็นวัตถุทางเพศ ขังไว้ในบ้าน ขู่ว่าจะพรากลูกไป ขู่ว่าจะไม่ต่อวีซ่าให้ ขู่จะฆ่า ทำดีกับเมียต่อหน้าคนอื่นแต่ลับหลังทำอีกอย่าง สร้างความกดดันทุกอย่างให้เพื่อนหญิงรู้สึกเกลียดตัวเอง รู้สึกผิด รู้สึกจนตรอก หมดหวัง เครียดกดดัน หรือซึมเศร้า
แต่ไม่ว่าอะไรจะเป็นสาเหตุหรือตัวกระตุ้นให้เกิดการลงไม้ลงมือ ขอให้เพื่อนหญิงและผู้อ่านทุกคนจำไว้เสมอว่า ฝ่ายผู้ถูกกระทำ (ส่วนมากคือฝ่ายหญิง) ไม่ใช่ผู้กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ไม่ใช่ฝ่ายผิด และไม่สมควรถูกกระทำเช่นนั้น
ทำไมผู้หญิงไม่กล้าแจ้งความ
จากการศึกษาของประเทศออสเตรเลีย กล่าวกันว่าสาเหตุสำคัญที่เหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวไม่กล้าไปแจ้งความนั้น เพราะเหยื่อเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัว พวกเธอรู้สึกอับอายเสียหน้า หรือคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่สำคัญ พวกเธอกลัวคู่ครองจะยิ่งรุนแรงขึ้นหรือมาแก้แค้นหากรู้ว่าเธอไปแจ้งความ อีกส่วนหนึ่งไม่เชื่อว่าผู้รักษากฎหมายจะทำอะไรได้ และที่น่าสนใจยิ่ง คือ เหยื่อไม่ต้องการทำให้คู่ครองของตัวเองได้รับความเดือดร้อน
แม้ว่าจะมีผู้เสียหายจำนวนมากที่ไม่ไปแจ้งความเพราะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ประมาณ 2 ใน 3 ก็สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้อย่างน่าพอใจ แรกสุดคือ พวกเธอไม่ไปกระตุ้นให้คู่สมรสโมโหมากขึ้น พวกเธอสามารถจัดการกับสถานการณ์ได้เองและไม่ต้องไปสถานีตำรวจให้ต้องอับอาย และได้รับความเครียดเพิ่มมากขึ้นเวลาขึ้นโรงพัก แต่ผู้เสียหายที่เหลือ 1 ใน 3 ที่ไม่ไปแจ้งความนั้นรู้สึกเสียดายที่ไม่ไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจหรือนักสังคมสงเคราะห์ให้เร็วกว่านี้ หรือแยกทางจากชีวิตสมรสที่เลวร้ายให้เร็วขึ้น
ทำไมพวกเธอจึงตัดใจไม่ได้
เรื่องสามีฝรั่งทำร้ายภรรยาไทย ผู้รู้ข้อกฎหมายก็มักจะประนามฝ่ายชาย และเชียร์ให้ฝ่ายหญิงเดินออกมาจากภาวะกดขี่โดยเร็วที่สุด แต่บ่อยครั้งฝ่ายหญิงยังไม่สามารถทำตามคำแนะนำได้ ทำเอากองเชียร์ผิดหวังไปตาม ๆ กัน ในการศึกษาเรื่องความรุนแรงต่อสตรีในเอเชีย พบว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้พวกเธอไม่อาจตัดใจเลิกกับสามีผู้ข่มขี่ก็คือ พวกเธอ “จะต้องอยู่กับลูก ๆ” ตามด้วย “กลัวที่จะอยู่คนเดียว” และ “ยังรักสามีอยู่” เหตุผลอื่น ๆ ได้แก่ ความรู้สึกละอายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง (หรือสามีจะปรับปรุงตัว) ปัญหาด้านการเงิน และ ความเป็นห่วงครอบครัวฝั่งสามี ประเด็นท้าย ๆ คือ ความกลัวผลกระทบที่จะตามมา หากตัดสินใจเลิกร้างหรือตบเท้าจากไป และ “กลัวจะเสียชื่อ” ในชุมชนที่ตนเองอยู่
ฉันไม่พร้อมจะยอมจากไป เพราะ…..
เหตุผลด้านจิตใจ
- ฉันเชื่อว่าเขาจะยอมเปลี่ยนแปลงและจะไม่ทำอีก เพราะเขางอนง้อขอคืนดีและสัญญาเอาไว้
- ฉันกลัวเขาจะขู่ฆ่า หากฉันไปบอกเรื่องนี้กับใคร
- ฉันไม่มีแรงสนับสนุนทางจิตใจ
- ฉันรู้สึกผิดกับความล้มเหลวของชีวิตคู่
- ฉันติดเขาเพราะเขาเป็นคนเดียวที่ฉันสนิท
- ฉันไม่กล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต
- ฉันคิดว่าฉันสมควรถูกทุบตี
- ฉันรู้สึกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สิ้นหวัง และ ติดกับ
- ฉันเชื่อว่าฉันเป็นคนเดียวที่จะช่วยให้เขาแก้ปัญหาความรุนแรงนี้ได้
เหตุผลด้านสถานการณ์
- ฉันต้องพึ่งพิงเขาในด้านการเงิน
- ฉันกลัวตัวเองและลูก ๆ จะได้รับอันตรายทางกาย
- ฉันไม่อยากให้ลูก ๆ จะได้รับผลร้ายทางจิตใจหากต้องสูญเสียพ่อ แม้ว่าจะเป็นพ่อจะเป็นเช่นนี้ก็ตาม
- ฉันกลัวว่าต้องสูญเสียสิทธิในการปกครองบุตร เพราะเขาขู่ว่าจะเอาลูก ๆ ไปถ้าฉันพยายามจะหนี
- ฉันไม่มีทักษะวิชาชีพพอที่จะไปหางานทำ
- ฉันคงรู้สึกแปลกแยกทางสังคมและไม่มีคนสนับสนุน เพราะเขาเป็นผู้ดูแลคนเดียวของฉัน
- ฉันไม่มีข้อมูลว่าจะไปขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน
- ฉันคิดว่าตำรวจคงไม่เห็นความสำคัญกับปัญหาของฉัน
- ฉันไม่รู้จะไปหาที่อยู่ใหม่ที่ไหน
- ฉันมีข้อจำกัดทางวัฒนธรรมและศาสนา
พวกเธอต้องการอะไรหลังเจอฝันร้าย
การศึกษากับกลุ่มสตรีฟิลิปปินส์พบว่า บริการช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับพวกเธอก็คือ โครงการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและให้คำปรึกษา และหน่วยงานด้านการป้องกันอาชญากรรม ส่วนคำแนะนำที่ช่วยพวกเธอได้ก็คือ ข้อมูลเกี่ยวกับความช่วยเหลือต่าง ๆ และการช่วยส่งต่อไปรับบริการ การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ การตั้งใจรับฟัง อย่างไม่ตัดสินและไม่ซ้ำเติมผู้เสียหาย การมองว่าผู้เสียหายเป็นคนและเคารพในศักดิ์ศรีของผู้เสียหาย การช่วยวางแผนเรื่องความปลอดภัย
ส่วนความช่วยเหลือทางวัตถุที่พวกเธอต้องการก็คือ สถานที่พักพิง ความช่วยเหลือด้านการเงิน และอาหารการกิน รวมไปถึงศูนย์บริการสตรีที่เสนอทางเลือกต่าง ๆ ให้ ช่วยเป็นกำลังใจให้สตรีผู้ทุกข์ใจก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาสิ่งที่ต้องการ การช่วยลดความรู้สึกแปลกแยก และการปลอบใจผู้เสียหายว่า “คุณไม่ได้อยู่ตามลำพัง” และ “มันไม่ใช่ความผิดของคุณ” เหล่านี้คือสิ่งที่เพื่อนหญิงผู้บอบช้ำต้องการเป็นอย่างยิ่ง
พวกเราจะมีบทบาทได้อย่างไร
หากใครมีเพื่อนที่ประสบถูกสามีทุบตีทำร้าย ขอให้พยายามเข้าถึงเพื่อนและรับฟังปัญหาอย่างสงบเป็นกลาง และแนะนำว่าเธอควรขอความช่วยเหลือโดยด่วน เพราะ (1) ยิ่งอยู่นานไป สามีหรือแฟนร่วมบ้านก็อาจทำร้ายร่างกายเธอรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะถ้าฝ่ายชายกล่าวว่าเป็นความผิดของภรรยา (2) เธอมีสิทธิที่จะอยู่อย่างปลอดภัยและมีความสุข (3) แม้ว่าเธอยังไม่พร้อมจากบ้าน แต่ก็ควรเก็บเบอร์ติดต่อศูนย์ฮ็อตไลน์หรือที่พักพิงชั่วคราวไว้ในที่หาง่าย วันหนึ่งอาจได้ใช้บริการ (4) เธอสามารถขอใช้บริการของรัฐและเอกชนมากมายที่ช่วยผู้หญิงที่ถูกทำร้าย และ (5) เธอไม่ใช่คนเดียวที่เคยเจอปัญหานี้และปัญหานี้หาทางออกได้
การรู้จักพึ่งกระบวนการทางกฎหมายเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้สามีผู้ละเมิดเข็ดหลาบและคิดเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อนมาดามเมียฝรั่งจึงต้องรู้กฎหมายและสิทธิของตัวเองไว้บ้าง ผู้เขียนอยากย้ำว่า เพื่อน ๆ จะเป็นมาอย่างไรไม่สำคัญ ยากดีมีจน เรียนน้อยเรียนมาก อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สาวหรือแก่ มีลูกติดหรือไม่มี มีงานทำหรือเป็นแม่บ้าน กฎหมายบ้านเขาให้ความคุ้มครองเราเท่ากันหมด เมื่อเจอปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เราต้องพึ่งกฎหมายบ้านเขา เราคนไทยมักไม่เชื่อมั่นในกฎหมาย เพราะประสบการณ์จากบ้านเราเอง แต่รู้ไหมว่ากฎหมายบ้านเขาศักดิ์สิทธิ์ เอาจริง และให้ความสำคัญกับเราทุกคน
ดังนั้น การเปิดเผยตัวเอง ไม่ทนทุกข์อย่างเงียบงันหลังประตูบ้าน เชื่อในระบบคุ้มครองสตรีที่มีอยู่ สูดลมหายใจอย่างกล้าหาญ ยกหูโทรศัพท์ติดต่อขอความช่วยเหลือ ส่งเสียงร้องให้โลกได้ยิน ถือเป็นก้าวแรกของการละลายภูเขาน้ำแข็งของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และเปิดทางให้แสงสว่างส่องไปถึงทุกมุมบ้าน เพื่อให้บ้านกลับคืนเป็นรังนอนที่ปลอดภัยของเพื่อนหญิงและลูก ๆ
แม้นิยายรักข้ามพรมแดนจะเริ่มต้นหวานชื่น แล้วเปลี่ยนฉากเป็นความขมขื่น แต่ชีวิตยังไม่จบสิ้นแค่นี้ ตราบใดที่ยังมีหนึ่งสมองสองมือและหัวใจที่ยิ่งใหญ่ หญิงไทยเราจะไม่ยอมล้มแล้วล้มเลย เราจะล้มแล้วลุกก้าวต่อไปด้วยความแข็งแกร่งมากขึ้น เราจะใช้บทเรียนในชีวิตนี้ กอบกู้ครอบครัวที่ผาสุขของเราคืนมาถ้าแม้นทำได้ หรือหากความแตกร้าวนั้นเกินเยียวยา เราก็จะมุ่งสู่ชีวิตใหม่อย่างฉลาด รู้เท่าทัน ระมัดระวังมากขึ้น และโดยตระหนักเสมอว่า “เรามีสิทธิในความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี” และ “ร่างกายเราไม่ใช่เครื่องรองรับความรุนแรงของใคร” ไม่ว่าเราจะหยั่งเท้าอยู่บนแผ่นดินไหน
แหล่งอ้างอิง
https://www.futureswithoutviolence.org/userfiles/file/Children_and_Families/Immigrant.pdf
http://fileserver.wave-network.org/researchreports/COUNTRY_REPORT_2012.pdf https://www.facebook.com/groups/534160403350066/permalink/801131116652992/?hc_location=ufi
http://www.impowr.org/content/current-legal-framework-domestic-violence-france
http://www.impowr.org/content/current-legal-framework-domestic-violence-france#sthash.OSeBNouJ.dpuf
http://www.lost-in-france.com/living-in-france/life/190-domestic-violence
http://www.thairath.co.th/content/440681
http://www.healthtoday.net/thailand/women/women_104.html
http://www.helpguide.org/articles/abuse/domestic-violence-and-abuse.htm
http://www.violence.in.th/publicweb/pdf
http://www.api-gbv.org/files/Facts.Stats-APIIDV-2015.pdf
https://www.ncjrs.gov/pdffiles1/nij/225722.pdf
https://www.women.nsw.gov.au/women_in_nsw/current_report/safety_and_access_to_justice/focus_topic_under-reporting_of_domestic_violence_assaults
http://www.domesticviolenceroundtable.org/abuse-victims-stay.html
http://guru.sanook.com/8268/
http://www.muslimvoicetv.com/ncontent/law.php?nid=13425#ixzz49CCkCtMe