งานศพเยอรมัน

สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นประสบการณ์เฉพาะตัว เป็นธรรมเนียมของชาวคริสต์นิกายโปรเตสแต้นท์ ซึ่งอาจมีผิดเพี้ยนจากธรรมเนียมของคาทอลิกในที่อื่น ๆ หรือจากประสบการณ์ของพี่น้องในเยอรมนี แล้วแต่กรณี

สังคมผู้สูงวัย
ประเทศเยอรมนีได้ชื่อว่ามีประชากรสูงวัยมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น คนเยอรมันที่อายุมากกว่า 70 ปีมีมากมายและมักจะมีสุขภาพแข็งแรง สามารถขับรถ ขี่จักรยาน เดินไปซื้อของ ทำอาหาร ดูแลบ้าน ด้วยตัวเองได้ แต่เมื่อแก่ตัวลงก็อาจจะมีลูกหลานแวะเวียนมาดูแล หรือจ้างคนมาดูแลบางเวลา โดยเฉพาะเรื่องงานเอกสาร พวกเสียภาษี เงินเกษียณ การชำระบิลล์ต่าง ๆ การโอนเงิน การไปพบหมอ หรือถ้าอยู่บ้านไม่ไหวก็ไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านพักคนชราที่มีความสะดวกสบายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับงบประมาณ คนสูงอายุมักจะเก็บออมเงินไว้เพื่อจ่ายค่าบ้านพักคนชรา น้อยนักที่จะให้ลูกหลานต้องมาส่งเสียหรือป้อนข้าวป้อนน้ำ คนชราถือเรื่องการช่วยตัวเองให้มากที่สุดจนแม้ถึงช่วงเวลาท้าย ๆ ของชีวิต ชาวเยอรมันมีน้ำใจบึกบึน อดทน ไม่โอดครวญ อาจจะเพราะผ่านการแพ้สงครามโลกมากถึงสองครั้ง ต้องประสบความยากลำบากมากมาย จึงไม่มีใครปริบ่นเรื่องความเจ็บป่วยง่าย ๆ และไม่ค่อยมีการโอ๋หรือปลอบโยนกันจนเกินไป

เครดิตภาพ https://goo.gl/images/bhYQ4g

คนเยอรมันคิดอย่างไรกับความตาย
คนเยอรมันน่าจะเหมือนคนตะวันตกส่วนใหญ่ที่พูดถึงความตายและการเตรียมตัวตายอย่างเปิดเผย ส่วนใหญ่จะทำพินัยกรรมทำไว้เรียบร้อย มีการเก็บเงินไว้สำหรับการอยู่บ้านพักคนชรา มีเงินที่จัดไว้สำหรับทำศพ (บางทีเอามาจากเงินกองมรดก) มีการนำพินัยกรรมไปฝากกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือทนายความ ลูกหลานก็มักจะรับทราบด้วยวาจาว่า กองมรดกมีอยู่สักเท่าไรและลูกหลานแต่ละคนจะได้เท่าไร เมื่อเสียชีวิตลงก็จะมีการเปิดพินัยกรรมโดยทนายหรือเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย กฎหมายมรดกของเขาแบ่งชัดเจนว่า ญาติสายตรงคือพ่อแม่และลูกต้องได้สัดส่วนเท่าไร คู่สมรสต้องได้เท่าไร แต่คนเขียนพินัยกรรมอาจจะกำหนดเป็นอย่างอื่นได้ และหากพินัยกรรมนั้นทำอย่างไม่เป็นธรรม เช่น เทให้คนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหลาน ลูกหลานที่รู้สึกว่าเสียเปรียบก็ต้องฟ้องร้องขอให้แบ่งมรดกใหม่ จะชนะหรือไม่ก็ตามเนื้อผ้า

บ้านพักคนชรา
เราจะพูดถึงกรณีพ่อแก่แม่เฒ่าที่ไปอยู่บ้านพักคนชรา โดยทั่วไปจะมีห้องนอนเป็นสัดส่วน อาจจะห้องเดี่ยวห้องคู่ แล้วแต่ทุนทรัพย์ มีห้องอาบน้ำ เตียงปรับได้ โต๊ะเก้าอี้เป็นชุด มีตู้เสื้อผ้า เหมือนกับโรงแรมเล็ก ๆ มีห้องทานข้าว ห้องนั่งเล่น สวนหย่อม มุมรับแขก เวลาลูกหลานมาเยี่ยมก็ได้นั่งคุยกันในห้องสบาย ๆ หรือพาออกไปเดินเล่นข้างนอก ถ้าสุขภาพยังดี ลูกหลานก็สามารถพาพ่อแม่ปู่ย่าตายายออกไปกินข้าวที่บ้าน หรือไปเที่ยวตอนกลางวันแล้วกลับมาส่งบ้านพักตอนเย็นได้ มีอิสระเหมือนไปพักโรงแรมนั่นเอง แต่เสื้อผ้าต้องเอาไปซักที่บ้าน ซึ่งลูก ๆ ก็จะมาเอาไปซักแล้วเอามาคืนให้ หรืออาจจะเอาทีวีจากบ้านมาตั้งไว้ดูให้หายเหงาก็ได้ ลูกหลานส่วนใหญ่จะเอาภาพถ่าย ภาพวาด แจกันดอกไม้ หรือสิ่งของที่ทำให้คนแก่มีความสุขมาไว้ล้อมรอบ ทางบ้านพักจัดเตรียมอาหารให้ทุกมื้อ ลูกหลานไม่นิยมป้อนอาหารให้เพราะเชื่อว่าคนแก่ควรจะได้ช่วยตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรีมากที่สุดนานที่สุด

เครดิตภาพ https://goo.gl/images/f667Fy

คนชราก่อนวาระสุดท้าย
เมื่อถึงวัยอันสมควรหรือถูกรุมเร้าด้วยโรคเฉพาะตัว หรือถูกโรคแทรกแซง ผู้สูงอายุที่รักของเราจะค่อย ๆ สูญเสียความสามารถที่จะช่วยตัวเองไปทีละน้อย พูดได้น้อยลง กินข้าวได้ลำบากขึ้น เข้าห้องน้ำเองไม่ได้ ล้มตกเตียงบ่อย ๆ จนต้องนอนอยู่กับที่ในที่สุด ผู้สูงอายุหลายท่านเผชิญกับอาการสมองเสื่อม เริ่มพูดไม่เป็นคำ จะสั่งเสียลูกหลานว่า ถ้าเป็นอะไรไปช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่ต้องพยายามรั้งไว้ ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ และมีการทำหนังสือไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อไม่ให้มีการเอาผิดผู้ใด ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้ใครมาเยี่ยม เพราะไม่อยากให้เพื่อนหรือคนนอกครอบครัวเห็นความร่วงโรยของตน หรือเป็นความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องทำตัวให้ดูดีเพื่อต้อนรับคนเยี่ยมไข้ ด้วยธรรมชาติที่คนเยอรมันต้องแสดงความอดทนไม่โอดครวญนั่นเอง ดังนั้น ความชราในสถานดูแลจึงอาจเป็นความโดดเดี่ยวที่มีแต่ญาติใกล้ชิดเท่านั้นที่ได้สัมผัส โดยทั่วไป แพทย์เจ้าของไข้จะแจ้งให้ญาติทราบว่า ผู้ชราท่านนี้น่าจะอยู่ได้อีกไม่เกินกี่วัน เพื่อเป็นการเตรียมใจ

เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง
ประเทศเยอรมนีศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องกฎหมายในทุกแง่มุมของชีวิต เมื่อผู้สูงอายุเสียชีวิตในบ้านพักคนชรา แพทย์จะชันสูตรออกใบมรณะบัตร หากเสียชีวิตที่บ้านต้องมีตำรวจมาสอบสวนว่าเป็นการตายอย่างธรรมชาติจริง แพทย์จะออกใบมรณะบัตรและเคลื่อนย้ายศพได้ เมื่อเสียชีวิตที่บ้านพักคนชรา จะมีการนำศพพร้อมกับญาติไปที่ห้องสวดมนต์เพื่อให้วิญญาณไปสู่สุขติ ก่อนจะมีบริษัทฌาปนกิจมารับศพไปเก็บไว้ในห้องเย็น ณ สถานที่เก็บศพสำหรับเมืองนั้น หากญาติที่อยู่ไกลต้องการเห็นหน้าศพ เขาก็จะนำออกมาให้ดู แต่ส่วนใหญ่จะไม่ขอดู แต่ขอจดจำผู้จากไปในลักษณะที่ดีที่สุด คนเยอรมันไม่พิลาปรำพันกับความตายของผู้ใหญ่หรือตีอกชกใจมากนัก น้ำตาไม่ตกก็ว่าได้ เขาจะเลือกรักษามารยาทในสังคม และทำหน้าที่ให้ภาระงานศพผ่านพ้นไป ซึ่งเป็นงานที่ยุ่งยากพอสมควรสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยธรรมเนียม

เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง เครดิตภาพ https://goo.gl/images/6XiFm5

ความตายที่ถูกกำกับโดยรัฐ
คนเยอรมันไม่สามารถเลือกฝังศพได้ตามอำเภอใจ ศพจะต้องฝังหรือเผาในสถานที่รัฐกำหนดเท่านั้น ส่วนใหญ่เลือกเผาเพราะประหยัดค่าเช่าสุสาน ไม่มีการนำอังคารไปลอยน้ำ ไปโปรยในสวน หรือเก็บอัฐิไว้ที่บ้าน เพราะผิดกฎหมาย จะว่าไปแล้วลูกหลานไม่มีสิทธิแตะต้องอัฐิของคนที่รักเลย ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ฌาปนกิจหรือคนของสุสานเท่านั้นที่ทำหน้าที่นี้ ส่วนใหญ่เลือกที่จะเผาศพมากกว่าฝัง เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่า เนื่องจากสุสานต้องต่อสัญญาเช่าทุกยี่สิบหรือยี่สิบห้าปี หากหมดสัญญาแล้วไม่มีการมาต่อ เขาก็จะล้างสุสานไป หากเป็นคนไทยมาเสียชีวิตที่เยอรมนีก็ต้องทำการฝังหรือเผาตามธรรมเนียมเยอรมัน ยกเว้นว่าจะให้ส่งศพไปประเทศไทย ซึ่งก็ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐกำกับในการส่งศพเช่นกัน อย่างไรก็ดีหากภรรยาคนไทยต้องการนำเถ้ากระดูกของสามีไปเมืองไทย ต้องให้ทางบริษัทที่รับผิดชอบเรื่องศพจัดการให้ ต้องทำเอกสาร ดำเนินเรื่องส่งออก และจัดส่งให้ตามกระบวนการของเขา ค่าใช้จ่ายอาจหลายพันยูโร เราไม่มีสิทธิถือขึ้นเครื่องไปเอง บางกรณีก็การนำโกศที่ใส่เถ้ากระดูกไปฝากไว้ที่สถานทูตหรอวัดไทยที่ได้รับอนุญาตเพื่อให้ครอบครัวมานำกลับเมืองไทยเมื่อถึงกำหนด

พนักงานฌาปนกิจเยอรมัน เครดิตภาพ https://goo.gl/images/mhprrH

ความตายมีราคา
เมืองไทยมีเปรียบเปรยว่า “คนตายขายคนเป็น” เวลาที่มีการจัดงานศพอย่างอลังการเลี้ยงดูกันไม่อั้น รวมถึงค่าเช่าศาลาวัด ค่าโรงศพ ค่าบัตรเชิญ ค่าเตาเผา ค่าทำพิธีจิปาถะ ซึ่งเป็นเงินนับหมื่นนับแสน ที่เยอรมนีก็ไม่ใช่เรื่องถูก ๆ เช่นกัน เราจะต้องติดต่อบริษัทฌาปนกิจ ต้องซื้อโกศสำหรับใส่อัฐิ ต้องคิดข้อความและเลือกแบบสำหรับประกาศลงหนังสือพิมพ์ ต้องออกบัตรเชิญ ต้องสั่งจองอาหารที่ร้านใกล้ ๆ เพื่อให้ผู้มาร่วมพิธีได้พบปะกัน ต้องสั่งดอกไม้ประดับรอบโกศประกับหน้างาน ราคาโกศก็ร้อยสองร้อยไปจนถึงเจ็ดแปดร้อยยูโร ขนาดเท่ากระถางดินเผาเขื่อง ๆ ซึ่งเขาเอาไปฝัง เราเอากลับบ้านไม่ได้ ไหนจะค่าเผาศพในเตาเผาของรัฐซึ่งจะทำเงียบ ๆ โดยอาจมีญาติสองสามคมไปร่วมเป็นพยาน ไม่มีพิธีเผาต่อหน้าธารกำนัล เมื่อเผาเสร็จจึงนำอัฐิมาไว้ในโกศที่เตรียมไว้ เอามาตั้งที่โบสถ์ตกแต่งด้วยดอกไม้ บ้านเขาไม่มีธรรมเนียมให้เงินใส่ซองเพื่อช่วยงานศพที่เคร่งครัดเหมือนบ้านเรา การจะให้เงินใส่ซองหรือไม่ ไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ครอบครัวไม่ได้คาดหมายอะไร ในขณะที่บ้านเราแทบจะเป็นธรรมเนียมที่ต้องให้เงินช่วยงานศพเกือบร้อยทั้งร้อย แม้ไม่ได้ไปงานเองก็ยังส่งเงินไปร่วมทำบุญได้ สำหรับคนเยอรมันค่าใช้จ่ายในการทำศพส่วนหนึ่งนำมาจากกองมรดกที่ลูกหลานจะได้รับ ถ้าไม่มีมรดก ลูกหลานก็รับค่าใช้จ่ายไป หรือใครที่ส่งเสียเลี้ยงดูผู้ตายมาก่อน เช่น รัฐ หรือบ้านคนชราอนาถา หรือใช้เงินประกันค่าทำศพที่ผู้ตายได้ทำไว้ หากผู้ตายเป็นคนอนาถาไร้ญาติขาดมิตร ทางเทศบาลเมืองก็ต้องรับหน้าเสื่อไป ข้อที่น่าสนใจยิ่งคือ ใครที่เป็นเหตุให้ผู้นั้นตาย ต้องจ่ายค่าทำศพ เรียกว่าแม้แต่ความตายก็ต้องการจัดการอย่างมีระเบียบ คนเยอรมันจึงมีคำกล่าวว่า “การปฏิบัติต่อคนตายอย่างมีเกียรติคือเครื่องหมายประเทศที่เจริญแล้ว”

เครดิตภาพ https://goo.gl/images/c26EhX

การแสดงความเสียใจ
ดังที่กล่าวว่าคนเยอรมันแจ้งข่าวเรื่องการตายผ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะแจ้งวันเกิด วันเสียชีวิต ชื่อญาติพี่น้องที่ประกาศ วันฝังศพ สถานที่ฝังศพ ที่อยู่สำหรับส่งจดหมายแสดงความเสียใจ (และความปรารถนาจะให้ทำการกุศลในนามของคนตายกับองค์กรใด พร้อมเลขบัญชี) รวมทั้งโทรแจ้งญาติที่สนิทหรือบอกเพื่อนบ้านให้รับทราบ คนที่มาไม่ได้ก็จะส่งจดหมายแสดงความเสียใจ หรือโทรศัพท์มาด้วยตัวเอง หากเป็นจดหมายจะนิยมเขียนด้วยลายมือตัวเองเพื่อแสดงถึงมารยาทอันดีงาม หรือหากอยู่ไกลก็ส่งดอกไม้มาที่งานศพ ดอกไม้เหล่านี้ทางโบสถ์จะนำไปวางประดับรอบโกศที่ในโบสถ์ แล้วนำไปไว้ที่สุสานหลังพิธีฝังเรียบร้อย คนเขาไม่นิยมส่งพวงหรีดเพราะจะใหญ่เกินเอาไปไว้ที่สุสาน แต่นิยมส่งเป็นช่อดอกไม้แบบวางตามยาวหรือแบบแนวตั้งมีโอเอซิส สีของดอกไม้ก็อาจจะขึ้นอยู่กับว่าผู้ตายเคยรักชอบดอกไม้อะไร

คนเยอรมันไม่นิยมไปแสดงความเสียใจที่บ้านผู้ตายเพราะไม่ต้องการไปรบกวนญาติในระหว่างโศกเศร้า บางครั้งจะมีระบุไว้ในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าให้ส่งจดหมายแสดงความเสียใจไปที่ไหน (ซึ่งเป็นที่อยู่ของคนอื่นที่รู้จักกัน ซึ่งไม่ใช่บ้านญาติของผู้เสียชีวิต เหตุที่ต้องทำดังนี้ เพราะเคยเกิดเหตุโจรกรรมบ่อยครั้งที่บ้านผู้ตายในระหว่างที่ทุกคนออกไปงานศพกัน เนื่องจากหัวขโมยรู้ว่าบ้านนี้จะไม่มีคนอยู่ตอนไหน

ร้านดอกไม้จะส่งดอกไม้หรือพวงหรีดประมาณสองชั่วโมงก่อนงานเริ่ม พนักงานฌาปนกิจและเจ้าหน้าที่โบสถ์จะนำดอกไม้ไปจัดวางไว้ให้เรียบร้อย และจะเก็บการ์ดที่ส่งมาพร้อมกับดอกไม้ไว้ให้เจ้าของงานด้วย บางครั้งผู้ส่งการ์ดอาจจะแนบเงินช่วยงานมาด้วย ดอกไม้ส่วนใหญ่จะมีป้ายผ้ากำกับว่ามาจากใคร และมีข้อความแสดงความเสียใจสั้น ๆ เมื่องานศพเสร็จสิ้นลง ครอบครัวมีหน้าที่เขียนจดหมายขอบคุณถึงทุกคน

พวงหรีดวางหน้าศพ

การแต่งตัวไปงานศพ
แขกที่ได้ทราบข่าวจากปากญาติโดยตรงหรือจากหนังสือพิมพ์สามารถไปร่วมงานศพได้ อาจมีตั้งแต่เจ้าหน้าที่ธนาคารที่ดูแลบัญชีของผู้เสียชีวิต เจ้าของบ้านเช่าของผู้เสียชีวิต เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมสโมสร คนเก่าคนแก่ หมอประจำตัว คนทำความสะอาดบ้าน เมื่อไปพิธีศพ คนส่วนใหญ่จะแต่งดำเพื่อแสดงความเคารพผู้ตาย จะจับมือแสดงความเสียใจกับครอบครัว ไม่พูดมาก แล้วก็รีบไปหาที่นั่ง บางคนก็แอบมาเงียบ ๆ ไม่ให้รบกวนเจ้าภาพ เพื่อนจากทางไกลก็อาจมาปรากฏตัวโดยไม่บอกล่วงหน้าเพื่อให้แปลกใจและดีใจ สมาชิกครอบครัวจะแต่งสีดำแซมขาวบ้างเป็นหลัก แต่แขกบางคนก็แต่งตัวธรรมดาโดยเน้นสีที่ไม่ฉูดฉาด ผู้ชายส่วนใหญ่จะแต่งตัวเต็มยศ เสื้อสูทดำหรือเทาเข้ม เสื้อขาวสะอาด มีกระดุมข้อมือเสื้อ เนกไทสีเข้ม รองเท้าหนัง ที่แต่งตัวธรรมดาก็มี ผู้หญิงเลือกใส่กางเกงหรือกระโปรงตามถนัดและตามสภาพอากาศ เราสามารถใส่หมวกเข้าโบสถ์และไปร่วมงานศพได้ ผู้หญิงควรถือกระเป๋าดำเท่านั้น ไม่ควรถือกระเป๋าสีฉูดฉาดหรือกระเป๋าสีขาว รองเท้าสีดำเหมาะสมที่สุด แขกจะมาจับมือกับเจ้าภาพหรือโอบกอดแสดงความเสียใจ ขึ้นอยู่กับความสนิทสนม อาจมีการพูดคุยยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ต้องตีสีหน้าเศร้าจนเกินไป แต่ก็ไม่หัวเราะเฮฮาออกอาการ

บรรยากาศที่โบสถ์
ส่วนใหญ่แขกจะไปร่วมงานใกล้ ๆ ก่อนเวลาที่กำหนดสักห้านาที และงานจะเริ่มตรงเวลา เจ้าภาพมักจะไปประมาณครึ่งค่อนชั่วโมงก่อนงาน เพื่อดูความเรียบร้อย แนะนำตัวกับบาทหลวง แล้วมายืนคอยอยู่หน้าโบสถ์ เมื่อแขกเข้าไปด้านในก็จะเห็นภาพผู้ตายที่จะเลือกอย่างสวยงามน่าจดจำที่สุด มีบอกวันเกิด-วันมรณะ ภาพถ่ายตั้งไว้บนขาหยั่ง มีดอกไม้ประดับเล็กน้อย มีฉากหลังสวย ๆ มีโต๊ะที่จัดสมุดสำหรับให้แขกลงชื่อว่าได้มาร่วมงาน และมีป้ายประกาศว่าหลังพิธีแล้วขอเชิญทานอาหารกลางวันที่ไหน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นร้านอาหารหรือโรงแรมใกล้เคียง เมื่อแขกไปถึงก็จะรีบเข้าไปหาที่นั่งอย่างเรียบร้อย ไม่ยืนเกะกะ บางคนเอาช่อดอกไม้หรือดอกไม้ที่ตัดมาจากในสวนช่อเล็ก ๆ ไปวางเรียงกันไว้หน้าโกศบรรจุเถ้ากระดูก วางบนพื้นโบสถ์นี่แหละ พอได้เวลา บาทหลวงและพนักงานฌาปนกิจหรือสัปเหร่อจะแต่งตัวอย่างเป็นทางการ สัปเหร่อสวมหมวกดำ เดินนำเข้าไปในโบสถ์ ญาติสายตรงของผู้ตายเดินตามเข้าไปเป็นขบวน คนที่อยู่ในโบสถ์ก็จะยืนขึ้นพร้อมกัน เมื่อบาทหลวงไปถึงด้านหน้าก็จะหยุด หันมาหาทุกคน ครอบครัวผู้ตายก็จะเรียงกันนั่งแถวหน้าและทุกคนนั่งลง บาทหลวงจะสวดและกล่าวไว้อาลัย พูดประวัติผู้ตายคร่าว ๆ (ญาติร่างข้อความให้) ใช้เวลาไม่เกินสามสิบนาที มีดนตรีคั่นจังหวะสั้น ๆ

การเดินไปสู่หลุมฝังศพ
เมื่อบาทหลวงสวดจบ จะมีพนักงานแต่งชุดขาวดำเต็มยศทำการยกถาดที่วางโกศไว้ แล้วเดินนำไปที่สุสานซึ่งอยู่ไม่ไกล อาจจะสองสามร้อยเมตร ครอบครัวจะเดินตามไปพร้อมด้วยแขกที่เหลือ ส่วนแขกชุดไหนอยากกลับบ้านไปในตอนนี้ก็ได้ การเดินไปที่สุสานนี้ให้ความรู้สึกที่ศักดิ์สิทธิ์ และลูกหลานไม่ได้ถือโกศไปเอง กฎหมายห้ามแตะต้อง เมื่อไปถึงหลุมศพ ก็จะเห็นเขาขุดหลุมไว้มีตาข่ายสีเขียวรองรับอย่างดี สัปเหร่อจะเป็นคนหย่อนโกศลงหลุม ตามด้วยพวงดอกไม้ที่ล้อมโกศไว้ซึ่งจะวางพอดีขนาดปากหลุม ดูสวยงามมาก บาทหลวงมาทำพิธีสวดสั้น ๆ แล้วตักทรายโรยลงไปเล็กน้อย จากนั้นลูกคนโต คนรอง คนสุดท้องก็โรยทราย โปรยกลีบดอกไม้ที่ใส่ตะกร้าเล็ก ๆ เตรียมไว้ลงไปในหลุม  สะใภ้และเขยก็ทำหน้าที่ตามลำดับ ต่อด้วยญาติสนิทมิตรสหาย คนรู้จัก เพื่อนบ้าน ทุกอย่างเป็นไปอย่างเคร่งขรึมและมีเกียรติ บางคนโปรยดอกไม้แล้วก็จะพึมพำร่ำราผู้ตายอีกครั้ง เมื่อญาติและแขกอื่น ๆ โรยทรายและโปรยดอกไม้เสร็จก็จะมาจับมือแสดงความเสียใจกับครอบครัวที่ยืนเข้าแถวอยู่ข้าง ๆ อีกครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีทางศาสนา การกลบหลุมฝังศพก็จะเป็นหน้าที่ของพนักงานในสุสานต่อไป บางส่วนก็ไปทานอาหารต่อกับครอบครัว บางส่วนก็ขอตัวกลับบ้านเลย งานนี้ไม่มีเงินติดกัณฑ์เทศน์

หลุมใส่โกศเถ้ากระดูกผู้เสียชีวิต ประดับปากหลุมด้วยพวงดอกไม้

การเลี้ยงอำลาอาลัย
การเลี้ยงอำลาเป็นส่วนหนึ่งของญาติที่ได้มาพบกันจากที่ไกล ๆ ก็คงเหมือนในเมืองไทยนั่นเอง แต่ไม่ได้จัดใหญ่โตอะไร ขึ้นอยู่กับฤดูกาล เนื่องจากพิธีในโบสถ์และการนำโกศลงหลุมเกิดขึ้นในตอนกลางวัน จึงเป็นการเลี้ยงอาหารกลางวัน ฤดูร้อน เจ้าภาพก็เลี้ยงของง่าย ๆ เช่น ขนมปังเปิดหน้าแบบต่าง ๆ ซุปเบา ๆ และขนมเค้กสองสามอย่าง พร้อมชา กาแฟ เบียร์ ไวน์ แล้วแต่อัธยาศัยของแขก ช่วงเวลานี้เจ้าภาพก็จะได้คุยกับญาติที่มาจากทางไกลและเพื่อนฝูง หน้าที่เจ้าภาพที่ดีก็จะสลับไปคุยตามโต๊ะต่าง ๆ ให้ทั่วถึงแขกทุกคน ไม่มีการถ่ายรูปหรือเซลฟี่ทั้งระหว่างพิธีในโบสถ์และช่วงการฝังศพ คนเยอรมันไม่เห่อถ่ายรูป คนนอกจะไม่ถ่ายรูปในงานเลย ญาติสายในที่ต้องการเก็บภาพไว้ ควรทำอย่างเงียบ ๆ เพื่อเป็นการเคารพผู้ตายและครอบครัว บางครั้งครอบครัวอาจหาช่างภาพมาถ่ายทำก็ได้

ขนมเค้กน้ำตาล ของหวานตามธรรมเนียมงานศพ เครดิตภาพ https://www.backenmachtgluecklich.de/media/2018/03/Butterkuchen-einfaches-Rezept-980×530.jpg

เปรียบเทียบความตายไทย-เยอรมัน
คนไทยไปแสดงความเสียใจถึงบ้าน คนเยอรมันไม่รบกวนเจ้าของบ้าน คนไทยไปอยู่เป็นเพื่อนผี นอนเฝ้าหน้าโลงศพ คนเยอรมันทำไม่ได้เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐกับโบสถ์เท่านั้น คนไทยใส่ซองช่วยงานศพเป็นอัตโนมัติ คนเยอรมันไม่มีธรรมเนียมนี้อย่างชัดเจน เราต้องกระซิบถามเจ้าภาพ เพราะหลายแห่งเขาไม่ทำกัน คนไทยเก็บอัฐิของผู้ตาย เอาไปลอยอังคารหรือแม่น้ำทะเลได้ กฎหมายห้ามคนเยอรมันไม่ได้ทำตามอำเภอใจกับร่างและเถ้ากระดูกของผู้ตาย  (บางคนต้องเอาศพไปเผานอกประเทศเพื่อลอยอังคารได้) หากหญิงไทยต้องการเถ้ากระดูกของสามีเพื่อนำกลับเมืองไทย ต้องดำเนินเรื่องตามระเบียบราชการและใช้เวลาพอสมควร (มีเฉพาะสถานทูตหรือวัดไทยบางแห่งที่ได้รับอนุญาตให้เก็บโกศบรรจุอัฐิไว้ให้ญาติผู้ตายนำขึ้นเครื่องกลับเมืองไทยเท่านั้น ไม่สามารถกลับไปไว้ที่บ้านในเยอรมนีได้) คนไทยติดต่อวัดทำทุกอย่างที่เดียว คนเยอรมันติดต่อสำนักงานฌาปนกิจทำหน้าที่แทน คนไทยไม่นิยมแจ้งข่าวการตายในหนังสือพิมพ์ยกเว้นบุคคลมีชื่อเสียง คนเยอรมันแจ้งข่าวการตายในหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมีทำเนียบผู้เสียชีวิตวันต่อวัน คนอ่านหนังสือพิมพ์จะดูคอลัมน์นี้หรือเช็คข้อมูลออนไลน์ได้ คนไทยเหน็ดเหนื่อยกับการจัดงานศพมากถึงมากที่สุด คนเยอรมันไม่ต้องเหนื่อยมากเพราะถือว่าเศร้าโศกพอแล้ว คนไทยจัดงานศพเผาศพฝังศพวันไหนก็ได้ คนเยอรมันทำได้เฉพาะจันทร์ถึงศุกร์ เสาร์อาทิตย์ห้าม สุดท้าย คนเยอรมันส่วนใหญ่เตรียมเงินสำหรับงานศพตัวเองไว้แล้ว ไม่ต้องให้ญาติพี่น้องต้องเดือดร้อน

ประกาศแจ้งข่าวผู้ตายในหนังสือพิมพ์ เครดิตภาพ https://goo.gl/images/riidAg

Message us