ผู้เกษียณไทย-เยอรมัน

ผู้เกษียณไทย-เยอรมัน ความเหมือนที่แตกต่าง

สองสามวันนี้ได้อ่านข่าวสองข่าวที่ล้อกันโดยบังเอิญ เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องของผู้เกษียณอายุเยอรมันในไทย อีกเรื่องหนึ่งคือผู้เกษียณอายุชาวไทยนี่เอง

ข่าวแรกเป็นบทความหนังสือพิมพ์เยอรมัน Berliner Morgenpost ประจำวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เขียนโดย Von Willi Germund เห็นว่าน่าสนใจ เลยเอามาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ บทความนี้เป็นภาษาเยอรมัน เนื่องด้วยภาษานี้ฉันยังไม่แข็งแรงก็เลยอาศัยกูเกิ้ลช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเอามาเจาะข่าวเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง ทีแรกลองแปลจากเยอรมันเป็นไทย แล้วอ่านไม่รู้เรื่อง ต้องแปลเยอรมันเป็นอังกฤษ จะชัดเจนว่า นึกดีใจว่าตัวเองยังรู้ภาษาสากลภาษาหนึ่ง พอให้เอาตัวรอดได้ และอดสงสัยไม่ได้ว่า สาวไทยที่เดทออนไลน์กับหนุ่มฝรั่งแล้วใช้กูเกิ้ลแปลจากภาษาฝรั่งเป็นภาษาไทยตรง ๆ พวกเธอจะเข้าใจได้มากแค่ไหนหนอ เพราะพี่กูเกิ้ลแปลได้ปวดหัวมาก

ข่าวนี้ขึ้นหัวเรื่องดีว่า ความคับข้องใจของผู้เกษียณในเมืองไทย (Rentner-Frust in Thailand) และจั่วรองหัวเรื่องว่า “พวกเขาหวังจะไปใช้ชีวิตที่ดีกว่าในประเทศไทย แต่อนิจจามันต้องใช้เงินมากมายเหลือเกิน” ประโยคนี้ช่างเป็นการสะท้อนเรื่องราวในทางกลับกันเสียนี่กระไร เพราะในขณะเดียวกันผู้หญิงไทยที่อายุน้อยและมากต่างก็บ่ายหน้าออกต่างประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย เอเชีย อาหรับ และทุกหนแห่งทั่วโลก เพื่อแสวงหาชายในฝัน งานในฝัน ชีวิตในฝัน ครอบครัวในฝันในต่างแดน หรือทุก ๆ อย่าง พวกเธอจำนวนหนึ่งสมหวังเป็นตัวอย่างให้หญิงไทยอีกจำนวนมากก้าวตามและพยายามคว้าไขว่ในสิ่งเดียวกัน

“พวกเขาหวังจะไปใช้ชีวิตที่ดีกว่าในประเทศไทย แต่อนิจจา มันต้องใช้เงินมากมายเหลือเกิน”

แต่พวกเธออีกจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบากและความผิดหวังก็บ่อยครั้ง โดยเงินและภาษาเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญ เราเองก็มักจะมองว่า ฝรั่งที่มาอยู่เมืองไทยคงต้องสุขสบาย แต่ที่จริงพวกเขาที่ไม่มีงานทำแล้วต้องพึ่งเงินบำนาญจากรัฐอย่างเดียว ก็ต้องกินอยู่อย่างประหยัดเช่นกัน จนได้รับการกล่าวขานจากหญิงไทยบางกลุ่มว่า ฝรั่งขี้นก ฝรั่งขี้เหนียว เป็นต้น

เนื้อข่าวเจาะไปที่ประสบการณ์และทัศนะชายเยอรมันคนหนึ่งชื่อว่า Klaus Aulbach อายุ 74 ปี มาจากกรุงเบอร์ลิน ในที่นี้ขอเรียกเขาว่า เคล้าส์ ที่หอบเงินเกษียณมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย โดยไม่คิดกลับบ้านเกิดเมืองนอนอีก เคล้าส์บอกว่าเหตุผลที่ตอนนั้นตัดสินใจมาใช้บั้นปลายชีวิตที่เมืองไทยก็เพราะผู้หญิงไทยที่น่ารักและเพราะสายลมแสงแดดของประเทศไทย และเคล้าส์บอกว่า ปัจจุบันนี้ตัวเองอยู่เมืองไทยเพราะสายลมแสงแดดอย่างเดียว เขาไม่ได้บอกว่า เรื่องโรมานซ์ของเขากับหญิงไทยจบลงอย่างไร แต่เชื่อว่าการเงินและอายุน่าจะเป็นอุปสรรค

เคล้าส์มีรายได้จากเงินเกษียณประมาณ 1,200 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทย 45,000 บาท ข่าวไม่ได้บอกว่า เขาใช้ชีวิตแบบไหน บ้านต้องเช่าแพงขนาดไหน และมีค่าใช้จ่ายประจำอะไรบ้าง เงินจำนวนนี้คนชั้นกลางที่ไม่มีหนี้สินอะไรในเมืองไทยน่าจะอยู่สบาย และถือว่าอยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจนมากมาย แต่ถ้าเคล้าส์ต้องกินอาหารเยอรมันบ่อย ๆ ต้องกินเบียร์ทุกค่ำ ต้องออกไปสังสรรค์กับเพื่อน ต้องใช้ชีวิตแบบฝรั่ง ต้องผ่อนรถ ต้องจ่ายค่าน้ำมัน ค่าแท้กซี่ ค่าไฟฟ้ากรณีนอนห้องแอร์ ค่าจีบสาวเป็นครั้งคราว ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าเน็ต และจับจ่ายสินค้าแบบฝรั่ง เช่น ขนมปัง นม เนย เนยแข็ง หมูแฮม มูสลี่ ซีเรียล น้ำดื่ม และของอุปโภคอื่น ๆ ที่มาตรฐานฝรั่ง ก็น่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนไทย และเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชน เพราะไม่มีประกันสุขภาพที่เยอรมนีแล้ว เมื่อคิดค่าใช้จ่ายสะระตะเหล่านี้ ที่แน่ ๆ คือ เคล้าส์เองก็สรุปว่ารายได้เท่านี้อยู่เมืองไทยยากสำหรับคนเยอรมัน เคล้าส์ไม่ได้พูดเกินจริง ขนาดว่าเคล้าส์ตัวคนเดียว ไม่ได้มีแฟนไทยเป็นตัวเป็นตนหรือมีลูกหลานให้ต้องใช้จ่ายเพิ่ม

สถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทยประมาณว่า มีชาวเยอรมันอาศัยอยู่ในประเทศไทยราว 30,000 คน แต่ผู้รู้อื่น ๆ เชื่อว่าตัวเลขจริงอาจจะสูงกว่านี้สองเท่า

เคล้าส์ตัดสินใจเกษียณเร็ว ตั้งแต่อายุ 58 ปี เพราะเบื่อความหนาวเย็นในประเทศเยอรมนี โดยยอมรับที่จะได้เงินเกษียณน้อยลงจากการออกจากระบบเร็วกว่ากำหนด โดยเคล้าส์คิดว่าจะไปเจอชีวิตที่ดีกว่าในแถบเอเชีย เคล้าส์ก็เหมือนผู้เกษียณชาวเยอรมัน ชาวออสเตรีย และชาวสวิสอีกหลายหมื่นคน ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่มุ่งหน้าสู่ประเทศไทย ดินแดนแห่งรอยยิ้มและสาวงาม สถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทยประมาณว่า มีชาวเยอรมันอาศัยอยู่ในประเทศไทยราว 30,000 คน แต่ผู้รู้อื่น ๆ เชื่อว่าตัวเลขจริงอาจจะสูงกว่านี้สองเท่า โดย 2 ใน 3 ของจำนวนนี้เป็นคนโสดหรือไม่มีพันธะการสมรส

ถ้าอยู่ในประเทศเยอรมนี บุคคลอย่างเคล้าส์จะถูกถือว่าน่ารังเกียจ เพราะการชอบเปิดพุงกลม ๆ ต่อสาธารณชน และชอบควงแฟนผู้หญิงไทยอายุน้อย ๆ ซึ่งในสังคมเยอรมันรับไม่ค่อยจะได้ (แม้ว่าจะเป็นภาพที่เราคนไทยเห็นเป็นปกติตามแหล่งท่องเที่ยว) แต่ความเป็นจริงก็คือ สวรรค์ตะวันออกในความใฝ่ฝันของคนอย่างเคล้าส์นั้นมักจะกลายเป็นนรกไปในภายหลัง น่าจะเป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้ราคาถูกอย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป และหญิงไทยมีสิทธิเลือกแฟนฝรั่งมากขึ้นด้วยการเข้าถึงสื่อโซเชียลต่าง ๆ และเครือข่ายกับหญิงไทยด้วยกันเองบอกปากต่อปาก การจีบหญิงไม่ใช่กิจกรรมที่ทำได้ด้วยมือเปล่า ไม่ว่าฝรั่งหรือไทยต่างก็ต้องมีอำนาจที่จะเปย์ได้ในระดับหนึ่ง

บาดหลวง Jörg Dunsbach จากโบสถ์แคทอลิกในกรุงเทพฯตระหนักในปัญหานี้เป็นอย่างดี และให้ความเห็นอกเห็นใจผู้เกษียณเหล่านี้ บาดหลวงกล่าวว่า “ผู้เกษียณจำนวนมากได้เงินบำนาญเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการทำงานหนักมาตลอดชีวิต ดังนั้นเราจึงไม่ควรกล่าวโทษที่พวกเขาอยากจะมีชีวิตที่ดีกว่าในยามแก่เฒ่าในประเทศไทย” จังหวัดที่เป็นที่นิยมของผู้เกษียณเหล่านี้ก็ได้แก่ อุดรธานี กรุงเทพ และ พัทยา (เป็นที่น่าแปลกใจว่า ข่าวไม่มีการกล่าวถึงเชียงใหม่ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมชาวต่างชาติภรรยาไทยที่ใหญ่ที่สุดจังหวัดหนึ่ง) ส่วนชีวิตที่ดีกว่าที่บาดหลวงหมายถึงนั้นท่านไม่ได้ขยายความ แต่คนในวัยเกษียณอายุน่าจะต้องการอะไรนอกจากชีวิตที่สุขสงบและผ่อนคลาย งานอดิเรกที่รักที่ชอบทำ คู่ชีวิตที่ซื่อสัตย์คอยดูแลปรนนิบัติ สังคมเพื่อนฝูงไว้เม้ามอยภาษาเดียวกัน และบริการด้านสุขภาพที่ดีและเข้าถึงง่าย

ในเมืองหลัก ๆ ที่มีฝรั่งเยอรมันและชาติอื่น ๆ อาศัยอยู่เหล่านี้ จะมีร้านอาหาร ร้านค้า ร้านขนมปัง ร้านขายเนื้อแฮม ร้านมินิมาร์ทที่ตั้งเป้าฝรั่งชาติหลัก ๆ หลายชาติ เป็นต้นว่าเบเกอรี่แบบฝรั่งเศส แบบเยอรมัน ผับไอริช พิซซ่าอเมริกัน โดยเฉพาะร้านขายเนื้อและไส้กรอกแบบเยอรมัน เช่น ร้านที่ชื่อว่า “Schwein-Dieter” ที่สรรหาอาหารแบบเยอรมันให้ผู้เกษียณเหล่านี้ได้กินเพื่อหายคิดถึงบ้าน ผู้เกษียณส่วนใหญ่คิดแบบเดียวกับเคล้าส์ จึงพึงใจที่จะใช้ชีวิตเหมือนเคยใช้ในเยอรมนี (กินอาหารเยอรมัน กินไส้กรอกเยอรมัน ดื่มเบียร์เยอรมัน สังสรรค์กลุ่มเพื่อนเยอรมัน หรือรวมไปถึงใช้รถเยอรมันด้วย) แทนที่จะบูรณาการให้เข้ากับสังคมไทย เราคนไทยเองก็คงเห็นเป็นประจักษ์ถึงความนิยมร้านอาหารฝรั่งที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดและดำเนินงานโดยสามีฝรั่งภรรยาไทยเป็นส่วนใหญ่

เป็นที่น่าเศร้าว่าผู้เกษียณอายุฝรั่งจำนวนมากการติดต่อกับญาติมิตรลูกหลานในประเทศต้นทาง บาดหลวง Dunsbach เล่าให้ฟังว่า มีชาวออสเตรีย ชาวสวิส และชาวเยอรมันประมาณ 50 ถึง 70 คนที่มาเสียชีวิตที่เมืองไทย แล้วไม่สามารถติดต่อหาญาติที่ประเทศบ้านเกิดได้ จึงต้องฝังศพในสุสานรวมไป

“ถ้ามีเงินบำนาญน้อยกว่า 2,000 ยูโรต่อเดือน โอกาสที่จะอยู่อย่างสุขสบายคงแทบไม่มีเลย”

แม้ว่าเคล้าส์ไม่ต้องการที่จะติดต่อกับบ้านเกิดหรือลูกชายคนเดียวที่มีอยู่ แต่เขาไม่ได้ลืมสวัสดิการคนชราที่พึงได้จากประเทศบ้านเกิด เมื่อเขาต้องจ่ายค่าผ่าตัดที่กรุงเทพฯด้วยเงินจากกระเป๋าตัวเอง เพราะเขาได้งดส่งประกันสุขภาพที่เยอรมนีนับตั้งแต่ย้ายมาอยู่เมืองไทย การต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองที่เมืองไทย ทำให้เขาคิดได้ว่า “ถ้าฉันต้องแก่ตัวลงและไปอยู่บ้านพักคนชรา ฉันจะกลับไปอยู่ที่เยอรมนี และจะรายงานตัวกับทางการอีกครั้ง ด้วยวิธีนี้ฉันก็จะได้รับการคุ้มครองทางสุขภาพโดยอัตโนมัติ”

ด้วยเหตุที่ว่าผู้เกษียณอายุจำนวนมากไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลตัวในเมืองไทยได้เอง (เพราะความเคยชินที่สวัสดิการในประเทศเยอรมนีที่มีผู้ประกันตัวทุกคนสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้โดยไม่ต้องจ่ายเอง และความจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ) ทำให้มีการก่อตั้งสมาคมที่ชื่อว่า “German Relief Society (DHV)” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้ในยามขาดแคลนและช่วยให้ผู้เกษียณอายุประมาณ 100 คนได้เดินทางคืนบ้านเกิดในยามท้ายของชีวิต สมาคมนี้ได้แนะนำชาวเยอรมันด้วยกันว่า “ไม่ควรจะอยู่อาศัยในต่างประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน”

เคล้าส์ได้อาศัยอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 หรือ 16 ปีมาแล้ว ด้วยเงินบำนาญเลี้ยงชีพเดือนละ 1,200 ยูโร ในยุคแรก ๆ เงินจำนวนนี้คงไม่ใช่น้อย ๆ แต่เมื่อค่าครองชีพต่าง ๆ ถีบตัวสูงขึ้น การเป็นอยู่อาศัยก็ยากขึ้นเรื่อย ๆ เคล้าส์จึงได้เตือนเพื่อนร่วมชาติเยอรมันที่คิดจะมาตั้งหลักปักฐานที่เองไทยว่า “ถ้ามีเงินบำนาญน้อยกว่า 2,000 ยูโรต่อเดือน โอกาสที่จะอยู่อย่างสุขสบายคงแทบไม่มีเลย”

เคล้าส์เป็นตัวอย่างของผู้เกษียณอายุต่างชาติตัวคนเดียวในเมืองไทย ที่มีรายได้พอจะเลี้ยงตัวได้ในระดับต่ำ ตามมาตรฐานฝรั่งแต่เรียกว่าสูงมากในมาตรฐานไทย และเคล้าส์คงต้องเผชิญกับความเหงาที่ต้องแก่ตัวตามลำพัง การที่เคล้าส์จะไม่ทำตัวกลมกลืนกับสังคมไทยก็เป็นเรื่องที่ตำหนิได้ยาก เพราะเมื่อไม่มีครอบครัวคนไทย เขาก็ย่อมต้องฝักใฝ่กับเพื่อนภาษาเดียวกัน กินอาหารที่ตัวเองคุ้นลิ้น ทำกิจกรรมที่ตัวเองคุ้นเคย เหมือนผู้หญิงไทยจำนวนมากในต่างแดนที่ก็เกาะกลุ่มกับคนไทยด้วยกัน กินอาหารไทย ทำอะไรแบบไทย ๆ คิดแบบไทย ๆ ไม่เรียนภาษา แปลกแยกกับสังคมรอบข้าง เพราะการกลมกลืนทางสังคมไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าไม่มีคู่ครองดี ๆ เป็นตัวช่วย และถ้าไม่รู้ภาษา

บทความนี้เป็นการเตือนใจผู้เกษียณอายุชาวเยอรมันรุ่นใหม่ว่า เมืองไทยคงไม่ใช่จุดหมายปลายทางในฝันอีกต่อไป แต่อาจเป็นจุดหย่อนใจชั่วคราว นอกนั้นเรายังได้ทราบว่า ฝรั่งเยอรมันจำนวนถึงสองในสามคนที่อยู่ในเมืองไทย อยู่ในสถานะของ “คนโสด” ส่วนจะโสดจริงไม่ยุ่งเกี่ยวกับหญิงใด หรือโสดเฉพาะในเอกสารที่แจ้งกับสถานทูตเราก็สุดจะรู้ได้

เพราะที่พานพบด้วยสายตา เรามักจะเห็นว่าหนุ่มฝรั่งทั้งหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่มักจะไม่ขาดสาวไทยควงคู่ไม่ว่าจะชั่วครั้งชั่วคราว ถาวร หรือ กึ่งถาวร ไม่ว่าจะสาวน้อยสาวมาก สวยน้อยสวยมาก ทุกรูปทรง จากทุกภูมิภาคและความเป็นมา เพราะหญิงไทยในสายตาของหนุ่มเยอรมันยังคงความสวยน่ารัก ยิ้มง่าย ร่าเริง มีเสน่ห์ ช่างเอาอกเอาใจ อยู่เสมอมา ทั้งในมุมของหญิงไทยเอง ก็ยังนิยมที่จะได้ลองคบหามีแฟนฝรั่งที่มีเงินดอลล่าร์เงินยูโร มีฐานะกว่าหนุ่มไทยในระดับเดียวกัน พร้อมทั้งมีความรักและให้การยอมรับความเป็นมาของตนเอง ไม่ว่าเธอจะมีอดีตอย่างไร หรือไม่เกี่ยงอายุ หรือไม่เกี่ยงว่ามีลูกติด หรือมีความรู้น้อย ซึ่งเป็นความใจกว้างที่อาจจะหาได้ยากกว่าจากหนุ่มไทยด้วยกัน

และเหมือนจะเป็นการล้อภาพชีวิตของผู้เกษียณอายุต่างชาติในเมืองไทย บทความที่สองที่ฉันได้อ่านในหนังสือพิมพ์ Latin America Herald Tribune ประจำวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560 หรือ 3 วันถัดมา ว่าด้วยความเดือดร้อนของผู้เกษียณอายุชาวไทย โดยมีชื่อว่า “ทำงานในช่วงเกษียณ การดิ้นรนของผู้มีเงินบำนาญก้อนเล็ก ๆ” (Working in Retirement: Thailand Struggles with Low Pension) ในคอลัมน์ข่าวด้านธุรกิจและเศรษฐกิจ โดยไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน

บทความขึ้นต้นว่าในขณะที่เมืองไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติ เพราะความสวยงามของชายทะเลและชีวิตที่ง่าย ๆ สบาย ๆ แต่ความสบายนี้ไม่ได้รวมไปถึงผู้เกษียณอายุชาวไทย ซึ่งไม่ได้มีเงินบำนาญเป็นกอบเป็นกำ หรือบางครั้งก็ไม่มีเงินบำนาญเลยด้วยซ้ำ

ผู้หญิงไทยอายุเกิน 60 ปี จำนวน 38 เปอร์เซ็นต์ต้องหางานทำเพื่อจุนเจือตัวเอง แต่เมื่อนับจำนวนผู้ชายด้วย สัดส่วนจะสูงถึง 49 เปอร์เซ็นต์

นักข่าวได้สัมภาษณ์หญิงไทยคนหนึ่งที่ชื่อว่า นางนวลน้อย หนูเงิน อายุ 70 ปี ซึ่งได้รับเงินบำนาญแค่เดือนละ 600 บาท หรือประมาณ 17 ดอลล่าร์สหรัฐ เรียกว่าเทียบกันไม่ได้กับกรณีของเคล้าส์ ซึ่งมีเงินบำนาญสูงกว่าถึงเกือบ 70 เท่า นวลน้อยต้องเปิดร้านขายขนมเล็ก ๆ ในตลาดพระโขนงเพื่อหาเลี้ยงชีพ โดยใช้เงินบำนาญซื้อข้าวสารเข้าบ้าน และหารายได้เพิ่มเพื่อเลี้ยงหลาน ๆ สี่คนที่เสียพ่อไปแล้ว นวลน้อยขายขนมประมาณ 20 วันต่อเดือนในช่วงที่มีสุขภาพดี และมีรายได้ระหว่างวันละ 200 บาท ถึงวันละ 400 บาท “ตอนนี้ฉันอยู่ในภาวะเดือดร้อนเรื่องเงินมาก เพราะไม่มีคนมาจับจ่ายตลาดเลย” นวลน้อยเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังท่ามกลางบรรยากาศในตลาดที่เงียบเหงา

ตามสถิติขององค์การ Help Age International ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหากำไร ผู้หญิงไทยอายุเกิน 60 ปี จำนวน 38 เปอร์เซ็นต์ต้องหางานทำเพื่อจุนเจือตัวเอง ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันประเทศเวียตนาม และน้อยกว่าประเทศบังคลาเทศเล็กน้อย (39 เปอร์เซ็นต์) ส่วนประเทศฟิลิปปินส์มีอัตราส่วน 43 เปอร์เซ็นต์ และประเทศเนปาลมีอัตราส่วนสูงถึง 66 เปอร์เซ็นต์

เมื่อนับจำนวนผู้ชายสูงอายุที่ต้องทำงานเมื่ออายุเกิน 60 ด้วย สัดส่วนของประเทศไทยจะสูงถึง 49 เปอร์เซ็นต์ และ ประเทศฟิลิปปินส์จะเป็น 54 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศบังคลาเทศจะเป็น 64 เปอร์เซ็นต์ และประเทศเนปาลจะกระโดดไปที่ 76 เปอร์เซ็นต์

นาย Eduardo Klien ชาวเปรูเวียนที่เป็นผู้อำนวยการภูมิภาคของ Help Age International เชื่อว่า การทำงานหลังอายุ 60 ปี ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องลบเสมอไป ตราบใดที่การตัดสินใจทำงานนั้นเป็นไปด้วยความสมัครใจและเป็นไปตามความจำเป็นในการครองชีพ

ในอีก 33 ปีข้างหน้า โดยประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมากที่สุดในอันดับที่ 16 ของโลก

“การเกษียณอายุควรเป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นในบางกรณี เราไม่สามารถบังคับให้คนเกษียณและหยุดทำงานได้ระหว่างอายุ 50 ปี หรือ 60 ปี” นาย Klien กล่าวกับผู้สื่อข่าว โดยในความเห็นของเขา ประเทศต่าง ๆ จะต้องจัดให้เกิดสมดุลระหว่างเงินบำนาญเลี้ยงชีพและระบบประกันสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่ป้องกันได้ เพื่อเป็นการปรับให้เหมาะสมกับประชากรกลุ่มอายุสูงวัยที่มีเพิ่มขึ้น

ประชากรสูงวัยในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้มีประชากรอายุเกิน 60 ปี ในสัดส่วน 15.8 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 37.1 เปอร์เซ็นต์ ใน ปี พ.ศ. 2593 หรือในอีก 33 ปีข้างหน้า โดยประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมากที่สุดในอันดับที่ 16 ของโลก ตามประมาณการขององค์การสหประชาชาติ

สิ่งที่ฟังดูดีก็คือ นอกเหนือจากมีระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลแล้ว ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเงินบำนาญเลี้ยงชีพที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชากร 91 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับประเทศเวียตนามที่มีเพียง 48 เปอร์เซ็นต์และประเทศฟิลิปปินส์ 45 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี เงินบำนาญจำนวน 85 เปอร์เซ็นต์นี้เป็นเงินที่ไม่ได้มาจากการส่งเงินเข้ากองทุนและมีมูลค่าประมาณเดือนละ 1,000 บาทสูงสุด ขณะที่อีกหกเปอร์เซ็นต์เป็นเงินบำนาญสำหรับข้าราชการ

คนสูงอายุไทยจำนวนมาก เข่น สนั่น อุ้มสงคราม อายุ 64 ปี จึงต้องทำงานตราบเท่าที่สุขภาพยังเอื้ออำนวย เพื่อให้มีเงินรายได้เพิ่มเติมพอที่จะดูแลลูกหลานและสมาชิกครอบครัว “ผมจะทำงานต่อไปตราบเท่าที่สังขารยังไปไหว เพราะมันเป็นอาชีพของผม” สนั่นเปิดแผงขายผลไม้ในตลาดพระโขนงเช่นกัน โดยสนั่นเองก็บ่นเรื่องไม่มีลูกค้ามาซื้อผลไม้ แต่ว่าอย่างน้อยเขาก็พอใจที่ยังมีสุขภาพดีและมีเงินเกษียณเดือนละ 600 บาท ที่ถึงแม้จะน้อยแต่ก็ยังดีกว่า “ไม่มีอะไรเลย”

ประเทศเรามีคนจนสูงอายุและคนที่ต้องปากกัดตีบถีบในวัยที่สมควรได้พักผ่อนบั้นปลายของชีวิตในจำนวนที่น่าตกใจ

ผู้สูงวัยชาวไทยสามารถใช้บริการว่ายน้ำเพื่อสุขภาพได้ฟรีที่ศูนย์ผู้สูงอายุดินแดง ในกรุงเทพฯ

สาลี่ อายุ 81 ปี ทำกิจกรรมยืดหยุ่นในสระน้ำ พร้อมกับหญิงและชายสูงวัยอีก 20 กว่าคน เพื่อบรรเทาอาการด้านไขข้อต่าง ๆ สาลี่หยุดทำงานในโรงงานซักรีดเสื้อผ้าเพื่อมาดูแลลูกสาว แต่สามีของเธอมาเสียชีวิตตอนลูกอายุหกขวบ เธอเลยทำอาหารขายริมถนนเพื่อเลี้ยงชีวิต นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือที่ได้จากลูกสาวที่ขณะนี้ทำงานเป็นสถาปนิก สาลี่ยังได้เงินเกษียณเดือนละ 800 บาท และจ่ายค่าเช่าห้องในอาคารสงเคราะห์ของรัฐในอัตรา 300 บาทต่อห้อง

“ฉันขอแนะนำให้คนรุ่นหนุ่มสาวเรียนหนังสือให้มาก ๆ ไว้ ฉันเสียดายที่ไม่ได้เรียนหนังสือให้มากกว่านี้” สาลี่กล่าวจบท้ายก่อนออกไปว่ายน้ำต่อ

สรุปแล้วจำนวนผู้สูงอายุวัยเกษียณในเมืองไทยมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเงินเลี้ยงชีพของพวกเขาก็แทบไม่มีความหมายอะไรเลย นั่นหมายความว่าประเทศเรามีคนจนสูงอายุและคนที่ต้องปากกัดตีบถีบในวัยที่สมควรได้พักผ่อนบั้นปลายของชีวิตในจำนวนที่น่าตกใจ ขณะที่คนที่ “รู้สึกจน” จากประเทศที่เจริญกว่า อย่างเคล้าส์จากเยอรมนีก็จะยังคงหลั่งไหลเข้ามาเมืองไทย และสามารถเข้ามาใช้ชีวิตในบั้นปลายและจับจ่ายใช้สอยในเมืองไทยอย่างพอสมเนื้อสมตัว ไม่ต้องดิ้นรนทำงานให้เหนื่อยยาก ขอเพียงอยู่อย่างประหยัดมัธยัสถ์ เงินเกษียณของบุคคลเช่นเคล้าส์น่าจะพอทำให้เศรษฐกิจไทยมีสภาพคล่องขึ้นเล็กน้อย แต่ว่าสถานะระหว่างคนชราไทยและคนชราต่างชาติในประเทศไทยก็คงจะยังเป็นช่องว่างที่เปิดกว้างอยู่ต่อไป ทั้งนี้โดยพื้นฐานรัฐสวัสดิการที่แตกต่างกันมาตั้งแต่ต้น

Photo credit: World Bank Group 

ที่มา Rentner Frust in Thailand และ Working in Retirement: Thailand struggles with low pension

Message us