การรับมือกับสื่อ

เหตุการณ์ร้าย รุนแรง สะเทือนขวัญ โดยเฉพาะเหตุอันเกิดจากการก่อการร้าย เกิดขึ้นกับใครก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ โดยไม่รู้ล่วงหน้า

เครือข่ายฯได้ตีพิมพ์บทความ ก่อการร้าย สามคำ จำให้แม่น ไว้ครั้งหนึ่ง

เหตุก่อการร้าย ณ เมือง Strasbourg ประเทศฝรั่งเศส ใกล้เขตชายแดนประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา และหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายคือนักท่องเที่ยวชาวไทย เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่ง และน่าเห็นใจคู่ครองที่ประสบเหตุร่วมกันและรอดชีวิตมาได้เป็นอย่างมาก ความบอบช้ำใจและสะเทือนขวัญมีเท่าใด คงยากประมาณได้ (ข่าวไทยรัฐออนไลน์วันที่ 12 ธันวาคม กราดยิงฝรั่งเศส ตายเพิ่มเป็น 3 เร่งล่ามือปืน คนไทยอีกรายรอดหวุดหวิด)

แน่นอนว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวเพื่อให้สาธารณชนได้เข้าถึงความจริงอย่างชัดเจนทุกแง่ทุกมุม (ที่บางครั้งก็อาจจะมากเกินไป) และเพื่อสร้างความโปร่งใสต่อกลไกการทำงานของรัฐเพื่อรับมือกับปัญหา

ในสถานการณ์เช่นนี้ การรับมือกับความสนใจของสื่อไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เตรียมพร้อมว่าจะประสบเหตุการณ์เช่นนั้น ข้อสำคัญคือ ผู้ประสบเหตุมีอำนาจตัดสินใจเองว่าจะให้สัมภาษณ์หรือไม่ให้สัมภาษณ์ และไม่ควรตกอยู่ภายใต้การกดดันใด ๆ ให้ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ

ทำไมต้องให้สัมภาษณ์

บางครั้ง การสื่อสารกับนักข่าวโดยเตรียมตัวมาอย่างดีก็สามารถเป็นประสบการณ์ทางบวกได้ (นึกถึงน้องหมูป่า) เพราะนักข่าวจะพอใจในข้อมูลที่ได้รับจากต้นตอแท้ ๆ มิใช่จากบุคคลที่สามหรือข่าวลือ และจะทำให้มีการเรียกร้องขอสัมภาษณ์ลดลง การให้ข่าวแบบนี้ ได้แต่ การออกแถลงการณ์ – ซึ่งผู้เสียหายอาจจะเป็นผู้อ่านเอฃ หรือส่งให้นักข่าวเป็นลายลักษณ์อักษร – และการตอบคำถามต่อหน้านักข่าวในช่วงเวลาสั้น ๆ อย่างไรก็ดี การให้ข้อมูลบางครั้งก็ทำให้เกิดคำถามเพิ่ม มีการเสนอข่าวเพิ่ม และมีคนสนใจเพิ่ม จะเพิ่มการรบกวนผู้เสียหายมากขึ้นไปอีก ดังนั้นการให้ข่าวจึงควรทำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะหากข้อมูลที่จะให้นั้น จะทำให้ผู้อื่นเกิดความเสี่ยงมากขึ้นหรือทำในระหว่างที่การสืบสวนสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น

ทำไมสื่อจึงสนใจ

เมื่อสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการสนองความต้องการด้านข้อมูลของประชาชน และมีหน้าที่กำกับการทำงานของภาครัฐให้มีความโปร่งใส ไม่หมกเม็ด จึงทำให้สื่อต้องเร่งรัดหาข่าวในทุกวิธีการ การให้ข้อมูลกับสื่ออย่างเป็นระบบจะทำให้มีการเสนอข่าวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องเที่ยงตรง (ลองนึกถึงท่านผู้ว่าฯหัวหน้าชุดปฏิบัติการช่วยชีวิตน้องหมูป่าที่ถ้ำหลวงที่ใช้กลยุทธ์ให้ข่าวอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันนักข่าวไปจิกข่าวจากตรงนั้นตรงนี้หรือเสนอข่าวแบบคาดเดา)

ถ้าไม่อยากให้ข่าว

ผู้เสียหายหรือผู้รอดชีวิตต้องตระหนักว่า ผู้สื่อข่าวอาจไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณจากพื้นที่สาธารณะ เช่น ฐานข้อมูลประชากร สื่อทางสังคม เช่น Facebook หรือ Twitter เพื่อหาที่อยู่และข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ สื่ออาจไปสัมภาษณ์กับคนในชุมชน เพื่อนฝูง สมาชิกครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานเพื่อหาข้อมูลไปนำเสนอเป็นข่าว หากผู้เสียหายต้องการปิดช่องทางนี้ให้เหลือน้อยที่สุด ก็ควรแจ้ง
• หาคนที่ไว้ใจได้ช่วยรับโทรศัพท์และกลั่นกรองคนที่โทรเข้ามาแทน ระยะหนึ่ง
• ตรวจสอบ privacy settings ในสื่อโซเชียล และปิดให้เป็น private
• ลบเนื้อหาและรูปจากสื่อโซเชียล
• บอกเพื่อน ครอบครัว เพื่อนร่วมงานว่าคุณไม่อยากให้พวกเขาให้สัมภาษณ์นักข่าว (แม้ว่าจะห้ามได้ยาก)

หากต้องการให้ข่าว

หากคุณคิดว่าการให้ข่าวจะช่วยให้เกิดความชัดเจนต่อสังคมได้ ขอให้รู้ว่าคุณต้องการพูดอะไร และคิดล่วงหน้าว่านักข่าวน่าจะถามอะไร และคุณต้องการตอบอย่างไร และขอให้ตระหนักถึงสิทธิของคุณว่า คุณ “ไม่จำเป็นต้องตอบ” ทุกคำถาม แต่สื่อจะให้ข้อมูลที่คุณให้ทุกอย่าง แม้ว่าคุณจะบอกว่าเป็นข้อมูลส่วนตัวหรือขอไม่ให้เปิดเผย ถ้าคุณไม่พร้อมให้ข่าวเอง คุณอาจเลือกคนที่ไว้ใจได้ เช่น เพื่อนสนิท สมาชิกครอบครัว หรือนายจ้าง (หรือสถานทูต) ให้สัมภาษณ์นักข่าวแทนคุณ หากคุณคิดว่าข้อมูลที่ต้องการให้สัมภาษณ์เป็นข้อมูลที่อ่อนไหว คุณควรปรึกษานักกฎหมายก่อน

ถ้าถูกนักข่าวกดดัน

สำนักข่าวส่วนใหญ่ทำงานภายใต้กรอบจรรยาบรรณของสื่อมวลชนที่กำหนดโดยประเทศนั้น ๆ (ในกรณีที่เหตุการณ์เกิดในต่างประเทศ) ซึ่งหมายความว่านักข่าวจะต้องไม่ทำในสิ่งที่สร้างความหวาดกลัว เป็นการขู่กรรโชก หรือมีลักษณะเหมือนตามล่าสะกดรอยผู้เสียหาย นักข่าวต้องแสดงตัวว่าเป็นใครมาจากแหล่งข่าวไหน
หากคุณคิดว่าถูกนักข่าวคุกคาม ขอให้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งมักจะมีสายด่วนทำงานตลอด 24 ชั่วโมงในหลายประเทศ

หากไม่ชอบการเสนอข่าว

โดยทั่วไปสำนักข่าวทั้งหลายจะมีหน่วยที่ดูแลเรื่องการร้องเรียนด้านข่าวโดยเฉพาะ ดังนั้น คุณอาจจะต้องติดต่อกับสำนักข่าวโดยทันทีเมื่อเห็นว่าการเสนอข่าวไม่ถูกต้อง หากยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ ก็ติดต่อหน่วยงานที่ทำการควบคุมด้านจรรยาบรรณการเสนอข่าวของสำนักข่าวนั้น

ในกรณีที่ผู้เสียหายจากเหตุก่อการร้าย ประเทศในยุโรปมักจะมีศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์ (Victim Support) ด้านนี้โดยเฉพาะ นอกเหนือจากสถานทูตหรือเพื่อนร่วมชาติด้วยกันเองในประเทศนั้น

ตัวอย่างสายด่วนในยุโรป เช่น
ประเทศอังกฤษ 08 08 16 89 111
ประเทศฝรั่งเศส 08VICTIMES – 00 33 (0)1 41 83 42 08 ทุกวัน 7/7
ประเทศเยอรมนี  112
ประเทศสวีเดน 08-508 40 000
ประเทศสเปน 112 หรือ 091 หรือ 062

บทความนี้เป็นเพียงคำแนะนำสั้น ๆ ในกรณีคุณประสบเหตุในต่างประเทศ แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์เช่นนั้นจะมาไม่ถึงคุณ ….ด้วยความห่วงใย

แปลและเรียบเรียงจาก  Guidance on handling media attention after a major incident – January 2018
Photo credit: The Guardian
Message us