กฎหมายแม่หม้ายสโลวีเนีย

Cover photo credit: https://cdn.aarp.net/content/dam/aarp/caregiving/2022/03/1140-woman-looks-out-window.imgcache.rev.web.2262.1300.jpg

แปลจากการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “Laws and regulations governing widows in Slovenia (ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่คุ้มครองคู่สมรสที่ตกอยู่ในสภาวะหม้ายในประเทศสโลวีเนีย)”

โดย Mr Dražen Jeremić, SPIRIT Slovenia, Public Agency

ผู้แปลและเรียบเรียง จงเจริญ ศรแก้ว และ เพ็ญพร ซายาร์ด

คุณเจอรามิชแนะนำว่าตัวมีภรรยาเป็นคนไทย​ จึงยินดี​ที่ได้เข้าร่วมและให้ความรู้ในการสัมมนาครั้งนี้ เขาเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่องผู้ประกอบการ​ และการฝึกงาน ไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมายด้านของการเป็นหม้ายโดยตรง​ แต่ความเป็นนักกฎหมายและเข้าใจในเรื่องนี้ จึงสามารถให้คำแนะนำในข้อกฎหมายด้านนี้ได้เช่นกัน

ประเด็นที่​ 1 กฎหมายที่เกี่ยวกับการรับมรดก ซึ่งมี 2 นัยยะ​ คือการรับมรดกโดยสิทธิตามกฎหมายและการรับมรดกโดยพินัยกรรม​

หากผู้เสียชีวิตไม่มีการทำพินัยกรรมไว้ การแบ่งมรดกจะเป็นไปตามนัยยะทางกฎหมายและลำดับทายาทโดยชอบธรรมที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งจะมีในส่วนของคู่สมรส​ บุตรและญาติ เมื่อแจกแจงมรดก แต่ผู้เป็นหม้ายมีสถานะในชีวิตที่ลำบาก​หรือขัดสนอยู่​ สามารถขอให้ศาลพิจารณาแจกแจงมรดกให้ใหม่ได้ ซึ่งศาลจะแบ่งสัดส่วนมรดกให้เป็นธรรมและเท่าเทียม​ แต่ถ้าผู้เป็นหม้ายยังลำบากหรือภาระมาก ก็สามารถร้องขอศาลให้พิจารณาแบ่งสัดส่วนใหม่ได้

ในกรณีรับมรดกโดยมีพินัยกรรม​ พินัยกรรมที่ทำฉบับล่าสุดเท่านั้นที่นำมาบังคับใช้ได้ ต่อให้ผู้เสียชีวิตจะเคยบอกทางวาจาว่าจะยกทุกอย่างให้​ หรือทำสัญญาร่วมกันในแบบใดก็ตาม​ หากสัญญาฉบับนั้นไม่ใช่พินัยกรรมฉบับล่าสุด คำสั่งเสียหรือสัญญาที่ทำไว้จะถือเป็นโมฆะ​

อนึ่ง ศาลสโลวีเนีย “ไม่” รับพิจารณาพินัยกรรมที่สามีและภรรยาทำร่วมกัน แต่จะพิจารณาเฉพาะฉบับที่ทำส่วนตัวเท่านั้น​ และศาลจะไม่พิจารณาสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อแจกแจงในส่วนของหนี้สินต่างๆ

ประเด็นที่ 2 เกี่ยวข้องกับบัญญัติ​กองทุนเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันอันเกี่ยวเนื่องจากความพิการ  กฏหมายจะให้ความคุ้มครองในเรื่องของเงินบำนาญตกทอด​ โดยจะพิจารณาแบ่งสัดส่วนของมรดกให้ทั้งคู่สมรสและผู้ที่เป็นทายาทโดยชอบธรรม​ อาทิเช่น​ บุตร ด้วย

โดยมีเงื่อนไข​ 2 แบบคือ​ 

แบบที่​ 1: ก่อนหน้านี้ ผู้ที่เสียชีวิตได้รับเงินบำนาญหรือเงินกองทุนประกันเกี่ยวเนื่องจากความพิการแล้ว 

แบบที่​ 2: ในช่วงของการทำงาน​ บุคคลนั้นได้มีการจ่ายชำระหรือส่งเงินเข้ากองสวัสดิการตามเงื่อนไข

ตามกฎหมายสโลวีเนีย ผู้ที่จะได้รับเงินตกทอดต้องมีอายุ 58 ปี​ แต่มีกรณีที่ศึกษาที่น่าสนใจ​ คือ กรณีสามีเสียชีวิตตอนภรรยาอายุ 53 ปี​ ภรรยาสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินตกทอดได้เมื่อตนเองถึงอายุ 58 ปี

อายุเกษียณงานของคนสโลวีเนีย คือ 67 ปีแต่ไม่เกี่ยวกับเงินชดเชยหรือเงินตกทอดที่คู่สมรสพึงได้รับ​ เพราะเงินช่วยเหลือผู้ตกเป็นหม้ายจะมาจากกองทุนสวัสดิการของรัฐ

สิทธิของความเป็นหม้ายใช้กับพ่อหม้ายและแม่หม้ายด้วยความเสมอภาค

ข้อควรรู้

  • เมื่อเกิดกรณีขึ้นมา ให้ตั้งคำถามและสอบถามเพื่อรักษาสิทธิ์ของเราตั้งแต่เริ่มแรก​ให้ครอบคลุม​ทุกด้านที่สงสัย รวมถึงทำเรื่องร้องขอ ก่อนหน้าที่ศาลจะออกคำสั่ง
  • ควรปรึกษาผู้รู้กฎหมายเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนและถูกต้อง มากกว่าปรึกษาคนรู้จักหรือเพื่อนฝูง เพราะอาจไม่ได้คำตอบที่ถูกทางหรือไม่ได้ช่วยปกป้องสิทธิ์ของเราได้จริง
  • หากเลือกวิธีแก้ปัญหาที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด (เช่น ถามเพื่อน คิดเอง-ทำเอง เชื่อญาติ ไม่ใช้ทนายความ) อาจทำให้เราสูญเสียสิทธิที่ควรได้ไปทั้งหมดอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และกลายเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีราคาแพงมากที่สุด

ประเด็นที่​ 3 การแบ่งมรดกจากทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างสมรส​ เช่น การซื้อบ้านร่วมกันโดยหากคู่สมรสเสียชีวิต​ และบ้านที่อยู่อาศัยเกิดจากน้ำพักน้ำแรงร่วมกัน

คู่สมรสจำเป็นต้องให้ศาลพิจารณาว่าคู่สมรสมีสัดส่วนอย่างเป็นธรรม​ โดยตรงนี้ทางศาลก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วนก่อนในเบื้องต้น และถึงแจกแจงให้ทายาทตามลำดับถัดไป

  • สมาชิกจากประเทศเบลเยียม / ประเทศเบลเยียมจ่ายภาษีมรดกประมาณ 6% 
  • คุณเจอรามิช / ประเทศสโลวีเนีย​อยู่ที่  5%-35%
  • สมาชิกจากประเทศอิตาลี​ / ตั้งคำถามว่าในกรณีที่สมรส แต่แบ่งแยกทรัพย์สินก่อนสมรส แต่มีหนี้สินร่วมกันในระหว่างสมรส ใครจะต้องเป็นผู้ชดใช้หนี้สินดังกล่าว
  • คุณเจอรามิช / ถ้าคำถามเกิดกับทางประเทศอิตาลี​ คำตอบที่ดีที่สุดควรมาจากผู้รู้กฎหมายของประเทศนั้น ๆ​ เพราะบริบทและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน
  • สมาชิกประเทศอิตาลี​/ สามีมีการทำประกันชีวิตไว้โดยที่ชื่อผู้รับผลประโยชน์ คือ​ ภรรยาคนเก่า​ หากสามีเสียชีวิต​ ใครจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์?
  • คุณเจอรามิช / ผู้รับผลประโยชน์จะเป็นไปตามที่ระบุในกรมธรรม์​ โดยกฎหมายจะไม่พิจารณาว่ามีการหย่าร้างหรือแต่งงานใหม่หรือไม่ ชื่อผู้รับผลประโยชน์จะเป็นใครก็ได้ ผู้นั้น​ก็มีสิทธิ์​ในกรมธรรม์ การประกันชีวิตอยู่ในกฎหมายแพ่ง​ ไม่ใช่กฎหมายมรดกหรือครอบครัว ที่เกี่ยวข้องกับคู่สมรสและทายาทโดยชอบธรรม

นอกจากนี้คุณเจอรามิช​ ยังฝากข้อบัญญัติทางกฎหมายที่สำคัญไว้อีก​ 4 บัญญัติ​ ที่มีความสำคัญคือ

1.บัญญัติ​กฎหมาย​ข้อที่​ 4.a สำหรับผู้ที่ไม่ได้สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย​ แต่ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน ​(โดยไม่ได้ระบุว่ากี่ปี) และพิสูจน์ได้ว่าใช้ชีวิตร่วมกันมาในระยะหนึ่ง หรือมีบุตรร่วมกัน ผู้ตกเป็นหม้ายสามารถได้รับส่วนแบ่งของมรดกโดยชอบธรรมได้เช่นกัน แต่อยู่ที่การพิจารณาและการออกคำสั่งของศาลเป็นสำคัญ

  • สมาชิกเยอรมัน /  หากว่ามีบุตรร่วมกัน​ แต่ไม่ได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาในบ้านหลังเดียวกัน​ ศาลจะพิจารณา​ว่าอย่างไร
  • คุณเจอรามิช / ต้องปรึกษาผู้รู้กฎหมายของประเทศนั้น ๆ​ เพราะมีประเด็นบางอย่างที่แตกต่างกันแต่โดยพื้นฐานแล้ว​ คำว่า “อยู่ร่วมกัน” หมายถึง​ ผู้ที่กินข้าวโต๊ะ​เดียวกัน หลับนอนเตียงเดียวกัน
  • สมาชิกอังกฤษ / ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้เป็นหม้ายคนไทยในสโลวีเนียคือปัญหาอะไร
  • คุณซิโมน่า กงสุล​กิตติมศักดิ์ / มีสามตัวอย่าง  คือ​ ปัญหาเงินตกทอด ปัญหาสัญญาการทำงาน​ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว​  ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้ที่มีปัญหาไม่ค่อยเข้ามาหาขอความช่วยเหลือกับทางกงสุล​ โดย​อาจเป็นเพราะปัญหาภาษา
  • สมาชิกสโลวีเนีย / กรณีที่หย่าร้างกัน​ แต่ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันและใช้ชีวิตร่วมกันเหมือนคู่ปกติทั่วไป หากคู่สมรสเสียชีวิต​ อดีตภรรยาจะได้รับในส่วนของมรดกหรือไม่​
  • คำตอบ / ตามกฎหมายของสโลวีเนียแล้ว​ หากพิสูจน์​ได้ว่ามีการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน​ ก็จะมีสัดส่วนในการแบ่งมรดกโดยชอบธรรม

2. บัญญัติ​กฎหมายข้อที่​ 13/1 

คู่​สมรสสามารถยื่นคำร้องขอให้ทางศาลพิจารณาการแบ่งมรดกในสัดส่วนที่มากขึ้นได้ตามสมควร​ หากคู่สมรสอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากและขัดสน

3. บัญญัติ​กฎหมายข้อที่​ ​6

กฎหมายมรดกจะมีผลบังคับใช้กับบุคคลที่ 3 ได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่ได้รับมรดกมีสัญชาติสโลวีเนีย​ หรือมีสัญชาติของประเทศที่มีกฎหมายมรดกเทียบเคียงกัน (กฎหมายต่างตอบแทน) ทั้งนี้ แม้ว่าคู่สมรสไม่มีสัญชาติสโลวีเนีย​ คู่สมรสก็จะยังเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิต่างๆ​ ตามกฎหมาย

สมาชิกอิตาลี / ทางประเทศ​อิตาลีก็ มีเงื่อนไขแบบนี้เช่นกัน

สมาชิกเบลเยียม / ชาวต่างชาติไม่สามารถรับมรดกหรือซื้อที่ดินในประเทศไทยได้

4. บัญญัติ​กฎหมายข้อที่​ ​142

หนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างสมรส หรือที่คู่สมรสสร้างขึ้น​ หากทายาทยินดีรับมรดก ทายาทก็ต้องรับผิดชอบในส่วนของหนี้สินตามสัดส่วนที่ตนเองได้รับ ซึ่งหากทายาทไม่ต้องการแบกรับหนี้สิน ก็ต้องแจ้งให้ศาลทราบอย่างเป็นทางการว่า ไม่ประสงค์รับมรดก

  • สมาชิกอิตาลี​ / เงื่อนไขสำคัญของการขอมีสัญชาติสโลวีเนีย
  • คุณเจอรามิช / การรู้ภาษาและสามารถใช้ภาษาสโลวีเนียนได้​ ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ​ ถูกปรับเปลี่ยนไปในทุก​ ปี​

ในตอนท้าย​ คุณเจอรามิชให้ข้อคิดกับกับผู้เข้าร่วมว่า​กฎหมายเป็นเรื่องซับซ้อนและมีรายละเอียดมาก ก่อนปรึกษาใคร แม้จะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดหรือเพื่อนสนิท ขอให้ระลึกว่า ข้อมูลที่ดีที่สุดจะต้องมาจากนักกฎหมายและผู้ที่มีความรู้จริงเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องไม่ให้ตนเองต้องเสียสิทธิ์ต่าง ๆ โดยสิ้นเชิง เพราะเชื่อคำแนะนำที่ผิด ๆ

กรณีศึกษาประเทศสโลวีเนีย

นำเสนอ โดย นางมนัสนันท์ ครูซ ชมรมคนไทยในสโลวีเนีย

ดิฉันได้อาศัยอยู่ในประเทศนี้มาเป็นเวลานาน และมีชมรมที่ตั้งขึ้นเพื่อให้การช่วยเหลือและให้คำปรึกษาต่างๆ โดยทีมจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือคนไทย

ขออนุญาตใช้ชื่อเจ้าของเรื่องนี้ว่า คุณ ก. เธออาศัยอยู่ในประเทศสโลวีเนียมาเป็นเวลา 5 ปี โดยเข้ามาในประเทศด้วยวีซ่าทำงาน อาชีพของเธอคือพนักงานนวด

เมื่อทำงานได้ล่วงแล้ว 3 ปีเธอก็พบรักและแต่งงานกับชายชาวสโลวีเนีย จากนั้นเธอได้ตัดสินใจกับสามีว่าจะเปลี่ยนงานเพื่อให้เวลาในการทำงานสอดคล้องตรงกันมากขึ้น เธอจึงได้ออกจากอาชีพพนักงานนวด เพื่อมาทำอาชีพขายปลาให้กับบริษัทใหญ่บริษัทหนึ่งในประเทศสโลวีเนีย

คุณ ก. เคยแต่งงานมาแล้วจากประเทศไทยและมีบุตร 1 คนซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย ส่วนของสามีก็เคยแต่งงานมาแล้วและมีบุตรอยู่ในประเทศสโลวีเนียเช่นกัน

ทั้งคู่จึงตกลงกันว่าจะแต่งงานกันและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องการมีบุตรเพิ่ม

ในวันหนึ่ง ทั้งคู่ได้ขับรถออกไปเพื่อพบแพทย์ตามนัดหมาย ในขณะที่สามีกำลังขับรถปรากฏว่า ไม่สามารถบังคับทิศทางรถได้ และรถชนขอบข้างทางแล้วหยุด สามีฟุบหน้าลงกับพวงมาลัยและไม่มีการเคลื่อนไหวอีก คุณ ก. จึงติดต่อญาติเพื่อขอความช่วยเหลือ ลูกชายของสามีได้เข้ามาเหลือ

เธอไม่ทราบมาก่อนว่าสามีชาวสโลวีเนียมีประวัติโรคหัวใจ และได้เสียชีวิตจากหัวใจวายเฉียบพลันในขณะขับรถ

หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เธอไม่สามารถพูดคุยกับใครได้เลยเนื่องจากอาการช็อคและความเสียใจอย่างหนักกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จากนั้น เธอได้พยายามตั้งสติ ติดต่อเพื่อนสนิทและขอความช่วยเหลือเข้ามากับทางดิฉัน โดยได้เชิญดิฉันเข้าไปร่วมงานศพของสามีเธอ และแจ้งขอความช่วยเหลือในด้านที่จำเป็น คือ ล่ามที่ช่วยแปลภาษาด้านเกี่ยวกับกฎหมายและการขึ้นศาลด้วยเรื่องของมรดก

ในเบื้องต้นสิ่งแรกที่ดิฉันได้ทำและเห็นว่าเป็นความจำเป็นมาก คือ การให้กำลังใจกับเธอจากการประสบเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดดังกล่าว

คุณ ก. แจ้งว่าสามีได้ทำพินัยกรรมยกบ้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกชายของเขา จึงต้องขึ้นศาลเพื่อจัดแจงในส่วนของการรับมรดกจากผู้เสียชีวิต 

ดิฉันได้ติดต่อล่ามคนไทยที่ได้รับการรับรองจากทางหน่วยงานราชการ ให้เข้ามาทำหน้าที่ในชั้นศาล คุณ ก. ได้ขอให้ดิฉันเข้าไปร่วมฟังในการพิจารณาคดี และขอให้เป็นที่ปรึกษาของเธอด้วย

ดิฉันจึงต้องยื่นเรื่องขออนุญาตกับทางศาล โดยผู้พิพากษาอนุญาตให้ดิฉันได้เข้าร่วมในขณะพิจารณาคดีระหว่างทายาทและภรรยาที่เกิดจากการสมรส

พินัยกรรมได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า บ้านเป็นชื่อของบุตรของผู้เสียชีวิต และศาลก็ออกคำสั่งว่าบุคคลผู้มีสิทธิ์อย่างถูกต้องคือบุคคลที่มีชื่อที่ปรากฏอยู่ในพินัยกรรม

คุณก. จึงตั้งคำถามว่า แล้วเธอจะไปอยู่ที่ไหน เรื่องนี้จึงต้องทำการเจรจากับบุตรของผู้เสียชีวิต

และในขณะเดียวกันศาลก็ให้คุณก. พิจารณาดูในเรื่องของทรัพย์สินอื่น ๆ รวมถึงหนี้สินด้วย อาทิเช่น รถยนต์หรือเงินในบัญชีและแจกแจงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำไว้ร่วมกันในขณะที่สมรสอยู่ เพราะคุณก. มีส่วนได้และรับผิดชอบทั้งในเรื่องของเงินในบัญชีที่หามาร่วมกันและหนี้สินที่เกิดขึ้นจากสามี

จากการเจรจากับบุตรชายสามีเธอ ตกลงกันว่าเธอจะได้รับรถยนต์ พร้อมที่ดินส่วนหนึ่งและเงินในบัญชีธนาคาร แต่บุตรชายจะเป็นผู้ถือครองบ้านหลังดังกล่าว

ทางศาลได้แจ้งสิทธิ์ให้เธอทราบด้วยว่า เธอสามารถเรียกร้องสิทธิในกองมรดกเพิ่มเติมได้ เพียงแต่ต้องใช้ทนายความดำเนินเรื่อง เธอได้หาทนายความ แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,500 ยูโร เธอไม่ต้องการมีปัญหาและทำเรื่องให้ยืดเยื้อ ได้เท่าไรเธอก็ยินดีที่จะรับเท่านั้น เพราะในระหว่างนี้ เธอยังจำเป็นจะต้องอาศัยอยู่ที่เดิมในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนย้ายไปอาศัยที่อื่น

คุณ ก. ปรึกษาดิฉันในเรื่องการดูแลสภาวะจิตใจของผู้ที่ประสบเหตุการณ์แบบนี้ และถึงแม้จะได้รับเงินมาส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังขาดที่อยู่อาศัย ความท้อแท้ทำให้เธอไม่อยากอยู่เมืองเดิมเสีย ดิฉันได้ให้กำลังใจว่าว่าเวลาจะเป็นตัวเยียวยาสิ่งต่าง ๆ ขอให้ใช้สติในการดำรงชีวิต และเลือกในสิ่งที่คิดว่าเหมาะสม

ในที่สุด เธอก็มองเห็นว่าการทำงานขายปลากับสามีเป็นอาชีพที่เธอรัก เธอจึงพยายามทำอย่างต่อเนื่องและอาศัยอยู่ในประเทศสโลวีเนียต่อไป

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ได้ข้อคิดว่า หากเกิดอะไรขึ้นกับสามีและเมื่อไม่อยากจะมีปัญหากับฝ่ายภรรยาเก่าหรือบุตรหรือผู้ที่จะรับมรดก ผู้เป็นหม้ายจำเป็นจะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายหรือทนายความ แต่เงื่อนไขค่าใช้จ่ายทำให้ คุณก. ต้องเสียสิทธิ์ไปหลายอย่าง 

  • จงเจริญ / ประเด็นที่ 1 การใช้ทนายความหรือที่ปรึกษาทางกฎหมาย ต้องมีค่าใช้จ่าย ทางรัฐจะมีช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถจ้างทนายความได้อย่างไร
  • คุณเจอรามิช / ประเทศสโลวีเนียมีกองทุนและสำนักงานที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายอยู่ โดยทางหน่วยงานจะตรวจสอบว่า คุณเป็นหม้ายและไม่มีรายได้ รวมถึงจำเป็นจะต้องให้ได้รับการช่วยเหลือจริง ๆ
  • คุณศุภกิจ ตัวแทนจากสอท. / จากประสบการณ์ของกงสุลใหญ่ ตัวอย่างการช่วยเหลือ เช่น การส่งคนไทยที่ถูกล่อลวงกลับประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายเป็นงบของทางรัฐบาลไทยและจำเป็นต้องมีการใช้คืน แต่ในส่วนของการขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายหรือที่ปรึกษาทางกฎหมาย ทางสถานทูตก็จำเป็นจะต้องสอบถามกับหน่วยงานของประเทศนั้น ๆ ว่า มีสำนักงานที่ช่วยเหลือทางด้านนี้บ้างไหม หรือหาจากทางชมรมและจิตอาสาที่มีการติดต่ออยู่กับทางสถานทูต อย่างเช่นในกรณีที่กงสุลใหญ่ที่เมืองเชียงไฮ้ จะมีทนายความที่ติดต่อกับทางกงสุลอยู่เป็นประจำ เราก็จะขอความอนุเคราะห์เป็นกรณีพิเศษไป หากคนไทยจำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งก็ต้องดูตามวาระโอกาสที่แตกต่างกันไป
  • จงเจริญ / จากที่ท่านกงสุลได้กล่าวไว้ในช่วงเช้าว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในประเทศนี้จำนวน 400 กว่าคน และแม้ว่าประเทศสโลวีเนียจะเป็นประเทศใหม่เล็ก ๆ นี้ คนไทยก็จำเป็นจะต้องทราบว่ามีกองทุนที่ช่วยเหลือตรงนี้อยู่ ซึ่งบางประเทศมีทนายอาสาและมีจำนวนมากด้วย และในลำดับถัดไปเราก็จะต้องศึกษาในเรื่องของระบบสังคมเขาทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนที่ช่วยเหลือคนย้ายถิ่น ว่าเราจะเข้าถึงได้อย่างไร
  • จงเจริญ / ประเด็นที่ 2 ความเกรงใจ และความกลัวความยุ่งยากและความในการต่อสู้คดี ซึ่งบางทีทำให้ผู้เป็นหม้ายสูญเสียสิทธิพึงได้หลายอย่าง เราต้องหาวิธีทำให้คนไทยเข้าใจข้อคิด 3-4 อย่างที่คุณเจอรามิชพูดถึง เช่น การสมรสหรือไม่สมรส การอาศัยอยู่ร่วมกัน – นอนร่วมเตียง กินร่วมโต๊ะ การปรึกษานักกฎหมายที่ช่วยเหลือได้
  • สมาชิกอิตาลี / หากภรรยาได้รับส่วนแบ่งจากมรดกที่ไม่ใช่เป็นบ้าน แต่มีหนี้สินอยู่ร่วมกันหรือบ้านหลังดังกล่าวอาจยังผ่อนชำระยู่ แต่ในเมื่อภรรยาไม่ได้สิทธิ์ในการถือครองบ้านแล้ว หนี้สินที่มีอยู่ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
  • คุณดราเชน / ตามกฎหมายแล้วผู้ที่ได้รับสัดส่วนของมรดกจะต้องได้รับสัดส่วนของหนี้สินตามไป ด้วย กล่าวคือหากได้รับมรดกสัดส่วน 90% ก็จะต้องรับผิดชอบหนี้สิน 90% หรือได้รับมรดกสัดส่วน 10% ก็จะได้ต้องได้รับผิดชอบหนี้สิน 10% แต่ในเคส คุณ ก. เราไม่ทราบข้อมูลในเอกสารทั้งหมด จึงไม่สามารถตอบคำถามตรงนี้ได้ เพราะทางภรรยาและบุตรได้มีการเจรจากัน โดยมีศาลเป็นผู้ช่วยจัดแจง
  • สมาชิกเนเธอร์แลนด์ / การสมรสในประเทศสโลวีเนียมีการทำสัญญาเพื่อแบ่งแยกทรัพย์สินอย่างไร หรือถ้าสมรสแล้วไม่ได้ทำสัญญา ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจะถูกแบ่งอย่างไร 
  • คุณเจอรามิช / การสมรสที่มีการทำสัญญาแบ่งแยกทรัพย์สินก็จะถูกพิจารณาแบ่งมรดกไปตามสัญญานั้น ๆ  แต่สำหรับคู่ที่สมรสโดยไม่ได้ทำสัญญาไว้ หากคู่สมรสเสียชีวิตลง ทรัพย์สินหรือมรดกก็จะถูกแบ่งแยกโดยคู่สมรสจะมีสิทธิ์เฉพาะสิ่งของที่เป็นของตนเองเท่านั้น
Message us