คนไทยอาศัยอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจำนวนหนึ่งอาจประสบโชคชะตาที่ไม่คาดหมาย ล่าสุดมีหญิงไทยหายไปตั้งแต่กลางเดือนมกราคม (ตามลิงก์นี้) ณ วันที่ลงบทความ เรายังไม่ทราบข่าวของเธอ
ผู้หญิงไทยหายสาบสูญ
เธอชื่อ พูลสุข Phoosuk Düstersiek อายุ 57 ปี ส่วนสูงประมาณ 1.59 เมตร อยู่ทางแทบเขตรัฐ Nordrhein Westfalen เมือง Detmold เยอรมนี มาทำงานที่เมือง Stralsund วันที่ 12 มกราคม แล้วติดต่อไม่ได้ตั้งแต่ 16 มกราคม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศขอความร่วมมือ ให้ช่วยแชร์ข่าว รูปภาพ
ท่านใดทราบข้อมูลเบาะแส พบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อไร กรุณาติดต่อ
Polizeiinspektion Stralsund
Mathias Müller
Telefon: +49 3831 245-205
E-Mail: pressestelle-pi.stralsund@polizei.mv-regierung.de
ข้อมูลของทางการเยอรมันในเดือนตุลาคม 2018 ระบุว่า มีคนหายในประเทศมากกว่า 11,000 คน และจำนวนเกือบ 7,000 อายุต่ำกว่า 18 ปี เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กเหล่านี้ คือ เด็กผู้อพยพที่ไม่มีครอบครัว โดยมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี ถึง 902 คน
หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องคนหายในเยอรมนี คือ Bundeskriminalamt (BKA) ที่สรุปว่า โดยปกติจะสามารถติดตามคนหายครึ่งหนึ่งได้ภายในอาทิตย์แรก เช่น คนที่เข้าโรงพยาบาลหรือคนที่ไปเที่ยวพักผ่อนแล้วไม่ได้บอกใคร
ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์สามารถปิดเคสได้หลังจากหนึ่งเดือน
และ คนที่หายไปเกินหนึ่งปีมีประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์
เหตุผลของการหายตัวไปของเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาที่โรงเรียน ปัญหากับพ่อแม่ ผิดหวังเรื่องความรัก ในกรณีของผู้ใหญ่ เหตุผลต่าง ๆ นานา หรือเป็นเพราะการเจ็บป่วย เช่น โรคสมองเสื่อม ซึ่งเมื่อพบตัวก็เสียชีวิตแล้ว
นิยาม “คนหาย”
คนที่หายตัวไปจากถิ่นที่อยู่ตามปกติ โดยไม่สามารถหาเหตุผลได้ และยังคงหาตัวไม่พบ ญาติพี่น้องหรือเพื่อนมักเป็นผู้เข้าแจ้งความ
เจ้าหน้าที่จะออกค้นหาตามเกณฑ์เหล่านี้
• บุคคลนั้นไม่ได้อยู่ในถิ่นอาศัยของตน
• ไม่มีใครรู้เบาะแสปัจจุบัน
• มีข้อสงสัยว่าจะได้รับอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย (เช่น เป็นเหยื่ออาชญากรรม อุบัติเหตุ ช่วยตัวเองไม่ได้ ตั้งใจฆ่าตัวตาย)
กรณีผู้ใหญ่
• หากเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะดีและร่างกายสมบูรณ์ ย่อมมีสิทธิไปอยู่ที่ไหน โดยไม่บอกใครก็ได้
• หากไม่มีข้อสงสัยว่าจะได้รับอันตราย เจ้าหน้าที่จะไม่ไปตามหาบุคคลนั้น
• หากคาดว่าจะมีอันตราย เจ้าหน้าที่จะรีบออกค้นหาโดยทันที
• หากพบตัวแล้วปรากฏว่าไม่ได้รับอันตราย เจ้าหน้าที่จะถามเจ้าตัวว่าประสงค์จะให้แจ้งญาติพี่น้องอย่างไร และจะทำตามประสงค์นั้น
• ในกรณีเช่นนี้ ถือว่า คดีปิด
กรณีผู้เยาว์อายุน้อยว่า 18 ปี
• ไม่สามารถเลือกที่อาศัยของตัวเองได้ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย
• หากผู้เยาว์หายตัวไปจากที่อยู่ตามปกติ ทางการจะถือว่าเป็นบุคคลหายทันที
• เมื่อพบตัวผู้เยาว์และ ทางการจะนำส่งสถานดูแลเยาวชนก่อน จนกว่าจะแน่ใจว่าเด็กปลอดภัยจึงกลับบ้านได้
• ซึ่งไม่ถือเป็นการจับกุม แต่เป็นการปกป้องเด็ก
หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องคนหายในเยอรมนี
The Federal Criminal Police Office (Bundeskriminalamt, BKA) ซึ่งมีหน้าที่
• ค้นหาคนที่สูญหาย
• พิสูจน์ชิ้นส่วนร่างกายที่ไม่ทราบว่าเป็นของใคร
• ช่วยเหลือบุคคลที่ช่วยตัวเองไม่ได้ที่ไม่มีใครรู้จัก (เพราะอาจเป็นบุคคลสูญหาย)
เจ้าหน้าที่ทำอย่างไรเมื่อได้รับแจ้งเหตุ
1. รับแจ้งความโดยประเมินสถานการณ์จากคำให้การของผู้แจ้งความ
2. ออกติดตามโดยทันทีในกรณีของเด็กหรือบุคคลที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงได้รับอันตราย
3. ออกประกาศตามหาคนหายในระบบของกรมตำรวจ ซึ่งเชื่อมโยงกับสถานีตำรวจทั่วประเทศ
4. สถานีที่รับแจ้งเหตุคือเจ้าของคดี
5. ขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ ในกรณีที่บุคลากรไม่เพียงพอ
กรณีที่คนหายอาจออกนอกประเทศ
ในกรณีที่มีการรายงานคนหายในเยอรนี และสถานีตำรวจท้องถิ่นได้รับเป็นเจ้าของคดีแล้ว
หากมีเบาะแสว่าบุคคลที่หายไป อาจอยู่ในต่างประเทศ หรือเชื่อว่าอยู่ในจุดใดในต่างประเทศ
จะมีการทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังหน่วยตำรวจสากล (Interpol bureau) ในประเทศปลายทางนั้น
หากมีหลักฐานชัดเจนว่า บุคคลนั้นอยู่ที่ประเทศดังกล่าว และทางเจ้าของคดีเห็นด้วย ทาง BKA จะประกาศค้นหาข้ามประเทศ เพื่อให้หน่วยตำรวจสากลในประเทศนั้นช่วยค้นหา โดยข้อมูลที่ได้มาจากหน่วยตำรวจสากลจะถูกส่งไปที่สถานีตำรวจที่เป็นเจ้าของคดี
หากเรื่องนี้เกิดกับคุณ
ถ้าญาติหรือคนใกล้ชิดของคุณหายตัวไปอย่างน่าสงสัย และคุณได้พยายามติดต่อติดตามผ่านช่องทางที่คุณรู้จักแล้ว แต่ก็ไม่เจอตัว และมีเหตุเชื่อว่าบุคคลนั้นจะได้รับอันตราย (เช่น มีคนปองร้าย ป่วย อาจได้รับอุบัติเหตุ มีเหตุอยากฆ่าตัวตาย ฯลฯ)
คุณสามารถแจ้งความคนหาย โดย
• รวบรวมข้อมูลของคนที่หายเหล่านี้ทั้งหมดที่มี คือ ชื่อ สัญชาติ วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด ที่อยู่ปกติ หมายเลขโทรศัพท์ ลักษณะหน้าตา (ความสูง สีของดวงตา สีผม รูปลักษณ์อื่น ๆ” ภาษาที่พูดได้ รูปถ่ายล่าสุด สถานที่ที่เห็นครั้งสุดท้าย
• แจ้งความที่สถานีตำรวจ Polizei เพื่อขอให้ออกประกาศคนหาย (Vermisstenanzeige)
แชร์ข้อมูลอย่างไร
• แชร์เประกาศหาคนหายที่ทางการออกให้ เพื่อประโยชน์สูงสุด และป้องกันกลุ่มฉวยโอกาสมาหลอกลวง
• ถ้าจะแปลข้อความในประกาศเป็นภาษาไทย ควรให้ผู้รู้ภาษาจริง ๆ ตรวจสอบด้วย
• เมื่อคุณได้เบาะแส หรือทราบว่าใครได้เบาะแส ควรให้บุคคลนั้นติดต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรงทันที
แหล่งข้อมูล
1. What police do when missing people missing is reported in Germany
2. Some statistics about missing people in Germany
การปฏิบัติตัวโดยทั่วไป
- ไม่ตื่นตกใจ รักษาความเยือกเย็น คนที่หายไปอาจจะลืมโทรศัพท์ หรือติดธุระ หรือลืมที่จะติดต่อกลับ
- ติดต่อเพื่อนและสมาชิกครอบครัวว่ามีข่าวของคนที่หายไปหรือไม่
- อยู่ใกล้ ๆ โทรศัพท์หรือเก็บมือถือไว้กับตัว ชาร์ตแบ็ตให้เต็มเสมอ เปิดเสียงไว้ เผื่อบุคคลนั้นติดต่อเข้ามา
- ขอให้รู้ว่า การหายตัวไปไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมายในกรณีของผู้ใหญ่ที่ยังมีวุฒิภาวะในการตัดสินใจด้วยตัวเองได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของคนที่ไม่ต้องการให้ใครรู้แหล่งที่อยู่ อย่าตำหนิเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำตามระเบียบ
- หากบุคคลที่หายไปไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่ออันตรายหรือเชื่อว่าหลบหนีไปโดยเต็มใจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความ คุณก็ยังใช้อินเทอร์เน็ทหรือสื่อโซเชียลเป็นที่ค้นหาบุคคลนั้นได้
- ในกรณีที่คนหายเป็นคนที่มีความเสี่ยง (เช่น อายุต่ำกว่า 18 ปี หรืออายุมากกว่า 65 ปี มีความเจ็บป่วยทางกายหรือใจ มีภาวะซึมเศร้าหรืออยากฆ่าตัวตาย หรือการหายตัวไปผิดปกติ) ให้แจ้งความโดยทันที โดยไม่รีรออะไร เพราะเวลาทุกนาทีอาจช่วยชีวิตของคนที่หายไปได้ โดยเฉพาะคนป่วยที่ต้องใช้ยาประจำตัวแต่ไม่ได้เอายาไปด้วย
- แจ้งความหรือติดต่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นช่วยกระจายข่าว ไม่มีอะไรที่เรียกว่า “เร็วเกินไป” ในกรณีการประกาศหาคนหายที่มีความเสี่ยงสูง
- อย่าปกปิดการหายตัวไปของบุคคลนั้น ยิ่งมีคนรู้มากเท่าไร ยิ่งมีคนช่วยค้นหา และอาจจะพบตัวเร็วขึ้น
- อย่าทำความสะอาดห้องนอนหรือรถยนต์ของคนที่หายไป แม้ว่าอาจจะดูสกปรกเพียงใด อย่าปัดฝุ่นเช็ดฝุ่นจนกว่าเจ้าหน้าที่จะเก็บรอยนิ้วมือ
- อย่าแก้ไขสื่อโซเชียล ข้อความทางมือถือ หรือการสื่อสารอื่นใดของคนหาย เพราะอาจช่วยชี้เบาะแสหรือสาเหตุของการหายตัวไปได้
- ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วนมากที่สุด ตั้งแต่รูปภาพ วันเกิด ที่อยู่ปัจจุบัน ที่อยู่ในอดีต รูปร่างหน้าตา เสื้อผ้าที่ใส่ครั้งสุดท้าย และรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ข้อมูลธนาคาร ข้อมูลจากสื่อโซเชียล หรือบันทึกการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยไม่ปกปิดอะไร การให้ข้อมูลมากเกินไปจะเป็นประโยชน์กว่าข้อมูลน้อยเกินไปเสมอ เช่น บางคนไม่กล้าบอกว่าคนหายมีปัญหาหนี้สิน เคยทำผิดกฎหมาย หรือติดต่อกับนักค้ายา
- เมื่อจำเป็น เจ้าหน้าที่อาจขอข้อมูลด้านทันตกรรมหรือตัวอย่าง DNA ในกรณีที่พบว่ามีคนเสียชีวิตโดยไม่มีใครทราบว่าเป็นใคร หรือพบชิ้นส่วนอวัยวะ ที่อาจเป็นของบุคคลที่หายตัวไป
- ปกติ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะติดต่อกลับมาสม่ำเสมอ แต่ถ้าไม่ได้รับการติดต่อ ให้โทรหาเจ้าหน้าที่ อย่าปล่อยให้คดีถูกลืม ถ้าเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ขอตัวอย่าง DNA และประวัติการทำฟันของบุคคลที่หายไป คุณสามารถเสนอข้อมูลเหล่านี้
- ป้องกันตัวจากแหล่งข่าวปลอมหรือนักฉวยโอกาส ไม่ลงเบอร์โทรหรือที่อยู่ของคุณในประกาศค้นหา แต่ให้เบอร์ติดต่อของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานช่วยเหลือ หากคิดว่ามีคนจะมาฉวยโอกาสจากคุณในสถานการณ์นี้ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ทันที
- อย่ายอมแพ้ ให้ค้นหาต่อไป จำไว้ว่าคนอื่น ๆ อยากช่วยคุณ ทำให้ชื่อและรูปภาพของคนที่คุณตามหาอยู่ในสายตาของสาธารณชน คนที่หายไปคือคนที่สำคัญ
- พยายามถ่ายภาพหน้าตรง ภาพศีรษะและบ่าของตัวเองและสมาชิกครอบครัวหรือคนที่คุณรักไว้ทุกปี เพราะอาจเป็นประโยชน์ได้ในกรณีเช่นนี้